เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 48940 อยากทราบประวัติ คุณกรุ่ม สุรนันทน์
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 12 พ.ค. 12, 07:58

น่าเก็บไหมหล่ะครับ !!!!!!!!

เสียดาย ที่ผมถ่ายเอกสารเก็บไว้ไม่เยอะ เพราะส่วนใหญ่ ยังอยู่ในลังอีก ๕ ลังใต้กระได และห้องเก็บของอีกส่วนหนึ่ง ที่เมื่อท่านย้ายบ้านจากวัดมรรณ (ซึ่งเป็นนิวาสถานที่พระราชทานสกุลสุรนันทน์ มาตั้งแต่สร้างกรุงฯ) ก็ไม่ได้รื้อออกจากลังอีกเลย หวังว่ากระดาษเหล่านั้น จะได้อยู่ในมือท่านนักสะสม ไม่กลายเป็นกระดาษทดเลขหรือย่อยเป็นกระดาษชำระไปเสียฉิบ.......



บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 12 พ.ค. 12, 08:24

อ่านเรื่องคุณกรุ่มแล้ว  อดคิดถึงเรื่องที่ท่านเล่าให้ฟัง  เรื่องที่จำแม่นมักจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะมีสาระนัก  เช่นเรื่องเฝ้าฯ ถวายตัว

เรื่องนี้ท่านเล่าว่าเมื่อครั้งถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๗ นั้น  "ครูพ้อง" พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (พ้อง  รจนานนท์) ผู้ดูแลเด็กที่ในหลวงทรงเลี้ยง  จัดให้เด็กๆ ที่จะถวายตัวในวันั้นแสวมเสื้อราชปะแตนขาวนุ่งกางเกงขาสั้น  ยืนถือพานเข้าแถวเรียงกัน  เด็กๆ ชุดนั้นมีอาทิ คุณพานทอง  ทองเจือ  เจ้าบุญส่ง  ณ ลำปาง และท่านอื่นๆ อีกหลายท่าน  เวลานั้นแต่ละท่านอายุยังไม่ถึง ๑๐ ขวบ  เมื่อถูกจับให้มายืนเข้าแถวรอเฝ้าฯ ก็แกล้งกันไปมา  มีเหยียบเท้ากันบ้าง  เบียดกันบ้าง  จนได้เวลาในหลวงและสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จลง  ในระหว่างที่ครูพ้องกราบบังคมทูลรายงานนั้น  พวกเด็กๆ ก็ออกลิงกันหน้าพระที่นั่ง  จนในหลวงต้องทรงกลั้นพระสรวล  เวลาที่คุณกรุ่มท่านเล่า  ท่านบอกว่าให้นึกถึงพระพักตร์ในหลวงที่ทรงไว้พระมัสสุ  พอทรงกลั้นพระสรวลพระมัสสุก็กระดก  เด็กๆ เห็นพระพักตร์ในหลวงแปลกๆ ก็พลอยกลั้นหัวเราะจนหน้าแต่ละคนออกจะประหลาด  ในหลวงก็ยิ่งต้องกลั้นพระสรวลมากขึ้น  ข้างฝ่ายสมเด็จพระบรมราชินีเมื่อทอดพระเนตรหน้าตเด็กๆ ถึงกับทรงพระสรวลออกมา  พิธีวันนั้นก็เลยเกือบจะล่มเอาเพราะเด็กๆ ออกลิงกันนี่เอง 
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 12 พ.ค. 12, 09:01

คุณหลวงเล็กท่านเล่าถึงหนังสือตาไก่เล่มนั้น  ถึงแม้จะเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ แต่ก็ช่วยตอบข้อสงสัยและทำให้สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวของโรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพให้ชัดเจนขึ้น

