เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 155633 แผ่นดินไหวและซึนามิ
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


 เมื่อ 13 เม.ย. 12, 22:28

กระทู้นี้คงเป็นกระทู้สั้นๆนะครับ

เมื่อวันพุธที่ 11 เม.ย. ได้เกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งด้านปลายของเกาะสุมาตรา ต่อมาได้มีประกาศเตือนภัยคลื่น Tsunami ซึ่งมีการยกเลิกในเวลาต่อมาและได้ให้มีการให้เฝ้าระวังต่อไปอีก 2 วัน

ได้ฟังข่าว ได้ฟังผู้ทรงความรู้ทั้งหลายชี้แจงตามสื่อต่างๆแล้ว อดไม่ได้ที่จะต้องขอนำเสนอข้อเท็จจริงทางวิชาการด้านแผ่นดินไหวมาเพื่อทราบ เดิมทีว่าจะเล่ามาตั้งแต่กรณีญี่ปุ่นแล้ว แต่หาจังหวะและโอกาสไม่ได้
ผมไม่ใช่นักวิชาการด้านแผ่นดินไหวโดยตรง (Seismologist) และก็พอจะทราบว่าคนที่เรียนมาโดยตรงมีน้อยมาก ผมเรียนมาในสาขาวิชาที่ใช้ข้อมูลแผ่นดินไหวเป็นองค์ประกอบในการวิเคราะห์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลอื่นๆและคำตอบบางประการ เพื่องานทางธรณีวิทยาที่ถูกต้องสำหรับนำไปใช้ในการแสวงหาและกำหนดบริเวณที่มีศักยภาพจะเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีค่าหายากทั้งหลาย (เช่น น้ำมัน ทองคำ)  รายงานทางวิชาการชิ้นหนึ่งของผม เมื่อประมาณ พ.ศ.2527 ได้ทำให้มีเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวในไทยเพิ่มอีกนับ 10 ตัว

จะขอเข้าเรื่องแผ่นดินไหวฉบับย่อๆนะครับ

แผ่นดินไหวเกิดจากการปลดปล่อยพลังงานที่สะสมอยู่ในผิวโลกออกมาในรูปของคลื่นที่เรียกว่า Seismic wave คลื่นนี้วิ่งผ่านชั้นดินชั้นหินของโลก ทำให้ชั้นดินชั้นหินต่างๆขยับตัวตามลักษณะคลื่นที่วิ่งผ่าน

ต้นกำเนิดของแผ่นดินไหวมาจากเหตุหลัก 4 ประการ คือ จากรอยเลื่อนที่ยังคงมีพลังเคลื่อนตัว (Active fault) จากการเกิดภูเขาไฟ (Volcanic activity) จากแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่เสียดสีกัน (Plate tectonic) และจากการกระทำของมนุษย์ (Manmade)

จุดที่ปลดปล่อยพลังงานหรือจุดต้นกำเนิดของแผ่นดินไหว ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ผิวโลก เรียกว่า Hypocenter หรือ Origin   จุดที่บอกพิกัดตำแหน่ง (ละติจูด-ลองติจูด) ของจุดกำเนิดซึ่งอยู่บนผิวโลกเรียกว่า Epicenter  ดังนั้นรายงานการเกิดแผ่นดินไหวจึงบอกด้วยพิกัดและความลึก ซึ่งจะทำให้ทราบถึงจุดต้นกำเนิด

คลื่นแผ่นดินไหวมี 4 รูปแบบ คือ คลื่นปฐมภูมิ (Primary wave หรือ Pressure wave) คลื่นทุติยภูมิ (Secondary wave หรือ Shear wave) คลื่นเรเลย์ (Rayleigh wave) และคลื่นเลิฟ (Love wave)
คลื่นปฐมภูมิ เป็นคลื่นที่มีความเร็วในการเดินทางสูงสุดและจะวิ่งผ่านของแข็ง อธิบายได้ง่ายๆ คือ ความรู้สึกที่ได้รับจากการเอาฆ้อนกระแทกที่ขอบโต๊ะด้านหนึ่งตรงข้ามกับขอบโต๊ะด้านที่เราจับ
คลื่นทุติยภูมิ เป็นคลื่นที่มีความเร็วในการเดินทางรองลงมา วิ่งผ่านได้ในของเหลว อธิบายได้ง่ายๆ คือ คลื่นที่เกิดกับน้ำในตู้ปลาเมื่อเรากระแทกตู้ปลาที่ผนังด้านหนึ่ง
คลื่นเรเลย์และคลื่นเลิฟ เป็นคลื่นที่มีความเร็วในการเดินทางเป็นอันดับสามและสี่ตามลำดับ คลื่นทั้งสองชนิดนี้วิ่งอยู่บนพื้นผิวระหว่างชั้นต่างๆของวัสดุ เลยรวมเรียกว่า Surface wave  คลื่นเรเลย์เคลื่อนที่ในลักษณะเป็นวงกลมในแนวตั้งไปเรื่อยๆ คล้ายกับการตบข้างกองหนังสือพิมพ์ ในขณะที่คลื่นเลิฟเคลื่อนที่ในลักษณะเดียวกันแต่เป็นในแนวนอน ซึ่งจะทำให้กองหนังสือพิมพ์โย้ไปข้างซ้ายขวา
คลื่นสำคัญที่ใช้ในการบอกตำแหน่งของจุดเกิดแผ่นดินไหว คือ คลื่นปฐมภูมิและคลื่นทุติยภูมิ ส่วนคลื่นเรเลย์และคลื่นเลิฟนั้นมักจะนำไปใช้ในด้านการวิจัยในภายหลัง เพื่อช่วยอธิบายขยายความเหตุแห่งความพินาศที่มาจากส่วนชั้นดินชั้นหินฐานราก
ยังมีอีก 2 คำที่ใช้ในการรายงานเรื่องแผ่นดินไหว คือ ขนาด (Earthquake Magnitude) กับ ความรุนแรง (Earthquake Intensity) หรือที่เรียกสั่นๆว่า Magnitude กับ Intensity

