เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 18
  พิมพ์  
อ่าน: 108647 ว่าด้วยเรื่องรัตนชาติ
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 31 มี.ค. 12, 22:59

Yellow Sapphire คุณตั้งเรียกว่าอะไรนะครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 31 มี.ค. 12, 23:26

ดิฉันคงจะเรียกชื่ออัญมณีพวกนี้ ไกลจากนักธรณีวิทยาและสถาปนิก ออกไปเป็นโยชน์  แถมศัพท์ที่คุณตั้งอธิบายให้ฟังในค.ห.ก่อนๆ อ่านแล้วก็ยังไม่เข้าหัว  จำไม่ได้เสียอีก
ไปเจอแร่ธาตอีกชนิดหนึ่ง ฝรั่งเรียก onyx  ไทยแปลว่านิล    อินทรเนตรส่งรูปมาให้ดู เป็นสีดำปี๋

นิลที่ดิฉันเคยเห็นตอนเด็กๆ  ไม่ใช่สีดำ แต่เป็นสีน้ำเงิน มีทั้งน้ำเงินอ่อนและแก่    เจียระไนแบบหลังเต่า   เป็นพลอยทึบแสง   คนละสีกับไพลินอย่างเห็นได้ชัด     ไพลินดูใสกว่านิล  สีก็สดกว่า   และเจียระไนแบบเหลี่ยม 

ข้างล่างนี้คือ onyx  ดิฉันเรียกง่ายๆว่านิลดำ  คุณตั้งคงจะเรียกด้วยชื่ออื่น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 01 เม.ย. 12, 08:02

^
ข้างบนคงเป็นนิลเมืองกาญจน์ แต่ในบ่อเดียวกันเห็นว่ามีSapphireอยู่ด้วย เอามาหุงเป็นไพลินขาย เขาว่าตลาดใหญ่ของ Blue Sapphireไทยอยู่ที่ฮ่องกง

ได้มาจากที่นี่

http://www.toow.com/qa/colored_stone/Q7956095395.html

 
สมัยหนุ่มๆผมมีเพื่อนชั้นดีชาวฮ่องกงจบจากคานาดา ไม่เหมือนพวกพ่อค้าข้างถนนในเกาลูนที่เราๆท่านๆเคยสัมผ้ส  วันหนึ่งพาแฟนมาเที่ยวเมืองไทย แฟนรบเร้าให้ผมช่วยพาไปซื้อพลอยร่วงสีน้ำเงินแบบที่จะไม่โดนตุ๋น จะเอาไปทำเรือนเอง ถามว่ามีงบเท่าไหร่ เธอบอกว่าสุดๆเกได้ห้าพันดอลล์(ตอนนั้นประมาณ๒๒บาทต่อดอลล่าร์) ผมไม่รู้จะพาไปร้านไหนเพราะทราบอยู่ว่าเข้าไปก็โดนเชือดแน่โดยผมจะช่วยเหลืออะไรไม่ได้เลย นึกออกว่าเคยผ่านสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยที่เป็นตึกแถวอยู่บริเวณสี่แยกเจริญผล เลยบอกว่าไปดูที่นี่ก็แล้วกัน ราคาถูกแพงไม่รู้แต่คุณจะได้พลอยสยามแท้ๆตามต้องการไปแน่นอน พอเข้าไปเจอเจ้าหน้าที่บอกที่นี่ไม่ใช่ที่ขาย จะไล่ให้ไปที่อื่นท่าเดียว พอดีนายกสมาคมเข้ามาในจังหวะนี้เลยเชิญเราสามคนเข้าไปในห้องทำงาน พอทราบความต้องการแล้วก็หันไปเปิดเซฟใหญ่โตข้างหลัง ค้นหากล่องเล็กๆออกมาเทลงไปที่ถาดข้างหน้าแล้วขยับโคมไฟส่อง บอกว่านี่เป็นBlue Sapphireแท้ๆของจันทบุรี คัดเกรดมาแล้ว ทุกเม็ดเป็นพลอยชั้นหนึ่ง ราคาตามงบของคุณ คุณผู้หญิงก็ตาเป็นประกายแต่ปากถามว่าดีกว่านี้มีไหม ท่านนายกก็เทกลับใส่กล่องไว้ หันไปหยิบอีกกล่องขั้นมาเทพลอยลงถาด มีเสียงฮือฮาออกมาพร้อมๆกันจากทั้งคู่ เสียงผู้หญิงนั้นเริงร่า แต่ของผู้ชายออกทำนองอั๊วตาย(...)แน่  ท่านนายกเป็นคนไทยเชื้อสายอินเดียที่มีอัธยาศัยดีมาก พูดจาสุภาพไม่ได้เอาแต่จะขาย ให้ความรู้ไปด้วย หยิบตัวอย่างมาแสดงประกอบว่าพลอยไทยชั้นเลิศมีอะไรบ้าง เช่นทับทิมสยามเม็ดนี้ต่างกับทับทิมพม่าเม็ดนี้อย่างไร นี่ก็Yellow Sapphireนะ คนไทยไปเรียกโทปาส ทำให้เสียราคาไปอย่างไม่เข้าเรื่อง นั่น โทปาสมันต้องเป็นอย่างนั้น  Blue Sapphireที่คุณผู้หญิงหยิบขึ้นมาเม็ดนี้นะหรือ ถ้าประมูลก็น่าจะได้ราคาสักแสนเหรียญ เพราะเป็นสีแท้ๆไม่ได้หุง  ไหนครับ นี่ครับนี่ เขาเอาไปเผาให้เข้มได้ถึงขนาดนี้ ผมไม่แนะนำให้ซื้อไป นี่โทปาสของศรีลังกาก่อนหุงก็สีเหมือนเม็ดโน้น หุงแล้วสีเหมือนYellow Sapphireของเรามั้ยนั่น แต่ดูออกครับถ้าชำนาญ ถ้าไม่ชำนาญก็……ฯลฯ  ฯลฯ

สรุปว่าคุณผู้หญิงเลือกได้เม็ดหนึ่งจากถาดแรกสุด ราคาตามงบเป๊ะ ไม่ลดซักสลึง  พวกเราก็ช่วยกันชมว่าสวย ๆ ๆ ๆ ดี ๆ ๆ ๆ ๆ เธอก็ยิ้มอย่างมีความสุข ขอบคุณผมทุกวัน ไปเจอกันอีกที่ฮ่องกงก็ใส่แหวนวงนี้มาอวด  ผมเองวันนั้นก็ได้ความรู้มากมายเล็กน้อยเรื่องพลอย พอที่จะมาฝอยให้ฟังในกระทู้บนๆนั่นแหละ ท่านตั้งห้ามซักถามต่อเพราะหมดภูมิเพียงเท่านี้
 
ก่อนลากลับผมขอบคุณท่านนายกท่านก็ยื่นนามบัตรให้ ผมทำหายไปนานแล้วหละแต่จำได้แม่น เพราะนามสกุลท่านคุ้นหูม๊ากมาก ชื่อคุณอนันต์ ซาลวาลา ทราบภายหลังว่าท่านเป็นอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ สอนพิเศษเรื่องอัญมณีให้นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ และได้ฉายาว่านักสู้ผู้เสียสละเพื่อวงการอัญมณีของไทย



บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 01 เม.ย. 12, 15:31

ไปเจอบทความนี้โดยบังเอิญ แต่ไม่มีความรู้จึงอยากฟังท่านผู้รู้ ขยายความให้ฟังบ้างค่ะ


ปกป้องภูมิปัญญาไทย (1)
วันอังคารที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
ผมได้รับโทรสารร่างงบประมาณโครงการ “กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น” ซึ่งทั้งโครงการใช้เงินประมาณหนึ่งพันกว่าล้านบาท  พอเหลือบสายตาไปที่รายการที่ 6 ก็พบเรื่อง  การเจียระไนขั้นสูง  เป็นการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ  ค่าเช่าเครื่องมือและอุปกรณ์  ฯลฯ  ภาษีของคนไทยต้องใช้จ้างฝรั่งทั้งหมด  21,840,000  บาท
อยากจะเรียนถามว่า  ทำไมเราต้องจ้างฝรั่งมาสอนการเจียระไนพลอย  คนไทยของเรานี่แหละ  เรื่องพลอยสีนี่เราเก่งที่สุดในโลก  เดี๋ยวนี้วงการพลอยจีนและอีกมากมายหลายประเทศ  พยายามจ้างคนไทยไปสอน  เราก็พยายามกีดกันไม่ให้คนของเราไป  เพราะเป็นการไปเปิดเผยความลับ  ทางภูมิปัญญาไทยให้คนอื่น  เป็นเรื่องอันตราย
นิติภูมิในฐานะเป็นอุปนายกสมาคมผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับไทย  แถมยังเป็นประธานฝ่ายจัดหาวัตถุดิบ  ขออนุญาตเรียนเรื่องอย่างนี้รับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพหน่อยครับ  อุตสาหกรรมอัญมณีของไทยในขณะนี้ทำเงินเข้าประเทศปีละถึงหนึ่งแสนล้านบาท  ยังไม่รวมอัญมณีที่นักท่องเที่ยวซื้อติดมือ  ติดนิ้ว  ติดคอ  ออกไป  ซึ่งมีมูลค่าไม่ตํ่ากว่าปีละหลายหมื่นล้านบาท
แต่ความเข้าใจของคนไทยบางท่านไขว้เขว รวมทั้งความที่ถูกกลุ่มอิทธิพลของพ่อค้าอัญมณียิวอเมริกันเล่นงานพลอยมาตลอด  ในอนาคตวงการอัญมณีและเครื่องประดับของไทยอาจจะถึงกาลล่มสลายก็ได้
โลกของเราใบนี้มีรัตนชาติเยอะแยะ  ไม่ว่าจะอเมทิสต์ ทับทิม ทูร์มาลีน เฮมาไทต์  ฯลฯ  แต่รัตนชาติที่สำคัญมีมูลค่ามหาศาลอยู่ในตลาด  มีอยู่เพียง  3  ประเภทหลัก  คือ  เพชร  มรกต  และพลอยเนื้อแข็ง
วงการเพชร  บัดนี้ตกอยู่ใต้อุ้งมือของพ่อค้าเพชรชาวยิวโดยสิ้นเชิง  มรกตก็เช่นกัน  วงการมรกตอยู่ในมือของพ่อค้ายิวทั้งหมดทั้งสิ้น
ส่วนคอรันดัม  หรือที่มีชื่อทางการค้า  เรียกว่า  แซฟไฟร์  หรือพลอยเนื้อแข็งนั้น  คนไทยครองความเป็นหนึ่งในโลกมากกว่า  90%  ของแซฟไฟร์ทั่วโลกผลิตมาจากเมืองไทย  เพราะเรามีภูมิปัญญาไทยในการผลิตที่คนจากประเทศอื่นไม่ทราบ
แม้ว่าวัตถุดิบที่เป็นพลอยเนื้อแข็งในประเทศแทบจะไม่มีแล้ว  แต่วัตถุดิบจากทั่วโลกก็ต้องไหลเข้ามาผ่านขั้นตอนการผลิตพลอยเนื้อแข็งในประเทศไทย  ไม่ว่าจะเป็นการเผาพลอย  การโกลนตั้งน้ำ  การแต่งขึ้นรูป  หรือแม้แต่การเจียระไน
การแต่งขึ้นรูปและการเจียระไน  อาจจะมีผู้คนจากบางประเทศทำได้บ้าง  แต่การเผาพลอยและการโกลนตั้งน้ำ  รับประกันว่า  ไม่ค่อยมีใครรู้  ไม่มีสอนกันตามสถาบันการศึกษาใดๆ เรียนกันเพียงจากพ่อสู่ลูก จากลูกสู่หลาน ฝรั่งทำงานนี้ไม่ได้
การเผาพลอยหรือการหุงพลอยเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบ  คนเผาต้องใจถึงและมีความรู้เรื่องเชื้อพลอย  ถ้าเผาผิด  พลอยราคาเป็นล้าน  ก็อาจจะเหลือราคาร้อย  หรือไม่มีค่าเลยก็ได้  เผาเสร็จแล้วนำมาขึ้นรูปตั้งน้ำ  ถ้าตั้งน้ำถูก  พลอยอาจจะมีราคาเพิ่มไปถึง  3  แสน  แต่ถ้าตั้งน้ำผิด  ก็อาจจะเหลือเพียง  3  พันบาท  ภูมิปัญญาตรงนี้  ที่ทำให้รายได้เป็นแสนล้านบาทไหลเข้าประเทศไทยในแต่ละปี
ทุกวันนี้  ยิวซึ่งครองตลาดเพชรและมรกต  จึงพยายามโจมตีพลอย  บางคนถึงขนาดโจมตีในที่ประชุมว่า  พลอยที่พวกเอ็งคนไทยเก่งกาจฉกาจฉกรรจ์นั้น  เป็นของไม่มีราคาค่างวดอะไรมาก  เคยมีคนเล่าให้ผมฟังว่า  ท่านศาสตราจารย์อนันต์  ซาลวาลา  (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)  ลุกขึ้นโต้ตอบฝรั่ง  การออกแบบในโลกนี้  พวกท่านเคยเห็นใครนำพลอยไปล้อมเพชรไหม  ไม่มี  มีแต่ซื้อพลอยเป็นอัญมณีหลัก  แล้วก็จึงซื้อเพชรมาล้อมพลอย  แสดงว่าพลอยเด่นกว่า  พูดเท่านี้เองครับ  คนตบมือกันกราว  ฝรั่งคนที่โจมตีคุณค่าของพลอยนั้น  ถึงขนาดนั่งเงียบนิ่งเป็นลิงป่วย
ปัจจุบัน  พลอยที่คนไทยถนัดกำลังถูกโจมตีอย่างหนัก  จากพวกพ่อค้าเพชรและพ่อค้ามรกต  หากผู้คนในรัฐบาลไทยยังไม่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง  ในอนาคตเราอาจจะไม่ได้ชื่อว่า  ประเทศไทยคือเมืองหลวงของพลอยโลกก็ได้
พรุ่งนี้มารับใช้กันต่อครับ
•   นิติภูมิ  นวรัตน์
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 01 เม.ย. 12, 19:17

