เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 10112 ภาษาอเมริกันวันละคำ Glass Ceiling
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


 เมื่อ 01 เม.ย. 12, 22:42

Glass Ceiling
เพดานที่มองไม่เห็น

องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็น "วันสตรีสากล"   ทั้งนี้เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงานสตรีทั่วโลก  รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนทั่วไปได้ตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของสตรีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย

ด้วยเหตุที่สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชายค่อนข้างมาก   กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ US Department of State  จึงนำเรื่องราวการต่อสู้ของสตรีจากทั่วทุกมุมโลกมาแปะให้บุคคลทั่วไปได้อ่านผ่าน facebook ของหน่วยงานอยู่เป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งเดือนมีนาคมที่ผ่านมา   ทำให้เดือนนี้กลายเป็นเดือนสำหรับสตรีไปโดยปริยาย    ใครสนใจก็เข้าไปอ่านกันได้ที่  http://www.facebook.com/democracychallenge

เมื่อดูเผิน ๆ แล้ว   สังคมอเมริกันดูเหมือนจะเป็นสังคมที่ตระหนักถึงความสำคัญของผู้หญิงต่ออนาคตของประเทศได้ดีกว่าสังคมของประเทศในแถบเอเชียหรือแอฟริกา     รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าไปมีบทบาทในการบริหารประเทศมาโดยตลอด    ดังนั้น   การที่สตรีจะเข้าไปรับตำแหน่งสูง ๆ ในรัฐบาลหรือสถาบันสำคัญ ๆ ของรัฐในอเมริกาจึงไม่ใช่เรื่องแปลก   
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 01 เม.ย. 12, 22:43

ใครที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองของที่โน่นมาพอสมควรก็คงจะทราบดีว่าแม้แต่นางฮิลลารี คลินตันเองก็ไม่ใช่สตรีคนแรกที่ได้รับเลือกให้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ        และก่อนที่นางสาวคอนโดลีซ่า ไรซ์จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เมื่อปีพ.ศ. 2548 นั้น    เธอก็เคยสร้างประวัติศาสตร์มาแล้วด้วยการเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเลือกให้เข้าดำรงตำแหน่ง National Security Advisor หรือที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี สหรัฐฯ    อันเป็นตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลยิ่งทั้งต่อการเมืองภายในประเทศเองและการเมืองระหว่างประเทศด้วย     

หันไปดูในสภาคองเกรสบ้าง   หลายคนคงทราบว่า ส.ส. ซึ่งเป็นประธานของพรรคการเมืองเสียงข้างน้อยคนปัจจุบันก็เป็นผู้หญิง   เธอคนนี้มีชื่อว่าแนนซี่ เปโลซี่   ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ มาแล้วในช่วงปี 2551-2554  (สมัยที่พรรคเดโมแครตยังมีเสียงข้างมากในสภาอยู่)   นับเป็นสตรีคนแรกและเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐฯ ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้       

แม้ผู้หญิงจะมีโอกาสได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูง ๆ ในแวดวงการเมืองการปกครองของอเมริกันอยู่บ่อย ๆ   แต่ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างหญิงกับชายในภาคเอกชนของสหรัฐฯ นั้นกลับเป็นปัญหาที่ดำเนินมาอย่างยืดเยื้อยาวนาน    และไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไปได้เสียที      ต่อให้สังคมเจริญรุดหน้าไปสักเท่าไหร่   ต่อให้ผู้หญิงมีการศึกษาสูงและมีศักยภาพในการทำงานทัดเทียมกับชายเพียงไร     ผู้หญิงอเมริกันก็ยังต้องวิ่งชน glass ceiling อยู่ตลอดเวลาในสถานที่ทำงาน 
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 เม.ย. 12, 22:44

Glass ceiling นั้นเป็นคำอุปมา   แปลเป็นไทยตรงตัวว่า “เพดานกระจก”   แต่นัยที่แฝงอยู่ก็ทำให้ความหมายของคำคำนี้น่าจะใกล้เคียงกับคำว่า “เพดานที่มองไม่เห็น” ในภาษาไทยมากกว่า       อเมริกาชนเขาใช้คำอุปมานี้เวลาพูดถึงอุปสรรคที่มองเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่าซึ่งคอยกีดกันผู้หญิงไม่ให้ก้าวขึ้นไปรับตำแหน่งสูง ๆ ในสถานที่ทำงานหรือได้รับค่าตอบแทนที่ทัดเทียมกับชาย    แม้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งงานที่ใกล้เคียงกันก็ตาม         

ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดในการยืนยันว่าใครคือผู้ริเริ่มนำคำว่า glass ceiling นี้มาใช้เปรียบเปรยอุปสรรคที่ผู้หญิงต้องเผชิญในออฟฟิศ         เอกสารบางฉบับระบุว่าหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลคือผู้ที่เริ่มนำคำนี้มาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2528    แต่บางฉบับก็บอกว่ามีการใช้คำนี้กันอย่างแพร่หลายมาก่อนหน้านั้นสัก 2-3 ปีแล้ว   โดยเฉพาะในหมู่นักเขียนที่ให้ความสนใจกับสถานะของสตรีในแวดวงธุรกิจ   

ถ้าพูดถึง glass ceiling เฉย ๆ โดยไม่มีตัวอย่างสนับสนุนคนอ่านก็อาจจะไม่เชื่อว่าเพดานที่มองไม่เห็นแบบนี้มีจริงในสังคมอเมริกัน         ผู้เขียนเลยจะขออนุญาตอ้างอิงการสำรวจเมื่อปี 2554 ขององค์กรเอกชนชื่อ Catalystซึ่งเป็นองค์กรที่พยายามส่งเสริมสิทธิสตรีในแวดวงธุรกิจให้ทัดเทียมกับชายเสียหน่อย       ผลการสำรวจของ Catalyst ชี้ให้เห็นว่า   ในบรรดาบริษัทที่มีรายได้สูงสุด 500 บริษัทของสหรัฐฯ  หรือที่เขาเรียกว่า Fortune 500 นั้น   มีกรรมการบริษัทที่เป็นผู้หญิงแค่ร้อยละ 15 ของกรรมการทั้งหมด    และในบรรดาผู้ที่ดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัทเหล่านี้   CEO ที่เป็นผู้หญิงก็คิดเป็นสัดส่วนได้แค่ร้อยละ 3 เท่านั้นของ CEO ทั้งหมด             

ทีนี้หันมาดูรายได้บ้าง   ถ้าเทียบระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายในแวดวงธุรกิจที่อยู่ในตำแหน่งเดียวหรือใกล้เคียงกันแล้ว    รายงานสำรวจชิ้นนี้ระบุว่า   รายได้ของผู้หญิงจะคิดเป็นแค่สามในสี่ของรายได้ผู้ชายเท่านั้น     และถ้าหากเราจับผู้หญิงที่เพิ่งจบปริญญาโทหลักสูตรบริหารธุรกิจมายืนข้าง ๆ ผู้ชายที่จบโทสาขาเดียวกัน   โดยที่ต่างคนต่างก็เริ่มทำงานเป็นครั้งแรก   นอกจากเราจะพบว่าเงินเดือนของผู้หญิงโดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าผู้ชายถึง $4,600 แล้ว   เรายังจะพบด้วยว่า  ตำแหน่งที่บริษัทต่าง ๆ จะเสนอให้ผู้ชายซึ่งจบปริญญาโทบริหารธุรกิจทำนั้น  มักจะสูงกว่าตำแหน่งที่ผู้หญิงซึ่งจบปริญญาสาขาเดียวกันจะได้รับเสมอ
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 01 เม.ย. 12, 22:46

นอกจากนี้   ผู้ชายเองก็มักจะไต่บันไดในองค์กรหรือ climb the corporate ladder  ขึ้นไปได้เร็วกว่าผู้หญิงอีกต่างหาก   การสำรวจของ Catalyst  เขาระบุว่า     ถ้าหากผู้ชายกับผู้หญิงเริ่มทำงานที่ตำแหน่งเดียวกัน   ผู้ชายจะได้เลื่อนตำแหน่งเร็วกว่าผู้หญิง   นอกจากนี้   เวลาที่เงินเดือนผู้ชายได้รับการปรับขึ้นนั้น   อัตราที่ปรับขึ้นก็จะเป็นอัตราที่สูงกว่าผู้หญิงอีกด้วย 

Glass ceiling จะพังลงได้ก็ต่อเมื่อความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่สามารถจะทุ่มเทให้กับการงานได้มากเท่าผู้ชายนั้นหมดไป    แต่วันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ก็คงไม่มีใครตอบได้   


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 06 เม.ย. 12, 09:38

เพดานแก้วในการเมืองไทย

!

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 19 คำสั่ง