เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11
  พิมพ์  
อ่าน: 49151 อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 02 ก.ค. 12, 00:09

ในภายหลัง ตำแหน่งพระศรีพิพัทฯ เปลี่ยนเป็น พระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษา จางวางกรมท่า 
ส่วน พระพิพัฒน์โกษา เปลี่ยนเป็น พระยาพิพัฒน์โกษา ปลัดทูลฉลองกรมท่า  แต่ตำแหน่งไหน จะทำหน้าที่อันใด ก็ยังไม่เข้าใจซักทีครับ ?

ปลายรัชกาลที่ ๓ ตำแหน่งเสนาบดีว่างลง แต่ไม่ทรงเลื่อนใครขึ้นมาแทน เพราะมีพระราชดำริว่า "ให้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ท่านตั้งเอง"


ปลัดพระคลังราชการ หลวงอินทรโกษา จึงเลื่อนขึ้นมาแทน เป็นพระยาพิพัฒน์โกษา ปลัดทูลฉลอง
( เทียบเท่าปลัดกระทรวงการคลังควบต่างประเทศ ปัจจุบัน ได้หรือเปล่านา แต่ก็น่าจะใหญ่อยู่........... )



ตำแหน่งจางวางในกรมต่างๆ ในระบบราชการสมัยก่อน  มีหน้าที่แตกต่างกันไปตามกรมที่สังกัด
ถ้ากรมใด มีเจ้ากรมเป็นผู้บังคับบัญชา  ตำแหน่งจางวางในกรม คือ ตำแหน่งที่ปรึกษาราชการในกรมนั้นๆ
โดยมากก็คือ ขุนนางที่เคยเป็นเจ้ากรมมาก่อน  เมื่อเจ้ากรมมีอายุมากขึ้นจะรับราชการต่อไปได้ไม่เต็มที่
(นัยว่า  โรคภัยเบียดเบียน  ร่างกายอ่อนแอ) ในหลวงจะโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้พระยา จางวาง
เพื่อที่จะเลื่อนปลัดกรมขึ้นมาเป็นเจ้ากรมต่อไป  ข้าราชการหัวเมืองก็เป็นอย่างเดียวกัน  เจ้าเมืองชราภาพมาก
ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้เลือนเป็นพระยาหรือเจ้าพระยา จางวางกำกับราชการเมืองนั้นๆ

แต่ในราชการบางหน่วย  มีจางวางเป็นผู้บังคับบัญชาแทนเจ้ากรม  เช่น  กรมมหาดเล็ก  เป็นต้น

ส่วนปลัดทูลฉลอง  เป็นตำแหน่งที่ทำหน้าที่ถือหนังสือราชการใบบอกเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลแทนเจ้ากรม
รวมไปถึงเป็นผู้ทำหน้าที่กราบบังคมทูลเบิกนำข้าราชการหัวเมืองในสังกัดกรมนั้นๆ เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าแผ่นดิน
อนึ่งในกระทรวงใหญ่  อย่างกระทรวงมหาดไทย  กระทรวงพระกระลาโหม  ปลัดทูลฉลอง จะมีชื่อเรียกพิเศษขึ้นว่า ราชปลัดทูลฉลอง

การไม่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใครเป็นเสนาบดีแทนในตำแหน่งที่ว่างลง ในปลายรัชกาลนั้น
เป็นเพราะว่า  พระเจ้าแผ่นดินอาจจะทรงเล็งเห็นว่า  ถึงไม่ทรงตั้งใครเป็นเสนาบดี  ปลัดทูลฉลองก็สามารถทำการว่าที่แทนได้
ที่ไม่ทรงตั้งใครในปลายแผ่นดินนั้น  มีอีกเหตุผลหนึ่งว่า  ธรรมเนียมราชการสมัยก่อน  หากสิ้นแผ่นดินรัชกาลใดแล้ว
ขุนนางที่ทำการอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใด  จะกลายเป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่งนั้นทันที  และรักษาราชการนั้นไปจนกว่า
พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่จะโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  ในการพระราชพิธีนั้น  จะมีพระราชดำรัส
อยู่องค์หนึ่งที่ว่า  ข้าราชการที่เคยรับราชการอยู่ในตำแหน่งหน้าที่มาแต่เดิมในแผ่นดินรัชกาลก่อน  ก็ขอให้ทำราชการนั้นต่อไป
(ถ้าตำแหน่งว่างอยู่ก็จะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง) ในหลวงบางรัชกาลทรงเห็นว่า  จะดำรงพระชนมชีพต่อไปได้ไม่นานนัก
ก็จะไม่โปรดเกล้าฯ ใครขึ้นมาดำรงตำแหน่งราชการใหญ่ที่ว่างอยู่  เพราะหากตั้งไปแล้ว  เกิดเปลี่ยนรัชกาลแล้ว 
ขุนนางผู้นั้นอาจจะถูกโยกหรือพระเจ้าแผ่นดินใหม่อาจจะโปรดเกล้าฯ ผู้อื่นที่ทรงไว้พระราชหฤทัยมาทำการแทน

กรมท่านั้น  นอกจากทำหน้าที่พระคลัง  และการต่างประเทศแล้ว  ยังมีหน้าที่กำกับราชการหัวเมืองชายทะเล
(อยากรู้มีเมืองอะไรบ้าง  ก็หาดูเอาเถิด) ด้วย  หน้าที่เท่ากับปลัดกระทรวงอย่างน้อย ๓ กระทรวงในปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 02 ก.ค. 12, 08:48

พระยาพิพัฒน์โกษา ได้รับพระราชทาน

พระยาสุรนันทน์ ว่า

สำนวนพระยาราชสัมภารากรว่า

  ๘. ได้พระราชทานที่บ้าน

ที่ปากคลองผดุง แต่ท่าวัดแก้วฟ้าถึงริมแม่น้ำ  


ที่ทำตัวหนา (Bold) คืออะไรหรือครับ ?





ที่วัดแก้วฟ้า เดิมตั้งอยู่ปากคลองผดุงกรุงเกษมด้านใต้ ดังนั้นการได้รับพระราชทานที่ดิน ก็น่าจะจะกินบริเวณในพื้นที่สีฟ้า ซึ่งเป็นระยะจากท่าน้ำวัด ออกมายังปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตรงหัวมุมปากแม่น้ำเจ้าพระยาต่อมากลายเป็นที่ตั้งของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ที่วัดแก้วฟ้าตั้งอยู่หลังธนาคารดังกล่าว (ภายหลังวัดได้โอนที่ย้ายไปตั้งลึกเข้าไป เป็นวัดแก้วแจ่มฟ้า) จึงได้แนบแผนที่ ร.ศ. 121 และภาพถ่ายทางอากาศวิลเลี่ยมฮันท์ 2489 ประกอบ


บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 03 ก.ค. 12, 22:15


๒. เครื่องอิสริยศเหรียญทองคำใหญ่ มีตราแผ่นดินดวงหนึ่ง สำหรับติดเสื้อ   


ผมคิดว่า น่าจะเป็นเหรียญ "ดาราช้างเผือก" น่ะครับ

ภาพจาก หนังสือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ปกแดง


บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 03 ก.ค. 12, 22:27

ในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้เป็น จางวาง กรมท่า( เจ้าคุณสุรนันทน์ ว่า ท่าขวา เจ้าคุณราชฯ ว่าท่ากลาง ?) เปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอภัยพิพิธ แล "....ดิปโปลมาว่ามีความชอบที่ทำราชการมาจลชรามิได้มีความผิด....." พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้

๑. ทุติยจุลจอมเกล้าฯ

๒. ภัทราภรณ์ (มงกุฏไทย) แล มัณฑนาภรณ์ (มงกุฏไทย)

๓. เหรียญตรา ต่างประเทศ


และโปรดให้เป็น ข้าหลวงใหญ่ออกไปสักเลขหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก ประมารสามปีเศษ จึงได้กลับเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ

จนอายุได้ ๗๒ - ๗๓ ปี ป่วยเป็นโรคชราถึงแก่กรรม


ภาพเจ้าคุณสุรนันทน์ มีอยู่ในกระทู้นี้ แล้ว โปรดย้อนกลับไปชมครับ นำภาพ มัณฑนาภรณ์ มาให้ชม จากหนังสือปกแดง เช่นกัน........


บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 03 ก.ค. 12, 22:44

เรื่องเจ้าคุณอภัยพิพิธ มีเกร็ดประวัติอยู่นิดนึงครับ .......


ทายาทท่านเล่าว่า เจ้าคุณทวด เกือบจะได้เป็น "เจ้าพระยา" ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ไมไ่ด้เป็นเจ้าพระยาด้วยเหตุใด ก็นึกไม่ออก......  (ท่านเล่าแล้ว แต่ผมลืมจริงๆ ทายาทในตระกูลตัวจริง อาจจะทราบเป็นได้ โปรดเล่าด้วยเจ้าขา............. ร้องไห้)


นิสัยส่วนตัว เจ้าคุณอภัยพิพิธ จากปากคำทายาท ท่านเดียวกัน ท่านเป็นคนรักวิชา มาก นอกจากจะเป็นมีวิชา รำดาบ กระบี่ กระบอง เป็นเลิศ (ซึ่งตกทอดมาถึง เจ้าคุณผู้บุตร) ความที่ท่านเป็นผู้ใผ่ความรู้ ดังเ่ช่น เมื่อยังเยาว์ ก็ขนขวาย ศึกษาหนังสือ แล วิชา ต่างๆ (รวมทั้ง ศึกษาภาษาอังกฤษกับมิชชันนารีบ้าง และส่งเสริมให้บุตร เรียนภาษาต่างประเทศด้วย แต่เหมือนมรดกหนังสือท่าน ผมไ่ม่ยักกะเห็นหนังสือภาษาอังกฤษเลย,- อาจจะอยู่ในลัง) นับเป็นผู้ที่มีภูมิความรู้ดีมากคนหนึ่งในยุครัชกาลที่ ๔ และ ๕ ตอนต้น


นอกจากนั้น ท่านยัง เป็นนักอ่าน นักเก็บสะสม อีกด้วย  ดังเช่น ท่านสะสมหนังสือ ของ หมอสมิท หมอบลัดเลย์ ราชกิจจานุเบกษา และมีสมุดไทย หลายร้อยเล่ม ตกทอดเป็นมรดก ให้ลูกหลาน  (ส่วนหนึ่งผมยังคิดเล่นๆ เผลอๆ ท่านอาจจะได้หนังสือของ หม่อมไกรสร มาบ้าง จากตอนได้รับพระราชทาน คนระบาท )

บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 03 ก.ค. 12, 23:14

ภรรยา และบุตร - ธิดา

๑. สมัย รัชกาลที่ ๓ เมื่อเป็น นายปรีดาราช ได้ท่านน้อย บุตรี พระยารัตนมณเฑียร (เนียม) เป็นภรรยา ตั้งครอบครัวอยู่ที่ตรอกศาลเจ้าครุฑ (อยู่ตรงไหนครับ ? ขอพึ่งใบบุญ คุณ Siamese โปรดเฉลยด้วย คนบ้านนอกไม่ถนัด ถนนกรุง ........) มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คนโต ชื่อ ฟ้อน เป็นภรรยา ขุนอินทรักษา (บุตร) อีก ๒ คน ตายตั้งแต่ยังเด็ก  ท่านน้อย เสียชีวิตที่ บ้านอีร้า ในระหว่างเดินทางกลับจาก นมัสการพระพุทธบาท สระบุรี

             นางฟ้อน และขุนอินทรักษา (บุตร) มีบุตร ๓ คน  บุตรหญิงคนโตถวายตัวเป็นละครรัชกาลที่ ๔ แล้วถึงแก่กรรม บุตรชายคนโตชื่อ
             น้อม โปรดเกล้าฯ ให้ไปรับราชการในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ยศตั้งแต่ นายสิบตรี จนถึงนายร้อยเอก แล้วถึงแก่กรรม
             มีบุตรชื่อ เหนียง เนา หน่อง และหนอม

            
             ผู้น้องชื่อ ว่าง เป็นนายรองพินิจราชการ แล้วเลื่อนไปเปนจ่าเขมงสัตรียาอุทร ได้ไปเป็นข้าหลวงผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่รักษาเมืองนคร
             เชียงใหม่ กลับลงมา   โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นพระศรีพิทักษ์ เจ้ากรมพระตำรวจสนมทหารขวาฝ่ายพระราชวังบวร
             แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปเปนข้าหลวงรักษาราชการเมืองกุขันฑ์ เลื่อนขึ้นเป็นพระราชวรินทร เจ้ากรมพระตำรวจขวา แล้วเป็น
             ข้าหลวงรักษาราชการเมืองสระบูรี จนถึงแก่กรรม มีบุตรหญิง ๒ ชื่อแจว และ อั้ว


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 04 ก.ค. 12, 07:35

ภรรยา และบุตร - ธิดา

๑. สมัย รัชกาลที่ ๓ เมื่อเป็น นายปรีดาราช ได้ท่านน้อย บุตรี พระยารัตนมณเฑียร (เนียม) เป็นภรรยา ตั้งครอบครัวอยู่ที่ตรอกศาลเจ้าครุฑ (อยู่ตรงไหนครับ ? ขอพึ่งใบบุญ คุณ Siamese โปรดเฉลยด้วย คนบ้านนอกไม่ถนัด ถนนกรุง ........) มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คนโต ชื่อ ฟ้อน เป็นภรรยา ขุนอินทรักษา (บุตร) อีก ๒ คน ตายตั้งแต่ยังเด็ก  ท่านน้อย เสียชีวิตที่ บ้านอีร้า ในระหว่างเดินทางกลับจาก นมัสการพระพุทธบาท สระบุรี


ตรอกครุฑ ตั้งอยู่ที่ถนนอัษฎางค์ครับ เป็นตรอกที่ศาลเจ้าพ่อครุฑตั้งอยู่ ซึ่งที่มานั้นทราบเพียงว่า ครุฑไม้ได้ลอยน้ำมายังบริเวณดังกล่าว ชาวบ้านก็เลยนำขึ้นจากน้ำ เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๕ ครับ ตรอกเจ้าพ่อครุฑนี่ในแผนที่สมัยปลายรัชกาลที่ ๕ ยังเป็นคลอง ดังนั้นแนวตรอกครุฑคือการถมคลองเก่าครับ



บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 04 ก.ค. 12, 08:19

ปัญหาว่า ท่านเจ้าคุณเป็นจางวางกรมท่าขวาหรือท่ากลางนั้น  พอจะวินิจฉัยปัญหาได้ว่า
กรมท่าซ้าย  ค้่าขายกับสำเภาจีน  จางวางและเจ้ากรมจึงมักจะเป็นคนจีน
กรมท่าขวา  ค้าขายกับเมืองแขก  จางวางและเจ้ากรมจึงมักจะผูกขาดอยู่กับบุคคลในสกุลบุนนาค  ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาจุฬาราชมนตรี
กรมท่ากลาง  ค้าขายกับฝรั่ง  ประกอบกับพระยาราชสัมภารากรผู้บุตรเคยไปราชการเป็นข้าหลวงศาลต่างประเทศที่เมืองนครเชียงใหม่
ซึ่งมีหน้าที่ติดต่อกับกงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่  ฉะนั้นท่าคุณอภัยพิพิธจึงน่าจะเป็นจางวางกรมท่ากลาง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 04 ก.ค. 12, 16:08

        เรียนคุณปิยะสารณ์

        มาช่วยตอบเรื่องหนังสือของกรมหมื่นรักษ์รณเรศค่ะ       ก.ศ.ร. เขียนไว้หลายครั้งความต่อกัน

        ขอเล่าแบบย่อ ๆ ด้วยสำนวนของดิฉันเองดังต่อไปนี้


        วังท่านอยู่ตรงสวนสราญรมย์   ในวังมีสระใหญ่    เมื่อเป็นคดีแผ่นดินท่านคงทราบอนาคต  จึงทิ้งสรรพตำราลงใน

สระใหญ่  ความบางตอนบอกว่าถมจนเต็ม     หม่อมเจ้าชายที่เอ่ยชื่อไว้มีหม่อมอำพน   หม่อมกรุง  หม่อมเผือก

หม่อมสุวรรณ และหม่อมนก ก็โดนจำไว้ในทิมแถวข้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามแต่จำชั้นเดียว  โซ่มิได้พันผ้าขาว    ระหว่างนั้น    

หม่อมกรุงไปตามเก็บหนังสือที่ลอยตัวอยู่มารักษาไว้จำนวนหนึ่ง   แล้วนักสะสมคนหนึ่งที่ชอบเก็บหนังสือก็ได้ไป  คงจะเป็นตัว ก.ศ.ร. นั่นแหละ


        เรื่องที่น่าเล่ามีต่อว่า   อยู่ต่อมาวันหนึ่ง  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอดพระเนตรช่างที่ทำ

พระเบญจาทองคำสำหรับตั้งพระบรมศพพระบรมเชษฐาธิราช  ที่หน้าโรงช้างเผือก(หน้าพระที่นั่งจักรี)   ทอดพระเนตรเห็น

หม่อมอำพนกับหม่อมกรุงจึงทรงมีพระราชปฎิสันฐาน

        
        "พี่น้องของเจ้ายังทีอยู่อีกกี่คน     ให้พากันเข้ามาหาข้า     ข้าจะชุบเลี้ยงในฐานะเป็นราชตระกูล

แต่ข้าไม่พยาบาทพ่อเจ้า   พ่อเจ้ากับข้าเกลียดชังกันเหมือนขมิ้นกับปูน   แต่ข้าไม่ถือโทษ  จะเลี้ยงพวกเจ้า"

        หม่อม ๕ รายนี้ก็จัดดอกไม้ธูปเทียนเข้าเฝ้า   ได้มีรายชื่อในสมุดท้ายบัญชีเบี้ยหวัดเจ้านายฝ่ายราชตระกูล

ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานพระคลังค้นดูบาญชี      แลตัวพรรณผ้านุ่งผ้าห่มของหม่อมไกราีที่ริบราชบาทว์

มานั้น   พระราชทานคืนให้แก่บุตรชายหลายคนของหม่อมไกรสรไป

        มีพระบรมราชดำรัาว่า    "ถ้าหม่อมไกรสรไปบังเกิดเป็น  เทวดาอารักษ์หรืออสุรกายประการใด   ก็จะมี

ความรักใคร่หายเกลียดชังในตัวข้า    ที่ข้าชุบเลี้ยงลูกเต้าเขา   และข้าไม่มีความพยาบาทอาฆาตลูกเต้าเขาเลย

ข้าคิดว่าหม่อมไกรสรจะเกลียดชังพระนั่งเกล้ายิ่งมากกว่าชังข้าเสียอีก"


(หม่อมไกรสรนั้นได้ว่ากระทรวงสำคัญๆ   มีอำนาจบารมีเป็นล้นพ้น   ละคอนตัวโปรดนุ่งห่มด้วยผ้าราคาหลายชั่ง  และเมื่อโดนห้าม
ก็ทรงสั่งผ้าจากเมืองจีนเข้ามาใช้เอง)
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 05 ก.ค. 12, 00:35

ขุนอินทรักษา  (บุตร หรือ บุด ) สามี นางฟ้อน บุตรีคนแรกของ พระยาอภัยพิพิธ กับ ท่านน้อย นี้ คือ "นายบุด หงสกุล" นายบุด เป็นลูกของ หลวงวิสูทรโยธามาตย์ หรือ พระวิสูตรโยธามาตย์ (กุหลาบ หงสกุล)  ซึ่งเป็นทายาทชั้นที่ ๓ ของหงสกุล สืบจากเจ้าพระยาเพชรพิไชย (หงส) สมัยรัชกาลที่ ๑ (เรื่องหงสกุล - สุรนันทน์ จะไปแสดงไว้อีกที ตอนท้าย เพราะปฏิพัทธ์พัวพันกันหลายตอน)

นายบุด ถวายตัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้เป็นมหาดเล็กรายงาน แล้วเป็นขุนอินทรักษาในรัชกาลที่ ๔  ภายหลัง ....... "บริโภคของต้องห้าม ต้องถอดจากตำแหน่ง โปรดให้ไปอยู่กับ เจ้าพระยานครราชสีมา (แก้ว) ผู้่น้า"

ฉนั้น บุตรของ ขุนอินทรักษา (บุด) ก็ต้องเป็น นายร้อยเอก น้อม หงสกุล  และ พระราชวรินทร (ว่าง หงสกุล) เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา, ข้าหลวงรักษาราชการเมืองสระบุรี ในรัชกาลที่ ๕




บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 05 ก.ค. 12, 00:51

นายบุด ถวายตัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้เป็นมหาดเล็กรายงาน แล้วเป็นขุนอินทรักษาในรัชกาลที่ ๔  ภายหลัง ....... "บริโภคของต้องห้าม ต้องถอดจากตำแหน่ง โปรดให้ไปอยู่กับ เจ้าพระยานครราชสีมา (แก้ว) ผู้่น้า"


จากข้อความด้านบน เหตุใด นายบุด ถึงมีน้าเป็น เจ้าพระยานครราชสีมา (เจ้าพระยายมราช - แก้ว สิงหเสนี)


เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กับ สกุล หงสกุล เกี่ยวพันกันอย่างไร ?  แล้ว หงสกุล เกี่ยวพันกับราชสกุลใด ? อย่างไรบ้าง ?
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 05 ก.ค. 12, 10:09

^ คำตอบของคุณปิยะสารณ์หาตอบยากไม่  เนื่องมีผู้อาวุโสท่านหนึ่งได้มอบมรดกเป็นเอกสารต้องห้ามในวงวิชาการมาให้ชุดหนึ่ง
เอกสารชุดดังกล่าวมีข้อมูลตามที่คุณปิยะสารณ์ต้องการอยู่พอดี  แต่ครั้นจะคัดลอกมาทื่อๆ ตามต้นฉบับเอกสาร  ก็เห็นว่า
ไม่น่าสนุก  จึงจะตัดเอาพลความออก สรุปเอาแต่ใจความมาตอบดังนี้

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง/สิงห์) ต้นสกุล  สิงหเสนี มีบุตรธิดาหลายคน บ้างก็ว่า ๒๓ คน บ้างก็ว่ามากกว่านั้น
เจ้าคุณบดินทรฯ จะมีบุตรธิดาคนก็แล้วแต่  แต่จะขอกล่าวถึงบุตรลำดับที่ ๗ เกิดแต่ท่านผู้หญิงเพ็ง ซึ่งเป็นหญิง ชื่อ เกสร/เกษร
นางเกสรนี้ต่อมาได้ทำการวิวาหมงคลแต่งงานขันหมาก กับพระวิสูตรโยธามาตย์ (กุหลาบ) บุตรพระยาเพ็ชรพิไชย (เกด)
คุณหญิงเกษรมีบุตรเกิดกับพระสูตรโยธามาตย์หลายคน

เจ้าพระยาบดินทรเดชา มีบุตรกับท่านผู้หญิงเพ็ง เป็นลำดับที่ ๘ คือ เจ้าพระยายมราช (แก้ว  สิงหเสนี)
ท่านผู้นี้ ก่อนที่จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกรมพระนครบาล ในสมัยรัชกาลที่ ๔
ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาคำแหงสงครามรามภักดี ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 05 ก.ค. 12, 19:17

คุณหลวงท่านช่างแม่นยำ เสียจริง ขอบพระคุณที่แบ่งปันครับ,



แต่ยังเหลืออีกข้อ ๑ คือ มีราชสกุลหนึ่งที่มาเกี่ยวพัน กับหงสกุล ...........ขอเฉลยครับ


พระวิสูตรโยธามาตย์ (กุหลาบ) มีบุตรีอย่างน้อย ๔ คน ชื่อ ป้อม ปุ้ย ปริก และเปี่ยม

๓ ท่านแรกนี้ บิดา ถวายเป็นเจ้าจอมของ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้า ร.๕)  มีพระโอรส - ธิดา คือ

พระองค์เจ้าหญิงฉายรัศมีหิรัญพรรณ (พ.ศ. 2414-2471) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาปุ้ย

พระองค์เจ้าชายไชยรัตนวโรภาส (พ.ศ. 2419-2440) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาปริก (ปริกใหญ่)

เจ้าจอมมารดา ปริก นี้ เป็นใหญ่อยู่ในวังหน้า ท่านว่า "มีอำนาจวาสนามาก!!!!" แต่มีพระโอรส เจริญพระชันษา เพียงปีเดียว คือพระองค์เจ้ารัตน ก็เกิดเหตุ "เรือล่ม" จมน้ำตายและสิ้นพระชนม์ ทั้งสอง...... ขรัวตา พระวิสูตรโยธามาตย์ จึงไม่มีเนื่องด้วยราชสกุล วังหน้า..........


ส่วน เปี่ยม ถวายตัว เป็นหม่อมใน พลเรือโท พระวรวงศ์เธอ ฯ กรมหมื่นปราบปรปักษ์  เป็นหม่อมคนแรก และเป็นหม่อมคนเดียวในขณะนั้น ของในกรมฯ ปราบ

แต่เมื่อคลอดบุตรชายได้ ๗ วันก็เสียชีวิต ........... หม่อมเจ้าหญิงใหญ่ มาลากุล (ป้า) ทรงเลี้ยงดูแทนหม่อมมารดา, หม่อมเจ้าหญิงปุก มาลากุล (อา) ทรงสอนหนังสือ และโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ก่อนเข้าโรงเรียนพระตำหนักสวนกุลาบ


โอรสของกรมฯ ปราบกับหม่อมเปี่่ยม ก็คือ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล)


แม้ หงสกุลจะไม่ได้เป็นเชื้อสายต้นราชสกุลใดดังกล่าว แต่ก็นับเนื่อง เป็นส่วนหนึ่งในราชสกุล "มาลากุล" สายเจ้าพระยาพระเสด็จฯ
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 05 ก.ค. 12, 20:14

ย้อนกลับมาเข้าเรื่อง พระยาอภัยพิพิธต่อ....

เมื่อ ท่านน้อย ภรรยา คนแรก เสียชีวิตลง , ทูลกระหม่อมพระ จึงพระราชทานข้าหลวงให้เป็นภรรยา คือ ท่านพุ่ม บุตรีพระอินทรอาไภย

พระอินทรอาไภย หรือ พระอินทรอำไพ คือ อดีตสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าทัศไภย พระโอรส องค์ที่่ ๑๔ ในพระเจ้ากรุงธนบุรี กับ กรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ (ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงใหญ่) ราชธิดาของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู)

เรื่องของพระอินทรอาไภย สามารถหาอ่านได้ มากมาย จากเว็บไซด์ และ หนังสือ เช่น ลำดับสกุลเก่า บางสกุล ภาคที่ ๔ เชื่อสายพระราชวงศ์กรุงธนบุรี เป็นต้น

นายปรีดาราช และ ท่านพุ่ม ย้ายบ้านมาอยู่ตรงถนนใหม่ หน้าวัดมหรรณพาราม มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ นายเลื่อน ภายหลังเป็นพระยาราชสัมภารากร ส่วนบุตรอีกคน คลอด ๗ วันก็ตาย ส่วนท่านพุ่ม อายุได้ ๓๕ เป็น ลมมหาสดมภ์ เสียชีวิต
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 05 ก.ค. 12, 22:06

เมื่อท่านพุ่ม เสียชีวิตแล้ว พระยาอภัยพิพิธ (เสพ)  มีภรรยาและบุตร ต่อมาคือ

ภรรยา

- ท่านน้อย (บุตรใครไม่แจ้ง) ย้ายมาอยู่บ้าน ณ ที่เป็นโรงหวย อยู่กันได้ปีเศษ ก็แยกกัน ด้วยไม่ชอบอัฌาศรัย

- ท่านจั่น บุตรหลวงเพ็ชร์อินตรา ข้าหลวง ทูลกระหม่อมพระ (รัชกาลที่ ๔) ย้ายบ้านมาอยู่ ณ ข้างบ้านบาตร ข้างใต้, มีบุตรชาย ๑ คนตายแต่เล็ก อยู่ด้วยกัน ๒ ปีเศษ ท่านจั่น เป็นวัณโรคที่ถันประเทศ ตาย

- เจ้าจอมวัน เจ้าจอมอยู่งาน รัชกาลที่ ๓  บุตรพระอินทรเดชะ (นิ่ม)  รัชกาลที่ ๔ พระราชทาน


บุตรกับภรรยา อื่นๆ

๑. หญิง ชื่อ มะละกอ  มารดาชื่อ เงิน

๒. หญิง ชื่อ แดง      มารดาชื่อ เงิน

๓. ชาย  ชื่อ คล้ำ     มารดาชื่อ ขำ

๔. ชาย ชื่อ เคล้า     มารดาชื่อ ขำ

๕. หญิง ชื่อ ผง       มารดาชื่อ พ่วง

๖. หญิง ชื่อ แอ๋       มารดาชื่อ พ่วง

๗. ชายชื่อ กริ่ม       มารดาชื่อ เปลี่ยน  (ภายหลังคือ พระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล)

๘. ชายชื่อ แกร่ง      มารดาชื่อ เปลี่ยน

๙. ชายชื่อ ปลาย      มารดาชื่อ ส้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 20 คำสั่ง