เรื่องของโรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพนั้น  เบื้องต้นได้ข้อมูลมาจากทางโรงเรียนว่า ครูจำรัส  หงสกุล ซึ่งทางโรงเรียนเข้าใจว่าชื่อ นางจำรัส  หงสกุล เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนสัตรียุพราชวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖
เมื่อแรกเห็นนามสกุล หงสกุล ก็เข้าใจไปว่า ครูจำรัสท่านนี้คงจะเป็นภรรยาของหลวงอนุภาณสิศยานุสรรค์ (เรื่อ  หงสกุล) ธรรมการมณฑลพายัพ  บัณฑิตทางการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์  ซึ่งไปเสียชีวิตที่เชียงใหม่ตั้งแต่อายุเพียง ๓๐ ต้นๆ 
แต่มาหวนคิดอีกที  ภรรยาของคุณหลวงอนุภาณฯ นั้นชื่อ พระพี่เลี้ยงหวน  สกุลเดิมสุรนันทน์  ซึ่งคุณกรุ่มท่านออกนามให้ได้ยินอยู่เสมอว่า "อาหวน" มิใช่หรือ?  จึงได้วานน้องคนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกในสกุลหงสกุลให้ตรวจเช็คข้อมูลจากหนังสือลำดับสกุล หงสกุล  จึงได้ทราบว่า ครูจำรัส เป็นน้องสาวหลวงอนุภาณฯ  ที่ได้ติดตามพี่ชายขึ้นไปเชียงใหม่  และได้ช่วยงานพี่ชายจัดการศึกษาสตรีคือ จัดตั้งโรงเรียนสัตรียุพราชวิทยาลัย  ซึ่งต่อมาได้ขยายเป็นโรงเรียนสัตรีประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย" เป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกในหัวเมือง

เมื่อเสร็จการปลงศพคุณหลวงอนุภาณฯ ซึ่งสมเด็จพระพันวัสสาฯ และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชานพระบรมราชานุเคราะห์และพระราชานุเคราะห์เสร็จแล้ว  ครูจำรัสได้กลับลงมากรุงเทพฯ พร้อมครอบครัวพระพี่เลี้ยงหวน  และได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย  ต่อจากนั้นได้สมรสกับข้าราชการกรมป่าไม้ที่ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอนุวัตนวนรักษ์  ได้ประวัติครูจำรัสมาแค่นี้ก็ให้ดีใจรีบแจ้งให้ทางโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพทราบ  ก็ทำเอาทางโรงเรียนตืนเต้นกันใหญ่  เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ข้อมูลเรื่องครูจำรัสผู้ก่อตั้งโรงเรียน

ครั้นมาได้อ่านหนังสือตราไก่ที่คุณหลวงเล็กกล่าวถึง  จึงได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในละแวกวัดมหรรณพ์ซึ่งพระราชทานให้เป็นที่อยู่ของสกุลสุรนันทน์ และหงสกุลนั้น  ยังมีบ้านของนายพลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ (ฮวด  วีระไวทยะ) อีกหลัง  และเมื่อครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงประสบอุบัติเหตุสมัยที่เป็นนักเรียน  สมเด็จพระพันปีหลวงได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระศรีฯ เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่บ้านพระยาดำรงฯ ที่เป็นแพทย์ประจำพระองค์  สมเด็จพระศรีฯ จึงได้ทรงพระดำเนินไปโรงเรียนสนตรีวิทยาพร้อมด้วยครูจำรัสเป็นประจำทุกวัน

เมื่อประมวลความสัมพันธ์ของครูจำรัสซึ่งเป็นหลานของพระยาสุรนันทน์นิวัทธกุลทางมารดาของท่าน  รวมกับสายสัมพันธ์ทางพระพี่เลี้ยงหวนแล้ว  เลยปะติดปะต่อได้ว่า  เมื่อครั้งที่สมเด็จพระพันวัสสาฯ และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ เสด็จประพาสเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ นั้น  ครูจำรัสคงจะได้ตามเสด็จขึ้นไปด้วยในฐานะคุณข้าหลวง  และคงจะได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระพันวัสสาฯ และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ เสด็จไปทอดพระเนตรโรงเรียนประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย"  และโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย"  ซึ่งตั้งอยู่คนละฝั่งถนน  ในตอนนี้ประวัติของโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพระบุไว้ว่า สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงพระมหากรุณาพระราชทานนามโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพนั้นว่า "วัฒโนทัยพายัพ"  ซึ่งก็มีที่มาจากพระนามาภิไธย "สว่างวัฒนา" 

