เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 9696 วันนี้ไม่ได้ถามว่า เรื่อง มะเมี๊ยะ จริงหรือไม่ แต่อยากถามเกี่ยวกับวิถีชีวิต.....
สายฝนในสายหมอก
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


 เมื่อ 19 พ.ค. 12, 16:05

ผมเป็นสมาชิกใหม่ในนี้ แต่จริงๆแล้วก็ติดตาม เรื่องราวในที่แห่งนี้ตลอด

ด้วยความที่มี ป้าสะใภ้เป็นชาวเหนือ บางครั้งแก ก็เปิด เพลง จรัญ มาให้ฟัง จน มีรสนิยมชอบเพลงพื้นบ้านทางเหนือ

ฟังเพลง จรัญ สุนทรี มานาน และอ่าน กระทู้ที่ ถกเรื่องราวว่า มะเมี๊ยะ มีจริงหรือไม่

แต่สุดท้าย ก็ยังไม่มีข้อสรุป

แต่ที่อยากจะสอบถามวันนี้ กลับเป็นเรื่องราว วิถีชีวิต และประเพณี ที่ซ่อนอยู่ในบทเพลง

( พูด ) เรื่องมันแปดสิบปี๋มาแล้ว เจ้าน้อยศุขเกษมอายุได้สิบห้าปี๋

เจ้าป้อก่ ส่งไปเฮียนหนังสือที่เมืองมะละแหม่งปู้น... .....

ก่ เลยเป็นเรื่องของกรรมของเวรเขา “มะเมียะ”

............. มะเมี๊ยะเป๋นสาวแม่ก้า คนพม่าเมืองมะละเม็ง

งามล้ำเหมือนเดือนส่างแสง คนมาแย่งหลงฮักสาว

มะเมี๊ยะบ่ยอมฮักไผ มอบใจ๋ฮื้อหนุ่มเจื้อเจ้า

เป็นลูกอุปราชเท้าเจียงใหม่ แต่เมื่อเจ้าชายจ๋บก๋านศึกษา

จ๋ำต้องลาจากมะเมี๊ยะไป เหมือนโดนมีดซั๊บดาบฟันหัวใจ๋

ปลอมเป๋นป้อจายหนีตามมา เจ้าชายเป๋นราชบุตรแต่สุดที่รักเป๋นพม่า

ผิดประเพณีสืบมาต้องร้างราแย่งทาง โอ๊ โอ้ ก็เมื่อวันนั้นวันที่ต้องส่งคืนบ้านนาง

เจ้าชายก็จั๊ดขบวนจ๊าง ไปส่งนางคืนทั้งน้ำต๋า

มะเมี๊ยะตรอมใจ๋ อาลัยขื่นขม ถวายบังคมทูลลา

สยายผมลงเจ๊ดบาทบาทา ขอลาไปก่อนแล้วจ๊าดนี้

เจ้าชายก็ตรอมใจ๋ตาย มะเมี๊ยะเลยไปบวชชี ความฮักมั๊กเป๋นจะนี้แลเฮ้อ

ไม่รู้ว่าฟังแล้วจะมีใครสงสัยแบบผมบ้าง

๑. เมือง มะละแหม่ง อยู่ไหน ทำไมคนระดับเจ้าชาย ถึงต้องไปเรียนที่นั่นด้วย ทำไมไม่มาเรียนที่กรุงเทพฯ อยู่ในพม่าหรือเปล่า ถ้าใช่

ทำไมเจ้าพ่อ เจ้าแม่ถึงยอมให้เจ้าชายไปเรียนที่พม่า ทั้งๆที่ตอนจบของเพลง บอกเหตุผลที่ไม่ให้เจ้าชายแต่งงานกับ มะเมี๊ยะ เพราะ

ผิดประเพณี (ไม่รู้ว่าผิดประเพณีที่ มะเมี๊ยะเป็นพม่า หรือเปล่า แต่ส่งเจ้าชายไปเรียนที่พม่า ไม่ผิดประเพณี)

๒. มะเมี๊ยะปลอมเป็นผู้ชายเดินทางมาเชียงใหม่ (อาจจะมาพร้อมเจ้าชาย) แต่อยากทราบว่าในประวัติศาสตร์ ของ อุษาคเนย์ ผู้หญิง

