เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
อ่าน: 69638 เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


 เมื่อ 18 พ.ค. 12, 20:18

เมื่ออ่านเรื่องดีๆ ของมนุษย์จากอาจารย์เทาชมพู โดยเฉพาะเรื่องดีๆ ที่มักไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและจดจำเท่าเรื่องร้ายๆ แล้ว  ก็ต้องกลับมาที่ความโหดร้ายที่มนุษย์ถูกปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังจนลุกขึ้นมาฆ่าแกงคนที่ไม่รู้จักกันได้หน้าตาเฉยกันต่อ  ร้องไห้  เอาให้ปรับอารมณ์ตามกันไม่ทันเลยทีเดียว

ตามที่เกริ่นไว้ว่าจะเล่าเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เพราะน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างของประเทศที่ถูกแบ่งให้ผู้คนแตกแยกกันเอง ก็ต้องมารู้จักประเทศรวันดากันนิดหน่อย มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านต้องไม่รู้จักประเทศนี้ ยิงฟันยิ้ม

รวันดาเป็นประเทศขนาดเล็กในแอฟริกากลาง  มีพื้นที่ประมาณ 26000 ตารางกิโลเมตร เทียบกับประเทศไทยที่มีพื้นที่ประมาณ 513000 ตารางกิโลเมตรก็เรียกได้ว่าเล็กกว่าประเทศไทยเราเกือบ 20 เท่า ด้านเหนือจรดอูกานดา ชื่ออูกันดานี้น่าจะคุ้นหูคนไทยกันดีเพราะพี่มืดประธานาธิบดีจอมซาดิสต์อีดี้อามิน  ด้านใต้เป็นประเทศบุรุนดี ซึ่งยิ่งไม่คุ้นหูยิ่งกว่ารวันดาอีก  ทางตะวันออกติดแทนซาเนียที่มีทัวร์ไปล่องซาฟารีกันเยอะๆ  ส่วนทางตะวันตกติดกับคองโกประเทศที่เชื่อกันว่าต้นกำเนิดการแพร่ระบาดเชื้อเอดส์จากลิงมาจากป่าในคองโกนี่แหละ

ล่าสุดปี 2012 รวันดามีประชากรประมาณ 11 ล้านคน เป็นคนเชื้อสายทุตซี่ 15% ฮูตู 84% และทวา 1%  เมืองหลวงชื่อคิกาลี  ภาษาที่ใช้กันคือภาษาคินยารวันดา(Kinyarwanda) ซึ่งมีพื้นฐานมาจากภาษาบันตูซึ่งภาษาหลักในประเทศอื่นๆ อีกจำนวนมากในแอฟริกา  และยังใช้ภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษเป็นภาษาราชการอีกด้วย
ในอดีตรวันดาเคยเป็นอาณานิคมของเยอรมันจนหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตกเป็นอาณานิคมของเบลเยี่ยม จนประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1962 นี่เอง


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 18 พ.ค. 12, 20:43

แล้วไอ้ชนเผ่าทุตซี่กับฮูตูนี่มันอะไรกัน ต่างกันตรงไหน เพราะเวลาเราเห็นพวกชาวแอฟริกาก็เห็นตัวดำๆ เหมือนกันไปหมด คนไทยมักจะนิยมเรียกคนผิวดำว่าพวกนิโกรไปซะหมด  เรียกแบบนี้ในหมู่คนไทยด้วยกันพอได้ แต่จริงๆ ไม่สุภาพ ถ้ามาใช้คำนี้แถวประเทศตะวันตกนี่อาจปากแตกได้


