เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 155501 แผ่นดินไหวและซึนามิ
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 16 เม.ย. 12, 20:10

ประการที่สี่ แผ่นดินไหวกับความเสียหาย
  เรามักจะไปติดกับขนาดของแผ่นดินไหวที่วัดและประกาศออกมาเป็นริกเตอร์ มันเป็นเพียงสิ่งที่บอกถึงพลังงานที่ปล่อยมา ณ.จุดกำเนิดว่ามากน้อยในระดับใด หากเป็นขนาดใหญ่แต่จุดกำเนิดอยู่ลึก (เป็นหลักร้อยกิโลขึ้นไป)ก็มีผลต่อความเสียหายบนผิวโลกน้อยมาก แต่หากเป็นขนาดใหญ่ (ระดับ 7, 8 ขึ้นไป) ซึ่งมีจุดกำเนิดอยู่ลึกระดับปานกลาง (เป็นหลักหลายสิบกิโลเมตร) ก็อาจจะสร้างความเสียหายได้มาก ทั้งนี้ ก็ยังขึ้นอยู่กับระยะทางและลักษณะของพื้นดินอีกด้วย  หากเิกิดขนาดไม่ใหญ่นัก (ระดับ 5, 6) แต่อยู่ระดับตื้น (ไม่เกิน 30 กิโลเมตรขึ้นไป) อันนี้สร้างความเสียหายแทบจะทุกครั้ง มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มันไหวและโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ
   รูปทรงของคลื่นของแผ่นดินไหวที่วิ่งผ่านพื้นดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นตัวบ่งบอกว่าสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายจะพังทลายด้วยลักษณะใด
   เปรียบเทียบง่ายๆครับ  เอากะละมังใส่น้ำ แล้วเอาก้อนหินมาปล่อยให้หล่นที่กลางกะละมัง เราจะเห็นระลอกคลื่นกระจายออกจากจุดที่หินตก และจะเห็นว่าที่บริเวณใกล้จุดตกยอดคลื่นจะสูงและจะถี่ เมื่อห่างออกไปยอดคลื่นจะต่ำลงและระยะห่างของระลอกคลื่นจะกว้างมากขึ้น  เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นก็จะเกิดคลื่นในทำนองนี้ หากเอาสิ่งปลูกสร้างมาวางครอบลงไปก็จะเห็นว่า ที่บริเวณใกล้จุดศูนย์กลางจะลอยขึ้นลงในแนวดิ่งเป็นหลัก แต่ห่างออกไปก็จะโยกไปเอนมาเป็นหลัก
การพังของสิ่งปลูกสร้างที่ใกล้ศูนย์กลางจึงเป็นลักษณะที่เรียกว่าเสาระเบิด อาคารจะยุบมากองทับกันเป็นชั้นๆเหมือนขนมชั้น สิ่งปลูกสร้างที่อยู่ไกลจากศูนย์กลางก็พังในลักษณะของการล้มตะแคง อันนี้เป็นการอธิบายในภาพง่ายๆ ซึ่งแท้จริงแล้วมันยังผนวกไปด้วยปัจจัยอื่นๆอีกมาก เช่น ลักษณะความแข็งแรงและความหนาแน่นของพื้นแผ่นดินที่รองรับ โครงสร้างของอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ฯลฯ
   วิธีพังทลายของสิ่งปลูกสร้างก็อาจจะเทียบได้ในลักษณะนี้ เหมือนกับอยู่ดีๆมีคนมาต่อยที่หน้า จะชกตรงหรือเสยคางก็ได้ (คลื่นปฐมภูมิวิ่งเร็วกว่า มาถึงก่อน มาปะทะ) จากนั้นก็ถูกผลักให้ล้มลง (คลื่นทุติยะภูมิความเร็วน้อยกว่า วิ่งตามมา มาโยก) แล้วก็ถูกเตะตัดขาซ้ำเติมให้ทรุดลงไปกอง (คลื่นเรเล่ย์และคลื่นเลิฟที่ตามมา) ดังนั้น คนที่ตัวเล็กหรือตัวใหญ่ต่างกัน (ขนาดของริกเตอร์) ยืนชกเราในระยะใกล้หรือห่างต่างกัน (ระยะทาง) มีความคล่องตัวและว่องไวต่างกัน (ความถี่และความสูงของคลื่น) จะทำให้เราซึ่งมีน้ำหนักมาก มีขาและร่างกายแข็งแรง หรือเราซึ่งมีน้ำหนักน้อย เหี่ยวแห้ง เจ็บตัวบอบช้ำได้ต่างกัน  
   ลักษณะต่างๆที่เล่ามา พอจะสรุปได้ในภาพง่ายๆ (อีกเช่นเคย) ว่า แผ่นดินไหวที่อยู่ในระดับตื้น มักจะให้คลื่นที่มีความถี่สูง (High frequency) และมียอดคลื่นสูง (High amplitude) มีอำนาจการทำลายสูงบริเวณใกล้ศูนย์กลาง และมีอำนาจลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อห่างออกไป ระดับของความเสียหายจะรุนแรงมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับขนาด  และแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างไกลมาก จะให้คลื่นที่มีระลอกคลื่นกว้าง อาคารจะโยกไปมา จะล้มหรือไม่ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของอาคารและทิศทางที่มันโยก

ประการที่ห้า มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้วจะต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นเสมอไป
   ไม่จริง ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัยต่างๆดังกล่าวมาแล้ว (ส่วนหนึ่ง) ซึ่งจะขยายความต่อไป
   จึงไม่ต้องตกใจ หรือไม่ต้องไปคิดว่าเมื่อเกิดขึ้นก็จะต้องมีความเสียหาย ทราบใหมครับว่า แผ่นดินไหวในภาคเหนือของไทยนั้น โดยเฉพาะในแอ่งแพร่และเชียงรายนั้น รวมๆกันแล้วเกิดเืดือนละหลายๆสิบครั้ง (มากกว่า 50 ครั้ง) ส่วนมากจะเป็นขนาดเล็กที่เราไม่รู้สึก คือขนาดน้อยกว่า 3 ริกเตอร์ มีน้อยครั้งที่มีขนาดใหญ่กว่านั้น ให้มันเกิดเถิดครับ เหมือนกับเปิดฝากาต้มน้ำที่เดือด ไม่ให้มันระบายออกมามันก็จะระเบิด ความน่ากลัวจึงมิใช่ไปอยู่ที่มันเกิดบ่อยๆ (คนละเรื่องกับ fore shock กับ after shock ซึ่งมันเป็นการเกิดในอีกลักษณะหนึ่งสำหรับรอยเลื่อนบางประเภทที่ต้องเฝ้าระวัง) ความน่ากลัวของมันคือมันหยุด คราวนี้แหละครับ ไม่สนุกแน่เพราะจะต้องลุ้นว่าเมื่อใดมันถึงจะระเบิด เตรียมรอลูกระเบิดได้เลย จะไปเหมาเอาว่า เห็นไหมเตือนแล้วว่ามันจะเกิด โดยเอาที่มันเกิดแบบปรกติแต่แรงไปหน่อยจนคนตกใจมาเล่นเป็นประโยชน์แก่ตนคงจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ตั้งแต่จำความได้ ผมก็รับรู้ว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นตลอดมา (ที่เชียงราย) แต่คนในปัจจุบันอาจไม่เคยรับรู้และไม่รู้สึกก็เพราะด้วยเหตุผลที่ว่าโครงสร้างของบ้านเรือนสมัยก่อนต่่างกับสมัยนี้มากในเชิงของ Rigidity      
  ดังที่ผมได้เล่ามาแล้วถึงเรื่องของขนาด (Magnitude) กับความรุนแรง (Intensity) ถ้่ามันไม่ทำให้เราตกใจมันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องกังวล เรากลัวเพราะมีคนมาบอกให้เรากลัว ต้นตอของมันก็มาจากที่อยู่ในกลุ่มรอยเลื่อน 13 ตัวนั้นแหละ ที่ว่าอีสานปลอดภัยที่สุดนั้นก็ไม่จริง รอยเลื่อนตามแนวแม่น้ำศรีสงครามทางมุมบนด้านตะวันออกเฉียงเหนือริมชายโขงของอีสานนั่นก็เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวเหมือนกัน และอยู่ในช่วงอายุเรานี่แหละครับ        
  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 16 เม.ย. 12, 21:12

คำตอบเรื่องแผ่นดินไหวที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อบ่ายแก่นี้ ที่รู้สึกได้ที่ภูเก็ตคงจะมีอยู่บางส่วนแล้วที่ผมเพิ่งจะโพสด์ๆไป

ผมกำลังตรวจสอบข้อมูลที่กรมอุตุฯบอกว่าศูนย์กลางอยู่ใต้ อ.ถลาง ภูเก็ต แต่ไม่เห็นมีรายงานใน USGS เลย ก็เลยสงสัยอยู่ว่า ถูกต้องหรือไม่
น่าสนใจนะครับ เกิดก่อนที่จะเกิดแถวสุมาตราเพียง 2 นาทีเท่านั้น แถมอยู่ใต้ อ.ถลางอีกด้วย
แล้วก็ยิ่งน่าสนใจมากเข้าไปอีก เนื่องจากว่าในการหาตำแหน่งจุดศูนย์กลางนั้น เขาจะใช้ข้อมูลอย่างน้อยจากสามสถานีที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งเป็นรูปสามเหลี่ยม ข้อมูลต่างๆในระบบโครงข่ายของโลกต่างก็ถูกส่งเข้าศูนย์หรือองค์กรที่ฮาวาย และที่ Menlo Park ในซานฟรานซิสโก ซึ่งหากมีจุดกำเนิดอยู่ใต้ถลางจริงๆ ศูนย์ดังกล่าวก็คงจะประกาศออกมาและหาได้แล้วในอินทรเนตร
หลายๆครั้ง ด้วยความชำนาญ เราก็คาดเดาจากทิศทางและระยะทางที่ทราบได้จากเครื่องมือผนวกกับรายงานความรู้สึกจากศูนย์ของกรมฯแล้วบอกตำแหน่งที่เิกิด จะถูกจะผิดมากเพียงใด มันก็เป็นการแสดงความไวในการตอบสนองและเป็นเพียง Interim information ซึ่งตำแหน่งจริงก็จะต้อง Refine ในภายหลังและตรวจสอบดูได้จาก Archive ของศูนย์ที่ฮาวาย
 
เหตุที่ภูเก็ตรับรู้การไหวสะเทือนได้มาก ก็เพราะเป็นเกาะที่เป็นหินแกรนิตอยู่มากกว่าครึ่งหนึ่งทางด้านตะวันตก หินแกรนิตมีฐานที่ลึกลงไปใต้ผิวโลกมากซึ่ง ณ.จุดนั้นก็จะเชื่อมต่อเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกันกับหินที่อยู่ใต้ผิวโลกในระดับลึก ดังนั้น เครื่องมือวัดแผ่นดินไหวที่ดีและเชื่อใจได้มากที่สุดจึงมักจะวางอยู่บนพื้นที่ๆเป็นหินแกรนิต เครื่องมือของไทยที่จัดได้ว่าไว้ใจได้ในระดับโลกก็ตั้งอยู่ในอุโมงในหินแกรนิต (หรือหินไนส์ -Gneiss) ที่ดอยสุเทพ เชียงใหม่   


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 17 เม.ย. 12, 09:55

ย้อนกลับไปย่อหน้าสุดท้ายในความเห็นของผม
ด้วยความรวบรัดจึงลืมเล่าไปถึงเหตุผลที่เครื่องวัดแผ่นดินไหวตั้งอยู่บนหินแกรนิตอีกประการหนึ่ง คือ ด้วยความที่มันมีเนื้อเป็นมวลเดียวกัน ดังนั้นคลื่นแผ่นดินไหวจึงเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ถูกดูดซับ ไม่กระเด้งกระดอนไปตามรอยต่อระหว่างระนาบต่างๆ (ดังที่ระนาบที่เห็นเป็นชั้นๆในหินชั้นหรือหินตะกอน) ซึ่งจะทำไห้ความแรงของคลื่นเบาลงจนเกิดความคลาดเคลื่อนในการวัด
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 17 เม.ย. 12, 11:04

ชาวภูเก็ตก็คงระทึกไปอีกหลายวัน ละค่ะ

คุณตั้งคงเคยอ่านข่าวรอยเลื่อนใต้เขื่อน ที่จะทำให้เขื่อนเมืองกาญจน์แตก   ถ้าอย่างนั้นน้ำก็จะไหลบ่าจากทิศตะวันตกของกรุงเทพ ท่วมเมืองกาญจนบุรี 2 เมตร มิดหัวชาวเมือง   มาถึงสุพรรณบุรี  ราชบุรี นครปฐม กว่าจะไปลงทะเลที่สมุทรสาคร
กรุณาอธิบายให้ใจชื้นขึ้นหน่อยได้ไหมคะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 17 เม.ย. 12, 11:32

แล้วในความสงสัยของผมก็ถูก ศุนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่เกาะยาว มิใช่ที่ภูเก็ต
ซึ่งก็ยังอธิบายได้เหมือนเดิมว่า เหตุใดภูเก็ตด้านตะวันตกจึงรับรู้การไหวได้มาก ก็เพราะคลื่นเดินทางได้ดีในหินอัคนีมากกว่าในหินชั้น ด้านตะวันออกของเกาะภูเก็ตเป็นหินดินดาน ความรู้สึกไหวสะเทือนจึงอาจจะน้อยกว่า แล้วก็อย่างที่เล่ามาครับ จุดเกิดแผ่นดินไหวที่อยู่ตื้นจะให้คลื่นความถี่สูง ดังนั้น กระจกบ้านเรือนจึงสั่นรัว (Rattle)  ที่ว่าได้ยินเสียงดังวิ่งเข้ามาและผ่านไปนั้น ก็ต้องเป็นอย่างนั้นแหละครับ มันเป็นเสียงรวมของการสั่นรัวของหน้าต่าง ของกระจก ของประตู ของหลังคาโครงหลังคา ฯลฯ ที่จริงแล้วน่าจะยังเล่าหรือบรรยายไม่ครบหมดเสียด้วยซ้ำ คือ พอเสียงวิ่งผ่านเข้ามาถึงตัวบ้านเราก็จะได้ยินเสียงกระแทกดังตึ้งแล้วเสียงก็จะวิ่งผ่านไป ตามด้วยอาการโยกไปมาเล็กน้อย (เป็นประสบการณ์ที่ผมมีในครั้งประจำการอยู่ในญี่ปุ่น) ของพวกนี้มาเร็วไปเร็ว ไม่เคยก็จะไม่ให้ตกใจได้อย่างไร
ในเชิงของความเสียหายนั้น คงจะไม่มีอะไรมาก สำหรับอาคารบ้านเรือนรุ่นเก่าๆ ก็อาจจะพบรอยแตก รอยร้าว รอยปริระหว่างตัวเสากับผนังบ้าน อาจจะพบรอยแตกทะแยงจากหัวเสาลงมาตามผนังสั้นๆ อะไรทำนองนี้ครับ

    ผมไม่มีข้อมูลมากพอที่จะกล่าวถึงแผ่นดินไหวในครั้งนี้  ดังนั้น จากนี้ไปจึงเป็นความเห็นจากความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่เดิมนานมาแล้วของผม
   เกาะยาวอยู่ในบริเวณที่เป็นแนวรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งแนวนี้จะพาดขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือผ่านเข้าไปในเขตอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี แนวรอยเลื่อนนี้ถูกจัดว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง ซึ่งในความเห็นของผมคงจะมิใช่ในลักษณะที่เป็น Active fault ผมเห็นว่าเป็นในลักษณะของ Potentially active เท่านั้น ผมคิดว่าในขณะนี้คงจะมีหลายคนที่ผูกแผ่นดินไหวที่เกาะยาวเข้ากับรอยเลื่อนนี้ไปแล้ว และขยับไห้มันเป็น Active fault ไปเสียแล้วด้วยซ้ำไป ผมยังไม่ด่วนสรุปแบบนั้นครับ
   แท้จริงแล้วแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจจะเกิดจากการถล่มของโพรงในหินที่ถูกบดอยู่ตามแนวรอยเลื่อนก็ได้ เนื่องจากหินที่ถูกบด (Breccia) ตามแนวรอยเลื่อนนี้เป็นหินปูน เป็นหินที่จับตัวกันแน่นเป็นหินในเวลาต่อมา แต่เนื้อไม่แน่นเหมือนกับหินอื่นๆตามปรกติ จึงถูกน้ำเซาะละลายเป็นโพรงได้ง่าย เมื่อได้รับแรงกระเทือนจากแผ่นดินไหวในสุมาตราซ้ำๆหลายครั้งเข้า จึงค่อยๆเสียสมดุลย์และพังลงในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปและทั่วโลก  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 17 เม.ย. 12, 11:43



ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ภูเก็ต ไม่ได้อยู่ที่ถลาง ไม่ได้อยู่ที่ทางเหนือของสุมาตรา  ฮืม  ฮืม


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 17 เม.ย. 12, 11:46

คุณตั้งคงเคยอ่านข่าวรอยเลื่อนใต้เขื่อน ที่จะทำให้เขื่อนเมืองกาญจน์แตก   ถ้าอย่างนั้นน้ำก็จะไหลบ่าจากทิศตะวันตกของกรุงเทพ ท่วมเมืองกาญจนบุรี 2 เมตร มิดหัวชาวเมือง   มาถึงสุพรรณบุรี  ราชบุรี นครปฐม กว่าจะไปลงทะเลที่สมุทรสาคร   กรุณาอธิบายให้ใจชื้นขึ้นหน่อยได้ไหมคะ

ผมพยายามจะกั๊กไว้ ไม่เล่า แต่เมื่อขอมาก็ตอบไปครับ

ผมเป็นคนที่ทำงานสำรวจในพื้นที่นั้นช่วงเริ่มสร้างเขื่อนเจ้าเณร และเป็นคนเขียนรายงานความเห็นทางธรณ๊วิทยาของเขื่อนเขาแหลมในช่วงที่มีการตัดสินใจสร้างแล้ว แล้วก็ทำงานในพื้นที่นั้นจนกระทั่งสร้างเขื่อนท่าทุ่งนาเสร็จ ครับ

ขออนุญาตใช้เวลาเรียบเรียงลำดับเรื่องนิดเดียวครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 17 เม.ย. 12, 17:34

ผมกำลังตรวจสอบข้อมูลที่กรมอุตุฯบอกว่าศูนย์กลางอยู่ใต้ อ.ถลาง ภูเก็ต แต่ไม่เห็นมีรายงานใน USGS เลย ก็เลยสงสัยอยู่ว่า ถูกต้องหรือไม่

แล้วในความสงสัยของผมก็ถูก ศุนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่เกาะยาว มิใช่ที่ภูเก็ต

ศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ภูเก็ต ไม่ได้อยู่ที่ถลาง ไม่ได้อยู่ที่ทางเหนือของสุมาตรา  ฮืม  ฮืม

USGS ช้านัก เพิ่งมีรายงานที่เกาะยาว   ตกใจ



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 17 เม.ย. 12, 19:40

จะเข้าเรื่องเขื่อนใน จ.กาญจนบุรี ครับ

ในสมัยที่ผมทำงานสำรวจนั้น มีข้อจำกัดในเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจมาก อุปกรณ์ที่ใช้มีเพียงแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ภาพถ่ายทางอากาศ (ปี 1953) เข็มทิศ และฆ้อนธรณี นอกจากนี้ก็คือความรู้ ความสงสัย ความละเอียดในการจดจำและสังเกต และความใส่ใจอยากจะรู้ เท่านั้นเอง

ปูพื้นฐานนิดนึงนะครับ
ในพื้นที่ลาดชันสูง น้ำจะกัดเซาะในทางลึกและค่อนข้างจะเป็นเส้นตรง พอเข้าพื้นที่ๆลาดชันน้อยลง น้ำก็จะเริ่มกัดเซาะออกไปในทางราบ พยายามหาทางเดินเลาะไปตามร่องรอยแตกรอยแยกแล้วขยายให้กว้างขึ้น แต่หากประสบพบช่องทางที่เป็นเส้นตรงเมื่อไรก็จะเลือกที่จะไหลลงไปทางนั้นและจะกัดลงในทางลึกเพราะง่ายกว่า บังเอิญที่ทางตรงเหล่านี้มักจะเป็นแนวของรอยแตกในหินที่เกิดอย่างมีระบบ (Joint system) และแนวรอยเลื่อน (Fault) ซึ่งในร่องรอยเลื่อนนี้หินจะถูกบดขยี้จนแตก ไหลเซาะได้งายกว่า เมื่อกัดเซาะลงในทางลึกได้มาก ก็ไม่ไปทางข้าง ผลก็คือทำให้เกิดเป็นช่องเขาที่ขนาบไปด้วยหน้าผาหรือเขาสูงชัน ซึ่งเหมาะแก่การสร้างเขื่อนกั้นน้ำ คือ สั้นเขื่อนไม่ยาว สูงมากพอที่จะกั้นน้ำได้มาก เมื่อได้ระดับน้ำสูงก็จะได้พลังงานมากในการนำมาปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ไฟมากตามไปด้วย และยังทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างน้อยลง เขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหลายในโลกเป็นส่วนมาก หรือเกือบจะเรียกว่าแทบจะทั้งนั้นก็ว่าได้ จึงถูกเลือกสร้างในภูมิประเทศลักษณะนี้ และก็หนีไม่พ้นที่จะเป็นร่องเขาที่มีรอยเลื่อนพาดผ่าน ทั้งที่เป็นรอยเลื่อนยาวหลายร้อยกิโลเมตรหรือรอยเลื่อนยาวขนาดในหลักสิบกิโลเมตรหรือสั้นๆ เรียกว่าหนีไม่พ้นรอยเลื่อนก็แล้วกัน ไม่ว่ารอยเลื่อนนั้นจะอยู่กลางช่องเขาหรืออยู่ข้างๆด้านใดด้านหนึ่งก็ตาม ในทางธรณีวิทยาแล้ว รอยเลื่อนมีเยอะแยะเต็มไปหมด หากไม่มีเลยก็ดูจะแปลกไป แต่ที่มันมีศักยภาพจะเคลื่อนตัวนั้นมีจำนวนไม่มาก
ดังนั้น การพูดถึงรอยเลื่อนตามที่ปรากฎให้เห็นทางกายภาพนั้นจึงไม่เพียงพอ ต้องพิจารณาพฤติกรรมของมันด้วย 

ประเด็นจึงไปอยู่ที่ว่ารู้จักรอยเลื่อนและพฤติกรรมของมันดีพอมากน้อยเพียงใดก่อนที่จะสร้างเขื่อน เพื่อที่จะได้ออกแบบเขื่อนให้แข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับพฤติกรรมของรอยเลื่อนนั้นๆที่มันเคยเกิดขึ้นมาในอดีต และเผื่อไว้ด้วยสำหรับอาการเพี้ยนที่มีโอกาศจะเกิดขึ้นมาในระดับที่เราพิจารณาแล้วว่าเพียงพอที่จะรับมือมันได้ หรือแย่ที่สุด ร้าวได้ เสียหายบางจุดได้ แต่จะต้องไม่พัง ทั้งนี้ หากมันยังคงมีอาการพยศอยู่และมีประวัติย้อนหลังไปในช่วงอายุทางโบราณคดี ก็คงไม่สนใจที่จะไปสร้างเขื่อนคร่อมมัน แต่หากมันหยุดพยศมาแล้วนับเป็นหลายหมืนหลายแสนปีขึ้นไป ก็ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจใดๆ  เขื่อนทุกเขื่อนในโลกที่สร้างในช่วงหลังๆตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2470 เป็นต้นมาคิดอยู่ในปรัชญานี้ และแต่ละเขื่อนที่สร้างกันต่อๆมาก็มีความแข็งแรงมากขึ้นตามพัฒนาการทางวิศวกรรม 

     
   
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 17 เม.ย. 12, 20:27

โอ้โห เป็นความรู้ใหม่จริงๆ ครับ  น่าสนใจมากขนาดนักเรียนสุดขี้เกียจอย่างผมต้องขยับจากหลังห้องมานั่งตาแป๋วหน้าห้องรอ lecture เลยนะครับนี่
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 17 เม.ย. 12, 20:36

ค่อยๆย่องจากแถวหลังสุด   เอารูปรอยเลื่อน 13 แห่งมาแจมค่ะ

เปิด 13 รอยเลื่อนในประเทศไทย,ภาพจากวิชาการดอทคอม

    รอยเลื่อนแม่จันและแม่อิง ครอบคลุมจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่
    รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน ครอบคลุมแม่ฮ่องสอน และตาก
    รอยเลื่อนเมย ครอบคลุมตากและกำแพงเพชร
    รอยเลื่อนแม่ทา ครอบคลุม เชียงใหม่, ลำพูน และเชียงราย
    รอยเลื่อนเถิน ครอบคลุมลำปาง และแพร่
    รอยเลื่อนพะเยา ครอบคลุมลำปาง, เชียงรายและพะเยา
    รอยเลื่อนปัว ครอบคลุมน่าน
    รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ ครอบคลุมอุตรดิตถ์
    รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ครอบคลุมกาญจนบุรีและราชบุรี
    รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ครอบคลุมกาญจนบุรีและอุทัยธานี
    รอยเลื่อนท่าแขก ครอบคลุมหนองคายและนครพนม
    รอยเลื่อนระนอง ครอบคลุมประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, ระนอง, และพังงา
    รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ครอบคลุมสุราษฎร์ธานี, กระบี่ และพังงา


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 17 เม.ย. 12, 21:13

ทางการประกาศให้ถลางเป็นแหล่งภัยพิบัติฉุกเฉินแล้วค่ะ 
มีข่าวออกว่านักธรณีวิทยา เตือนให้ระวังรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยและรอยเลื่อนระนอง
แถมยังมีข่าวกรุงเทพมหานครแถลงแผนเตรียมป้องกันภัยพิบัติอีกด้วย
แผ่นดินไหว ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้วหรือนี่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 17 เม.ย. 12, 21:24

                                          ประกาศ!อ.ถลางเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน
จังหวัดภูเก็ตประกาศ อ.ถลาง เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.3 เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่โยธาฯภูเก็ต เผยตรวจสอบอาคารสูงปกติ

                    17 เม.ย.55 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดภูเก็ต ว่า จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวโดยมีจุดศูนย์อยู่ที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ขนาด 4.3 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา และสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ทั่วทั้งจังหวัดภูเก็ต โดยล่าสุดเมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 17 เม.ย.55 นายสมเกียรติ  สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ลงนามในประกาศจังหวัดภูเก็ต เรื่อง ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในพื้นที่อำเภอถลาง

                    มีเนื้อหาว่าด้วยได้เกิดเหตุภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยเกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ความลึก 10 กิโลเมตร ขนาด 4.3 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 เวลา 16.44 น. เบื้องต้นได้รับรายงานรู้สึกสั่นไหวจากประชาชนในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรจำนวน 33 ครัวเรือน ณ พื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต  ภัยดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 เวลาประมาณ 17.00 น.

                    อาศัยอำนาจตามข้อ16(2) ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตจึงประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวของจังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินและจำเป็นต้องรีบป้องกันและแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือลดอันตรายจากภัยพิบัติที่จะทำความเสียหายต่อสิ่งสาธารณประโยชน์หรือลดความเสียหายต่อราษฎรโดยพลัน ทั้งนี้ จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือทันทีตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินพ.ศ.2555”

                    นายวงศกร นุ่นชูคันธ์ โยธาธิการและผังเมืองภูเก็ต กล่าวถึงการตรวจสอบตึกสูงของจังหวัดภูเก็ต ว่า ที่ผ่านมาทางสำนักงานโยธาธิการฯ ได้มีการสุ่มตรวจสอบตึกสูงและอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ เช่น โรงแรม โรมหรสพ อาคารห้างสรรพสินค้า เป็นต้น มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบความผิดปกติ โดยการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องอาคารสูงนั้น เป็นหน้าที่ของทางองค์กรปกครอง

                    ส่วนท้องถิ่นในการควบคุมดูแลและให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการออกใบอนุญาตก่อสร้าง แต่เนื่องจากฎหมายดังกล่าวพึ่งประกาศใช้เมื่อประมาณปี 2550 ดังนั้นจึงไม่ครอบคลุมในส่วนของตึกเก่าที่มีการก่อสร้างมาก่อนที่กฎหมายควบคุมอาคารออกมาบังคับใช้ แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งกรณีของอาคารเก่าได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา

                    ขณะที่นายธวัชชัย ทองมั่ง ปลัดเทศบาลนครภูเก็ต กล่าวว่า เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีตึกเก่าอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในย่านถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนเยาวราช และซอยรมณีย์ ซึ่งขณะยังไม่ได้รับแจ้งความเสียหายของตึกเก่าในพื้นที่ดังกล่าว หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง แต่ก็ได้สั่งการให้ทางกองช่างเทศบาลฯ ได้ลงไปตรวจสอบแล้ว พร้อมกันนี้ก็ยังได้ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอาคารที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหวแล้วด้วย

 


บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 17 เม.ย. 12, 21:30

เรียนถามคุณ naitang ครับ

รอยเลื่อนนี่ นิยามจริงๆ แล้วมันคืออะไรครับ  ใช่รอยทางที่เกิดจากน้ำไหลเซาะหินเท่านั้น หรืออย่างไรครับ
ก่อนหน้านี้ผมเข้าใจเอาเองว่ารอยเลื่อนนี่คือบริเวณขอบของเปลือกทวีป ตรงที่เป็นรอยต่อรอยแยกมาตลอดเลยนะครับนี่
หรืออย่างมากก็คือแผ่นเปลือกโลกย่อย ที่อยู่บนแผ่นใหญ่อีกที ตรงขอบๆ พวกนี้ถึงเรียกว่ารอยเลื่อน
ยิ่งมาเห็นแผนที่ที่ท่านอาจารย์เทาฯเอามาให้ดู เอ๊ะมันมีมากขนาดนั้นเลย ไม่คิดมาก่อนว่าในไทยมีเยอะ เพราะเราไม่ได้อยู่ตรงไหล่หรือขอบทวีป
ขนาดที่องครักษ์ ปทุมธานี่นี่เอง ยังมีรอยเลื่อนด้วย ความรู้ใหม่จริงๆ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 17 เม.ย. 12, 21:38

คุณประกอบอย่าเอาดิฉันเป็นแหล่งอ้างอิงเลยนะคะ   เพราะดิฉันไม่รู้เรื่องรอยเลื่อนยิ่งกว่าคุณเสียอีก     แค่ไปรวบรวมข่าวมาเพื่อถามคุณตั้งเท่านั้นเอง
อ่านข่าวข้างล่างนี้แล้วก็เริ่มจะอยากได้แปะฮวยอิ๊ว  เพราะไม่รู้แล้วว่าแผ่นดินไหวครั้งไหนเป็นครั้งไหน    ที่เกาะยาวหรือที่ถลาง หรือว่าทั้งสองที่
แต่ข่าวนี้ราชการแถลง  ก็ลอกมาถามนักธรณีวิทยาประจำเว็บเราอีกทีก็แล้วกันค่ะ

วันนี้ (17 เม.ย.) เมื่อเวลา13.30 น. ที่กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายนิทัศน์ ภู่วัฒนกุล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วยนายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผอ.สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกันแถลงข้อเท็จจริงการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.3 ริกเตอร์ ที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต  โดยนายนิทัศน์ กล่าวว่า การเกิดแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ตเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ. ถลาง มีขนาด 4.3 ริกเตอร์  ซึ่งถือเป็นแผ่นดินไหวบนบกขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย และยังเกิดแผ่นดินไหวตามหรืออาฟเตอร์ช็อกจำนวน 5 ครั้ง ขนาด 2.1-2.7 ริกเตอร์ จนทำให้มีบ้านเรือนเสียหายกว่า 30 หลังคาเรือน

สาเหตุของแผ่นดินไหวครั้งนี้มาจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ที่กินพื้นที่ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมซ้าย ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวถือว่าประเทศไทยโชคดีที่เป็นเกิดแผ่นดินไหวตามแนวนอน ผลกระทบจึงไม่เกิดขึ้นมาก  ที่สำคัญการเกิดแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ.ถลาง เป็นการเกิดแผ่นดินไหวในเวลาใกล้เคียงกับการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.7 ริกเตอร์ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งไม่ใช่แผ่นดินไหวตามกันหรืออาฟเตอร์ช็อกแต่อย่างใด เนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.7 ริกเตอร์ที่ประเทศอินโดนีเซีย ไม่สามารถส่งผลกระทบทำให้บ้านเรือนใน พื้นที่จ.ภูเก็ตสั่นไหวจนรู้สึกได้ทั้งจังหวัดได้
 
นายนิทัศน์ กล่าวอีกว่า  ทั้งนี้ยืนยันว่าเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ตนั้น ภาครัฐไม่ได้ปกปิดข้อมูลต่อประชาชน แต่เป็นเพราะต้องเช็ครายละเอียดให้แน่นอนก่อน เนื่องจากข้อมูลเรื่องแผ่นดินไหวเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือและกระทบกับชีวิตของประชาชน ดังนั้นการจะประกาศข้อมูลใดออกไปจะต้องมีการตรวจสอบให้ละเอียดและรอบคอบก่อน อย่างไรก็ตามขอเตือนให้ประชาชนอย่าตื่นตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซียขนาด 8.6 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ได้มีประชาชนหนีจากอาคารสูงลงทางลิฟท์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวไฟฟ้าอาจจะถูกตัดเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นจึงจะต้องมีการออกประกาศเพิ่มเติมให้อาคารสูงมีบันไดหนีไฟ และให้ใช้ในกรณีที่เกิดไฟไหม้และแผ่นดินไหวด้วย

นอกจากนั้นในส่วนของอาคารสูงและเขื่อนนั้นเราไม่หนักใจ เพราะมั่นใจในเรื่องการออกแบบทางวิศกรรมที่รองรับกรณีการเกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะเขื่อนส่วนใหญ่ของกรมชลประทานที่ตั้งอยู่ตามแนวรอยเลื่อนอยู่แล้วและมีการวางระบบเตือนภัยอย่างเข้มข้น  แต่สิ่งที่เป็นห่วงคืออาคารบ้านเรือนของประชาชนทั่วไปที่สูงเพียง 1-2 ชั้น ที่อาจจะไม่ได้มีการออกแบบมาเพื่อรองรับการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีที่เกิดขึ้นในจ.ภูเก็ต ที่มีบ้านเรือนเสียหาย เสา กำแพงแตกร้าวไปกว่า 30 หลัง ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือกันต่อไป

ด้านนายเลิศสิน  กล่าวอีกว่า  การเกิดแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ขนาด  8.6 ริกเตอร์ และ 8.2 ริกเตอร์ที่เกิดตามมานั้น เป็นแผ่นดินไหวคนละเหตุการณ์กันไม่ใช่แผ่นดินไหวตามหรืออาฟเตอร์ช็อกตามที่เข้าใจในตอนแรก  ซี่งการเกิดแผ่นไหว 2 ครั้งดังกล่าวส่งแรงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.3 ริกเตอร์ ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งเกิดบริเวณแขนงของรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย  ทำให้กรมทรัพยากรธรณีต้องเฝ้าระวังกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยความยาว 150 ก.ม.  และกลุ่มรอยเลื่อนระนอง ความยาว 270 ก.ม.  ซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่ จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และพังงาเป็นพิเศษ   เนื่องจากทั้ง 2 กลุ่มรอยเลื่อน ถือว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีการขยับตัวชัดเจน ทั้งยังเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง แม้แผ่นดินไหวส่วนใหญ่จะเกิดจากรอยเลื่อนหลักแล้วจึงส่งผลไปรอยเลื่อนแขนง แต่เมื่อรอยเลื่อนแขนงขยับตัวแล้วก็อาจจะส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวบนตัวรอยเลื่อนหลักได้เช่นกัน

“จากการที่กรมทรัพยากรธรณีนำตะกอนดินของทั้ง 2 รอยเลื่อนไปตรวจสอบพบว่ามีการยกตัวของชั้นดินชัดเจน และเมื่อ 3,600 ปีที่ผ่านมา เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ริกเตอร์ ซึ่งมากที่สุดมาแล้ว  และจากวันนี้เป็นต้นไปแผ่นดินไหวที่เกิดจาก 2  รอยเลื่อนดังกล่าวนี้สามารถเกิดได้ทุกเมื่อ  แต่ขนาดจะไม่รุนแรงและเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง 5-6 ริกเตอร์เท่านั้น  เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกเหมือนกับประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์  และญี่ปุ่น จึงไม่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้  แต่รอยเลื่อนในประเทศไทยเป็นรอยแตกของแผ่นเปลือกโลก จึงสามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลางเท่านั้น” นายเลิศสิน กล่าว
 
นายเลิศสิน กล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศเสี่ยงแผ่นดินไหว แต่ความเสี่ยงแผ่นดินไหวของประเทศไทยก็ยังปลอดภัยที่สุดกว่าการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ ที่อยู่บนรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก  ดังนั้นประเทศไทยก็คงต้องเฝ้าระวังตามกลุ่มรอยเลื่อนต่างๆ ขณะนี้กรมทรัพยากรธรณีได้รวบรวมข้อมูลกลุ่มรอยเลื่อนล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา โดยขณะนี้รอยเลื่อนทั้งหมดในประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่มีพลังทั้งหมด 14 รอยเลื่อน จากเดิม 13 รอยเลื่อน กระจายอยู่ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนระนอง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ส่วนรอยเลื่อนเดิมคือรอยเลื่อนท่าแขก จ. หนองคาย นครพนมและต่อเนื่องไปถึงประเทศลาว กรมทรัพยากรธรณีได้ตัดออกจากบัญชีรอยเลื่อนที่มีพลัง เพราะไม่มีการขยับตัวมา 30 ปีแล้ว อีกทั้งไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบในประเทศลาวได้

อย่างไรก็ตามได้เพิ่ม 2 รอยเลื่อนใหม่ที่มีพลังขึ้นมา คือ รอยเลื่อนแม่อิง จ.เชียงราย และ พะเยา  และรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์  แต่ขณะนี้รอยเลื่อนระนองและคลองมะรุ่ย ถือเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่ต้องจับตาและเฝ้าระวังมากที่สุด  ทั้งนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ 2 ครั้งล่าสุดที่ประเทศอินโดนีเซีย จะส่งผลกระทบไปถึงรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์เท่านั้น โดยอาจจะทำให้เกิดหลุมยุบในบริเวณแนวรอยเลื่อนเหล่านี้มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่มีสภาพเป็นหินปูนและแผ่นดินไหวส่งผลต่อระบบน้ำใต้ดิน แต่ไม่ใช่ตัวเร่งให้เกิดแผ่นดิน ส่วนรอยเลื่อนอื่นที่เหลือไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด.
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.103 วินาที กับ 20 คำสั่ง