เพื่อเพิ่มหรือลดความสับสนใ้ห้มากขึ้น

ผมขอคัดดลอกข้อเขียนในหนังสือแจกในงานศพนั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
    "ก่อนที่จะพูดกันต่อไปในเรื่องนิล ขอทำความเข้าใจความหมายของคำว่า นิล เสียก่อน เดิมเราเข้าใจกันว่า นิล แปลว่า ดำ เช่นพูดว่าดำเหมือนนิล...แต่ในพจนานุกรม ให้ความหมายของ นิล ว่า สีขาบ สีเขียวแก่ พลอยสีดำ หรือขาบ และให้ความหมายของ ขาบ ว่าสีน้ำเงินแก่   ในทางปฏิบัติคนทางจันทบุรีเรียกพลอยทุกสีว่านิล นอกจากพลอยแดงซึ่งเรียกว่าทับทิม ทางกาญจนบุรีมักเรียกตรงตัวว่า พลอยสีน้ำเงิน หรือพลอยสีฟ้า ถ้่าเหลืองก็เรียกพลอยเหลืองหรือพลอยน้ำบุษ และนิลของชาวกาญจนบุรีคือ สปิเนลดำ (Black spinel) ซึ่งเป็นรัตนชาติตระกูลอื่น มิใช่ตระกูลเดียวกับคอรันดั้ม  สปิเนลดำนี้ จันทบุรีเรียกว่าขี้พลอย แต่คนทางกาญจนบุรีก็ทราบดีว่า นิล ในที่อื่นเขาหมายความถึงอะไร   ในทางธรณีวิทยาเรียกคอรันดั้มรัตนชาติทุกสียกเว้นสีแดงว่านิล และเรียกสปิเนลว่านิลตะโก
     ทางจันทบุรีเรียกนิลสีฟ้าและนิลสีเขียวว่า นิลเขียวหรือพลอยเขียว นิลสีฟ้าหรือสีน้ำเงินที่ไม่เจือสีอื่นมักเรียกกันว่า "เขียวไพลิน" หรือ "ไพลิน" เฉยๆ ส่วนนิลสีเขียวใบไม้เรียกว่า "เขียวบางกะจะ"

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 01 เม.ย. 12, 20:31

เพื่อเพิ่มหรือลดความสับสนใ้ห้มากขึ้น

ผมขอคัดดลอกข้อเขียนในหนังสือแจกในงานศพนั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
    "ก่อนที่จะพูดกันต่อไปในเรื่องนิล ขอทำความเข้าใจความหมายของคำว่า นิล เสียก่อน เดิมเราเข้าใจกันว่า นิล แปลว่า ดำ เช่นพูดว่าดำเหมือนนิล...แต่ในพจนานุกรม ให้ความหมายของ นิล ว่า สีขาบ สีเขียวแก่ พลอยสีดำ หรือขาบ และให้ความหมายของ ขาบ ว่าสีน้ำเงินแก่   ในทางปฏิบัติคนทางจันทบุรีเรียกพลอยทุกสีว่านิล นอกจากพลอยแดงซึ่งเรียกว่าทับทิม ทางกาญจนบุรีมักเรียกตรงตัวว่า พลอยสีน้ำเงิน หรือพลอยสีฟ้า ถ้่าเหลืองก็เรียกพลอยเหลืองหรือพลอยน้ำบุษ และนิลของชาวกาญจนบุรีคือ สปิเนลดำ (Black spinel) ซึ่งเป็นรัตนชาติตระกูลอื่น มิใช่ตระกูลเดียวกับคอรันดั้ม  สปิเนลดำนี้ จันทบุรีเรียกว่าขี้พลอย แต่คนทางกาญจนบุรีก็ทราบดีว่า นิล ในที่อื่นเขาหมายความถึงอะไร   ในทางธรณีวิทยาเรียกคอรันดั้มรัตนชาติทุกสียกเว้นสีแดงว่านิล และเรียกสปิเนลว่านิลตะโก
     ทางจันทบุรีเรียกนิลสีฟ้าและนิลสีเขียวว่า นิลเขียวหรือพลอยเขียว นิลสีฟ้าหรือสีน้ำเงินที่ไม่เจือสีอื่นมักเรียกกันว่า "เขียวไพลิน" หรือ "ไพลิน" เฉยๆ ส่วนนิลสีเขียวใบไม้เรียกว่า "เขียวบางกะจะ"



นิลกาฬ โบราณใช้เรียก พลอยสีน้ำเงิน


กลอนจากระบำนพรัตน์ตอนหนึ่งว่า

"นิลกาฬน้ำเงินก่ำล้ำหมอกเมฆ รุจิเรศรุ่งโรจน์โชติอร่าม 
อำนวยสรรค์สุขารมย์อภิราม สิ่งดีงามหลามหลั่งสะพรั่งมา"
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 01 เม.ย. 12, 21:02

ตอนนั้นอย่างที่คุณตั้งว่า ยุโรปเกิดกระแสบ้าคลั่งเพชรนิลจินดาอย่างแรง แพงเท่าไรก็มีคนสู้ราคา ทับทิมพม่าน่ะโด่งดังอยู่แล้วโดยมีอังกฤษผูกขาด ที่ฝรั่งเศสเข้ามาแหยมๆในพม่าก็อยากจะได้ทับทิมนี่แหละ แต่อังกฤษก็คอยแยกเขี้ยวขู่แง่งๆอยู่  ครั้นฝรั่งเศสได้อินโดจีนแล้ว ได้ข่าวว่าเมืองจันทบูรณ์มีพลอยดี ก็เลยหาเรื่องกับไทยเอาเรือรบมาข่มขู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกค่าปรับเป็นทองคำไปเท่ากับเงิน2ล้านฟรังก์และเงินไทยอีก3ล้านบาท  แถมเข้ายึดจันทบูรณ์และตราดเสียดื้อๆคนไทยคงจำได้  เป้าหมายของฝรั่งเศสอยู่ที่พลอยเมืองจันท์ ตัวที่ไปดังในยุโรปมากที่สุดคือBlue Sapphire  ผมเรียกตามตลาดว่าไพลิน ส่วนคุณตั้งเรียกนิล และ Yellow Sapphire ที่ตลาดเรียกว่าบุษราคัม (ความจริงเรียกผิด เพราะบุษราคัมจริงๆตรงกับ Topaz ที่เป็นพลอยเนื้ออ่อนเกรดต่ำกว่ามาก สีเหลืองจางๆที่เราเรียกว่าบุษซีลอน แต่เดี๋ยวนี้นำมาเผาเป็นเหลืองเข้ม) ฝรั่งเศสยึดอยู่หลายปีดีดักกว่าจะยอมคาย  ว่ากันว่าเหตุที่ยอมคายก็เพราะไปเจอสายพลอยเข้าใหม่ที่บ่อเก่าของเมืองชื่อไพลินในเขมร

ใช่เลยครับ บุษราคำจริงๆนั้นตรงกับแร่ Topaz แร่นี้หากบริสุทธิ์จริงๆจะไม่มีสี แต่ตามปกติในธรรมชาติมักจะมีสีออกเหลืองอ่อนๆ หรือในสีที่มีสีเหลืองผสมอยู่ค่อนข้างมาก เช่นน้ำตาลอ่อน หรือส้มอ่อนๆ และรวมทั้งสีเทาอ่อนๆ    ทรายตามชายหาดและทรายท้ายรางเหมืองแร่ดีบุก ก็มีเม็ดทรายที่เป็นแร่ Topaz ปนอยู่ด้วยครับ  
  
เพื่อเป็นการยืนยันว่าความเห็นในเชิงประวัติศาสตร์ของคุณนวรัตน์ จึงขอคัดลอกมาอีก ดังนี้

  "...บ่อทับทิมของพม่าได้นำความยุ่งยากทางการเมืองมาสู่พม่าอย่างไร บ่อพลอยของไทยก็คงจะเป็นเหตุหนึ่งที่ฝรั่งเศสยึดจันทบูรณ์ใน ร.ศ.112 ....
เคียรนัน (E.V.G. Kiernan,1939  British Diplomacy in China 1880 to 1885) กล่่าวว่า "อังกฤษผนวกดินแดนซึ่งตนมีผลประโยชน์เพื่อคุ้มครอง ส่วนฝรั่งเศสผนวกดินแดนที่ตนปราถนาจะได้ผลประโยชน์ไว้คุ้มครอง"....ในครั้งนั้นฝรั่งเศสโดยมี อ.ปาวี (Auguste Pavie) อยู่หลังฉาก พยายามที่จะให้อังกฤษยอมรับว่าดินแดนลาวทั้งหมดตกอยู่ในปกครองของฝรั่งเศสทั้งๆที่ไทยปกครองมาแล้วกว่า 1 ศตวรรษ และแม้ในแผนที่ที่นายวาดแดวต๋อง ทูตฝรั่งเศส ใช้ในการเจรจากับอังกฤษก็ยังแสดงว่าดินแดนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรสยาม สมัยนั้นยุโรปกำลังเห่อทับทิมและนิล นักวิทยาศาสตร์กำลังขมักเขม้นทำการค้นคว้าหาทางสังเคราะห์ทับทิมอยู่แข็งขัน ส่วนในอีกซีกหนึ่งของโลก ฝรั่งเศสเพิ่งถูกบังคับให้ถอนตัวจากพม่า บ่อทับทิมพม่ากำลังจะเป็นหมูเข้าปากอยู่แล้วต้องหลุดลอยไป เมืองไทยกำลังเป็นผู้ผลิตนิลมากที่สุดในโลก และเป็นที่รู้กันว่า นิลนั้นมาจากไพลินในประเทศสยาม ทับทิมมาจากบ่อนาวงและบ่อชะนะจังหวัดตราด บริษัทอังกฤษได้สัมปทานทำเหมืองทับทิมและนิลที่จันทบูร์และตราด ฝรั่งเศสดูจะเสียท่าอังกฤษไปเสียทุกแห่ง อ.ปาวี นั้นกล่าวกันว่าถูก inspired โดยนักสำรวจฝรั่งเศสรุ่นก่อนๆ เช่น Mouhot (Henri Mouhot,1859 Voyage dans les Royausumes De Siam, De Cambodge, De Laos   Paris p.95) และ Pallegoix (Mgr.Pallegoix,1854  Royaume Thai Ou Siam, Paris. p.78) เป็นต้น คนพวกนี้ได้เขียนเรื่องเขาพลอยแหวนไว้ว่าอุดมด้วยทับทิม นิล บุษราคำ และโกเมน อันสวยงามมากมายเหลือเชื่อ   นี่ควรจะเป็นเหตุหนึ่งที่ฝรั่งเศสโดย อ.ปาวี เป็นหัวเรือใหญ่ เมื่อได้ดินแดนลาวไปจากไทยแล้ว ยังพยายามจะฮุบเอาพระตะบอง จันทบุรี และตราดอีกด้วย แต่ภายหลังที่เข้ายึดจันทบูรณ์แล้ว จึงรู้ว่าพลอยส่วยใหญ่มาจากไพลิน จึงเข้าควบคุมการขุดพลอยที่นั่น และในขั้นสุดท้ายก็เอาไพลินเด็ดขาดไปจากไทยและถอนตัวจากจันทบุรีและตราด
    คนเรานั้นจะควบคุมกักขังอะไรก็ได้นอกจากจิตใจ แม้ฝรั่งเศสจะได้ไพลินไปสมใจ แต่ก็คุมคนที่ไพลินไม่ให้ขายพลอยออกมาทางจันทบุรีไม่ได้ จันทบูรณ์จึงเป็นเมืองที่รุ่งเรืองในการค้าและเจียรนัยพลอยตลอดมา ไม่เคยตกต่ำเลย  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 01 เม.ย. 12, 21:54

คุณหนุ่มสยามได้ให้คำมาอีกหนึ่งคำคือ นิลกาฬ = พลอยสีน้ำเงิน

นิหร่า (น่าจะเขียนว่านิลหร่า???) ก็เป็นอีกคำที่บอกว่าเป็นพลอยสีน้ำเงิน

แล้วทั้งสองนิลนี้ต่างกันอย่างไร???

แล้วเราก็มีคำว่า นิลตะโก ซึ่งคำนี้ต่างไปแน่นอน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 03 เม.ย. 12, 11:22

ตอนเด็กๆ คำว่านิลหมายถึงพลอยสีน้ำเงินหม่นๆ  ทึบแสง  เจียระไนแบบหลังเบี้ย หรือกลมนูน  ไม่มีเหลี่ยม   แม่เรียกว่า พลอยยิหร่า (คนละอย่างกับยี่หร่าที่เป็นเครื่องเทศนะคะ)   ต่อมาเห็นทางร้านขายเรียกว่า นิหล่า หรือนิลหล่า   เข้าใจว่าเพี้ยนมาจากภาษาต่างประเทศภาษาใดภาษาหนึ่ง อาจจะชวาหรือมาเลย์
เป็นพลอยราคาถูก   ถ้าจะทำหัวแหวนต้องเม็ดใหญ่มากๆ ถึงจะเอามาล้อมเพชร    ถ้าเม็ดเล็กๆก็ทำสร้อยข้อมือ ใส่เล่น

คำว่ากาฬ ในนิลกาฬ ซึ่งเรียกเป็นคำคล้องจองอธิบายคำว่านพเก้า   มีคำประกอบว่า สีหมอกเมฆนิลกาฬ    แสดงว่านิลในนพเก้ามีสีแก่เกือบดำ  เหมือนเมฆฝน

นิลตะโก น่าจะเป็นสีดำสนิท เหมือนลำต้นตะโก  เป็นแร่ธาตุอีกชนิดหนึ่ง คนละอย่างกับนิลสีน้ำเงิน


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 03 เม.ย. 12, 13:01

ตอนเด็กๆ คำว่านิลหมายถึงพลอยสีน้ำเงินหม่นๆ  ทึบแสง  เจียระไนแบบหลังเบี้ย หรือกลมนูน  ไม่มีเหลี่ยม   แม่เรียกว่า พลอยยิหร่า (คนละอย่างกับยี่หร่าที่เป็นเครื่องเทศนะคะ)   ต่อมาเห็นทางร้านขายเรียกว่า นิหล่า หรือนิลหล่า   เข้าใจว่าเพี้ยนมาจากภาษาต่างประเทศภาษาใดภาษาหนึ่ง อาจจะชวาหรือมาเลย์

คำว่า "นิหล่า" เป็นภาษาพม่า มาจากภาษาอินเดียว่า "หนี่ลัม"  ซึ่งมาจากภาษาสันสกฤตว่า nIla नील หรือ นิล นั่นเอง

พลอยนิหล่าจากพม่ามักเจียระไนเป็นรูปโค้ง หลังเต่า ชนิดที่เจียระไนเป็นแบบรูปเหลี่ยมมีน้อยมาก หากมีรุ้งหรือดาวให้เห็นชัดเจน จะมีราคาสูงขึ้น พลอยชนิดนี้นำเข้ามาขายมากทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

คำว่า นิหล่า นี้ ชาวพม่าที่บ้านท่าขี้เหล็ก ตรงข้ามอำเภอแม่สาย เรียกว่า "ยี่หร่า" ซึ่งไม่ถูกต้อง ความหมายก็เลยกลายเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่ง

นิลตะโก น่าจะเป็นสีดำสนิท เหมือนลำต้นตะโก  เป็นแร่ธาตุอีกชนิดหนึ่ง คนละอย่างกับนิลสีน้ำเงิน

นิลตะโก หมายถึง แร่สปิเนลดำ (black spinel)

ข้อมูลจาก http://patchra.net/minerals/gems/sapphires02.php

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 03 เม.ย. 12, 19:53

แหล่งทับทิมและพลอยที่สำคัญของไทยอยู่ในเขต จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ซึ่งในอดีตได้มีการใ้ห้สัมปทานขุดพลอย (ดูจะมีอยู่เพียงครั้งเดียวสำหรับการให้สิทธิในรูปของสัมปทาน) แก่บริษัท Anglo Italian Exploring Association เมื่อปี พ.ศ.2432 ซึ่งในปีต่อมาได้โอนสิทธิให้กับบริษัท The Sapphires and Rubies of Siam Limited ของอังกฤษ ซึ่งสามารถผลิตพลอยในปีแรกได้ประมาณ 30,000 การัต ก่อนที่ฝรั่งเศสจะมายึดจันทบุรีและตราดในปี พ.ศ.2446 เข้าใจว่าการทำเหมืองน่าจะอยู่บริเวณบ้านบ่อนาวง จ.ตราด ซึ่งเป็นแหล่งที่พบทับทิมในปริมาณค่อนข้างมาก แหล่งบ่อนาวงนี้มีข้อมูลว่าได้เริ่มขุดกันมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2415 อีกสถานที่หนึ่งที่บริษัทนี้น่าจะเข้าทำเหมือง (หรืออย่างน้อยก็พยายามที่จะดำเนินการทำเหมือง) ก็น่าจะเป็นที่บ่อชะนะซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของบ่อนาวงไปประมาณ 50 กม.หลังจากการพบบ่อนาวงมาประมาณ 10 ปี ฤๅบ่อนี้จะเป็นต้นเหตุก้นบึ้งจริงๆที่ให้ฝรั่งเศสเกิดอาการโลภตาโตคิดยึดจันทบุรีและตราด
 
แหล่งอื่นๆที่พบทับทิมในยุคหลังมากๆ (ประมาณ พ.ศ.2510) ก็คือ บ้านหนองบอน อ.บ่อไร่ จ.ตราด

สำหรับแหล่งนิล (พลอยในตระกูล Corundum) นั้น ได้มีการพบในพื้นที่ของหลายๆจังหวัด แต่ที่เด่นดังและรู้จักกันมากๆก็คือ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ซึ่งแท้จริงแล้วเราพบเราพบในอีกหลายๆจังหวัด เช่น อ.วังชิ้น อ.เด่นชัย จ.แพร่    อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย    อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์     อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี    อ.กันทรลักษณ์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ   และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

       
 

 
   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 03 เม.ย. 12, 20:47

ต่อไปจะขอหลีกเลี่ยงความน่าเบื่อในเรื่องราวเชิงประวัติไปยังอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นที่สนใจมากกว่านะครับ

คำหลักที่เกี่ยวพันจะนำมาถกกันคือ Synthetic, Imitation, Fake, Genuine, Treat, Dye, Stimulant และอื่นๆที่นึกออก 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 03 เม.ย. 12, 21:42

^
หนักเข้าไปอีก



.
ล้อเล่นน่ะคร้าบบ


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 04 เม.ย. 12, 18:17

เกือบลืมไปเลยว่าจะไปว่ากันเรื่องเพชรของไทยก่อนที่จะไปในเรื่องอื่นๆ
ในประเทศไทยเราก็พบเพชรนะครับ พบในแหล่งแร่ดีบุก มีไม่มาก นานๆจะพบสักครั้ง เม็ดโตขนาดประมาณหัวไม้ขีดเป็นส่วนมาก แต่ที่มีขนาดถึง 5 การัตก็เคยได้ยิน พบกันมากแถวๆ อ.ตะกั่วป่า อ.กะปง จ.พังงา ที่ภูเก็ตก็มีแถวๆอ่าวทุ่งคากับอ่าวมะขาม  ที่ผมเคยเห็นมีทรงเป็นรูปผลึกค่อนข้างจะสมบูรณ์ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการพบแหล่งในเชิงพาณิชย์

ความน่าสนใจของเพชรที่พบในไทย คือ ต้นตอแหล่งที่มาของเพชรนั้นอยู่ที่ใหน
 
แต่ดังเดิมนั้นนักวิชาการเชื่อกันว่า เพชรจะพบเกิดอยู่ในหินที่เรียกว่า Kimberlite (ชื่อมาจากเมือง Kimberley ใน South Africa) เท่านั้น ซึ่งหินชนิดนี้พบอยู่ไม่กี่แห่งในโลก แหล่งที่พบมากที่สุดอยู่ในทวีปอัฟริกา หินชนิดนี้เป็นหินทีมีแหล่งกำเนิดจากใต้ผิวโลกที่ระดับลึกมากๆ เป็นหินอัคนีหลอมละลายที่แทรกทะลุผิวโลกขึ้นมาเป็นรูปทรงคล้ายหัวแครอต สภาพที่หินนี้แทรกขึ้นมาสู้ผิวโลกเป็นเหตุการณ์ที่รวดเร็วมาก อยู่ภายใต้ความกดดัน (Pressure) ที่สูงมาก มีอุณหภูมิที่สูงมาก ตัวหินเองมีปริมาณซิลิกา (Silica) ที่ต่ำมาก แกสที่อยู่ในหินละลายนั้นด้วยประกอบไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่สูงมาก จัดเป็นหินที่อัคนีพวก Extreme ทั้งในด้านองค์ประกอบแร่ธาตุและสภาพแวดล้อมในการเิกิด ซึ่งด้วยสภาพดังกล่าวนี้ หินนี้จึงผุพังได้ง่ายมากในสภาพแวดล้อมตามปกติบนผิวโลก การสำรวจหาจึงยาก ทั้งในเชิงของตำบลพื้นที่บนผิวโลกที่จะมีลักษณะเอื้ออำนวย และในเชิงของร่องรอยที่จะนำไปสู่ตัวมัน

การสำรวจทางธรณ๊วิทยาเพื่อการหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาตินั้น มีอยู่ 2 ลักษณะวิธี คือ การใช้ข้อมูลสะสมจากที่ได้เคยมีการพบกันมา (Empirical approach) และการใข้ข้อมูลที่ได้มาจากการทดลองหาความสัมพันธ์ของเรื่องต่างๆในห้องแลบ (ในกรณีนี้ส่วนมากจะเป็นข้อมูลจากการทดลองที่เรียกว่า High pressure & High temperature Lab.) นำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลเข้าด้วยกันเพื่อเป็นแนวทางในการสำรวจ (Theoretical approach) ซึ่งประเทศออสเตรเลียได้ประสบผลสำเร็จและำได้พบแหล่งเพชรในหินอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ต่างไปจากหิน Kimberlite เกือบจะสิ้นเชิง มีแต่เพียงสภาพของการเกิดเท่านั้นที่เหมือนกัน แหล่งเพชรในออสเตรเลีย แม้จะให้เพชรส่วนมากที่มีคุณภาพในเชิงของอัญมณีไม่เท่ากับเพชรในบ่อดั้งเดิมทั้งหลาย แต่ก็ได้ทำให้ราคาเพชรในโลกมีราคาต่ำลง และทำให้มีเพชรที่จะใช้ในเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น

สภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยาของภูมิภาคแหลมไทยนี้ ยังไม่พบกันว่ามีลักษณะใดๆที่จะบ่งชี้ว่าจะเอื้ออำนวยให้มีสภาพ Extreme condition สำหรับการเิกิดหินที่จะให้กำเนิดเพชร แล้วเพชรของไทยมาจากใหน ก็ยังไม่รู้กัน แล้วก็แปลกที่เกิดร่วมอยู่ในชั้นดินที่มีแร่ดีบุกสะสมตัวอยู่ แถมยังคงมีทรงรูปผลึกอีกด้วย ซึ่งแสดงว่าแหล่งกำเนิดจะต้องอยู่ไม่ไกล เนื่องจากเพชรเปราะแตกได้ง่ายในระหว่างการถูกพัดพามา
เรามีนักวิชาการที่มีความรู้ดีมากๆเป็นจำนวนมาก แต่ขาดอุปกรณ์และเครื่องมือในการวิจัย ขาดงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง มิเช่นนั้นเราก็อาจจะทราบมากว่า 30 ปีแล้วว่าอะไรเป็นอะไร

เพชรของไทยจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง หากมีโอกาสได้พบเห็นก็น่าจะสอบถามซื้อเก็บสะสมไว้ เอามาทำเป็นแหวนหรือจี้ประดับไว้ใส่โชว์ในเชิงของคุณค่ามิใช่ในเชิงของราคา น่าเสียดายที่คงหากันไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากเหมืองแร่ดีบุกของเราเลิกทำกันไปหมดแล้ว       
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 04 เม.ย. 12, 18:35

ต่อไปจะขอหลีกเลี่ยงความน่าเบื่อในเรื่องราวเชิงประวัติไปยังอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นที่สนใจมากกว่านะครับ

คำหลักที่เกี่ยวพันจะนำมาถกกันคือ Synthetic, Imitation, Fake, Genuine, Treat, Dye, Stimulant และอื่นๆที่นึกออก 
หูผึ่ง   คุณตั้งจะดูเพชรให้ชาวเรือนไทยหรือคะ?
Synthetic  =  สังเคราะห์
Imitation   =  เลียนแบบ
Fake,        = ของปลอม
Genuine    = ของแท้
Treat        = ?
Dye          = ย้อมสี
Stimulant  = ?


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 18
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.421 วินาที กับ 20 คำสั่ง