เรื่องความแตกต่างระหว่างทุตซี่กับฮูตูนี่ปัจจุบันยังไม่ชัดเจนนัก นักประวัติศาสตร์มีความเชื่อ 2 แบบ  แบบแรกคือชนพื้นเมืองเดิมในรวันดาคือพวกฮูตูก่อนที่พวกทุตซี่ซึ่งเป็นนักรบอพยพมาจากบริเวณที่ปัจจุบันเป็นเอธิโอเปียเข้ามายึดพื้นที่และกุมอำนาจการปกครองจนพวกฮุตูเป็นชนชั้นสองไป ในขณะที่ทุตซี่เป็นชนชั้นปกครองกันไป


ความเชื่อแบบที่สองคือ พวกทุตซี่อาจจะไม่ได้มายึดประเทศแต่มีการอพยพมาเรื่อยๆ  ความแตกต่างระหว่างฮุตูกับทุตซี่เกิดขึ้นภายหลังจากนโยบายการแบ่งแยกชนชั้นเพื่อสะดวกในการปกครอง และเป็นการแบ่งตามระดับฐานะหรือชนชั้น มากกว่าจากความแตกต่างของสายเลือดหรือเผ่าพันธุ์ คล้ายๆ ทุตซี่คืออำมาตย์ ฮุตูคือไพร่อะไรทำนองนี้  นี่ยกตัวอย่างเปรียบเทียบเฉยๆ นะคร๊าบ

ลองหาภาพชนเผ่าจากอินทรเนตรมาฝาก ภาพแรกพอแยกความแตกต่างระหว่างเผ่าได้ แต่ภาพที่สองนี่ เจอแต่ภาพ ไม่มีคำอธิบายว่าใครเผ่าไหน เดาว่าพวกที่ดูดั้งสูงกว่า ผิวอ่อนกว่าอาจจะเป็นทุตซี่ เพราะถ้าอพยพมาจากเอธิโอเปียหน้าตาน่าจะแนวๆ นี้  ถ้าไปหาดูภาพชาวเอธิโอเปียจะเห็นว่าคนแถวนั้นหน้าตาจะออกแนวลูกผสมระหว่างอาหรับกับแอฟริกัน สีผิวจะจางกว่าพวกกลางทวีป ดัังจะสูงกว่า สาวๆ นี่ดูสูงใหญ่คมเข้มดำไม่มากแต่เนียนมันถูกใจกระผมเป็นยิ่งนัก  หลายคนมาเป็นนางแบบดังในโลกตะวันตกก็มี



บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 18 พ.ค. 12, 21:06

ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งฮูตูหรือทุตซี่ต่างก็พูดภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกันคือคริสต์คาธอลิก  รวมทั้งมีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กันเป็นเรื่องปกติมานานแล้ว จริงๆ ทั้งสองเผ่าน่าจะหลอมรวมกันจนเป็นเชื้อสายเดียวกันมานานแล้ว มีหน้าตาเหมือนๆ กันจนแยกไม่ออก   แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น ชนชั้นปกครองถือว่าเป็นพวกทุตซี่ ส่วนชนชั้นแรงงานก็เป็นฮูตูไป  และหลังตกเป็นอาณานิคมเยอรมันในปี 1884 ทางเยอรมันเจ้าอาณานิคมไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างการปกครองในประเทศรวันดาซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ทุตซี่  จนเมื่อเบลเยี่ยมเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมแทนเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กลับสนับสนุนให้ระบบการแบ่งชนชั้นชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก  พลเมืองทุกคนจะต้องมีบัตรประจำตัวบอกว่าตนเป็นเผ่าอะไร  ซึ่งจะมีผลต่อโอกาสในการเรียน ทำงาน และสิทธิต่างๆ ด้วย
ในอดีตก่อนหน้าที่จะมีบัตร พวกฮูตูที่ร่ำรวยสามารถเปลี่ยนไปเป็นทุตซี่ได้ พอต้องมีบัตร คราวนี้ใครเกิดเป็นฮูตูก็ต้องเป็นฮูตูไปจนตาย


