เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 18
  พิมพ์  
อ่าน: 108723 ว่าด้วยเรื่องรัตนชาติ
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 195  เมื่อ 10 เม.ย. 12, 20:05

ถูกของคุณติบอครับ สำหรับกรณีการทำแก้วสี

การเผาพลอยหรือการหุงพลอย (ในมุมของการเอาพลอยธรรมชาติมาเผา) น่ามีมานานมากแล้วเช่นกัน  น่าจะเป็นการค้นพบโดยบังเอิญ แล้วก็กลายเป็นความพยายามต่อๆมา แต่ก็คงไม่สามารถจะทำให้เกิดผลได้อย่างต่อเนื่อง คือได้เป็นบางครั้งและคงจะเป็นนานๆครั้ง ผมเชื่อว่ามีความพยายามอย่างต่อเนื่องมาตลอมาจนกระทั่งในปัจจุบัน
 
ที่ได้กล่าวว่าพ่อค้่าพลอยของไทยเป็นกลุ่มแรกๆของโลกที่เผาพลอยนั้น ในโลกปัจจุบันเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือ ได้มีความพยายามมุมานะทำกันอย่างต่อเนื่องในยุคที่มีการซื้อขายพลอยดิบจากต่างประเทศในลักษณะเหมารวม แล้วอาศัยฝีมือในการคัดพลอย การตั้งรูปทรงและการตั้งน้ำในเจียรนัย ซึ่งไม่จำเป็นต้องขายได้ทุกเม็ด เพียงแต่ได้มากพอที่จะขายได้กำไร สำหรับพลอยที่สีไม่สวยที่คงเหลืออยู่นั้น ก็เลยเอามาลองเผากัน ทั้งแบบใส่ถ้วย Crucible ไม่ใส่ถ้วย ใส่ถ้วยปิดฝา ใส่ถ้วยปิดฝาปิดผนึกพอกด้วยดินโคลน ใส่สารบางอย่างในถ้วย ฯลฯ เผาที่อุณหภูมิต่างๆกัน ทำให้เย็นตัวด้วยวิธีต่างๆและในระยะเวลาต่างๆกัน มีการหารือ มีการใช้นักวิชาการ ใช้วิชาการ จนกระทั่งพอจะได้วิธีการที่เหมาะสมสำหรับพลอยแต่ละลักษณะ แต่ละสี บางครั้งจากพลอยที่มีสีกลายเป็นพลอยที่ไม่มีสีก็มี ในยุคนี้ข้อมูลทางวิชาการที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องเทคนิคการเผาพลอยที่เป็นเอกสารเผยแพร่ทั่วไปในโลกทางวิชาการมีอยู่น้อยมาก ซึ่งแม้ในปัจจุบันนี้เทคนิควิธีการต่างๆก็ยังไม่เป็นข้อยุติอย่างสิ้นเชิง ยังคงมีการลองผิดลองถูก เพียงแต่พอจะรู้ว่าจะต้องคุมตัวแปรใดในลักษณะใด  แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้วิธีการที่พอจะเป็นมาตรฐานและสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตได้ในสัดส่วนที่มากพอคุ้มค่าต่อการลงทุน คือ พอจะอยู่ในสภาพของความสามารถที่จะคาดเดาได้ (Predictable)

หลักการสำคัญของการเผาพลอยตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิชา Thermodynamic ซึ่งในมุมง่ายที่สุดก็คือ (ในมุมยาก คือ Pressure, temperature, eh, pH, activity, fugacity ฯลฯ)  เป็นเรื่องของอุณหภูมิที่จะทำให้เกิดการเรียงตัวใหม่ของธาตุและสารประกอบในเนื้อพลอย ซึ่งอุณหภูมิที่จะทำให้เกิดสภาพดังกล่าวนี้ (กรณีหินและแร่) เริ่มตั้งแต่ประมาณ 700 องศาขึ้นไปภายใต้ความดันบรรยากาศปรกติ ไม่ขยายต่อนะครับ
เล่ามาเพียงเพื่อจะบอกว่า ในสมัยโบราณนั้นใช้เชื้อฟืนไฟจากไม้ต่างๆชนิด บางชนิดก็ให้อุณหภูมิที่สูงได้มากโดยใช้เทคนิคบางอย่าง ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่เกินประมาณ 400 องศา (ผิดพลาดได้นะครับ จำไม่ได้แล้ว) การเผาพลอยให้ได้สีหรือเปลี่ยนไปเป็นสีที่ต้องการจึงเป็นลักษณะของโชค เนื่องจากข้อเท็จจริงในปัจจุบันนี้ ใช้เตาเผาที่ให้อุณหภูมิสูงกว่านั้นมาก
ข้อถกเถียงที่จะเกิดขึ้นคือ แล้วการถลุงแร่ถลุงโลหะที่ต้องใช้ไฟอุณหภูมิสูงมากๆก็ยังทำได้ ผมคิดว่าคงไม่มีคนพยายามจะเอาพลอยสักกำมือหนึ่งไปใส่ไว้ในกองเตาไฟถลุงแร่เป็นแน่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 196  เมื่อ 10 เม.ย. 12, 20:36

