เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 69701 เล่าเรื่องฆ่าการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 27 พ.ค. 12, 19:16

เนื่องจาก UNAMIR มีหัวหน้าสองคน คนแรกนายบูบูซึ่งตามทฤษฎีแล้วเป็นหัวหน้าใหญ่ โดยมีพลโทโรมิโอเป็นผู้บัญชาการกองกำลัง  เสือสองตัวเลยยากจะอยู่ร่วมกันได้   การประสานงานกันระหว่างทั้งคู่มีปัญหาอย่างมาก   ภายหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  นายบูบูซึ่งถูกประนามอย่างมากได้ออกหนังสือออกมา  ในหนังสือนายบูบูกล่าวโทษพ่อโรมิโอของเราชอบทำหน้าที่ล้ำเส้น ไม่ให้ความสำคัญกับหัวหน้าตัวจริง  และอาจจะเหยียดผิวด้วย คือไม่ชอบอยู่ภายใต้คำสั่งของนายบูบูที่เป็นชาวแอฟริกัน


ส่วนพ่อโรมิโอของเราซึ่งได้เขียนหนังสือเหมือนกันก็กล่าวโทษบูบูว่าค่อนข้างจะเอนเอียงไปทางรัฐบาลรวันดามาก เพิกเฉยและไม่ส่งต่อรายงานต่างๆ ของพลโทโรมิโอเกี่ยวกับข้อสังเกตต่างๆ เรื่องการเตรียมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือความรุนแรง ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่ได้รับทราบภาพของสถานการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งส่งผลมากในการจำกัดบทบาทของกองกำลัง UN ที่น่าจะป้องกันการเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้  ทาง RPF เองก็ประนามเรื่องความเป็นกลางของนายบูบู เพราะช่วงวันหยุดเทศกาลอีสเตอร์ปี 1994 ก่อนที่ประธานาธิบดีจะถูกสังหาร นายบูบูใช้เวลาช่วงวันหยุดกับประธานาธิบดีฮับยาริมานา
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 29 พ.ค. 12, 19:49

เมื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เริ่มต้นขึ้น ทาง ทางกองกำลัง UNAMIR เองก็ไม่แน่ใจขอบเขตที่กองกำลังสหประชาชาติสามารถปฏิบัติได้ เช่นการใช้กำลังเพื่อปกป้องประชาชนทำได้หรือไม่ หรือทำได้เฉพาะการป้องกันตัวเองเท่านั้น  เพราะภารกิจหลักของกองกำลังคือการรักษาสันติภาพ และสนับสนุนการเจรจาตกลงกันระหว่างกบฏกับรัฐบาล   

อย่างที่เคยเล่าไว้ว่าเมื่อเครื่องบินของประธานาธิบดีถูกยิงตก ทาง UNAMIR ส่งทหารเบลเยี่ยม 10 นาย และกาน่าอีก 5 นายไปคุ้มกันนายกรัฐมนตรีหญิง แต่สุดท้ายทหารจาก UN ทั้งหมดถูกล้อมและโจมตีโดยทหารจากกองทัพรวันดาและกองกำลังคุ้มกันประธานาธิบดี  หัวหน้าหน่วยยศร้อยโทพยายามต้านทานไว้หลายชั่วโมงและขอกำลังสนับสนุนทางวิทยุ แต่ด้วยสถานการณ์ที่วุ่นวายไปทั่ว กำลังสนับสนุนไม่สามารถเดินทางเข้าไปช่วยได้  สุดท้ายผู้บังคับกองพันชาวเบลเยี่ยมจึงแนะนำให้ทหารทั้งหมดวางอาวุธ   ทหาร UN ทั้งหมดจึงยอมวางอาวุธ

เมื่อวางอาวุธแล้ว ทหารกาน่าถูกปล่อยตัวไป แต่ทหารเบลเยี่ยมทั้ง 10 ถูกทรมานก่อนที่จะถูกสังหารทั้งหมด  และเป็นที่มาของการถอนทหารเบลเยี่ยมออกจากกองกำลัง UNAMIR ในเวลาต่อมาอีกไม่นาน จนเป็นที่มาของการสังหารชาวทุตซี่จำนวนมากที่อพยพไปหวังพึ่งกองกำลังเบลเยี่ยมที่โรงเรียนเทคนิค École Technique Officielle ซึ่งทหารเบลเยี่ยมถอนกำลังในวันที่ 11 เมษายน ในขณะที่ทหารบ้านและทหารรวันดารออยู่ด้านนอกขณะที่เบลเยี่ยมถอนกำลัง  และเข้าไปสังหารผู้อพยพหลายพันคนเมื่อทหารเบลเยี่ยมเคลื่อนย้ายกำลังออกไป

เมื่อเบลเยี่ยมและอีกหลายประเทศถอนกำลัง  UNAMIR ก็เหลือกำลังพลประมาณ 270 นายที่ยังไม่ยอมไป นำโดยพ่อโรมิโอของเรา ใช้กำลังเพียงเล็กน้อยซึ่งบางส่วนไม่ได้รับการฝึกฝนดีนักจัดตั้งเขตปลอดทหารขึ้น และเขตปลอดทหารนี้ก็ถูกโจมตีโดยทหารบ้านและทหารรวันดาหลายครั้ง แถมแออัดยัดเยียดและขาดแคลนทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็ช่วยชีวิตผู้อพยพได้หลายหมื่นคน ในขณะที่เวลานั้น UNAMIR เองก็ไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีหรือทันท่วงทีจาก UN เลย

ภาพทหารเบลเยี่ยมที่พลีชีพครับ



บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 29 พ.ค. 12, 20:23

นอกจาก UN แล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วพี่เบิ้มตำรวจโลกแบบ USA ที่ธรรมดาต้องคอยจุ้นจ้านไปทั่ว  แล้วงานนี้เงียบหายไปไหน?
พี่กันของเราที่จริงก็สนับสนุนกองกำลัง RPF อยู่  แต่ก็ต้องออกตัวว่าเป็นเรื่องโชคไม่ดีของชาวรวันดาเองที่ใต้ผืนแผ่นดินไม่มีน้ำมันปริมาณมหาศาลแบบคูเวต ไม่มีเหมืองทอง หรือเหมืองยูเรเนียม ทำให้ชาติพี่เบิ้มทั้งหลายไม่กระตือรือล้นนักที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวนัก 

พี่กันของเราเองก็เช่นกัน แผลที่ไปซ่าในโมกาดิชูเมื่อปี 1993 ยังไม่ตกสะเก็ด (ใครจำหนังเรื่อง Black Hawk Down ได้ก็เหตุการณ์นี้แหละ) ทำให้พี่กันไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งใดๆ ที่ไม่คุ้มค่าเสี่ยงอีก ตลอด 100 วันของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พี่กันจึงค่อนข้างวางเฉย แถมช่วงกลางๆ ของการฆ๋าล้างเผ่าพันธุ์ ทาง UN ตัดสินใจจะส่งทหาร 5000 คนเข้าไปช่วย และขอการสนับสนุนรถหุ้มเกราะลำเลียงพลจากพี่กันเรา  พี่กันขอคิดค่าใช้จ่าย 6.5 ล้าน USD เฉพาะค่าขนส่งอย่างเดียว  ซึ่งสุดท้ายกองกำลังนี้ก็ไม่ได้เดินทางเข้าไป เพราะทาง UN มัวแต่เจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายกับเพราะระบบระเบียบทางราชการภายใน UN เอง

เมื่อเหตุการณ์ฆ่าฟันสงบลงแล้ว พี่บิล คลินตันออกมาแก้เกี้ยวว่าเพราะแกไม่เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง ไม่รู้ว่าสถานการณ์มันร้ายแรงมากจนได้เห็นข่าวจากสื่อ แถมข่าวส่วนใหญ่เน้นไปในเรื่องของสงครามกลางเมือง มากกว่ารายงานว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  นี่ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนนั้นแกรู้จักแม่หนูลูวินสกี้รึยัง  มัวเคี้ยวซิการ์กันอยู่รึไง

National Security Archive ซึ่งเป็น NGO ได้รายงานว่า  การกระทำของพี่กัน 5 ประการ ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยแล้วหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แล้ว ยังมีส่วนทำให้การตอบสนองจากสังคมโลกต่อเหตุการณ์นี้ช้าลงไปอีก ได้แก่

1. พี่กันเสนอให้ UN ถอนกอลกำลัง UNAMIR ทั้งหมด
2. พี่กันไม่ยอมรับว่าสถานการณ์ในรวันดาคือการ genocide หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จนกระทั่งปลายเดือนพฤษภาคม และเลี่ยงที่จะใช้คำนี้ในการแถลงข่าวต่อสาธารณชน
3. ระเบียบปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ ทำให้ความช่วยเหลือต่างๆ ช้าเกินไป
4. พี่กันปฏิเสธที่จะส่งคลื่นวิทยุรบกวนการออกอากาศของพวกฮูตูหัวรุนแรง ที่กำลังออกอากาศปลุกปั่น ชักชวนผู้คนออกมาฆ่าชาวทุตซี่
5. พี่กันรู้จักแกนนำฮูตูหัวรุนแรงเป็นอย่างดี รวมถึงได้บอกให้ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  แต่ก็แค่บอก ไม่ได้มีปฏิกริยาใดๆ ที่จริงจังมากไปกว่านั้น  พูดง่ายๆ คือแค่ปรามๆ เท่านั้น แต่ไม่ได้ทำอะไรที่จริงจังเพื่อสั่งให้หยุด

บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 29 พ.ค. 12, 21:28

อีกประเทศที่ต้องพูดถึงเพราะมีบทบาทมากในเหตุการณ์นี้คือฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสมีบทบาทมากในฐานะตัวร้ายของเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะเป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับกองทัพรวันดา นักหนังสือพิมพ์ลินดา เมลเวิร์น (Linda Melvern)วิเคราะห์ไว้ และถูกใช้อ้างอิงบทบาทของฝรั่งเศสในวิกิพีเดียที่ผมเอามาเล่าต่อ