นิยมปลอมตัวเป็นผู้ชายมากน้อยแค่ไหน หรือ มีความเป็นไปได้ไหม

๓. เจ้าชายจัดขบวนช้าง ไปส่งนาง ... "ขบวนช้าง" ทำให้รู้สึกว่า เป็นงานใหญ่พอสมควร การที่จะส่งผู้หญิง แม่ค้า คนหนึ่ง กลับพม่า

และผู้หญิงคนนี้ก็ไม่ได้มี ยศศักดิ์อันใด ทางราชวงศ์เชียงใหม่ยอมให้ทำการเอิกเกริกขนาดนี้ได้หรือ

๔. สยายผมลงเจ๊ดบาทบาทา การเช็ดเท้าด้วยเส้นผม เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด ของชาวพม่าหรือ ชาวล้านนา หรือเปล่า

ในประวัติศาสตร์ มีความนิยมทำแบบนี้จริงๆไหม

๕. สุดท้าย ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง "มะเมี๊ยะ" เป็นแค่ นางสนม หรือ เมียรอง ของเจ้าน้อยฯ ไม่ได้เชียวหรือ ผู้ชาย ที่เป็น "เจ้านาย" จำเป็น

ต้องมีเมีย "แต่ง" หรือ เมีย "ใหญ่" ก่อน ถึงจะมีเมีย "รอง" ได้ใช่ไหม  หรือ มี เมีย "เล็ก"ๆ ก่อนได้ จนกว่า เจ้าพ่อ เจ้าแม่ จะหาผู้หญิง

ที่เหมาะสมได้



บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 19 พ.ค. 12, 18:42

เรื่องของเจ้าอุตรการโกศล (น้อยศุขเกษม) บุตรคนใหญ่ของเจ้าแก้วนวรัฐฯ นี้  จะเป็นเรื่องจริงหรือแต่งขึ้นเพื่อประชดประชันเจ้าราชบุตร (วงษ์ตวัน) บุตรคนรองของเจ้าแก้วนวรัฐฯ หรือไม่  ไม่อาจพิสูจน์ได้

แต่มีบันทึกในเอกสารจดหมายเหตุเรื่องเจ้าแก้วนวรัฐฯ ว่า เป็นผู้ที่ไม่รู้หนังสือ  อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  เพราะไม่เคยเล่าเรียนหนังสือ  จึงปรากฏว่าบุตรของเจ้าแก้วนวรัฐฯ ทุกคนกลับได้เล่าเรียนกันสูงๆ ทั้งสิ้น  เจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนที่มละแหม่ง  เจ้าวงษ์ตวันลงมาเรียนที่โรงเรียนราชวิทยาลัย  เจ้าพงษ์อินได้ไปเรียนที่อังกฤษ 

ถ้าเรื่องมะเมี๋ยะเป็นเรื่องจริงก็น่าจะมีเอกสารจดหมายเหตุกล่าวถึงเรื่องนี้บ้าง  เพราะเรื่องที่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เอาแต่เสพสุราจนไม่ได้งานก็ยังมีรายงานลงมากรุงเทพฯ  หรือเมื่อครั้งพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ็บหนัก  แล้วเจ้าแก้วนวรัฐฯ ไม่เอาใจใส่ดูแลอาการเจ็บป่วยของบิดา  แต่ไปคบคิดกับหม่อมของบิดาที่จะฮุบสมบัติเป็นของตัว  ยังมีรายงานมากรุงเทพฯ