นโยบายนี้ของเบลเยี่ยม ทำเพื่อให้พวกชนพื้นเมืองวุ่นวายกับการคอยเป็นอริกันเองทำให้ง่ายต่อเบลเยี่ยมที่จะปกครอง  พวกฮูตูก็เกลียดพวกทุตซี่ไปแทนที่จะเกลียดเบลเยี่ยมเจ้าอาณานิคม  ส่วนพวกทุตซี่ก็ให้หลงระเริงไปกับสิทธิพิเศษและความรู้สึกว่าเหนือกว่าที่นายฝรั่งเบลเยี่ยมมอบให้อีกที ก็มากดขี่ฮูตูรับใช้นายฝรั่งซะ  นายฝรั่งก็นั่งตีพุงดูชนพื้นเมืองทะเลาะกันไปในขณะที่ตัวก็ตักตวงทรัพยากรของประเทศไป สบายใจเฉิบ

บอร์ดนี้ห้ามการเมือง แต่ทำไมยิ่งเขียนไปเขียนมาดูเรื่องแบบนี้มันยิ่งคุ้นๆ มากขึ้นยังไงไม่รู้  รูดซิบปาก

ภาพนี้เศร้ามาก สมุดประจำตัวของผู้หญิงคนหนึ่งระบุว่าเธอเป็นทุตซี่  เพราะสมุดเล่มนี้ทำให้เจ้าของสมุดต้องชดใช้ความเป็นทุตซี่ของเธอด้วยชีวิต


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 19 พ.ค. 12, 17:29

มาเพิ่มเรตติ้ง


บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 19 พ.ค. 12, 18:31

วันนี้กะว่าจะอู้ซะหน่อย  เจอท่านอาจารย์เข้ามารู้สึกจะไม่ได้ซะแล้ว  งั้นก็ต่อหน่อยละกันครับ

เมื่อเบลเยี่ยมใช้นโยบายทำให้คนพื้นเมืองแตกแยกกัน สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่าง 2 เผ่าพันธุ์จึงยิ่งเลวร้ายลง แม้ว่าในความเป็นจริงทั้งสองเผ่าต่างก็อาศัยปะปนกันไป  บ้านของชาวทุตซี่มีเพื่อนบ้านเป็นฮูตูก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน  แต่ความแตกต่างในเรื่องความรู้สึกก็ยังคงอยู่

สถานการณ์ความเลวร้ายจากความแตกต่างเริ่มมากขึ้นและเริ่มประทุ   กลุ่มฮูตูซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่มีผู้นำชื่อนายคายิบานดา (Grégoire Kayibanda) นายคายิบานดาก่อตั้งพรรค Parmehutu แปลเป็นไทยได้ว่า พรรคเพื่อการปลดปล่อยฮูตู(Party of the Hutu Emancipation Movement) และสามารถขับไล่กษัตริย์ทุตซี่ได้ จนนายคายิบานดาได้เป็นประธานาธิบดีคนแรก และประกาศเอกราชในปี 1962

นายคายิบานดาตั้งตนเป็นผู้เผด็จการตามธรรมเนียมเดียวกับผู้นำประเทศแอฟริกาอื่นๆ และได้ดำเนินนโยบายเอาคืนโดยการกดขี่พวกทุตซี่ คนทำให้ชาวทุตซี่ที่มีการศึกษาและฐานะดีจำนวนมากอพยพไปประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอูกันดา

นโยบายแบบนี้เข้าใจได้ไม่ยาก เป็นวิธีที่นักการเมืองสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างคะแนนนิยมและความเป็นหนึ่งได้เร็วและง่ายที่สุดตั้งแต่โบราณคือสร้างศัตรูขึ้นมาให้ประชาชนภายใต้ปกครองเกลียด บวกกับระบบที่ปกครองด้วยความกลัว มีการกำจัดพวกที่ค้านหรือไม่เห็นด้วย  ใช้การโฆษณาชวนเชื่อเยอะๆ เพราะคนส่วนใหญ่พร้อมที่จะใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผลอยู่แล้ว นักการเมืองก็สามารถคงอยู่กับอำนาจได้เป็นเวลานานๆ  น่าเศร้าที่ผ่านมากี่ร้อยกี่พันปี คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ทันไอ้เรื่องพวกนี้อยู่ดี  แต่ถ้ารู้ทันก็อาจจะโดนกำจัดได้อีก เฮ้ออ  อยู่ยากจริงๆ

