เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
อ่าน: 33072 ประวัติศาสตร์จีน
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 26 พ.ค. 12, 11:34

รัฐ ฉู่ จีนแต้จิ๋วว่า "ฉ้อ" ครับ
รัฐ ฉิน ว่า ชิ้ง
กง แต้จิ๋วไม่เรียก ก๋ง แต่จะเรียก กง เหมือนจีนกลางนั่นแหละครับ

เป็นปริศนาสำคัญเรื่องหนึ่งว่าทำไมวรรณยุกต์ถึงได้เพี้ยนเมื่อภาษาจีนเข้ามาในภาษาไทย แต่สาเหตุหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นมากกับเด็กไทยรุ่นใหม่ คือผันวรรณยุกต์ไทยไม่ถูกครับ บางทีเขียนผิดๆ บางทีรู้ตัวว่าเขียนผิดแน่ๆ ละวรรณยุกต์ไปดื้อๆก็มี

ส่วนชื่อเก่าๆที่เพี้ยน อีกสาเหตุหนึ่งคือไปถอดเสียงเอาจากตัวโรมัน โดยไม่รู้ระบบเสียงของเขา มั่วเอาเองดื้อๆ ชื่อจุงกิง ฮวงโห ฯลฯ พวกนี้น่าจะมาทางนี้ครับ

ขอบคุณครับ

เพราะที่อ่านจากสำนวนการแปลตั้งแต่ จีนที่แปลชุดของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ก็เรียกชื่ออย่างนี้มานาน แต่ก็อาจจะเป็นอย่างที่คุณหัวหน้าเผ่าบอกก็ได้ครับว่า คนไทยพอฟังแล้วไม่คุ้นหู จึงฟังผิด
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 26 พ.ค. 12, 12:02

ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมกระทู้ ทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้นครับ

ถ้าเช่นนั้นผมขอดำเนินเรื่องต่อไปยังราชวงศ์ลำดับต่อไปคือ ราชวงศ์ฉิน

ราชวงศ์ฉิน (Qin Dynasty, 秦朝) หรือจิ๋น เป็นราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินจีนระหว่าง พ.ศ. 322–พ.ศ. 337 (221 ปีก่อนค.ศ. – 206 ปีก่อนค.ศ.) ดังที่ได้ทราบแล้วว่าก่อนหน้านี้จีนได้แตกแยกออกเป็น 7 รัฐ ได้แก่ ฉิน  หาน เว่ย ฉู่ จ้าว เอี้ยนและฉี ทั้ง 7 รัฐนี้ได้ทำสงครามกันอยู่เนืองๆ ต่อมาอ๋องแห่งรัฐฉินนามเดิมว่า “ อิ๋งเจิ้ง” ได้รวมประเทศจีนเป็นหนึ่งเดียวเป็นครั้งแรก และสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิ (ฮ่องเต้) โดยใช้พระนามว่า ฉินสื่อหวงตี้ คือ จิ๋นซีฮ่องเต้ นั่นเอง จิ๋นซีฮ่องเต้ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 322 – พ.ศ. 333 ในช่วงนี้แผ่นดินจีนมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงมาก เป็นราชวงศ์แรกที่มีความเป็นเอกภาพ มีหลายชนชาติและใช้ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่อำนาจส่วนกลาง แต่เมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้ทรงเสด็จสวรรคต ราชวงศ์ฉินก็สั่นคลอนอย่างหนัก และล่มสลายลงใน พ.ศ. 337

           จิ๋นซีฮ่องเต้ ได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองลั่วหยางมาอยู่ที่เมืองเสียนหยาง (หรือซีอานในปัจจุบัน) เหตุที่ฉินอ๋องเลือกหาชื่อใหม่ให้แก่ตนเนื่องจากเห็นว่า ตนสามารถรวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นได้ คำว่า อ๋อง ไม่ยิ่งใหญ่พอ จึงได้เลือกคำว่า หวงตี้ (ฮ่องเต้) ซึ่งแปลว่า "โอรสแห่งสวรรค์" มาใช้ แล้วเรียกชื่อตน ตามชื่อราชวงศ์ว่า ฉินซีฮ่องเต้ ฮ่องเต้เรียกตัวเองว่า "เจิ้น" (เดิมเรียกว่า "กู" ) เป็นการเปิดฉากโอรสแห่งสวรรค์ครองเมือง และเพื่อเพื่อขจัดความกระด้างกระเดื่องของเชื้อพระวงศ์ 6 รัฐเดิม หลี่ซือ อัครมหาเสนาบดีเสนอแนะให้รวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ฉินซีฮ่องเต้ทรงเห็นชอบด้วย  กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือสลายระบบเจ้าผู้ครองนครรัฐ การใช้อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่องค์จักรพรรดิหรือฮ่องเต้แต่ผู้เดียว แบ่งเขตการปกครองราชอาณาจักรออกเป็น 36 เขตหรือ”จุ้น” (ต่อมาเพิ่มเป็น 42 เขต) แต่ละเขตมีผู้ว่าการทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร และตำแหน่งผู้ตรวจการอีกตำแหน่งหนึ่ง แต่ละเขตหรือ”จุ้น”ยังแบ่ง เขตปกครองออกเป็นอำเภอหรือ”เสี้ยน”รองลงมาเป็น”ตำบล”และ   ”หมู่บ้าน”เป็นต้น นับเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อสายของรัฐเดิมทั้ง 6 ทำการเคลื่อนไหวโค่นล้มราชวงศ์ฉิน พระองค์จึงสั่งย้ายพวกเขาไปอยู่”กวนจง”หรือมณฑลส่านซีในปัจจุบัน และ ”ปาสู่”หรือมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน ขนาด รวบอำนาจไว้เช่นนี้แล้วก็ยังไม่วางพระทัย ฉินซีฮ่องเต้ทรงสั่งการให้ริบ อาวุธของรัฐทั้ง 6 นำไปทำลายและห้ามชาวบ้านครอบครองอาวุธด้วย