เก็บความรู้จากหนังสือตาไก่ที่คุณหลวงท่านกล่าวถึงล้ว  ก็เลยพอจะปะติดปะต่อเรื่องราวได้ว่า  ครูจำรัสคงจะเป็นผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานมงคลนามให้แก่โรงเรียนสตรีในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียนนั้น  เพราะนาม "ยุพราชวิทยาลัย" นั้น  เป็นนามที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระราชทานให้แก่โรงเรียนชายสอนหนังสือไทยประจำมณฑลพายัพ  เมื่อครูจำรัสตั้งโรงเรียนสตรีขึ้นนั้นยังเป็นช่วงเริ่มจัดการศึกษาสำหรับสตรีจึงต้องฝากโรงเรียนสตรีนี้ไว้กับโรงเรียนชาย  เลยได้ชื่อว่าสตรียุพราชวิทยาลัยเรื่อยมา  เมื่อโรงเรียนตั้งขึ้นเป็นปึกแผ่นจนแยกการปกครองออกมาจากโรงเรียนชายได้แล้ว  จึงน่าจะมีชื่อเป็นของตนเองต่างหาก  ชื่อโรงเรียนสตรีวัโนทัยพายัพจึงได้เกิดขึ้น  และได้เผื่อแผ่ไปถึงโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเชียงใหม่ "คำเที่ยงอนุสสรณ์"  ซึ่งสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ได้เสด็จไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนในเวลาต่อมา

   
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 12 พ.ค. 12, 09:19

หนังสือตราไก่นั้น  ผมเองเพิ่งได้อ่านจริงเมืองสามสี่ปีที่ผ่านมา  เคยได้ครบชุด ๒ เล่ม
แต่มหาวารีปีกลายก็ทำให้พระพี่เลี้ยงสำลักน้ำ ถึงแก่กรรมเป็นครั้งที่สอง  นี่กำลังสั่งทำสำเนาอยู่

คุณวีมีเอ่ยถึงเจ้าคุณดำรงแพทยาคุณ (ฮวด  วีระไวทยะ) ก้นึกถึงหนังสืองานศพท่าน
ซึ่งพิมพืบันทึกส่วนตัวของท่านไว้ได้  ได้เปิดบางส่วน  เห็นมีที่เป็นสาระน่าสนใจอยู่
เสียดายว่า  ทำสำเนาไม่ได้  กระดาษกรอบมาก

คุณวีมีได้เอ่ยถึงขุนนางที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิื์ "ภูมีสวามิภักดิ์" ทั้ง ๓ คน
ไม่ทราบว่า  พอจะระบุได้หรือไม่ว่า  แต่ละคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้เมื่อใด
และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์หรือถึงแก่กรรมเมื่อใด
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 12 พ.ค. 12, 09:33

หนังสือชุดนี้ใส่ไว้ในถุงย่ามผ้าอย่างดี ยังคงประดับไว้ที่ชั้นหนังสืออย่างสง่างามเนื่องด้วยเจ้าภาพให้มามิได้ซื้อหาแต่ประการใด

นำภาพอำมาตย์โทหลวงอรุภาณศิสยานุสรณ์ (เรื่อ หงสกุล) และพระพี่เลี้ยงหวน (สุรนันทน์) มาประกอบเรื่องครับ


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 12 พ.ค. 12, 11:04

ในหนังสือตราไก่เล่าว่า คุณหลวงอนุภาณฯ นั้นได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระอนุภาณสิศยานุสรรค์ แล้ว  แต่ยังมิทันได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ก็มาด่วนถึงแก่กรรมเสียก่อน

จะว่าไปชีวิตคนเราไม่อาจฝืนชะตาลิขิตได้  เพราะเคยอ่านพบในเอกสารจดหมายเหตุว่า เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้น  เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ท่านได้ขอยืมตัวพระโอวาทวรกิจ (เหม  ผลพันธิน - ต่อมาเป็นพระยา) มาเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  เมื่อกระทรวงเรียกตัวพระโอวาทฯ กลับ  ก็มีดำริที่จะส่งหลวงอนุภาณฯ มาแทน  แต่ในหลวงรัชกาลที่ ๖ รับสั่งว่า อยากจะให้คนใน คือ ครูศร  ศรเกตุ ครูประกาศนียบัตรโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์  ซึ่งเวลานั้นเป็นหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปกครองลองทำการดู  ครูศรจึงได้เป็นครูใหญ่แล้วได้เลื่อนเป็นผู้บังคับการคนแรกของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  จนสุดท้ายได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาบริหารราชมานพ  และเสียชีวิตเมื่ออายุเพียง ๓๐ เศษ 

เมื่อคุณหลวงอนุภาณฯ ไม่ได้เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง  เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย  มาลากุล) จึงส่งท่านขึ้นไปเป็นธรรมการมณฑลพายัพ  เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาหนังสือไทยในมณฑลนั้นให้ทัดเทียมกับในกรุงเทพฯ  เลยทำให้ท่านไปรับเชื้อบ้างก็ว่าไข้ทรพิศม์  บ้างก็ว่าไข้ป่า  จนป่วยและเสียชีวิตที่เชียงใหม่

เรื่องเจ้าคุณและคุณพระ ๓ ท่านนั้น  ได้ฟังมาแต่คำบอกเล่าของทายาทท่านทั้งสามครับ  ไม่ได้ค้นคว้าต่อครับ
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 12 พ.ค. 12, 13:33

ลายมือ หลวงอนุภาณฯ สันนิษฐานว่า เขียนถึง คุณพระภูมีฯ พ่อคุณกรุ่ม


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 14 พ.ค. 12, 09:00

เห็นภาพคุณพระภูมีสวามิภักดิ์แล้ว  หวนรำลึกขึ้นมาได้ว่า  สมัยที่นักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์รัชกาลที่ ๖ ท่านยังมีชีวิตกันอยู่นั้น  เด็กน้อยอย่างกระผมได้รับความเมตตาจากบุตรของท่านผู้เป็นทายาทของท่านที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาและพระภูมีสวามิภักดิ์ถึง ๓ ท่าน คือ

ท่านหนึ่งชื่อ พันเอก เรวัต  เตมียบุตร  บุตรของ พระยาภูมีสวามิภักดิ์ (หยวก  เตมียบุตร)
ท่านที่สองชื่อ จุลันต์  เทพหัสดิน ณ อยุธยา บุตรของ พระยาภูมีสวามิภักดิ์  (........  เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
ท่านที่สามชื่อ  กรุ่ม (ต๋อย)  สุรนันทน์  บุตรของพระภูีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม  สุรนันทน์)

ทั้งสามท่านเล่าไว้ตรงกันว่า  พอบิดาของท่านทั้งสามได้รับพระราชทานราชทินนาม "ภูมีสวามิภักดิื" ได้ไม่นาน  ก็เป็นอันกราบถวายบังคมลาไปกันทุกคน

คุณวีมีได้เอ่ยถึงขุนนางที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิื์ "ภูมีสวามิภักดิ์" ทั้ง ๓ คน
ไม่ทราบว่า  พอจะระบุได้หรือไม่ว่า  แต่ละคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้เมื่อใด
และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์หรือถึงแก่กรรมเมื่อใด

เรื่องเจ้าคุณและคุณพระ ๓ ท่านนั้น  ได้ฟังมาแต่คำบอกเล่าของทายาทท่านทั้งสามครับ  ไม่ได้ค้นคว้าต่อครับ


ประวัติสังเขปเสวกโท พระภูมีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม  สุรนันทน์)

เป็นบุตรพระยาสุรนันทน์นิวัทธกุล (กริ่ม  สุรนันทน์)  เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๓๒
ปี ๒๔๔๘  ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กวิเศษ  
ปี ๒๔๕๓  ได้ย้ายไปรับราชการที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
ปี ๒๔๕๗  ย้ายมารับราชการที่กรมมหาดเล็ก  
ปี ๒๔๕๘  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายราชภัณฑ์ภักดี และยศหุ้มแพร
ปี ๒๔๕๙  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงชาญภูเบศร  และยศจ่า  
ปี ๒๔๖๒  วันที่ ๑๔ ตุลาคม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระภูมีสวามิภักดิ์
ปี ๒๔๖๗  ได้เป็นรองหัวหมื่น
ปี ๒๔๖๘  ออกจากราชการ
ปี ๒๔๗๑  วันที่ ๑๓ ตุลาคม ถึงแก่กรรมด้วยอาการป่วยโรคหัวใจรั่ว  อายุได้ ๓๙  ปี

สรุป  นายเกริ่ม  สุรนันทน์ ได้เป็นพระภูมีสวามิภักดิ์ ตั้งแต่ปี ๒๔๖๒ จนถึงปี ๒๔๗๑

ก่อนหน้านั้น  ผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ภูมีสวามิภักดิ์ คือ  ขุนภักดีสวามิภักดิ์ (ตาด  จารุศิริ)
หุ้มแพร ขุนภูมีสวามิภักดิ์ (ตาด  จารุศิริ)  ข้าราชการกรมมหาดเล็ก อายุ ๔๖ ปี
ป่วยถึงแก่กรรมด้วยโรคเหน็บชา  เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน  ๒๔๖๒

สรุป  ในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ภูมีสวามิภักดิ์แน่ๆ ๒ คน
คือ หุ้มแพร  ขุนภูมีสวามิภักดิ์ (ตาด  จารุศิริ)  และเสวกโท พระภูมีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม  สุรนันทน์)

แล้วอีก ๒ คนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ภูมีสวามิภักดิ์ เมื่อไร?
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 14 พ.ค. 12, 09:29

เห็นภาพคุณพระภูมีสวามิภักดิ์แล้ว  หวนรำลึกขึ้นมาได้ว่า  สมัยที่นักเรียนเก่าโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์รัชกาลที่ ๖ ท่านยังมีชีวิตกันอยู่นั้น  เด็กน้อยอย่างกระผมได้รับความเมตตาจากบุตรของท่านผู้เป็นทายาทของท่านที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาและพระภูมีสวามิภักดิ์ถึง ๓ ท่าน คือ

ท่านหนึ่งชื่อ พันเอก เรวัต  เตมียบุตร  บุตรของ พระยาภูมีสวามิภักดิ์ (หยวก  เตมียบุตร)
ท่านที่สองชื่อ จุลันต์  เทพหัสดิน ณ อยุธยา บุตรของ พระยาภูมีสวามิภักดิ์  (........  เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
ท่านที่สามชื่อ  กรุ่ม (ต๋อย)  สุรนันทน์  บุตรของพระภูีสวามิภักดิ์ (เกริ่ม  สุรนันทน์)

ทั้งสามท่านเล่าไว้ตรงกันว่า  พอบิดาของท่านทั้งสามได้รับพระราชทานราชทินนาม "ภูมีสวามิภักดิื" ได้ไม่นาน  ก็เป็นอันกราบถวายบังคมลาไปกันทุกคน


ประวัติย่อของเสวกเอก  พระยาภูวนัยสนิธ (หยวก  เตมียบุตร)
เป็นบุตรขุนนคร  เกิดเมื่อวันที่  ๓๐  เมษายน  ๒๔๒๕
เริ่มรับราชการเป็นเสมียนตรี กองกรรมการชำระพระราชทรัพย์ค้าง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
ปี ๒๔๔๐ ได้เป็นมหาดเล็ก
ปี ๒๔๔๕ รับราชการในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ในตำแหน่งนายเวรกรมวัง
ปี ๒๔๕๔  ประจำกรมกรมบัญชาการมหาดเล็ก
ปี ๒๔๕๖  ประจำกรมตรวจมหาดเล็ก และรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประมาณธนสิทธิ์
ปี ๒๔๕๘ รับพระราชทานยศจ่า
ปี ๒๔๕๙  รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระประมาณธนสิทธิ์
ปี ๒๔๖๑  เป็นรองหัวหมื่น
ปี ๒๔๖๒  รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาดรุณรักษา
ปี ๒๔๖๔  เป็นหัวหมื่น
ปี ๒๔๖๖  รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภูวนัยสนิธ
ปี ๒๔๖๙  ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมตรวจ กรมพระคลังข้างที่
ปี ๒๔๗๐  วันที่ ๖ กุมภาพันธ์  ถึงแก่กรรมด้วยโรคมาลาเรียขึ้นสมอง อายุได้ ๔๖ ปี

สรุป ว่าตามข้อมูลนี้  เสวกเอก  พระยาภูวนัยสนิธ (หยวก  เตมียบุตร)
ไม่เคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภูมีสวามิภักดิ์

ส่วนพระยาภูมีสวามิภักดิ์ (......  เทพหัสดิน ณ อยุธยา)
เท่าที่ค้นข้อมูลได้  มีแต่ รองหัวหมื่น  พระยาภูวนัยสนิธ (เจริญ  เทพหัสดิน ณ กรุงเทพ)
ข้าราชการกรมมหาดเล็ก  ป่วยเป็นโรคเนื้อร้ายงอกในลำคอถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๔๖๖
อายุได้ ๕๗ ปี   ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากนี้  แต่ก็อนุมานได้ว่า  พระยาภูวนัยสนิธ (เจริญ  เทพหัสดิน ณ กรุงเทพ)
น่าจะไม่เคยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภูมีสวามิภักดิ์ 
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 14 พ.ค. 12, 10:23

ขอบพระคุณหลวงเล็กที่กรุณาไปค้นข้อมูลมาให้ครับ  สงสัยผมจะจำผิดครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 14 พ.ค. 12, 17:22

ขอบพระคุณหลวงเล็กที่กรุณาไปค้นข้อมูลมาให้ครับ  สงสัยผมจะจำผิดครับ

หามิได้ครับคุณวีมี  ผมอยากทราบว่าที่ว่าพระยาและพระภูมีสวามิภักดิ์ แต่ละคนอยู่ในบรรดาศักดิ์ได้ไม่นานนั้น
ไม่นานอย่างไร  ผมเป็นคนรุ่นหลัง  มีข้อมูลน้อย  จึงค่อยคลำหาจนเจอ  คนเราจำผิดพลาดกันได้ครับ
น่าสังเกตนะครับว่า  คนเก่าถึงแก่กรรม ก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ขุนนางคนอื่นครองบรรดาศักดิ์แทนในปีเดียวกัน
ถ้าเป็นสมัยรัชกาลที่ ๕ คนเก่าตายแล้วบางทีก็ต้องรออีกหลายปีกว่าจะทรงตั้งใครมาแทนคนเก่า

อันที่เรื่องบ้านมหรรณพนั้น  ก็น่าสนใจ  จำได้ว่า  คุณหรรษา กับคุณหะริน  ได้เล่าไว้ในหนังสืออะไรจำไม่ได้
มีรายละเอียดอ่านสนุกมาก  ถ้าเจอหนังสือเล่มนั้นอีกจะเอามาเล่าไว้พอเป็นสังเขป (หมายความว่า ที่เหลือไปหาอ่านเอาเอง)
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 14 พ.ค. 12, 20:37

เรื่องบ้านวัดมหรรณนี้ คุณกรุ่มเคยเล่าว่า ตัวเรือนใหญ่ของเจ้าคุณปู่ (เมื่อซัก ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ยังอยู่ เคยพาคุณกรุ่มไปวนรถดู ลูกหลาน สายสุรนันทน์ และหงสกุล ก็ยังพำนักอยู่บริเวณนั้นบ้าง)  ใต้ถุนเรือนยังเป็นลูกกรงไว้ขังทาส !!!! ถึงแม้จะเลิกทาสไปตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ แล้ว ทาสบางคนก็ยังยอมตนเป็นทาสอยู่ ท่านก็เลี้ยงไว้ เวลาทำผิด ท่านก็เอาตัวมาขังไว้ใต้ถุน 

ในบ้านนี้ มีทาสคนหนึ่ง คุณกรุ่มเรียกว่า "ไอ้หมี" (เป็นผู้หญิง แต่ไม่ทราบว่าทำไมท่านเรียกว่า ไอ้ หรืออาจจะเป็น อ้าย)  ไอ้หมี มีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง(ที่เขาเรียกว่า ทาสในเรือนเบี้ย คือเกิดในระหว่างที่แม่เป็นทาส)  ทำผิดอะไรไม่ทราบ จึงถูกจับขังไว้ในกรงที่ใต้ถุนเรือนพร้อมลูกสาว  คุณกรุ่มคุ้นหน้าบ่อยๆ เพราะขึ้นลงเรือนใหญ่  ท่านเคยเห็นไอ้หมีมาตั้งแต่เป็นเด็กเล็กหลายปี พอโตขึ้นมา ก็ไม่เห็นไอ้หมี กับครอบครัวไอ้หมีแล้ว  ................

จากนั้นมาหลายสิบปี(หลัง พ.ศ. ๒๕๐๐) ท่านมีกิจธุระต้องขึ้นไปเชียงใหม่  มีผู้หญิงคนหนึ่งแต่งตัวดี สง่างาม เข้ามาทักทายคุณกรุ่ม บอกว่า "จำดีฉันได้ไหมค่ะ ดีฉันเป็นลูกไอ้หมี ไงค่ะ" ทักทายกันซักพักหนึ่ง ก็ลาจากกันไป  ....... มีคนเขามาถามคุณกรุ่มว่า "รู้จักคุณหญิงด้วยหรือ?" ....... ลงท้ายท่านเล่าต่อว่า "ผมก็ไม่รู้ว่า ลูกของไอ้หมี ชื่ออะไร จะเป็นคุณหญิงของใคร แต่ชีวิตคนเราก็แปลกประหลาดจริงหนอ? จากลูกทาสในเรือนเบี้ย กลายมาเป็นคุณหญิง"  (อย่างกับนิยาย ผมคิดในใจ 555+)
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 14 พ.ค. 12, 22:50


เรื่องคุณกรุ่มนี้   เป็นเรื่องที่นักหาหนังสือ อ่านกันโดยทั่วหน้า   ชื่นชมกันว่าสนุกตื่นเต้น   สาขาสมาคมที่ ราบ ๑๑  รายงานมาเมื่อครู่


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 15 พ.ค. 12, 12:05

คุณหรรษา  บัณฑิตย์ (หงสกุล) บุตรีพระพี่เลี้ยงหวน  เล่าเรื่องเรืองตระกูลสุรนันทน์ไว้ ดังนี้

"บ้านหลังที่อยู่ใกล้ถนนใหญ่  คือบ้านบน  แบ่งออกเป็นหลายหลัง  มีเรือนเจ้าคุณตา (พระยาสุรนันทน์ฯ)
กับคุณหญิงยาย  อยู่ตรงกลางหมู่  เรือนหลังนี้เป็นเรือนไม้สักหลังใหญ่  มีนอกชานต่อกลางแล่นถึงกันกับเรือนอื่นๆ
ที่อยู่รอบๆ มีเรือนเจ้าคุณลุง  เรือนคุณพ่อคุณแม่  เรือนคุณน้าพระ และมีเรือนเก็บสัมภาะอีกหลังอยู่ใกล้เรือนเจ้าคุณตา
เรือนหลังนี้  ข้างล่างเป็นใต้ถุนทึบ  ทำด้วยไม้ซุงหนา   ผู้ใหย่ท่านเล่าให้ฟังว่า  เป็นที่เก็บทาสในสมัยรัชกาลที่ ๕
ส่วนด้านบน เรียกว่าเรือนสัมภาระ เป็นที่เก็บเครื่องใช้สอยต่างๆ ที่ใช้ทำบุญเลี้ยงพระเลี้ยงคน 
มีตะลุ่ม ถาด ถ้วยชาม พรม หม้อใบใหญ่  สามารถเลี้ยงคนมาร่วมงานได้เกินร้อยคน  ..."
บันทึกการเข้า
PAOPAI
อสุรผัด
*
ตอบ: 15


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 15 พ.ค. 12, 14:36

ขอเรียนถามว่าปัจจุบันบ้านวัดมหรรณ์หลัีงนี้ยังมีอยู่หรือเปล่าครับ? และถ้าถูกรื้อไปแล้วก็อยากทราบที่ตั้งของบ้านด้วยครับว่าอยู่บริเวณใดในแถบนั้น เพื่อเป็นความรู้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.046 วินาที กับ 20 คำสั่ง