นำภาพพลอยเผามาประกอบค่ะ
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=prakaikaew&month=03-04-2010&group=3&gblog=6


บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 197  เมื่อ 11 เม.ย. 12, 04:01

ขอบคุณ คุณตั้งมากๆครับ ที่มาเล่าต่อ
เอาล่ะ... ผมหาเรื่อง 'พลอยหุง' ชนิดที่ 2 มาเล่าต่อบ้างดีกว่า

พลอยชนิดนี้หลายๆคนที่ไปชมพิพิธภัณฑ์บ่อยๆคงรู้จักกันดี
แต่เชื่อไหมว่ามนุษย์รู้จักหุงพลอยชนิดนี้มาอย่างน้อยก็... 4,000 ปีแล้ว
เพราะจุดเริ่มต้นของโบราณวัตถุชนิดนี้ที่เก่าที่สุด
มาจากแหล่งโบราณคดีในเครือข่ายวัฒนธรรมฮารัปปัน
ในเมืองที่ชื่ Mergarth (ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน)

พลอยชนิดนี้ ชื่อ 'คาร์นาเลียน' ครับ


บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 198  เมื่อ 11 เม.ย. 12, 04:12

ขออนุญาตออกตัวเสียก่อน... ว่าเรื่องที่เล่ามาแล้ว
และจะเล่าต่อไปนี้... ไม่ใช่งานศึกษาของผมเอง
แต่เป็นงานของ Peter Francis Jr.
ซึ่งตีพิมพ์ไว้ในหนังสือชื่อ Bead Trade นะครับ

ตัวผมเองเป็นแค่ผู้แปลใต้ดินคนหนึ่งเท่านั้น
ที่มีโอกาสแปลหนังสือเล่มนี้ให้กับผู้อ่านที่อยากอ่านกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งได้อ่าน
น่าเสียดายอยู่สักหน่อย... ที่หนังสือไม่ได้พิมพ์ออกวางตลาด
พอเห็นโอกาสที่เหมาะ นักแปลใต้ดินอย่างผม
ก็เลยขออนุญาตหยิบงานเก่าขึ้นปัดฝุ่นมาวางบนแผงใหม่
หวังใจว่าท่านผู้อ่านแต่ละท่านจะไม่เคืองกันนะครับผม...


ในความเห็นก่อน ผมเริ่มต้นเรื่องลูกปัดคาร์นาเลียน
ไว้เมื่อ 4,000 ปีที่แล้วแล้ว ในเมือง Mergarth
แต่ 4,000 ปีที่แล้วยังน้อยไปครับ...
ขออนุญาตย้อนไปมากกว่านั้นอีกสักนิด....
เมื่อ 60 ล้านปีมาแล้ว!

หลายท่านที่เคยอ่านสารานุกรมภูมิศาสตร์มาบ้าง
คงพอจำกันได้ว่าอินเดียเกิดจากการชนตัวกันระหว่างแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น
คือ แผ่นยูเรเชีย และแผ่นออสเตรเลีย
โดยมีตะเข็บรอยต่อใหญ่ยักษ์ระหว่างแผ่นเปลือกโลกทั้ง 2 แผ่น
ที่ยกตัวขึ้นเป็นสันเทือกเขาที่สูงที่สดในโลก ชื่อ 'เทือกเขาหิมาลัย' นะครับ...