ภาพอีตาคายิบานดา


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 22 พ.ค. 12, 14:25

กระทู้นี้เหมาะสมที่จะไปประจำอยู่ที่ห้องเปิดใหม่ "ประวัติศาสตร์โลก"

เรื่อง "มิคสัญญีที่รวันดา" หากแยกกระทู้ออกมาและอยู่ในห้องเดียวกัน ก็จะทำให้ผู้อ่านติดตามได้ง่ายขึ้น

ควรมิควร แล้วแต่ท่านเจ้าเรือนจะพิจารณา

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 22 พ.ค. 12, 18:47

ฮี่ๆ  ไปอยู่ห้องใหม่ก็ดีเหมือนกันครับ  ตอนแรกจะตั้งกระทู้เรื่องของคนที่ไม่ยกมือแบบนาซีนี่ ผมก็ไม่รู้จะตั้งห้องไหนเหมือนกัน จะเข้ากับเรือนไทยหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่แกล้งทำมึนลองตั้งไว้ก่อน มีห้องประวัติศาสตร์โลกนี่ค่อยตรงหน่อย

มาต่อเรื่องรวันดากันอีกนิด

ในปี 1973 นายฮับยาริบานา (Juvénal Habyarimana) ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีของนายคายิบานดาและดูแลกองทัพอยู่ ก็ปฏิวัติ สังหารนายคายิบานาและตั้งตัวเป็นประธานาธิบดี  ยกเลิกพรรคการเมืองอื่นๆ เหลือแต่เฉพาะพรรคของตัวเองที่ถูกกฏหมาย  จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่มีแต่ตัวเองที่มีสิทธิลงเลือกตั้ง ก็เลยได้เป็นประธานาธิบดียาวนานติดต่อกันมาราว 20 ปี ระหว่างนั้นสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างฮูตูและทุตซี่ก็ไม่ได้ดีขึ้น  แม้ในสมัยการปกครองของนายฮับยาริบานาจะเป็นสายกลางกว่ายุคก่อนหน้า  ความรุนแรงและการเข่นฆ่าแบบในสมัยนายคายิบานดาเกิดขึ้นน้อยลง แต่นายฮับยาริบานนาก็ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องที่ชาวฮูตูกดขี่พวกทุตซี่ และไม่เปิดโอกาสให้พวกทุตซี่ที่อพยพหนีไปอยู่อูกานดากลับเข้ามาในรวันดา


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 22 พ.ค. 12, 18:50

ชาวทุตซี่จำนวนมากอพยพไปอยู่ที่อูกานดา จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาชื่อว่า Rwandan Patriotic Front (Front Patriotique Rwandais หรือตัวย่อ FPR)  ในปี 1990 ใช้ประเทศอูกานดาเป็นฐานในการรุกคืบ และยึดพื้นที่ตอนเหนือของรวันดาได้ และยิ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างสองเผ่าหนักขึ้นไปอีก ในหลายพื้นที่ชาวฮูตูหัวรุนแรงภายใต้การนำของผู้นำท้องถิ่นทำการสังหารชาวทุตซี่    ส่วนนายฮับยาริบานาเห็นปัญหาแล้วว่าต้องมีการปฏิรูปประเทศใหม่ จึงมีการแก้รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองอื่นๆ ได้  ห้ามบุคคลในกองทัพเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ฯลฯ   นายฮับยาริบานาเปิดเจรจากับกลุ่ม FPR ในปี 1993 และตกลงจะมีการจัดสรรแบ่งอำนาจกัน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับพวกฮูตูหัวรุนแรงมาก