ขนาด (Magnitude)  คือ มาตราที่แสดงขนาดของการปลดปล่อยพลังงานออกมา  พัฒนาขึ้นมาโดย Richter และ Gutenburg ในปี พ.ศ. 2478 สำหรับการวัดขนาดของแผ่นดินไหวเปรียบเทียบในพื้นที่ๆไม่กว้างไกลมากนัก ใช้ได้ดีกับขนาดระหว่าง 3 – 7 มาตรานี้รู้จักกันว่า Richter scale  และใช้อักษรย่อว่า M(L) (คำว่า Local magnitude มาจากมาตรานี้) ต่อมาได้พบว่าหากเป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่และจุดกำเนิดอยู่ไกลเกินกว่าประมาณ 600 กม.ขึ้นไปจากสถานีวัดแผ่นดินไหว (Seismograph station)  มาตรริกเตอร์นี้จะมีความผิดพลาดมากเนื่องจากหลายสาเหตุ จึงมีการปรับปรุงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมาและใช้ตัวย่อว่า M(W) แต่มาตราที่ปรับปรุงนี้ก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน คือ จะไม่ค่อยตรงสำหรับแผ่นดินไหวขนาดที่เล็ก (ต่ำกว่า 4 หรือ 5 ลงไป)
อย่างไรก็ตามเราก็ยังคงนิยมเรียกว่าเป็นมาตราริกเตอร์อยู่นั่นเอง และก็มีการใช้ทั้งสองมาตราในการรายงานอยู่ดี ซึ่งสำหรับคนทั่วไปก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่สำหรับนักวิชาการก็จะต้องไปดูในรายละเอียดแยกกัน

เรื่องนี้คือต้นตอของขนาดที่ประกาศออกมาจากประเทศต่างๆในช่วงแรกของการเกิดแผ่นดินไหวว่า ทำไมถึงไม่ตรงกัน ก็เพราะว่าต่างคนต่างวัดได้ ณ.ที่ต่างแห่งหนกัน
 
พอจะเทียบเป็นตัวอย่างไห้เห็นว่า พลังงานที่ปล่อยมาจากแผ่นดินไหวนั้นมากน้อยอย่างไร ดังนี้ พลังงานแผ่นดินไหวที่ปล่อยออกมาเมื่อคราวเกิดซึนามิทางภาคใต้ เทียบได้กับระเบิด TNT ประมาณ 475 ล้านตัน (ปรมาณูที่ปล่อยลงฮิโรชิมาเทียบได้กับ TNT ประมาณ 15,000 ตัน)

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 เม.ย. 12, 22:34

ความรุนแรง (Intensity) คือ มาตราที่แสดงความรุนแรงของแผ่นดินไหวโดยการประเมินจากความเสียหาย ที่นิยมใช้กันทั่วโลก คือ ที่พัฒนาขึ้นมาโดย Mercalli ซึ่งต่อมาได้มีการปรับปรุงและเรียกว่า Modified Mercalli Intensity Scale หรือ MM หรือ MMI   มาตรานี้มี 12 ระดับ ตั้งแต่ 1 ไม่รู้สึกเลย   2 รู้สึกได้โดยบางคน โคมไฟแกว่ง    3 รู้สึกกระเทือนเหมือนรถบรรทุกวิ่งผ่าน คนในตึกสูงรู้สึกได้    4 ประตูหน้าต่างบ้านเรือน และถ้วยชามสั่นกระทบกันเสียงดัง   5 รู้สึกได้โดยคนทั่วไป ถ้วยชามหล่นแตกบ้าง   6 คนวิ่งหนีออกจากบ้าน บ้านเรือนที่ไม่แข็งแรงร้าว ของบนชั้นตกแตก   7 รู้สึกยืนไม่ได้ บ้านเรือนที่ไม่แข็งแรงพัง    8 เครื่องเรือนหนักๆเคลื่อนที่  บ้านเรือนเสียรูปทรงและพัง   9 อาคารที่แข็งแรงพัง ตู้ เตียงกระดอนไปมา  10 อาคารทั้งหลายพัง เส้นทางคมนาคมใช้การไม่ได้  11 พังราบไปเกือบหมด สะพานพัง   12 ราบเรียบเป็นหน้ากลอง เห็นแผ่นดินเป็นลูกคลื่น
บางประเทศที่อยู่ในพื้นที่ๆมีแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง จะพัฒนามาตราของตนเองขึ้นมาเพื่อใช้ในการประเมินความความเสียหายและการให้ความช่วยเหลือ ให้เป็นไปอย่างทันการณ์ รวดเร็วและเหมาะสมกับสภาพของความเสียหาย เช่น ญี่ปุ่นและไต้หวัน ซึ่งใช้มาตราร่วมกันเรียกว่า JMA Scale  เป็นมาตราที่ผนวกกับอัตราเร่งของมวลพื้นดิน (Peak ground acceleration) มีอยู่ 7 ระดับ มาตรานี้แยกชัดเจนระหว่างการสังเกต ณ.ตำบลที่อยู่ต่างๆกัน เช่น ในอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ในบ้านไม้ บนถนน ซึ่งข้อมูลจากการบอกเล่าของคนก็เพียงพอที่จะทำให้ทราบว่า อัตราเร่งของพื้นดินมีเพียงไร จะทำให้อะไรเสียหายได้บ้างและขนาดใหน ทำให้การประเมินมีความแม่นยำมากในระดับที่พอใจ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 เม.ย. 12, 23:00

ขอคั่นจังหวะเรื่องราวทางวิชาการเล็กน้อย
ลืมนึกไปว่าช่วงนี่มีคนไปเที่ยวในภาคใต้พอสมควร
ตอบให้สะบายใจสั้นๆเลยนะครับว่า
ด้วยได้เคยเกิดเหตุร้ายมาครั้งหนึ่งแล้ว รุนแรงมากๆติดอันดับโลกเลยทีเดียว การเฝ้าระวังจึงเป็นเรื่องที่นานาชาติให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในขณะนี้มีระบบทุ่นจับความเคลื่อนไหวซึนามิลอยอยู่ในทะเล หากมีอะไรจะเกิดขึ้นก็จะมีการประกาศเตือนล่วงหน้า เป็นระบบสากล แม้ว่าจะรู้สึกว่าน่ากลัวที่คลื่นซึนามิมันเดินทางด้วยความเร็วประมาณ 800 กม.ต่อชั่วโมง เมื่อมีการเตือนภัย ระบบเขาจัดให้เรามีเวลาหนีได้ทันครับ หากไม่แน่ใจ เอาเป็นว่าไปหาระยะทางจากแนวเกาะนิโคบาว่าอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลไทยเท่าใด เอาความเร็วของคลื่นไปบวกลบคูณหารดู ก็จะทราบว่ามันจะใช้เวลาเท่าใดที่จะมาถึงไทย  และหากเกิดใกล้จุดเดิมเหมือนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 นาทีจึงจะมาถึง ญี่ปุ่นเขามีเวลาเพียงไม่เกิน 5 นาทีในบางพื้นที่ๆจะหนี ด้วยอดรีนาลีนที่มากระตุ้น ผมเชื่อว่าไปได้ไกลมากทีเดียวในเวลาเพียงน้อยนิด 

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 13 เม.ย. 12, 23:09

สมิทธ เตือนระวังสึนามิถล่มชายฝั่งอันดามันในอนาคตอันใกล้ ชี้ผลมาจากพายุสุริยะทำให้เปลือกโลกเคลื่อนตัว หวั่นกรุงเทพฯ พังราบเป็นหน้ากลอง

(13 เม.ย.) นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวถึงการเกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า ที่ไม่เกิดสินามิเพราะเป็นแผ่นดินไหวแนวราบ และก่อนหน้าเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ ดร.ก้องภพ อยู่เย็น วิศวกรชาวไทยในองคการนาซ่า ได้ส่งรายงานการเกิดพายุสุริยะ และได้เตือนว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณมหาสุมทรอินเดีย เป็นคำเตือนที่ส่งมาให้ตนล่วงหน้า 1 วันก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา ทำให้ตนเชื่อว่าการเกิดพายุสุริยะ มีผลกระทบต่อเปลือกโลกจริง ในปีนี้จะเกิดพายุสุริยะอีกจำนวนมากไปจนถึงปี 2556 แต่รุนแรงที่สุดในวันที่ 21 ธ.ค. ปีนี้ หรือเป็นตามตัวเลข 21/12/12 ตรงตามปฏิทินชนเผ่ามายาที่ทำนายถึงวันสิ้นโลกเอาไว้

นายสมิทธ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศไทยและรุนแรง ซึ่งจะเกิดความเสียหายมาก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ พื้นดินเป็นดินอ่อน หากเกิดแผ่นดินไหวห่างจากกรุงเทพฯไปถึง 350 กิโลเมตร ก็ทำให้กรุงเทพฯ พังราบได้ง่าย ๆ ภาครัฐควรเร่งออกสำรวจสิ่งปลูกสร้างในกรุงเทพฯได้แล้ว และเตรียมมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้าได้ตั้งแต่ตอนนี้ จะทำให้ลดความสูญเสียได้มาก

นายสมิทธ กล่าวอีกว่า รอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่พาดผ่านประเทศไทยมีทั้งหมด 13 รอยเลื่อน โดยเฉพาะรอยเลื่อนในทะเลอันดามันน่าห่วงมากที่สุด บริเวณเกาะสอง จ.ระนอง จ.สุราษฐธานี จ.พังงา จ.กระบี่ เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ไปถึงประเทศพม่า รอยเลื่อนพวกนี้มีพลังมาก และถ้าถามว่าไทยจะเกิดคลื่นสึนามิอีกหรือไม่นั้น มีนักวิจัยด้านแผ่นดินไหวชาวไอร์แลนด์ชี้ว่ามีโอกาสที่จะเกิดคลื่นยักษ์ ที่เป็นผลมาจากแผ่นดินไหวที่ชายฝั่งเกาะสุมาตราในอนาคตอันใกล้นี้ และแรงแผ่นดินไหวส่งผลถึงกรุงเทพฯแน่นอน จะเกิดความเสียหายคล้ายกับประเทศเฮติ รวมทั้งมีผลสะท้อนมาจากการไหวอย่างรุนแรงที่ประเทศชิลี ซึ่งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกใหญ่แปซิฟิก เคลื่อนตัวมาทางตะวันออกเมื่อเร็วๆนี้ ทำให้อัตราการไหวเพิ่มถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 เม.ย. 12, 16:00

ต้องขออภัย อ. เทาชมพูสำหรับความเห็นนี้ก่อนนะครับ

คือจริงๆ แล้ว คำเตือน คำทำนายของ  ดร สมิท หรือ ดร ก้องภพ  เราไม่ควรนำมาพิจารณาครับ เพราะเป็นการคาดเดาแบบไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ รองรับ และพิสูจน์ไม่ได้
ไม่ต่างกับฟังคำทำนายศาสตร์แห่งโหรของนายโสรัจจะที่มติชนพยายามโปรโมทมากๆ
เพียงแต่คำของสองคนนี้จะฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า เช่นมีคำว่าเปลือกโลกเคลื่อนตัว  พายุสุริยะ ฯลฯ  
แต่จริงๆแล้วเปลือกโลกมีการเคลื่อนตัวตลอด แผ่นดินไหวมีตลอดเวลา เพียงแต่ที่รุนแรงมีไม่บ่อย และไม่อาจทำนายได้ว่าจะมีที่ไหน หรือเมื่อไหร่  
ผู้เชี่ยวชาญไม่เคยทำนายได้  มีแต่หมอดูที่ทำนายประจำ ผิดก็ทำเฉย  ฟลุกถูกก็มาอ้างเอาเครดิต  ทั้งหมอดูโหร และหมอดูที่อ้างวิทยาศาสตร์ แต่ไม่วิทยาศาสตร์จริง

ถ้าติดตามข่าวเสมอๆ จะเห็นว่ามีแผ่นดินไหวใหญ่ เกิดขึ้นที่ต่างๆ ทุกๆ 2-3 เดือนประจำ  และถ้าแผ่นดินไหวห่างกรุงเทพ 350 กิโล  มันจะทำให้กรุงเทพพังราบได้อย่างไร  
ปัจจัยความรุนแรงมันขึ้นกับระยะห่างจากจุดศูนย์กลาง และตำแหน่งที่เกิด ว่ามันลึกหรือตื้นจากผิวโลกมากแค่ไหน มันยังทำนายแบบมีหลักการไม่ได้ แต่พวกหมอเดาชอบเดานัก
นอกจากนี้ พายุสุริยะเป็นวัฏจักรที่มีคาบเกิดขึ้นทุกประจำ เป็นเรื่องปกติ  หนักๆ จะมีทุก 8-11 ปี  เมื่อเกิดจะมีผลต่อระบบสื่อสารหรือไฟฟ้ามากกว่าและไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่ามีผลกับการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก


ตอนนี้สื่อในประเทศเรา ชอบให้ความสำคัญกับตัวบุคคล ชอบข่าวหวือหวาตื่นเต้น เพราะมันขายได้ คนสนใจ ทำให้บางคนสร้างความดังด้วยการออกมาคาดเดาต่างๆ ไปเรื่อยๆ
ดร สมิทและก้องภพเป็นอีกสองคนที่เป็นแบบนี้  เพราะจริงๆแล้วสองคนนี้มีคำทำนายแบบนี้ออกมาเป็นระยะๆ ผิดก็เฉย ทำนายต่อ มาฟลุกถูกซึ่งมันต้องถูกแหง เพราะแผ่นดินไหวมีประจำ ก็มาอ้างเอาเครดิต


ถ้าติดตามจริงๆ  คนไทยที่อ้างผลงานจากนาซ่า ไม่มีใครเป็นของจริงซักคน แต่ไปไหนมาไหนต้องพะยี่ห้อนาซ่าติดตัว บางคนสามสิบปีแล้วก็ยังนาซ่าอยู่นั่นแหละ กลัวคนไม่เชื่อ พวกนี้มี 3-4 คนในสังคมไทย
แต่คนไทยของจริงที่มีผลงานจริงจากนาซ่า เค้าไม่เพี้ยน และไม่เอาชื่อนาซ่ามาอวดอ้างแบบนี้ครับ


แต่สิ่งที่ควรทำคือเราต้องมีระบบเฝ้าระวัง การแจ้งเตือนข่าว การให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือน การวางแผนการอพยพในพื้นที่เสี่ยง และการฝึกซ้อมอพยพเป็นประจำครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 เม.ย. 12, 18:29 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 เม.ย. 12, 17:05

เชิญคุณประกอบมานั่งตรงนี้ครับ

ด่วนเลย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 เม.ย. 12, 17:18

อ่านค.ห. 4 แล้วโล่งใจค่ะ   อย่างน้อยก็ไม่ต้องกลัวว่าโลกจะแตกในวันที่ 21 ธันวาคม ปีนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 เม.ย. 12, 17:19

เชิญคุณประกอบมานั่งตรงนี้ครับ

ด่วนเลย
คุณประกอบอยู่ไหนล่ะคะ


บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 14 เม.ย. 12, 18:11

ง่ะ  อุตส่าห์หลบไปนั่งหลังห้องต่อแล้ว โดนอาจารย์เรียกตัวออกมายืนหน้าชั้นซะแล้ว
ตามประสานักเรียนเหลวไหล ครูเรียกเมื่อไหร่ต้องหนาวๆ ร้อนๆ เหงือซึม ใจตุ้มๆ ต่อมๆ

แต่รับรองได้ว่าวันที่ 21 ธันวานี้โลกไม่แตกแน่นอนครับ  วันที่ 21 ธันวานี้ถ้าโลกแตกจริงมากระทืบผมได้เลย  ยิงฟันยิ้ม  แถมเลี้ยงบุฟเฟ่ที่โอเรียนเต็ลอีก 3 มื้อ ดูหนังรอบค่ำอีก 2 เรื่องควบยังได้

โลกแตกจากแผ่นดินไหว หรือการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกนี่เป็นไปไม่ได้ครับ เปลือกโลกมันไม่ได้เคลื่อนตัวเร็วขนาดนั้น แม้มันจะชนกัน บดขยี้กันบ้าง ก็แค่ส่งผลเป็นพื้นที่ๆ ไป แถมไอ้ที่รุนแรงขนาดมีสึนามิได้ นานๆ มันจะเกิด
เพียงแต่ช่วงนี้อาจจะเกิดบ่อยหน่อย เช่นพึ่งสึนามิในมหาสมุทรอินเดียไปไม่นาน  ไม่กี่ปีไปเกิดแถวญี่ปุ่นอีก  น่าจะเป็นความบังเอิญเท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์ที่เคยเฉียดนาซ่า(ตรงคลองตัน)แบบผม ขอทำนายว่า โอกาสเกิดภัยพิบัติใหญ่น่าจะมาจากอุกกาบาตใหญ่มากพุ่งชนโลกเหมือนเมื่อ 65 ล้านปีก่อน หรือการระเบิดของภูเขาไฟยักษ์ที่พ่นฝุ่นควันมหาศาลจนบดบังแสงอาทิตย์นานนับร้อยปีแบบนี้เป็นไปได้กว่า
แต่ถ้าอุกกาบาติจะมาชนวันนี้ 21 ธันวานี้จริง  ป่านนี้คงส่องเห็นตัวกันแล้ว นี่ยังไม่มีใครเห็น แปลว่า 21 ธันวานี้ อุกกาบาตขนาดรัฐเท็กซัสไม่มีแน่นอน ส่วนเม็ดขนาดลูกขนุนหรือทองหยอด มันตกใส่โลกประจำอยู่แล้ว
ทำนายแบบนี้ ยังดูสมเหตุสมผลมากกว่าภัยพิบัติจากการเคลื่อนตัวชนกันของเปลือกโลกหรือพายุสุริยะแน่นอนครับ  จุมพิต
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 14 เม.ย. 12, 20:01

เรื่องของ ดร.สมิทธ ที่บอกกล่าวนั้น ผมมีความเห็น ดังนี้

ในระบบการทำงานขององค์กรพิเศษที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐเพื่อทำงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงของสหรัฐฯนั้น จะมีการจ้างนักวิชาการที่มีแนวคิดและปรัชญาความเชื่อที่มีความขัดแย้งกันรวมอยู่ด้วย เพื่อจะได้มีการถกเถียงกันและมีการพิสูจน์ทางวิชาการกันอย่างถึงแก่น เื่พื่อหาข้อยุติที่เป็นไปได้มากที่สุดหรือถูกต้องมากที่สุด ซึ่งในขณะเดียวกันก็ทำให้ได้พบอะไรใหม่ๆบนเส้นทางของการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่จะเป็นด้วยเหตุบังเอิญหรือตั้งใจก็ไม่อาจทราบได้ที่ฝ่าย Con นั้นมักจะเป็นกลุ่มคนที่คิดใน Doctrine ของ Jehovah's Witnesses และ Evangelism ซึ่งกรณี 21/12/12 นั้นผมก็คิดว่ามาจากคนในกลุ่มนี้ ซึ่งหยิบเอาข้อมูลเฉพาะบางส่วนที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ นำมาสนับสนุนความคิดเห็นตามปรัชญาของตน นำมาผูกเป็นเรื่องราวตามความเชื่อของตนให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น  กล่าวมาเพียงเท่านี้ก็คงพอจะเข้าใจในนามธรรมของเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอแล้วนะครับ

ผมไม่สามารถนำข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดมาเล่าให้ฟังได้ เนื่องจากจะต้องมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในหลากหลายสาขา มิฉะนั้นก็จะต้องปูพื้นฐานเป็นเรื่องๆไป ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อมากทีเดียว (เหมือนกับที่ผมพยายามจะปูเรื่องของกระทู้นี้) และผมเองก็มิใช่มีความรอบรู้ลึกซึ้งเพียงพอในระดับที่จะสามารถเล่าในลักษณะเปรียบเทียบได้  
เอาเป็นอย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ    21/12/12 ผูกเรื่องขึ้นมาจากปฏิทินของชาวมายาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของดาราศาสตร์ วันสิ้นสุดการคำนวนวันของปฏิทินนี้ (เพื่อสนับสนุนความเชื่อเรื่อง Doomsday)ไปจบอยู่ที่วันที่โลกเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในแนวระนาบของทางช้างเผือกที่เรียกว่า Dark rift ซึ่งในวันนี้เป็นวันที่ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่บางดวงและดวงอาทิตย์เข้าไปอยู่ในระนาบนี้ด้วย ประจวบเหมาะกับเป็นปีและเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์จะปล่อยพายุสุริยะออกมาพอดี แล้วก็เอาเรื่องของแรงดึงดูดบ้าง เอาเรื่องของพายุสุริยะบ้าง เอาเรื่องของช่วงเวลาที่ท้องฟ้ามืดมัวบ้าง มาผูกกันเป็นการทำนายคาดฝันว่าความบังเอิญเหล่านี้ จะทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆบนผิวโลกซึ่งจะทำให้สรรพสิ่งมีชีวิตในโลกสิ้นสุดลง ไปจนถึงกระทั่งการแตกสลายของโลก

ประการแรก เรื่องของแรงดึงดูดที่อธิบายว่า จะมีแรงดึงดูดมากขึ้น ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทั่วไป แท้จริงแล้วแรงดึงดูดในระบบทางช้างเผือกที่จะเพิ่มมากขึ้นจนมีผลต่อโลกนั้น มันห่างไกลมากจนมีอิทธิพลมีผลต่อโลกของเราน้อยมากๆๆๆ เพราะเราอยู่ในระบบแรงดึงดูดของระบบสุริยะจักรวาลซึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง (ระบบสุริยะจักรวาลของเราเป็นติ่งน้อยนิดในทางช้างเผือกเท่านั้น)
ประการที่สอง เรื่องของพายุสุริยะ เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Electromagnetic field ที่จะมีผลโดยตรงต่อเส้นแรงแม่เหล็กโลก ระบบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เราใช้ในการสื่อสาร และระบบไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ตามบ้านในปัจจุบัน ซึ่งจะเปลี่ยนไป ขาดหายไป และใช้ไม่ได้ในช่วงที่พายุสุริยะเดินทางผ่านโลกเรา แท้จริงแล้วโลกเราเคยโดนพายุนี้มาแล้วสองครั้งใหญ่ๆ ในช่วงปี 1800++ และในช่วงปี 1900+++ สำหรับครั้งแรกได้ทำให้คนสามารถอ่านหนังสือพิมพ์ได้ในเวลากลางคืน และสำหรับครั้งที่สองได้ทำให้ระบบไฟฟ้าตามบ้านเรือนดับไปเกือบจะครึ่งทวีป (สหรัฐฯตอนเหนือและแคนาดา) แล้วก็มีการอธิบายด้วยว่าจะมี Cosmic particle ลงมาถึงยังพื้นโลกมากมาย ทำให้เกิด......ซึ่งแท้จริงแล้วมีแต่ไม่มากซึ่งสนามแม่เหล็กโลกจะช่วยป้องกันไว้ แล้วก็อีกประการหนึ่งก็ว่าเส้นแรงแม่เหล็กโลกจะกลับทิศ อือม์..เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดมาจากกลไกของแกนกลางโลก คงจะไม่เกี่ยวกันกระมัง
ประการที่สาม เรื่องท้องฟ้ามืดมัวนั้น ผมไม่มีความสามารถเอาภาพ Abstract ที่ทราบมาบรรยายได้ครับ

