เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 12293 อันเนื่องมาแต่หลังคาวัดราชโอรสาราม : ศิลปะหลิงหนาน (岭南:ling nan) ในกรุงสยาม
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



 เมื่อ 26 มี.ค. 12, 12:21

   หากใครสักคนแวะเวียนไปเที่ยววัดราชโอรสาราม หากท่านตาดี และตาออกจะทนแสงสักหน่อย ท่านคงจะสังเกตเห็นตุ๊กตากระเบื้องตัวน้อยที่ประดับประดาอย่างงดงามซึ่งส่งประกายงดงามบนหน้าบันของพระอุโบสถ และพระวิหาร จากการมองผ่านๆคงพอทำให้รู้ได้ว่าเป็นศิลปะแบบจีน

   แต่ว่าเป็นศิลปะจีนในแถบใด

   เราลองมาค้นหากันดีกว่า

ภาพวัดราชโอรสาราม

ภาพที่ ๓ และภาพที่ ๔ เป็นภาพหน้าบันพระอุโบสถและหน้าบันพระวิหารตามลำดับ



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 12:35

        ลักษณะการตบแต่งอาหาคารจีนโดยเฉพาะส่วนหลังคาจะแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ อาคารภาคเหนือและภาคใต้ตบแต่งไม่เหมือนกัน อาคารในภาคใต้แต่ละแห่งก็ตบแต่งไม่เหมือนกันอีก พื้นที่ที่เป็นเขตวัฒนธรรมหมินหนาน (闽南:min nan) ซึ่งเป็นแบบที่อยู่ในเขตมณฑลฟูเจี้ยน (福建: fu jian) นิยมตัดกระเบื้องเป็นชิ้นเล็กๆประดับเป็นรูปต่างๆ ขณะที่พื้นที่ใกล้เคียงอย่างแถบกวางตุ้ง กวางซี และไหหลำ กลับไม่นิยม แต่นิยมสร้างเป็นรูปตุ๊กตากระเบื้องประดับแทนเลย พื้นที่แถบดังกล่าวนี้ถือเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เรียกว่าเขต “หลิงหนาน” (岭南:ling nan)

   พื้นที่ “หลิงหนาน” คืออะไร

   หลิงหนาน (岭南:ling nan) คือพื้นที่บริเวณใต้ของจีน เป็นเขตวัฒนธรรมอันประกอบด้วยเขตกวางตุ้ง กวางสี ไหหลำ และบางส่วนของหูหนานกับเจียงซี ในสมัยโบราณเมื่อครั้งเวียดนามยังเป็นส่วนหนึ่งของจีน จีนถือว่าเวียดนามนับเนื่องในเขตวัฒนธรรมดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากทุกวันนี้เวียดนามแยกเป็นประเทศเอกราชเป็นพันปีแล้ว จีนจึงเลิกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมลิงหนาน

ภาพพื้นที่และบ้านเรือนในแถบหลิงหนาน





บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 12:45

   การประดับประดาอาคารในแบบวัฒนธรรมลิงหนานนั้น โดยเฉพาะการประดับวัดวาอาราม ศาลประจำตระกูล หรือสถานที่สำคัญจะนิยมใช้ตุ๊กตากระเบื้องเคลือบ หล่อเป็นรูปร่างต่างๆมาประดับตบแต่ง ซึ่งผิดกับวัฒนธรรม หมินหนาน (闽南:min nan) ซึ่งการใช้กระเบื้องประดับจะเป็นการใช้กระเบื้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆแล้วประดับขึ้นเป็นรูปร่าง การประดับตุ๊กตากระเบื้องบนหลังคานั้นเรียกว่า “เทาซูวาจี่” (陶塑瓦脊:tao su wa ji) บริเวณที่ศิลปะดังกล่าวขึ้นชื่อที่สุดคือบริเวณกวางตุ้ง

   เมืองที่ขึ้นชื่อที่สุดเกี่ยวกับการผลิตตุ๊กตากระเบื้องเคลือบคือหมู่บ้าน “ซือวาน” (石湾:shi wan)  อันอยู่ในเมืองโฟซาน (佛山:fo shan) มณฑลกวางตุ้ง (广东:guang dong)

   ตุ๊กตากระเบื้องที่ผลิตจากหมู่บ้านแห่งนี้นอกจะมีการผลิตเพื่อตบแต่งบ้านเรือน ยังมีการผลิตเพื่อตบแต่งอาคารต่างๆ โดยเฉพาะวัดและศาลเจ้า การผลิตมีหลายรูปแบบ ทั้งรูปดอกไม้ เทวดาขนาดเล็กสำหรับประดับหลังคา เรื่อยไปจนขนาดใหญ่อาทิเทวรูป หรือทวารบาลตบแต่งอาคาร

ภาพการตอบแต่งอาคารโดยการตัดกระเบื้องเคลือบประกอบเป็นรูปแบบหมินหนาน



บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 12:54

ภาพการประดับตุ๊กตากระเบื้องบนหลังคาอาคารแบบหลิงหนาน



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 13:02

   ตุ๊กตากระเบื้องที่ใช้ตบแต่งหลังคานี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ฮัวจี่” (花脊: hua ji) นิยมใช้ตบแต่งในหลังคาบ้าน ศาลเจ้าประจำตระกูล ศาลเจ้าในลัทธิเต๋า และวัดในศาสนาพุทธ  โดยมีการทำเป็นทั้งรูปคน สัตว์ และพรรณพฤกษา

   การประดับตบแต่งหลังคาโดยการใช้ตุ๊กตากระเบื้องเคลือบนี้ มิใช่ใช้เพียงตุ๊กตากระเบื้องเคลือบอย่างเดียว มีการผสมผสานทั้งงานปูนปั้น งานแกะสลักอิฐ และงานแกะสลักไม้ ตุ๊กตาที่ประดับไว้นิยมนำเรื่องราวเทพนิยายจีนมาตบแต่ง อาทิเรื่อง “甘露寺”、“天仙配”、“李元霸伏龙驹”、“荆轲刺秦王”、“夜战马超” เป็นต้น

ภาพการประดับอาคารที่ผสมผสานระหว่างงานกระเบื้องเคลือบและงานปูนปั้น และภาพกระเบื้องที่ตบแต่งเป็นเรืองราวเทพนิยายจีน




บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 13:04

   การทำตุ๊กตากระเบื้องตบแต่งอาคารมีประวัติมานานแล้ว สันนิฐานว่าเริ่มมีตั้งแต่ครั้งราชวงศ์ถัง  (唐: tang) หรือราชวงศ์ซ่ง (宋:song) แต่เดิมจะทำเป็นรูปสัตว์มงคล พรรณพฤกษา ทิวทัศน์ ภายหลังเข้าสู่ราชวงศ์ชิงจึงเริ่มมีการสร้างรูปคนตามนิทานพิ้นบ้านขึ้น เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าในพื้นที่กวางตุ้ง ต่อมาพัฒนาถึงขั้นนำเรื่องราวการแสดงงิ้วมาทำเป็นกระเบื้องเคลือบเพื่อตบแต่งอาคาร รูปคนที่ใช้ประดับหลังคานี้เรียกว่า  “วาจี่จงไจ่ย”(瓦脊公仔: wa ji gong zai)

   ปรกติแล้วการตบแต่งหลังคา หากเป็นส่วนสันหลังคานิยมใช้เรื่องราวนิทาน หรือการแสดงงิ้ว เรื่องราวจะประดับทั้งหน้าทั้งหลังของสันหลังคา แต่ตามบริเวณสันหลังคาชายคาอาคารจะนิยมประดับเป็นรูปสัตว์มงคล พรรณพฤกษาเป็นหลัก นิยมประดับเรื่องให้เห็นเป็นมุมตรงด้านเดียว

   ที่มาข้อมูล

   http://baike.baidu.com/view/3515211.html
   http://photo.mztdw.com/details.htx&id=2710673&p=9#photo_img_list
   http://www.mafengwo.cn/i/656259.html
   http://destguides.yoostrip.com/scenic_1497.html
   http://www.chinadadi.net/read.php?tid=78072&page=1

ภาพการประดับตบแต่งสันหลังคา และสันชายคา


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 13:07

ข้าพเจ้าเงยหน้าดูหลังคาของอาคารต่างๆในวัดราชโอรสแล้ว ข้าพเจ้าได้สันนิษฐานว่าคงจะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมหลิงหนานในการตบแต่งอาคาร แม้วัดแห่งนี้จะได้รับพระบรมราชโองการให้สร้างขึ้นตามพระมหากษัตริย์ไทย โดยมีพระราชดำริให้ใช้แนวทางศิลปะจีนเป็นแทนทางในการตบแต่งอาคาร แต่ข้าพเจ้าคิดว่า การวางองค์ประกอบ การเลือกสรรสิ่งต่างๆมาประดับอาคาร ช่างฝีมือชาวจีนคงมีส่วนช่วยไม่น้อย โดยใช้ความทรงจำ ความรัก และความผู้พันที่ตนเองมีต่อบ้านเกิดเข้าร่วมถักทอจนกลายเป็นอาคารที่ได้รับการผสมผสานที่งดงาม


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 13:12

   พูดถึงความผูกพันกับบ้านเกิดของตนเองนี้เคยมีคนถามว่ามันจะรางเลือนไปกับการเวลาที่ที่เราอยู่ห่างไกลจากบ้านหรือไม่ ข้าพเจ้าคิดว่าไม่ ไม่ต้องยกตัวอย่างเรื่องอย่างบ้านเกิดเมืองนอน ข้าพเจ้าคิดว่าแค่ในความสัมพันธ์ระหว่างคน คนสองคนถ้ารักและคิดถึงกันจริงๆ ถึงจะอยู่ห่างไกลเท่าใด ไม่ได้พบหน้า ไม่ได้พูดคุย ความรักความผูกพันก็ไม่ได้ห่างหายไปไหน

   ข้าพเจ้าอยู่จีนมานาน แต่ข้าพเจ้าก็ยังคงดำรงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยเล็กๆน้อยๆเท่าที่สภาพในเมืองจีนจะอำนวย ข้าพเจ้าย้อนกลับไปไทยด้วยความทรงจำบ้าง ด้วยเพลงบ้าง ด้วยอาหารบ้าง หรือการตบแต่งห้องเล็กๆน้อยๆบ้าง ข้าพเจ้าคิดว่า ช่างที่เข้ามาสรรสร้างวัดราชโอรสคงไม่ต่างอะไรจากข้าพเจ้าเท่าไร
   ว่าแล้วก็ให้นึกถึงเพลงๆหนึ่งของนักร้องดังชาวฮ่องกงชื่อว่า  “เหม่ย หยาน ฟาง” (梅艳芳:mei yan fang) นักร้องชื่อดังชาวฮ่องกง ในเพลงอมตะของเธอชื่อว่า “อี้เชิงอ้ายนี้เฉียนป่ายฮุย” (一生爱你千百回:yi sheng ai ni qian bai hui) ซึ่งแปลว่า “ชีพนี้รักเธอร้อยพันครั้ง” เนื้อเพลงมีดังนี้

日夜为你着迷 时刻为你挂虑 思念是不留馀地
rì yè wéi nǐ zháo mí shí kè wéi nǐ guà lv sī niàn shì bù líu yú dì    
เช้าค่ำก็ได้แต่นั่งพะวงถึงเธอ ทุกเวลาก็ได้แต่ห่วงหาเธอ ในใจไม่มีเรื่องอื่นใด

已是曾经沧海即使百般煎熬 终究觉得你最好
yǐ shì céng jīng cāng hǎi jí shǐ bǎi bān jiān āo zhōng jīu jué dé nǐ zuì hǎo
ฉันเหมือนเดินทางข้ามมหาสมุทร ถึงแม้ต้องทนทุกข์ทรมานในเรือ แต่สุดท้ายคิดได้ว่าเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดนั้นคือเธอ

管不了外面风风雨雨 心中念的是你 只想和你在一起
guǎn bù liao wài miàn fēng fēng yǔ yǔ xīn zhōng niàn de shì nǐ zhī xiǎng hé nǐ zài yī qǐ
ไม่สนใจว่าข้างนอกนั้นพายุจะร้ายแค่ไหน ในใจคิดถึงเพียงแต่เธอ เพียงแค่อยากจะอยู่ใกล้เธอ

我要你看清我的决心 相信我的柔情 明白我给你的爱
wǒ yào nǐ kàn qīng wǒ de jué xīn xiāng xìn wǒ de róu qíng míng bái wǒ gěi nǐ de ài
ฉันอยากให้เธอเห็นความเด็ดเดี่ยวในใจฉันเหลือเกิน อยากให้เชื่อความรักที่ล้นใจของฉัน กระจ่างในความรักที่ฉันมีให้เธอ

一转眼 青春如梦 岁月如梭不回头 而我完全付出不保留
yī zhuǎn yǎn qīng chūn rú mèng suì yuè rú suō bù huí tóu ér wǒ wán quán fù chū bù bǎo líu
ในชั่วพริบตาวัยหนุ่มสาวก็จากลาพวกเราไป อายุคือวันก็ผ่านไปเพียงลัดนิ้วมือ แต่ฉันก็ยอมให้มันผ่านเลยไปไม่สนใจ

天知道 什么时候 地点原因会分手 只要能爱就要爱个够
tiān zhī dào shí me shí hòu dì diǎn yuán yīn huì fēn shǒu zhī yào néng ài jìu yào ài gè gòu
มีเพียงฟ้าเท่านั้นที่รู้ว่าเมื่อไร เวลาใด และเพราะอะไรเราจะต้องจากลากัน แต่ตอนนี้ของรักให้ดีที่สุดเท่านั้นก็พอ

我要飞越春夏秋冬 飞越千山万水 带给你所有沈醉
wǒ yào fēi yuè chūn xià qīu dōng fēi yuè qiān shān wàn shuǐ dài gěi nǐ suǒ yǒu shěn zuì
ฉันพร้อมจะบินผ่านร้อนหนาวไปทุกฤดู บินเหนือภูเขานับพันและสายธารนับหมื่นเพื่อที่จะให้เธอมีความสุขเบิกบาน

我要天天与你相对 夜夜拥你入睡 梦过了尽头也不归
wǒ yào tiān tiān yǔ nǐ xiāng duì yè yè yōng nǐ rù shuì mèng guò le jìn tóu yě bù guī
ฉันอยากอยู่เคียงข้างเธอไปทุกวัน อยากจะโอบกอดเธอยามเข้านอน แม้จะหลับสู่ฝันแล้วก็ยังไม่ปล่อย

我要飞越春夏秋冬 飞越千山万水 守住你给我的美
wǒ yào fēi yuè chūn xià qīu dōng fēi yuè qiān shān wàn shuǐ shǒu zhù nǐ gěi wǒ de měi
ฉันพร้อมจะบินผ่านร้อนหนาวไปทุกฤดู บินเหนือภูเขานับพันและสายธารนับหมื่นเพื่อที่จะให้เธอพบความงามงดในชีวิต


我要天天与你相对 夜夜拥你入睡 要一生爱你千百回
wǒ yào tiān tiān yǔ nǐ xiāng duì yè yè yōng nǐ rù shuì yào yī shēng ài nǐ qiān bǎi huí
ฉันอยากอยู่เคียงข้างเธอไปทุกวัน อยากจะโอบกอดเธอยามเข้านอน ในชีวิตนี้ขอรักเธอสักหมื่นแสนครั้ง

      ถ้าให้ข้าพเจ้าถอดเป็นกาพย์ยานีคงถอดได้ดังนี้

   เช้าค่ำให้พะวง            
จิตให้หลงวนแต่เจ้า
สิ่งใดฤาได้เข้า               
แทนที่เจ้าในดวงใจ

   หนึ่งข้ามนทีกว้าง         
ชีพแทบร้างกลางเรือใหญ่
แม้นทุกข์หนักเพียงใด            
หากข้าไซร้ยังอาจทน

   ด้วยเจ้าเป็นดวงแก้ว         
แม้นทุกข์แล้วบ่ขอบ่น
พายุกล้าผจญ               
ดวงกมลฤากลัวไป

   เพื่อให้ได้พบเจ้า         
สิ่งร้ายเล่าเล็กน้อยไซร้
อยากให้เจ้ารู้ใจ            
ว่าข้าไซร้รักจริงนา

   กาลเคลื่อนเปลี่ยนผันคล้อย      
พริบตาน้อยกลายแก่หนา
แต่หาได้นำพา               
ด้วยรู้ว่าเจ้าอยู่เคียง

   บ่รู้ยามใดร้าง            
ยามใดห่างหากรู้เพียง
วันนี้ได้ชิดเรียง               
ได้ชื่นเคียงเจ้านา

   ด้วยรักข้ายอมแม้น         
เหินฟ้าแสนไกลหนักหนา
ฤดูบ่นำพา               
ผ่านปวงผาและสารธาร

   ขอเพียงเพื่อเจ้านี้         
ชีพเปรมปรีย์สุขบรรหาร
สบสิ่งแสนสะคราญ            
เกษมสานต์ตลอดไป   

   อยากตระกรองกอดแล้ว      
นำเจ้าแก้วนิตทราไซร้
แม้นหลับสู่ฝันไป            
มือฤาให้คลายกอดนา

   ชีวิตข้านี้ล้วน            
มอบทั้งมวลแก้เจ้าหนา
หมื่นแสนในชีวา            
รักของข้าแด่เจ้าเอยฯ                  

ภาพเหม่ย หยาน ฟาง ผู้ขับร้องเพลงดังกล่าว   


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 13:27

        ลิงค์ เพลง 一生爱你千百回

       
   
   ข้าพเจ้าฟังเพลงนี้แล้วก็ให้นึก นึกเล่นๆ นึกเงียบๆ ว่าการที่เรารักใครสักคน เวลาผ่านไปนานเท่าใด เราจะแก่ชราลงเท่าใด จะห่างกันเท่าใด รักก็ยังคงอยู่ คงจะเหมือนกับชาวชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาในกรุงสยาม นำพาเอาความรักและความทรงจำต่อแผ่นดินเกิดเข้ามาด้วย และถ่ายทอดความรักนั้นผ่านงานศิลปะเพื่อรำลึกถึงบ้านเกิดของตนที่ห่างไกล
   
   ซึ่งห่างไกลกันมาก ไกลกว่าเขาลูกที่ไกลที่สุด ไกลกว่าสายธารที่ห่างที่สุด
   
   ไกลจนมีเพียงความรักและความทรงจำเท่านั้นจะโบยบินไปถึง
   
ภาพบ้านเรือนในชนบทแถบหลิงหนาน


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 15:22

หลิ่งหนาน (岭南) ความหมายตามตัวอักษรคือดินแดนตอนใต้แม่น้ำหลิ่ง มีนิยายจีนเรื่องหนึ่งงซึ่งคอหนังสือเก่าน่าจะรู้จักกันดีคือ เนี่ยหนำอิดซือ ที่เกิดขึ้นในดินแดนแถบนี้ เนี่ยหนำ ก็คือคำเดียวกับหลิ่งหนาน แต่เป็นสำเนียงกลุ่มหมิ่นหนานครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 16:11

ต้องขอแย้งนิดหนึ่งนะครับ

ข้อมูลที่ได้ไม่ตรงกันสักนิด กล่าวคือ หลิงหนานนี้หมายถึงพื้นตอนใต้ของจีนบริเวณเทือกเขาใหญ่ทั้งห้า (五岭之南:wu ling zhi nan) เทือกเขาทั้งห้านี้ได้แก่

越城岭:yue cheng ling, 都庞岭: du pang ling, 萌渚岭:meng zhu ling, 骑田岭:qi tian ling, 大庾岭: da yu ling

โดยส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับแม่น้ำหลิงนะครับ

ด้วยความนับถือ
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 19:42

ท่านที่สนใจอ่านเกี่ยวกับศิลปะการตบแต่งแบบพื้นที่หมินหนาน (闽南) สามารถเข้าไปดูได้ในหัวข้อ

"อันเนื่องมาแต่วัดพระเชตุพนฯ - การตบแต่งแบบหมินหนาน (闽南)"

ตามลิงค์นี้

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4984.0
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 27 มี.ค. 12, 02:46

ขอบคุณมากๆเลยครับผม  ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 27 มี.ค. 12, 14:53

ต้องขอแย้งนิดหนึ่งนะครับ

ข้อมูลที่ได้ไม่ตรงกันสักนิด กล่าวคือ หลิงหนานนี้หมายถึงพื้นตอนใต้ของจีนบริเวณเทือกเขาใหญ่ทั้งห้า (五岭之南:wu ling zhi nan) เทือกเขาทั้งห้านี้ได้แก่

越城岭:yue cheng ling, 都庞岭: du pang ling, 萌渚岭:meng zhu ling, 骑田岭:qi tian ling, 大庾岭: da yu ling

โดยส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับแม่น้ำหลิงนะครับ

ด้วยความนับถือ

ขอบคุณครับ ตรวจสอบแล้ว ที่มาของชื่อหลิ่งหนานเป็นตามที่คุณฮั่นปิงว่า เป็นความเข้าใจผิดของผมจริงๆ ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 12 ธ.ค. 13, 12:15

การบูรณะจิตรกรรมวัดราชโอรสาราม
 
จิตรกรรมฝาผนังวัดราชโอรสนี้ที่บูรณะขึ้นใหม่ เห็นมีคนสนใจเช่นนั้นขอเล่าไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย

เรื่องเริ่มต้นเมื่อครั้งข้าพเจ้าเดินไปสำรวจวัดเพื่อทำรายงานปี ๔ ขณะนั้น คือ ปี ๒๕๕๑ เห็นเขากำลังซ่อมภาพเขียน กล่าวคือภาพลบไปเกือบหมด ข้าพเจ้าเลยคุยกับช่าง ตอนแรกช่างจะเขียนเป็นลายโต๊ะไหว้เจ้า ข้าพเจ้าพอจะรู้ว่าวางข้าววางของหัวหมูเป็ดไก่อย่างไรหรือไม่ ข้าพเจ้าบอกว่าไม่แน่ใจ จะไปถามอาจารย์ให้

ภายหลังไปถามอาจารย์คืออาจารย์เศรษฐพงษ์ จงสงวน ท่านบอกว่าไม่ใช่ของไหว้เจ้าแบบเราไหว้เจ้าตรุษจีน หากเป็นรูปเครื่องมงคลแบบจีน ข้าพเจ้าเลยไปตามหาหนังสือลายมงคลจีนของอาจารย์ศ.ดร.พรพรรณ จันทโรจนานันท์มาให้ช่างดู ชื่อว่าเรื่อง “ฮก ลก ซิ่ว โชค ลาภ อายุยืน”  ช่างที่ติดต่อกับข้าพเจ้าในครั้งนั้นชื่อคุณปู แล้วกลุ่มช่างก็วางโครงรูปใหม่ให้เข้ากับลาย
มงคลที่ได้รับมา โดยดูตัวอย่างจากภาพข้างบนที่ยังไม่ลบเลือน ประกอบกับหนังสือเล่มดังกล่าว

หลังจากเริ่มวางโครงรูปโดยเปรียบเทียบกับหลักฐานของเดิมที่หลงเหลืออยู่ เนื่องจากบางส่วนมีอักษรจีน และมีโครงภาพบางอย่างที่ช่างดูไม่ออกว่าคืออะไร ช่างจึงขอร้องให้ข้าพเจ้าไปถามอาจารย์ให้ทีว่าจะวางโครงรูปอย่างไรตามหลักฐานที่พอจะเหลืออยู่ ข้าพเจ้าเลยพาช่างชื่อว่าพี่ปูไปพบอาจารย์เศรษฐพงษ์ด้วยตัวเอง  ให้อาจารย์ช่วยวิเคราะห์รูปร่าง และช่วยแนะนำในการวางโครงรูป สุดท้ายจึงได้รูปเจดีย์จีนสลับของมงคลอย่างที่เห็น โดยดูจากรูปถ่ายเก่า เรื่อยไปจนถึงตัวอย่างภาพเขียนจากวัดภคนีนารถ และในหมู่พระมหามณเฑียร

เรื่องรูปถ่ายเก่านี้ข้าพเจ้ามีเรื่องปาฏิหาริย์อยู่เรื่องหนึ่งอยากจะเล่าให้ฟัง คือ ภาพหน้าพระประฐานลบเลือนเกือบหมด เหลือเฉพาะช่วงบนเล็กน้อย ตอนแรกตั้งใจว่าจะวางรูปแบบเป็นใหม่ขึ้นมาถ้าหาตัวอย่างภาพเก่าไม่ได้จริงๆ ตอนนั้นหมู่ช่างได้ไปไหว้พระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น เชื่อหรือไม่ ในวันรุ่งขึ้นมีหญิงชรามาที่วัดและมาพูดคุยกับช่างถึงการบูรณะ สุดท้ายคุณยายท่านนั้นกล่าวว่า “พี่ชายอั๊วยืนถ่ายรูปตรงนี้ตอนอีบวช เดี่ยวพรุ่งนี้อั๊วจะรีบเอามาให้”
เราจึงได้ภาพตัวอย่างที่ถูกต้องตามมาวาดรูป

พอวาดเสร็จคราวนี้ถึงคราวเขียนอักษรจีนในรูปภาพส่วนต่างๆ ทั้งตามรูปหนังสือ เรื่อยไปจนถึงโคลงคู่แบบจีนที่ประดับบนเจดีย์ เนื่องจากรูปจิตรกรรมฝาผนังของวัดราชโอรสมีการเขียนรูปเจดีย์แบบจีน ในทุกช่วงเสาของเจดีย์ มีการแต่งโคลงคู่แบบจีนไว้ เรียกว่า “ตุ้ยเหลียน” (对联:dui lian) มีภาพถ่ายเก่าเพียงภาพเดียวเท่านั้นที่หลงเหลือโคลงคู่ชัดพอจะเห็นเป็นตัวอักษร นอกนั้นยากเกินกว่าที่จะมอง

แต่การที่เห็นเป็นตัวอักษรก็ยากเกินกว่าที่จะอ่านได้ เพราะว่าขนาดเล็กมาก ในชั้นแรกช่างตัดสินใจเขียนตัวอักษรเองมั่วๆ ข้าพเจ้าเข้าไปพอดี ไม่รู้นึกอย่างไร คัดค้านอย่างเกินงาม ออกจะเสียมารยาทอยู่มาก แต่ช่างทั้งหลายก็ให้อภัยและลบให้ ภายหลังข้าพเจ้าจึงบอกช่างว่าจะกลับไปธรรมศาสตร์ให้อาจารย์เอกจีนช่วยดูว่าจะเขียนอักษรอะไร และแกะว่าโคลงเก่าๆที่ปรากฎอ่านว่าอะไร ใช้ตัวอักษรพู่กันจีนแบบไหน และท่านใดจะมาเขียนพู่กันจีนให้ได้

ทั้งนี้ข้าพเจ้าขอแจ้งสักนิดว่า การเขียนพู่กันจีนมิใช่ของง่าย และมีการเขียนมากมายหลายแบบขึ้นอยู่กลับเขียนเพื่อใช้กับสิ่งใด และการเขียนให้สวยยากมาก ไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปแม้จะเป็นจิตรกรฝีมือดีจะเขียนได้ทันทีที่เห็นแบบ เพราะจะมีหลักการเขียนของเขาทีละเส้น ทีละเส้น

เมื่อไปถึงธรรมศาสตร์ อาจารย์เอกจีนจากธรรมศาสตร์ทุกท่านช่วยเหลือเป็นอย่างดียิ่ง ข้าพเจ้ายังจำภาพอาจารย์ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ และอาจารย์มาลินี ดิลกวาณิชใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดแกะตัวหนังสือจีนจากโคลงคู่บทเดียวที่เหลืออยู่ แต่สุดท้ายทั้งสองท่านต้องยอมแพ้ เพราะว่าสายตาไม่ใคร่จะดีนัก สุดท้ายอาจารย์คนจีนท่านหนึ่งชื่อว่าอาจารย์เจิง (ลืมนามสกุลท่านไป) ซึ่งสายตายังดีอยู่เลยมานั่งแกะอักษรต่อ สุดท้ายจึงได้ความดังนี้

“云淡风轻近午天” “傍花随柳过前川”

ภายหลัง ดร. ปิยะมาศ สรรพวีรวงศ์จึงได้นำไปค้นคว้าต่อ พบว่าเป็นโคลงสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ประพันธ์โดย เฉิง ฮาว (程颢:cheng hao)  ชาวมณฑลหูเป่ย เป็นนักวิชาการด้านปรัญชาที่ลือชื่อมาในยุคดังกล่าว

บทกวีดังกล่าวเป็นบทกวีบรรยายธรรมชาติ ตอนนั้นอาจารย์อธิบายว่าเป็นแนวคิดกลมกลืนกับธรรมชาติตามแบบลัทธิเต๋า โคลงดังกล่าวมีชื่อว่า “ชุน รือ โอว่ เฉิง” (春日偶成: chun ri ou cheng) และมีเนื้อหาเต็มๆมีดังนี้

云淡风轻近午天,傍花随柳过前川。
时人不识余心乐,将谓偷闲学少年。

เนื้อความมีความหมายว่า “ลมพัดเมฆสีขาวลอยล่องบนฟ้ากว้างในยามบ่าย ฉันเดินเล่นไปตามทางพบดอกไม้แสนงาม พบต้นหลิวที่ย้อยลงมา และสุดท้ายพบธารน้ำใสเย็น ไม่มีผู้ใดล่วงรู้หรอกว่าขณะนี้ฉันเป็นสุขแค่ไหน คนเหล่านั้นกลับคิดว่าฉันมั่วแต่เที่ยวเล่นเพลินไปเหมือนเด็กน้อยที่หนีเรียน ”

จากความหายของบทกวีทำให้กลายเป็นแนวทางในการคัดเลือกบทกวีที่จะนำมาประดับเจดีย์ในภาพจิตรกรรม โดยผู้ที่คัดเลือกบทกวีคืออาจารย์ชาวจีนชื่อ ดร. เจี๋ยชิ่ง

อาจารย์ท่านนี้ในเวลานั้นท่ามสอนหนังสือในธรรมศาสตร์พอดี นอกจากท่านจะเป็นผู้เลือกบทกวีแล้ว ท่านยังเป็นผู้รับอาสาเขียนพู่กันจีนให้ อย่างไรก็ตาม เมื่อข้าพเจ้าและอาจารย์ปิยะมาศได้ไปพาอาจารย์ไปดูสถานที่จริงเพื่อเลือกโคลง ผลคือ อาจารย์ว่า ถ้าเอาโคลงเก่ามาเขียนจะไม่เหมาะ เพราะจะไม่เข้ากับรูป อาจารย์ท่านจึงแต่งโคลงใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เข้ากับรูป และมีบรรยากาศสอดคล้องกับโคลงเก่าที่หลงเหลือเอง อาทิ รูปวาดเป็นรูปขุนนางอาจารย์ได้แต่งถึงการขยันหมั่นเพียรจนได้เป็นขุนนาง มีบางส่วนอาจารย์ท่านได้คัดเลือกคำสอนจากตำราขงจื้อไปเขียนไว้ เพราะว่าช่างเขียนได้เขียนเป็นรูปม้วนหนังสือแบบจีน

ผ่านไปวันสองวัน อาจารย์ ตัวข้าพเจ้า คุณแม่ และเพื่อนๆที่เรียนจีนได้เดินทางไปวัดพร้อมกัน วันนั้นฝนตกหนักมากจนน้ำท่วมลานวัด อาจารย์เจี๋ยไปนั่งเขียนพู่กัน ส่วนข้าพเจ้า คุณแม่และเพื่อนๆไปช่วยนั่งปิดทองตามตัวอักษร เริ่มงานเขียนตอน ๖ โมงเย็น กว่าจะเสร็จเที่ยงคืน ครั้งนั้นอาจารย์เองต้องสอน ตัวนักเรียนก็มีเรียนเลยไปเร็วกว่านี้ไม่ได้

การเขียนตัวพู่กันจีนเพื่อประดับตามส่วนต่างๆของพระอุโบสถข้าพเจ้าขอเล่าถึงความพยายามของอาจารย์สักนิด ในจุดที่ตามธรรมเนียนจีนจะใช้อักษรพู่กันแบบไหน ท่านก็ใช้แบบนั้น ของวางเหมือนกลับหัว ท่านเองกลับหัวเขียนเพื่อให้ตรงตามความจริง ข้าพเจ้ายังจำภาพน้ำหมึกที่หกรดหน้าอาจารย์ได้เลย จะให้หยุดเช็ดหน้าอาจารย์ก็ไม่ยอม บอกว่าต้องเขียนก่อน ขณะนี้หยุดไม่ได้

ทั้งนี้หากท่านได้มีโอกาสไปวัดราชโอรสและสังเกตตัวอักษรจีน ข้าพเจ้าอยากให้ท่านสังเกตว่าอักษรในแต่ละจุดจะมีวิธีการเขียนไม่เหมือนกัน ความแตกต่างดังกล่าว เกิดจากความจงใจของผู้เขียน คือ ดร. เจี๋ยชิ่ง ประสงค์ให้อักษรจีนที่ปรากฏในการบูรณะภาพจิตรกรรมวัดราชโอรส เป็นตัวอย่างแก่อนุชนชาวไทยรุ่นต่อๆของการใช้อักษรจีนซึ่งมีหลายรูปแบบ และแต่ละรูปแบบใช้ในพื้นที่ต่างกัน

ตัวอย่างของการใช้อักษรที่แตกต่าง กัน ตัวอย่างดังภาพจิตรกรรมด้านหลังพระประธาน ซึ่งได้รับการเขียนใหม่ จะมีพระนามของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนเป็นภาษาจีน โดยพระนามของพระองค์คือ “แต้ฮก” หรือ ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า “เจิ้งฟู่” (郑福: Zheng Fu) โดย “แต้” เป็นแซ่ที่พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีได้รับสืบทอดมาจากพระเจ้ากรุง ธนบุรี ส่วน “ฮก” เป็นพระนามของพระองค์ มีความหมายว่า “ความสุข บุญวาสนา” ทั้งนี้พระมหากษัตริย์ไทยในตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่ง เรื่อยมาจนรัชกาลที่ ๔ มีพระนามภาษาจีนทุกพระองค์ (ข้าพเจ้าไม่พบพระนามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชเป็นภาษาจีน)           
   
ในปัจจุบันนี้ประเทศจีนถวายพระนามให้พระมหากษัตริย์ไทย จะเป็นการใช้เสียงจีนเลียนแเสียงพระนามที่ใช้ที่ใช้แต่ละพยางค์ ไม่ได้มีความหมายในภาษาจีน มีเพียงเลือกตัวอักษรเทียบเสียงให้มีความหมายดีเท่านนั้น  แต่ในยุครัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ พระนามจะเป็นภาษาจีนซึ่งมีความหมายแท้ๆ การที่มีพระนามเป็นภาษาจีนอาจเป็นเพราะต้องการใช้ติดต่อทำการค้ากับทางจีน ซึ่งผมของลงรายพระนามไว้ ณ ที่นี้ โดยใช้คำอ่านเป็นภาษาจีนกลาง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามว่า “เจิ้งฮั่ว” (郑华: Zheng Hua) แปลว่า แสงรุ่งโรจน์

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระนามว่า “เจิ้งโฟ่” (郑佛: Zheng Fo)แปลว่า พระพุทธเจ้า

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามว่า “เจิ้งฟู่”(郑福:Zheng Fu) แปลว่าความสุข บุญวาสนา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามว่า “เจิ้งหมิง” (郑明:  Zheng Ming)แปลว่า แสงสว่าง

(ที่มาhttp://www.weefish.com/ask/%E6%B3%B0%E5%9B%BD%E5%9B%BD%E7%8E%8B)

เดิมช่างเขียนเขียนเป็นอักษรพระนามย่อของพระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัวรัชกาล ปัจจุบัน แต่เจ้าอาวาสได้มาตรวจและได้ให้ความเห็นว่าวัดราชโอรสเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ควรเป็นพระนามของพระองค์มากกว่า
ด้วยเหตุนี้ ดร.เจี๋ยชิ่ง ได้เข้ามาเขียนอักษรจีนเพื่อประดับจิตรกรรมฝาผนัง จึงได้เขียนพระนามของพระพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นภาษาจีน

ตัวอักษรจีนที่ใช้เขียนพระนาม เป็นลักษณะตัวอักษร “จ้วนซู่” (篆书:Zhuan Shu) ซึ่งเป็นตัวอักษรที่พัฒนาในสมัยราชวงศ์ฉิน (秦: Qin) เป็นการใช้ลักษณะอักษรแบบขีดเส้นแทนอักษรภาพ อักษรลักษณะดังกล่าว ต่อมานิยมใช้กับตราประทับต่างๆ และพระราชลัญจกร  ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ เนื่องจากการเขียนพระนามเป็นเหมือนดังการลงตราพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดร.เจี๋ยชิ่ง จึงเลือกใช้อักษรที่ใช้กับตราประทับในการเขียนพระนาม

ขณะเดียวกันการ เขียนอักษรในตำแหน่งอื่นๆของภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถได้ใช้ลักษณะต่างออกไป อีก โดยมีการใช้ทั้งอักษรแบบ “ข่ายซู่” (楷书: Kai Shu) หรือ ตัวอักษรแบบบรรจง และตัวอักษรแบบ “เฉาซู่” (草书: Kai Shu) หรือตัวอักษรแบบหวัด ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ที่วาด

ระหว่างอาจารย์เขียนไป ข้าพเจ้า คุณแม่ และเพื่อนๆก็นั่งปิดทองตามตัวอักษรไป ท่ามกลางสายฝนที่เย็นฉ่ำ
และแล้วงานบูรณะก็เสร็จ

เรื่องนี้ขอแทรกสักนิด เมื่อเขียนภาพเสร็จหมด ข้าพเจ้าพึ่งสังเกตว่า กล่าวคือ มุมรักแร้โบสถ์มีช่างคนหนึ่งวาดลายหัวหมูไปแล้ว แล้วรอดตาข้าพเจ้าไปได้อย่างไรก็ไม่รู้  ข้าพเจ้าขอร้องให้ลบ แต่เขาไม่ลบ สุดท้ายสิ้นปัญญาไม่รู้จะทำอย่างไรวันรุ่งขึ้น รักแร้โบสถ์ตรงนั้น ปูนที่ฉาบไว้ร่วงลงมาทั้งแผง ต้องเขียนใหม่หมด

ก่อนข้าพเจ้าจะกลับ คุณปูช่างเขียนได้บอกกับข้าพเจ้าไว้ว่า ก่อนบูรณะนั้น ช่างทุกคนได้ไว้พระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอว่าให้พบกับคนมีความรู้ในเรื่องการบูรณะภาพครั้งนี้ หรือพบใครสักคนที่รู้จักกับผู้รู้เหล่านั้น เพื่อให้งานบูรณะงดงามที่สุด

เขาว่า พอกราบพระบรมรูปเสร็จข้าพเจ้าก็เปิดประตูโบสถ์เข้ามาพอดี

เรื่องที่ข้าพเจ้าเขียนในครั้งนี้ มิใช่ว่าข้าพเจ้าประสงค์จะโอ้อวดว่าตนได้มีส่วนในการบูรณะจิตรกรรมวัดราชโอรสาราม แต่ข้าพเจ้าอยากถ่ายทอดให้ทุกท่านฟังเพราะสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์วัดที่มิได้มีใครมาบันทึกไว้
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.093 วินาที กับ 19 คำสั่ง