ส่วนเรื่องของเจ้าราชบุตรนั้นมีรายงานในเอกสารจดหมายเหตุหลายฉบับว่า เมมื่อครั้งลงมาเล่าเรียนที่โรงเรียนราชวิทยาลัยได้สร้างความเสียหายเรื่องผู้หญิงจนพระราชชายาฯ ออกพระโอษฐ์ไม่ทรงรับเป็นผู้ปกครอง  จนถึงส่งตัวกลับเชียงใหม่ก็มี  ทั้งยังมีเรื่องปรากฏในพระราชบันทึกส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ว่า เจ้าราชบุตรจะทรงหมั้นกับหม่อมเจ้าหญิงพระองค์หนึ่ง  เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท  ทรงพระราชบันทึกว่า หม่อมเจ้าหญิงพระองค์นั้นไม่เคยทรงรู้จักและไม่เคยได้ยินพระนาม  จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม  มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง ตรวจสอบข้อเท็จจริง  พบว่า หญิงที่อ้างตนเป็นหม่อมเจ้าหญิงนั้นอ้างตนว่าเป็นธิดาในเจ้านายพระองค์หนึ่งซึ่งมีข่าวว่าออกไปหาซื้อที่ดินแล้วไปติดพันหญิงคนหนึ่งจนมีท้องละคลอดเป็นหญิงคนนี้  แต่เจ้านายพระองค์นั้นไม่ทรงรับว่าเป็นธิดา  กรณีเป็นทำนองเดียวกับที่ว่ากันว่าทรงมีโอรสแต่ก็ไม่ทรงรับ  เมื่อเจ้าพระยาธรรมาฯ นำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  มีพระราชกระแสให้เงียบเสีย  เพราะทรงเกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์กับหัวเมืองฝ่ายเหนือ  แล้วก็ไม่ปรากฏว่า หญิงที่อ้างตนว่าเป็นหม่อมเจ้าหญิงนั้นได้ขึ้นไปหมั้นกับเจ้าราชบุตรตามที่ทางเชียงใหม่บอกข่าวลงมา     
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 19 พ.ค. 12, 18:59

ถึงคุณสายฝนในสายหมอก ที่ถามเกี่ยวกับเรื่องที่ตั้งเมืองมะละแหม่ง หรือ เมาะลำเลิง

เป็นดินแดนที่ตั้งของชาวมอญ ตั้งอยู่ปากแม่น้ำฝั่งซ้ายของแม่น้ำสาละวิน มีพลเมืองอยู่ 55,000 คน ราวพ.ศ. 2434 เป็นดินแดนแห่งอาณานิคมชาวอังกฤษที่ตั้งร้านค้า ศูนย์กลางธุรกิจ ส่วนมากเป็นการค้าไม้สัก
เมืองมะละแหม่งจึงเจริญไม่น้อยหน้าไปกว่าสิงคโปร์ อีกทั้งใกล้เชียงใหม่


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 19 พ.ค. 12, 19:04

ภาพบรรยากาศถ่ายให้เห็นสภาพเมืองมะละแหม่ง และแม่น้ำสาละวิน ไกล ๆ จะเห็นเรือกลไฟ ซ้ายภาพเป็นโบสถ์คริสต์ ถัดมาเป็นอาคารที่เฉลียงรอบเป็นคุก และชุมชนตลอดริมแม่น้ำ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 19 พ.ค. 12, 19:12

สภาพบรรยากาศเมืองเชียงใหม่


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 พ.ค. 12, 19:23

๑. เมือง มะละแหม่ง อยู่ไหน ทำไมคนระดับเจ้าชาย ถึงต้องไปเรียนที่นั่นด้วย ทำไมไม่มาเรียนที่กรุงเทพฯ อยู่ในพม่าหรือเปล่า ถ้าใช่

ทำไมเจ้าพ่อ เจ้าแม่ถึงยอมให้เจ้าชายไปเรียนที่พม่า ทั้งๆที่ตอนจบของเพลง บอกเหตุผลที่ไม่ให้เจ้าชายแต่งงานกับ มะเมี๊ยะ เพราะ

ผิดประเพณี (ไม่รู้ว่าผิดประเพณีที่ มะเมี๊ยะเป็นพม่า หรือเปล่า แต่ส่งเจ้าชายไปเรียนที่พม่า ไม่ผิดประเพณี)

เรียนที่พม่าอาจจะไม่ผิดประเพณี แต่ผิดใจกับสยาม

และช่วงเวลานั้นเอง (พ.ศ. 2441) ที่เจ้าแก้วนวรัฐ - ราชบุตรของเจ้าอินทวิชยานนท์ผู้วายชนม์ ผู้เป็นน้องของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในขณะนั้น ก็ได้ส่งลูกชายคือเจ้าน้อยศุขเกษมวัย 15 ปี ไปเรียนที่โรงเรียน St. Patrick's School โรงเรียนกินนอนชายซึ่งเป็นคาธอลิคในเมืองเมาะละแหม่ง โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2385 ทำไมเจ้าราชบุตรจึงส่งลูกชายไปเรียนที่นั่น กล่าวกันว่าเจ้าแก้วนวรัฐค้าไม้สักกับพม่าเมืองเมาะละแหม่งจนสนิทสนมเป็นอันดีกับเศรษฐีพ่อค้าไม้ชาวพม่าคนหนึ่งชื่อ อูโพดั่ง เจ้าน้อยศุขเกษมนั่งช้างจากเชียงใหม่ไปถึงเมาะละแหม่งได้พักที่บ้านพ่อค้าอูโพดั่งในช่วงวันหยุด วันเรียนหนังสือก็อยู่ที่โรงเรียนกินนอน

ในทัศนะของฝ่ายสยาม เจ้าแก้วนวรัฐทำไม่ถูกต้องที่ส่งลูกชายคือเจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนที่พม่าในปี พ.ศ. 2441 เพราะขณะนั้นสถานการณ์เริ่มคับขันแล้ว สยามกำลังจะยกเลิกฐานะเมืองขึ้นของล้านนาและรวมล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม มีข่าวว่าเจ้านายล้านนาหลายคนไม่พอใจอำนาจท้องถิ่นที่ถูกสยามลิดรอน เจ้าดารารัศมีจึงไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นมาเคารพและเผาศพพ่อ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ในปี 2440 และน่าเชื่อว่าเจ้าแก้วนวรัฐส่งเจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนหนังสือที่พม่าโดยมิได้แจ้งหรือปรึกษาหรือขออนุมัติจากสยาม

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 20 พ.ค. 12, 07:45

ในจดหมายเหตุเสด็จประพาศมณฑลปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘  ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชบันทึกถึงราษฎรในเมืองมลิวันหรือวิคตอเรียปอยต์ซึ่งเป็นดินแดนอังกฤษข้ามมาเรียนหนังสือไทยไว้ว่า

"เด็กๆ ฟากโน้นต้องมาเรียนหนังสือทางฝ่ายเรา  นี่ก็พอจะอวดได้แล้วว่าราษฎรในแดนอังกฤษต้องมาเล่าเรียนในเมืองไทย  เคยได้ยินแต่ไทยไปเรียนที่เมืองอังกฤษ  นี่กลับตรงกันข้ามเสียบ้างก็ดี  แต่ถ้าจะอวดอย่าขยายขึ้นว่าคนในแดนอังกฤษจังหวัดไหนก็แล้วกัน  เป็นแต่ทำขรึมๆ ไว้ว่าแดนอังกฤษเท่านั้น"
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 20 พ.ค. 12, 08:31

ข้อเท็จจริงจากเอกสารจดหมายเหตุของไทยระบุว่า เจ้าอุตรการโกศล (น้อยศุขเกษม) กรมการพิเศษเมืองนครเชียงใหม่ อายุ ๓๓ ปี  ถึงแก่กรรม  เมื่อวันที่  ๒๐  มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๕๖  ด้วยโรคเส้นประสาทพิการเรื้อรัง

คำนวณอายุจากวันถึงแก่กรรม  เมื่อเจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนที่เมืองมระแหม่งใน พ.ศ. ๒๔๔๑ เวลานั้นมีอายุเพียง ๑๔ ปี