ลินดาบอกว่าฝรั่งเศส นำโดยประธานาธิบดีมิเตอรองไม่ต้องการให้ฝ่ายกบฏ RPF มีชัย ทั้งนี้เนื่องจาก RPF เป็นกลุ่มที่ใช้ภาษาอังกฤษ ชัยชนะของ RPF อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศรอบข้างที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส และกระทบต่ออิทธิพลของฝรั่งเศสในภูมิภาคได้ จึงให้การสนับสนุนต่อฝ่ายรัฐบาลรวันดาในขณะนั้น ทั้งด้านอาวุธและการฝึกอบรมทหาร รวมทั้งใช้อิทธิพลในการต่อต้านพวก RPF และหาเสียงสนับสนุนให้กับรัฐบาลนายฮับยาริมานา ก่อนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีชาวฝรั่งเศสเข้าไปในรวันดาในฐานะที่ปรึกษาทางทหารและผู้ช่วยด้านเทคนิคให้กับกองทัพรวันดา  มีครูฝึกฝรั่งเศสในกองทัพอากาศรวันดา  มีอดีตนายตำรวจฝรั่งเศสทำหน้าที่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงให้กับประธานาธิบดีและยังทำหน้าที่ฝึกกองกำลังพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ก่อกวนในแนวหลัง พื้นที่ยึดครองของกองกำลัง RPF ด้วย

ในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฝรั่งเศสส่งกองกำลังเข้าไปในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรวันดาจากทางประเทศซาอีร์เพื่อปฏิบัติภารกิจทางมนุษยธรรมและหยุดยั้งการฆ่า แต่ทหารฝรั่งเศสมักจะเข้าไปในพื้นที่ที่มีการฆ่ากันหลังจากการฆ่าฟันขนานใหญ่จบลงแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น Human Rights Watch  ได้ประนามฝรั่งเศสว่าปฏิบัติการทางทหารของฝรั่งเศสนั้น เจตนาคือเพื่อขัดขวางกองกำลังฝ่ายกบฏ RPF มากกว่าที่จะเพื่อหยุดยั้งการฆ่าฟัน รวมทั้งมีส่วนช่วยพวกที่มีส่วนในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หลบหนีเข้าไปในซาอีร์หลังจากที่ฝ่าย RPF มีชัยในรวันดาด้วย ซึ่งข้อกล่าวหาเหล่านี้ฝรั่งเศสปฏิเสธทั้งหมด


ภายหลังนายพอล คากาเม ผู้นำ RPF สามารถยึดอำนาจในราวันดาและจัดตั้งรัฐบาลปกครองรัวนดาจนถึงปัจจุบัน  รวันดาได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส องค์กร สถาบัน หรือโรงเรียนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งเศสถูกสั่งปิด การเรียนการสอนภาษาในรวันดาใช้ภาษาฝรั่งเศส

ภาพทหารฝรั่งเศสในรวันดา ภาพจาก wikipedia


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 30 พ.ค. 12, 03:32

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
๑  ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
๒  บรรดามหาอำนาจทั้งหลาย เอาเข้าจริงก็รักษาผลประโยชน์ตัวเองมากกว่าคนอื่น    เรื่องจะเข้าไปช่วยปลดแอกประเทศนั้น  สร้างประชาธิปไตยให้ประเทศนี้ มักเป็นคำพูดหรูๆ ฉาบเอาไว้เท่านั้น
๓  อย่าปล่อยให้เหตุการณ์ฆ่าฟันล้างโคตรเกิดในหมู่คนไทยได้   ไม่ว่าจะถูกปลุกระดมแค่ไหนก็ตาม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 31 พ.ค. 12, 18:32

ยังเข้ามาอ่านอยู่นะคะ  คุณประกอบ
ปัจจุบันนี้รวันดาสงบเรียบร้อยดีแล้วใช่ไหมคะ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 31 พ.ค. 12, 18:51

แห่ะๆ  ท่านอาจารย์มาตามแล้ว  มัวอู้เหลวไหลมากไม่ได้แล้ว   กำลังอ่านข้อมูลฝ่ายพระเอก(มั๊ง???)พวก RPF อยู่ครับ เพราะการนองเลือดหยุดได้เพราะพวก RPF บุกเข้ามาและยึดรวันดาได้ แต่ข้อมูลเท่าที่มีมากที่สุดใน wikipedia มันออกจะไม่ค่อยเป็นกลางเท่าไหร่  แหล่งข้อมูลอื่นๆ ก็หาค่อนข้างยาก

รวันดาวันนี้จะเรียกว่าสงบก็สงบ จะว่าไม่สงบก็ไม่สงบ คือสถานการณ์มันอาจจะยังคุกรุ่นอยู่แม้จะมีความพยายามของรัฐบาลให้การแบ่งแยกมีน้อยลง ข่าวจากหลายๆที่ที่อ่าน พวกที่เขียนในแง่ดีก็บอกว่าตอนนี้รวันดาดีมาก  รวันดาวางแผนไว้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเจริญให้เท่าไทย  แต่บางข้อมูลบอกว่าปัญหาก็ยังมี แม้จะสงบไปมาก แต่ความขัดแย้งยังคงมีและลามไปยังประเทศเพื่อนบ้านเช่นคองโก ซาอีร์ อาจจะมีสงครามในอนาคตได้

นายพอล คากาเม อดีตผู้นำกลุ่ม RPF ที่ตอนนี้มาเป็นประธานาธิบดีรวันดา โดยความเห็นส่วนตัวผมคนคนนี้เป็นคนเก่งมากที่มีศักยภาพและภาวะผู้นำสูง ฉลาด มีวิสัยทัศน์ เพราะในช่วงเป็นกบฏ  RPF ก็จวนไปเจียนมาหลายหนแต่ด้วยฝีมือของคากาเมสามารถนำพาจนยึดประเทศได้  แต่อะไรอื่นๆ เบื้องหลังของนายคากาเม (ภาษาปะกิตใช้คำว่า hidden agenda)ที่หาอ่านโดยตรงยังไม่ได้ เพราะจากประวัติด้านดีก็ทำให้อดตะหงิดใจไม่ได้ว่าจะไม่มีด้านมืดเชียวหรือ  ทำให้ผมยังไม่อาจสรุปได้ว่าผมควรจะเรียกคากาเมว่าเป็นพระเอกได้หรือไม่

ภาพคากาเมสมัยนำกลุ่ม RPF


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 31 พ.ค. 12, 23:10

มารู้จักกลุ่ม RPF ผู้ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันหน่อย  เพราะการยึดประเทศได้ของ RPF ทำให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุติลง การมาถึงของ RPF ได้ช่วยชีวิตผู้คนได้นับแสนคน แต่เหรียญก็มีสองด้านเช่นกัน

กลุ่ม RPF จัดตั้งขึ้นมาในปลายทศวรรษ 1980 โดยพัฒนามาจากกลุ่ม National Resistance Army (NRA) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลรวันดาที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นลูกหลายชาวทุตซี่ที่ถูกขับไล่ออกจากรวันดาไปอาศัยอยู่ที่อูกานดา  วัตถุประสงค์หลักของกลุ่มคือการกลับไปตั้งรกรากในรวันดาอีกครั้ง เพราะแม้จะอยู่ในอูกานดา ผู้อพยพเหล่านี้ก็มีสถานะแค่ผู้ลี้ภัย และรัฐบาลอูการดาเองก็อยากให้พวกนี้กลับประเทศ กลุ่มต่อต้านนี้ได้รับการสนับสนุนจากอูกานดาและสหรัฐด้วย

ผมพยายามหาข้อมูลกำลังพลของ RPF ว่ามีจำนวนเท่าใด แต่หายอดที่แท้จริงไม่ได้ อาจจะประมาณ 4000 คนแต่น่าจะมากกว่านั้น  สมาชิกส่วนใหญ่เป็นลูกหลานทุตซี่อพยพแต่ก็มีชาวฮูตูสายกลางรวมทั้งพวกฮูตูที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลด้วย กองกำลัง RPF ยินดีรับใครก็ได้ที่ต้องการเข้ามาเป็นสมาชิกโดยไม่คำนึงถึงเผ่า

RPF พยายามขจัดความแตกต่างระหว่างเผ่าพันธุ์  นายพอล คากาเมเองไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นฮูตูหรือทุตซี่ บอกแต่ว่าเป็นชาวรวันดา    การฝึกสอนของ RPF เน้นย้ำให้ทหารเข้าใจไปถึงต้นตอของความเกลียดชังระหว่างเผ่าว่าเป็นฝีมือการยัดเยียดของชนผิวขาวที่เข้ามาปกครองรวันดา มากกว่าจากความแตกต่างที่แท้จริงระหว่างเผ่าพันธุ์ ในแต่ละหน่วยย่อยของกำลังพลของ RPF จะต้องมีทั้งชาวทุตซี่และฮูตูผสมกัน ทหารของ RPF มีการฝึกฝน ระเบียบวินัย ดีมาก

RPF ใช้อูกานดาเป็นฐานและเริ่มเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 1990 และประสบความสำเร็จสามารถยึดพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ จนกดดันให้รัฐบาลนายฮับยาริมานาต้องเปิดการเจรจาเพื่อแบ่งปันอำนาจและปฏิรูปการเมืองตามข้อตกลงอรุชา  ทั้งสองฝ่ายเตรียมที่จะเซ็นสัญญาสงบศึก  ก่อนหน้าการตายของประธานาธิบดีเอง มีทหารของ RPF 1 กองพันอยู่ในกรุงคิกาลีด้วยเพื่อเตรียมรับการเซ็นสัญญา แต่เครื่องบินของประธานาธิบดีตกซะก่อน และการฆ่ากันก็เริ่มต้น

ธงของ RPF แต่จะใช้ตัวย่อจากชื่อเต็มภาษาฝรั่งเศส


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 01 มิ.ย. 12, 00:38

เมื่อเครื่องบินของประธานาธิบดีตก กองกำลัง RPF ที่อยู่ในกรุงคิกาลีก็เริ่มถูกโจมตีจากทหารรวันดาและทหารบ้าน แต่กระนั้นทหาร RPF ได้ช่วยอพยพนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวแกนนำฮูตูสายกลางจำนวนหนึ่งไปนังแนวหลังของ RPF   กองกำลัง RPF ในคิกาลีสามารถถอนตัวไปรวมกับกองกำลังใหญ่ทางตอนเหนือของประเทศได และได้เริ่มรุกกลับฝ่ายรัฐบาลเพื่อหยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธฺุ

ในระหว่างช่วงการล้างเผ่าพันธุ์  เมื่อกองกำลัง RPF เคลื่อนผลถึงชุมชนใดก็จะพยายามติดต่อกับผู้นำชุมชนนั้นเพื่อขอความร่วมมือ ยกเว้นแต่กับผู่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นพันธมิตรกับพวกที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ RPF แม้แต่ออกอากาศทางวิทยุยอมรับทหารกองทัพรวันดาและทหารบ้านที่ถูกบังคับให้เข้าร่วมกับกองทัพหรือกองทหารบ้าน ให้หันมาเข้าร่วมกับ RPF เอง แม้จะไม่ค่อยได้ผล แต่ทหารบ้านฮูตูและทหารรวันดาจำนวนหนึ่งก็หันมาเข้ากับฝ่าย RPF บางคนใช้เป็นโอกาสในการหลบหนีความผิดที่ตัวเองก่อไว้ช่วงที่ RPF ยังมาไม่ถึง

จริงแล้วแม้แต่ก่อนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ RPF เองก็เห็นการเตรียมการของฝ่ายรัฐบาล และได้พยายามเร่งให้มีการลงนามและแบ่งอำนาจกัน แต่เกิดการฆ่ากันเสียก่อนในช่วงวันแรกๆ RPF พยายามจะขอเข้าร่วมกับกองทัพรวันดาและ UNAMIR เพื่อหยุดยั้งการเข่นฆ่าแต่ไม่ได้รับการตอบรับ RPF จึงต้องออกปฏิบัติการด้วยตัวเอง  ซึ่งที่ใดที่ทหาร RPF ไปถึงมักจะไม่ค่อยพบการต้านทานมากนัก ทหารรวันดาและทหารบ้านมักจะผละนี้เมื่อรู้ว่าพวก RPF มาถึง  และ RPF ได้ช่วยหยุดการฆ่าหมู่ที่กำลังจะเกิดได้หลายครั้ง
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 01 มิ.ย. 12, 04:15

พระเอก  แบบนี้มันพระเอกชัดๆ  นี่โม้รึเปล่าเนี่ย?  มันจะพระเอกมากไปแล้วมั๊ง  หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ต้องคิดแบบนี้

ที่เล่าไปนี่ย่อมาจากรายงานของ Human Right Watch เลยนะครับ องค์กรนี้หลายคนน่าจะคุ้นชื่อกันดี ไม่เชื่อไปอ่านเองได้ที่ http://www.hrw.org/reports/1999/rwanda/Geno15-8-03.htm ได้เลย  ในรายงานที่เขียนไว้ อ่านแล้วจะรัก RPF มากกว่าที่เล่าไปซะอีก คนอะไรก็ไม่รุ ดูอุดมคติสูงส่ง ยังกะพระเอกหนังยอดมนุษย์  กำราบคนเลว อภิบาลคนดี
 ยิงฟันยิ้ม
 ยิงฟันยิ้ม
 ยิงฟันยิ้ม
 ยิงฟันยิ้ม
 ยิงฟันยิ้ม
 ยิงฟันยิ้ม
 แลบลิ้น

ครับ  แต่ในความเป็นจริง Human Right Watch นี่เล่นเขียนรายงานแบบลูบหลัง นวดเฟ้น เป่าหูฟู่ๆ ให้ผ่อนคลายก่อนแล้วค่อยตบหัว  แถมตบทีหงายหลังตกเก้าอี้เลย

ฝ่าย RPF พบว่าเมื่อเริ่มทำการรุกกลับ สามารถรุกไล่ฝ่ายทหารรวันดาและทหารบ้านได้อย่างง่ายดายเกินคาด ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักจากแค่ต้องการหยุดยั้งการฆ่า จึงมองไกลไปกว่านั้นเปลี่ยนเป็นการเข้ามายึดครองประเทศซะเลย พระเอกของเราเลยมองไปที่ยุทธวธีในการชนะศึก มากกว่าการเข้าไปช่วยชาวบ้านที่กำลังถูกฆ่าซะแล้ว  RPF เน้นการส่งกำลังเข้าไปยึดจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ มากกว่าจะเข้าไปยังจุดที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นไปอย่างรุนแรง   

นอกจากนี้ RPF ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ขัดขวางแผนการของ UN ที่จะส่งกองกำลัง 5000 นายเข้าไปในรวันดา เพราะ RPF มองว่ากองกำลังของ UN อาจจะเป็นอุปสรรคต่อชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แถมเป็นการมาในช่วงเวลาที่ไม่จำเป็นแล้วเพราะชาวทุตซี่ถูกฆ่าไปหมดแล้ว  ทั้งที่ในความเป็นจริง แม้จะมาช้า แต่กองกำลังใหม่ของ UN อาจช่วยชีวิตผู้บริสุทธิ์ได้อีกมาก

Human Right Watch ยังได้พูดถึงอาชญากรรมที่ก่อโดยทหาร RPF เองต่อพลเรือนในพื้นที่ยึดครองของ RPF เอง ซึ่งมีตั้งแต่ก่อนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะเริ่มในเดือนเมษายน ด้วย และเมื่อ RPF โต้กลับในช่วงหลังเดือนเมษายน 1994 เป็นต้นไป  RPF ได้ปฏบัติการล้างแค้นในพื้นที่ที่ยึดครองได้เช่นกัน แม้แกนนำของ RPF จะปฏิเสธและอ้างว่าต้องการแค่จับกุมผู้มีส่วนร่วมในการล้างเผ่าพันธุ์เพื่อนำมาขึ้นศาล แต่ในความเป็นจริงทหาร RPF ได้สังหารชาวฮูตูนับหมื่นคนเช่นกัน ทั้งที่เป็นทหารรวันดา ทหารบ้าน และพลเรือน  ในบางพื้นที่ทหาร RPF ถือว่าชาวฮูตูที่ยังอยู่ในพื้นที่มีส่วนร่วมกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้ได้เริ่มการฆ่าเพื่อล้างแค้นโดยไม่แยกเช่นกัน   ทหาร RPF ไม่มีนโยบายจับเชลย ดังนั้นทหารรวันดาหรือทหารบ้านที่ถูกจับได้จะถูกสังหาร ซึ่งรวมไปถึงชาวบ้านที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย เพราะการแยกแยะว่าใครใช่หรือไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามทำได้ลำบาก

