เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 28378 ขออนุญาตเรียนเชิญทุกท่านเปิดบันทึกพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 17 พ.ค. 12, 14:56

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ณ เรือนไทยหลังนี้ทุกท่านครับ

   ย้อนหลังกลับไปต้นเดือนพฤษภาคมของเมื่อ ๒๐ ปีก่อน เด็กชายชูพงค์อายุสิบสี่ขวบ กำลังเพลิดเพลินกับความรักแบบลูกสุนัข เพราะริจีบผู้หญิงเป็นหนแรก ซ้ำสำราญสำเริงเล่นอย่างสนุกสนานตามวัยอยู่ ณ จังหวัดอุดรธานี อบอุ่นกับครอบครัวจนมิสนอกสนใจสิ่งใดทั้งสิ้น เวลาล่วงเลยไปจวบกลางเดือน คุณน้ามารับผมกลับกรุงเทพฯ เนื่องจากใกล้เปิดภาคเรียนเต็มที ผมจำได้ครับว่ากลับมาถึงบ้านที่ซอยระนองสอง (สถานพำนักขณะนั้น) วันอาทิตย์ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ แม้จะได้ยินญาติผู้ใหญ่ทางบ้านท่านคุยกันเรื่องผู้ชุมนุมประท้วงก็ทำหูทวนลมเสีย

   รุ่งขึ้น วันจันทร์ ๑๘ พฤษภาคม ตื่นเช้ารู้ว่าโรงเรียนหยุด แทนที่จะฉงนสนเท่ห์ ซักไซ้ไต่ถามผู้ปกครองให้รู้เรื่องราวโดยละเอียด กลับเฮลั่นบ้าน ผลาญเวลาไปกับวิทยุ ฟังเพลง ฟังละคร ขณะคุณยายคุณน้าติดตามสถานการณ์ทางโทรทัศน์อยู่ทุกระยะ รุ่งขึ้น ๑๙ พฤษภาคม คุณยายตัดสินใจพาพวกเราอพยพไปอยู่กับน้าชายชั่วคราวที่บ้านเขตบึงกุ่ม (อันกลายมาเป็นเหย้าอาศัยถาวรในปัจจุบัน) เพราะมีคนกลุ่มใหญ่ถือป้ายมาชุมนุมออหน้าบ้านพักของพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งอยู่ซอยระนองสองนั่นเอง ท่านเกรงเกิดเหตุรุนแรงขึ้นโดยมิคาดฝัน แล้วจะฉุกละหุกพัลวัน เลยย้ายครอบครัวออกมาเสียก่อน ผมไม่มีวันลืมชั่วชีวิตครับ ว่าได้ฟังพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร่วมกับวงศาคณาญาติ ครั้นกระแสพระราชดำรัสจบลง ทุกคนรู้ทันที เหตุวิกฤตทั้งมวลคลี่คลายแล้ว รุ่งขึ้น ๒๐ พฤษภาคม คุณยายพาพวกเราย้ายกลับบ้านระนองสองตามเดิม แหละหากความจำของผมไม่เลือนเลอะ ผมคลับคล้ายคลับคลาว่า วันที่ ๒๐ พฤษภาคม จะได้ยินเสียงพระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์อยู่เป็นระยะๆด้วย

   ครับ ทั้งหมดดังได้กล่าวมา คือเรื่องเล่าเล็กๆของเด็กด้อยเดียงสาคนหนึ่ง เด็กที่เกิดทันก็เสมือนไม่ทันประวัติศาสตร์ของชาติไทย อันถูกขนานสมยา “พฤษภาทมิฬ” ล่วงมาถึงวันนี้ สองทศวรรษเวียนบรรจบ ผมคิดถึงความหลังเป็นอย่างยิ่ง จึงขออนุญาตตั้งกระทู้ ขอความรู้ ประสบการณ์ตรงจากท่านผู้เคยผ่าน เคยมีส่วนร่วม หรืออาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากสงครามนองเลือดครั้งกระนั้นครับ ผมมิมีเจตนาใดๆเร้นแฝงแม้สักน้อย นอกจากปองประสงค์ให้ห้องประวัติศาสตร์ของเว็บไซต์เรือนไทยได้จดจารอีกหนึ่งฉากนาฏกรรมสำคัญของบ้านเมือง เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาแก่มหาชนสืบไป ผมเชื่อครับ ว่าวิธีคุยแบบเล่าสู่กันฟังย่อมอ่านสนุกกว่าการพลิกหนังสือสารคดีทั้งเล่มมากมายนัก สุดท้ายนี้ ขอเรียนเชอญท่านที่เคยพบพาน ได้รู้ ได้เห็น ได้ยินสิ่งต่างๆในเหตุจลาจลเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ โปรดสละเวลาถ่ายทอดเรื่องราวของท่านตามแต่จะการุณย์ด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 17 พ.ค. 12, 15:35

เรียนคุณชูพงค์

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่งในด้านการเมืองไทย เป็นเหตุการณ์ที่เป็นบทเรียนให้กับการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี รัฐธรรมนูญที่ออกมาหลังเหตุการณ์ดังกล่าวมีผลให้คณะรัฐมนตรีต้องยื่นชี้แจงหลักทรัพย์เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตก่อนและหลังเข้าดำรงตำแหน่ง ส่วนในภาพสื่อสารมวลชนได้เกิดสถานีโทรทัศน์ภาคประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรกและออกอากาศประมาณปี พ.ศ. 2536 คือ สถานีไอทีวี

ต้อนขอลำดับเหตุการณ์ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ช่วงปี พ.ศ. 2533 - 2534 อันเป็นสมัยที่การเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยประชาชนเทคะแนนเสียงให้กับพรรคชาติไทยได้จัดตั้งรัฐบาล นำโดยพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ
ต้องยอมรับว่านโยบายด้านการเมืองของท่านคือ "การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" อันมีผลกระตุ้นให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการซื้อขายที่ดิน

รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง มีพรรคกิจสังคมโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชและนายมนตรี พงษ์พานิช, พรรคประชาธิปัตย์ (นายชวน หลีกภัย ก็เพิ่งเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมือง), พรรคพลังธรรม, พรรคเอกภาพ, พรรคราษฎร, พรรคประชากรไทย

ปัญหาการเมืองในขณะนั้นพัวพันเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตในหลาย ๆ ด้านของตัวรัฐมนตรีต่าง ๆ และการครอบงำของสายบ้านราชครู ซึ่งพัวพันเกี่ยวเนื่องในระบบเครือญาต ทั้งหลายเหล่านี้เป็นผลให้เกิดการปฏิวัตรัฐประหารยึดอำนาจขึ้น โดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์, พลเอกสุจิดา คราประยูร, พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล, พลเอกอิสสรพงษ์ หนุนภักดี และ พลเรือโทประพัฒน์ กฤษณจันทร์ รวมตัวกันภายใต้ชื่อ ครธรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ย่อกันว่า "รสช" เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 17 พ.ค. 12, 15:49

เมื่อคณะรสช ได้เข้าทำการยึดอำนาจแล้ว ก็ต้องมีนายกรัฐมนตรีขึ้นมาปกครองจึงคัดสรรคบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่ง คือ "นายอานันท์ ปัญญารชุน" ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธาน รสช โดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เป็นประธานร่างรัฐธรรมมูญฉบับ พ.ศ. 2535 ขึ้้นมา โดยภายในปีกว่า การร่างรัฐธรรมนูญจวนแล้วเสร็จเพื่อปกป้องมิให้นักการเมืองทุจริตคอรัปชั่น

พลเอกสุจินดา คราประยูรได้ให้สัมภาษณ์ว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะไม่ขอเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ท้ายสุดท่านก็ต้องหลั่งน้ำตาเพื่อชาติ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตรงนี้เองเป็นจุดหนึ่งที่เติมเชื้อไฟให้กับการประท้วงว่า กลืนน้ำลายตนเอง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 17 พ.ค. 12, 16:15

เรื่องราวของนักการเมือง ชิงไหวชิงพริบกัน

ระหว่างขวบปีที่คณะ รสช เข้าปกครองโดยมีนายอานันท์ ปัณยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วก็ให้มีการเลือกตั้งกันใหม่พร้อมกันทั้งประเทศ โดยผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 ผลการเลือกตั้งออกมาได้ว่า

พรรคการเมืองที่เลือกตั้งได้ที่นั่ง สส. มากที่สุดคือ พรรคสามัคคีธรรม รองลงมาคือ พรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคกิจสังคม ซึ่งพรรคสามัคคีธรรมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องรวบรวมเสียงในสภาให้ได้มากกว่ากึ่งหนึ่งจึงจัดคณะรัฐบาลได้ แต่พรรคการเมืองที่จัดได้เป็นแบบพรรคผสม ซึ่งแต่ละพรรคก็มีอำนาจการต่อรองระหว่างกัน

แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแต่ก็ยังอยู่ในความควบคุมของ คณะ รสช ซึ่งพรรคการเมืองก็ต่างที่จะเสนอชื่อ พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ได้กล่าวแนะนำไว้แล้ว แต่ท้ายที่สุดผลกลายเป็นว่า พรรคการเมืองได้พลิกเสนอชื่อ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในการถ่ายทอดสดการเข้ารับพระราชทานแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ที่บ้านนายณรงค์ วงศ์วรรณ ได้จัดโต๊ะหมู่พร้อมพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมพานที่จะวางพระราชโองการ นายณรงค์แต่งชุดข้าราชการสีขาวไว้พร้อมสรรพ แต่ทันใดนั้นเอง มีการแสช่าวจากรอยเตอร์ถึงเรื่องสถานะของนายณรงค์ ที่เข้าไปพัวพันเรื่องคดียาเสพติด เป็นอันว่าท่านจึงพ้นวาระที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

ในขณะเดียวกันพลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล พลอากาศเอกสุเทพ เทพรักษ์ และพลโทชัยณรงค์ หนุ่นภักดี ได้หารือกับพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ โดยปรึกษาว่าการขึ้นดำรงตำแหน่งของนายณรงค์ วงศ์วรรณ ยังไม่กระจ่างเรื่องคดียาเสพติด ดังนั้นขอให้ "พลเอกสุจินดา คราประยูร" ขึ้นเป็น "นายกรัฐมนตรี" ในวันที่ี 4 เมษายน 2535
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 17 พ.ค. 12, 16:26

ครงนี้เองที่มีกระแสต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในการเข้ารับดำรงตำแหน่งของพลเอกสุจินดา คราประยูร เช่น เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า, ถุยน้ำลายรดฟ้า, กลืนน้ำลายตนเอง เป็นต้น จำได้ว่าท่านกล่าวพร้อมกับน้ำตาว่า "เข้ารับตำแหน่งเพื่อชาติ"

ในเวลาเดียวกันการเมืองเข้มขันและพัฒนาการต่อต้านขึ้นเป็นลำดับ เริ่มต้นจาก ร้อยตรีฉลาด วรฉัตร ประกาศอดข้าวประท้วงปักหลักกางมุ้งอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาลจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง มีการประท้วงวางพวงหรีดโดยสมาพันธ์นักศึกษา

ในด้านนักการเมือง มีการปล่อยตัวนัการเมืองที่ถูกยึดทรัพย์ ให้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ และนักการเมืองแต่ละพรรคก็ยังไม่พ้นที่จะเข้าแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีในตำแหน่งสำคัญ ๆ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 17 พ.ค. 12, 16:40

เมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2535 นายฉลาด วรฉัตร ที่อดข้าวประท้วงอยู่ ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลเนื่องจากอดอาหารอย่างรุนแรง ซึ่งก่อนหน้านี้นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะได้เข้าร่วมการอดอาหารเพื่อประท้วงร่วมด้วย หลังจากที่นายฉลาด วรฉัตรได้เข้าโรงพยาบาลแล้วพลตรี จำลอง ศรีเมือง ได้เริ่มเข้าอดข้าวประท้วงต่อ (พลตรีจำลอง ศรีเมือง เมื่อ 2 - 3 ปีก่อนหน้านี้ท่านได้ดำรงตแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานครและลาออกจากตำแหน่งราวกลางปี พ.ศ. 2534)

ท่านไม่ยอมพูดใด ๆ นอกจากการใช้ปากกาเขียนแทนคำพูด อาบน้ำ 5 ขันท่านก็อยู่ได้ ไม่นานนายฉลาด วรฉัตรก็ออกจากโรงพยาบาล กลับเข้าประท้วงอดอาหารด้วยกัน ตรงนี้เองการชุมนุมทางการเมืองเริ่มขยายตัวเป็นอย่างมาก มีผู้ชุมนุมทางการเมืองมาให้กำลังใจกันอย่างมาก ราววันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 "ประกาศกองอำนวยกลาง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติภายในประเทศ ฉบับที่ 1"
ห้ามประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างนี้เองกลุ่มผู้ชุมนุมราว 30 คนได้นั่งล้อมพลตรีจำลอง ศรีเมืองเพื่อปกป้องจากการเข้าจับกุมตัว
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 17 พ.ค. 12, 16:50

ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เวลาค่ำ พลตรีจำลอง ศรีเมืองได้เขียนจดหมายออกมาฉบับหนึ่งว่า ต้องการย้ายที่ชุมชุมไปสนามหลวง เนื่องจากเข้าออกได้หลายทาง ผู้คนรวมตัวกันได้มาก ไม่เหมือนที่บริเวณหน้าทำเนียบ หากถูกปิดล้อมย่อมทำได้ง่ายกว่ามาก

ในห้วงเวลาการชุมนุมดังกล่าว มีกระแสว่าทหารจะใช้กำลังสลายตัวอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่เป็นผลมากนัก

วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 มีผู้เข้าร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวงราวสองแสนคน กองทัพภาคที่ 1 ได้นำรั้วลวดหนามมาเตรียมตัวไว้พร้อมใช้งาน คืนนั้นพลตรีจำลอง ได้ปลุกมวลชนเดินออกจากท้องสนามหลวง ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเดินทางไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งไม่มีจุดประสงค์แน่ชัดว่าจะไปทำอะไร แต่ก็ไปได้เพียงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ที่มีรั้วลวดหนามวางขวางอยู่กลางท้องถนน
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 17 พ.ค. 12, 18:18

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลตรีจำลองศรีเมือง ได้ประกาศเลิกการอดอาหารและยื่นจดหมายลาออกจากพรรคพลังธรรม ในขณะเดียวกันหหารก็นำรั้วลวดหนามมากั้นไว้ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เป็นวันที่ผมฟังข่าวแล้วด้วยความกระวนกระวาย เนื่องด้วยมีข่าวว่าจะมีการเสด็จพระราชดำเนินผ่านพื้นที่ชุมนุมไปยังท้องสนามหลวง เพื่อเปิดงานสัปดาห์พระพุทธศาสนาในราว 17.00 นาฬิกา กลุ่มผู้ชุมนุมได้เปิดเส้นทางบริเวณถนนราชดำเนินเพื่อให้ขบวนเสด็จผ่าน และมีการออกโทรทัศน์ชี้แจงทำแผนที่ขบวนเสด็จ

แต่ท้ายที่สุดทางตำรวจก็เลี่ยงที่จะใช้เส้นทางถนนราชดำเนิน ขบวนเสด็จใช้วิธีการอ้อมไปอีกเส้นทางหนึ่งจะดีกว่ายอมให้ขบวนเสด็จผ่าน
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 17 พ.ค. 12, 18:38

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ราว 6 โมงเย็น นายแก้วสรร และนายขวัญสรวง อติโพธิ, นายแพย์สันต์ หัตถีรัตน์ พร้อมอาจารย์จากจุฬาฯ, นายธีรยุทธ บุญมี และนายวีระมุสิกพงศ์ ได้เดินทางเข้ามาร่วมการชุมนุม

ประชาชนต่างหลั่งไหลเข้าร่วมการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ สลับกับข่าวเรื่องจะมีการสลายการชุมนุม ดังนั้นมีการเสนอให้หยุดการชุมนุมไว้ และจะรวมตัวกันใหม่

เวลาล่วงเลยไปถึงตีสามของเช้าวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลตรีจำลอง ศรีเมืองได้ขึ้นเวทีประกาศพักการชุมนุมและจะนัดให้มีการชุมนุมกันใหม่ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

แต่ระหว่างพักการชุมนุม ยังคงมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง คือ มีการเผาหุ่น พลเอกสุจินดา คราประยูร


วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ร้อยตรีฉลาด วรฉัตร ได้ย้ายการประท้วงจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังถนนนครปฐม ข้างทำเนียบรัฐบาล ประกาศมั่นว่าจะประท้วงด้วยการอดอาหารให้ พลเอกสุจินดา คราประยูรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากไม่ยอมตนก็พร้อมที่จะตาย

ในขณะเดียวกันทางการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็ประกาศให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถจะเสร็จสิ้นได้ภายใน 1 อาทิตย์ ตรงนี้เองทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ เห็นว่าพลเอกสุจินดายื้อเวลาเสียมากกว่า ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญหัวข้อดังกล่าว คือ เรื่องที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตย 25 องค์กร ประกาศจัดตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตย เตรียมแผนชุมนุมครั้งใหญ่วันที่ 17 พฤษภาคม มีเจตนาให้พลเอกสุจินดา คราประยูรลาออกจากตำแหน่ง และเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายก มาจากการเลือกตั้ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 17 พ.ค. 12, 18:42

การเผชิญหน้ากันระหว่างประชาชนและทหาร


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 17 พ.ค. 12, 18:56

วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

สภาอาจารย์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมอาจารย์อุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมทำจดหมายเปิดผนึก ไปยังหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค ให้จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้เป็นประเด็นที่ต้องทำแบบเร่งด่วน

องค์กรครูทั่วประเทศ ประชุมที่โรงแรมรอยัล หัวมุมถนนราชดำเนิน ตั้งผู้ประสานงานฝ่ายครู เพื่อร่วมเคลื่อนไหวร่วมกับสมาพันธ์ประชาธิปไตย

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ประกาศจุดยืนสนับสนุนการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข


วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2535
ในช่วงเวลาทั้งหมด สื่อมวลชนสถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 5 , 7, 9 และสำนักช่าวไอเอ็นเอ็น, วิทยุ จส. 100 ออกแถลงการณ์ว่าการนำเสนอข่าวนั้นในทำนองว่า ประชาชนรู้สึกผิดหวังการนำเสนอข่าวที่ถูกควบคุมโดยรัฐและตกที่นั่งลำบากในการนำเสนอ


วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535
ที่เวทีท้องสนามหลวง มีการขึ้นเวทีโจมตีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ราวสามทุ่ม กลุ่มผู้ชุมนุมราวสองแสนคน ได้เคลื่อนตัวออกจากท้องสนามหลวง ไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้กำลังใจร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร ที่อดข้าวประท้วงอยู่ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล


ราว สามทุ่มยี่สิบนาที กลุ่มผู้ชุมนุมไม่สามารถเดินข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กั้นลวดหนามไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินผ่านไปได้ ตรงนี้เองมีการยั่วยุไปมาระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ จนสถานการณ์ชุลมุน มีการฉีดน้ำจากรถดับเพลิงไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม และเป็นเหตุการณ์ปะทะกันเกิดขึ้น กลุ่มผู้ชุมนุมได้ขว้างปาขวด ถุงน้ำแข็งเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 17 พ.ค. 12, 19:06

ในขณะนั้นเองกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมยึดรถดับเพลิงไว้ และทุบกระจกรถดับเพลิงเสียหาย ภายหลังตำรวจได้ยึดรถคืนได้ในที่สุด สถานการณ์มิอาจจะควบคุมได้ ราว 22.15 น. เกิดการปะทะที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศจนมีผู้บาดเจ็บ 7 ราย ในขณะเดียวกันท้ายขบวนที่อยู่ท้องสนามหลวงได้เรียกร้องให้รถพยาบาลมารับตัวผู้ป่วยออกไปจากที่ชุมนุม

เวลา 22.20 น. ตำรวจตระเวนชายแดนได้รับคำสั่งให้เข้าคุมพื้นที่และนำเครื่องกีดขวางมาขวางไว้ บางส่วนผู้ชุมนุมได้เคลื่อนตัวออกจากรั้วลวดหนามไปได้

เวลา 22.55 น. กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ใช้เครื่องขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หน้ากรมโยธา (เก่า) ให้ทำลายเครื่องกีดขวาง

เวลา 23.00 น. พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้เคลื่อนรถปิกอัพที่ใช้ปราศรัยมายังสะพานผ่านฟ้าเรียกร้องให้ประชาชนนั่งลง ๆ เพื่อเป็นการประท้วงอย่างสงบ ไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินต่อไป แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีการนั่งลง เนื่องจากยังติดค้างกับอารมณ์ที่เกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เวลา 23.15 น. ประชาชนเริ่มที่จะสงบเริ่มนั่งลง มีการประกาศว่าจะมีวงดนตรี แอ๊ด คาราบาวมาเล่น และให้กลุ่มผู้ชุมนุมใช้หลักอหิงสา ไม่ใช้ความรุนแรง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 17 พ.ค. 12, 19:17

ล่วงเข้าวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

เวลา 01.25 น. มีการลุกฮืออีกครั้งจากกลุ่มผู้ชุมนุม บริเวณสะพานผ่านฟ้า

เวลา 01.30 น. มีการปะทะกับตำรวจ มีผลทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยร่นไปทางสะพานขาว