สถานการณ์เมื่อพระเจ้าอินทวิชยานนท์พืราลัยในวันที่  ๒๓  พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๔๐ นั้น  เมืองเชียงใหม่มีผู้อยู่ในข่ายที่จะเลื่อนขึ้นเป็นเจ้านครแทนตำแหน่งที่ว่างเพียง ๒ คน คือ เจ้าราชวงษ์ (น้อยสุริยะ) และเจ้าสุริยวงษ์ (แก้ว) ผู้เป็นบุตรชายคนใหญ่และคนรองของพระเจ้าอินทวิชยานนท์  แต่คนหนึ่งก็เมาสุราเรื้อรังจนไม่ได้การได้งาน  อีกคนก็ไม่รู้หนังสือแถมมีความโลภเป็นอุปนิสัยประจำตัว  อีกทั้งตำแหน่งเจ้านครเชียงใหม่นั้นเป็นตำแหน่งสำคัญ  เพราะอังกฤษก็ส่งไวซ์กงสุลไปประจำอยู่ที่เชียงใหม่  พร้อมที่จะเข้าแทรกแซงและยึดเชียงใหม่ไปรวมกับพม่า  การแต่งตั้งเจ้านครเชียงใหม่จึงต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง  และในเมื่อการปรากฏอยู่ว่าเจ้านายที่จะรับตำแหน่งเจ้านครเชียงใหม่ต่อไปต่างก็ขาดความเหมาะสม  การตั้งเจ้านครตนใหม่จึงต้องรั้งรอมาถึง ๔ ปี  และในเมื่อไม่อาจจะหาผู้เหมาะสมขึ้นเป็นเจ้านครเชียงใหม่ได้  ในชั้นต้นจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จขึ้นไปตรวจราชการมณฑลพายัพใน พ.ศ. ๒๔๔๑  ซึ่งการเสด็จขึ้นไปคราวนั้นคงจะทรงทราบถึงความเป็นไปของเจ้านายฝ่ายเหนือ  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๒ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง  วิริยศิริ) ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยขึ้นไปจัดระเบียบราชการใน ศามหัวเมืองคือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ก่อน  เมื่อทรงเห็นว่าจัดระเบียบปกครองใหม่แล้ว  ราชการในสามหัวเมืองดำเนินไปด้วยดี  และเจ้าอุปราชสุริยะผู้รั้งราชการเมืองนครเชียงใหม่ที่เลื่อนมาจากเจ้าราชวงษ์ได้ให้ทานบนไว้กับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่าจะเลิกดื่มสุรา  ประกอบกับเสนาบดีมหาดไทยทรงจ้างเจ้าทิพเนตรผู้เป็นภรรยาให้ควบคุมมิให้้ดื่มสุราเป็นเงินเดือนละ ๕๐๐ รูเปียด้วยแล้ว  ในที่สุดจึงได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าอุปราชสุริยะเป็นเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้านครเชียงใหม่  ใน พ.ศ. ๒๔๔๔

ในส่วนที่อ้างถึงพระดำรัสตรัสเล่าในพระราชชายาฯ ที่ว่า ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ มีพระราชดำริที่จะยุบเลิกการปกครองแบบเจ้านครและตั้งประมุขของตระกูลขึ้นแทนนั้น  ก็น่าจะมีความจริงอยู่บ้าง  เพราะมีพยานปรากฏว่า ทรงเรียกพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ(กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี) ซึ่งตามเสด็จออกไปเรียนที่อังกฤษเมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกกลับเข้ามาใน พ.ศ. ๒๔๔๓  มาพักอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ราว ๖ เดือน แล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้กลับออกไปเรียนต่อ  ทั้งนี้พบความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังเสนาบดีมหาดไทยว่า “เรื่องเจ้านายยังนึกไม่แลเห็นว่าผู้ใดจะเหมาะ  ดิลกดีโดยทางญาติ  แต่เด็กนักไม่มีน้ำหนัก  และจะป่วยการเวลาเล่าเรียน” 

พยานสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ยืนยันว่า การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตยาธิบดีขึ้นไปจัดระเบียบปกครองใน พ.ศ. ๒๔๔๒ นั้น  มิได้ทรงมุ่งหมายที่จะยึดเอาล้านนาเข้ามารวมกับสยามดังที่กล่าวอ้างกัน  เพราะมีเอกสารจดหมายเหตุระบุชัดว่า พระยาพิริยพิไชย เจ้านครเมืองแพร่ได้มีหนังสือลงมายังกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ว่า อยากจะจัดให้มี "หกตำแหน่ง" เช่นที่เมืองเชียงใหม่  ลำปางและลำพูน ที่เมืองแพร่บ้าง  ซึ่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ ว่า ที่พระยาพิริยวิไชยเร่งรัเมานั้นก็เพราะอยากจะเป็น "เจ้า" เหมือนเมืองอื่นๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 20 พ.ค. 12, 11:55

๒. มะเมี๊ยะปลอมเป็นผู้ชายเดินทางมาเชียงใหม่ (อาจจะมาพร้อมเจ้าชาย) แต่อยากทราบว่าในประวัติศาสตร์ ของ อุษาคเนย์ ผู้หญิง

นิยมปลอมตัวเป็นผู้ชายมากน้อยแค่ไหน หรือ มีความเป็นไปได้ไหม

อย่างน้อยก็มี "ทัดดาว บุษยา" เจ้าของวลีฮิต "เจ้าฮะ" ให้เห็นเป็นตัวอย่างคนหนึ่งละ

๔. สยายผมลงเจ๊ดบาทบาทา การเช็ดเท้าด้วยเส้นผม เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด ของชาวพม่าหรือ ชาวล้านนา หรือเปล่า