ในปี 1994 เครื่องบินโดยสารของนายฮับยาริบานนาถูกก่อวินาษกรรม  คนบนเครื่องทั้งหมดเสียชีวิต ประธานาธิบดีบุรุนดีซึ่งอยู่บนเครื่องด้วยพลอยโดนหางเลขตายตามไปด้วย  ผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารครั้งนี้อาจเป็นได้ทั้งพวกฮูตูหัวรุนแรง หรือแม้แต่กลุ่ม FPR เองก็ได้  หลายฝ่ายเชื่อว่า นาย พอล คากาเม (Paul Kagame) ผู้นำกลุ่ม FPR อยู่เบื้องหลังการสังหาร

ภาพนายพอลครับ


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 22 พ.ค. 12, 20:41

จะแยกกระทู้รวันดาของคุณประกอบไปตั้งใหม่ค่ะ   แต่ขอถามคุณประกอบว่าจะตั้งชื่อกระทู้ว่าอะไรดี   ดิฉันจะได้จัดการให้
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 22 พ.ค. 12, 21:31

แห่ะๆ ตั้งว่าอะไรดีหละครับ  โจทย์ยากจริงๆ ไอ้ตั้งชื่อนี่  นี่ผมนั่งคิดชื่อจนไม่เป็นอันทำอะไรเลยนะเนี่ย

จะตั้งว่า "เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา"  มันก็ดู ตรงๆ ธรรมดาๆ ไป
ถ้าใช้ "ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา"  แบบนี้เหมือนหัวข้อวิทยานิพนธ์ไปอีก  
"รวันดาวันเลือดเดือด" ก็ดูจะออกแนวแฟนบอลไป เหมาะเป็นชื่อสำหรับสองทีมพบกันมากกว่า
"หลั่งเลือดรวันดา"  อันนี้ก็เหมือนลอกชื่อหนังสือหลั่งเลือดที่นานกิง
"รวันดาล้างโครต"   อันนี้ก็เหมือนชื่อหนังกำลังภายในยุค 70  
"รวันดาเธอกับฉัน เพราะเราไม่เข้ากัน"   อันดูก็ดูหวานแหววไป ไม่สื่อถึงเนื้อหา
"ฮูตูตัวร้ายกับนายทุตซี่"  แบบนี้ก็เกาหลีไปอีก

ง่า สูงสุดกลับสู่สามัญ  เอาชื่อตรงๆ เชยๆแหละครับท่านอาจารย์เทาชมพู  "เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา"  ก็ได้ หรือท่านอาจารย์มีชื่อเด็ดๆ หรือชอบชื่อไหนก็ได้เลยครับ
comment นี้ไม่อยากให้เครียดครับ เพราะกำลังเศร้าโศกเสียใจที่อดเป็นกระทู้แรกในห้องใหม่ โดนตัดหน้าไปซะแล้ว แห่ะ พูดเล่นะครับ
จริงๆ คือคนเล่าเล่าเรื่องรวันดา เลยไปหาหนัง Hotel Rwanda มาดูซ้ำ ดูแล้วก็หดหู่หมดอารมณ์
ไปหาอ่านตรงส่วนที่มีการบรรยายรายละเอียดเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็ดูถึงพริกถึงขิง อ่านแล้วเศร้าเห็นความบ้าคลั่งของคน ดีว่าภาษาอังกฤษอ่อนแอ ไม่งั้นคงอินมากกว่านี้
เลยต้องกลับอารมณ์ออกแนวตลกขบขันซะหน่อย ต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่จริงจังกับชีวิตไว้ด้วยครับ  จุมพิต
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 23 พ.ค. 12, 23:44

ย้อนกลับไปก่อนการตายของนาย ฮับยาริบานา มีนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์หลายคนในรัวนดาใช้ปมความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์มาสร้างความนิยมให้กับตัวเอง เช่นมีการออกหนังสือพิมพ์ที่มีการยั่วยุให้พวกฮูตูเกลียดชังพวกทุตซี่มากยิ่งขึ้น  เป็นการส่งเสริมปลูกฝังลัทธิความคิดที่ว่าฮูตูต้องเหนือกว่าทุตซี่ ฮูตูต้องไปปราณีต่อทุตซี่ 

การวางแผนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกทุตซี่มีมาตั้งแต่ก่อนการตายของนายฮับยาริบานา  และจริงๆ แล้วถูกวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนโดยรัฐบาลและคนใกล้ชิดเองเป็นเวลาหลายปีก่อนหน้า  มีการจัดตั้งกองกำลังทหารบ้านชาวฮูตูขึ้นมา ปลูกฝังแนวความคิดความเกลียดชังระหว่างเผ่าพันธุ์   กองกำลังทหารบ้านฮูตูมีกำลังพลประมาณสามหมื่นคน มีจัดการกองกำลังอย่างดีกระจายตัวไปในทุกชุมชนทั่วประเทศ กำลังพลบางส่วนติดอาวุธทั้งปืนกล ระเบิดมือ  แต่ส่วนใหญ่ใช้มีดเพราะราคาถูกกว่าปืน  กองกำลังนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะมีดที่ใช้สั่งซื้อโดยรัฐบาลนั่นแหละ
นอกจากนี้สื่อต่างๆ ของรัฐบาล หนังสือพิมพ์ วิทยุ ต่างโหมกระพือเร่งสร้างความเกลียดชังระหว่างสองเผ่าพันธุ์ให้มากยิ่งขึ้นไปด้วย  คอลัมนิสต์ตะวันตกหลายคนบอกว่ารูปแบบในการสร้างความเกลียดชัง สร้างกองกำลัง ไม่แตกต่างจากวิธีการที่ฮิตเลอร์ใช้ในการปลูกฝังความเกลียดชังชาวยิวเลย


ในขณะที่กองกำลัง  FPR ของพวกทุตซี่ก็เริ่มยึดครองทางตอนเหนือของประเทศ  สถาณการณ์ในรวันดาก็คือมีสงครามกลางมืองจนที่สุดนายฮับยาริบานาต้องเปิดการเจรจากับกองกำลัง FPR เพื่อมีการจัดสรรอำนาจและปฏิรูปการเมือง  แต่ตัวนายฮับยาริบานาเองก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มฮูตูหัวรุนแรงเช่นกัน แต่ยังควบคุมสถานการณ์อยู่ได้

เมื่อมีการเจรจาและเริ่มต้นการแบ่งอำนาจระหว่างนายฮับยาริบานากับกองกำลังทุตซี่ที่ยึดครองทางเหนือ สงครามกลางเมืองในรวันดาก็เหมือนจะสงบลง  สหประชาชาติส่งกองกำลังเข้าไปทำหน้าที่สังเกตการณ์การการหยุดยิง ให้ความช่วยเหลือในการปลดอาวุทธกองกำลังต่างๆ แต่กำลังทหารของสหประชาชาติที่ส่งไปมีกำลังพลเพียงสองพันกว่านายเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะรักษาสันติภาพได้จริงๆ

และเมื่อเครื่องบินที่นายฮับยาริบานาถูกยิงตกเมื่อวันที่ 6 เมษายน 1994 สถานการณ์ที่สุกงอมพร้อมจะระเบิดก็เริ่มต้นขึ้น
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 24 พ.ค. 12, 08:50

นโยบายแบ่งแยกเพื่อปกครอง ใช้ในประเทศไหน  ประเทศนั้นอย่างเบาก็แตกแยกเป็น 2 ประเทศ   อย่างหนักก็ย่อยยับด้วยกันหมด  ไม่ช้าก็เร็ว
น่ากลัวมากค่ะ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 24 พ.ค. 12, 18:43

เมื่อประธานาธิบดีตาย คนที่ควรจะรักษาการก็คือนายกรัฐมาตรีหญิงของรวันดาขณะนั้น คือนาง Agathe Uwilingiyimana

ต้องเล่าถึงนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของรวันดาก่อน ผมจะเรียกว่า อกาเธ่ละกัน  อกาเธ่เป็นชาวเผ่าฮูตูที่ได้รับการศึกษาดี จบการศึกษาทางด้านเคมี เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติรวันดา  เธอเข้าสู่แวดวงการเมืองเนื่องจากมีผลงานทางด้านการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยมสมัยที่เป็นอาจารย์ และได้ดำรงตำแหน่งที่อาจจะเรียกว่าปลัดกระทรวงพาณิชย์ (director in the Ministry of Commerce) ในปี 1989 เมื่ออายุเพียง 36 ปี


เมื่อมีการปฏิรูปการเมือง อนุญาตให้ระบบการเมืองรวันดามีหลายพรรคได้ เธอเข้าร่วมพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายค้านในปี 1992 ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของรวันดา เนื่องจากขณะนั้นมีการปฏิรูปการเมือง และมีการจัดสรรแบ่งอำนาจกันระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับฝ่ายประธานาธิบดี  เมื่อเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการ เธอยกเลิกระบบโควต้าในการเข้าเรียนที่แบ่งตามเผ่าพันธุ์ ทำให้เธอกลายเป็นศัตรูของพวกฮูตูหัวรุนแรง


วันที่ 17 กรกฏาคม 1993 อกาเธ่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของรวันดา ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องจากอกาเธ่เองไม่มีฐานอำนาจที่แท้จริงทางการเมือง และประนาธิบดีอาจจะคิดว่าน่าจะง่ายกว่าในการควบคุมเธอ แทนที่จะตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มีฐานอำนาจของตัวเอง


งานหลักของรัฐบาลอกาธ่าคือการเจรจาสันติภาพกับฝ่ายต่อต้านชาวทุตซี่ทางตอนเหนือ ซึ่งประกอบด้วยแกนหลักสามฝ่าย คือประธานาธิบดีฮับยาริบานนา  อกาเธ่ และ พอล คากาเม ผู้นำกลุ่มกบฏทุตซี่ FPR  แต่การเจรจายังไม่ได้ข้อสรุป เครื่องบินของประธานาธิบดีก็ถูกยิงตกเสียก่อน ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเอง แม้เป็นชาวฮูตู แต่ก็เป็นที่จงเกลียดจงชังของพวกฮูตูหัวรุนแรง แถมไม่มีฐานอำนาจที่แท้จริงของตัวเองในมือ


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 24 พ.ค. 12, 21:05

เมื่อประธานาธิบดีถูกสังหาร ในคืนนั้นเอง กองกำลังรักษาสันติภาพ UN ส่งทหารไปคุ้มกันอกาธ่าที่บ้านพักและวางแผนจะให้อกาธ่าพูดออกอากาศทางวิทยุเพื่อให้ทุกฝ่ายสงบลงก่อน  รอบบ้านของอกาธ่ามีทหารจากกาน่า 5 คน และทหารจากเบลเยี่ยมอีก 10 นายในฐานะกองกำลังของ UN คุ้มกัน  ส่วนภายในบ้านมีกองกำลังคุ้มกันของประธาธิบดีทำหน้าที่คุ้มกัน

แต่ในช่วงเช้าวันที่ 7 เมษายน ทหารรักษาการจาก UN ถูกกองกำลังคุ้มกันประธานาธิบดีล้อมและปลดอาวุธ   ภายหลังทหารเหล่านี้ถูกทรมานอย่างทารุณและถูกสังหาร     อกาธ่าซึ่งอยู่ในบ้านขณะนั้นเห็นเหตุการ จึงรีบอพยพไปยังสถานที่หลบภัยของ UN ในกรุงคิกาลิ แต่หลังจากนั้นทหารมีกองกำลังทหารรวันดาเข้าทำการตรวจค้นที่หลบภัยและสังหารอกาธ่ากับสามี ลูกๆ ของอกาธ่าโชคดีกว่าเพราะขณะนั้นสามารถหลบซ่อน  ถูกส่งไปหลบต่อที่โรงแรม Hôtel des Mille Collines  โรงแรมในหนังเรื่อง Hotel Rwanda และลี้ภัยไปอยู่สวิสเซอร์แลนด์ในภายหลัง

ใครอยากได้อารมณ์ความรู้สึก ความตึงเครียดของสถานการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แนะนำให้ไปหาหนัง Hotel Rwanda มาดู เป็นหนังปี 2004 แม้จะเครียดแต่เป็นหนังดีมากเรื่องหนึ่งที่ฉายภาพความไร้น้ำยาของ UN ได้ดี  ถ่ายทอดความรู้สึกกดดัน  ความเมตตาและความละโมภของคนได้ดีทีเดียว กว่าผมจะดูจบต้องทำใจดูๆ หยุดๆ อยู่นานพอสมควรเพราะความสะเทือนใจ โดยเฉพาะฉากทหาร UN มาอพยพเอาแต่คนต่างชาติในโรงแรมออกไป แต่ทิ้งให้ผู้อพยพชาวทุตซี่และฮูตูสายกลางให้หาทางรับมือพวกทหารบ้านในโรงแรมกันเอง

ภาพโรงแรม Hôtel des Mille Collines ของจริงครับ



บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 24 พ.ค. 12, 21:26

นอกจากนายกรัฐมนตรีที่ถูกสังหารแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ ของรวันดาที่มีแนวคิดสายกลางจำนวนไม่น้อย ต่างถูกสังหารพร้อมทั้งครอบครัวโดยทั้งกองกำลังคุ้มกันประธานาธิบดี  กองทหารของกองทัพรวันดา และกลุ่มทหารบ้านหัวรุนแรงชาวฮูตูเอง   การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 เมษายน 1994 นี่เอง โดยการสนับสนุนของพวกฮูตูหัวรุนแรงทั้งในรัฐบาลและในกองทัพ  

แม้แต่ชาวเผ่าทวาที่เป็นชนส่วนน้อย มีประมาณ 1% ของประเทศที่ไม่ได้เคยมีปัญหาอะไรกับชาวฮูตูก็พลอยถูกกวาดล้างไปด้ว พวกฮูตูหัวรุนแรงออกอากาศกระจายเสียงทางวิทยุกระตุ้นปลุกปั่นส่งเสริมให้มีการฆ่า ชักชวนให้ชาวฮูตูออกมาฆ่าเพื่อนบ้านชาวทุตซี่ให้หมด  รวมทั้งให้ฆ่าชาวฮูตูด้วยกันที่ให้ความช่วยเหลือพวกทุตซี่ด้วย  การฆ่าฟันกระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วทั้งประเทศ แม้แต่ในพื้นที่ที่แทบจะไม่มีชาวทุตซี่อยู่เลยก็มีคนจำนวนไม่น้อยถูกสังหาร

การฆ่าฟันเกิดขึ้นโดยไม่คำนึงถึงเพศหรืออายุของเหยื่อ  ขอเพียงบัตรประจำตัวระบุว่าเป็นทุตซี่  ถ้าไม่พกบัตร แค่มีสีผิวจางกว่าก็อาจถูกถือว่าเป็นทุตซี่และถูกสังหารด้วย ในช่วงจราจลมีทั้งการปล้นสะดม ข่มขืน ฆ่า ทุกอย่างครบหมดแบบที่ช่วงมิคสัญญีจะมี
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 20 คำสั่ง