เวลา 1.40 น. พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้ขึ้นเวทีขอให้ประชาชนอย่าใช้ความรุนแรงให้ถอยกลับเข้ามาแบบอหิงสา และอย่าตกเป็นเครื่องมือของบุคคลที่สาม

เวลา 1.45 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ออกคำสั่งมหาดไทย ห้ามชุมนุมเกิน 10 คน และห้ามตีพิมพ์สิ่งพิมพ์ที่กระทบต่อความมั่นคง หรือก่อความวุ่นวายและประกาศให้กระทรวงศึกษาปิดโรงเรียน 3 วัน

เวลา 1.50 น. กลุ่มวัยรุ่น 200 - 300 คนได้ขว้างปาสิ่งของเข้าไปในสถานีตำรวจนางเลิ้ง ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินกลาง

เวลา 2.30 น. กลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวได้ยึดสถานีตำรวจนางเลิ้ง

เวลา 2.58 น. เผาสถานีตำรวจนางเลิ้ง พร้อมรถอีก 10 คัน

เวลา 3.00 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประกาศจะใช้กำลังทหารบก เรือ อากาศ ตำรวจและพลเรือนเข้ากวาดล้าง ขอให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากพื้นที่

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 17 พ.ค. 12, 19:25

เวลา 3.10 น. ทหารและตำรวจได้เคลื่อนตัวออกมาทางสะพานมัฆวานฯ เคลื่อนเข้าสะพานวันชาติ เพื่อไปสู่สะพานผ่านฟ้าฯ ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้ชุมนุมได้สร้างแนวป้องกัน ลากกระถางต้นไม้ที่ประดับไว้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาวางไว้เป็นแนวป้องกัน

เวลา 3.13 น. มีกลุ่มชนวิ่งอย่างตระหนกจากสะพานผ่านฟ้าอย่างชุลมุน รายงานว่าเกิดเสียงระเบิดและไฟไหม้สนามมวยราชดำเนินและร้านไก่ย่าง ในขณะเดียวกันพลตรีจำลอง ศรีเมืองประกาศว่าได้จับตัวผู้ก่อเหตุเผาสถานีตำรวจส่งให้ดำเนินคดี

เวลา 3.25 น. เกิดไฟไหม้รถมอเตอร์ไซด์ของตำรวจหน้าสถานีตำรวจนางเลิ้ง

เวลา 3.40 น. ประชาชนแตกตื่นอีกครั้งเมื่อได้ยินเสียงปืนยิงมาจากทหาร

เวลา 3.55 น. ทหารและตำรวจเคลื่อนตัวเข้ามายังถนนดินสอ ประมาณพันคน ขณะมีกระถางต้นไม้ขวางอยู่เป็นแนวป้องกัน

เวลา 3.58 น. ตำรวจปิดถนนศรีอยุธยามุ่งหน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

เวลา 4.03 น. ทหารประมาณ 400 รายเคลื่อนตัวถึงสี่แยกจักรพรรดิพงษ์
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 17 พ.ค. 12, 19:33

เวลา 4.05 น. ที่แยกคอกวัว ทหารได้ห้ามสื่อมวลชนห้ามถ่ายภาพ กลุ่มวัยรุ่นได้ขึ้นรถ 6 ล้อพุ่งเข้าชนทหาร

เวลา 4.06 น. กำลังทหารตำรวจ เรียงแถวเข้ามาทางถนนราชดำเนินนอก 3 แนวมุ่งหน้าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ พร้อมรถยีเอ็มซี 11 คัน

เวลา 4.09 น. ทหารยิงปืนขึ้นฟ้า

เวลา 4.10 น. ตำรวจตระเวนชายแดนเคลื่อนตัวพร้อมกระบองเข้ายังฝูงชน

เวลา 4.12 น. มีการเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร

เวลา 4.13 น. กลุ่มวัยรุ่นยั่วยุโดยการบิดมอร์ไซด์ปาดไปมาหน้ากองกำลัง

เวลา 4.15 น. ทหารยิงปืนขึ้นฟ้านับหมื่นนัด ระหว่างนี้ "ไม่รู้มีใครยิงเข้าใส่ฝูงชน" ทหารด้วยกันเองยังร้องว่ายิงเข้าไปทำไม ช่างภาพและนักข่าวถูกยึดฟิล์ม

เวลา 4.18 น. ศพผู้เสียชีวิตเริ่มออกมา ทำให้ประชาชนตระหนก
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง