เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5905 สงสัยเรื่อง การพระราชทานเครื่องราชย์ จังเลยครับ
จมื่นฌองฌาค ล่ามโซ่ montractic@hotmail.com
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 02 พ.ค. 01, 11:17

วันนี้ผมได้ดู ข่าวในพระราชสำนัก เห็นว่า ทูลกระหม่อมพระองค์เล็ก เสด็จฯลงพระราชทานเครื่องราชย์ ประเภทหนึ่งซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของสายนี้ ( ขออภัยลืมชื่อ ) ทั้งนี้เนื่องในโอกาศวันเฉมิมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2543
แล้วที่พระราชทานจาก พระเจ้าอยู่หัว ในวันฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งดุสิต ล่ะครับ แตกต่างกันอย่างไร
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 02:31

ถ้าไม่มีรายละเอียดเพิ่มก็เห็นจะอธิบายยากหน่อยครับ เพราะผมไม่ได้ดูข่าวที่ว่า

เอาเท่าที่ผมพอทราบและเดาๆ เอานะครับ
ประการแรก เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ถ้าจะเรียกย่อหรือตัดสั้น คงจะเรียกเป็นภาษาปากว่า "เครื่องราชฯ" ได้กระมัง แต่ก็ไม่อยากถือว่าเป็นคำที่ถูกร้อยเปอร์เซนต์ ถ้าใช้เป็นทางการก็ควรเรียกให้เต็ม แต่ที่เราคุยกันเล่นที่เรือนไทยนี้ จะตัดสั้นย่อก็คงไม่ถือว่าผิดมาก แต่ที่แน่ๆ นั้น ไม่ใช่เครื่อง "ราชย์"  คำว่า ราช นั้นเราก็รู้กันอยู่ว่า แปลว่าเกี่ยวกับราชา เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ คงแปลได้ว่า เครื่องประดับแสดงความเป็นใหญ่ที่พระเจ้าแผ่นดินให้ แต่ราชย์ หรือราชัย หรือราไชย นั้น แปลว่าราชสมบัติหรือราชบัลลังก์ครับ เช่น ในหลวงทรงครองราชย์มาเท่านั้นเท่านี้ปี

ประการที่สอง ถ้าผมจำไม่ผิดกฏหมายระบุไว้ชัดว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานแก่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหลายทั้งปวงหมด หมายความว่าเครื่องราชฯ  ทุกอย่างทุกชิ้นทุกระดับทุกขั้น ถือว่าเป็นของพระราชทานจากพระมหากษัตริย์หมดครับ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานมา ในระบบของไทยเราคือระบบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ก็มีการกำหนดไว้ในระเบียบของเครื่องราชฯ ส่วนมาก ว่าเป็นการพระราชทานโดยต้องมีการเสนอขอพระราชทานขึ้นไป มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ มาตามขอ และต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ มีเครื่องราชฯ เพียงส่วนน้อยไม่กี่ประเภท ที่เป็นเครื่องราชฯ พิเศษที่พระราชทานสำหรับความดีความชอบในพระองค์ สุดแต่พระราชอัธยาศัยจะทรงให้ใครก็โปรดเกล้าฯ ให้ได้เลย (เข้าใจว่า ราชเลขาธิการหรือเลขาธิการพระราชวังรับสนองพระบรมราชโองการในกรณีหลังนี้ แต่ไม่แน่ใจครับ)
ประการที่สาม การที่ถือว่าในหลวงทรงเป็นองค์ผู้พระราชทานเครื่องราชฯ นี้ ถ้าเป็นเครื่องราชฯ ชั้นสูงหน่อย ก็พระราชทานให้จริงๆ แต่ถ้าเป็นเครื่องราชฯ ชั้นรองๆ ลงไปก็ไม่เป็นการขัดข้องอย่างใดที่จะมีผู้แทนพระองค์มอบให้ หรือถ้าเป็นส่วนราชการกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ก็ถือกันว่า พระราชทานผ่านมาตามสายงาน ทางสำนักนายกรัฐมนตรีอัญเชิญเครื่องราชฯ เหล่านั้นมากระทรวงฯ หรือมาที่หน่วยงานแล้ว ก็สามารถจัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชฯ ได้โดยอาจจะเป็นรัฐมนตรี หรือ ผู้ใหญ่ของหน่วยงานนั้นเป็นประธานในพิธี เท่าที่ผมเห็นมา ก็ต้องมีพระบรมฉายาลักษณ์อยู่ด้วย ผู้ใหญ่ในพิธีท่านอาจจะมอบเครื่องราชฯ ให้ผู้รับ หรืออาจจะวางไว้ในพานหน้าพระรูปท่าน ให้หยิบเอง (เคยเห็นจัดกันทั้ง 2 อย่าง) แต่ว่าจะอย่างไรก็ตามใน 2 อย่างนี้ คนรับก็ต้องถวายคำนับพระรูปท่านทั้ง 2 อย่าง แปลว่าจริงๆ รับจากพระองค์ท่าน ไม่ใช่รับจากรัฐมนตรี

