เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 11
  พิมพ์  
อ่าน: 49097 อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 30 มิ.ย. 12, 08:10

นายเรือง บุตรพระยาจัตุรงค์ ดังที่กล่าวไว้แล้ว มีประวัติแตกต่างกันไปตามแต่สำนวน หลายกระแส  ขอคัดมาดังนี้

สำนวนพระยาสุรนันทน์

".....บุตรชายคนหนึ่งได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กวิเศศในรัชกาลที่หนึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปน นายสนิทหมาดเล็กหุ้มแพร นายยามยามค่ำเวรศักดิ์ แต่ท่านผู้นี้เปนคนเกียจคร้านไม่ค่อยเอาใจใส่ในราชการบอกป่วยอยู่แต่บ้าน ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปน ขุนศรีกันถัด แล้วป่วยเปนลมอำมภาศถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๒....."


สำนวนพระยาราชสัมภารากร

".....โปรดตั้งนายเรืองเปนที่นายพลพ่าย หุ้มแพร่ .....ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทยอดฟ้าสวรรคด พระบาทสมเด็จพระพุทเลิศฟ้าเสวยราช นายพลภ่ายขึ้นไปทำราชการในกรมพระราชวังที่ ๒ ไปให้เปนขุนสินทพรัตณ ปลัดกรมม้าท่านป่วยเปนโรคง่อยเดินมิใคร่ได้ ออกนอกราชการ "


สำนวน ทายาทสายนายเคล้า สุรนันทน์ ว่าเป็นที่ ขุนสินทพรัตน์ ปลัดกรมม้า


สำนวน คุณประยุทธ ว่า ชื่อเดิม กระแส เป็นนายนรินทรธิเบศร์ มหาดเล็กหุ้มแพรวังหน้า, หลวงนายเสน่ห์รักษา นายเวรกรมมหาดเล็ก รัชกาลที่ ๑, พระยาเสน่หาภูธร ในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์


ตามประวัติโดยรวม ที่ตรงกันที่สุดเห็นจะเป็นว่า นายเรือง อยู่กรมม้า เท่านั้น เพราะบรรดาศักดิ์

ขุนศรีกันถัด ตำแหน่งเป็น อาษาเกราะทองซ้าย นาคล ๔๐๐ อยู่ในกรมม้าต้น ตามพระอัยการนาพลเรือน กฏหมาย ๓ ดวง

ขุนสินทพรัตน์ , สินทพ แปลว่า ม้า เจ้าคุณราชสัมภารากร ว่า ไปทำราชการอยู่ในกรมพระราชวังที่ ๒ ก็น่าจะหมายถึง กรมม้าวังหน้า


เว้นแต่ ของคุณประยุทธ ที่ว่า ท่านเป็นพระยาเสน่หาภูธ จางวางมหาดเล็กวังหน้า (ก่อนหน้านี้ พระยาเสน่หาภูธร ได้แก่ พระยากลาโหมราชเสนา คนที่ ๓ (ทองอิน) หลานเธอ พระเจ้าตาก) และตำแหน่งก่อนหน้านั้นคือ นายนรินทร์ธิเบศร์ และ นายเสน่ห์รักษา เป็นตำแหน่งมหาดเล็กวังหน้า ไม่เกี่ยอะไรกับกรมม้า เลย
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 30 มิ.ย. 12, 09:27

นายเรือง บุตรพระยาจัตุรงค์  มีภรรยาปรากฏชื่อคือ "ท่านฉิมชู" บุตรพระยาท้ายน้ำ (ขุนทอง)


ว่าด้วย พระยาท้ายน้ำ

พระยาท้ายน้ำ (ขุนทอง) นี้ เดิม เป็นนายบ้าน บ้านท่าช้าง ฝั่งตะวันตก แขวงป่าสัก (อยู่ไม่ไ้กลจากบ้านวังม่วง ที่ขุนสุระฯ เป็นนายบ้้้านอยู่) ตามประวัติว่า ครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรี เจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ ๑ ) ตั้งให้เป็น ขุนสัจาบริรักษ์ นายกองเลขสม เลขทนาย ได้ตามไปทัพเมืองเสียมราฐ เมื่อปราบดาภิเษกแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้เป็น พระยาสีหราชเดโชไชยท้ายน้ำ พระราชทานสิ่งของเช่นเดียวกับที่ พระยาสีหราชเดโชไชย (ขุนสุระสงคราม) ได้รับพระราชทาน, มีบุตรกับเอกภรรยาปรากฏชื่อคือ "ฉิมชู" ทำราชการอยู่ในวังหลวง เป็นเจ้าจอมอยู่งาน สำหรับเชิญพระแสง และมีบุตรชายกับภรรยาน้อย ชื่อกาง

ต่อมา ปีพ.ศ. ๒๓๒๘ เมื่อคราวศึก หินดาด ลาดหญ้า ในสงคราม ๙ ทัพ, พระยาท้ายน้ำต้องรับพระราชอาญาเป็นอุกฤษ


สอบทานกับ หนังสือ "ไทยรบพม่า" ของสมเด็จ กรมพระยาดำรงฯ ได้ดังนี้


".....ตอนที่ ๑  รบพม่าที่ลาดหญ้า

         กรมพระราชวังบวรฯจึงทรงตั้งกองโจรให้พระยาสีหราชเดโชชัย  พระยาท้ายน้ำ  กับพระยาเพชรบุรี  คุมไปซุ่มสกัดคอยตีลำเลียงเสบียงอาหารที่ส่งมายังค่ายพม่าข้าศึก พระยาทั้ง ๓ ยกไปแล้วไปเกียจคร้านอ่อนแอ  ดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสียทั้งสามคน .......

         ครั้นกองทัพพม่าที่ลาดหญ้าแตกไปได้สัก ๗ วัน  พอกรมพระราชวังบวรฯทรงทราบว่า  กองทัพใหญ่ของพม่าถอยกลับไปทุกทัพแล้ว  ก็ดำรัสสั่งให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร(๑) คุมกองทัพหน้าออกจากลาดหญ้า  เดินบกตรงลงไปเมืองชุมพร...........
 
เชิงอรรถ

ส่วนข้าราชการที่ต้องพระราชอาชญาในคราวศึกลาดหญ้า  ล้วนเป็นตำแหน่งข้าราชการวังหลวง
- พระยาสีหราชเดโชชัย  คือ หลวงสุระ  ซึ่งเป็นต้นคิดร่วมกับนายบุนนาค บ้านแม่ลา  หลวงชนะ  ปราบจลาจลกรุงธนบุรี
- พระยาท้ายน้ำ  คือ หลวงพิเรนทร์ ข้าหลวงเดิม  ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินงานพระราชสงครามหลายครั้ง

(๑)  ทั้งสองท่านนี้เป็นตำแหน่งข้าราชการวังหน้า  ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ กล่าวว่า  ....ตรัสเอาพระไชยบูรณ์ปลัดเมืองพระพิษุณโลกเป็นพระยากลาโหมราชเสนา  ตรัสเอาพระพลเมืองพระพิษณุโลกเป็นพระยาจ่าแสนยากร... "


จากพระราชนิพนธ์ ไทยรบพม่่า ของ สมเด็จ กรมพระยาดำรงฯ

จะมีข้อความตรงกัน และไม่ตรงกันกับ Oral History ของบ้านสุรนันทน์ พอจะสอบทานกันได้เป็นประเด็น คือ

๑. พระยาท้ายน้ำ ทำผิดอุกกฤษ ถูกประหารตรงกัน ในเชิงอรรถ ว่า เป็นข้าหลวงเดิม ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินงานพระราชสงครามหลายครั้ง ตรงกัน แต่บรรดาศักดิ์เพี้ยนกันเล็กน้อยคือ สุรนันทน์ ว่า เป็นขุนสัจาบริรักษ์  สมเด็จ กรมดำรงฯ ว่าเป็น หลวงพิเรนทร์

๒. ในศึกลาดหญ้า ปีพ.ศ. ๒๓๒๘ พระยาสีหราชเดโชชัยก็ถูกประหารด้วย ?  ถ้าเช่นนั้น ท่านจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นที่ พระยารามจัตุรงค์ ได้เช่นไร?

๓. พระยาจ่าแสนยากร ที่คุณประยุทธ ว่า เป็นต้นสกุล ของพระยาสัมภารากร (พระยาราชสัมภารกร - เลื่อน) ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ตามเชิงอรรถว่า "....ทั้งสองท่านนี้เป็นตำแหน่งข้าราชการวังหน้า  ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ กล่าวว่า  ....ตรัสเอาพระไชยบูรณ์ปลัดเมืองพระพิษุณโลกเป็นพระยากลาโหมราชเสนา  ตรัสเอาพระพลเมืองพระพิษณุโลกเป็นพระยาจ่าแสนยากร ตรัสเอานายทองอิน ข้าหลวงเดิมเมืองพระพิษณุโลก เป็นพระยาเสน่หาภูธร จางวางมหาดเล็ก ...." ฉนั้น

๑. พระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) ตามที่คุณประยุทธว่า  เดิมคือ ข้าหลวงเดิม ตำแหน่งพระพลเมืองพระพิษษุโลก  ของกรมพระราชวังบวร

๒. เมื่อสิ้น พระยากลาโหม คนที่ ๒ แล้ว โปรดให้ พระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน หลานเธอพระเจ้ากรุงธน) ขึ้นเป็นพระยากลาโหมราชเสนาแทน ตำแหน่ง พระยาเสน่หาภูธร ก็ว่างอยู่ จึงเลื่อน นายกระแส (หลวงนายเสน่ห์รักษา) เลื่อนขึ้นเป็นพระยาเสน่หาภูธรแทน ทำราชการกับบิดา ก็ดูเป็นเหตุเป็นผล ที่พ่อจะส่งเสริมลูก และมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ....... แต่จะเป็นบรรพบุรุษ สุรนันทน์ หรือไม่ ก็ต้องค้ันคิดกันต่อไป......

บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 30 มิ.ย. 12, 10:05

เมื่อพระยาท้ายน้ำ ถูกประหารชีวิตแล้ว ครอบครัว ก็ถูกริบราชบาตร ภรรยา และบุตร ตกเป็นคนของหลวง (ในสำนวนพระยาราชสัมภารกร "ตกเป็นวิเสท" คือทำราชการห้องเครื่องวิเศศ ) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นที่ ท้าวเทพภักดี ดูแล เครื่องอาหารคาว คู่กับ ท้าวทองพยศ เครื่องอาหารหวาน

ส่วน ฉิมชู รับราชการ เป็นเจ้าจอมอยู่งาน เชิญพระแสง *** โปรดเกล้าฯ ให้ลงมาเป็นพระพี่เลี้ยง พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิง นุ่ม (พระราชธิดา ลำดับที่ ๑๑ ใน รัชกาลที่ ๑ ประสูติ พ.ศ. ๒๓๒๖ ในเจ้าจอมมารดา ปุย )

(*** คิดๆ แล้วก็แปลกใจ ว่า สามีถูกตัดหัว แล้วให้ภรรยามาคุมห้องเครื่องอาหาร ให้บุตรสาวเป็นเจ้าจอมอยู่งาน เชิญพระแสง ......ถ้าท่านไม่มีพระศาสนาดับแค้นใจ คงเกิดเรื่องไม่ดีแน่ แต่เมื่ออ่านจนจบประโยคในสำนวนพระยาราชสัาภารกร คือ "โปรดเกล้าให้เป็น ท้าวเทพภักดี นายวิเสท ตามที่ได้มีความชอบมาแต่ก่อน....." ข้อความดังนี้ ก็พอจะแปลได้ว่า คุณผู้หญิงทั้งสอง อาจจะรับราชการอยู่ก่อนแล้ว ก็เป็นได้? แม้สามีจะถูกพระราชอาญา ก็ไม่เกี่ยวกัน ........คนโบราณนี้ ท่าน แน่ จริง จริง )


เรื่อง ฉิมชู เจ้าจอมอยู่งาน เชิญพระแสง นี้ มีข้อน่าสังเกตคือ ท่านเป็นเจ้าจอม (คือถวายตัวแล้ว) หรือเป็นเพียงคุณพนักงาน (นางอยู่งาน - นางพระกำนัล) เพราะต่อมา พระยารามจัตุรงค์ เห็นว่า แม่ฉิมชู เป็นบุตรผู้ดี จึงขอให้เป็นภรรยา นายพลพ่าย หุ้มแพร ผู้บุตร

บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 30 มิ.ย. 12, 11:16

ประวัติของ นายเรือง บุตร พระยารามจัตุรงค์ (สุรนันทน์ ชั้นที่ ๒) มีว่า

สำนวนพระยาสุรนันทน์ - ได้เป็น นายสนิท หุ้มแพร (นา ๔๐๐) ไม่ใคร่เอาใจใส่ราชการ เมื่อผลัดแผ่ีนดิน (รัชกาลที่ ๒)
จึงถูกย้ายมากรมม้า เปลี่ยนบรรดาศักดิ์ เป็นขุนศรีกันถัด (นา ๔๐๐) แล้ว เป็นอัมพาต จนถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๒  

มีบุตรดังนี้

๑. บุตรหญิง ชื่อ น้อม ถวายตัวเป็นลคร ในรัชกาลที่ ๒

๒. บุตรชาย ชื่อ เสพ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษเวรศักดิ์ ในรัชกาลที่ ๒ ต่อมาคือ พระยาอภัยพิพิธ ผู้สืบสายสกุล สุรนันทน์

๓. บุตรชาย ชื่อ ผู้ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กวิเศษเวรศักดิ์ ในรัชกาลที่ ๒ ภายหลังละทิ้งราชการ ไปตั้งทำมาหากิน ทำสวนอยู่ตำบลแจงร้อน



สำนวน พระยาราชสัมภารกร - ได้เป็น นายพลพ่าย หุ้มแพร (นา ๔๐๐) แผ่นดินรัชกาลที่สอง ย้ายไปทำราชการกับ วังหน้า เป็น ขุนสินทพรัตน์ ปลัดกรมม้า แล้วป่วยเป็นโรคง่อย เดินไม่ใครได้ ออกจากราชการ (โรคง่อย หรืออำมพาตนี้ ช่วยกันจำหน่อยครับ ประเดี๋ยว มีเล่าเรื่อง อำมพาต ต่อในชั้นหลาน)

มีบุตรดังนี้

กับ ท่านฉิมชู

๑. บุตรหญิง ชื่อ จุ้ย เป็นภรรยา พระหือฤาไทย (บุญคง) บุตรพระยาสุโขทัย [**น่าจะเป็น พระหฤไทย เจ้ากรมพลพันขวา (ในกฏหมาย ๓ ดวง เป็นหลวง) ]
            
           จุ้ย และพระหือฤาไทย (บุญคง) มีบุตรดังนี้
            
              ๑.๑ ชาย  ชื่อ รอด ตามแต่เด็ก
              ๑.๒ ชาย  ชื่อ ช้าง
              ๑.๓ หญิง ชื่อ แย้ม  ถวายตัวในรัชกาลที่ ๓ พระราชทานเป็นภรรยา เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
              ๑.๔ หญิง ชื่อ กลีบ  ถวายตัวในรัชกาลที่ ๓ (ป่วยถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๓ )
              ๑.๕ หญิง ชื่อ คลี่    ถวายตัวในรัชกาลที่ ๓ พระราชทานเป็นภรรยา พระยาเพชรปาณี (นก)
                                     มีบุตร ๓ คน คือ สุจริต นิจดี (คนโตตายแต่เล็ก)

             เจ้าจอมแย้ม กับ เจ้าจอมคลี่ หรือ หม่อมแย้ม (น่าจะเป็นหม่อม เพราะท่านเจ้าคุณ ท่านมีเมียใหญ่คือ ท่านผู้หญิงหนู
             บุตรีเจ้าพระยานครฯ อยู่แล้ว) กับ คุณคลี่่ (เดิมเป็นคุณพนักงาน ก็น่าจะใช้ "คุณ" ได้ แต่จะได้เป็นคุณหญิงหรือไม่ก็ไม่ทราบว่า
             เป็นเมียคนที่เท่าไหร่?) ต่อมาเมื่อสามี อสัญกรรม อนิจกรรมแล้ว กลับเข้ารับราชการฝ่ายใน ในรัชกาลที่ ๔ จนถึงแก่กรรม


๒. บุตรหญิง ชื่อ น้อย ถวายตัวทำราชการในกรมพระราชวังที่ ๒ (วังหน้ารัชกาลที่ ๒) เป็นเจ้าจอมอยู่งาน สิ้นกรมพระราชวังแล้ว มาสมทบทำราชการในพระราชวังหลวงถึง ๔ แผ่นดิน (รัชกาลที่ ๒ - ๕) ในวัยชรา กราบถวายบังคมทูลลาออกจากราชการ มาอยู่บ้านที่คลองผดุงฯ

๓. บุตรชาย ชื่อ เสศ  ได้เป็นพระยาอภัยพิพิธ สืบสกุล


มีบุตรกับภรรยาน้อยอีก ๖ คน เป็นชายชื่อ ตอม่อ, เน่า, สิด และ สุจ    บุตรหญิงชื่อ สระ, และแสง

บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 30 มิ.ย. 12, 23:28

สาแหรก ลายมือ คุณกรุ่ม เขียนตามสำนวน พระยาราชสัาภารากร


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 09:19

สุรนันทน์ ชั้นที่ ๓  พระยาอภัยพิพิธ (เสศ หรือ เสพ สุรนันทน์)

ขุนศรีกันถัด หรือ นายพลพ่ายหุ้มแพร (เรือง) ความตามท้องเรือง ปรากฏว่า เป็นอัมพาต ทำราชการไม่ได้ เป็นเหตุให้ครอบครัวขัดสน แม้นายเรืองจะเป็นบุตรพระยา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่ตอนท้ายไม่ทราบว่าเกิดเหตุอันใดขึ้น ทำให้ท่านขัดสน ส่วนภรรยาเอง บิดาก็ถูกริบราชบาตร แถมบุตรทั้งหมด ก็ถวายตัวรับใช้ ในวังจนหมดทุกคน สองท่านจึงฝืดเคือยากจนลง , บุตรคนเล็ก คือนายผู้ (เจ้าคุณสุรนันทน์ ท่านกล่าวถึงนายผู้ แต่เจ้าคุณราชสัมภารากร ไม่ได้กล่าวถึงตรงกัน?) จึงออกจากราชการ มาทำ ไร่ ทำสวน หาเลี้ยงบิดามารดา

ส่วนนายเสพ เห็นว่า ถึงจะยากดีมีจน แต่ "เกิดมาเปนตระกูลมาตย ก็ควรจะทำราชการฉลองพระเดชพระคุณ ไปตามสติปัญญาของตัวที่จะทำได้" จึงได้เที่ยวศึกษหนังสือ ขอม ไทย เลข ลูกคิด มวยตามสองมือ โคล ฉันท์ กาพ กลอน แลตำหรับ ตำราต่างๆ ตามแต่ที่จะเรียนได้ ในสมัยนั้น แล้วหมั่นเข้าเฝ้าทูละอองธุลีพระบาท (หมายถึงรัชการที่ ๒)เสมอมิได้ขาด .........


ท่านเจ้าคุณสุรนันทน์ ยังเล่าต่อว่า

"..... เวลาวันหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์อยู่เสด็จออกทรงธรรม ในพระที่นั่งอำมรินทรวินิจฉัย แทนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ประทับอยู่บนพระราชอาศน์ที่ทรงธรรม มีรับสั่งให้หาบรรดามหาดเล็กที่เฝ้าอยู่นั้นให้เข้าไปเฝ้าให้ใกล้ แล้วรับสั่งให้เอาคี่ผึ้งปั้นตัวหนังสือกาพโคลงถวายใครจะปั้นงานกว่ากัน ในเวลานั้นโปรดฝีมือท่านเสพว่าปั้นตัวหนังสืองามกว่าคน ตั้งแต่นั้นต่อมาเสด็จออกข้างน่าก็รับสั่งให้หาท่านเสพมาเฝ้าเสมอ

จนเสด็จออกมาประทับที่พระราชวังเดิม ก็รับสั่งให้ท่านเสพไปอยู่ด้วย เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย ในเวลานั้นมีผู้ที่โปรดปรานชอบพระราชหฤทัยอยู่สามนายคือ จางวางเสือ ๑ นายเสพหมาดเล็ก ๑ นายบัวมหาดเล็ก ๑ คนทั้ง ๓ นี้ ถ้าเสด็จทางชลมรคนายเสพกับนายบัวอยู่น่าเก๋ง จางวางเสืออยู่ท้ายเก๋งเสมอ จนถึงเวลาทรงผนวช (ที่วัดมหาธาตุ - แล้วน่าจะตามเสด็จไป ที่วัดสมอรายด้วย เพราะได้ตามเสด็จประพาสที่ต่างๆ ดังจะกล่าวต่อไป)ทั้งสามนี้ก็ตามเสด็จไปอยู่วัดด้วย......."


".....ครั้งหนึ่งเสด็จประพาศเมืองเพ็ชร์บุรีย แลเขาลูกช้าง คนทั้งสามนี้ก็ได้ตามเสด็จด้วย วันหนึ่งเสด็จประภาศเขาขาดแล้วเสด็จกลับประทับแรมที่เมืองเพ็ชร์บุรีย เวลาคืนหนึ่งประทับแรมในเรือพระราชที่นั่งบรรธมไม่หลับ จึงรับสั่งถามนาย เสพ บัว ว่า หลับแล้วหรือยัง ท่านทั้งสองกราบทูลว่ายังไม่หลับ แล้วรับสั่งถามจางวางเสือวว่าหลับแล้วหรือยัง จางวางเสือกราบทูลม่อยไปนิจหนึ่ง จึงรับสั่งว่าอย่าเพ่อนอนเลยคุยกันเล่นก่อนเถิด จางวางเสือทูลว่าดึกแล้วง่วงนอนเต็มที จะทรงคุยอะไรก็ทรงไป ข้าพระพุทธเจ้าจะนอนฟัง ก้ทรงพระสรวล แล้วทรงรับสั่งว่าที่พระองค์ท่านยืนอยู่ที่น่าผาเขาขาดนั้น ถ้าพระองค์ท่านตกลงไปแกทั้งสามคนจะทำอย่างไร

นายเสพกับนายบัวกราบทูลว่าจะโดดตามลงไป แต่จางวางเสือกราบทูลว่าถ้าทรงตกลงไป ข้าพระพุทธเจ้าดาบเล่มย่ามใบหนึ่งเปิดไปเมืองพม่าทีเดียว ไม่ยอมกล้บไปติดคุกในกรุงเทพฯเลย ทรงพระสราลแล้วรับสั่งว่าถ้าพระองค์ท่านได้เปนกระษัตริย์ใครอยากจะเปนที่อะไรบ้าง นายเสพกราบทูลว่าขอให้ทรงรับสั่งด้วยเสมอๆ นายบัวกราบทูลว่าขอให้ได้เปนผู้ว่าราชการเมือง จางวางเสือกราบทูลว่าขอให้เปนผู้ชำระผู้ร้าย ครั้นต่อมาพายหลังชนทั้งสามนี้ ก็ได้สมความปรารถนา........"



บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 09:46

เรื่องมหาดเล็กทั้งสามคนนี้ คุณกรุ่มเคยเล่าว่า ท่านสันนิษฐานจากปากคำของผู้ใหญ่  จางวางเสือ นั้น สืบสายต่อมาเป็นสกุล อิศรภักดี  มหาดเล็กบัว สืบสายต่อมาเป็นสกุล ศิริสัมพันธ์  มหาดเล็กเสพ ก็คือ พระยาอภัยพิพิธ  ถูกต้องเท็จจริงอย่างไร ก็ต้องหาข้อมูลกันต่อไปครับ.......


ที่คุณพระมหาเทพฯ เล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ทรงถามว่า ถ้าได้เป็นกษัตริย์ จะขออะไร มีท่านหนึ่งบอก ขอเป็นเจ้า พอขึ้นครองราชย์ฯ จึงต้องเปลี่ยนตำแหน่ง จมื่น เป็น เจ้าหมื่น เพื่อพระราชพร ตามที่ทรงวาจาสิทธิ์ ?


เคยถามเรื่อง พระราชทานพร ให้จมื่น เป็น เจ้าหมื่น ไปค้นหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ คุณพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) ท่านบรรยายว่า (ตามภาพ)

คุณพระฯ ท่านว่า มหาดเล็กนั้นน่าจะชื่อโต จึงไม่ใช่มหาดเล็กที่ได้โดยเสด็จเมื่อคราว ทรงหนีราชภัยต้นรัชกาลที่ ๓  นายโต นี้ จะใช้ เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) ที่ทรงรัก เสมือน พระราชบุตรบุญธรรมเมื่อทรงครองราชย์ หรือไม่ ก็ต้องลองหาประวัติ  แล้วดูปีพ.ศ. ที่ท่านได้เป็น จมื่น หรือ เจ้าหมื่นสรรเพชญ์ภักดี หรือไม่......... อาจจะได้ความครับ



บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 11:05

คุณกรุ่ม  ท่านเคยเล่าเรื่องบรรพบุรุษของท่านให้ฟังเยอะ  แต่จำได้บ้างไม่ได้บ้าง

ที่จำได้แม่นคือ เมื่อครั้งทูลกระหม่อมฟ้า (รัชกาลที่ ๔) ทรงผนวชในตอนปลายรัชกาลที่ ๒  ท่านเล่าว่า เมื่อพระอาการหนักมาก  ในหลวงรัชกาลที่ ๓ ส่งทหารเข้าล้อมพระบรมมหาราชวัง  คงจะเป็นทำนองจุกช่องล้อมวงตมโบราณราชประเพณี  เวลานั้นทูลกระหม่อมฟ้าประทับอยู่วัดมหาธาตุ  มีมหาดเล็กเฝ้าอยู่ ๔ คน  คืนวันหนึ่งมหาดเล็กทั้ง ๔ เกรงว่าภันจะมาถึงทูลกระหม่อมจึงกราบทูลเชิญเสด็จลงเรือแจวเลาะริมฝั่งน้ำไปประทับที่วัดราชาธิวาส  แจวหัวท้าย ๒ คน  อีก ๒ คนถือดาบคอยระวังรักษาพระองค์หน้าหลัง  ผลัดกันแจวผลัดกันถือดาบไปจนถึงวัดราชาธิวาส  เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วทั้ง ๔ คนนี้ได้รับราชการเป็นพระยาหมดทั้ง ๔ คน 

เรื่อง เสด็จลงเรือ เพราะเกรงมีภัยต่อ ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่ นี้ เป็นเรื่องเล่าภายในตระกูล ไม่มีบันทึกไว้ ตามที่เ่ล่าไปแล้ว ว่า แจวเรือกัน ๔ คน ทูลหม่อมพระประทับกลางเรือ คนหนึ่งถือดาบยาวเกือบ ๒ เมตร คนหนึ่งถือคบไฟ (เพราะหนี เวลากลางคืน) แจวเรืออีก ๒ คน


เหตุที่ทรงจำเป็นต้อง "หนี" ราชภัยไปจำวัด ที่อื่นนี้ เป็นด้วยเหตุ "การเมือง" แน่  แต่จะเป็นเพราะ กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ ผู้สำเร็จราชการตอนท้ายรัชกาล ที่ทรงกุมอำนาจราชการไว้มาก และทรงมีพระชันษา(กรมฯ เจษฏาบดินทร์ ชันษา ๓๖ - ๓๗ ทูลกระหม่อมพระ ชันษา ๒๐)   "หรือ"  เพราะเหตุการณ์ "ลูบจีวร" ของกรมหมื่นรักษ์รณเรศ กันแน่ ?

ลองมาฟังกันดูครับ


".... พระจอมเกล้าฯ เสด็จเข้าไปพอเห็นสวรรคตแล้ว ก็ทรงกันแสงโฮขึ้น หม่อมไกรสรก็เข้าไปกอดไว้ แล้วคลำดู ดูที่จีวรกลัวจะซ้อนพระแสงเข้าไป พระจอมเกล้าฯ ก็ตกพระทัย รับสั่งว่า ขอชีวิตไว้อย่างฆ่าเสียเลย พระนั่งเกล้าฯ รับสั่งว่าท่านอย่างกลัว ไม่มีใครทำอะไรหรอกอย่าตกพระทัย พี่น้องกันทังนั้น ทำอย่างไรได้เวลานั้นโดยท่านตกพระทัย .......... " (บันทึกความทรงจำ พระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล)

 เหตุนี้หรือเปล่า ? ที่มหาดเล็กเห็นว่า ไม่ปลอดภัย จึงต้อง พาทูลกระหม่อมพระ ย้ายที่จำวัด จากวัดมหาธาตุ ไปวัดสมอราย (ซึ่งก็ต้องนับว่าไกล)

กรมหลวงรักษ์รณเรศ หรือหม่อมไกรสร กับรัชกาลที่ ๔ ซึ่งน่าจะ "ไม่ถูกกัน" อย่างแรง เพราะหม่อมไกรสร เองก็ยังตามไปรบกวนพระ ถึงวัด ซึ่งอาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ ต้องทรงออกธุดงค์ และย้ายวัดไปมา........  ตามด้วยเกมส์การเมือง เรื่อง พระอาจารย์ ซาย พระอาจารย์มอญของทูลกระหม่อมพระ หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย !!!!!!  จนกระทั้งเกิดการ "กำจัด" หม่อมไกรสร ด้วยเรื่อง "เกย์" และ "กระทง" (เรื่องมันยาววววววว)


เรื่องหม่อมไกรสรนี้ มีเกี่ยวข้องกับ เจ้าคุณอภัยพิพิธ อยู่ด้วยนิดดดดด หน่อย จะเกี่ยวข้อง สำคัญหรือไม่ หรือจะเป็น conspiracy theory  (เอ...ดูหนังมากไปรึเปล่า? )
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 11:08



คุณพระฯ ท่านว่า มหาดเล็กนั้นน่าจะชื่อโต จึงไม่ใช่มหาดเล็กที่ได้โดยเสด็จเมื่อคราว ทรงหนีราชภัยต้นรัชกาลที่ ๓  นายโต นี้ จะใช้ เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต (โต มานิตยกุล) ที่ทรงรัก เสมือน พระราชบุตรบุญธรรมเมื่อทรงครองราชย์ หรือไม่

ขออภัย จำผิดพลาดสับสน พระราชบุตรบุญธรรมรัชกาลที่ ๔ คือ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เจ้าพระยานรรัตน์ฯ (โต) นี้ท่านเป็น นายจ้างของ ก.ศ.ร. กุหลาบ อ่านปนกันสองเรื่อง สับสน สับสน

 ฮืม ฮืม ฮืม

ฉนั้น นายโต จึงไม่น่าใช่ เจ้าพระยานรรัตน์ ครับ
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 11:24

เรื่องมหาดเล็กทั้งสามคนนี้ คุณกรุ่มเคยเล่าว่า ท่านสันนิษฐานจากปากคำของผู้ใหญ่  จางวางเสือ นั้น สืบสายต่อมาเป็นสกุล อิศรภักดี  มหาดเล็กบัว สืบสายต่อมาเป็นสกุล ศิริสัมพันธ์  มหาดเล็กเสพ ก็คือ พระยาอภัยพิพิธ  ถูกต้องเท็จจริงอย่างไร ก็ต้องหาข้อมูลกันต่อไปครับ.......


มหาดเล็ก ๓ คนนี้ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ คือ

จางวางเสือ เป็นที่ พระยาสีหราชฤทธิไกร กรมอาษาหกเหล่า แลโปรดเกล้าฯ ให้เปนกองจับชำระโจรผู้ร้าย

(ค้นในอินทรเนตร สอดส่อง ว่า พระยาสีหราชฤทธิไกร (เสือ) เป็นเจ้าของลคร มีบุตรชื่อ พระยานรานุกิจมนตรี (เปลี่ยน) ..... ค้นต่อ พระยานรานุกิจมนตรี (เปลี่ยน) เมื่อขอพระราชทานนามสกุล "ทัศนะพยัคฆ์" รัชกาลที่ ๖ ทรงลงในบาญชีว่า ปู่ชื่อนายเพ่ง มหาดเล็ก บิดาชื่อพระยาฤทธิไกรเกรียงหาญ (เสือ) คราวนี้ จะเพี้ยน หรือจะคนล่ะคน ก็ไม่ทราบได้?

มหาดเล็กบัว เป็นที่ พระยาสุรินทรฤาไชย ผู้ว่าราชการเมืองเพ็ชร์บุรีย์

ส่วนมหาดเล็กเสพ คือพระยาอภัยพิพิธ

บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 17:46

เมื่อรัชกาลที่ ๓ ขึ้นครองราชฯ แล้ว ทูลกระหม่อมฟ้าพระก็คงเห็นว่า มหาดเล็กในพระองค์คงยากที่จะเจริญต่อไป จึงทรงทำนายเสพ ไปฝากทำราชการกับ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (วังหน้า ในรัชกาลที่ ๓) นายเสพได้โดยเสด็จกรมพระราชวังบวร ไปในการศึก เจ้าอนุ เวียงจันทร์ (พ.ศ. ๒๔๖๙) ในตำแหน่ง มหาดเล็กสาตราคม จดรายงานการทัพ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์มหาดเล็กวังหน้าเป็นที่ นายปรีดาราช หุ้มแพร

ครั้น กรมพระราชวังบวร ทิวงคต ก็เข้ามาสมทบทำราชการกับวังหลวง โปรดเกล้าฯ ให้ไปตรวจการกราบบังคมทูล รายงานการสร้างป้อมผีเสื้อสมุท ที่เมืองสมุทปราการ รับพระราชทานบรรดาศักดิื์ เป็น นายจ่าเนตร ให้เป็นมหาดเล็กกำกับศาล แลหอวินิจฉัยไภยรีด้วย เมื่อทำราชการชำนิชำนาญดีแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่หลวงอินทรโกษา ปลัดพระคลังราชการ

บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 18:02

มีเกร็ดประวัติ และแสดงผลงานของ ท่านเสพ อยู่ประการหนึ่ง ซึ่งน่าจะรวบรวมไว้ คือ

เจ้าคุณสุรนันทน์ กล่าวไว้ว่า

".....ครั้นต่อมาจึงทรงนำนายเสพไปฝากไว้ให้ทำราชการ ในพระราชวังบวรกรมศักดิ์พลเสพ ได้เปนที่นายปรีดาราช หุ้มแพร ฝ่ายพระราชวัง ได้ไปทัพเวียงจันกับกรมพระราชวังเปนมหาดเล็กสาตราคมจดรายงานการทัพ ครั้นกรมพระราชวังชีวงษคตสมทบลงมาอยู่ในพระราชบรมมหาราชวัง ได้แต่งโคลงฤาษีดัดตนประดับในวัดพระเชตุพนครั้งหนึ่ง ...."

ไปค้นดู โคลงฤาษีดัดตน ที่มีโฟสในเว็บไซด์ http://slimfastter.com ซึ่งนำมาจากจารึกวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) พบอยู่สองโคลง ที่แต่งโดย นายปรีดาราชฯ ดังจะได้รวบรวมไว้นี้ (หวังว่าจะไม่ผิดฝาผิดตัวครับ เพราะเขาไม่ได้ลงชื่อเดิมไว้ว่า นายปรีดาราชนี้ ชื่อเสพ หรือไม่? )


บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 18:03

และอีกโคลงหนึ่ง.....


บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 22:50

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศบรรดาศักดิ์ ให้ หลวงอินทรโกษา เป็นที่ พระยาพิพัฒนโกษา ปลัดทูลฉลอง กรมท่า

บรรดาศักดิ์ ของกรมท่านี้ เสนาบดี คือ เจ้าพระยาพระคลัง นา ๑๐๐๐๐  (ในกฏหมาย ๓ ดวงใช่ว่า ออกญาศรีธรรมราชเดชะฯ - ไม่ทราบว่าเหตุใดไม่ตั้งตามนั้น? ) พระพิพัทโกษา ราชปลัดทูลฉลอง นา ๑๐๐๐  เป็นส่วนกลาง แบ่งเป็น กรมท่าขวา พระจุลาราชมนตรี นา ๑๔๐๐ ดูแลค้าขายแขก - ฝรั่ง เปอร์เซีย  กรมท่าซ้าย หลวงโชดึกราชเศรษฐี นา ๑๔๐๐ เท่ากัน (ภายหลังเป็นพระยาเหมือนกัน) ........... อีกตำแหน่งคือ พระศรีพิพัทรัตนะโกษา นา ๓๐๐๐ ไม่แจ้งว่า ตำแหน่งอะไร?  .......ในภายหลัง ตำแหน่งพระศรีพิพัทฯ เปลี่ยนเป็น พระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษา จางวางกรมท่า  ส่วน พระพิพัฒน์โกษา เปลี่ยนเป็น พระยาพิพัฒน์โกษา ปลัดทูลฉลองกรมท่า  แต่ตำแหน่งไหน จะทำหน้าที่อันใด ก็ยังไม่เข้าใจซักทีครับ ?

ปลายรัชกาลที่ ๓ ตำแหน่งเสนาบดีว่างลง แต่ไม่ทรงเลื่อนใครขึ้นมาแทน พราะมีพระราชดำริว่า "ให้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ท่านตั้งเอง"

ส่วนในกรมท่า ก็ชะงัก เพราะ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ท่านว่าราชการ สมุหพระกลาโหม แต่ไม่ยอมเปลี่ยนเป็น เจ้าพระยามหาเสนา (ท่านว่า เจ้าพระยามหาเสนา มักตายไว ฮืม??)  ท่านอื่นๆ ก็เลยถูก "ดอง" ไปด้วย จนต้นรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดให้เลื่อน พระพิพัฒนโกษา (บุญศรี บูรณศิริ) เป็น............. ก่อนแล้วจึงเป็น เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี จตุสดมภ์วัง (เป็น เจ้าพระยาสุธรรมนตรี ในภายหลัง)

ปลัดพระคลังราชการ หลวงอินทรโกษา จึงเลื่อนขึ้นมาแทน เป็นพระยาพิพัฒน์โกษา ปลัดทูลฉลอง ( เทียบเท่าปลัดกระทรวงการคลังควบต่างประเทศ ปัจจุบัน ได้หรือเปล่านา แต่ก็น่าจะใหญ่อยู่........... )


บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 01 ก.ค. 12, 23:05

พระยาพิพัฒน์โกษา ได้รับพระราชทาน

พระยาสุรนันทน์ ว่า

"...... ได้รับพระราชทานพาน   ๑. หมากทองคำใหญ่     ๒. คนโททอง    ๓.กระโถนทอง     ๔. แคร่คนหามแคร่     ๕. ที่บ้านแลตึก แลที่ตลาดกับภรรยา ๑ คน ๖. ทาสชายหญิงสี่ครัว "



สำนวนพระยาราชสัมภารากรว่า


ได้รับพระราชทานตอนครองราชฯ - ๑. คนโทบังกะสี    ๒. คนระบาทหม่อมไกรสร ๓. ภรรยานายทั่งกันบท ๑ กับ บุตรชาย ๑


ได้รับพระราชทานพร้อมสัญญาบัตรพระยา ๑. โต๊ะทองคำรองล่วม    ๒. คนโทน้ำทองคำ    ๓. กะโถนทองคำ    ๔. สมปักปูมโคมเพชร ๒ 


ได้รับพระราชทาน บำเน็จเพิ่ม ๑. เจ้าจอมวัณ บุตพระอินทรเดชะ (นิ่ม) ซึ่งเปนเจ้าจอมอยู่งานในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มาเป็นภรรยา


๒. เครื่องอิสริยศเหรียญทองคำใหญ่ มีตราแผ่นดินดวงหนึ่ง สำหรับติดเสื้อ    ๓. พานหมากทองคำเหลี่ยมไม้สิบสองมีเครื่องกินครบ    ๔. คนโทกะโถนทองคำ

๕. ถมปักสายสมปักปูมเขมร   ๖. เสื้อเข้าขามอย่างน้อย    ๗. ส่านแหวนพิรอด ทองคำแงหนึ่ง หนัก หกตำลึง    ๘. ได้พระราชทานที่บ้าน

ที่ปากคลองผดุง แต่ท่าวัดแก้วฟ้าถึงริมแม่น้ำ    ๙. เบี้ยหวัดปีละ ๗


ที่ทำตัวหนา (Bold) คืออะไรหรือครับ ?



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.242 วินาที กับ 20 คำสั่ง