เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 34963 เคราะห์ร้ายของผู้หญิงจีนโบราณ
อ้อยขวั้น
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 03 พ.ค. 01, 13:42

นึกไปนึกมา  เพศหญิงมักมีอะไรที่...อือ...ต้องเจ็บตัวแบบแปลกๆ นะคะ  อย่างรัดเท้า  สวมห่วงทองเหลืองที่คอ  สวมคอร์เซ็ท  เจาะหูเจาะจมูก  ถูกขลิบ!  แย่จัง...
บันทึกการเข้า
ชักงง..
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 03 พ.ค. 01, 21:43

เอ๋! ผูู้หญิงถูกขลิบตรงไหนหนอ..คุณอ้อยขวั้น
บันทึกการเข้า
แอร์
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 03 พ.ค. 01, 23:11

น่านจิ  ถูกขลิบตรงไหนเหรอคะพี่อ้อยขวั้น
บันทึกการเข้า
อ้อยขวั้น
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 04 พ.ค. 01, 09:08

ทำนองเดียวกับสุหนัดของผู้ชาย  แต่ผู้หญิงบางคนโชคร้ายถูกขลิบ-ปาดออกมากเกินไป  หรือติดเชื้ออักเสบ  แบบในเรื่องกุหลาบทะเลทรายที่กำลังลงในพลอยแกมเพชรตอนนี้น่ะค่ะ  หวาดเสียว...
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 05 พ.ค. 01, 06:11

genital mutilation เป็นประเด็นสิทธิสตรีที่มีอยู่ในบางภูมิภาคของโลกครับ เช่นในทะเลทรายอย่างว่า

มักจะมีการเข้าใจผิด หรืออ้างว่าเป็นธรรมเนียมมุสลิม ที่จริงอิสลามกำหนดแต่การเข้าสุหนัตหรือขลิบปลายหนังหุ้มอวัยวะเพศชายเท่านั้น การ" ขลิบ" หญิงนี่ เป็นแค่ธรรมเนียมปฏิบัติเฉพาะถิ่น บางเผ่า บางกลุ่มชน ไม่เกี่ยวกับอิสลาม แต่ผู้ชายกลุ่มหรือเผ่าเหล่านั้นก็ชอบอ้างศาสนาอิสลามมาเกี่ยวด้วย

เวลาขลิบอวัยวะเพศหญิง ขอโทษนะครับคุณสุภาพสตรี คือขลิบหรือตัดปุ่มที่ทำให้ผู้หญิงมีความรู้สึกหรือมีความสุขทางเพศออกไปครับ เขาเชื่อกันว่าพอขลิบแล้วผู้หญิงจะได้เป็นผู้หญิงที่ "ดี" ไม่ "ร่าน"  คือผู้ชายเผ่านั้นตัดโอกาสที่เธอจะมีความสุขทางเพศไปเลยตลอดชีวิต มีหน้าที่ผลิตลูกอย่างเดียว กลัวว่าถ้าเธอรู้สึกสนุกกับเซ็กซ์แล้วจะติดใจ เสียคน - ไม่ยุติธรรมเลยใช่ไหมครับ

แล้วก็อย่างที่คุณอ้อยขวั้นว่าคือ ทำไม่สะอาดหรือปาดออกมากไป ผู้หญิงถึงตายก็มี

เป็นเรื่องที่เป็นประเด็นทางสิทธิสตรีมาพักหนึ่งแล้วครับ ประชาคมโลกก็พยายามเรียกร้องให้เลิกธรรมเนียมนี้อยู่
บันทึกการเข้า
Linmou
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 05 พ.ค. 01, 09:50

ข้องใจอย่างยิ่งว่าเรื่อง "ซิยิ่นกุ้น" นี่
ใครเป็นคนแต่ง?
แต่งในยุคไหน?
เพราะว่ามันไม่ตรงกับบันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถัง(จิ้วถังซู)เอาเสียเลย

นอกจากเรื่องที่ว่า เซวเหรินกุ้ย(ซิยิ่นกุ้ย)เป็นแม่ทัพที่เก่งมากในสมัยของถังไท่จง(หลี่ซื่อหมิน)และถังกาวจง(หลี่จื้อ โอรสหลี่ซื่อหมิน สวามีบูเช็คเทียน)เท่านั้น

ใน "จิ้วถังซู"  บท "ชีวประวัติเซวเหรินกุ้ย" บันทึกไว้ว่า :