ทหาร RPF ได้สังหารนายทหารในกองทัพรวันดา, นักการเมือง และผู้สนับสนุนพวกหัวรุนแรงจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้สังหารแต่แค่เจ้าตัวแต่รวมถึงสมาชิกในครอบครัวด้วย ใครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายนิยมฮูตูล้วนถูกสังหาร แม้บางคนจะเคยช่วยและปกป้องพวกทุตซี่ก็ตาม

อย่างที่บอกว่าทหาร RPF มีวินัยและการจัดการภายในที่ดีมาก หลักฐานการฆ่าที่กระทำโดย RPF อย่างชัดเจนจึงมีไม่มากนัก แต่กระนั้น Human Right Watch ก็สามารถหาหลักฐานการฆ่าที่กระทำโดย RPF ได้ และได้กล่าวถึงไว้ในรายงานหลายกรณีมาก เรียกว่าอ่านกันไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียว   แต่สิ่งหนึ่งที่ผมหาไม่เจอในรายงานของ Human Right Watch คือเรื่องของการข่มขืนที่กระทำโดย RPF ดังนั้นภาพลักษณ์พระเอกก็ยังพอมีอยู่
นอกจากนี้ สงครามกลางเมืองและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุติลงได้ในกลางเดือนกรกฏาคม 1994 ก็เพราะการมีชัยของ RPF เหนือรัฐบาลรวันดา หลังสงคราม กองทหารรวันดา ทหารบ้าน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมทั้งชาวฮูตูจำนวนมากที่กลัวการฆ่าล้างแค้น พากันหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านเช่นซาอีร์(หรือคองโก ประเทศเดียวกันแล้วแต่จะเรียก)

บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 01 มิ.ย. 12, 12:11

อ่านแล้วนึกถึงประวัติศาสตร์จีนที่คุณ Sujitra เพิ่งเล่า     
ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอย   ในปลายราชวงศ์ที่กำลังเสื่อมโทรม   ฮ่องเต้(รัฐบาลกลาง)มีอำนาจอ่อนแอลง  คุมสถานการณ์ไม่อยู่   เกิดเหตุจลาจลกลางเมือง   
จากนั้นก็มีผู้มีบุญ ที่มีฝีมือกล้าแข็ง ควบม้าขาวเข้ามาเป็นผู้นำ  ปราบจลาจลราบคาบแล้วสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาแทน

ยิ่งในเกร็ดพงศาวดาร อย่างเม่งเฉียว   ฮ่องเต้องค์ใหม่จะเป็นผู้มีบุญมาเกิด   ดีเลิศประเสริฐศรีเกินกว่ามนุษย์ธรรมดาทั่วไป   
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 01 มิ.ย. 12, 14:40

ถ้านี่เป็นประวัติศาสตร์จีน นายพอล คากาเมก็เปรียบได้ดั่งผู้สถาปนาราชวงศ์ใหม่เลย ไม่รู้จะเปรียบนายคากาเมกับฮั่นโกโจ  หลี่ซื่อหมิน  จูหยวนจางดี หรือเหมาดี และที่จริงนายคากาเมก็มีความสามารถที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่านักปกครองอื่นๆ ที่โด่งดังเลย

คากาเมเกิดในปี 1953 และได้อพยพหนีพร้อมครอบครัวไปอูกานดาตั้งแต่ในวัยเด็ก เมื่อวัยหนุ่มได้เข้าร่วมกับกลุ่ม NRA และต่อมาได้ก่อตั้งกลุ่ม RPF และเป็นผู้นำในเวลาต่อมาหลังจากเพื่อนสนิทที่ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาด้วยกันและเป็นหัวหน้ากลุมก่อนเสียชีวิตในการรบ

เมื่อกลุ่ม RPF ได้รับชัยชนะในปี 1994 แล้ว คากาเมได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีรวันดา โดยมีประธานาธิบดีเป็นชาวฮูตู แต่ในความเป็นจริงคากาเมคือบุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดในรวันดา การตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ทุกอย่างล้วนต้องผ่านตาของคากาเมก่อน นายคากาเมขึ้นเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปัจจุบัน นายคากาเมตำหนิ UN และโลกตะวันตกอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการบทบาทในเหตุการณ์การล้างเผ่าพันธุ์


โดยบุคลิกคากาเมเป็นคนเงียบขรึม แข็งแกร่ง ตรงไปตรงมา มีวินัย ไม่ดื่มของมึนเมา ใช้ชีวิตไม่หรูหรา มีความเป็นผู้นำสูงมาก และสามารถพลิกเปลี่ยนรวันดาจากซากปรักหักพังจนกลายเป็นประเทศที่มีความหวังได้   ปี 2012 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 8 %  การแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ในรวันดาถูกห้าม  ไม่มีทุตซี่ ไม่มีฮูตูอีกต่อไป มีแต่ชาวรวันดา


แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิทางการเมืองของประชาชนในรวันดายังถูกจำกัด นายคากาเมมีภาพเป็นผู้นำเผด็จการไม่ต่างจากผู้นำอื่นๆ ในแอฟริกา นายคากาเมส่งออกความขัดแย้งและสงครามไปยังคองโกซึ่งมีผู้อพยพชาวฮูตูไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนแม้แต่ปัจจุบันความขัดแย้งนี้และปัญหาก็ยังมีอยู่  แม้แต่พอล รูเซซาบากินา (Paul Rusesabagina) พระเอกในเหตุการณ์โฮเตลรวันดายังออกมากล่าวหาว่านายคากาเมปกครองเพื่อผลประโยชน์ของพวกทุตซี่จำนวนน้อยที่เป็นชนชั้นปกครอง โดยอาศัยมือของพวกฮูตูบางส่วนที่มีแต่ตำแหน่งแต่ไม่มีอำนาจจริงมารับใช้


ภาพรวันดาในวันนี้ดูมีความสงบ เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี  มีความเจริญ  มีแม้แต่ร้านกาแฟ Starbucks(แต่มีร้านเดียว) ถ้าเราดูสารคดีก็จะเห็นรถราวิ่งกันขวักไขว่ บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน
แต่ปัญหาภายในหรือความเป็นไปจริงๆ ยังยากสำหรับผมที่จะประเมินได้ แต่โดยส่วนตัวคิดว่ารวันดาในปัจจุบันปลอดภัยมากพอเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศในทวีปเดียวกัน






บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 01 มิ.ย. 12, 17:53

หลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์  พวกฮูตูหัวรุนแรงทั้งหลายถูกขับไล่ไปยังคองโก รวันดาได้รัฐบาลใหม่ที่เน้นความปรองดองของคนในชาติ แต่ความปรองดองไม่ได้หมายถึงการลืมอาชญากรรม ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการลงโทษผู้กระทำผิด

ทาง UN ได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาชื่อว่า International Criminal Tribunal for Rwanda เพื่อพิจารณาคดีพวกแกนนำระดับสูง บุคคลในรัฐบาลและกองทัพรวันดา  ตัวเบ้งๆ ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การดำเนินคดีจะทำในแทนซาเนีย โทษสูงสุดของศาล UN คือจำคุกตลอดชีวิต   แกนนำหลายคนถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต บางคนเสียชีวิตในคุกไปแล้ว  ในขณะที่รัฐบาลใหม่ของรวันดาจะรับผิดชอบการดำเนินคดีกับแกนนำระดับรองๆ ลงมาและพวกระดับปฏิบติการทั้งหลาย ซึ่งกำหนดโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตและมีผู้เกี่ยวข้องถูกประหารชีวิตในรวันดา 22 คน แต่ผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวนมากที่ยังหลบหนี และบางส่วนยังไม่ถูกดำเนินคดี

ภาพอาชญากรตัวเบ้งๆ ที่มีประกาศจับครับ ใครอยากได้รางวัลลองไปตามตัวมาก็ได้ครับ


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 01 มิ.ย. 12, 18:17

คำถามคือเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร  มันจะเกิดขึ้นอีกไหมที่อื่นในโลก

เมื่อศึกษาเหตุการณ์ในรวันดา ผมลองมองเทียบกับวิธีการที่นาซีเยอรมันใช้  มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ทั้งช่วง 6 ตุลา 2519 จนกระทั่งกีฬาสีในบ้านเราเร็วๆ นี้ ได้เห็นความเหมือนกันมากมายที่ถูกนำมาใช้รวมทั้งผลประโยชน์ที่แกนนำได้รับ  จะขอลองวิเคราะห์ชี้ให้เห็นความเหมือนบางประการก่อน อาจจะออกแนวการเมืองบ้าง ขอเชิญร่วมแสดงความเห็นกันนะครับ

สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจก่อนคือ ในปี 1994 รวันดามีพลเมืองประมาณ 7 ล้าน 7 แสนคน ในขณะที่ปี  1964 ช่วงที่รับเอกราชและฮูตูขึ้นมามีอำนาจ มีประชากรประมาณ 3 ล้านคน นั่นแปลว่าในช่วงที่เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธฺุ์  ประชากรมากกว่าครึ่งเป็นคนที่เกิดยุคหลังจากที่ทุตซี่เคยมีอำนาจ  เกิดมาในช่วงเวลาที่ฮูตูเริ่มกดขี่ทุตซี่กลับแล้ว  ฮูตูรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่เคยประสบความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากทุตซี่จริงๆ  เพราะในความจริงแล้วในชั่วชีวิตตัวเอง ได้เห็นแต่การกดขี่พวกทุตซี่เท่านั้น ดังนั้นความเกลียดชังที่ถูกสร้างขึ้นมา จึงไม่จำเป็นต้องตรงกับความเป็นจริงในสังคมเลย

วิธีสร้างความเกลียดชังที่ได้ผลเร็วและง่าย คือการโยนว่าปัญหาทุกอย่างที่เราต้องประสบ เกิดจากคนอื่น เกิดจากคนเลว คนไม่ดี จากพวกที่แตกต่างจากเรา มันไม่ได้เกิดจากพวกเราเอง
ฮิตเลอร์บอกคนเยอรมันว่าปัญหาในเยอรมันเกิดจากคนยิว รัฐบาลฮูตูบอกว่าปัญหาทุกอย่างมาจากทุตซี่   หาจำเลยให้กับความผิดพลาด ความไม่เป็นธรรม  การโกงกินในการบริหารงานของตัวเองได้ และคนมากมายก็พร้อมจะเชื่อ เพราะมันเป็นสิ่งที่พวกเค้าอยากได้ยิน ความไม่ดีทั้งหลายเป็นเพราะคนอื่นเลว ไม่ใช่เรา  คนมากมายไม่ต้องการได้ยินความจริง แต่ต้องการแค่สิ่งที่ตัวอยากได้ยิน

ในบ้านเราเคยมีการปลุกความเกลียดชังโดยสร้างผีคอมมิวนิสต์ขึ้นมา  เร็วๆ นี้ใช้การแบ่งพวกเขาพวกเราด้วยการอ้างความแตกต่างทางชนชั้น  นี่อำมาตย์ นี่ไพร่  สร้างภาพว่าไพร่ถูกกดขี่จากอำมาตย์มาโดยตลอด ไม่ได้ลืมตาอ้าปาก ทำให้คนจำนวนไม่น้อยคล้อยตามไป   เพราะง่ายกว่ามากที่จะโทษความกดดันหรือล้มเหลวในชีวิตของตัวเองว่าเกิดจากอะไรก็ได้ ปัจจัยภายนอกอะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่ตัวเอง
เอาภาพความแตกต่างเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ตอนที่ความแตกต่างทางชนชั้นระหว่างการเป็นอำมาตย์ไพร่ยังชัดเจนกลับมา ทั้งที่ความเป็นจริงปัจจุบันคุณภาพชีวิตต่างๆ ไม่ต่างกันมากขนาดนั้นอีกแล้ว
และที่น่าเศร้าคือ มันได้ผล
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 01 มิ.ย. 12, 18:43

คำถามต่อมา แล้วพวกที่สร้างความเกลียดชังขึ้นมา ได้ผลประโยชน์อะไร?


ทุกความเกลียดชังที่สร้างได้ มีผลประโยชน์ตอบแทนสำหรับแกนนำเสมอครับ การมีมวลชนนิยมมาก เป็นทั้งเกราะกำบัง และสร้างอำนาจต่อรองให้กับตัวเอง ดังนั้นคนเลวๆ มากมายพร้อมที่จะเกาะกระแสครับ
ตัวตั้งตัวตีในการสร้างความเกลียดชังยิวในเยอรมัน ได้รางวัลใหญ่ ก้าวหน้ากันไปทุกคนครับ เช่นฮิมเลอร์ หัวหน้า SS  เกิบเบิ้ลรัฐมนตรีโฆษณาการ  ไฮดริช ผู้เริ่มต้นแผนการสังหารยิวในค่ายกักกัน
ในรวันดา โฆษกที่ออกอากาศปลุกปั่นสร้างความเกลียดชัง ได้ดิบได้ดีไปด้วย มีแม้แต่ชาวตะวันตกที่เข้าไปเป็นโฆษก พูดออกอากาศสร้างความเกลียดชังด้วย
6 ตุลา เรามีวิทยุยานเกราะ คงหาไม่ยากว่าโฆษกที่ออกอากาศได้รับรางวัลเป็นตำแหน่งอะไรหลังเหตุการ
ส่วนเร็วๆ นี้ในบ้านเรา  ก็ได้เห็นแกนนำผู้มีมวลชนเป็นฐานได้ชุบตัวกันเป็นอำมาตย์กันทั่วหน้าแล้ว  แกนนำระดับต้นๆ ก็เป็นอำมาตย์ใหญ่หน่อย ระดับรองๆ ก็เป็นอำมาตย์ภูธรหน่อยระดับตำบล อำเภอ จังหวัดไป ไม่แตกต่างเลยครับ  ยิ่งฝีปากดี ยิ่งเติบโตเร็ว
ส่วนคนที่ตาย สละเลือดสละชีวิต คือระดับเล็กๆ ที่ไม่มีใครจำได้แม้แต่ชื่อ ไม่ว่าฝ่ายไหนทั้งนั้น ที่ติดคุกก็ติดต่อไป แกนนำนั่งจิบไวน์ขับรถเบนซ์ไปหมดแล้ว
เอ นี่ผมการเมืองไปไหมนี่  ยังไงท่านอาจารย์ถ้าเห็นว่ามากไปช่วยปรามด้วยนะคร๊าบ

ภาพนาย Georges Ruggiu หมอนี่เป็นลูกครึ่งอิตาเลี่ยน-เบลเยี่ยม ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรวันดาเลย แต่ฉวยโอกาสเข้าไปทำงานเป็นโฆษกออกอากาศสร้างความเกลียดชังกระตุ้นให้ชาวฮูตูออกมาฆ่าทุตซี่มากๆ หวังลาภยศตำแหน่ง  สุดท้ายถูกตัดสินจำคุก 12 ปี


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง