เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12
  พิมพ์  
อ่าน: 155665 แผ่นดินไหวและซึนามิ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 30 เม.ย. 12, 11:30

ดิฉันไม่ทราบว่าหลังแผ่นดินไหวเมื่อเกิดซึนามิครั้งก่อน     ราชการได้ตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารใหญ่น้อยบ้างหรือไม่    เอาในกรุงเทพก่อน     ใครเคยอ่านพบข่าวบ้างคะ
มีแต่กระทู้นี้  พูดถึงแผนที่เสี่ยงภัย
http://www.isranews.org/community-news/%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%8A%E0%B8%9B-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/21-scoop-news-documentary-analysis/6441-2012-04-24-11-15-18.html

“ภัยพิบัติมีความรุนแรง โดยเฉพาะแผ่นดินไหว ไทยจะรอให้เกิดเหตุการณ์แล้วมาตามแก้ไขทีหลังคงต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก” เป็นเสียงจากดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ประธานคณะอนุกรรมการสาขาผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลมหลังสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.)

เขาบอกว่าหลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยและแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีแผนการรับมือ เริ่มต้นด้วยการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยแผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม และต้องเป็นข้อมูลที่ลงรายละเอียดถึงระดับพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดลงไป ซึ่งหากเริ่มเก็บรวมรวมข้อมูลแต่ละด้านอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ และมีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ ก็อาจใช้เวลา 2 ปีที่ประเทศไทยจะมีแผนที่เสี่ยงภัย เพื่อนำไปใช้จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยรองรับทั้งด้านการวางผังเมืองและก่อสร้าง



บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 30 เม.ย. 12, 19:36

ดิฉันไม่ทราบว่าหลังแผ่นดินไหวเมื่อเกิดซึนามิครั้งก่อน     ราชการได้ตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารใหญ่น้อยบ้างหรือไม่    เอาในกรุงเทพก่อน     ใครเคยอ่านพบข่าวบ้างคะ.....
“ภัยพิบัติมีความรุนแรง โดยเฉพาะแผ่นดินไหว ไทยจะรอให้เกิดเหตุการณ์แล้วมาตามแก้ไขทีหลังคงต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก” เป็นเสียงจากดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ประธานคณะอนุกรรมการสาขาผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลมหลังสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.)
เขาบอกว่าหลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยและแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีแผนการรับมือ เริ่มต้นด้วยการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยแผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม และต้องเป็นข้อมูลที่ลงรายละเอียดถึงระดับพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดลงไป ซึ่งหากเริ่มเก็บรวมรวมข้อมูลแต่ละด้านอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ และมีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ ก็อาจใช้เวลา 2 ปีที่ประเทศไทยจะมีแผนที่เสี่ยงภัย เพื่อนำไปใช้จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยรองรับทั้งด้านการวางผังเมืองและก่อสร้าง

นี่แหละครับ การขาดความเข้าใจ สำนึกและละเลยในคำที่เรียกว่า Mitigation ของภาครัฐ
ที่เรียกกันว่าแผนที่เสี่ยงภัยนั้นมีการทำโดยกรมทรัพยากรธรณี ทั้งแผ่นดินไหว รอยเลื่อนมีพลัง และดินโคลนถล่ม มีเอกสารให้รายละเอียดของความเสี่ยงลงลึกไปถึงตำบลเลยทีเดียว น่าเสียดายที่มีการเผยแพร่น้อยมาก หรือไม่ได้รับงบประมาณสำหรับการพิมพ์แจกจ่ายไปให้กับทุก อบต. ดีไม่ดีต้องซื้ออีกด้วย

ดูดีนะครับ ให้ภาพกว้างๆสำหรับประชาชนได้รับรู้ว่าที่อยู่อาศัยของตนนั้นเสี่ยงในเรื่องอะไรบ้าง แต่....

แผนที่เหล่านี้ มิใช่แผนที่เสี่ยงภัย (Risk map) ทั้งในเชิงของตัวแผนที่เองและในเชิงของงานวิศวกรรม วิศวกรบอกว่าแผนที่ที่กรมทรัพยากรธรณีทำนี้ใช้ไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ต้องเป็นตัวเลขที่ใช้งานได้ในเชิงของการเอามาคำนวณ (แต่ตนเองไม่ทำเอง)
 
ยกตัวอย่าง   แผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของกรมทรัพยากรธรณ๊ที่คุณเทาชมพูเอามาแสดง
แผนที่นี้แสดงพื้นที่ๆมีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในระดับต่างๆ และคาดว่าด้วยความรุนแรงในระดับนั้นๆจะเกิดความเสียหายอะไรบ้าง  แต่ในทางวิศวกรรมนั้น วิศวกรต้องการค่าอัตราเร่งของพื้นดินเพื่อจะได้เอาไปคำนวณ Safety factor ที่เหมาะสมสำหรับสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ความต้องการนี้อยู่พื้นที่สีเทาว่าเป็นหน้าที่ของใคร วิศวกรมีความเข้าใจในเรื่องนี้ดีมากกว่านักธรณ๊แต่ก็ขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องของแผ่นดินไหว งานนี้จึงเป็นงานของความร่วมมือ จะว่าใครงี่เง่ากว่าใครไม่ได้ (ดังเช่นที่พวกเราถูกดูถูกกันอยู่ในปัจจุบัน)
การทำแผนที่ที่เรียกว่า Risk map สำหรับกรณ๊แผ่นดินไหวนั้น มันเริ่มต้นที่เรื่องของ the most Likely hood ว่า จุดกำเนิดของแผ่นดินไหวที่จะส่งผลกระทบให้เิกิดความเสียหายในลักษณะของหายนะต่อเรานั้นอยู่ที่ใดบ้าง ที่ใหนที่จะส่งผลรุนแรงที่สุด และพฤติกรรมของแผ่นดินไหวนั้นๆมั้นเป็นอย่างไร (ทิศทางการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน ลักษณะของแรงที่เกิดขึ้นและการส่งผล (Stress Strain ellipsoid)) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักธรณีฯรู้ดีกว่าวิศวกร     ความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวในอดีตและในประวัติศาสตร์ที่กระทบเรา ทำการประเมินความเสียหายในลักษณะของ Intensity scale บนฐานของโครงสร้าง สิ่งก่อสร้างและภูมิปัญญาของคนในสมัยนั้นๆที่เขาได้ปรับตัวให้อยู่รอดในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ Vulnerable นั้นๆ     แล้วแปลงจากเรื่อง Intensity ไปเป็นเรื่องของอัตราเร่งที่น่าจะส่งผลให้เกิดความเสียหายในระดับนั้นๆ  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำงานร่วมมือกันระหว่างนักธรณีฯกับวิศวกร และโดยการใช้ความรู้และข้อมูลของนัก...ที่เป็นผู้อ่านผู้แปลกราฟจากเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว (พฤติกรรมของคลื่นแผ่นดินไหวแถบนั้นๆ__Period, Amplitude)    ผลที่ได้ออกมา คือ อัตราเร่งของพื้นดินในบริเวณต่างๆ ซึ่งจะต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะทางและลักษณะพื้นดิน (หินแข็ง ที่ลุ่ม ที่ดอน แอ่ง ฯลฯ)  จากตรงนี้เมื่อเอาไปผนวกกับสิ่งก่อสร้างต่างๆที่สร้างมาต่างยุคต่างสมัยกัน ต่างข้อกำหนดทางวิศวกรรมกัน    เราจึงจะได้แผนที่แสดงพื้นที่เสียงภัยจากแผ่นดินไหวตัวจริงที่รัฐจะเอาไปใช้ในการทำงานในเรื่องของ Mitigation ที่เหมาะสมกับสภาพจริง ฝ่ายเมืองก็จะลงลึกลงไปถึงระดับว่าอาคารใดเสี่ยงต่อความหายนะมากน้อยเพียงใด เสี่ยงต่อความสูญเสียชีวิตมากน้อยเพียงใด ณ.ช่วงเวลาใด
 
(ของเรา Mitigation ซึ่งอยู่ในบริบทของ Prevention ถูกกำหนดให้มุ่้งไปในเรื่องของ Salvation ซึ่งอยู่ในบริบทของ Rescue)

เล่ามายืดยาวอีกแล้ว วิชาการมากไปหน่อย (แล้วก็ใช้ภาษาอังกฤษมากๆปหน่อย)  เพียงเพื่อให้รู้ว่า เรามักจะละเลยและปัดสวะหน้าที่ความรับผิดชอบ ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งเชิงนโยบายและงบประมาณสำหรับงานพื้นฐานอย่างจริงจัง งานในลักษณะนี้ไม่ส่งผลให้เกิด Output Outcome ในลักษณะของ KPI ที่วัดได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ประเมินกันเป็นประจำทุกๆปี

สำหรับกรณีที่คุณเทาชมพูสงสัยว่่ามีการไปตรวจสอบหลังเกิดเหตุการณ์ต่างๆหรือไม่นั้น    มีครับ    ทั้งในลักษณะ (กลัว) สิ่งที่ตนคำนวณและออกแบบนั้นถูกผิดอย่างไร และในลักษณะความรับผิดชอบในเชิงวิชาชีพ  แต่เห็นมีแต่รายงานที่เป็นข่าวตามสื่อว่า OK และก็ไม่เห็นว่ามีอะำไรที่ไม่ OK บ้างเลย      ในต่างประเทศบางประเทศเขาบังคับให้ต้องมีรายงานอย่างเป็นกิจลักษณะเผยแพร่ต่อสาธาณะเลยทีเดียวทั้งผู้รับผิดชอบที่ได้ลงนามกันไปและหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแล   


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 30 เม.ย. 12, 22:47

เราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าว่าแผ่นดินจะไหวขึ้นมาเมื่อใด    เมื่อมีรายงานออกมาว่าตึกใหญ่ๆในกรุงเทพ OK  แม้ไม่มีการแถลงรายละเอียดในสื่อ  หรือแถลงแล้วแต่สื่อไม่ได้ลงรายละเอียด   ก็ต้องทำใจดีสู้เสือไว้ก่อนว่าไหว 7-8 ริกเตอร์ก็ยังไม่ถล่ม   

มี Mitigation ของภาครัฐและเอกชนที่จะร่วมมือกันได้อีกอย่างหนึ่ง   โดยไม่ต้องรบกวนกรมธรณีวิทยาและวิศวกรรมสถานฯ ให้เหน็ดเหนื่อย   คือขอให้เข้มงวดกวดขันการให้ข่าวและกระพือข่าวไร้สาระทั้งหลาย     อย่างน้อยสืบหาตัวการให้ได้  แล้วลงโทษให้ดูเป็นเยี่ยงอย่างเสียบ้าง   
ล่าสุดนี้ก็มีหมอเดาคนหนึ่งออกมาฟันธงอะไรทำนองนี้อีกแล้ว   แต่จะไม่ขยายรายละเอียดละค่ะ เดี๋ยวจะกลายเป็นประชาสัมพันธ์ให้แกไป   ในเมื่อเจ้าตัวเปิดเผยหน้าตาออกชัดเจน ก็น่าจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวมารับฟังข้อหาบ้าง  จะได้เลิกเอาอย่างกันเสียที
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 01 พ.ค. 12, 19:32

ู^
ใช่เลยครับ นั่นก็เป็นอีกหนึ่งทาง

ใกล้จบแล้วครับ

มาต่อด้วยเรื่องของตัวเราเอง แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้รอดพ้นจากอันตรายแก่ชีวิต

คำแนะนำที่เขาว่ากัน คือ
    หนีให้พ้นออกมาจากอาคารต่างๆ    ถามจริงๆเถอะ ณ.ขณะที่มันไหวนั้น จะวิ่งหนีได้หรือ ฮืม ส่วนมากมักจะถูกมนต์สะกดให้ยืนนิ่งอยู่กับที่สักพักหนึ่งก่อนที่จะได้สติวิ่งหนี แท้จริงแล้วแผ่นดินไหวขนาดที่รุนแรงพอจะทำให้อาคารพังนั้น เราแทบจะยืนอยู่ไม่ได้ มันจะเป็นสัญชาติญาณโดยอัตโนมัติของร่างกายเราทำให้เราต้องย่อเข่าย่อตัวลงและคลาน ดังนั้นการที่หวังว่าจะวิ่งหนีออกมาจากอาคารนั้นจึงทำได้เมื่อการไหวมันหยุดแล้ว ยกเว้นเฉพาะกรณีที่ำได้รับการฝึกมาหรือถูกฝังความคิดไว้ในสมอง
    มุดใต้โต๊ะเพื่อมิให้เศษวัสดุต่างๆตกลงมาใส่หัว เรื่องนี้หากไม่ได้รับการฝึกและฝังใจให้เป็นอัตโนมัติ ก็มักจะทำได้เพียงนั่งยองๆใช้มือเกาะขอบโต๊ะ
    ยังมีเรื่องอื่นๆอีก คือ รีบไปที่ประตูแล้วเปิดประตู เพราะเมื่อโครงสร้างบิดเบี้ยว ประตูก็จะเปิดไม่ได้ ปิดทางออกทางหนีของเรา ซึ่งเป็นเหตุบังเอิญที่ประตูมักจะอยู่ใกล้บริเวณที่เป็นเสาและคาน จึงให้ไปอยู่ที่บริเวณนี้ เมื่ออาคารพังลงมา คานและเสาจะหักล้มลงมาเป็นโครงสร้างสามเหลี่ยม กลายเป็นโพรงกั้นมิให้มีอะไรมาทับเรา หากกำลังทำครัวอยู่ให้รีบปิดแก๊สเตาในทันทีเพื่อไม่ให้เกิดเพลิงใหม้ (เพลิงใหม้เป็นสาเหตุตามมาที่ทำให้เกิดความหายนะต่อเนื่อง)
   ทำอะไรได้อีกครับ    เตรียมหมวกกันน็อคจำนวนเท่ากับสมาชิกในครอบครัว เตรียมไฟฉาย น้ำขวด ของกินเล่น (Snack bar) เตรียมรองเท้าแตะ โทรศัพท์ ฯลฯ เก็บวางในที่ๆหยิบง่ายและในบริเวณห้องที่มักจะใช้กันเป็นประจำ 
   หลักการคือ หากไม่ตายไม่บาดเจ็บมาก จะต้องสามารถประคองให้ตนเองมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 48 ชม. อย่างน้อยที่สุดก็ต้อง 24 ชม. และจะต้องคิดอยู่ในใจเป็นการเตรียมพร้อมเสมอว่าหากมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเราจะต้องปฏิบัติอย่างไร เป็นการสอนการฝึกสมองของตัวเองให้สร้างเป็นจิตสำนึกที่จะปฏิบัติตนได้อย่างเป็นอัตโนมัติ

ในเรื่องอื่นๆ คือ พยายามไม่วางอะไรไว้บนหลังตู้ เพราะมันจะตกลงมาใส่เรา   พยายามตั้งตู้ชิดฝาผนังโดยมีอุปกรณ์ยึดมิให้มันล้มลงมา   พยายามจัดบ้านให้เป็นระเบียบไม่รกรุงรังกีดขวางทางเดิน   ใช้โทรศัพท์สื่อสารเท่าที่จำเป็น การใช้นานเกินควรเป็นการปิดโอกาสสำหรับความอยู่รอดของบุคคลอื่น (เนื่องจากคู่สายจะเต็ม) พยายามไปอยู่ในที่โล่งแจ้งหรือไปยังจุดรวมพลให้ได้ (การรอดชีวิตหรือการกู้ชีวิตจะไม่มีความหมายใดๆหากไม่สามารถทำให้มีชีวิตยืดยาวอยู่ได้) เหล่านี้เป็นต้น

ที่ประสบพบกันมานั้น แผ่นดินไหวครั้งแรกมิได้ทำให้เกิดความหายนะและบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก หากแต่เป็น After shock ต่างหากที่ซ้ำเติมและสร้างให้เกิดความหายนะอย่างแท้จริง มันไปซ้ำเติมทำให้ความแข็งแรงของสรรพวัตถุต่างๆที่ลดลงไปแล้วจากครั้งแรกกลายเป็นไม่มีความแข็งแรงหลงเหลืออยู่เลย หายนะที่แท้จริงจึงเกิดขึ้น   

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 01 พ.ค. 12, 20:49

อยากจะปิดท้ายด้วยความหมายและลักษณะของการกระทำต่างๆ

ในกระบวนวิธีการลดความความเสียหายและความหายนะจากภัยพิบัติต่างๆ อาจจะมีชื่อเรียกต่างๆกันไป เช่น Emergency management (ใช้กันทั่วๆไป)  Crisis management (นิยมใช้กันในยุโรป) และ Disaster risk reduction measures (ใช้ในวงวิชาการ)  แต่กระบวนการกระทำทั้งหมดนี้ประกอบไปด้วยมาตรการ 4 ประการ คือ Mitigation measures, Preparedness หรือ Readiness measures, Response measures และ Salvage, relief และ remedy measures     

Mitigation measures  =  การลดระดับความรุนแรงของความหายนะ ซึ่งกระทำได้หลากหลายวิธีการ ทั้งกับสิ่งก่อสร้างและกับวิถีชีวิตการดำรงค์ชีพของคน ไป
            จนถึงการเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์
Preparedness หรือ Readiness measures  =  การเตรียมความพร้อมในด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ สถานที่และบุคลากร ที่จะรองรับสถานการณ์รูปแบบต่างๆที่
            จะเกิดขึ้น
Response measures  =  ความพร้อมในการเข้าสู่สถานการณ์และความรวดเร็วของหน่วยงานต่างๆที่จะเข้าดำเนินการในทันทีอย่างมีการบูรณาการ
Salvage, relief & remedy measures  =  ความพร้อมในการช่วยเหลือ     เิริ่มด้วยการกู้ชีวิต (Rescue) การช่วยให้สามารถดำรงค์ชีวิตอยู่ได้ในช่วงวิกฤติ (Relief) การกู้ซากและกำจัดความเสียหาย (Salvation) และการเยียวยา (Remedies)

ลองนึกดูเองนะครับว่า ทั้งภาครัฐและตัวเราเอง มีความพร้อมในเรื่องทั้งสี่นี้มากน้อยเพียงใด ลองย้อนคิดดูถึงสภาพเมื่อคราวเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมาก็ได้ครับ

ว่าจะขอออกจากกระทู้นี้เพียงเท่านี้ นึกขึ้นมาได้ว่ายังขาดเรื่องของซึนามิ เอาไว้ต่อวันพรุ่งนี้นะครับ

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 02 พ.ค. 12, 19:00

ถ้าเอาความพร้อมสมัยน้ำท่วมเป็นหลัก.    ก็สงสัยว่าประชาชนเห็นจะต้องเตรียมความพร้อมกันเองละค่ะ.    จะมัวรอภาครัฐ.  อาจจะไม่ทันการในหลายด้าน
มารอฟังเรื่องซึนามิค่ะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 02 พ.ค. 12, 19:54

ซึนามิ เป็นหนึ่งในศัพท์คำแรกๆที่ผมได้้รู้จักเมื่อแรกเรียนวิชาธรณีฯ แล้วอาจารย์ก็อธิบายว่ามันเกิดมาจากแผ่นดินไหวและ Landslide เป็นคลื่นที่มีความเร็วในการเคลื่อนที่มาก คือประมาณ 500 ไมล์หรือ 800 กม.ต่อชั่วโมง มันสามารถเคลื่อนที่ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกได้ในเวลาไม่เกิน 12 ชม. เมื่อไปเที่ยวชายทะเลก็ให้ระวังและคอยสังเกตระดับน้ำทะเล เมื่อใดที่อยู่ดีๆน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ให้วิ่งหนีขึ้นที่สูงที่สุดเท่าที่จะไปได้ในทันที   คู่กับเรื่องนี้ คือ เมื่อไปเล่นน้ำทะเลก็ให้ระวัง Rip current ด้วย เมื่อใดที่รู้สึกว่าลอยออกจากฝั่งไปเรื่อย ก็อย่าได้ว่ายน้ำสวนกลับเข้าฝั่ง แต่ให้ว่ายออกไปด้านข้างขนานกับฝั่ง แล้วจึงค่อยๆพยุงตัวลอยเข้าฝั่ง

Tsunami เป็นภาษาญี่ปุ่นซึ่งแปลตรงตัวว่าคลื่นในอ่าว คงจะเป็นเพราะว่าเิกิดเป็นประจำตามชายฝั่งทะเลด้านมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น จึงเป็นชื่อที่รู้จักกันดี ลักษณะสำคัญคือน้ำในอ่าวเอ่อสูงขึ้นมากว่าระดับน้ำขึ้นน้ำลงอย่างผิดปรกติในช่วงคาบเวลาสั้นๆ เมื่อทราบว่ามันเป็นผลพวงมาจากการเกิดแผ่นดินไหว ในปัจจุบันจึงมีการวัดระดับและทราบว่า มีตั้งแต่ระดับ 5 ซม.ขึ้นไปจนเป็น 10 เมตรขึ้นไป ด้วยความที่ญี่ปุ่นอยู่กับแผ่นดินไหวและซึนามิมาตลอด จึงมีการศึกษามากจนสามารถจะคาดได้ว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่ใดจะเกิดซึนามิไปกระทบตามแนวชายฝั่งที่ใดบ้าง และยังสามารถคาดได้ว่าจะสูงในระดับใดอีกด้วย    ญี่ปุ่นคาดว่าซึนามิสูงสุดที่น่าจะกระทบตลอดแนวชายฝั่งน่าจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 5 เมตร จึงมีการสร้างกำแพงในระดับ 5 เมตรเพื่อป้องกันผู้คนตามเมืองต่างๆตลอดแนวชายฝั่ง แต่ขนาดรู้ขนาดนี้แล้วยังพลาดไปเจอเอาขนาดมากกว่า 10 เมตรเข้า ถึงได้เกิดความหายนะอย่างใหญ่หลวง

ในทางวิชาการแต่ก่อนนั้นเรียกคลื่นซึนามิว่า Tidal wave เนื่องจากมีลักษณะที่เกิดเหมือนกับน้ำขึ้นน้ำลง เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่าเท่านั้น ปัจจุบันนี้เลิกใช้คำนี้ไปแล้ว  และแต่ก่อนอีกเช่นกันก็พบว่าเป็นผลจากแผ่นดินไหวในท้องมหาสมุทรเท่านั้น

เมื่อได้มีการพบว่าแผ่นเปลือกโลกมีการเคลื่อนที่ มีการมุดกันเกยกัน เคลื่อนที่เสียดสีกัน และการเคลื่อนที่นี้มีความสัมพันธ์อย่างสนิทแน่นกับจุดหรือแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว การเกิดภูเขาไฟตามชายฝั่งทะเล เกิดเกาะภูเขาไฟเช่นญี่ปุ่น ฯลฯ ในยุคหลังจากประมาณ พ.ศ. 2515 จึงได้เริ่มมีความกระจ่างว่าซึนามิเกิดได้อย่างไรแต่ก็ยังไม่ชัดเจนนัก นอกจากนั้นยังพบว่า คลื่นซึนามินี้ไม่จำเป็นต้องเกิดเนื่องมาจากแผ่นเปลือกโลกมุดกันเกยกัน สะดุดแล้วก็หลุดเลื่อนต่อไปจนเกิดเป็นแผ่นดินไหวแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากตะกอนดินทรายที่กองอยู่ริมชายขอบบริเวณพื้นที่ใหล่ทวีปไหลร่วงลงไปตามลาดชันลงสู่ท้องทะเลลึกที่เป็นร่อง trench อีกด้วย เหมือนกับดินโคลนถล่มบนบกแต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก นอกจากนั้นก็ยังเกิดจาก landslide ขนาดใหญ่มากๆที่บริเวณของของมหาสมุทรได้อีกด้วย เช่น กรณีการเกิดที่อลาสก้า เมื่อปี พ.ศ. 2501 ซึ่งทำให้เกิดการยกระดับน้ำสูงขึ้นไปกว่า 500 เมตร ไปกวาดป่าไม้ในระดับนั้นให้ราบเรียบ

ในปัจจุบัน เป็นที่ยืนยันแล้วว่า การมุดกันเกยกันของแผ่นเปลือกโลกที่หลุดจาการสะดุดจนเกิดการดีดกลับ เป็นสาเหตุหลักและเป็นกระบวนวิธีการทำให้เกิดความต่างระดับของมวลน้ำในมหาสมุทรในบริเวณนั้นในทันที ทำให้เิกิดเป็นคลื่นซึนามิขนาดต่างๆกันขึ้นอยู่กับระดับความต่างของระยะที่ดีดกลับ

 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 02 พ.ค. 12, 20:15

Tsunami เป็นภาษาญี่ปุ่นซึ่งแปลตรงตัวว่าคลื่นในอ่าว  

tsu ทสึ = ท่าเรือ   nami นามิ = คลื่น  津波 จึงแปลตามตัวอักษรว่า "คลื่นท่าเรือ"

ด้วยความที่ญี่ปุ่นอยู่กับแผ่นดินไหวและซึนามิมาตลอด จึงมีการศึกษามากจนสามารถจะคาดได้ว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่ใดจะเกิดซึนามิไปกระทบตามแนวชายฝั่งที่ใดบ้าง และยังสามารถคาดได้ว่าจะสูงในระดับใดอีกด้วย    ญี่ปุ่นคาดว่าซึนามิสูงสุดที่น่าจะกระทบตลอดแนวชายฝั่งน่าจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 5 เมตร จึงมีการสร้างกำแพงในระดับ 5 เมตรเพื่อป้องกันผู้คนตามเมืองต่างๆตลอดแนวชายฝั่ง แต่ขนาดรู้ขนาดนี้แล้วยังพลาดไปเจอเอาขนาดมากกว่า 10 เมตรเข้า ถึงได้เกิดความหายนะอย่างใหญ่หลวง



เมือง 田老町 Taro สร้างกำแพงสูงถึง ๑๐ เมตร เจอสึนามิครั้งล่าสุดสูงกว่า ๑๔ เมตรขึ้นไป จึงไม่รอดพ้นจากความหายนะไปได้

 เศร้า ร้องไห้ ร้องไห้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 02 พ.ค. 12, 21:06

คลื่นซึนามิเป็นคลื่นที่มีช่วงคลื่นยาว ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในทะเลเปิด เป็นคลื่นที่แตกต่างไปจากคลื่นทะเลซึ่งเกิดจากลม เรือที่อยู่ห่างจากฝั่งพอสมควรจึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากคลื่นซึนามิ
พอจะเปรียบเทียบได้เหมือนกับคนลอยคออยู่ในทะเลและกำลังเข้าฝั่ง เห็นแต่หัว เมื่อถึงบริเวณน้ำตื้นเท้่าหยั่งถึงเขาก็จะเิริ่มเดิน ยิ่งน้ำตื้นเพียงใดเราก็จะยิ่งเห็นความสูงและความใหญ่โตของตัวเขา จนถึงชายหาดจริงๆจึงจะรู้ว่าเขาสูงใหญ่เพียงใด กำลังทุบตีของเขาจะมีมากน้อยเพียงใด

การหนีรอดจากคลื่นซึนามิบนชายฝั่งมีอยู่ทางเดียว คือ หนีขึ้นที่สูง อย่าลืมนะครับ เมื่อใดอยู่ดีๆระดับน้ำชายหาดลงอย่างรวดเร็ว จะต้องวิ่งขึ้นที่สูงอย่างเดียวครับ

แต่เดิมนั้นมีแต่ระบบเตือนภัยสำหรับคลื่นซึนามิที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่หลังจากที่เิกิดในมหาสมุทรอินเดียแล้ว ในปัจจุบันก็มีอุปกรณ์ทุ่นลอยอยู่ในท้องทะเลช่วยจับคลื่นตัวนี้แล้วก็จะส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังศูนย์บนบก ไม่ทราบว่ามีงบประมาณเพื่อการบำรุงรักษาถึงหรือไม่ และมนุษย์นี้ก็ช่าง จ... จริงๆนะครับ ทราบมาว่าทุ่นเสียหายแล้วก็มี หายไปก็อาจจะเกิดขึ้นได้ต่อไป  อนึ่ง ก็คงได้ทราบข่าวคราวทางสื่อต่างๆกันนะครับว่าระบบเตือนภัยของเราทำงานบ้าง ไม่ทำงานบ้าง ทำงานไม่เต็มที่บ้าง  

สำหรับผม คิดว่าการซ้อมนานปีทีหนนั้นไม่ค่อยได้ผลอะไรมากนักกับประชาชน แต่จะเป็นประโยชน์กับภาคราชการที่เกี่ยวข้องในเรื่องของความรวดเร็วในการประสานงานและทดสอบระบบ   ผมคิดว่าทำอย่างไรถึงจะฝังวิธีการหนีภัยนี้เข้าไปในจิตใต้สำนึกของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ vulnerable (ไม่ทราบว่าจะใช้ภาษาไทยคำใหนที่เหมาะสม) เหล่านั้นอาจจะดีกว่า   ผมว่ายังอีกนานครับสำหรับเรื่อง mitigation ของเรา  ตราบใดที่ยังคิดกันว่า สิทธิเป็นของผม หน้าที่เป็นของคุณ ผู้รับผิดชอบ ฮืม ผลที่จะตามมาก็ตัวใครตัวมันรับผิดชอบกันเอง

ก่อนจะลงจากเรื่องนี้
เรื่อง Storm surge ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดระดับน้ำทะเลขึ้นสูงกว่าปรกติ สาเหตุก็เพราะในบริเวณที่มีลมพายุนั้นจะเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ ดังนั้นน้ำทะเลก็จะยกระดับสูงขึ้น ระดับน้ำอาจจะสูงพ้นบริเวณชายหาดเข้ามาในแผ่นดินเป็นบางบริเวณก็ได้ โดยเฉพาะในบริเวณที่ใจกลางของพายุพาดผ่าน ผมคิดว่ามีหลายบริเวณตลอดชายฝั่งของไทยที่เกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้วยกระบวนการนี้ เพียงแต่มีความรุนแรงในระดับต่ำมากและก็ไม่ได้มีการพูดถึงกัน      
  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 02 พ.ค. 12, 21:33

ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูครับที่ช่ายแก้ไขให้ถูกต้อง

กำแพงกันซึนามินั้น เท่าที่เคยไปดูและได้รับฟังคำบรรยาย (ตามเมืองชายฝั่งใต้โตเกียวลงไป จนแถบนางาซากิ) เขาว่าอย่างนั้นครับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเมืองนั้นๆด้วยว่าเขาตัดสินใจจะทำสูงเพียงไร บางเมืองสูง 2-3 เมตรก็มี ซึ่งขึ้นอยู่ที่ระดับของพื้นผิวฐานที่จะวางกำแพงด้วย

แยกเข้าซอยไปหน่อยครับ
อนึ่ง ความสูงของยอดคลื่นที่ซัดเข้าชายหาดต่างๆนั้น ขึ้นอยู่กับมุมลาดเอียง (slope) ของชายทะเลด้วย หากมีมุมเอียงเทน้อย ชายหาดจะกว้าง คลื่นจะแตกตัวที่ระยะไกลจากฝั่ง แต่หากมีมุมเอียงเทสูง หาดจะแคบ คลื่นจะยกตัวได้สูงมาก ทำให้เห็นคลื่นลูกใหญ่ๆ   ด้วยลักษณะของหาดด้านทะเลเปิดที่คนไปเล่นน้ำตามชายหาดไม่ทราบ จึงทำให้มีข่าวบ่อยๆว่าถูกคลื่นยักษ์กวาดจมทะเลไป  ซึ่งแท้จริงแล้วคลื่นในทะเลเปิดนั้นมีคลื่นหลายความยาวคลื่นขี่กันมา บางจังหวะเวลาจึงมีคลื่นใหญ่ได้ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 07 พ.ค. 12, 10:52

เพิ่งหมดข่าวซีนามิไปหมาดๆ  คนไทยก็หันมากังวลกับภัยแล้ง  และน้ำหลาก ในเวลาเดียวกัน
ให้ได้อย่างนี้ซี ประเทศไทย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 11 พ.ค. 12, 17:52

คุณประกอบยืนยันนั่งยันว่าโลกไม่แตกในปีนี้  บัดนี้ข่าวเอพี ก็มายืนยันว่าคุณประกอบพูดถูกแล้วค่ะ
 ยิ้ม
ฮือฮา! พบปฏิทินมายาใหม่ ระบุเวลาเกินปี 2012    

สำนักข่าวเอพี รายงานเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมว่า นักโบราณคดีพบปฏิทินมายาชิ้นใหม่ ระบุวันเวลายาวไกลจากปี 2012 ไปหลายพันปี การันตีโลกไม่แตกตามความเชื่อของชาวตะวันตก

         รายงานระบุว่า ทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยบอสตันและมหาวิทยาลัยคอลเกตในสหรัฐฯ ได้ค้นพบห้องขนาดเล็ก ภายใต้ซากปรักหักพังของแหล่งโบราณสถานชุลตูน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัวเตมาลา โดยภายในห้องนั้น พบว่ามีปฏิทินมายาถูกจารึกอยู่บนฝาผนังห้อง มันมีอายุประมาณ 1,200 ปี ซึ่งปฏิทินที่ค้นพบชิ้นใหม่นี้ เป็นปฏิทินดาราศาสตร์ที่ชนเผ่ามายันระบุวันเวลานับจากวันที่บันทึกออกไปไกลกว่า 6,700 ปีข้างหน้า และนั่นแสดงให้เห็นว่า ณ ปัจจุบันนี้ วันเวลาที่นับจากวันที่จารึกปฎิทินดังกล่าว ได้ล่วงเลยมาเพียง 1,200 ปีเท่านั้น (คำนวณตามอายุของปฏิทิน ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย) ดังนั้น หากจะมีวันสิ้นโลกตามความเชื่อของใครหลายคนจริง ๆ มันก็คงจะเกิดขึ้นในอีกเกือบ 6,000 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว ซึ่งนับว่าโลกยังคงอยู่อีกยาวนานนัก

         นอกจากนี้ ภายในห้องเล็กดังกล่าว ยังมีการบันทึกเกี่ยวกับการคำนวณคาบดิถี (คาบซินอดิก) ของดาวศุกร์ว่าอยู่ที่ 584 วัน ส่วนคาบดิถีของดาวอังคารนั้นอยู่ที่ 780 วัน พร้อมกับปรากฎการณ์บนดวงจันทร์ต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลที่ชาวมายันบันทึกไว้นั้น เป็นข้อมูลที่ตรงกับการคำนวณโดยนักดาราศาสตร์ปัจจุบันอย่างไม่น่าเชื่อ

         และที่น่าสนใจที่สุด คือ จากการตีความของผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิทินมายา พบว่า ชนเผ่ามายันไม่ได้ระบุว่าโลกจะถึงจุดจบในปี 2012 แต่อย่างใด

         ทั้งนี้ การค้นพบดังกล่าว สอดคล้องกับข้อมูลของศาสตราจารย์เลออนโซ แบร์เรโน ผู้เชี่ยวชาญด้านชนเผ่าและภาษามายันแห่งมหาวิทยาลัยเรจินา แคนาดา ที่ได้ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ปฎิทินมายาของชาวมายันนั้นถูกตีความผิดมาโดยตลอด เขาเรียนการอ่านปฏิทินมายามาจากคนเฒ่าคนแก่ชาวมายันแท้ ๆ แต่ไม่มีชาวมายันคนไหนพูดถึงวันสิ้นโลกเลยสักคน พร้อมกับได้ให้ข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้มีสารคดี บทความเกี่ยวกับวันสิ้นโลกตามคำทำนายของชาวมายันออกมาให้เห็นมากมาย แต่กลับไม่มีสื่อไหนเคยไปสัมภาษณ์กับชาวมายันแท้ ๆ เพื่อไขข้อข้องใจเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย

         สำหรับแหล่งโบราณสถานชุลตูนที่นักโบราณคดีได้ไปค้นพบปฏิทินมายาชิ้นใหม่นี้ เป็นพื้นที่ในป่าฝนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมายันนับหมื่น ๆ คน ถูกค้นพบเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน และก็ได้รับความสนใจจากนักโบราณคดีมานับตั้งแต่นั้น

****************

พอพ้นปี 2012  ก็คงมีการพบปฏิทินชาวเผ่าอะไรเข้าสักเผ่าที่บอกว่าโลกจะแตกในปีต่อๆไป    ตามเคย
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 11 พ.ค. 12, 21:54

มายาบอกว่ายังไม่แตก หมอดู E.T. ก็ยืนยันว่าปี 2012 นี่ไม่มีอะไรในเรื่องจริงผ่านจอ

แต่ปี 2013 หมอดู E.T. บอกจะมีแผ่นดินไหวใหญ่ ตึกรามถล่ม   ไม่ทราบว่าอาจารย์เทาชมพูเตรียมการอพยพหนีภัยไปอีสานหรือภาคเหนือไว้รึยังครับ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 12 พ.ค. 12, 09:06

ยังค่ะ  คุณประกอบ  อพยพไม่ได้อยู่ดี
เพราะปี 2014  หมอดูอีกคนมาดักไว้แล้วว่า ภาคเหนือจะเกิดแผ่นดินไหว  ภูเขาถล่ม  ภาคอีสานเกิดน้ำท่วมบวกกับภัยแล้งอย่างหนัก  ภาคกลางเขื่อนแตก   ภาคใต้เกิดซึนามิทั้งอันดามันและอ่าวไทย
เห็นจะต้องปักหลักอยู่ในเรือนไทยต่อไปตามเดิม   น่าจะปลอดภัยที่สุด


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 13 พ.ค. 12, 20:20

กลับมาจากต่างจังหวัดแล้วครับ
ได้หลับนอนอย่างสดชื่นมีความสุขกับอากาศเย็นๆ อุณหภูมิทุกเช้ายังไม่ถึง 20 องศาเลยครับ แถมมีฝนตกต่อเนื่อง 48 ชั่วโมงอีกต่างหาก อิจฉาใหมครับ  ยิ้มเท่ห์

อ่านเรื่องราวที่คุณเทาชมพูและคุณประกอบนำมาลงแล้ว ทำให้ย้อนนึกถึงเรื่องของโหราศาสตร์สมัยใหม่ที่เรียกว่า Relocation astrology ซึ่งผมเข้าว่ามีพัฒนาการมาจากโหราศาสตร์แบบยูเรเนียน (Uranian astrology) และแบบมิดพ๊อยต์ (Midpoint astrology) กล่าวคือ มีนักโหราศาสตร์คนหนึ่งได้พัฒนาวิธีการทำนายโดยการนำแนวเส้นทางการโคจรของดวงดาวต่างๆที่พาดผ่านจุดต่างๆบนผิวโลกเอามาทับซ้อนบนแผนที่ภูมิศาสตร์ (เรียกว่า Astrocartography map) ซึ่งได้พบว่าบริเวณที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆในอดีต (ที่เลวร้าย) ในประเทศหรือในทวีปต่างๆนั้น เป็นบริเวณพื้นที่ที่อยู่ในแนวของดาวที่ให้อิทธิพลในทางร้ายพาดผ่านในขณะหรือช่วงเวลานั้นๆ (เช่น ดาวเนปจูน และพลูโต)  ซึ่งได้มีพัฒนาการต่อมาจนในปัจจุบันนี้ได้ใช้หลักการนี้เพื่อจะบอกบอกว่าด้วยพื้นดวงของเรานั้น เราจะไปทำอะไรที่ใหนจึงจะถูกโฉลก ไปกันไกลมากจนถึงการดูว่าจะไปเที่ยวพักผ่อนที่ใดจึงจะดี

เล่ามาให้ฟังเท่านั้นแหละครับ ว่าหลักวิธีที่ใช้ในการพยากรณ์ของโหรนั้นมีมากมายหลายแบบ บางคนก็ดูจากดาวปรกติที่โหราศาสตร์ใช้กันทั่วไป บางคนก็ไปไกลใช้จุดหรือวัตถุที่เป็น Trans-neptunian objects   ที่ผมเล่ามาก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง และก็คงมีอีกหลายๆวิธี นอกจากนั้นแล้วก็ยังขึ้นอยู่กับการตีความตามแต่จะคิดในทางบวกหรือทางลบ เช่น ดาวเสาร์ ซึ่งความหมายส่วนหนึ่งหมายถึงการพลัดพราก น่าจะเป็นเรื่องทุกข์ แต่ในความเป็นจริงหากพลัดพรากไปเรียนต่อในต่างประเทศก็เป็นเรื่องของความสุขมิใช่หรือ

ก็ว่ากันไปนะครับ ลองวิชากันว่าผู้ใดจะมีภูมิปัญญาตีความหมายของดวงดาวและการทำมุมกันของดวงดาว ของเรือน ได้ถูกต้องกว่ากันได้แม่นยำกว่ากัน
 



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 20 คำสั่ง