 "เซวเหรินกุ้ยป่วยเสียชีวิต รวมอายุได้ 70 ปี ได้รับการเลื่อนยศไล่หลังเป็นจอมทัพฝ่ายซ้าย เซวเหรินกุ้ยมีบุตรชายนามเซวเน่อ และ เซวฉู่อวี้ ต่างเป็นทหารเหมือนบิดาทั้งคู่ เซวเน่อได้เป็นแม่ทัพและเป็นแม่ทัพที่ตงฉินเช่นกัน ส่วนเซวฉู่อวี้ตายแต่ยังหนุ่ม เซวฉู่อวี้มีบุตรนามเซวกาว เป็นคนองอาจห้าวหาญ ไม่สืบสนใจจัดการกับมรดกทรัพย์สินของตระกูล มีพลกำลังมหาศาล เก่งกาจในด้านขี่ม้ายิงธนู บุตรชายเซวกาวนามเซวผิง"

ส่วนประเพณีการรัดเท้านั้น ฟังว่าเริ่มมีในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ค่ะ
เรียงง่ายๆดังนี้

ราชวงศ์ถัง ค.ศ. ๖๑๘ - ๙๐๗
ยุคห้าราชวงศ์ ค.ศ. ๙๐๗ - ๙๖๐
ราชวงศ์ซ่งเหนือ ค.ศ. ๙๖๐ - ๑๑๒๗
ราชวงศ์ซ่งใต้ ค.ศ.๑๑๒๗ - ๑๒๗๙

ก่อนสมัยราชวงศ์ถังนั้น(ไม่นับราชวงศ์สุยที่อายุยืนแค่ไม่ถึง ๔๐ ปี)เป็นยุคแบ่งแยกดินแดน เกิดสงครามยาวนานหลายร้อยปี และส่วนเป็นยุคที่ชนกลุ่มน้อยครองเมือง บรรดาฮ่องเต้ของราชวงศ์ต่างๆเป็นชนกลุ่มน้อยแทบทั้งนั้น

 เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากบรรดาชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ ทำให้สตรีในราชวงศ์ถัง(โดยเฉพาะบรรดาชนชั้นสูง)มีสิทธิในการเลือกและเปลี่ยนคู่ครองสูง แต่งงานแล้ว สามีก็มีเมียน้อยไป ภรรยาก็ไปคบชู้ได้ตามสบาย อย่างบูเช็คเทียนที่เป็นภรรยาพ่อแล้วมาเป็นภรรยาลูกต่อนั้น เป็นเรื่องปกติสำหรับธรรมเนียมของชนกลุ่มน้อย ในยุคนั้นไม่มีใครถือสา ผู้หญิงเองก็แต่งงานใหม่ได้ตามใจชอบ สินเดิมที่พ่อแม่ให้มาตอนแต่งงานก็ถือเป็นสมบัติส่วนตัวของฝ่ายหญิง ที่จะนำติดตัวไปได้เมื่อแต่งงานใหม่ได้ด้วย

 คนจีนยุคหลังราชวงศ์ซ่งเหนือไปแล้วต่างหาก ที่มารื้อฟื้นเรื่องเคร่งครัดในหลักการของขงจื่อจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมของผู้หญิงจีนไป

ส่วนการรัดเท้านั้น ฟังว่า เพื่อทำให้เวลาเดิน จะดู "เยื้องกราย ส่ายไปมา" อย่างงดงาม(เพราะเจ็บเท้า เดินไม่ถนัด เลยเดินโขยกเขยก อย่างนั้นเขาเรียกว่าสวย ในสมัยนั้น)

สุดท้าย ข้องใจอย่างยิ่งว่า ใครเป็นผู้แต่งพงศารดาร "ซิยิ่นกุ้ย"?
น่าอัญเชิญไปถกเหตุผลกับ "หลิวซวี่"  ผู้เรียบเรียง "จิ้วถังซู" (ในโลกวิญญาณ)จริงๆ

ทำไมผู้เฒ่าผู้แก่เชื้อสายจีนในเมืองไทยดูเหมือนจะมีบรรดาพงศาวดารเหล่านี้อยู่กันหลายท่าน แต่ดูเหมือนจะไม่มี "เจิ้งสื่อ" อยู่ในมือกันเลยสักท่านหนอ? ทั้งที่มันก็ขายออกเกลื่อนเมืองจีนมานานเป็นพันปีแล้วอย่างนี้
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 05 พ.ค. 01, 11:26

ขออภัยคุณเทาฯนะคะ  มาทักทายคุณหลินหน่อยค่ะ  คิดถึงจัง เรียนหนักเหรอคะ  ดีใจมากที่คุณปลีกเวลามาแจมได้แล้วน่ะค่ะ
บันทึกการเข้า
Linmou
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 05 พ.ค. 01, 19:01

เรียนหนักขนาด ได้วันหยุดติดกัน ๑๑ วัน ก็ไปไหนไม่ได้เลย เวียนว่ายตายเกิดอยู่กับกองหนังสือ ไม่ในบ้าน ก็ในหอสมุดน่ะค่ะ

T_T
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 06 พ.ค. 01, 07:25

คุณ นกข อธิบายได้หมดจดดีจังค่ะ  ดิฉันเห็นมาหลายวัน ไม่รู้จะเขียนอย่างไรให้ไม่เกิดความรู้สึกขยักขย่อนขึ้นมาได้น่ะค่ะ

ที่น่าสลดใจมากก็คือ  ในสังคมที่เชื่อสิ่งเหล่านี้  ผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการสืบทอดประเพณีปฏิบัติเหล่านี้  หรือการต่อเนื่องความทุกข์ทรมานของลูกผู้หญิง  ก็คือผู้หญิงด้วยกันเองนั่นแหละค่ะ  ความกลัว เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด  โดยแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิง  แม้จะผ่านความโหดร้ายทรมานเหล่านี้มาด้วยตัวเอง  แต่สิ่งที่ทำให้กลับกลายมาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดด้วยความเต็มใจ  ก็คือความหวาดกลัวว่า  ลูกหญิงน้อยของตัว  จะผจญกับชะตากรรมอันน่าสยดสยองเสียยิ่งกว่าการแล่เนื้อเถือหนังอย่างนี้  คือกลัวว่าจะแต่งงานกับใครไม่ได้  การเป็นหญิงโสดในสังคมเหล่านี้  ก็เหมือนถูกสาบ  และเป็นที่เย้ยหยันกดขี่ในสังคมเหล่านี้ตลอดชีวิต  ในสังคมมุสลิมแบบ fundamental อย่างพวกทาลีบันนั้น  ผู้หญิงจะออกนอกบ้านไปโดยลำพังยังไม่ได้เลยค่ะ  จับได้แล้วจะถูกโบยกลางถนนกันเลย

มีบทความที่เขียนขึ้นจากปากคำของผู้หญิงเหล่านี้ที่หลบหนีออกมาใช้ชีวิตในโลกตะวันตก  และพยายามกลับไปแก้สถานการณ์เหล่านี้  ลงในหนังสือพิมพ์ที่ได้อ่านอยู่เรื่อยๆเลยค่ะ  แล้วก็มีเพื่อชาวอียิปต์คนหนึ่ง  ตัวเค้าเองบอกว่า  สมัยเค้าเป็นสาวๆ  ไม่มีเรื่องอย่างนี้เลยค่ะ  แต่ต่อมารุ่นหลังๆ  พวก fundamentalists เริ่มได้อำนาจการปกครองในหลายๆท้องที่  แม้ในอียิปต์เอง  ที่ถือว่า  เป็นประเทศที่มีระดับการศึกษาสูงๆ  ก็เริ่มหันกลับไปทำแบบนี้กัน  โดยมีแม่หรือป้าน้าอาของเด็กผู้หญิงนั่นเองแหละค่ะ  ที่จับเด็กวัยแรกสาวมาทำทุรกรรมกัน  แล้วก็ใช้เครื่องมือตามบ้าน  เช่นใบมีดโกนเก่าขึ้นสนิม  บางแห่งตามหมู่บ้านกันดาร  ยังใช้หนามไม้มาแทนมีดเลยค่ะ  มีเด็กติดเชื้อตายไปก็มาก  พอดีกว่าค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 06 พ.ค. 01, 09:48

สวัสดีค่ะคุณ Linmou และคุณพวงร้อย  
หายไปพักใหญ่   กำลังรอว่าเมื่อไรจะกลับมา พอเห็นในกระทู้นี้ก็เลยทักทยสองคนรวด
เรื่อง "เจิ้งสื่อ" เป็นเรื่องอะไรคะไม่เคยได้ยินชื่อนี้ ?ภาษาจีนในเกร็ดพงศวดารมักจะออกสำเนียงแต้จิ๋วมากกว่าจีนกลาง

ซิยิ่นกุ้ย ไม่บอกชื่อคนจีนผู้แต่ง    ต่อจากนั้นคือเรื่องซิเตงซันลูกชายของซิยิ่นกุ้ยที่ไปได้นางฮวนลิฮวย
ดิฉันสงสัยมานานแล้วว่า "เกร็ด" พงศาวดารนี่มีแต่" เกร็ด"จริงๆ   หรือจะมองอีกทีก็เรียก "เกล็ด" ก็ได้  คือเอามาแต่เกล็ด  ทิ้งปลาไปทั้งตัว
ประเพณีในเรื่องก็ดูซ้ำๆ อย่างบังคับให้ลูกสาวโดดน้ำตายก็มีในเรื่อง จอยุ่ยเหม็ง    เรื่องรัดเท้าก็เช่นกัน

เรื่องการขลิบผู้หญิงอย่างที่ว่าเป็นเรื่องน่าเวทนาเพศหญิงมากค่ะ     กำลังนึกว่าในเมืองไทย โชคดีที่ผู้หญิงไทยไม่เจอขนาดนั้น
แต่สมัยอยุธยาจนต้นรัตนโกสินทร์  ผู้หญิงก็ถูกขายเป็นทาสได้เหมือนสัตว์เลี้ยงหรือสมบัติของพ่อและสามีเช่นกัน  ในตอนก่อนจะแก้ไขในรัชกาลที่ ๔   ผู้หญิงถึงไม่สมัครใจก็ถูกพ่อและสามีขายได้
บันทึกการเข้า
Linmou
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 06 พ.ค. 01, 11:19

สวัสดีค่ะคุณเทาชมพู คุณพวงร้อย และทุกท่านในเรือนไทย(มาสองครั้งก่อนเสียมรรยาทไปหน่อย ไม่ได้ทักทาย แหะๆ)

"เจิ้งสื่อ"  จะแปลว่า "ประวัติศาสตร์จีนมาตรฐาน" ก็ได้ค่ะ รู้สึกจะเริ่มมีมาแต่สมัยราชวงศ์ถัง และจะมีการเรียบเรียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามยุคสมัย ล่าสุดได้มีการประกาศโดยจักรพรรดิเฉียนหลงให้ "เจิ้งสื่อ"  มีทั้งหมด ๒๔ ชุด เรียกว่า "๒๔ สื่อ"(เอ้อรสือซื่อสื่อ)

"เจิ้ง"  แปลว่า มาตรฐาน หรือ ถูกต้อง ; "สื่อ" แปลว่า ประวัติศาสตร์ค่ะ

เนื่องจาก "เจิ้งสื่อ"  = "๒๔ สื่อ"  อยู่นานหลายร้อยปี ผู้คนส่วนใหญ่จึงมักเคยชินกันว่า "เจิ้งสื่อ" คือ "๒๔ สื่อ" กันอยู่ ซึ่ง "๒๔ สื่อ" มีดังนี้ค่ะ

๑. สื่อจี้(บันทึกประวัติศาสตร์) เรียบเรียงโดย ซือหม่าเชียน(บิดาแห่งการบันทึกประวัติศาสตร์จีน) บุคคลในสมุยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เป็นหนังสือ "ทงสื่อ" หรือ บันทึกประวัติศาสตร์นับแต่อดีตถึงปัจจุบันชุดแรกในประวัติศาสตร์จีน บันทึกเรื่องราวตั้งแต่สมัย "จักพรรดิเหลือง" ถึง สมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ รวมเวลาประมาณ ๓,๐๐๐ ปี มีทั้งสิ้น ๑๓๐ บท

๒. ฮั่นซู(ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่น) เรียบเรียงโดย ปานกู้ บุคคลในสมัยต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันออก(คนนี้ต้องติดคุกจนตายเพราะไม่ยอมแก้สำนวนที่ฮ่องเต้สั่งให้แก้) เป็นหนังสือบันทึก ปวศ. ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ต่อจาก "สื่อจี้" ของซือหม่าเชียน มีทั้งสิ้น ๑๐๐ บท

๓. โฮ่วฮั่นซู(บันทึกปวศ.ราชวงศ์ฮั่นเล่มหลัง) เรียบเรียงโดย ฟ่านเยี่ย บุคคลในยุคราชวงศ์ใต้(ต่อจากราชวงศ์จิ้นของลูกหลานสุมาอี้) มีทั้งหมด ๑๒๐ บท

๔. ซานกั๋วจื้อ(บันทึก ปวศ. สามแคว้น) หรือสามก๊กนั่นเอง แต่เล่มนี้ไม่ใช่พงศาวดาร เป็นบันทึก ปวศ. ของจริง ซึ่งยังไม่เคยได้รับการแปลมาก่อน เรียบเรียงโดย เฉินโซ่ว บุคคลในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตก(รางวงศ์ของลูกหลานสุมาอี้) ๖๕ บท

๕. จิ้นซู(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์จิ้น) นำเรียบเรียงโดย ฝางเสวียนหลิง ขุนนางใหญ่ในราชวงศ์ถัง(คำว่า "นำ" หมายถึง ตอนนั้นเขาเป็นอัครมหาเสนาบดี การเรียบเรียงบันทึก ปวศ. ในยุคหลังลงมา จะให้พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายบันทึก ปวศ. เป็นผู้บันทึก แล้วอัครมหาเสนาบดีจะเป็นผู้นำขึ้นถวายฮ่องเต้ จึงลงชื่อว่า อัครมหาเสนาบดีผู้นั้นเป็นผู้ "นำเรียบเรียง") ๑๓๐ บท

๖. ซ่งซู(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์ซ่ง) เรียบเรียงโดย เสิ่นเยว(ยว อ่านควบ) บุคคลในแคว้นเหลียงแห่งยุคราชวงศ์ใต้ (เล่มนี้เป็นบันทึกปวศ. ของแคว้นเล็กๆแคว้นหนึ่งในยุคบ้านเมืองแต่เป็นหลายก๊ก ไม่ใช่ของราชวงศ์ต้าซ่งในภายหลังที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักกันจากเรื่องมังกรหยก) ๑๐๐ บท

๗. หนานฉีซู(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์ฉีใต้) โดยเซียวจื๋อเสี่ยน แห่งแคว้นเหลียงในยุคเดียวกัน(แคว้นเหลียงตั้งขึ้นหลังจากที่แคว้นหนานฉีล่มสลายไปแล้ว) ๕๙ บท

๘. เหลียงซู(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์เหลียง) โดย หยาวซือเหลียน แห่งราชวงศ์ถัง ๕๖ บท

๙. เฉินซู(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์เฉิน) โดย หยาวซือเหลียน แห่ง ราชวงศ์ถัง(คนเดียวกับข้างบน)  ๓๖ บท

๑๐. เว่ยซู โดย เว่ยโซว แห่งราชวงศ์ เป่ยฉี(ฉีเหนือ) ๑๓๐ บท

๑๑. เป่ยฉีซู โดย หลี่ป๋ายเย่า แห่งราชวงศ์ถัง ๕๐ บท

๑๒. โจวซู นำเรียบเรียงโดยลิ่งกูเต๋อเฟิน แห่ง ราชวงศ์ถัง ๕๐ บท

๑๓. หนานสื่อ(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์ใต้)(หลังจากราชวงศ์จิ้นของลูกหลานสุมาอี้ล่มสลายแล้ว ชาวฮวนก็แห่กันเข้ามาครองแผ่นดินฮั่น เกิดเป็นราชวงศ์ต่างๆขึ้นมากมาย แยกใหญ่ๆเป็นราชวงศ์ทางเหนือ กับราชวงศ์ทางใต้) โดย หลี่เหยียนโซ่ว แห่งราชวงศ์ถัง ๘๐ บท

๑๔. เป๋ยสื่อ(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์เหนือ) โดย หลี่เหยียนโซ่ว แห่งราชวงศ์ถัง ๑๐๐ บท

๑๕. สุยซู(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์สุย)นำเรียบเรียงโดย เว่ยเจิง แห่งราชวงศ์ถัง ๘๕ บท

๑๖. จิ้วถังซู(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์ถังเก่า ซึ่งก็คือ เล่มแรก) นำเรียบเรียงโดย หลิวซวี่ แห่งแคว้นโฮ่วจิ้น(จิ้นหลัง)ในยุค ๕  ราชวงศ์(ต่อจากราชวงศ์ถัง) ๒๐๐ บท

๑๗. ซินถังซู(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์ถังใหม่ ซึ่งก็คือเล่มหลัง) นำเรียบเรียงโดย โอวหยางซิว และซ่งฉี แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ(อันนี้คือต้าซ่งในเรื่องมังกรหยก ซึ่งจะแบ่งเป็นซ่งเหนือและซ่งใต้) ๒๒๕ บท

๑๘. จิ้วอู่ไต้สื่อ(บันทึก ปวศ. ๕ ราชวงศ์เก่า หรือ เล่มแรก) โดย เซวจวีเจิ้ง แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ ๑๕๐ บท

๑๙. ซินอู่ไต้สื่อ(บันทึก ปวศ. ๕ ราชวงศ์ใหม่ หรือ เล่มหลัง) โดย โอวหยางซิว แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ ๗๔ บท

๒๐. ซ่งสื่อ(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์ซ่ง) นำเรียบเรียงโดย ทัวทัว แห่งราชวงศ์เหยวียน(มองโกล) ๔๙๖ บท

๒๑. เหลียวสื่อ(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์เหลียว หรือชี่ตาน หรือชาวคีตั้น ในเรื่องแปดเทพอสูรมังกรฟ้า ของกิมย้ง) นำเรียบเรียงโดย ทัวทัว(คนเดิม) ๑๑๖ บท

๒๒. จินสื่อ(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์จิน หรือกิมก๊ก ในเรื่องมังกรหยก)นำเรียบเรียงโดย ทัวทัว(คนเดิม) ๑๓๕ บท

๒๓. เหยวีนสื่อ(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์เหยวียน หรือ มองโกล) นำเรียบเรียงโดย ซ่งเหลียน แห่งราชวงศ์หมิง ๒๑๐ บท

๒๔. หมิงสื่อ(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์หมิง) นำเรียบเรียงโดย จางเหยียนอวี้ แห่งราชวงศ์ชิง(แมนจู) ๓๓๒ บท

ปัจจุบัน ได้มีการเรียบเรียงบันทึก ปวศ. เพิ่มเข้ามาอีก ๒ ชุด คือ

๒๕. ซินเหยวียนสื่อ(บันทึก ปวศ. ราชวงศ์เหยวียน เล่มหลัง) จำชื่อผู้เรียบเรียงไม่ได้แล้วค่ะ

๒๖. ชิงสื่อก่าว(ต้นฉบับบันทึก ปวศ. ราชวงศ์ชิง) ปริมาณพอๆกับ "ซ่งสื่อ"  (ชุดที่ ๒๐)

สำหรับปริมาณที่เป็นรูปธรรมของหนังสือชุดนี้นั้น เฉพาะ "ซ่งสื่อ"(ชุดที่ ๒๐) ซึ่ง Linmou เองมีอยู่ในรูปเล่มแบบอ่านง่าย คือ ขนาดหนังสือปกอ่อนธรรมดาทั่วๆไป หนาเล่มละ ๑.๕ - ๒ cm. มีจำนวนทั้งหมด ๔๐ เล่ม ค่ะ

เจิ้งสื่อ ถือเป็นหนังสือที่ผู้ที่เรียน ปวศ. ทุกคนต้องรู้จัก( ไม่ถึงกับต้องมีไว้ในครอบครอง เพราะซื้อทั้งชุด มันก็แพงเอาการอยู่) แต่เนื้อหาของมันก็ยังจำกัดมาก ในการศึกษา ปวศ. จีน

"เจิ้งสื่อ" เป็นเพียง ๑ ในบรรดาหนังสืออ้างอิงทาง ปวศ. ที่เชื่อถือได้ของจีนจำนวนหลายร้อยชุด เป็นหนังสืออ้างอิงที่ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จีนจะต้องอ่านก่อนเป็นชุดแรก แต่ไม่ใช่ชุดเดียวแน่นอน และไม่ใช่ชุดที่ยาวที่สุดด้วย อยู่ในระดับกลางๆค่อนข้างสั้นด้วยซ้ำ ชุดที่ยาวที่สุด คือ "ซือคู่เฉวียนซู" มีทั้งหมด ๗๐,๐๐๐ บท พิมพ์ออกมาเป็นหนังสือปกแข็งเล่มขนาดสูงกว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่วางขายทั่วไปเล็กน้อย หนาพอๆกัน ๑,๕๐๐ เล่ม เป็นหนังสือชุดที่ Linmou กลัวที่สุดที่จะต้องไปแตะต้องมันเข้า

ซึ่งหนังสือเหล่านี้มีมานานแล้ว อย่าง "จิ้วถังซู" ซึ่งบันทึกเรื่องราวของ "ซิยิ่นกุ้ย" เอาไว้ด้วยนั้น ก็เรียบเรียงขึ้นตั้งแต่ก่อนสมัยราชวงศ์ซ่งเสียอีก และในการสอบรับบุคคลเข้ารับราชการในยุคโบราณ(เริ่มมีในสมัยราชวงศ์สุย รุ่งเรืองในสมัยถัง สมบูรณ์แบบในสมัยซ่ง)นั้น ก็มีการสอบเข้าเป็นขุนนางฝ่ายอารักษ์ด้วย โดยจะต้องสอบเนื้อหาใน "เจิ้งสื่อ" ของยุคนั้น ซึ่งดูเหมือนจะมี "สื่อจี้" , "ฮั่นซู" และ "โฮ่วฮั่นซู" สามชุดแรก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 06 พ.ค. 01, 12:56

ดิฉันเข้าใจว่าเกร็ดพงศาวดารจีนที่นิยมอ่านกันในไทย  มักไม่ได้อิงประวัติศาสตร์    อาจยืมมาแต่ชื่อ เช่นชื่อพระเจ้าถึงไทจง และชื่อซิยิ่นกุ้ย
เนื้อเรื่องมาเสริมจินตนาการตามใจชอบ   เติมรสให้โลดโผน
ใครจะแต่งก็ไม่บอกชื่อ  มีแต่ชื่อผู้แปลเรียบเรียง หรือไม่ก็ไม่บอกเลย  เพราะช่วยกันแต่งหลายคน ลงเป็นตอนๆในหนังสือพิมพ์
ลักษณะตัวละครและเนื้อเรื่องก็เลยออกมาคล้ายคลึงกัน เป็น stereotype ไปหมด   จนบางทีคนอ่านอย่างดิฉันก็สับสนว่า คนแปลเลียนแบบกันเอง หรือว่าเรื่องต้นฉบับเดิมเป็นอย่างนั้นจริงๆ
บันทึกการเข้า
Linmou
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 06 พ.ค. 01, 20:14

อือม์ อย่างนี้นี่เอง
ขอบคุณคุณเทาชมพูมากค่ะที่ช่วยอธิบาย

เพราะดิฉันเคยแปลเรื่องของซิยิ่นกุ้ย(จากใน "จิ้วถังซู" )ลงใน Pantip แบบคร่าวๆ(เพราะไม่เก่งขนาดแปลได้อย่างละเอียด) แล้วมีผู้อาวุโสที่สนใจในเรื่องนี่ท่านหนึ่งบอกว่า ท่านไปค้นอ่านหนังสือจีนเก่าๆในบ้านมา ปรากฏว่า เขียนอย่างในงิ้ว ซึ่งดิฉันก็ได้แต่บอกให้ผู้อาวุโสท่านนั้นไปลองหา "จิ้วถังซู" มาอ่านดู และรับรองว่า ด้านความเก่าแก่ของความเป็นเอกสารทาง ปวศ. "จิ้วถังซู" คงไม่น้อยหน้าหนังสือของผู้อาวุโสท่านนั้นแน่

วรรณคดีกับประวัติศาสตร์จะไปด้วยกันไม่ได้เสมอ โดยที่ นักประพันธ์มักไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ และคงไม่สามารถค้นคว้าอย่างละเอียดดังที่นักประวัติศาสตร์ทำ ก่อนที่จะลงมือเขียน เพราะถ้าทำถึงขนาดนั้น ที่เขียนออกมา คงเป็นบทความทางวิชาการ ไม่ใช่นิยายแล้วล่ะ

แต่อย่างน้อยก็น่าจะบอกสักหน่อยนะนี่ ว่าเรื่องนั้นๆแต่งขึ้นในยุคไหน เพราะแค่นี้ก็จะทำให้ทราบได้แล้วว่า เป็นเรื่องจริงหรือนิยาย

โดยส่วนตัว ตามข้อมูลที่คุณเทาชมพูบอกมา(ดิฉันเองก็ไม่เคยอ่านซิยิ่นกุ้ยเช่นกัน ที่ปักกิ่งนี่ก็ไม่เห็นมีวางขายด้วย) เช่น บังคับให้ลูกสาวโดดน้ำตาย , ยอมตายดีกว่าแต่งงานใหม่ และรัดเท้า คาดว่า คงเป็นนิยายที่แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงมากกว่าค่ะ เพราะเดิมที เรื่องรัดเท้านี่ เขาให้ทำเฉพาะพวกสนมนางใน เพื่อให้พวกนางออกไปคบชู้สู่ชายไม่ได้ด้วยประการหนึ่ง แล้วบรรดาลูกสาวขุนน้ำขุนนางกลับเห็นว่ามันดี มันแสดงความเป็นชนชั้นสูง จึงพากันทำตาม ชาวบ้านทั่วไปก็ไม่ได้ทำกันอย่างนั้นหรอก เพราะต้องทำงานหนัก ขืนเดินไม่สะดวกคงแย่แน่

ส่วนเรื่องฆ่าตัวตายโดยไม่ยอมแต่งงานใหม่อะไรเทือกนี้ จากสถิติจำนวนสตรีทีฆ่าตัวตายเพราะเรื่องพวกนี้ที่ ศ.ผู้วิจัยด้านนี้ท่านหนึ่งได้ทำการบันทึกไว้ พบว่าธรรมเนียมนี้เริ่มระบาดในสมัยราชวงศ์มองโกล(หลังราชวงศ์ซ่งใต้) เป็นกันเกร่อในสมัยราชวงศ์หมิง(อีกแล้ว) และเป็นหนักสุดในสมัยราชวงศ์ชิง(แมนจู) และในสมัยราชวงศ์ถัง ไม่เคยปรากฏว่ามีสตรีฆ่าตัวตายเพราะการนี้บันทึกเอาไว้เลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 06 พ.ค. 01, 20:42

เป็นไปได้นะคะ ว่าเรื่องเกร็ดพงศาวดารจีนที่ฮิทกันมากในไทยตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มาจนสงครามโลกครั้งที่ ๒
เป็นเรื่องที่ยืมชื่อตัวละครซึ่งแพร่หลายกันอยู่ในจีน มาแต่งใหม่   โดยเอาธรรมเนียมนิยมสมัยราชวงศ์หมิงมาใส่ไว้แทนธรรมเนียมของราชวงศ์ในเรื่อง
เท่าที่นึกออก ยังไม่ได้กลับไปเปิดย้อนอ่านดู  ก็จะมี sterotype ดังต่อไปนี้
๑) มีขุนนางกังฉินกลั่นแกล้งขุนนางตงฉิน เสียปางตายหรือตายไปจริงๆ
๒)ฮ่องเต้ค่อนข้างจะไม่เอาไหน  ถ้าไม่ได้ขุนนางตงฉินช่วยก็แย่กันทุกองค์
๓) ตัวเอกมักมีอาวุธวิเศษจากเซียน
๔) ปีศาจซึ่งมาก่อกวน เป็นสัตว์ต่างๆโดยกำเนิด เช่นเต่า  ชะมด(ฮู่ลี้)
๕) ผู้หญิงลูกผู้ดีถูกกวดขันมากเหลือเกิน   ออกจากบ้านก็ไม่ได้    พบผู้ชายก็ไม่ได้   จนแต่งงานไปก็ต้องอยู่ในห้องตลอด

ก่อนหน้าซิยิ่นกุ้ย  ดิฉันอ่าน "จอยุ่ยเหม็ง" ซึ่งใช้ฉากราชวงศ์หมิงตอนท้ายๆ   มีขนบธรรมเนียมแบบเดียวกับซิยิ่นกุ้ยราวกับแกะบล็อกกันมา
เคยถามเรื่องจอยุ่ยเหม็งจากผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีจีนซึ่งมาสอนในไทย   ปรากฏว่าท่านไม่รู้จัก
สงสัยจริงๆว่า เรื่องราวพวกนี้เราเอามาจากเรื่องที่เล่นงิ้วกันหรือเปล่า

เรื่องที่ดิฉันยังข้องใจมีอีกมาก เช่นโหงวโฮ้วเพงไซ โหงวโฮ้วเพงหนำ  ซิเตงซันเจงไซ  บ้วนฮ่วยเหลา  เปาบุ้นจิ้นฉบับภาษาไทยของเดิมสมัยรัชกาลที่ ๕ (ไม่ใช่ในหนังไต้หวัน)
อีกเรื่องคือ ห้องสิน  ที่กล่าวถึงพระเจ้าติวอ๋องสมัยราชวงศ์แฮ่ ที่ถูกนางขันกีทำลายราชบัลลังก์เสียด้วยการยั่วให้ลุ่มหลง  ที่จริงนางคือปีศาจที่เทพธิดาใช้มาให้ลงโทษ
สงสัยว่าเกร็ด และ เกล็ด ล้วนๆ หรือเปล่า?

คุณนกข. คะ  ถ้าแวะเข้ามา  ขอเชิญมาช่วยอธิบายให้ฟังอีกคนด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 06 พ.ค. 01, 20:45

ถามอีกครั้งค่ะ
ราชวงศ์แฮ่นี่ราชวงศ์อะไรคะ  ปรากฏอยู่ในเรื่องห้องสินซึ่งแปลสมัยรัชกาลที่ ๒   หมายถึงราชวงศ์ฮั่นหรือเปล่า?
ที่สนใจเพราะเรื่องนี้เป็นที่มาของบทละครเรื่อง "อภัยนุราช" ของสุนทรภู่ ค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 19 คำสั่ง