เมื่อ 60 ล้านปีที่แล้ว บริเวณประเทศอินเดียจึงเป็นท้องทะเลมาก่อน
การชนตัวกันของแผ่นเปลือกโลกนี่เอง ที่ทำให้ท้องน้ำบริเวณนี้เดือดเป็นไฟ
ความร้อน และน้ำร้อนจากใต้ผิวโลกรั่วไหลออกสู่ท้องน้ำลึกบริเวณนี้ตลอดเวลา
ในที่สุดก็เกิดเป็นภูเขาไฟใต้ทะเลที่สร้างสายแร่ควอร์ตซ์ขึ้นหลากหลายชนิด
ทั้งชนิดที่มีรูปผลึก เช่น อเมทิสต์ และควอร์ตซ์ใส
และชนิดที่ไม่มีรูปผลึกตายตัว เช่น อเกต และคาร์นีเลียน...


เอาล่ะพระเอกของเรามาแล้ว
แต่คนเล่าดันตาจะปิดแล้ว... ว่างเมื่อไหร่มาต่อใหม่นะครับ
หากคุณตั้งจะช่วยติแก้ หรืออธิบายเพิ่มเติมในส่วนไหน
ผมก็จะขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งนะครับ ยิ้ม
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 199  เมื่อ 12 เม.ย. 12, 00:23

กลับมาต่อนะครับ... เพราะค้างนานไม่ได้
เดี๋ยวเรื่องจะชืดเสียหมด

Carnalian พระเอกของเรามาแล้ว
เขาเกิดมาจากสายแร่ที่ซึมออกมาจากภูเขาไฟใต้ทะเลเมื่อ 60 ล้านปีก่อน
ตอนแผ่นเปลือกโลกชนตัวกันเข้ากลายเป็นประเทศอินเดีย เทือกเขาหิมาลัย และที่ราบสูงเดคคาน
แต่นั่นมันแค่ภาคเบ๋บี๋ครับ... เวลาผ่านมาอีกหลายล้านปี
แล้วชั้นคาร์นเลียนที่ซ่อนตัวอยู่บนที่ราบสูงเดคคานก็ค่อยๆถูกลม-ฝนกัดเซาะ

หิน carnalian แต่ละชิ้นค่อยๆหลุดออกจากเนื้อหิน
แล้วถูกสายฝนชะลงมากองเป็นตะกอนอยู่ในก้นแม่น้ำหลายสายบนที่ราบแห่งนั้น
แล้วนางเอกของเรามาตอนไหน?

เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาไฟใต้ทะเลมาก่อน
แร่ธาตุต่างๆที่เกิดขึ้นที่นี่จึงมีอีกหลายชนิด... นางเอกของเราชื่อ 'สนิมเหล็ก' ครับ
เธอมี 'สีแดง' (ใครนึกไม่ออกลองเอามีดกรีดดูเลือดตัวเองนะครับ ว่าสีของสนิมเหล็กเป็นยังไง)
ถึงแม้ว่าเธอจะพบได้ทั่วไป แต่บนที่ราบสูงเดคคานที่นี่... เธอมีอยู่มากกว่าที่อื่นๆของโลก
เธอมาพบกับพระเอกคาร์นาเลียนของเราฝ่านทางสายน้ำ...
และตกตะกอนทับถมลงที่ก้นแม่น้ำอยู่คู่กับเขา.. เวลาผ่านไปนานแสนนาน

หลายพัน หลายหมื่นปีผ่านไป
แล้วในที่สุดทั้ง 2 ก็หลอมรวมเข้าหากันและกัน
เนื่องจากเนื้อตัวของพระเอกของเรา 'พรุน'
และนางเอกของเรา 'ตัวเล็ก'... เล็กจนเข้าไปอยู่ในตัวของเขาได้
ในที่สุดคาร์นาเลียนที่พบจากก้นแม่น้ำหลายสายในทวีปอินเดียก็มีสีที่ต่างจากที่พบจากถิ่นอื่นๆของโลก...
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 200  เมื่อ 12 เม.ย. 12, 00:31

แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นครับ..
เพราะในธรรมชาติแล้วคาร์นาเลียนมีสีน้ำตาล
ค่อนไปทางน้ำตาลอมเขียว หรือน้ำตาลอมแดง

การอยู่ร่วมกันของ 'พระเอก' และ 'นางเอก' ของเรา... จึงยังไม่เป็นที่รับรู้กัน
จนกว่าวันหนึ่ง... ที่พระเอกของเราจะไปฟอกผิวให้ตัวเอง 'แดง' ขึ้นมาด้วยความร้อน
คาร์นาเลียนสีแดงสดในธรรมชาติเป็นของที่แทบจะไม่พบเลย
แต่พลอยเนื้ออ่อนชนิดนี้สามารถเปลี่ยนสีได้ด้วยการเผาครับ
เพราะเมื่อเผาแล้วเนื้อพลอยจะเปลี่ยนสีจากน้ำตาล กลายเป็นแดง


4,000 ปีที่แล้ว ในเมืองโบราณ Mergarth
ลูกปัดคาร์นาเลียนสีแดงจำนวนหนึ่งบอกเราได้ว่า
คนที่นั่นรู้จัก 'ย่าง' คาร์นาเลียนเพื่อให้ได้สีที่พวกเขาต้องการแล้ว...
นี่อาจจะเป็นหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นที่เก่าที่สุดในโลกครับ...
ที่บอกมนุษยชาติได้ว่า 'การหุงพลอยเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่'



โอเคล่ะ ผมขอพักเรื่องที่จะเล่าไว้เท่านี้ก่อนดีกว่า
เพราะตัวเองก็ไม่ได้มีความรู้ทางธรณีหรืออัญมณีวิทยาแต่อย่างใด
ที่เล่ามาก็เป็นแค่มิติและมุมมองจากหลักฐานทางโบราณคดีคร่าวๆเท่านั้น
ขออนุญาตรอคุณตั้งกลับมาช่วยอธิบายเพิ่มก่อนนะครับ
(เผื่อว่าผมออาจะเล่าผิดเล่าพลาดไปตรงไหนบ้าง)

หัตถอุตสาหกรรมผลิตลูกปัดคาร์นาเลียนยังดำเนินมาอีกยาวไกลในประวัติศาสตร์โลก
และจะเกี่ยวกับดินแดนที่ปัจจุบันเป็น 'ประเทศไทย' ในไม่ช้า...
แต่วันนี้ ผมขออนุญาตพักไว้เท่านี้ก่อนนะครับผม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 201  เมื่อ 14 เม.ย. 12, 21:47

Carnelian เป็นแร่ในตระกูล Chalcedony ซึ่งก็คือแร่ที่ตกผลึกใอุณหภูมิต่ำ (เกิดในสภาพบนพื้นผิวโลก) มีองค์ประกอบทางเคมีเหมือนแร่ Quartz (SiO2) ซึ่งก็คือน้ำ Silicon dioxide ที่หลงเหลือหรือเกินพอจากการไปผนวกกับธาตุต่างๆทำให้เกิดแร่ชนิดอื่นๆที่ตกผลึกที่อุณภูมิและความดันสูง
แร่ชนิดนี้จึงพบอยู่ในโพรงหิน และจะตกผลึกในหลายลักษณะ เช่น เป็นเส้นเข็มเล็ก เป็นก้อนเหมือนก้อนสำลี เป็นวงสีต่างๆ (Agate) แต่หากเป็นวงขาวสลับดำจะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Onyx น้ำแร่นี้จะแทรกซึมเข้าไปในเนื้อไม้ทำให้ไม้กลายเป็นหินก็มี (Petrified wood) เนื่องจากนำ้แร่ผสมผสานกับธาตุได้หลายชนิด จึงเกิดเป็นสีต่างๆได้มาก นอกจากนั้นแร่นี้ยังมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งคือ เนื่อไม่แน่น จึงสามารถเอาไปย้อมสีให้เป็นสีต่างๆได้

แร่ในตระกูล Chalcedony ประเภทที่มีเนื้อไม่แน่น (เช่น คาร์นีเลี่ยน) เมื่อนำไปเผาสีจะเปลี่ยนไป บางครั้งจากที่มีสีก็กลายเป็นไม่มีสีก็มี คาร์เนเลี่ยน เป็นพวกที่มีสีออกสีน้ำตาลใหม้ หรือแดง จัดเป็นเครื่องประดับหรืออัญมณีอย่างหนึ่งในสมัยโบราณและยังคงมีการใช้มาจนปัจจุบันนี้ เนื่องจากเป็นแร่ที่มีความแข็งน้อยกว่าแร่ Quartz ตามปกติ ดังนั้นจึงสามารถแกะสลัก หรือแต่งให้เป็นทรงต่างๆได้ง่ายด้วยการขัดด้วยทรายละเอียด

คาร์เนเลี่ยน มักใช้ทำตราประทับบนไข (เทียนไข) เนื่องจากมันร่อนไม่ติดกัน ผมยังสงสัยไปด้วยว่า ที่ในสมัยก่อนที่เราเรียกว่าประทับตราครั่งนั้น จะเป็นตัวครั่งหรือตัวตราประทับก็ไม่ทราบล่ะ เพี้ยนมาจากคำนี้หรือเปล่า

แล้วก็ยังสงสัยอีกด้วยว่าลูกปัด Carnelian ที่นำมาเป็นภาพประกอบนั้น เป็น Carnelian จริงๆหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าลักษณะที่แท้จริงของมันจะค่อนข้างทึบแสง ไม่ใสเหมือนแก้ว

     




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 202  เมื่อ 14 เม.ย. 12, 21:56

คุณตั้งบอกว่า carnelian มีลักษณะทึบแสง  ไม่ใช่ใสอย่างแก้ว
เป็นแบบในรูปข้างล่างนี้หรือเปล่าคะ


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 203  เมื่อ 14 เม.ย. 12, 22:57

ดังรูปซ้ายที่ขัดแล้วแวววับ จะมี Vitreous luster แต่หากเป็นรูปทางขวาจะมี Dull luster
ผมอาจจะใช้คำผิดไป ตั้งใจจะใช้คำว่า Dull ครับ
หากผมเก็บได้ในห้วยในป่า ผมจะเรียกว่า Chert ซึ่งจะเป็นภาพรวมๆไปก่อน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 204  เมื่อ 14 เม.ย. 12, 23:05

หากผมเก็บได้ในห้วยในป่า ผมจะเรียกว่า Chert ซึ่งจะเป็นภาพรวมๆไปก่อน
พอคุณตั้งบอกว่า  หากผมเก็บได้ในห้วยในป่า  ทำให้นึกถึงวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนที่สงสัยมานานแล้ว   เวลาบรรยายป่า  มาถึงลำธารทีไร กวีเป็นต้องบอกว่ามีกรวดสีต่างๆหลากสีราวกับเพชรพลอย     เมื่อก่อนก็ไม่รู้ว่ากวีเขียนตามจริงหรือใส่สีเข้าไปเอง  เพราะคิดว่ากรวดมันก็คือกรวด
พออ่านคำตอบคุณตั้ง  เกิดสงสัยขึ้นมาว่า มันคือรัตนชาติจำพวกนี้ละมัง
พรุ่งนี้จะไปเปิดหนังสือ ลอกมาให้อ่านค่ะ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 205  เมื่อ 14 เม.ย. 12, 23:37

รออ่านคำตอบของ อ.เทาชมพู ด้วยคนครับ
เรื่อง carnelian ที่ใสเกือบจะเหมือนแก้วขุ่นๆ
ผมไม่แน่ใจ และไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับการเผาหรือไม่นะครับ

ถ้าคุณตั้งสะดวก อยากเรียนเชิญให้ไปชมที่ พช. พระนคร ก็น่าจะดีครับ
ตัวอย่างลูกปัดคาร์นาเลียนทีนั่น มีทั้งชนิดที่สีค่อนข้างทึบแสง และค่อนข้างใส
คละๆกันไป... ส่วนจะใส่เหมือนในภาพที่ผมนำมาประกอบหรือเปล่า
คงต้องให้คุณตั้งช่วยพิจารณาดูครับ
ผมเองก็เป็นแค่คนที่ศึกษามาทางโบราณคดี...
ถ้าจะให้เดาความเรื่องหินสีต่างๆ ก็ไปได้ไม่ไกลจนสุดเท่าคนที่ศึกษามาทางธรณีวิทยาครับผม


ปล. เหมือนวันนี้นั่งแปลงานเรื่องการใช้ตะกั่วผลิตแก้ว...
ผมก็ยังหาคำตอบไม่ได้ครับ ว่าในขณะที่โลหะต่างๆหลอมตัวเข้าหากัน
และยังไม่เย็นตัวลงจนเป็นแก้ว... ผมควรจะเรียกโลหะหลอมกลุ่มนั้นว่าอะไรดี? สารประกอบ? ของผสม? หรือคำอื่นๆ? จนปัญญาของผมแล้วครับ แหะๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 206  เมื่อ 15 เม.ย. 12, 12:21

ค้น "ขุนช้างขุนแผน" อยู่ตั้งแต่เช้า     มีหลายตอนที่บรรยายถึงป่าดง     
ขอยกมาทีละตอนนะคะ

๑)  ครั้นถึงหว่างเขาชะโงก             เป็นตรวยโตรกเตียนตริบตลอดถ้ำ
เป็นแผ่นเพิงตระพักชะงักง้ำ             แต่ตีนต่ำแลต้องนัยน์ตาพราย
ต้องแสงสุริยนระยับแสง                 บ้างเด่นแดงแข่งเขียวประสานสาย
หมอกม่วงโมราราวระบาย                ลวดลายดุจแต้มเบญจรงค์
ที่เด่นแดงดังแสงปัทมราช               ประหลาดเล่ห์ปะวะหล่ำงามระหง
ที่ดำดังหนึ่งนิลบรรจง                    จับพงพฤกษ์พุ่มชอุ่มตา
ที่ขาวราวเม็ดเพชรรัตน์       
           น้ำซัดเป็นระลอกกระฉอกฉ่า
ฝอยฟุ้งพุ่งเต้นกระเซ็นมา                 กระทบผาซ่าสาดสะเทือนไพร
                                             (พลายแก้วชมดง)


๒) เย็นฉ่ำน้ำไหลมาพลั่งพลั่ง              ล้นหลั่งถั่งชะง่อนก้อนภูผา
เป็นลำธารมาแต่ชานบรรพตา           ล้วนศิลาแลเลื่อมละลานใจ
ที่แดงเหมือนแสงทับทิมสด             ที่เขียวเหมือนมรกตอันสดใส
ต่างสีซ้อนซับสลับไป           
       แลวิไลเพลิดเพลินตามเนินดอน
                                            (ตอนนางสร้อยทองชมดง)
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 207  เมื่อ 15 เม.ย. 12, 13:26

ขอบพระคุณ อ.เทาชมพู มากๆครับผม

ดูเหมือนวิธีอธิบายสีสันของก้อนหินพวกนี้
กวีจะใช้ความเปรียบกับรัตนชาติทั้งนั้นเลยนะครับ
รอคุณตั้งมาอธิบายเรื่องรัตนชาติดีกว่า...
ผมขอหลบก่อน เพราะรู้มาน้อยเสียยิ่งกว่าหางอึ่งเสียอีกครับ  ยิ้ม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 เม.ย. 12, 19:36 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 208  เมื่อ 15 เม.ย. 12, 14:15

ยังหาบทที่บรรยายกรวดสีต่างๆในลำธารไม่เจอ   เจอแต่สีของหินก้อนใหญ่บ้างเล็กบ้าง     เอามาขัดตาทัพไปก่อนค่ะ

เป็นชะวากวุ้งเวิ้งตระเพิงพัก                    แง่ชะงักเงื้อมชะง่อนล้วนก้อนหิน
บ้างใสสดหยดย้อยเหมือนพลอยนิล           บ้างเหมือนกลิ่นพู่ร้อยห้อยเรียงราย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 209  เมื่อ 15 เม.ย. 12, 19:28

กลอนตามที่คุณเทาชมพูได้กรุณาค้นมาโพสท์นั้น
เนื่องจากพอจะทราบในทางธรณีวิทยาว่าอะไรเป็นอะไร ก็จึงขออาสาเดา แปลความออกมาว่าเป็นอะไรเป็นอะไร

เขาชะโงกเป็นหน้าผาของเขาหินปูน (Limestone) ซึ่งเนื้อหินถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นหินอ่อน จะเรียกว่าเป็นหินอ่อน (Marble) ทั้งหมดในเชิงที่เรารู้จักกันก็ไม่เชิง แต่ก็มีบางบริเวณที่เป็นหินอ่อนในลักษณะที่เราเห็นวางขายอยู่ตามท้องตลาด ในทางธรณีวิทยาจะเรียกหินปูนที่เนื้อหินถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นผลึกเล็กๆว่า Recrystalline limestone
เขาหินปูนจะมีลักษณะพิเศษอยู่ประการหนึ่ง มองไกลๆหรือแม้จะดูจากภาพถ่ายทางอากาศก็จะทราบได้ คือ จะมีสันเขาที่เป็นหนอก เป็นยอดสูงต่ำ และมักจะเห็นหน้่าผาปรากฏร่วมอยู่ด้วย นอกจากนั้นแล้วก็มักจะมีถ้ำ (และสำนักสงฆ์) และที่บริเวณตีนหน้าผาจะมีเชิงลาด

เป็นแผ่นเพิงตระพักชะงักง้ำ  แต่ตีนต่ำแลต้องนัยน์ตาพราย
แสดงว่าเป็นเขาหินปูน และได้เดินอยู่ในพื้นที่ราบบริเวณตีนฐานของเชิงลาด

ต้องแสงสุริยนระยับแสง  บ้างเด่นแดงแข่งเขียวประสานสาย
กำลังบรรยายสิ่งที่เห็นอยู่สองสิ่ง คือ วลีแรกบรรยายถึงก้อนหินหรือก้อนแร่แคลไซด์ (Calcite) และวลีที่สอง บรรยายถึงแร่ดิกไกด์ (Dickite) หรือหินสบู่ที่เรารู้จักกัน (พบอยู่ในบริเวณนั้น)

หมอกม่วงโมราราวระบาย  ลวดลายดุจแต้มเบญจรงค์
กำลังบรรยายสิ่งที่เห็นอีกสองสิ่ง คือ วลีแรกบรรยายถึงแร่ดิกไกด์ และวลีที่สองบรรยายถึงแร่แคลไซด์

ที่เด่นแดงดังแสงปัทมราช  ประหลาดเล่ห์ปะวะหล่ำงามระหง
ทั้งสองวลีนี้น่าจะบรรยายถึงก้อนกรวดหรือแร่แคลไซด์ซึ่งผิวถูกเคลือบด้วยสีของน้ำสนิมเหล็ก (ก้อนแร่แคลไซด์ที่มีโพรงอยู่ตรงกลาง มักจะมีคราบสีแดง เนื่องจากจับน้ำสนิมเหล็กได้ง่ายมาก)

ที่ดำดังหนึ่งนิลบรรจง  จับพงพฤกษ์พุ่มชอุ่มตา
ทั้งสองวลีนี้น่าจะบรรยายถึงดินดำที่มีสีตัดกับพืชพรรณไม้ในที่นั้น (ดินที่มาจากหินปูนนั้น มีได้ทั้งสีดำและสีแดง จะมีสีดำหากมีเศษพืชเน่าเปื่อย -Humus ซึ่งแสดงว่าเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก) และในระหว่างที่ไปเห็นนั้นน่าจะเป็นช่วงฤดูฝนหรือปลายฝน
 
ที่ขาวราวเม็ดเพชรรัตน์   น้ำซัดเป็นระลอกกระฉอกฉ่า
ฝอยฟุ้งพุ่งเต้นกระเซ็นมา   กระทบผาซ่าสาดสะเทือนไพ

น่าจะเป็นการบรรยายสิ่งที่เห็นในห้วย บริเวณที่เป็นตะพักน้ำ (ชั้นน้ำตกเล็กๆ) ซึ่งจะมีคราบหินปูนจับอยู่ตามขอบผนัง ที่ผิวของคราบหินปูนนี้หากพิจารณาดูดีๆจะเห็นผลึกของแร่แคลไซด์สีขาวใสเล่นแสงวาวระยิบระยับอยู่

ผมเห็นว่า นี่แหละครับ ฝีมือของกวีเอกไทย เอาเรื่องที่ได้เห็นมาเขียนเป็นกลอนอย่างไพเราะ กระชับ สั้น เห็นภาพ และเล่าเรื่องต่างๆได้อย่างละเอียด
 
แล้วสงสัยหรือไม่ว่า เพราะเหตุใดจึงได้ด้นดั้นไปถึงเขาชะโงก นครนายกโน่น ฮืม

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 18
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.13 วินาที กับ 19 คำสั่ง