ในประวัติศาสตร์ มีความนิยมทำแบบนี้จริงๆไหม

เรื่องประเภทนี้ หากนำมาแต่งเป็นเพลง หรือนวนิยาย ก็ต้องสร้างบรรยากาศหรือจินตนาการให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านหวั่นไหวไปกับตัวนางเอก พระเอก โดยเฉพาะตอนที่ว่า มะเมียะสยายผมเช็ดเท้าเจ้าศุขเกษมสามี เรื่องสยายผมเช็ดเท้าสามียามต้องจากกันนั้น ว่าที่จริงแล้วคงเป็นธรรมเนียมโดยทั่วไปของสตรีพม่าตลอดจนล้านนา เพราะเมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทราบถวายบังคมลาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จขึ้นไปเยี่ยมเยือนเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ นั้น เมื่อเสด็จไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟสามเสน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสด็จมาส่งกันเป็นจำนวนมาก (เสด็จโดยรถไฟถึงปากน้ำโพหรือนครสวรรค์ แล้วจึงเสด็จต่อไปโดยขบวนเรือ คือเรือเก๋งประพาส เรือแม่ปะ เรือสีดอ เรือชล่า)

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ไปส่งเสด็จด้วย ได้ทรงนิพนธ์ถึงเรื่องนี้ว่า พระราชชายาทรงสยายพระเกศาลงยาวเกือบถึงข้อพระบาท ทรงใช้พระเกศาเช็ดฉลองพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อกราบถวายบังคมลา

จาก บทความเรื่องบันทึกเกี่ยวกับพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ “มะเมียะ” เป็นเรื่องจริงหรือตำนาน โดย  คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์

นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๖๔๑ ปีที่ ๕๑ ประจำวันอังคาร ที่ ๓๑ พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘

คุณแพงในเรื่อง "บ่วง" ของ  คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ ก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งนิยมธรรมเนียมนี้

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 21 พ.ค. 12, 21:34

๕. สุดท้าย ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง "มะเมี๊ยะ" เป็นแค่ นางสนม หรือ เมียรอง ของเจ้าน้อยฯ ไม่ได้เชียวหรือ ผู้ชาย ที่เป็น "เจ้านาย" จำเป็น

ต้องมีเมีย "แต่ง" หรือ เมีย "ใหญ่" ก่อน ถึงจะมีเมีย "รอง" ได้ใช่ไหม  หรือ มี เมีย "เล็ก"ๆ ก่อนได้ จนกว่า เจ้าพ่อ เจ้าแม่ จะหาผู้หญิง

ที่เหมาะสมได้

ดิฉันก็จับประเด็นว่าคงมีแค่เจ้าน้อยศุขเกษมเมื่อเป็นหนุ่ม.  ไปได้หญิงสามัญชาวพม่ามาเป็นนางเล็กๆคนหนึ่ง.   ข้อนี้ไม่แปลกสำหรับชายหนุ่ม.  และไม่จำเป็นว่าต้องมีนิสัยเจ้าชู้.    แต่เป็นเรื่องประสาผู้ชายในวัยหนุ่ม.   ยิ่งมีอำนาจราชศักดิ์และหน้าตาก็หล่อ.  ยิ่งหาเมียได้ง่าย.  จะเอาคนสวยขนาดไหนก็ได้

ว่ากันตามเนื้อเรื่องที่รับรู้กันจากเรื่องของของคุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง  และเพลงของคุณจรัล มโนเพ็ชร ที่จบลงด้วยความว่า

"เจ้าชายก็ตรอมใจ๋ตาย มะเมียะเลยไปบวชชี  ความฮักมักเป๋นเช่นนี้ แลเฮย"

เจ้าน้อยศุขเกษมคงไม่มองมะเมียะเป็นแค่ "นางเล็ก ๆ" คนหนึ่ง

เป็นเพียงแต่ม่านประเพณีและการเมือง

ทำให้รักของทั้งสองต้องแรมรา


 เศร้า
บันทึกการเข้า
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 24 พ.ค. 12, 11:18

