เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 51008 ว่าด้วยเรื่องของหลังคาแบบฝรั่ง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 10:39

กลับมาเล่าถึงเมืองที่เคยอยู่

หนุ่มสาวอเมริกันที่เกิดในเมืองเล็ก  พอโตเรียนจบมัธยมปลายแล้วก็ไม่นิยมอยู่ในบ้านเกิดอีกต่อไป   แต่จะบินออกจากรังไปแสวงหาชีวิตของตนเองในโลกกว้าง     ข้อนี้หมายถึงไปอยู่ในเมืองใหญ่    ถ้าไม่ไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ก็ไปหางานทำ เลี้ยงชีพเอง ไม่พึ่งพ่อแม่อีก  ปีหนึ่งเจอกันหนเดียวคือกลับมาบ้านตอนคริสต์มาส
ถึงมีเพลง I'll be home for Christmas  ไงคะ

พ่อแม่คนชั้นกลางของอเมริกันไม่เหมือนพ่อแม่คนชั้นกลางของไทย   ของเราเลี้ยงลูกจนอายุขนาดไหนก็ตาม ถ้าลูกยังไม่แยกตัวออกไปมีครอบครัวเดี่ยวของตัวเอง    พ่อแม่ก็เลี้ยงกันต่อทั้งนั้น      ส่วนพ่อแม่ไทยในชนบทเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  คือพอลูกโตพอไปรับจ้างเป็นแรงงานได้ ก็ออกจากบ้านไปทำงาน  แล้วส่งเงินกลับมาเลี้ยงพ่อแม่
ส่วนพ่อแม่อเมริกันดูเหมือนจะมีคติว่า ลูกอยู่กับตัวจนอายุราวๆ ๑๘   หลังจากนั้นก็บินออกจากรังได้แล้ว       ถ้าลูกไม่ออกจากรัง ยังอยู่กับพ่อแม่เสียอีก พ่อแม่จะกลุ้มใจว่าไม่รู้จักโต
พอลูกออกจากรังไป  บ้านที่เหลือแต่พ่อแม่อยู่กันสองคน มีศัพท์ว่า empty nest   รังเปล่านี้พ่อแม่อยู่กันต่อไปจนกระทั่งวัยกลายเป็นตายาย   ก็ยังอยู่กันต่อไปสองคน  ไม่เอาลูกเอาหลานมาอยู่ด้วย   ถ้าคุณตาจากไปก่อน คุณยายก็อยู่คนเดียว
บ้านที่เคยอยู่กันหลายห้อง เพราะมีพ่อแม่ ลูกคนโต คนกลาง คนเล็ก  ก็กลายเป็นบ้านที่มีห้องว่างทิ้งไว้เฉยๆหลายห้อง
ทำให้คุณตาคุณยายเหล่านี้หาลำไพ่พิเศษ ด้วยการแบ่งห้องว่างนี้ให้เช่า   รวมทั้งห้องใต้หลังคาด้วย

ในเมืองเล็กเมืองนี้ มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่แห่งหนึ่ง    เป็นมหาวิทยาลัยที่นักเรียนทุนของไทยได้ทุนมาเรียนกันหลายคน     ส่วนใหญ่เป็นสาขาการศึกษา   หลายคนเรียนจบไปแล้วก็ไปเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการบ้าง เป็นผู้บริหารในมหาวิทยาลัยบ้าง
นอกนั้นก็มีนักเรียนทุนส่วนตัว ที่อยู่ในความดูแลของก.พ.    