             เพื่อให้การปกครองทั่วทั้งอาณาจักรได้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันได้โดยสะดวก ฉินซีฮ่องเต้ ทรงมีพระบรมราชโองการกำหนดให้ทั่วทั้งอาณาจักรใช้ภาษาหนังสือและมาตราชั่งตวงวัดเป็นมาตรฐานอย่างเดียวกันทั้งหมด และเนื่องด้วยฉินซีฮ่องเต้ทรงเกรงว่านักคิดปัญญาชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์แล้วจะนำความรู้ที่เล่าเรียนมาคัดค้านการปกครองและทำให้ประชาชนในอาณาจักรพลอยสับสนไปด้วย พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการให้เผาทำลายหนังสือประวัติศาสตรที่บันทึกเรื่องราวของรัฐต่างๆ ทั้งหมด ยกเว้นประวัติศาสตร์ของรัฐฉิน และหนังสือว่าด้วยการแพทย์ การทำนายพยากรณ์และการเกษตร ตามข้อเสนอของหลี่ซือ เสนาบดีของพระองค์ ส่วนใครที่ยังชอบวิพากษ์วิจารณ์ พระองค์ จะทรงถือเป็น การดูหมิ่นพระองค์อย่างรุนแรง ทรงมีบัญชาให้ดำเนิน  การสอบสวน และท้ายสุด ให้ลงโทษด้วยการฝังทั้ง เป็นซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 460 คน  นี่ก็คือเหตุการณ์”เผาหนังสือฝังปัญญาชน” ในประวัติศาสตร์จีนสมัยฉิน

             เพื่อให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายกำลังทหาร การติดต่อคมนาคม และ การสื่อสารระหว่างกันภายในอาณาจักร  นอกจากการพัฒนาประดิษฐ์เพลารถแล้ว ฉินชีฮ่องเต้ยังได้ทรงบัญชาให้สร้างทางหลวงขึ้นรวมทั้งให้ขุดคลองเพื่อการคมนาคมทางน้ำด้วย  หนึ่งในทางหลวงสำคัญสองสายเริ่มต้นจากเสียนหยางเมืองหลวงของ รัฐฉินมุ่งไปทางตะวันออกผ่านมณฑลเหอเป่ยและซานตงในปัจจุบันไปสุดฝั่งทะเลตะวันออก  ส่วนอีกทางหนึ่งตัดลงทางใต้ไปยังมณฑลเจียงซูและเจ้อเจียงในปัจจุบัน   นอกจากนั้น  ยังมีการสร้างถนนระหว่างมณฑลหูหนาน เจียงซี กว่างตุงและกว่างซี ในปัจจุบัน ตลอดไปจนถึงเขตที่อยู่ห่างไกล เช่นมณฑลหยูนหนานและ กุ้ยโจว ส่วนการขุดคลองนั้น มีการขุดคลองหลิงฉวีในเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซีในปัจจุบันเพื่อเชื่อมกับแม่น้ำหลีเจียงและแม่น้ำเซียงเจียงในมณฑลหูหนานในปัจจุบัน

              มีการปฏิรูประบบตัวอักษร ระบบชั่ง, ตวง, วัด (เช่น เพลารถ) ให้เหมือนกันทั้งประเทศ (สำหรับตัวอักษรนั้น อ่านออกเสียงต่างกันได้ แต่จะต้องเขียนเหมือนกัน เช่นเลข 1 เขียนด้วยขีดแนวนอนขีดเดียว จีนกลางออกเสียงว่า "อิ๊" แต่แต้จิ๋วอ่านว่า "เจ๊ก") และแบ่งการปกครองเป็นระบบจังหวัด, อำเภอ 

              ทางด้านเศรษฐกิจ   ฉินซีฮ่องเต้ทรงสนพระทัยการเกษตร แต่ไม่ได้ส่งเสริมการค้า ส่งเสริมการพัฒนาระบบกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของที่ ดินแบบสังคมศักดินา ปี 216 ก่อนคริสต์ศักราช ฉินซีฮ่องเต้ทรงสั่งการให้เจ้า ของที่ดินและเกษตรกรที่ทำไร่ไถนาซึ่งได้ครอบครองที่ดินอยู่แล้วเพียงแต่แจ้งจำนวนที่ดินและเสียภาษีแก่รัฐบาลเท่านั้น รัฐบาลก็จะให้การรับรองหรือคุ้มครองกรรมสิทธิ์ของพวกเขา จากนั้น จึงได้กำหนดระบบ กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในที่ดินไว้ตั้งแต่บัดนั้น