เพิ่งทราบว่า เรื่องมะเมี๊ยะ นี้มีการเมืองเข้าไปเกี่ยวด้วย

เศร้าค่ะ

 ร้องไห้
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 พ.ค. 12, 07:32

เรื่องมะเมียะนี้โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเพียงจินตนาการของคุณปราณี  ศิริธร ณ พัทลุง ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นจากเรื่องซุบซิบภายในคุ้ม  แล้วจึงมาต่อเติมกันจนกลายเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับล้านนา  เป็นการสร้างประวัติศาสตร์เพื่อปลุกกระแสท้องถิ่นนิยมกันในภายหลัง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 28 พ.ค. 12, 05:51



       นึกถึงหญิงที่ปลอมเป็นชายได้คนหนึ่งคือ กันทิมา  ที่ตะละแม่จันทิมาส่งไปตาม จะเด็ด   

เนงบาจองมานาน  แต่จะเด็ดไม่เว้น   จึงทำให้เนงบาสาบานว่าถึงตายก็จะไม่ยอมพบหน้าจะเด็ดอีกเลย

สมัยก่อนไม่ค่อยมีหนังสืออ่าน     อ่านผู้ชนะสิบทิศเล่มละ ๕ บาท   


       รู้จักมะละแหม่งจากบันทึกของมิชชันนารี      ว่าเป็นจุดยุทธศาตร์ที่อังกฤษย้ายทหารมาจากอินเดีย

มิชชันนารีก็กล้าหาญชาญชัยมาจากอเมริกากันหลายคน    ครูสมิทของเราก็ย้ายมาจากอินเดีย     บิดามาเสียชีวิต

ที่มะละแหม่ง   ครอบครัวมิชชันนารี  อุปการะเป็นลูกบุญธรรม  แล้วพาเข้าเมืองไทยในรัชกาลที่ ๓   


       
บันทึกการเข้า
bunnaroth
อสุรผัด
*
ตอบ: 26


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 22 พ.ค. 13, 16:59

เจ้ามาร่วมแจมกับกระทู้นี้เพราะเพิ่งเห็นว่าหลังจากมติชน 21 พ.ค. หยิบมาร้อยเรื่องใหม่ตามที่อ.ธเนศวร์สรุปว่าการเมืองเรื่องสยาม-ล้านนามีส่วนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมและมีการพูดคุยกันก็อดจะเข้ามาต่อความไม่ได้ ผมจะพยายามไม่ลงไปที่ประเด็น "จริงหรือไม่" ตามที่ จขกท. ตั้งขึ้น แต่อยากจะเล่าเรื่องเกร็ดเกี่ยวข้องกับมะเมียะมาเติม

ผมรู้จักลุงปราณี ศิริธร ครับเข้าไปทำความรู้จักจนคุ้นเคย  ลุงปราณียังมาเป็นตัวแทนแขกขึ้นกล่าวอวยพรในงานแต่งงานของผมเมื่อปลายปี 2539 หลังจากนั้นอีกไม่นานท่านก็เสียชีวิต แต่ก่อนหน้านั้นผมก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับต้นฉบับกิจการงานของลุงปราณีอยู่เยอะเพราะไปจัดพิมพ์ "เพ็ชร์ลานนา" (2538-ผู้จัดการภาคเหนือ) ขึ้นมาใหม่และรวมเอาเนื้อหาจากหนังสืออีกหลายเล่มเข้าไว้ด้วยกันซึ่งรวมถึงมะเมี้ยะด้วย แต่ฉบับที่พิมพ์ใหม่ก็ไม่ได้แก้ไขอะไรเอาตามของเดิมนั่นแหละ ต่อมามีละครทีวีมาซื้อไปทำ ให้ศรรามเล่นคู่กับกบ สุวนันท์ น่าจะได้สัก 1.5-2 แสนจำไม่ได้ ทำให้ลุงปราณีใช้จ่ายคล่องขึ้นในช่วง 2 ปีสุดท้ายพอสมควร