หอพักของมหาวิทยาลัยมีเหมือนกัน   แต่มักจะต้องอยู่ห้องเดียวกับรูมเมทฝรั่ง   จะทำส้มตำ แกงส้ม แกงเผ็ด ก็เกรงใจฝรั่ง   ฝรั่งจัดปาร์ตี้ในห้องก็หนวกหูคนไทย    ก็เลยหาที่อยู่ข้างนอกดีกว่า  เป็นอิสระกว่า
ห้องเช่าที่มีเจ้าของบ้านเป็นคุณลุงคุณป้า คุณตาคุณยาย  จึงสนองความประสงค์ของนักเรียนไทยได้พอดิบพอดี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 10:52

พวกอเมริกันในเมืองเล็ก เป็นคุณตาคุณยายที่สะอาดสะอ้านมีระเบียบ  ดูแลบ้านช่องเก่ง    ตกแต่งห้องก็เก่ง    นิสัยพวกเขาเท่าที่เคยเห็น  มีตรงกันอย่างหนึ่งคือเขาไม่เก็บข้าวของไว้เต็มบ้าน เพราะเสียดายที่จะทิ้ง อย่างคนไทย   ตรงกันข้าม  พวกเขาทิ้งของเก่งมาก  ห้องก็เลยสะอาดเนี้ยบ ไม่ว่าห้องนอน ห้องอาหาร ห้องรับแขก  ตกแต่งสะสวยเรี่ยมเหมือนในแมกกาซีน   เรียกว่าพร้อมจะถ่ายรูปโชว์ได้ทุกเวลา

ข้าวของต่างๆถ้าไม่ทิ้ง หรือบริจาคไป  (มีแหล่งรับบริจาคเป็นคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ตั้งไว้ในเมือง)     เจ้าของบ้านก็มีห้องเก็บของขนาดใหญ่  เก็บไว้ให้พ้นหูพ้นตาคน

ห้องใต้หลังคา  ถ้าหากว่าอยู่อาศัยเอง    เจ้าของบ้านก็ตกแต่งเสียสวยน่าอยู่    ไม่รู้สึกเลยว่าอุดอู้อยู่ใต้หลังคา  อย่างในรูปพวกนี้ละค่ะ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 11:11

    เจ้าของบ้านที่นักเรียนไทยไปเช่าห้องอยู่ มักจะแต่งห้องสไตล์คันทรี    เหตุผลคือเมืองนี้เป็นเมืองชนบทมาแต่แรก   เหตุผลที่สองคือเครื่องเรือนเก่าๆที่ตกทอดกันมาในบ้านเป็นสไตล์คันทรี   เมื่อมาทำห้องเช่า เอาเครื่องเรือนเดิมมาขัดมาทาสีใหม่ก็ดีกว่าจะไปซื้อใหม่   
   ข้าวของในบ้านพวกนี้คงทนมาก  ทั้งเตียง ตู้ โต๊ะ   หลายชิ้นน่าจะอยู่มาตั้งแต่เรายังเรียกประเทศว่า "สยาม"  เจ้าของเดิมตายกันไปกี่รุ่นแล้วก็ไม่อาจทราบได้    แต่เท่าที่เคยอยู่มา ก็ไม่เคยเห็นมีใครมาเยี่ยมเยียนกะเหรี่ยงไทย  อาจจะเห็นว่าพูดจากันไม่รู้เรื่องก็เป็นได้ค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 11:43

แต่ทั้งๆห้องใต้หลังคาตกแต่งให้ดูดียังไงก็ตาม    เมื่ออยู่เข้าจริงๆ  มันก็มีข้อน่าอึดอัดบางอย่างที่ห้องในชั้นหนึ่งหรือสองของบ้านไม่มี   ที่เห็นชัดคือห้องมันเตี้ย    คนไทยเราชินกับห้องเพดานสูงกว่านี้   เมื่อเดินเข้าไป ก็รู้สึกเหมือนถูกบีบอัดให้เตี้ยลงตามห้อง  นอกจากนี้ถึงมีฉนวนกันความร้อนหนาวจากหลังคายังไงก็ตาม   มันก็ยังร้อนและหนาวกว่าห้องอื่นๆในบ้านอยู่บ้าง พอสัมผัสได้

ห้องใต้หลังคาในสหรัฐอเมริกายังดี  เพราะบ้านช่องห้องหับของเขาเว้นเนื้อที่ว่าง(space) เอาไว้มาก    ถ้าเป็นประเทศที่ประหยัดเนื้อที่บ้านมากกว่านี้  อย่างบ้านในอังกฤษ    ห้องใต้หลังคาก็แคบจนอึดอัด   บางทีเตียงก็ไปซุกอยู่ใต้เพดานลาดเอียง  ดูน่ากลัวว่าถ้าเผลอ นอนหลับไป สะดุ้งตื่นพรวดพราดขึ้นมาเพราะมือถือปลุก   หัวจะโขกเข้ากับเพดานได้ง่ายๆ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 11:47

ถ้าเป็นห้องใต้หลังคา ที่ตกแต่งให้มี space แบบนี้  ก็ไม่อึดอัด


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 14:18

เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ความเป็นอยู่ในบ้านช่องสะดวกสบายขึ้นมาก    ห้องใต้หลังคารุ่นหลังๆจึงก้าวเดินมาไกลจนไม่เห็นฝุ่น  เมื่อเทียบกับห้องใต้หลังคายุคที่สาวใช้นอนหนาวตัวสั่นอยู่ใต้ผ้านวม    ห้องใต้หลังคารุ่นใหม่ๆ สามารถจะทำเป็นห้องอะไรก็ได้ตามใจชอบ    ทำให้บ้านมีเนื้อที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นได้อีกเท่าตัวจากชั้นล่าง

ห้องใต้หลังคา นอกจากทำเป็นห้องนอน  ก็เป็นห้องนั่งเล่น(den)  และยกห้องน้ำเข้าไปด้วยก็ยังได้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 14:22

ห้องใต้หลังคา เป็นห้องนั่งเล่น  ห้องทำงาน  ห้องซ้อมดนตรี และเป็นได้แม้กระทั่งครัว


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 14:55

หลังจากดูใต้หลังคากันมาหลายค.ห.  ก็ขอเชิญกลับขึ้นบนหลังคาอีกครั้งนะคะ  เพื่อจะดูหน้าตาหลังคาและบ้านในเมืองกัน

เมืองนี้อย่างที่บอก เป็นเมืองที่เกิดขึ้นในพรึ่บเดียว  บ้านช่องยุคแรกๆในปี 1870 กว่าๆ มาถึง 1900 ก็เลยมีแบบแผนคล้ายคลึงกัน  ในถนนสายต้นๆที่เขานับตั้งแต่เลข 1 เป็นต้นมาถึงประมาณ 10 ต้นๆ มีบ้านอยู่ไม่กี่แบบ   
เทศบัญญัติของเมืองค่อนข้างเข้มงวด  ใครจะสร้างบ้านแบบไหนต้องถูกตรวจแบบไว้ก่อน ว่าไม่ "โดด" ออกมาจากบ้านอื่นๆ ในละแวกนั้น    แม้แต่สีทาบ้านก็ถูกพิจารณาด้วย     ถึงคุณมีเงิน ก็ไม่อาจซื้อสีทาบ้านเป็นสีม่วงสีทอง หรือเขียวสลับแดงตามใจชอบได้    บ้านต่างๆจะต้องใช้สีที่เทศบาลอนุมัติแล้วว่าไม่ระคายสายตา  และไม่ทำลายสภาพแวดล้อมด้วยการเป็นบ้านสีดำประตูแดงอยู่หลังเดียวท่ามกลางสีขาวทั้งถนน

บ้านที่นำมาลงให้ดู ในค.ห.ต่อไป  เป็นบ้านรุ่นเก่ายุครัชกาลที่ 5    ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเห็นอยู่ตามถนนสายเก่า  ไม่ได้ถูกรื้อทิ้ง   เทศบาลใช้วิธีขยายเมืองออกไป ไม่ใช่รื้อของเก่าแล้วสร้างของใหม่ทับลงไป   บางหลังอาจถูกรื้อแล้วสร้างอพาตเม้นท์แทนก็พอมี แต่ว่าน้อยมาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 15:07

บ้านในรูปที่ 1  เป็นบ้านเล็กๆอยู่ในชานเมือง   โดยมากเป็นบ้านนาที่เป็นส่วนหนึ่งของฟาร์ม  
บ้านในรูปที่ 2  เป็นบ้านในเมือง    ของชาวบ้านที่มีฐานะมีอันจะกินขึ้นมาหน่อย    ตอนไปเรียนใหม่ๆ ถนนสายที่อยู่ก็มีบ้านแบบนี้เรียงรายกันบนฟากถนนซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับแคมปัสเก่าของมหาวิทยาลัย      เวลาล่วงผ่านมาหนึ่งร้อยปี   มหาวิทยาลัยก็ซื้อบ้านสองสามหลังที่หน้าตาแบบนี้ไว้เป็นสโมสรกิจกรรมของนศ. พวกชมรม  Alfa Beta อะไรพวกนี้    ชมรมพวกนี้นักศึกษาต่างชาติไม่เกี่ยวข้องด้วย ก็เลยไม่ค่อยจะรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับพวกเขานัก
รูปที่ 3 และ 4  เป็นบ้านเก่าของชาวเมืองที่เห็นกันทั่วไป  
รูปที่ 5  จะคล้ายๆกับรูปที่ 2  คือเป็นบ้านแบ่งเช่าบ้าง เป็นสโมสรกิจกรรมของนศ.บ้าง   เป็นสำนักงานของมหาวิทยาลัยบ้าง
รูปที่ 6  เป็นบ้านชาวเมืองที่ค่อนข้างจะมีสตางค์  ราคาบ้านไม่ได้ขึ้นกับรูปทรงโครงสร้างของบ้านเท่านั้น แต่ขึ้นกับบริเวณด้วย     ถ้าเป็นทำเลที่สวยงาม มีบริเวณกว้างขวาง  ราคาก็แพงขึ้น  แม้จะเป็นบ้านแบบเรียบๆก็ตาม

ขอเชิญดูหลังคาบ้านพวกนี้อีกทีนะคะ  สังเกตไหมว่าบ้านพวกนี้หลังคาเขาสูงแต่มีชายคาสั้นมาก     หน้าต่างทุกบานโดยเฉพาะหน้าต่างชั้นบน  ไม่มีกันสาดให้กันฝนได้เลย      ทั้งนี้เพราะในรัฐแม้มีหิมะตกมากก็จริง  แต่ไม่มีฝน    ฝนตกตอนไหนก็ไม่ทราบเพราะไม่เคยเจอ   ใครเดินหาเสื้อกันฝนและร่มในห้างสรรพสินค้าก็เดินจนเมื่อยขากันเปล่าๆ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 17:07

เมืองขยายไปทางตะวันตก   ผังเมืองออกแบบไว้ดีคือทำถนนตัดกันเป็นตารางหมากรุก  เส้นหนึ่งจากเหนือลงใต้  อีกเส้นตัดขวางจากตะวันออกไปตะวันตก  ทำให้เกิดสี่แยกทุกช่วงถนน   ชื่อถนนก็นับเป็นเลขที่  ทำให้มองเห็นไม่ยากว่าบ้านเก่าอยู่ในถนนหมายเลขต้นๆ  ส่วนถนนหมายเลขมากขึ้นเท่าใด ก็มีบ้านใหม่ให้เห็นมากเท่านั้น
บ้านรุ่นใหม่ที่ว่านี้มีหลายรุ่นด้วยกันค่ะ    ที่เห็นมากในเมืองก็คือบ้านในยุคกลางศตวรรษที่ 20  เรียกว่า mid-century home    เป็นบ้านปลูกประมาณ 1950s คือหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง     คนที่อ่านกระทู้ประวัติศาสตร์คงจำได้ว่าอเมริกาเป็นประเทศที่บอบช้ำน้อยที่สุดในสงครามโลก   เพราะสงครามไม่ได้เกิดในประเทศแต่ไปเกิดในยุโรป   ส่วนทางเอเชีย อเมริกาก็สูญเสียแค่เพิร์ลฮาเบอร์    ดังนั้นเมื่อสงครามจบลง   ประเทศมหาอำนาจก่อนหน้าอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษบอบช้ำสะบักสะบอม   อเมริกาก็ผงาดขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่แทน  
ทหารอเมริกันทยอยกันกลับบ้านจากสมรภูมิในยุโรป   ความสงบคืนมา   สังคมก้าวเข้าสู่การสร้างครอบครัวใหม่     เศรษฐกิจดีขึ้น  บ้านช่องที่สร้างขึ้นในยุคนี้ก็ออกมาในรูปบ้านเล่นลายอิฐ แผ่นหินประดับผนังด้านนอก   หรือเป็นคอนกรีต ไม่มีไม้ทึบๆและหน้าต่างแคบๆอย่างบ้านยุคก่อน  เล่นกระจกใสแทน      ไม่นิยมห้องใต้หลังคาอีก  หลังคาก็เลยแบนเกือบราบ   หลังคาแบบนี้ถ้าสร้างอย่างในบ้านเรา แดดจะลงมาถึงห้องนอนชั้นบนได้ง่าย   แต่ในเมืองหนาว ได้รับแดดมากก็อุ่นดี

เมื่อไปเรียน  บ้านแบบนี้ถือว่าเป็นบ้านสมัยใหม่ของยุค  โดยมากอยู่ออกไปทางชานเมืองด้านตะวันตก ที่เมืองขยายไปทางนั้น  ห่างมหาวิทยาลัย  นักเรียนไทยก็เลยไม่ค่อยไปอยู่กันเพราะเดินมาเรียนไม่ไหว  เมืองทั้งเมืองมีรถประจำทางคันเดียว  วนมาถึงจุดเดิมทุกๆ ๑ ชั่วโมง  ถ้าวิ่งไปที่ป้ายจอดช้าไป ๒ นาทีก็ต้องรออีก ๕๘ นาทีกว่ารถจะกลับมาอีกครั้ง


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 20:37

คุณตั้งไปอ้างเรื่องหลังคาบ้านฝรั่งไว้ในกระทู้  แผ่นดินไหวและซึนามิ

นอกจากนั้นจุลินทรีย์พวกนี้ยังใช้ออกซิเจนจากสารประกอบซัลเฟต (SO4 อื่นๆอีกด้วย ซึ่งจะทำให้เหลือสารตกค้างเป็นพวก Ferrous sulfide ซึ่งคือแร่ชนิดหนึ่งที่มีส่วนประกอบหลักเป็นธาตุเหล็กกับกำมะถัน แต่ยังคงสะสมปนอยู่ในเนื้อของตะกอนดิน ทั้งหมดนี้คือสภาพของตะกอนที่แปรสภาพไป ในภาษาที่เรารูจักกันก็คือดินพรุ ในภาษาทางวิชาการเรียกว่า Peat bog หรือบางทีก็เรียกว่า Bog หรือ Bog swamp (ซึ่งโยงไปหากระทู้ของคุณเทาชมพู ว่าด้วยหลังคาแบบฝรั่ง ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงบ้านที่สร้างในแถบทุ่งหญ้าแพรรี_Prairie_)   

เมืองเล็กที่ว่านี้ ตั้งอยู่กลางท้องทุ่งกว้างใหญ่   ซึ่งเรียกว่า prairie   ท้องทุ่งแบบนี้ไม่มีในประเทศไทย     เห็นครั้งแรกมันเหมือนกับสนามกอล์ฟของพญายักษ์  เพราะเป็นเนินกว้างสลับกับพื้นเรียบทอดตัวยาวเหยียดไปจนสุดสายตา     เนื่องจากไฮเวย์ทั้งหลายของที่นี่เขาไม่อนุญาตให้มีตึกแถวการค้ามาตั้งขนาบสองข้างทางอย่างบ้านเรา      แต่เปิดทิวทัศน์สองข้างทางให้โล่งตลอด ก็เลยเห็นไปได้จนสุดขอบฟ้า  เว้นแต่ทางทิศตะวันตก  ไม่เห็นขอบฟ้าเพราะมีเทือกเขามหึมากั้นอยู่ ชื่อว่า Rocky Mountains 

ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน   prairie สวยมากเพราะเป็นสีเขียวสด มีดอกไม้ป่าเรียกว่า field flowers บานไสว  ไร่นาต่างๆผลิดอกออกผลกันสะพรั่ง      พอถึงฤดูใบไม้ร่วงหญ้าก็เริ่มแห้งเป็นสีน้ำตาล  พอฤดูหนาวเข้ามาก็จะเห็นหญ้าแห้งแล้งเช่นเดิมมีหิมะจับอยู่เป็นหย่อมๆ     หญ้าที่นี่ไม่สูงเป็นพงรกอย่างในประเทศไทย    มันเรียบติดพื้นดิน  มองไกลๆจึงเหมือนสนามกอล์ฟ
พื้น prairie บางแห่งไม่มีหญ้าเขียว  แต่เป็นพื้นดินแห้งๆมีวัชพืชชื่ออะไรไม่ทราบงอกเป็นกระจุกๆ ติดดิน   ดูแห้งแล้งมาก   แถมยังกว้างสุดลูกหูลูกตา   เห็นแล้วนึกสรรเสริญความทรหดอดทนของนักบุกเบิกที่นั่งเกวียนประทุนเดินทางผ่านมาทางนี้     ถ้าไม่เอาเสบียงมาด้วยเห็นทีจะอดตาย     เพราะพื้นดินมันไม่มีผักหญ้าให้ถอนขึ้นมากินได้เลย

พรรณนาเพลินไปหน่อย  นึกได้ว่ายกข้อความของคุณตั้งมาไว้ที่กระทู้นี้เพื่อจะบอกว่า ดิฉันไม่มีความรู้เกี่ยวกับหลังคาของบ้านในทุ่ง prairie  รู้แต่ว่าบ้านสมัยบุกเบิก ไม่มีหลังคากระเบื้อง   บ้านทุ่งมุงหลังคาทำด้วยแผ่นไม้กันค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 21:07

บ้านทุ่งหรือ prairie house  ไม่ค่อยจะเหลือให้เห็นแล้วค่ะในทุกวันนี้     อาจจะมีกระท่อมร้างอยู่กลางทุ่งที่ไหนสักแห่ง   เป็นกระท่อมสร้างหยาบๆรูปร่างเหมือนหีบสี่เหลี่ยมมีหลังคา    เรียกว่า shanty


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 21:10

ถ้าเป็นบ้านทุ่งเต็มรูปแบบ ก็หน้าตาอย่างนี้ค่ะ


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 21:38

ทุ่ง Prairie นี้ เป็นทุ่งหญ้าขนาดกว้างมหึมามาก แผ่ขยายข้ามเขตเข้าไปถึงในแคนาดาโน่น

ดั้งเดิมนั้น ใต้พื้นของทุ่งหญ้ามีความชุ่มชื้นมาก มากขนาดที่ในบางพื้นที่ (ในแคนาดา) ต้องขุดร่องเพื่อระบายน้ำออก จึงจะทำการเกษตรได้
นอกจากความสวยงามของดอกไม้ดังที่คุณเทาชมพูได้พรรณามา ยังมีต้นสตรอแบรี่ป่า เกิดอยู่ติดดินร่วมกับวัชพืชอื่นๆ มีลูกเล็กขนาดปลายนิ้วก้อย สีแดงเข้ม รสเข้มข้นและมีกลิ่นหอมมาก หากมีโอกาส ชอบพอหญิงใด จะบอกรักก็ลองเด็ดสตรอแบรีป่านี้หนึ่งผลส่งให้ หญิงที่รับรักก็จะถนอมเก็บดม หากไม่รู้หรือไม่รับรักก็จะทิ้งหรือกินเสียเลย

ในทุ่งนี้มีทั้งอากาศหนาวเย็นมากและอบอุ่นมากสลับกันไปในทุกๆปี เมื่อหิมะละลายจะมีน้ำทำให้ชุ่มชื้น วัชพืชซึ่งเป็นไม้ล้มลุกก็จะงอกเงยบานสะพรั่งออกดอก เมื่อฤดูหนาวมาเยือนมันก็จะเหี่ยวแห้งตายไปทับถมกันอยู่ พอฤดูใบไม้ผลิมาเยือนก็จะเริ่มวัฏจักรใหม่ เป็นเช่นนี้ชั่วนาตาปีนานมากๆ ชั้นที่มันตายสะสมกันก็จะหนามากขึ้นเรื่อยๆ ชั้นล่างๆที่ถูกทับถมด้วยน้ำหนักก็จะแปรสภาพไปเป็น Peat ซึ่งก็คือถ่านไม้อย่างหนึ่งก่อนที่จะแปรต่อไปเป็นถ่านหิน ความที่เป็นเศษวัชพืชทับถมกัน เนื้อจึงโปร่ง เหมือนกับดินขุยไผ่ที่เราเอามาทำปุ๋ยนั้นแหละ ทำให้มันอุ้มน้ำและความชื้นได้มาก

บ้านคนแต่เดิมในสมัยบุกเบิกและแม้กระทั่งกระต๊อบนาในปัจจุบัน เขาก็จะทำการเซาะตัดดิน Peat นี้ออกเป็นก้อนๆ เอามาตากแดดให้แห้งก่อนที่จะเอามาก่อซ้อนกันเป็นผนังบ้าน และวางเรียงทับซ้อนกันบนหลังคาเื่พื่อให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว เหมือนกับเราใส่เสื้อหลวมๆในหน้าหนาว เพราะอากาศในรูพรุนในเนื้อของเสื้อผ้า และอากาศในช่องว่างระหว่างตัวเรากับเสื้อหนาว จะเป็นฉนวนกันความหนาวเย็นได้อย่างดี บ้านที่ปิดด้วย Peat นี้ หน้าร้อนก็เย็นหน้าหนาวก็อุ่น จะเสียอยู่อย่างเดียวก็คือมีกลิ่น  สำหรับผมนั้น คิดว่ากลิ่นนี้ไม่จัดว่าอยู่ในกลุ่มของกลิ่นเหม็น ผมว่าหอมเหมือนกลิ่น mead ต่างกับกลิ่นของความสะอาดบริสุทธิ์ของทุ่งที่เขียวขจี ที่เรียกว่ากลิ่น Meadow (ฮืม)   ขนาดการอบร้อนเมล็ดพืชก่อนที่จะนำไปหมักทำเหล้าวิสกี้ชั้นดีของอังกฤษยังต้องใช้ความร้อนจาก peat เหล่านี้เลย เพื่อให้ได้กลิ่นเหล้าที่หอมหวลมากขึ้น    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 22:14

ไม่รู้จักทั้ง wild strawberries และ peat  เลยต้องไปถามครูเกิ้ลดู  ได้รูปมาอย่างข้างล่างนี้ค่ะ
สตรอเบอรี่ป่ามีลักษณะเป็นไม้เลื้อยคลุมดิน  ลูกเล็กๆสีแดงสด    ไม่เคยเห็นมาก่อน   รู้จักแต่สตรอเบอรี่ลูกโตสีแดงสดที่ขายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต  เหมือนที่เราปลูกกันทางเชียงใหม่
ส่วน peat ก็เพิ่งเห็นรูปนี่แหละค่ะ   ที่เรียกว่า peat bogs คงหมายถึงดินที่ทำเป็นแท่งเหมือนอิฐ เอามาสร้างบ้านละมังคะ 



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง