เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5
  พิมพ์  
อ่าน: 29683 การสวรรคตของพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 00:29

ผมเห็นด้วยกับอ.เทาชมพูในแง่ที่ว่า พงศาวดารไม่ใช่เอกสารโฆษณาทางการเมือง ดังนั้นไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปโจมตีกษัตริย์องค์ก่อนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กษัตริย์องค์ปัจจุบัน และในระบอบราชาธิปไตยก็ไม่ได้มีเหตุอะไรต้องไปจูงใจให้ใครมาเชื่ออะไรอย่างนั้น เพราะไม่มีการโหวตเลือกพระมหากษัตริย์อยู่แล้วครับ ถึงเราจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าใครเป็นผู้เขียนพงศาวดารนี้ แต่ผมเห็นว่าข้อความที่ปรากฏในพงศาวดารคือ "มุมมอง" ของผู้เขียนพงศาวดาร แน่นอนว่าผู้เขียนพงศาวดารที่น่าจะเขียนในระหว่าง ร.๑ - ร.๓ นี้จะต้องเกรงพระทัยพระเจ้าแผ่นดินอยู่บ้าง การจะเลี่ยงกล่าวถึงบางเรื่องนั้นเป็นไปได้ แต่ขนาดยกเมฆสร้างเรื่องขึ้นมาดื้อๆ ผมไม่เห็นความจำเป็นครับ

เรื่องที่ว่าพระเจ้าตากทรงเสียจริต คำๆนี้กินความหมายกว้าง เป็นได้ตั้งแต่ขาดสติพูดคุยไม่รู้เรื่อง, รู้บ้างไม่รู้บ้าง, คุยรู้เรื่องแต่ความคิดอ่านผิดปกติ, หรือแม้แต่เพียงแค่ทำอะไรที่ผิดชาวบ้านไป

ผมเห็นว่างานศึกษาของอ.นิธิถือเป็นงานที่ค้นคว้าหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่บทสรุปในงานชิ้นนี้ก็ยังต้องใช้สมมติฐานจำนวนมากเพื่อปะติดปะต่อชิ้นส่วนแหว่งวิ่นเหล่านั้นออกมาเป็นภาพให้ผู้อ่านได้เห็น สมมติฐานประการหนึ่งในงานของอ.นิธิคือการแสดงความสนใจในเรื่องศาสนาจนเกินเลยไปบ้างเป็นการสร้างพระบารมีเพื่อหวังผลการสนับสนุนทางการเมือง

เมื่อผมอ่านหนังสือของอ.นิธิเป็นครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผมค่อนข้าวจะเห็นคล้อยตามอ.นิธิอยู่มาก แต่นั่นคือก่อนที่ผมจะได้อ่านจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีฉบับเต็ม อ่านจดหมายเหตุฝรั่งเศสฉบับเต็ม

ผมขอคัดตัวอย่างบางส่วนที่มีผลกับความคิดเห็นของผมมาให้ดูดังนี้นะครับ

จดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวี
ให้ปลูกไม้ไผ่ ๑,๐๐๐ ไม้แก่น ๑,๐๐๐ ไว้ท่าท่านผู้มีบุญจะมาข้างหน้า จะได้สร้างปราสาท ไม้ไผ่จะทำร่างร้าน ไม้แก่นจะได้ทำ (๘) เสาปราสาท ปลูกไว้สำหรับผู้มีบุญจะมา พระองค์ท่านจะเหาะแล้ว

อ่านแล้วก็งงๆ ว่า "พระองค์ท่านจะเหาะแล้ว" นี่หมายถึงอะไร แต่เข้าใจกระจ่างเมื่ออ่านจดหมายฝรั่งเศสในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙

จดหมายของมองซิเออร์ดูเด ถึงมองซิเออร์เดอโคเอ็ตโลกอง วันที่ ๑๕  เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๗๙  (พ.ศ. ๒๓๒๒)
พระเจ้าตากรับสั่งอยู่เสมอว่าทรงเหาะเหิรเดิรอากาศได้ เราก็ได้ทูลอยู่เสมอว่าเปนการที่เป็นไปไม่ได้ เราได้ทูลบ่อยเข้าจนถึงกับทรงเบื่อไม่อยากฟังเราแล้ว เพราะฉนั้นจึงไม่ได้รับสั่งให้เราไปเฝ้ามาได้ปี ๑ แล้ว

อ.นิธิให้เหตุผลว่าเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่คนไทยทั่วๆไปในสมัยนั้นเชื่อกัน แต่ผมไม่เห็นอย่างนั้นครับ ถึงชาวบ้านคนไทยจะเชื่อถือเรื่องไสยศาสตร์อยู่มาก แต่ขนาดมนุษย์จะเหาะนี่ เป็นเรื่องเกินจินตนาการไปมากว่าใครๆก็เชื่อว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

ถึงผมจะไม่กล้ายืนยัน 100% ได้ว่าพระเจ้าตากเสียจริต แต่ถ้าใครจะฟันธง 100% ว่าพระองค์ปกติแน่นอน ผมก็ไม่เอาด้วยแน่ๆครับ

ที่สำคัญ จุดอ่อนของสมมติฐานนี้ก็ยังเป็นเรื่องเดิม พระเจ้าตากจะสร้างบารมีในเชิงศาสนานี้เพื่อใคร? ไม่ใช่ประชาชนคนธรรมดาแน่นอน ถ้าเป็นพวกขุนนางผมก็ไม่เห็นว่าจะได้ผลอย่างไร อธิบายได้อย่างเดียวว่าเรื่องนี้เป็นพระราชอัธยาศัยของพระองค์เอง ไม่ใช่เรื่องการเมืองครับ

เมื่อเรื่องนี้ตกไป ความหนักแน่นของเรื่อง "การเมืองแบ่งขั้ว" ก็อ่อนลงไปมาก เมื่อประเมินร่วมกับเรื่องที่พระเจ้าตากไม่ได้ทรงพยายามจะสกัดกั้นบารมีของเจ้าพระยาจักรี การเปลี่ยนแปลงช่วงปลายรัชกาลพระเจ้าตากต้องเกิดจากการไม่ยอมรับใน "การนำ" ของพระองค์ ที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นจนถึงจุดแตกหักในที่สุด
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 06:37


อ้างจาก: เพ็ญชมพู

อ้างถึง
ทรงอุทาน เมื่อพระราชาคณะกราบทูลให้ออกบรรพชาว่า "เอ้หิภิกขุลอยมาถึงแล้ว" จึงน่าจะเป็นว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระสติสัมปชัญญะบริบูรณ์เยี่ยงสามัญชนธรรมดา

ผมสงสัยเรื่องนี้มานาน ตั้งแต่อ่านข้อความนี้ครั้งแรกหลายสิบปีมาแล้ว คำว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้เป็นพระภิกษุได้โดยพระองค์เอง ไม่ต้องผ่านพิธีบวช ดังนั้น เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงอุทานเช่นนั้น ทำไมจึงสรุปความเห็นว่า ทรงมีพระสติสัมปชัญญะบริบูรณ์เยี่ยงสามัญชนธรรมดา


ถามคนเขียนคงไม่ได้ ถามคนเอามาแปะดีกว่า


และการที่ทรงมีพระดำรัสเช่นนั้น น่าจะแปลว่า จะทรงนำผ้าเหลืองมาครองเลยโดยไม่ต้องผ่านพิธีอุปสมบทเสียกระมัง

ปกติ การบวชคือการลี้ราชภัย และส่วนใหญ่จะได้รับพระราชอภัยทาน
แต่ในกรณีย์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีคงจะไม่ได้ อาจจะเป็นที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมิได้เห็นว่าทรงเป็นพระ  เพราะมิได้บรรพชาอย่างถูกต้อง ตามข้อสันนิฐานข้างต้นของผม หรืออาจจะเห็นว่า เพราะทรงให้พระเถรานุเถระกราบพระองค์เสียแล้วเมื่อครั้งยังเป็นฆราวาส ด้วยทรงหลงว่าพระองค์เป็นพระโสดาบันอยู่ หากครองผ้าเป็นพระภิกษุแล้ว วงการพุทธศาสนาในไทยคงจะไปกันใหญ่

เดี๋ยวจะเป็นแบบเจ้าพระฝางที่พระออกมาเป็นผู้นำชุมนุมการเมือง บ้านเมืองจะเข้่าสู่ทุรยุคไม่จบสิ้น



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 09:43


อ้างจาก: เพ็ญชมพู

อ้างถึง
ทรงอุทาน เมื่อพระราชาคณะกราบทูลให้ออกบรรพชาว่า "เอ้หิภิกขุลอยมาถึงแล้ว" จึงน่าจะเป็นว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระสติสัมปชัญญะบริบูรณ์เยี่ยงสามัญชนธรรมดา

ผมสงสัยเรื่องนี้มานาน ตั้งแต่อ่านข้อความนี้ครั้งแรกหลายสิบปีมาแล้ว คำว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้เป็นพระภิกษุได้โดยพระองค์เอง ไม่ต้องผ่านพิธีบวช ดังนั้น เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงอุทานเช่นนั้น ทำไมจึงสรุปความเห็นว่า ทรงมีพระสติสัมปชัญญะบริบูรณ์เยี่ยงสามัญชนธรรมดา


ถามคนเขียนคงไม่ได้ ถามคนเอามาแปะดีกว่า

และการที่ทรงมีพระดำรัสเช่นนั้น น่าจะแปลว่า จะทรงนำผ้าเหลืองมาครองเลยโดยไม่ต้องผ่านพิธีอุปสมบทเสียกระมัง

ความหมายของ  เอหิภิกขุอุปสัมปทา  ก็คงเป็นดังที่คุณนวรัตนว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีท่านก็ตรัสดังนั้นจริง ๆ แต่การบรรพชาเป็นไปดังที่คุณนวรัตนว่าหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

คุณเทาชมพูกล่าวถึงตอนนี้ไว้ ๒ ครั้ง

"….เสด็จกลับออกไปรับสั่งห้ามว่า  
สิ้นบุญพ่อแล้ว  อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย  พระยาธิเบศร์ พระยารามัญ พระยาอำมาตย์
มิให้สู้อยู่ตายด้วยเจ้าข้าวแดง"

คือห้ามทหารพวกนั้นไม่ให้สู้ตายเพราะเห็นแก่พระคุณเจ้านาย    ทรงถือว่า
"สิ้นบุญท่านแล้วก็อย่าให้ทหารลำบากต้องมาตายแทน"

การที่ทรงตัดสินพระทัยเช่นนี้ ก็ทำให้นักประวัติศาสตร์บางท่านเห็นว่า
พระเจ้าตากมิได้เสียพระจริต  ตรงกันข้ามทรงรู้ว่าอะไรเป็นอะไร  
และยังมีพระกรุณาต่อข้าแผ่นดินด้วยดีเหมือนเดิม  
แต่บางคนก็ลงความเห็นว่า..เป็นเพราะทรงรู้ว่าอำนาจของพระองค์จบสิ้นลง
ไม่เข้มแข็งได้เหมือนเดิม

พระยาสรรค์เมื่อชนะแล้วก็ไม่ได้ทำอันตราย
แต่ให้นิมนต์พระราชาคณะมาบรรพชาพระเจ้าตาก    
เรียกว่าบวชให้พ้นทางโลกไปเสีย

เรื่องนี้ พระเจ้าตากพอพระทัยมากที่ได้บวช  มิได้เสียดายราชสมบัติ

"ทรงพระสรวล  ตบพระเพลา ว่า เอหิภิกขุลอยมาถึงแล้ว…อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปี ๔
เดือน ทรงผนวช"

คำว่า "เอหิภิกขุ ลอยมาถึงแล้ว" แปลว่า
การได้บวชโดยง่ายดายไม่มีพิธีรีตองอะไร  
เป็นสิ่งที่ทรงพระประสงค์อย่างยิ่ง

   พระยาสรรค์เข้ายึดอำนาจเมื่อค่ำวันเสาร์ เดือนสี่  แรม ๑๑ ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ สู้กันทั้งคืนกับทหารรักษาพระองค์ ตอนเช้าพระเจ้าตากก็ห้ามมิให้ทหารรักษาวังต่อสู้กบฎอีกต่อไป  เป็นอันว่าพระยาสรรค์ยึดเมืองได้วันอาทิตย์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือนสี่
   จากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้ไปนิมนต์สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงส์ กับพระพิมลธรรม พระรัตนมณี (หรือพระรัตนมุนี) ให้ออกไปเจรจายอมแพ้แก่พวกกบฏ พระยาสรรค์จึงให้พระสมณะทูตกราบทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ พระคุณเจ้าทั้งสามจงถวายพระพรให้ทรงผนวชเสียสักสามเดือน เพื่อชำระพระเคราะห์เมือง ”
    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงยอมรับที่จะปฏิบัติตาม      เมื่อทรงทราบว่าจบลงได้ก็ทรงพระสรวล  ตบพระเพลาแล้วตรัสว่า “เอหิภิกขุ มาถึงแล้ว”
    การที่พระองค์ทรงพระสรวล ตบพระเพลาว่า เอหิภิกขุ มาถึงแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “สมสำนวนเจ้ากรุงธนมาก”


    ถ้าให้สันนิษฐานจากหลักฐานข้างบนนี้ก็เห็นได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมิได้ทรงไยดีกับทางโลกอีกต่อไปแล้ว   ใครจะเป็นกบฎ ใครจะรบกับใคร  ไม่อยู่ในพระราชประสงค์อีกต่อไป     ทรงมุ่งจะไปทางธรรมอย่างเดียวเท่านั้น

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 10:29

อ้างถึง
ถามคนเขียนคงไม่ได้ ถามคนเอามาแปะดีกว่า

จนบัดนี้ คนเอามาแปะ ก็ยังเอาของคนอื่นมาแปะอยู่ โดยไม่มีคำตอบ

แต่ในเมื่อเอาข้อความของดิฉันมาแปะอย่างลอยๆ อาจทำให้คนอ่านเข้าใจผิดได้    ก็ขอใช้สิทธิ์ที่ถูกพาดพิง ขยายความต่อว่า

"เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเชื่อว่าพระองค์เองบรรลุถึงขั้นพระอริยะ  จนเหาะเหินเดินอากาศได้    ก็ไม่แปลกอะไรที่จะทรงสิ้นความสนใจไยดีสมบัติทางโลก แม้แต่ราชบัลลังก์      ใครจะเป็นกบฎ ใครจะรบกับใคร  ไม่อยู่ในพระราชประสงค์อีกต่อไป     ทรงมุ่งจะไปทางธรรมอย่างเดียวเท่านั้น"
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 10:32

อ้างถึง
ความหมายของ  เอหิภิกขุอุปสัมปทา  ก็คงเป็นดังที่คุณนวรัตนว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีท่านก็ตรัสดังนั้นจริง ๆ แต่การบรรพชาเป็นไปดังที่คุณนวรัตนว่าหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แล้วมีหลักฐานว่าเป็นอื่นไหมครับ

แล้วคำว่า "เอหิภิกขุ ลอยมาถึงแล้ว" มิได้แปลว่า การได้บวชโดยง่ายดายไม่มีพิธีรีตองอะไร  แต่เป็นการบวชโดยทรงมีพุทธวจนะ อนุญาตให้เป็นพระภิกษุสงฆ์ได้เท่านั้น จึงมีได้เฉพาะในสมัยพุทธกาล มิฉะนั้นทุกวันนี้ก็คงมีเอหิภิกขุนับพันนับหมื่นรูป เพราะผู้ที่บวชด้วยศรัทธา จะปฏิบัติตนเพื่อความหลุดพ้นตามวัดป่าต่างๆนั้น ล้วนบรรชาอุปสมบทแบบเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตรองอย่างใดทั้งสิ้น
 
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีความเชื่ออยู่ว่าพระองค์เป็นพระโสดาบัน จะก้มลงกราบพระที่เคยบังคับให้กราบตน ขอให้เป็นอุปปัชฌาย์เห็นจะไม่ ประโยคดังกล่าวจึงแปลเป็นอื่นยาก นอกจากจะแปลว่าทรงอุปโลกย์พระองค์เองเป็นพระ แล้วไปประทับที่วัด

ยิ่งประโยคนี้ยิ่งอันตราย

พระยาสรรค์จึงให้พระสมณะทูตกราบทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ พระคุณเจ้าทั้งสามจงถวายพระพรให้ทรงผนวชเสียสักสามเดือน เพื่อชำระพระเคราะห์เมือง ” สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงยอมรับที่จะปฏิบัติตาม
 
สามเดือนน่ะแป๊บเดียวนะครับ สันนิฐานไม่ได้เลยว่า  "มิได้ทรงไยดีกับทางโลกอีกต่อไปแล้ว  ใครจะเป็นกบฎ ใครจะรบกับใคร  ไม่อยู่ในพระราชประสงค์อีกต่อไป ทรงมุ่งจะไปทางธรรมอย่างเดียวเท่านั้น"

อย่างที่ผมเขียนไว้ในความเห็นแรก สมเด็จเจ้าพระยาท่านไม่มีทางเลือกอื่นจริงๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 11:47

จนบัดนี้ คนเอามาแปะ ก็ยังเอาของคนอื่นมาแปะอยู่ โดยไม่มีคำตอบ

ก็ของคนอื่นมีคำตอบอยู่แล้วนี่

ความหมายของ  เอหิภิกขุอุปสัมปทา  ก็คงเป็นดังที่คุณนวรัตนว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีท่านก็ตรัสดังนั้นจริง ๆ แต่การบรรพชาเป็นไปดังที่คุณนวรัตนว่าหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

พระยาสรรค์เมื่อชนะแล้วก็ไม่ได้ทำอันตราย
แต่ให้นิมนต์พระราชาคณะมาบรรพชาพระเจ้าตาก   
เรียกว่าบวชให้พ้นทางโลกไปเสีย