อนึ่ง โลกได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 4500 ล้านปีแล้ว คงจะผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มามากหลายรอบแล้ว โลกคงจะยังไม่แตกสลายไปง่ายๆ และเรื่องตายหมู่จนสิ้นเผ่าพันธุ์ (Extinction) นั้น ที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องของอุกกาบาต ซึ่งด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันเราทราบได้ว่ามีดาวเคราะห์น้อยใดๆบ้างที่มีวิถีวงโคจรมาชนโลก

ผมเห็นว่าเรื่องทั้งหลายก็ปั้นกันขึ้นมาบนฐานทางวิทยาศาสตร์เหมือนเรื่องของ Y2K

ลองไปอ่านเรื่องราวและพิจารณาไปตามความเชื่อของตนเองในเว็ปไซด์นี้ซิครับ
     http://www.nasa.gov/topics/earth/features/2012-alignment.html
และ
     http://www.viewzone.com/endtime.html
    

  

  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 14 เม.ย. 12, 20:14

กลับไปปัดฝุ่นความหลังแล้วนึกได้ว่า สมัยเรียนหนังสืออยู่ต่างแดน   เป็นยุคที่เขากำลังฮือฮากันว่ามนุษย์ต่างดาวเคยมาสร้างอารยธรรมเก่าแก่เอาไว้บนโลกนานแล้ว ในนามของชนเผ่าต่างๆที่สาบสูญไป    ชาวมายาก็เป็นหนึ่งในนั้น  เพราะมีภูมิรู้ทางดาราศาสตร์สูงเกินกว่าชนบ้านป่าเมืองเถื่อนจะคำนวณกันได้
ดิฉันก็พลอยตื่นข่าวไปด้วย  ไปเสียสตางค์หาหนังสือมาอ่านอยู่หลายเล่ม    ในนั้น  เขาก็อ้างการคำนวณด้วยปฏิทินมายานี่แหละว่าพระเจ้าจากอวกาศจะกลับมาในวันคริสต์มาสปีไหนก็จำไม่ได้แล้ว  คลับคล้ายคลับคลาว่าปี 1970s  หรืออย่างมากก็ 1980s  นี่แหละค่ะ   
ผ่านมาจนข้ามเข้าศตวรรษใหม่ก็ยังไม่เห็นพระเจ้าที่ว่านั่นนั่งจานบินมาถึงสักคน   ไม่เท่าไรปฏิทินมายาถูกอ้างว่าโลกจะแตกอีกแล้ว
ถ้าปลายปีนี้โลกไม่แตก   ปีหน้าหรือปีโน้นปฏิทินมายาคงทำนายอะไรออกมาแปลกๆ อีกตามเคย

มอบกระเช้าดอกไม้ให้ท่านนักธรณีวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกท่านสถาปนิกลากมาจากหลังห้อง    ขอบคุณที่ทำให้เตรียมฉลองปีใหม่หลังวันที่ 21 ธ.ค.ได้อย่างโล่งใจค่ะ


บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 14 เม.ย. 12, 23:55

โดยส่วนตัวในฐานะคนสนใจมุมมองทางโบราณคดีมา
ผมเป็นคนหนึ่งที่แอบรู้สึกว่าคนเรียนสายวิทย์ยุคปัจจุบันจำนวนหนึ่งมักประเมินความรู้ของคนโบราณน้อยไปนิด
ทั้งๆที่สังคมปัจจุบันเติบโตมาได้ ก็ด้วยการอาศัยองค์ความรู้ของคนยุคก่อนๆหน้าด้วยกันทั้งนั้น

เรื่องการคำนวนทางดาราศาสตร์เป็นปรากฏการณ์สำคัญครับ
คนจะเป็นผู้นำคน (ในโลกยุคที่ยังไม่มีอุปกรณ์อะไร Hi-tech เลยสักอย่าง)
ถ้าไม่ใช้วิธีการคำนวน การทำปฏิทิน การคะเนฤดู จะเอาอุปกรณ์ชนิดไหนมาเป็นอาวุธล่ะครับ?

ใครเคยอยู่เมืองหนาวมาก่อน คงพอจะทราบ ว่าปีนึงๆมันสั้นแค่ไหน
และเวลาฤดูหนาวมาถึงแล้ว... ทุกอย่างโหดร้ายสักแค่ไหน
ถ้าคะเนการเพาะปลูก หรือเก็บเกี่ยวผิดแค่สัปดาห์เดียว...
อาจจะเอาชีวิตไม่รอดกันได้... นี่เป็นเรื่องธรรมดา....

แล้วถ้าพื้นฐานวิถีชีวิตเริ่มต้นขึ้นมาด้วยวิถีชีวิตชนิดนี้
มันจะแปลกอะไรล่ะครับ ถ้าดาวทั้งหลายที่เป็นเครื่องมือกำหนดปฏิทินจะกลายเป็นเทวดาไปเสียหมด?
แถมยังมีตำนานอะไรไม่รู้ร้อยแปดพันเก้าเกี่ยวกับดาว (และเทวดาว เอ๊ย เทวดา) พวกนี้อีกเยอะสะบึมตรึมเสียด้วยแหนะ



เอาเถอะ บ่นมาเยอะแล้ว...
อยากเรียนถามท่านๆทั้งหลายที่สนใจข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ครับ
ว่าเคยได้ยินเรื่องรูปสัตว์แต่ละตัวบนจิตรกรรมฝาผนังถ้ำอายุ 6000 ปีในสเปน
ที่เขาว่ากนว่าน่าจะเป็นปฏิทินดาวของโลกยุคโบราณที่เก่าที่สุดกันบ้างไหมครับ?

ถ้าท่านเคย อยากเรียนถามพวกท่านดูครับ ว่าคิดอย่างไรบ้าง...
เพราะในวงโบราณคดีเขาเถียงกันคอเป็นเอ็นแล้วล่ะครับ แหะๆ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 เม.ย. 12, 03:57

เรียนท่านติบอครับ

ผมว่าคนที่อยู่ในสายวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ไม่ได้ประเมินความรู้ของคนโบราณต่ำนะครับ
จริงๆ แล้วมีพัฒนาการจากยุคโบราณมากมายที่คนในสมัยปัจจุบันต้องทึ่งในความรู้ความสามารถที่คนในยุคนั้นทำได้
หรือบางอย่าง แม้แต่เทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สูงหรือดีพอที่จะไขปริศนาได้  ตัวอย่างเช่นสุสานของจิ๋นซี  ทุกวันนี้เรารู้ว่าอยู่ที่ไหน เป็นภูเขาที่ถูกสร้างขึ้นมาทั้งลูก
แต่ยังไม่มีการขุดสำรวจ เพราะเราไม่แน่ใจว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน จะดีพอที่จะรักษาสภาพภายในไว้ได้
และทุกวันนี้ อารยะธรรมต่างๆ ก็มีรากฐาน ต่อยอดพัฒนามาจากยุคโปราณเช่นกัน เพียงแต่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมากเป็นพิเศษในช่วง 2-300 ปีมานี้


เรื่องของปฏิทินก็เช่นกัน  ต้องอาศัยความรู้และการช่างสังเกตุของคนโบราณในการทำ  และเรื่องปฏิทินนี่ มีการพัฒนาขึ้นมาในหลายๆ อารยะธรรม โดยอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย
เพราะมนุษย์ที่ช่างสังเกตุ ช่างสงสัย มีอยู่ในทุกที่ และการมีปฏิทินที่แม่นยำ มีผลต่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มาก โดยเฉพาะในอารยะธรรมที่มีการตั้งถิ่นฐานและมีการเพาะปลูก


แต่ปัญหาหนึ่งในปัจจุบันคือ มีคนที่อาศัยเรื่องราวโบราณ เช่นตำนาน คำทำนาย หรือแม้แต่เทคโนโลยี เอามาตีความมั่วซั่วตามอำเภอใจ เผยแพร่ออกมาเพื่อสร้างความกลัว และสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง
เช่นเรื่องปฏิทินมายา  สิ้นสุดที่ปี 2012  อาณาจักรมายาสูญสลายไปอย่างน้อยก็สี่ห้าร้อยปีแล้ว  ถ้าผมเป็นคนมายาที่คำนวณปฏิทินยุคก่อนเมื่อ 500 ปีที่แล้ว เขียนปฏิทินล่วงหน้า
คำถามคือ ผมจะเขียนล่วงหน้าไปถึงเมื่อไหร่ดี  ในเมื่อวันคืนอนาคตมันไม่มีที่สิ้นสุด ผมอาจจะเขียนไปถึง 500 ปีข้างหน้าพอก็ได้ หรืออาจจะเขียนล่วงหน้าไปพันปี  ถ้าแบบนั้น วันนี้ก็คงไม่มีใครพูดถึงปฏิทินนี้
แต่อีก 500 ปีข้างหน้า อาจมีก้องภพ 2 สมิทธ 2 หรือใครก็ได้ ออกมาทำนายว่าโลกจะแตกอีกก็ได้ เพราะไม่ว่ายุคสมัยไหน คนที่ใช้อวิชชา ชอบเรื่องลี้ลับ ไม่ใช้หลักเหตุผล ก็ยังคงมีอยู่


เรื่องจิตรกรรมโบราณในถ้ำที่สเปนนี่ผมไม่เคยได้ยินนะครับ  เคยได้ยินแต่ว่ามีจิตกรรมโบราณในถ้ำที่ฝรั่งเศสบางแห่ง สวยงามยอดเยี่ยมมาก  แต่ไม่เปิดให้คนทั่วไปชม เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้
ส่วนเรื่องที่ว่าจะเป็นปฏิทินดาวของคนยุคโบราณ หรือแค่มือบอนซน ว่างๆ ไม่มีอะไรทำเลยขีดเขียนไปเรื่อยเปื่อน มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้อารยะธรรมโบราณพัฒนาช้า ส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพชีวิตที่ยากลำบาก ผลผลิตที่มีจำกัด อายุขัยเฉลี่ยสั้น อายุ 20 กว่าๆ ก็ตายกันแล้ว ยืนพอที่จะสืบพันธุ์ แต่ตายเร็วเกินกว่าที่จะมีเวลาคิดค้น ถ่ายทอด ส่งผ่านความรู้กันได้
จนภายหลังมีการตั้งถิ่นฐาน สามารถผลิตอาหารได้มากพอที่จะเลี้ยงคนที่มีหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตอาหารได้  อายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น  พัฒนาการทางมนุษย์จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 15 เม.ย. 12, 08:35

ผมไม่ขอแสดงความเห็นทั้งเรื่องดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ที่ท่านกำลังอภิปรายกันอย่างน่าสนใจยิ่ง เพราะมีความรู้ไม่พอในเรื่องทั้งสองเลย แต่อยากจะใช้จินตนาศาสตร์มาระบายสีสันให้กระทู้บ้าง

เพียงในช่วงอายุของคนวัยเกษียณอย่างผม จะพบความเปลี่ยนแปลงของอาคารบ้านเรือนและจำนวนผู้คนพลเมืองมากมายยิ่งนัก เมื่อขึ้นภูเขาทองสมัยเด็กๆแล้วเดินดูไปรอบๆ จะเห็นแต่ความเขียวขจี ตึกรามบ้านเรือนที่แทรกอยู่ก็พองาม  แต่ครั้งหลังที่ถ่อสังขารขึ้นไป เห็นความงดงามอยู่กระหย่อมเดียวทางทิศที่เป็นหัวใจของเกาะรัตนโกสินทร์  อ้อมไปดูฝั่งตรงข้ามแล้วน่าใจหาย สิ่งก่อสร้างที่สมมุติบัญญัติกันว่าเป็นความความเจริญสมัยใหม่นั้น ได้เข้าแย่งชิงพื้นที่ทั้งดินและฟ้าเป็นก้อนทะมึน จริงๆนะครับ ความรู้สึกของผมเหมือนกำลังยืนดูคลื่นซึนามิที่กำลังโถมเข้ามาหาตัว

ด๊อกเตอร์ทางเอนจิเนียร์คนหนึ่งคุยกันเล่นๆกับผมนานมาแล้วว่า สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ความเจริญของโลกมีอัตราเร่งเป็นบวก ผันแปรตามจำนวนปี คือ ปีที่1+1=2เท่า, ปีที่2+2=4เท่า, ปีที่3+3=6เท่า, ปีที่4+4=8,ปีที่5+5=10เท่า ……∞  พอหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อัตราเร่งนี้เปลี่ยนเป็นตัวคูณ  ผันแปรตามจำนวนปี จะเป็น   ปีที่1X1=2เท่า, ปีที่2X2=4เท่า, ปีที่4X3=12เท่า,ปีที่4X4=16เท่า,ปีที่5X5=25เท่า ……∞ แต่พอเข้ายุคคอมพิวเตอร์สักสิบกว่าปีให้หลังมานี่ อัตราเร่งนี้ได้เปลี่ยนเป็นตัวเลขยกกำลัง  ที่ผันแปรตามจำนวนปีไปแล้ว กลายเป็น ปีที่1ยกกำลัง1 =1เท่า, ปีที่2ยกกำลัง2 =4เท่า, ปีที่3ยกกำลัง3 =27เท่า,ปีที่4ยกกำลัง4 =256เท่า,5ยกกำลัง5 =3125เท่า,…∞

ถึงแม้ตัวเลขของพี่เค้าจะเวอร์ไปบ้าง แต่ก็ไม่ผิดกติกาของจินตนาศาสตร์ น่าเอามาจินตนาการต่อเป็นอย่างยิ่ง ผมถามว่า แล้วโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร เขาก็ตอบยิ้มๆว่า มันก็อยู่ไม่ได้ ถ้าธรรมชาติไม่ทำลายมนุษย์ มนุษย์ก็ทำลายกันเอง

กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์..ฯของเรา เมื่อเร็วๆนี้เองมีข่าวว่า นักวิชาการสิงคโปรใช้คอมพิวเตอร์คำนวณระบบสาธารณูปโภค หลักๆ เช่น ประปา ไฟฟ้า ถนน กับความสามารถในการหาแหล่งวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตมาสนอง ให้พอเพียงกับอัตราความเจิญเติบโตราวกับข้าวโพดคั่วที่กำลังแตกเม็ด พบว่าอย่างมาก๑๖ปี มหานครนี้จะถึงทางตัน ขนาดต้องทิ้งเมืองกันทีเดียว

ตรงนั้นยังไม่ย่ำแย่เท่าปัญหาสังคมที่คู่ขนานกันมา คนร่วมชาติร่วมเมืองของเราจะพูดกันไม่รู้เรื่อง คนมีความคิดเห็นต่างกันสุดโต่งในเรื่องความดีและความชั่ว กลายเป็นศัตรูกันขนาดต้องทำลายล้าง เด็กรุ่นใหม่เติบโตในระบบการศึกษาที่ไม่เหมือนคนรุ่นเดิม ทำให้ความคิดความเห็นไม่ตรงกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย พูดคุยไม่เข้าใจกัน ศีลธรรมจรรยาประเมินแล้วมีค่าน้อยกว่าเงิน คนหนุ่มคนสาวทำทุกอย่างเพื่อจะได้เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี พระเลิกให้พรโยมว่า ขอให้มีวรรณะ สุขะ พละ มาเป็น ขอให้รวยๆๆๆ

ประเทศอื่นๆหลายชาติก็กำลังเจริญขึ้นพร้อมกับเสื่อมลงอย่างน่ากลัวเช่นเดียวกันนี้

ผมก็อาจจะเว่อร์ไปนิดเหมือนกัน แต่ถ้าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ให้Mr. Smithแกทายถูกยังดีกว่าเห็นมิคสัญญีที่คนทั้งโลกจะจับอาวุธออกมาฆ่าล้างโคตรกันเองนะขอรับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 15 เม.ย. 12, 08:54

'สมิทธ'ชงสร้างเขื่อนปิดอ่าวไทย แปดริ้ว-ชะอำ

"จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของผม ที่ได้ศึกษามาเชื่อได้ว่าจะเกิดสึนามิอีกแน่นอน เกิดได้จาก ๒ จุดที่จะกระทบฝั่งตะวันตกของไทยฝั่งอันดามันตั้งแต่จ.ระนองถึงสตูล และฝั่งตะวันออก ด้านอ่าวไทย พื้นที่ปลอดภัยที่สุดของประเทศไทยจะอยู่ที่ภาคอีสาน เพราะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ก็ศึกษาพบว่าในไม่กี่ปีข้างหน้า พื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม จะถูกน้ำท่วมถาวร หากจะไม่ให้ท่วมก็ต้องทำเขื่อน ผมจะเสนอรัฐบาลให้สร้างเขื่อนปิดอ่าวไทยตั้งแต่จ.ฉะเชิงเทรา ถึงอ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ไม่ให้น้ำทะเลเข้ามาภายในได้ บนเขื่อนก็ให้รถวิ่งได้ และค่าสร้างเขื่อนนี้ก็เท่ากับการสร้างรถไฟฟ้า ๑ สาย ผมจะทำเรื่องถึงรัฐบาลให้พิจารณา เพราะไม่เช่นนั้นรถไฟฟ้าที่กำลังสร้างกันอยู่หลายสายก็จะถูกน้ำท่วม ส่วนเรื่องน้ำที่ท่วมกรุงเทพฯ ปีที่แล้วไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ ต้องโทษมนุษย์ที่บริหารไม่เป็น ซึ่งการตั้งผมเป็นกยน. ก็มีการทักท้วงว่าผมวิจารณ์มากเกินไป ผมก็อยากให้ปลดจะได้วิจารณ์ได้มากขึ้น แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ปลด ซึ่งอาจจะปลดในเร็ว ๆ นี้ก็ได้" นายสมิทธ กล่าว



กรุงเทพฯ อาจจะห่างไกลจากภัยจากสึนามิและแผ่นดินไหว

แต่โปรดเตรียมใจไว้พบกับภัยจากน้ำท่วมถาวร

ร่วมคิดแก้ไขก่อนจะสายเกินแก้

 ตกใจ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 20 คำสั่ง