คนที่จุดประกายเรื่องมะเมี้ยะตามไปสืบหาร่องรอยถึงมะละแหม่งคืออ.จีริจันทร์ ประทีปะเสน ค้นดูอ้อปี 2545 แล้วกลับมาเปิดวงคุยเล็กๆประสาผู้สนใจในเชียงใหม่ คนที่คึกคักมากในเรื่องนี้ก็เช่นอ.ธเนศวร์ เจริญเมือง และคุณสุนทรีย์ เวชานนท์ เพราะนอกจากร่วมร้องเพลงกับจรัลแล้วยัง "อิน" กับเจ้าน้อยศุขเกษมอยู่มากขนาดเคยพาอ.ธเนศวร์ไปดูบ้านไม้ริมน้ำปิงหลังหนึ่งที่เชื่อว่าน่าเป็นเรือนของเจ้าน้อยศุขเกษมด้วยซ้ำ

การไปมะละแหม่งของอ.จิริจันทร์ ในครั้งนั้นได้เรื่องแม่ชีมรกตกลับมาปะติดปะต่อ แต่หลังจากนั้นผมก็เคยผ่านตางานของท่านใดสักท่านที่เขียนวิจารณ์ว่ามะเมี้ยะไม่น่าจะเป็นเรื่องจริงเพราะเจ้าน้อยศุขเกษมไม่ได้เป็นทายาทสืบตำแหน่ง ทั้งสยามเองก็ไม่คิดจะให้มีการสืบตำแหน่งอยู่แล้ว การโยงว่าเป็นเพราะการเมืองดูจะนิยายเกินไป ... เรื่องนี้ก็ว่ากันไปนะครับ

สำหรับผมขอเล่าเรื่องลุงปราณีให้ฟังว่าลุงน่ะเป็นคนปักษ์ใต้สายตระกูลนี้มาจากสุลต่านสุลัยมาน นับญาติๆกับอ.แถมสิน รัตนพันธุ์และอีกหลายท่านในสายสกุลนี้ ตามลุงที่เป็นผู้บังคับการทหารมาเชียงใหม่เรียนยุพราชด้วยโอกาสที่ได้อยู่ในกลุ่มชนชั้นนำเลยสนิทสนมกับสายเจ้าเชียงใหม่พอสมควร เรื่องราวที่เอามาเขียนก็เก็บความมาจากช่องทางแบบคลุกวงในดังกล่าว ซึ่งก็รวมถึง เรื่องเล่าว่าด้วยมะเมียะด้วย

สไตล์ของลุงปราณีไม่เน้นแม่นเหมือนนักวิชาการ แกเขียนเป็นสารคดีตีไข่เสริมไปบ้างครับ...นี่เป็นสไตล์ของ Journalist ในยุคนั้น จะเอาแม่นยำดับเบิ้ลเช็คเหมือนนักวิชาการคงไม่ได้

อ้อ ! อีกเรื่องบ้านพักของลุงปราณีอยู่ติดวัดป่าเป้า เป็นวัดไทใหญ่แกสนิทกับผู้นำกู้ชาติไทใหญ่ด้วยไปมาหาสู่ได้ข้อมูลมาเขียนเรื่องเหนือแคว้นแดนสยามเล่มใหญ่ จะว่าไปเรื่องนี้แยกมาเล่าได้เพราะเหมือนกับเป็นกระบอกเสียงให้ขบวนการหนุ่มเศิกหาญกู้ชาติ ใช้ชื่อตัวเองเขียนแทนเจ้าไทใหญ่คนหนึ่ง /

ไม่รู้จะตรงกับที่ จขกท. ต้องการแค่ไหน
บันทึกการเข้า
bunnaroth
อสุรผัด
*
ตอบ: 26


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 22 พ.ค. 13, 17:10


แต่มีบันทึกในเอกสารจดหมายเหตุเรื่องเจ้าแก้วนวรัฐฯ ว่า เป็นผู้ที่ไม่รู้หนังสือ  อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  เพราะไม่เคยเล่าเรียนหนังสือ  จึงปรากฏว่าบุตรของเจ้าแก้วนวรัฐฯ ทุกคนกลับได้เล่าเรียนกันสูงๆ ทั้งสิ้น  เจ้าน้อยศุขเกษมไปเรียนที่มละแหม่ง  เจ้าวงษ์ตวันลงมาเรียนที่โรงเรียนราชวิทยาลัย  เจ้าพงษ์อินได้ไปเรียนที่อังกฤษ 


ลุงปราณีเล่าว่า เวลาเจ้าแก้วนวรัฐลงลายมือชื่อเป็นภาษาไทยอ่านว่า "เจ๊ก แก้ว นก โท้"  นั่นก็คือเขียนไม่เป็นตัว
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 20 คำสั่ง