ดังนั้น ถ้าจะให้เดา ทูลกระหม่อมเล็กในข่าวนั้นท่านอาจจะพระราชทานเครื่องราชฯ แก่ผู้รับที่อยู่ในสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ของท่าน ในฐานะที่ท่านทรงเป็นผู้ใหญ่ในหน่วยงานนั้นหรือว่าอาจจะมีการมอบหมาย ในหลวงอาจจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทูลกระหม่อมเล็กทรงเป็นผู้แทนพระองค์เชิญเครื่องราชฯ ไปพระราชทานให้ใครสักคน หรืออย่างไรผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ ไม่ได้ดูข่าวอย่างว่า

แต่ที่แน่ๆ ตามกฏหมาย (อีกที) เครื่องราชฯ ทุกอย่างเป็นของพระราชทานจากในหลวงครับ
บันทึกการเข้า
ปะกากะออม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 07:49

มาเดาเหมือนกันว่า การพระราชทานเครื่องราชฯในโอกาสวันเฉลิมนั้น น่าจะเป็นเครื่องราชฯ ตระกูลช้างเผือก/มงกุฎไทย ขั้นสายสะพาย  ส่วนใหญ่แล้วพระราชทานสำหรับผู้ประกอบคุณงามความดีในราชการ  ได้แก่ พวกข้าราชการกระทรวงต่าง ๆ หรืออื่น ๆ  ซึ่งในปีนี้โปรดเกล้าฯให้ทูลกระหม่อมจุฬากรณ์แทนพระองค์พระราชทาน (ปีก่อน ๆ สมเด็จพระบรมฯ พระราชทาน)

สำหรับเครื่องราชฯที่พระราชทานในวันฉัตรมงคล  เป็นตระกูลจุลจอมเกล้า จึงมีการติดตามข่าวผู้ได้รับฝ่ายหญิง ซึ่งแต่ละปีก็มีคุณ หรือ คุณหญิง หรือ ท่านผู้หญิงใหม่เป็นข่าวคราว
ถ้าเดาไม่ผิดในวันฉัตรมงคลไม่มีเครื่องราชฯ ตระกูลอื่นนะคะ  ถ้าผิดขออภัย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 08:09

คุณปะกากะออมเข้าใจถูกแล้วค่ะ
และคำอธิบายของคุณนกข.ก็ถูกต้องเช่นกัน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ในข่าวฯ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์พระราชทานแทนพระองค์ เป็นเครื่องราชฯในตระกูลมงกุฎไทยและช้างเผือก สำหรับข้าราชการเป็นส่วนใหญ่

ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์พระราชทานจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันฉัตรมงคล เป็นตระกูลจุลจอมเกล้าฯ
ผู้ชายที่ได้รับเครื่องราชฯจุลจอมเกล้าฯ ก็มี  เรียกว่าฝ่ายหน้า และผู้หญิงเรียกว่า ฝ่ายใน    ตั้งแต่จตุตถจุลจอมเกล้าฯขึ้นไปจะมีคำนำหน้าว่า" คุณหญิง"
ส่วนท่านผู้หญิงคือผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯชั้นจุลจอมเกล้าวิเศษ
บันทึกการเข้า
อ่านบ้างฟังบ้าง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 21:46

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ คือสิ่งที่เป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศและบำเหน็จความชอบในราชการหรือส่วนพระองค์เรียกเป็นสามัญว่า ตราหรือเหรียญตรา ในไทย สังวาลพระนพซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ของพระมหากษัตริย์มีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัตนโกสินทร์ร.1 ทรงสร้างสังวาลนพรัตน์ขึ้นอีกสายหนึ่ง และในสมัย ร.4 ได้ทรงสร้างตราไว้สำหรับติดเสื้อ โดยทั่วไปมักเรียกกันว่า "ตรา"แต่ร.4ทรงเรียกว่า "เครื่องประดับสำหรับยศ" ถ้าหมายเฉพาะเป็นเครื่องประดับของพระราชาทรงใช้ว่า"เครื่องราชอิสริยยศ"ถ้าเป็นเครื่องประดับสำหรับขุนนางเรียกว่า"เครื่องสำคัญยศ"ต่อมา ร.5 ทรงตราระเบียบเครื่องราชอิสริยาภรณ์สยามขึ้นเป็นครั้งแรกเรียกว่า"เครื่องราชอิสริยยศ"ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนเรียกว่า"เครื่องราชอิสริยาภรณ์"แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 4 ประเภท
1. เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับประทานแก่ประมุขของรัฐ
2.เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน
3.เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในองค์พระมหากษัตริย์
4.เหรียญราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ
บันทึกการเข้า
จมื่นฌองฌาค ล่ามโซ่
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 22:56

แล้ว ตระกูลมงกุฏไทย กับ ตระกูลจุลจอมเกล้า ไม่เหมือนกันอย่างไรล่ะครับ ถ้า ตระกูลมงกุฎไทย พระราชทานแก่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจน พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้กระทำความดีความขอบ  แล้ว ตระกูลจุลจอมเกล้า จะต้องทำความดีความชอบที่แตกต่างไปอย่างนั้นหรือครับ
บันทึกการเข้า
อ่านบ้างฟังบ้าง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 เม.ย. 01, 01:10

ขออธิบายแค่หมวดเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน ซึ่งมี 6 ชนิดก่อนก็แล้วกัน
1.เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงค์
2.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
3.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ร.5 ให้สร้างขึ้นสำหรับแสดงอิสริยยศและความชอบแห่งผู้มียศและบรรดาศักดิ์สืบวงศ์ตระกูลต่อมา จะได้เป็นเกียรติยศปรากฎแก่ผู้ที่มีความชอบทุกๆตระกูลสืบไป มีทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ฝ่ายหน้าตั้งแต่ชั้น 2 ขึ้นไปให้พระราชทานสืบตระกูลได้
สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า(ชาย)มี 3 ชั้น 7 ชนิด
สำหรับพระราชทานฝ่ายใน(หญิง)มี 4 ชั้น 5 ชนิด
สตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้าขึ้นไปเรียก"คุณหญิง" ถ้าได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขึ้นไปเรียก"ท่านผู้หญิง"
4.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พระราชทานแก่ผู้ทำความดีความชอบเป็นพิเศษและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในราชการทหารไม่ว่าในยามสงบหรือในยามสงครามแบ่งเป็น 6 ชั้น
5.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก พระราชทานแก่ผู้ทำความดีความชอบเป็นเป็นประโยชน์แก่ราชการ หรือสาธารณชนแบ่งเป็น 8 ชั้น
6.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศมิ่งมงกุฎไทยพระราชทานแก่ผู้ทำความดีความชอบเป็นเป็นประโยชน์แก่ราชการ หรือสาธารณชนแบ่งเป็น 8 ชั้น

นอกจากนี้ร.9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่
สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เพื่อพระราชทานทานแก่ผู้ทำความดีความชอบเป็นเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน แบ่งเป็น 7 ชั้น
บันทึกการเข้า
เอก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 เม.ย. 01, 01:19

การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาจะพระราชทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนสัญญาบัตร พัดยศแด่พระสงฆ์ที่ได้รับการสถาปนาหรือเลื่อนสมณศักดิ์ประจำปีนั้น แล้วจึงพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่สำคัญจริง ๆ เท่านั้น เพราะจำนวนผู้ที่ได้รับพระราชทานชั้นสายสะพายมีจำนวนมาก(นับเป็นพัน ๆ คน เทียบเท่าการพระราชทานปริญญาบัตรเลยทีเดียว) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดวันพระราชทานเป็นพิเศษแยกอีกวันหนึ่ง ด้วยเหตุที่มีผู้ที่ได้รับพระราชทานเป็นจำนวนมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จลงแทนพระองค์ เหตุที่ปีนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธฮ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีเสด็จแทนอาจเป็นเพราะสมเด็จพระบรมฯทรงติดพระราชกรณียกิจตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
บันทึกการเข้า
เอก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 เม.ย. 01, 02:07

ทีนี้ก็มาถึงปัญาหาที่ว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลต่าง ๆ นั้นทำไมจึงพระราชทานแตกต่างกัน แล้วแต่ละตระกูลต่างกันอย่างไร เครื่องราชฯมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก แต่พอสรุปได้ว่าเครื่องราชฯ(ที่มี)ชั้นสายสะพายมีทั้งสิ้น 8 ตระกูล คือ

1.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์
2.เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์
3. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
4. เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
5. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี
6. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก
7. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย
8. เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์

ทั้ง 8 ตระกูลนี้เรียงตามลำดับแห่งความสำคัญก่อนหลังแล้ว

ตระกูลที่ 1 จะพระราชทานด้วยพระองค์เองและจะพระราชทานแก่ผู้ที่อยู่ในฐานะผู้นำต่างประเทศเท่านั้น ในอดีตพระราชทานตระกูลที่ 2
ตระกูลที่ 2 จะพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น สามัญชนไม่มีสิทธิ์ พระราชทานที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
ตระกูลที่ 3 เป็นเครื่องราชฯชนิดแรกของไทย และเป็นเครื่องราชฯชั้นสูงสุดที่สามัญชนจะได้รับพระราชทาน เช่น พล.อ.เปรม พระราชทานที่พระตำหนักหรือที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ใช้ในงานมงคลเท่านั้น
ตระกูลที่ 4 จะพระราชทานแก่ผู้ที่ทรงคุ้นเคยมีคุณงามความดีเป็นพิเศษหรือผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อบ้านเมือง เพราะสาเหตุการสถาปนาเครื่องราชฯตระกูลนี้เพื่อเป็นการตอบแทนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์  บนดวงตราและดารามีข้อความว่า "เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ"  เครื่องราชฯตระกูลนี้จะได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ทุกคนที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หลังจากนั้นจะต้องไปถวายบังคมพระบรมรูป 8 รัชกาลที่ปราสาทพระเทพบิดร เพื่อปฏิญาณตนจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ตระกูลที่ 5 จะพระราชทานแก่ผู้ที่ไปราชการสงครามหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง พูดง่าย ๆ คือ มีไว้สำหรับทหารเท่านั้น พระราชทานที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ให้ตั้งการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพฒนสัตยาในคราวเดียวกัน)
ตระกูลที่ 6 - 8 จะพระราชทานในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ตระกูลที่ 6 เป็นเครื่องราชฯสถาปนาในร.5     ตระกูลที่ 7 สถาปนาในร.6     ตระกูลที่ 8 สถาปนาในร.9  การเรียงลำดับสูงต่ำเป็นไปตามรัชกาล  พระราชทานแก่ผู้ทำประโยชน์ให้แผ่นดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ในระบบราชการมีกำหนดไว้เลยว่าตำแหน่งไหนจะได้เครื่องราชฯชั้นใด
สรุปได้ว่าเครื่องราชฯตระกูลที่ 6 - 8 ได้มาเพราะหน้าที่การงาน  ส่วนเครื่องราชฯจุลจอมเกล้าได้มาเพราะทรงเห็นว่าสมควรจะได้รับพระราชทาน
บันทึกการเข้า
เอก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 เม.ย. 01, 12:03

ขอเพิ่มเติมในส่วนของเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายในนะครับ

ผู้ที่ได้รับพระราชทานชั้นสายสะพาย คือ ปฐมจุลจอมเกล้า และ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ใช้คำนำหน้านามว่า ท่านผู้หญิง
ผู้ที่ได้รับพระราชทานชั้นที่ไม่ใช่สายสะพาย คือ ทุติยจุลจอมเกล้า   ตติยจุลจอมเกล้า  และจตุตถจุลจอมเกล้า จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ใช้คำนำหน้านามว่า คุณหญิง
ทั้งนี้จะต้องเป็นสตรีที่สมรสแล้วจึงมีสิทธิ์ให้คำนำหน้านามทั้ง 2  ประเภทได้ ถ้ายังไม่ได้สมรสให้ใช้คำว่า คุณ แทน
ถ้าเป็น ม.ร.ว. หรือ ม.ล.ให้ใช้คำนำหน้าตามเครื่องราชฯที่ได้รับ ถ้าเป็นม.จ.ขึ้นไปให้คงฐานันดรศักดิ์เดิมไว้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 28 เม.ย. 01, 18:24

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาให้ความรู้ค่ะ
บันทึกการเข้า
จมื่นฌองฌาค ล่ามโซ่
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 29 เม.ย. 01, 18:23

ในส่วนของตระกูลที่ 6-8 นั้น เป็น เครื่องราชฯ ที่สร้างขึ้น ใน รัชกาลที่ 5',6 และ 9 แล้ว รัชกาลที่ 7 ล่ะครับ มิได้ทรง สถาปนาไว้หรืออย่างไร
บันทึกการเข้า
เอก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 30 เม.ย. 01, 22:49

ขออภัยครับ ตระกูลที่ 6 และ 7 สถาปนาขึ้นใน ร.5 ครับ การสถปนาเครื่องราชฯไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์ว่าจะต้องสถาปนาทุกรัชกาลครับ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 01 พ.ค. 01, 19:05

ตระกูลที่ 5 (รามาธิบดี) ก็สถาปนาขึ้นในรัชสมัย ร.6 ด้วยไม่ใช่หรือครับ ?? ถ้าเป็นยังงั้นก็ไม่ได้เรียงลำดับสูงต่ำตามรัชกาลที่สร้างเครื่องราชฯ ตระกูลนั้นน่ะสิ? หรือว่าถือว่ารามาธิบดีเป็นการยกเว้น? หรือว่าผมจำผิดว่าสร้างสมัย ร.6 ?
บันทึกการเข้า
เอก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 02 พ.ค. 01, 23:17

ถูกต้องแล้วครับ  รามาธิบดี สถาปนาใน ร.6 แต่พระราชทานสำหรับทหารเท่านั้นเกียรติเลยสูงกว่าสักหน่อย แต่ 3 ตระกูลสุดท้ายเกณฑ์ในการพระราชทานเท่ากันคือ ข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ จึงลำดับสูงต่ำตามการสถาปนาก่อนหลังครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 19 คำสั่ง