              ฉินซีฮ่องเต้ ปกครองด้วยความเฉียบขาด อำมหิต กล่าวกันว่า แค่มีคนจับกลุ่มคุยกัน ก็จะถูกจับไปประหารทันที ข้อหาให้ร้ายราชสำนัก มีการยัดเยียดข้อหาแล้วประหารทั้งโคตร การประหารมีทั้งตัดหัว, ตัดหัวเสียบประจาน หรือ "ห้าม้าแยกร่าง" (เอาเชือกมัดแขนขาไว้กับม้าหรือรถม้า 5 ทิศ แล้วให้ม้าควบไป ฉีกร่างออกเป็นชิ้นๆ) และกรณีที่อื้อฉาวมากคือ การเผาตำราสำนักขงจื๊อ แล้วจับบัณฑิตสำนักขงจื๊อสังหารหมู่ ด้วยการเผาทั้งเป็น, ฝังทั้งเป็น หรือฝังดินแล้วตัดหัว แม้แต่รัชทายาทฝูซู (พระโอรสองค์โต) ยังถูกเนรเทศไปชายแดน ไป "ช่วย" เหมิงเถียนสร้างกำแพงเมืองจีน ด้วยข้อหา ขัดแย้งกับพระองค์ จึงมีคนหาทางปลงพระชนม์ตลอดเวลา แม้แต่พระสหายที่สนิทก็ตาม นอกจากนี้ พระองค์ยังกลัวความตายมาก พยายามเสาะแสวงหายาอายุวัฒนะมาทุกวิถีทาง แต่สุดท้าย ฉินซีฮ่องเต้ก็ป่วยหนัก และสิ้นพระชนม์ลง ในระหว่างที่ออกตามหายาอายุวัฒนะ ในแดนทุรกันดารนั่นเอง และได้มีพระราชโองการเรียกฝูซู รัชทายาทกลับมา เพื่อสืบราชบัลลังก์ (โอรสองค์นี้มีนิสัยอ่อนโยนกว่าบิดา และยังเก่งกาจอีกด้วย จึงเป็นที่คาดหวังจากราษฎรเป็นอย่างมาก) แต่หูไห่ โอรสอีกองค์ ได้ร่วมมือกับเจ้าเกาขันทีและอัครเสนาบดี และหลี่ซือ ปลอมราชโองการ ให้ฝูซูและเหมิงเถียนฆ่าตัวตาย แล้วตั้งหูไห่เป็นฮ่องเต้องค์ถัดมา เรียกว่า พระเจ้าฉินที่สอง หรือฉินเอ้อซื่อ ซึ่งเป็นฮ่องเต้ที่โหดเหี้ยม แต่ไร้สามารถ ผิดกับพระบิดา แถมยังอยู่ใต้การชักใยของเจ้าเกาขันทีตัวแสบ ทำให้ราชวงศ์ฉินล่มจม หูไห่ได้ใช้เงินทองจำนวนมหาศาล ในการก่อสร้างสุสานของฉินซีฮ่องเต้ และยังรีดภาษีจากราษฎรอีก ทำให้ประชาชนก่อกบฏขึ้น

                ในเวลานั้น มีกบฏอยู่หลายชุด มีข้อตกลงกันว่า หากใครบุกเข้าทางกวนจง ของราชวงศ์ฉินได้ก่อน จะได้เป็นใหญ่ หลิวปัง ได้ก่อกบฏต่อต้านราชวงศ์ฉินขึ้น และได้ผู้ช่วยมือดีมา 3 คน คือ หานซิ่น จางเหลียง และเซียวเหอ มาช่วยในการวางแผนรบ และประสานงานต่างๆ จึงโค่นราชวงศ์ฉินลงได้ โดยเจ้าเกาได้ฆ่าหลี่ซือ ปลงพระชนม์หูไห่ แล้วตั้งจื่ออิง หลานของหูไห่เป็นฮ่องเต้แทน แต่เจ้าเกาก็ถูกจื่ออิงฆ่าตาย จื่ออิงยอมสวามิภักดิ์ต่อหลิวปัง เวลาเดียวกัน เซี่ยงอี้ ได้ละเมิดข้อตกลง โดยตั้งตัวเป็นซีฉู่ป้าอ๋อง หรือฌ้อป้าอ๋อง (แปลว่า อ๋องแห่งแคว้นฉู่ ที่ยิ่งใหญ่เหนืออ๋องอื่นๆ ว่ากันว่า เซี่ยงอี้นิยมสงคราม และคิดจะทำให้แผ่นดินแตกแยก กลับไปสู่ยุคจ้านกว๋ออีกครั้ง) เซี่ยงอี้ได้เผาพระราชวังอาฝางกงของฉินซีฮ่องเต้ ปลงพระชนม์จื่ออิง แล้วสู้รบกับหลิวปัง การสู้รบได้ยืดเยื้ออยู่นาน เซี่ยงอี้คิดจะแบ่งแผ่นดินปกครองกับหลิวปัง แต่ในที่สุด หลิวปังได้ยกทัพเข้าสู้รบขั้นเด็ดขาด ทำให้เซี่ยงอี้ต้องฆ่าตัวตายในที่สุด

                ในสมัยจ้านกว๋อ ชาว”ซงหนู”ชนชาติที่เร่ร่อนอยู่ตามที่ราบ กว้างใหญ่ทางภาคเหนือและยังชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์นั้นชำนาญการ รบบนหลังม้ามาก พวกนี้มักจะยกกำลังมารุกรานปล้นสะดมตามพรม แดนด้านเหนือของรัฐฉิน จ้าวและเอี้ยน ทำให้รัฐเหล่านี้ต้องสูญเสียทั้ง ชีวิตผู้คนและทรัพย์สินอยู่เสมอ เจ้าผู้ครองทั้งสามรัฐดังกล่าวจึงได้ สร้างกำแพงเมืองขึ้นตามบริเวณชายแดนของรัฐตน เพื่อเป็นปราการป้องกัน การรุกรานของพวก”ซงหนู”หลังจากได้รวบรวมรัฐ ต่างๆเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันแล้ว ฉินซีฮ่องเต้จึงได้ส่งแม่ทัพหม่ง เถียนไปปราบปรามพวก”ซงหนู”และเชื่อมต่อกำแพงระหว่างรัฐทั้ง สามเข้าด้วยกันและขยายออกไปทั้งทางตะวันตกและตะวันออกจากหลินเถา(ในอำเภอหมินเสี้ยนในปัจจุบัน)จนถึงเหลียวตงทางตะวันออกเป็น ระยะทางราว6,000กิโลเมตร เท่ากับ 12,000 ลี้ชื่อต่อมาเรียกกันว่า “ว่านหลี่ฉางเฉิง “หรือ”กำแพงหมื่นลี้” เป็นสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งในเจ็ดของโลก

                เรื่องราวสมัยราชวงศ์ฉิน มีอยู่ในวรรณกรรมไซ่ฮั่น ซึ่งกล่าวถึงการสิ้นสุดราชวงศ์ฉินและการสถาปนาราชวงศ์ฮั่น "เจาะเวลาหาจิ๋นซี" และหนึ่งในภาพยนต์ในดวงใจคือ "HERO"

                ปัจจุบัน ราชวงศ์ฉินได้รับการยอมรับจากนักประวัติศาสตร์ให้เป็นราชวงศ์แรกของจีน ด้วยมีหลักฐานทางโบรารคดีและประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการมากที่สุดและแผ่นดินก็ยงได้ถูกรวมเป็นหนึ่งครั้งแรก และยกให้ จิ๋นซีฮ่องเต้ เป็นจักรพรรดิองค์แรกของจีนด้วย ด้วยคำว่า "China" ในภาษาอังกฤษ หรือคำว่า "จีน" ในภาษาไทยก็ล้วนเพี้ยนมาจากคำว่าฉินนี้ทั้งสิ้น ราชวงศ์ฉิน เป็นราชวงศ์ที่สั้น ๆ มีอายุเพียง 15 ปี เท่านั้น แต่ได้วางรากฐานที่สำคัญต่อมาแก่คนรุ่นหลัง และได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกมากมาย เช่น กำแพงเมืองจีน, สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ เป็นต้น
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 26 พ.ค. 12, 21:10

ในหนังภาพยนต์ส่วนมากจะกล่าวกันว่า "หลี่ซือ" อาจจะเป็นบิดาของจิ๋นอ๋องแบบลับ ๆ

จิ๋นซีฮ่องเต้ปรากฎเป็นจิ๋นอ๋องที่ในวัยเยาว์มีความอ่อนแอและไม่เฉลียวฉลาด แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนจากมหาเสนา หลี่ซือ ทำให้ความสามารถด้านการบริหารการปกครอง และความเฉียบขาด รวมทั้งความโหดร้ายได้เริ่มเผยโฉม ซึ่งก็เป็นผลดีในด้านการปกครองในสมัยนั้น เนื่องจากสามารถปราบปรามแคว้นรัฐต่าง  ๆ จนสามารถรวมดินแดนได้เป็นหนึ่งเดียวได้ (ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทำได้ แต่ภายยุคราชวงศ์หลังต่อมา บ้านเมืองก็แตกเป็นรัฐเล็ก รัฐน้อย และรวมตัวกัน) มีผู้วิเคราะห์ว่า การรวมประเทศให้เป็นหนึ่งนั้นประเทศต้องมีมาตรฐานเป็นหนึ่งเดียว คือ

1. มาตราชั่งตวง ต้องเป็นระบบเดียวกัน ไปเมืองไหนก็ชั่งได้เท่ากัน

2. ระบบเงินตรา มีเงินรูปดาบ เงินรูปอักษรจีน ก็ต้องเป็นระบบ หน่วย น้ำหนัก เดียวกัน

3. ระบบอักษรจีน การเขียนอักษร เส้นอักขระ ต้องอ่านได้เหมือนกันทั่วอาณาจักรแม้ว่าจะเผาตำราไม้ไผ่ทิ้งกันอย่างขนาดใหญ่


แม้ว่าในคราวสิ้นพระชนม์ของพระองค์ มีการปกปิดพระศพและการปลอมราชโองการ ทำให้บ้านเมืองล่มสลายในที่สุด แต่การสร้างสุสานของพระองค์นั้น เป็นงานฝีมือที่ดีเลิศ ยิ่งใหญ่และอลังการ เหล่าทหารดินเผาหน้าตาแตกต่างกันทุกตัว ม้า รถลาก งดงามเหนือคำบรรยาย อีกทั้งเครื่องสังเวยต่าง ๆ ใช้ในโลกหน้า เช่น หมู ไก่ เป็ด ปลา นักกายกรรม ก็จำลองไว้ในสุสานซึ่งมีเมืองจำลองใต้ดิน มีดวงดาวราศีบนเพดาน แวดล้อมไปด้วยทะเลปรอท ซึ่งนักโบราณคดีเคยขุดเจาะสำรวจพบว่า บริเวณใกล้สุสานพบสารปรอทอยู่สูงผิดปกติ แต่ทางรัฐบาลก็ไม่กล้าที่จะขุดค้นเปิดสุสานออกมาให้ปรากฎ เนื่องจากทางรัฐบาลเห็นว่า มีผลเสียมากกว่าผลดี คือ การโจรกรรมสุสาน และ การ Oxidize ของโบราณวัตถุที่โดนอากาศทำให้เสียหลักฐานด้านโบราณคีดไปอย่างน่าเสียดาย (กรณีนี้เกิดมาแล้วในคราวขุดค้นทหารดินเผา ซึ่งพบว่ามีการทาสีอยู่ แต่ได้ซึดจางไปแล้ว)
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 26 พ.ค. 12, 21:40


ในหนังภาพยนต์ส่วนมากจะกล่าวกันว่า "หลี่ซือ" อาจจะเป็นบิดาของจิ๋นอ๋องแบบลับ ๆ


"หลีปู้เหว่ย" กระมั้งออกขุน ที่กล่าวกันว่าเป็นบิดาของอิ๋งเจิ๊งอย่างลับๆ

"หลี่ซื่อ" เป็นขุนนางคนสนิทมิใช่ดอกหรือ  ฮืม
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 27 พ.ค. 12, 00:27

หลวี่ปู้เหวย (吕不韦) ครับ แซ่หลวี่ (吕) แซ่เดียวกับลิโป้ และคุณชวน หลีกภัยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 28 พ.ค. 12, 15:07

ต้องขออภัยที่หายหน้าไปหนึ่งวันเพราะมัวแต่ไปรับใช้ภารกิจให้ภรรยา

ราชวงศ์ต่อจากราชวงศ์ฉินคือ

 ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก(206 ปีก่อน ค.ศ. - ค.ศ. 9)

เมื่อกองทัพหลิวปังเอาชนะกองทหารของเซี่ยงอี้สำเร็จ หลิวปังจึงสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฮั่นอันยิ่งใหญ่และยาวนาน มีพระนามว่า พระเจ้าฮั่นเกาจู่ โดยตั้งเมืองหลวงที่ ฉางอาน (ใกล้บริเวณเมืองซีอาน มณฑลส่านซีปัจจุบัน) แล้วเรียกชื่อประเทศว่า อาณาจักรฮั่น นักประวัติศาสตร์จีนแบ่งยุคสมัยของราชวงศ์ฮั่นเป็นสองยุคตามที่ตั้งของเมืองหลวง คือ ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (เริ่มต้นโดยพระเจ้าฮั่นเกาจู่) และราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (เริ่มต้นที่พระเจ้าฮั่นกวงอู่) ราชวงศ์ฮั่นเป็นยุคทองของจีน คนจีนในยุคหลังจะเรียกตัวเองว่าเป็นชาวฮั่น ราชวงศ์ฮั่นอยู่ได้เป็นเวลานาน กว่า 400 ปี (ราว ๆ ช่วง พ.ศ. 335 - 763) (หรือราว ๆ ช่วง ก่อนคริสต์ศักราช 206 ปี - ค.ศ. 220) และล่มสลายมาเป็นยุคสามก๊ก (ราว ๆ พ.ศ. 763 - 823)(หรือ ๆ ค.ศ. 220 - 280) เนื่องจากความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองอันมากด้วยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ยาวนาน  จึงมีศัพท์จีนคำหนึ่งซึ่งได้ยินติดหูและใช้เรียกในชีวิตประจำวัน คือ ชาวฮั่น ภาษาฮั่น ซึ่งหมายถึง ชาวจีน ภาษาจีน นั่นเอง สิ่งนี้แสดงถึงความภาคภูมิใจของคนจีนที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรฮั่นโบราณ

หลังจากปราบปรามกองทหารของเซี่ยงอี้และกลุ่มต่อต้านอื่นสำเร็จแล้ว หลิวปังหรือพระเจ้าฮั่นเกาจู่รวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียวกัน สังคมสงบอีกครั้ง แต่อยู่ในภาวะอ่อนล้าจากสงครามนับสิบปี บ้านเมืองเสียหายหนัก ประชาชนอดอยากเพราะผลิตพืชผลได้ไม่เต็มที่ พระเจ้าฮั่นเกาจู่และเสนาบดีส่วนใหญ่ล้วนมาจากสามัญชน จึงเข้าใจความทุกข์ยากของชาวบ้านอย่างลึกซึ้ง พระองค์ดำเนินนโยบายการปกครองแบบไม่ปกครองเพื่อช่วยฟื้นฟูความเป็นอยู่ของราษฎรและบ้านเมือง

การปกครองแบบไม่ปกครอง
นโยบายปกครองของพระเจ้าฮั่นเกาจู่ซึ่งใช้กับราษฎรหลังสงครามยาวนาน เรียกว่า การปกครองแบบไม่ปกครอง มันเป็นการปกครองตามการผันแปรของธรรมชาติ อันทำให้สังคมมีเสถียรภาพ ผลผลิตเพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น ส่วนนโยบายลดภาระของราษฎรซึ่งมีต่อรัฐ เช่น ลดอัตราภาษีส่งรัฐ งดและลดการเกณฑ์แรงงาน และอื่นๆ อันส่งผลให้ชีวิตราษฎรมีอิสระเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาผลผลิตของตน บ้านเมืองจึงฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

นโยบายการปกครอง
ช่วงแรกของการครองราชย์นั้นพระเจ้าฮั่นเกาจู่แต่งตั้งเจ้านครรัฐซึ่งร่วมทำสงครามชิงอำนาจกับเซี่ยงอี้ไปปกครองนครรัฐทั้งเจ็ดเพื่อตอบแทนน้ำใจ ต่อมาเมื่ออำนาจของพระองค์มั่นคงขึ้นจึงวางแผนใส่ร้ายพวกเขาว่าเป็นกบฏแล้วกำจัดทั้งหมด จากนั้นแต่งตั้งให้ราชนิกุลดำรงตำแหน่งแทนเจ้านครรัฐเหล่านั้น

ปราบกบฏเจ้านครรัฐทั้งเจ็ด
ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าฮั่นเกาจู่ต่างช่วยกันพัฒนาและฟื้นฟูบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราษฎรมีความสุข อาณาจักรเจริญรุ่งเรืองจนกระทั่งนักประวัติศาสตร์เรียกช่วงการครองราชย์ของพระเจ้าฮั่นเหวินตี้ (สมเด็จพระจักรพรรดิเหวินแห่งราชวงศ์ฮั่น หรือ ฮั่นเหวินตี้ (202 ปีก่อนคริสตกาล-157 ปีก่อนคริสตกาล) ทรงมีพระนามเดิมว่า หลิวเฮง โดยเป็นพระราชโอรส องค์ที่ 5 ในจักรพรรดิฮั่นเกาจู และพระสนมโป ซึ่งภายหลังเมื่อทรงครองราชย์แล้วทรงสถาปนาพระราชมารดาเป็นโปไทเฮา ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ 180 ปีก่อนคริสตกาล (พ.ศ. 363) เมื่อพระชนม์ได้ 22 พรรษา ทรงมีพระนามว่า จักรพรรดิฮั่นเหวินตี้) และพระเจ้าฮั่นจิ่งตี้ (สมเด็จพระจักรพรรดิจิงแห่งราชวงศ์ฮั่น หรือ ฮั่นจิงตี้ (188 ปีก่อนคริสตกาล - 141 ปีก่อนคริสตกาล) ทรงมีพระนามเดิมว่าหลิวฉี เป็นพระราชโอรสของจักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ และพระสนมตู้ พระสนมองค์โปรด ซึ่งภายหลังจักรพรรดิเหวินตี้ทรงสถาปนาพระสนมตู้ขึ้นเป็นตู้ฮองเฮา และสถาปนาองค์ชายหลิวฉีขึ้นเป็นรัชทายาท ทรงเป็นหนึ่งในแม่ทัพที่ปราบกบฏ 7 แคว้น) ว่า การปกครองสมัยเหวิน - จิ่ง 

เมื่อบ้านเมืองมีความสงบสุขและมั่นคง พระเจ้าฮั่นจิ่งตี้มีการปรับนโยบายปกครองประเทศด้วยการลดทอนดินแดนในครอบครองของเจ้านครรัฐ อันเป็นเหตุให้เกิดจลาจลเจ็ดเจ้านครรัฐ พระองค์มีคำสั่งให้แม่ทัพโจวย่าฟูไปปราบจลาจล เพียงสามเดือนรัฐอู๋และรัฐฉู่ซึ่งเป็นรัฐใหญ่ถูกปราบราบคาบ อีกห้ารัฐถูกสยบด้วยเวลาไม่นานนัก ชัยชนะครั้งนี้ส่งผลให้เจ้านครรัฐกลายสภาพเป็นผู้ครอบครองดินแดนในนามเท่านั้น ไม่มีอำนาจปกครองประชาชนอีกต่อไป เมื่ออำนาจของส่วนกลางมั่นคง การปกครองแผ่นดินจึงเป็นไปอย่างราบรื่น ต่อมาสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้เห็นว่าอาณาเขตของเจ้านครรัฐยังกว้างใหญ่และมีเศรษฐกิจดี ซึ่งอาจก่อปัญหาต่อราชสำนักภายหน้า จึงประกาศนโยบายมรดกศักดินาโดยยอมให้เจ้านครรัฐนำที่ดินในครอบครองแบ่งแก่ทายาทของตนได้ อันนับได้ว่าเป็นแผนแยบยลเพื่อลดขนาดดินแดนของเจ้านครรัฐอันส่งผลมิให้เจ้านครรัฐมีอำนาจต่อรองหรือกดดันราชสำนักได้อีก

จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ มหาราชลือนามในแผ่นดิน
หลิวเช่อ เป็นพระนามเดิมของพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ ทรงขึ้นครองราชย์เมื่ออายุ 16 พรรษา ปกครองอาณาจักรฮั่นนานถึง 54 ปี (ปี 140 – 87 ก่อน ค.ศ.) ผลงานปรับปรุงประเทศและแผ่ขยายอิทธิพลของพระองค์ทำให้นักประวัติศาสตร์ถือเป็นมหาราชซึ่งมีชื่อเสียงมากในประวัติศาสตร์ของจีน พระองค์กำหนดปีรัชสมัยของตนขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่อว่า “เจี้ยนหยวน” นับจากนี้ไปกษัตริย์จีนองค์ต่อมาต่างถือเป็นประเพณีตั้งชื่อรัชศกของตนมาจนกระทั่งสิ้นสุดยุคจักรพรรดิ

นโยบายการปกครอง
พระองค์ปรับประบบการเข้ารับราชการใหม่ โดยกำหนดให้ทุกท้องที่เลือกผู้มีจิตกตัญญูหรือขุนนางซื่อสัตย์ไปที่เมืองหลวงเพื่อเป็นข้าราชการ ทำให้ระบบคัดเลือกขุนนางแบบเดิมซึ่งสืบทอดตำแหน่งโดยทายาทลดความสำคัญลงไปอย่างมาก คุณภาพของขุนนางดีขึ้นอันส่งผลดีต่อการทำงานเพื่อบ้านเมืองและความสุขของราษฎรมาก

นโยบายด้านเศรษฐกิจ
พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ก่อสร้างพระราชวังและมีการทำสงครามแผ่ขยายอำนาจบ่อยครั้ง จึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินมาก พระองค์ออกข้อกำหนดเข้มงวดในทางเศรษฐกิจแตกต่างจากอดีตเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในภารกิจดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การสร้างกิจการผูกขาดโดยรัฐ และห้ามบุคคลทั่วไปทำกิจการนี้ อันได้แก่ การค้าเกลือ โลหะและเหล้า การกำหนดใช้เงินตราสกุลเดียวกัน โดยสร้างเงินเหรียญ 5 จู ซึ่งมีน้ำหนักเท่ากับน้ำหนักของเมล็ดข้าวโพด 500 เมล็ด มีอักษรจีนคำว่า 5 จู กำกับไว้
รัฐทำการค้าขายเอง โดยกระจายสินค้าเครื่องบรรณาการจากรัฐต่างๆหรือประเทศข้างเคียงส่งไปขายที่เมืองอื่นเพื่อเพิ่มพูนรายได้ของรัฐ และตั้งหน่วยงานในเมืองหลวงรับซื้อสินค้าต่างๆอันเป็นการปรับกลไกของตลาดและควบคุมราคาสินค้าได้ด้วย

นโยบายด้านการทหาร
พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ส่งขุนพลเว่ยชิงและขุนพลฮั่วชี่ปิ้งนำกองทัพนับแสนคนบุกโจมตีถึงกลางดินแดนที่ตั้งของชนเผ่าซงหนู ซึ่งอาศัยทางเหนือของจีนและเข้าปล้นชิงทรัพย์สินของชาวฮั่นบ่อยครั้ง ในที่สุดชนเผ่านี้ต้องถอยขึ้นไปทางเหนือของทะเลทรายมองโกเลีย ชายแดนทางเหนือของแผ่นดินฮั่นตะวันตกจึงสงบสุขได้ยาวนาน
พระองค์ได้ยกทัพไปตีเกาหลีและดินแดนของชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยจัดตั้งเป็นเขตปกครองและดูแลเข้มงวด อาณาจักรแผ่ขยายใหญ่กว่าอาณาจักรฉินมาก นอกจากนั้นยังส่งทูตไปเจริญไมตรียังดินแดนตะวันตก อันได้แก่ ที่ราบสูงทาร์มทางตะวันออกของชงหลิงถึงทางตะวันตกของด่านอี้เหมินกวนและด่านหยังกวน แล้วยังจัดตั้งเขตปกครองพิเศษดินแดนส่วนนี้ นับเป็นการเริ่มต้นปกครองดินแดนตะวันตกอย่างเป็นทางการ

ความรุ่งเรืองสูงสุดของอาณาจักรฮั่น
แม้พระเจ้าฮั่นอู่ตี้จักสร้างความสำเร็จในการพัฒนาบ้านเมืองและประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างมาก แต่ทรงมีนิสัยชอบทำการใหญ่โต สุรุ่ยสุร่าย งมงาย และทำศึกสงครามตลอดรัชสมัย ทำให้เงินคงคลังร่อยหรอลง ฐานะความมั่นคงของประเทศเสื่อมโทรมลงในตอนปลายรัชสมัย ผู้สืบทอดบัลลังก์รุ่นต่อมา คือ พระเจ้าฮั่นเจาตี้ และ พระเจ้าฮั่นเซวียนตี้ พยายามแก้ไขปัญหาทับถมจากอดีตด้วยการระมัดระวังการแต่งตั้งขุนนาง ละเว้นภาษีค่าเช่าที่นาเพื่อลดความเดือดร้อนของราษฎร พัฒนาด้านเกษตรกรรมและหัตถกรรมอันส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตในชาติ จึงมีการยกย่องให้พระเจ้าฮั่นเซวียนตี้ เป็นเจ้าแห่งความเฟื่องฟู ด้วยการทำประโยชน์ของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์จึงประคองและรักษาความรุ่งเรืองของราชวงศ์ต่อไปอีกพักใหญ่ก่อนวาระแห่งการล่มสลายจักมาเยือนราชวงศ์อันยิ่งใหญ่นี้

วาระเสื่อมสลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันตก
อำนาจปกครองของราชวงศ์นี้หลังจากพระเจ้าฮั่นอู่ตี้สิ้นพระชนม์ตกอยู่ในมือของพระญาติวงศ์และขันที กษัตริย์รุ่นต่อมาใช้ชีวิตสุขสำราญเป็นหลัก การบริหารบ้านเมืองจึงอยู่ในมือของญาติวงศ์ สมัยพระเจ้าฮั่นหยวนตี้นั้นครอบครัวตระกูลหวังของพระมเหสีได้รับการวางใจเป็นพิเศษ เมื่อถึงสมัยพระเจ้าฮั่นเฉิงตี้ พระญาติวงศ์สกุลหวังเข้ากุมอำนาจปกครองต่อเนื่องและมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ต่อมาไม่นานหวังมั่งยึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จจากรัชทายาทของพระเจ้าฮั่นผิงตี้แล้วสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ ตั้งชื่อราชวงศ์ของตนว่า ราชวงศ์ซิน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 28 พ.ค. 12, 15:52

ข้อความที่คุณ Sujittra ยกมาจาก th.wikipedia.org ซึ่งอนุญาตให้เผยแพร่ภายใต้ "สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน"

ขอความกรุณาแจ้งที่มาเพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยนะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 28 พ.ค. 12, 18:43

ขอบคุณท่าน CrazyHOrse ที่ทักท้วงครับ
ทีทจริงแล้วผมเพียงแต่รวบรวมจากที่โน่นที่นี่รวมทั้งวิกิพีเดียซึ่งเป็นแหล่งใหญ่และปรับปรุงเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และสะดวกแก่ผู้ติดตาม ที่จริงแล้วยังมีอีกหลายแหล่งครับ
ผมต้องขออภัยที่ไม่ได้สื่อสารในประเด็นนี้ด้วยครับ
ขอความกรุณาทุกท่านได้โปรดเข้าใจว่าผมมิได้แปลและเขียนขึ้นเอง เพราะมิได้สันทัดในภาษาจีนดังเช่นท่าน Samun007 หรือท่าน CrazyHOrse และอีกหลายท่านในเว็บ "เรือนไทย" นี้
กราบขออภัยทุกท่านด้วยครับ
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 28 พ.ค. 12, 22:28

ขอเพิ่มเติมเรื่องความเสื่อมถอยของราชวงศ์ฮั่นตะวันตกในยุคของจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้นะครับ นอกจากจะเป็นตามที่ท่านเจ้าของกระทู้บรรยายมาแล้ว ยังมีเรื่องของ "การซื้อขายตำแหน่งขุนนาง" ซึ่งถ้าจำไม่ผิด จะเริ่มที่ยุคนี้เป็นครั้งแรก ว่ากันเป็นหลักแสนตำลึง จนไปถึงล้านตำลึงครับ เพื่อชดเชยการคลังที่กำลังง่อนแง่น เพราะเอาแต่รบนั่นเอง
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 29 พ.ค. 12, 20:00

ราชวงศ์ต่อไปคือราชวงศ์ซิน

ราชวงศ์ซิน (新朝) ถูกสถาปนาโดย จักรพรรดิซินเกาจู่ หรือ หวังหมั่ง (หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อว่า อองมัง) (พ.ศ. 543 - 567) ซึ่งสืบเชื้อสายจากขุนนางสกุลหวังในรัชสมัย จักรพรรดิฮั่นเฉิงตี้ เป็นพระญาติทางฝ่ายไทเฮาของจักรพรรดิฮั่นเฉิงตี้และเป็นจักรพรรดิองค์แรกและองค์เดียวแห่งราชวงศ์ซิน 

ในรัชกาลจักรพรรดิฮั่นเฉิงตี้ ตระกูลหวังมีอำนาจอย่างมาก เมื่อหวังหมั่งเห็นราชวงศ์ฮั่นเริ่มอ่อนแอลงก็พยายามจะยึดอำนาจ แต่ล้มเหลวเพราะฮั่นเฉิงตี้สวรรคตเสียก่อน ฮั่นผิงตี้จึงขึ้นครองราชย์แทน แต่บ้านเมืองก็ยิ่งอ่อนแอลงกว่าเก่า และอำนาจของสกุลหวังยิ่งมีมากขึ้น

ครั้นเมื่อฮั่นผิงตี้สวรรคตลงในปี ค.ศ. 8 (พ.ศ. 551) หยูจื่ออิงพระญาติชันษา 1 พรรษาจึงขึ้นครองราชย์ (แหล่งข้อมูลบางแห่งก็ว่าครองราชย์เมื่อ 7 พรรษา) หวังหมั่งในฐานะอัครมหาเสนาบดีจึงใช้โอกาสนี้ปลดหยูจื่ออิงออกจากราชสมบัติและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิซินเกาจู่

ตลอดรัชกาลเป็นรัชกาลที่อ่อนแอและเหี้ยมโหด ความล้มเหลวของระเบียบใหม่ได้สร้างกระแสต่อต้านจากประชาชน เกิดเป็นกบฏชาวนาในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ กองกำลังคิ้วแดง ที่นำโดยฝานฉงจากแถบซานตง และกองกำลังลี่ว์หลิน ซึ่งนำโดยหลิวซิ่ว จากหูเป่ย เป็นต้น โดยในบรรดากองกำลังเหล่านี้ ถือว่ากองทัพของหลิวซิ่วมีกำลังกล้าแข็งที่สุด ภายหลังการศึกที่คุนหยัง ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองกำลังลี่ว์หลินต่อกองทัพราชวงศ์ใหม่ ทำให้หลิวซิ่วถือเป็นโอกาสเข้ากลืนขุมกำลังติดอาวุธขนาดเล็กทางตอนเหนือ ขยายฐานกำลังไปยังเหอเป่ย ซึ่งเป็นดินแดนทางภาคเหนือของจีนในปัจจุบัน เมื่อซินเกาจู่สวรรรคตลงในปี ค.ศ. 24 (พ.ศ. 567)  หลิวซิ่วได้สถาปนาพระองค์เป็น จักรพรรดิฮั่นกวงตี้ ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก และทรงย้ายเมืองหลวงจาก ฉางอัน มาสู่ ลั่วหยาง จึงทำให้ราชวงศ์ซินที่ปกครองจีนเป็นเวลา 16 ปีล่มสลายลง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 19 คำสั่ง