เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4981 เห็นรางรางพอยียวล!
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


 เมื่อ 21 พ.ค. 12, 03:22

เหนื่อยกับการเขียนต้นฉบับทั้งงานแปล และวิทยานิพนธ์ ที่ทำอยู่มาหลายวัน
สุดท้ายผมก็หาทางออกให้ตัวเองด้วยการไปค้นชื่อเมืองท่าต่างๆ
ในบทเกร็ดสำหรับร้องมโหรีโบราณสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาขึ้นอ่าน
ในที่สุดก็เผลอได้ประวัติศาสตร์สังคมสมัยกรุงสรีอยุธยาตามมาอีกเป็นพรวน
โดยเฉพาะเรื่องที่คุ้นมาแต่เก่า คือ ผ้า และการแต่งกาย

แม้จะไม่ได้รู้หมดทุกเรื่อง แต่ก็ช่วยให้ได้กระจ่างขึ้นบ้าง...
แล้วก็พาลให้นึกถึงวรรคดีร่วมสมัยกันอีกหลายเล่ม และหลายเรื่อง...
กว่าจะรู้ตัวอีกที ผมก็เผลออ่านนิราสธารโศกจบไปรอบหนึ่งเสียแล้ว...



จำได้ว่า อ. เทาชมพู เคยพูดถึงเครื่องนุ่งห่มในวรรณกรรมชิ้นนี้
ว่าเป็นที่มาของเครื่องแต่งกายคุณนกยูงใน 'เรือนมยุรา'
พอหยิบงานโบราณทั้ง ๒ ชิ้นขึ้นอ่านเทียบกัน ก็เลยได้เห็นอะไรคล้ายกัน และเนื่องกันอยู่ไม่น้อย

ไหนๆก็ไหนๆ ผมเลยขออนุญาตคาบเอาเรื่องเล็กๆมาชวนคุยกันในเรือนไทยเป็นกระทู้สั้นๆเสียจะดีกว่า
เผื่อว่าสมาชิกนักอ่านท่านใดจะกรุณาข้อมูลแก่ผมบ้าง ก็จะขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงนะครับ







ก่อนจากกันวันนี้ ขออนุญาตยกบทที่ ๑๒๐ ของนิราศธารโศก ขึ้นมาเป็นของฝากในเรือนไทยครับ

ไม้มะต้องต้องตาพี่
ตรีผ้าสีหมากสุกนาง
ติดขลิบหยิบห่มบาง
เห็นรางรางพอยียวลฯ

หมากต้องต้องเนตรเถี้ยว พลางพลางนึกนา
ผ้าผ้าหมากสุกนาง หยุดยั้ง
ปลิวปลิวไสบบางบาง ยองย่อง
รางรางคู่คู่ตั้ง ใคร่เห็นยอนยอน
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 21 พ.ค. 12, 07:25

จองคิวร่วมสนทนาด้วยเรื่องการนุ่งห่มแบบอยุธยาด้วยขอรับ  ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 21 พ.ค. 12, 18:56

ตามหลังคุณหนุ่มสยามมาห่างๆ

ถ้าเป็นสไบบางจนมองเข้าไปเห็นคู่คู่ตั้งข้างในรางๆละก็   สาวสมัยอยุธยาตอนปลายคงห่มสไบชั้นเดียวเหมือนในภาพประกอบละมังคะ  คุณติบอ
ส่วนนางพิมห่มสองชั้น
" นุ่งยกลายกนกพื้นแดง         ก้านแย่งทองระยับจับตาพราย
ชั้นในห่มสไบชมพูนิ่ม            สีทับทิมทับนอกดูเฉิดฉาย"
แฟชั่นรัตนโกสินทร์กับอยุธยาตอนปลายต่างกันแล้วหรือไรคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 21 พ.ค. 12, 21:38

จำได้ว่า อ. เทาชมพู เคยพูดถึงเครื่องนุ่งห่มในวรรณกรรมชิ้นนี้
ว่าเป็นที่มาของเครื่องแต่งกายคุณนกยูงใน 'เรือนมยุรา'

ผึ้งร้างพี่นึกปอง      ผ้าขาวกรองลายดอกงาม
ย่อมห่มเข้าอาราม      หน้าเจียรบาดประหลาทตา ฯ
      ผึ้งหลวงรวงเก่าร้าง   เรียมปอง
ผ้าห่มขาวผูกกรอง      ลูกไม้
สำหรับพับเฉียงทอง      ลอยดอก
หน้าเจียรบาดประหลาทให้   แซ่ซ้องชมโฉม

กาพย์ห่อโคลงบทนี้เป็นที่มาของสไบลูกไม้ของแม่นกยูง    ในเรื่องบอกว่าเธอได้เป็นมรดกจากอา ชื่อหม่อมแสซึ่งเป็นหม่อมในเจ้าฟ้ากุ้ง       ผ้าลูกไม้เป็นของฝรั่งแน่นอน มากับเรือสำเภาในตอนปลายกรุงศรีอยุธยา
ผ้าลูกไม้ที่ว่าเป็นสีขาว  เป็นลายดอกไม้อยู่บนพื้นหลังลักษณะเหมือนรังผึ้ง   ก็คงจะเป็นลูกไม้แบบที่ยกมาให้ดูข้างล่างนี้
ลูกไม้ที่ว่าใช้ห่มไปวัด  หรือไม่ก็ไปในวันสำคัญทางศาสนา  คงจะห่มทับสไบขาวชั้นในอีกทีหนึ่ง  ไม่ห่มชั้นเดียว   ขืนห่มชั้นเดียวจะอุจาดตา ไม่สมควรห่มเข้าวัด


บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 พ.ค. 12, 02:17

ไม่สบายเสียหลายวัน แถมยังมีเรื่องให้เหนื่อยเสียอีกหลายเรื่อง
พอหายเรื่อง กลับเข้าเรือนมา กระทู้ก็หล่นไปไกลลิบลับเสียแล้ว

กราบขอบพระคุณ อ.เทาชมพู เป็นอย่างสูงครับ
สำหรับเรื่องที่อาจารย์ได้เล่าเอาไว้...
โอกาสจะได้พูดคุยกับศิลปินผู้สร้างงานเช่นนี้มิใช่ของง่าย
หากใครคิดจะเดินหน้าบนถนนสายประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายต่อไป
เนื้อหาที่อาจารย์ฝากไว้ ก็เป็นของสำคัญไม่แพ้เนื้อความในสาส์นสมเด็จเลยทีเดียว



ผมขออนุญาตออกนอกเรื่อง ไปเล่าถึง 'ที่มา' ของชื่อกระทู้ก่อนนะครับ
ว่าทำไมต้อง 'เห็นรางรางพอยียวล'.... แน่ล่ะ หลายคนคงมองไปแล้ว
ว่าคนตั้งชื่อกระทู้คนนี้ 'ทะลึ่ง' (หรือถ้าไม่เกรงใจกันก็อาจจะใช้คำอื่น เช่น 'ลามก' หรือ 'หมกมุ่น' ก็คงจะได้)
เอาเถิด สิทธิในการประเมินค่าผู้อื่น เป็นของเจ้าของสมองแต่ละก้อน.. ผมมิว่าอะไร
ความคิดใครก็ความคิดเขา วัวของผมมิได้เข้าคอกท่านดอกขอรับ ยิ้ม



กลับมาคุยกันเรื่องชื่อกระทู้ดีกว่า....
งานเขียนชิ้นนี้ ผมลองรวบรวมขึ้นเพื่อเป็นต้นร่างเนื้อหา
เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายสมัยอยุธยาตอนปลายที่ตัวเองอยากทำอยู่

เหตุที่อยากทำ เพราะว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมยังไม่เคยเห็นใครฝากผลงานชนิดนี้ไว้ในแวดวงสังคมศาสตร์เลย
ที่จริง หลักฐานเครื่องแต่งกายสมัยอยุธยาตอนปลาย-ธนบุรี-รัตนโกสินทร์ตอนต้น
ล้วนแล้วแต่หลงเหลืออยู่ในสังคมรอบตัวของเราๆ ท่านๆ ด้วยกันทั้งนั้น...
ชั่วแต่ว่าใครจะหามันพบหรือไม่ก็สุดแท้แต่วิธีการหา และใช้หลักฐาน ของแต่ละคน...

แต่จนแล้วจนรอด ผมก็ยังไม่เคยเห็นจะมีใครทำงานในเนื้อหาที่ว่านี้กันเสียที...
ภาพยนต์ที่ถ่ายทำกันแต่ละเรื่องก็เอาความเป็น 'ละคร' เข้าอ้าง
อ้างมากเสียจนถึงขั้นเพิกเฉยต่อการตรวจสอบความผิด-ถูกในเนื้อหา...
แน่ล่ะ... ในมุมหนึ่ง 'ชวา' ใน 'อิเหนา' และ 'ชาวบ้าน' ใน 'ขุนช้างขุนแผน' ก็เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน...
แต่ตราบใดที่ยังไม่เกิดการตรวจสอบ... ภาพยนต์อิงประวัติศาสตร์ไทยจะไปไกลเท่าภาพยนต์เกาหลีก็คงจะยากเต็มกลืน
สุดท้าย คนทั่วไปที่ยังไม่ทันคิดก็เผลอติดภาพละครมาใช้กับความเป็นจริง ตามไปด้วย...

ชุดหลักฐานทั้งหลายที่ผมลอง 'คลำหา' และ 'คว้า' มาให้ดูกัน...
เลยกลายเป็นของที่ผมมองไปทางไหนก็ได้แต่ 'เห็นรางรางพอยียวล' ทุกสิ่งอย่าง


ทั้งนั้นและทั้งนี้ ขอความกรุณาผู้อ่านแต่ละท่าน อย่าเพิ่งรีบเชื่อในสิ่งที่ผมเขียน
แต่ขอให้ท่านกรุณา 'อ่าน' และ 'คิดพิจารณา' ตามไปด้วยนะครับ
ในฐานะคนเขียนกระทู้ ขออนุญาตสัญญาว่าตัวเองจะ 'สันนิษฐาน' (ที่แปลว่าทึกทักเอา) ให้น้อยที่สุดก็แล้วกันนะครับ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 27 พ.ค. 12, 02:25

กลับมาเรื่อง 'สไบลูกไม้' ของ 'คุณ นกยูง' กัน
กว่าจะตอบข้อสงสัยนี้ของอาจารย์เทาชมพูได้
ผมคงต้องอธิบายประวัติศาสตร์สังคมสมัยอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้นหลายด้านพอสังเขป
และน่าจะยาวเกินกว่าที่ผมจะทำได้ในเวลาไม่กี่นาทีที่เหลืออยู่ของคืนนี้

เลยขออนุญาตนำภาพภาพนี้มาฝากอาจารย์และทุกท่านก่อนครับ

ผ้าผืนนี้ผมได้มาจากเพื่อนชาวปัตตานีคนหนึ่ง หลังจากคุณยายของเธอเสียชีวิตไป
ฟังจากอายุของคุณยาย และดูจากลักษณะไหมปักบนผืนผ้าแล้ว
ประเมินได้ว่าผ้าน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20
หมายถึง ระหว่างราวปี ค.ศ. 1901-1950
แต่โดยส่วนตัวไม่คิดว่าผ้าจะเก่าถึงช่วง ค.ศ. 1910 ขึ้นไป...
เป็นอันว่าอายุคงเฉียดๆ 100 ปี หย่อนลงมานิดหน่อย.. ไม่น้อยกว่า 70 ปีเป็นแน่...

แล้วผ้าบุหงาปักผืนนี้จะเกี่ยวอะไรกับสไบของคุณนกยูงบ้าง...
ผมขออนุญาตลาไปก่อน แล้วเราค่อยมาต่อกันทีหลังนะครับผม



บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.057 วินาที กับ 19 คำสั่ง