เรื่องนี้ พระเจ้าตากพอพระทัยมากที่ได้บวช  มิได้เสียดายราชสมบัติ

"ทรงพระสรวล  ตบพระเพลา ว่า เอหิภิกขุลอยมาถึงแล้ว…อยู่ในราชสมบัติ ๑๔ ปี ๔
เดือน ทรงผนวช"

คำว่า "เอหิภิกขุ ลอยมาถึงแล้ว" แปลว่า
การได้บวชโดยง่ายดายไม่มีพิธีรีตองอะไร 
เป็นสิ่งที่ทรงพระประสงค์อย่างยิ่ง

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 12:33

ส่วนตัวผมไม่เห็นว่า "เอหิภิกขุ ลอยมาถึงแล้ว" เพียงเท่านี้จะสามารถสรุปความหมายไปในทิศทางใดได้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 13:48

เพ็ญชมพู  ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ วันนี้ เวลา 11:47

อ้างจาก: เทาชมพู ที่  15 ก.พ. 01, 02:10
อ้างถึง
พระยาสรรค์เมื่อชนะแล้วก็ไม่ได้ทำอันตราย แต่ให้นิมนต์พระราชาคณะมาบรรพชาพระเจ้าตาก    
เรียกว่าบวชให้พ้นทางโลกไปเสีย

ขอประทานโทษเถิดครับ ผมตามหาต้นฉบับเต็มๆตามอ้างซึ่งระบุวันที่ข้างต้นไม่เจอ อยากทราบว่าเป็นความเห็นของท่านอาจารย์เทาชมพูเอง หรือเป็นข้อความจากเอกสารโบราณ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 13:52

มาจากกระทู้เก่าของเรือนไทยค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=338.0;wap2
ไม่ได้เขียนเองค่ะ  แต่จำไม่ได้แล้วว่าเอาหลักฐานมาจากไหน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 14:14

เป็นไปได้ว่าคนเหล่านี้ได้โฆษณาว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเสียพระจริต การโฆษณานี้อาจเป็นการโฆษณาสิ่งที่เป็นความจริง หรือเป็นการโฆษณาเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง คือบ่อนทำลายความนับถือของผู้คนที่มีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ตาม สมัครพรรคพวกของคนเหล่านี้เช่นนายเพง ซึ่งคุมเลกกองนอกอยู่ที่สระบุรี นายบ้านแม่ลากรุงเก่า นายแก้วน้องพระยาสรรค์ เป็นต้น ได้ก่อการกบฏขึ้นก่อนจนนำมาซึ่งเหตุการณ์จลาจลในกรุงธนบุรีเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๓๒๔ เจ้าเมืองนครราชสีมาซึ่งเตรียมตัวในแผนการณ์นี้แล้วก็รีบยกกองทัพลงมาสมทบควบคุมสถานการณ์ในกรุงธนบุรีไว้ก่อน เกิดการแบ่งฝ่ายของขุนนางระหว่างพวกที่ยังจงรักภักดีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีและพวกทีคิดแย่งราชสมบัติ ผลของการรบ ฝ่ายที่แย่งชิงราชสมบัติได้รับชัยชนะและเป็นผู้จบประวัติศาสตร์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีทั้งในเหตุการณ์จริงและในพงศาวดาร

 ยิงฟันยิ้ม

หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงถูกประหารมาหนึ่งร้อยกว่าปี  ล่วงถึงรัชกาลที่ ๕  พระราชพงศาวดาร หนังสือหนังหาสำคัญทั้งหลายที่เกี่ยวกับบ้านเมือง   ยังถือเป็นเอกสารลับ  ห้ามไม่ให้ราษฎรสามัญอ่าน    ปัญญาชนสามัญชนอย่างนายกุหลาบยังต้องแอบคัดลอกด้วยกลอุบาย บวกกับหาทางหนีทีไล่ไว้ก่อนเผื่อถูกจับตัวได้    แสดงว่าเจ้านายท่านมิได้ถือว่าราษฎรควรรู้เห็นมีส่วนตัดสินใจในเรื่องของบ้านเมือง  ต่อให้ย้อนหลังไปกี่สิบกี่ร้อยปีก็ตาม
ก็ในเมื่อเรื่องของบ้านเมืองและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่  มันเป็นเรื่องลับต่อๆกันมาตั้งแต่แรก  จนหนึ่งร้อยกว่าปีให้หลังก็ยังไม่เลิกเป็นความลับ    ดิฉันก็เลยไม่เชื่อว่านโยบายโฆษณาเผยแพร่ดังที่อาจารย์นิธิตั้งประเด็นไว้นั้น   เป็นวิธีการที่เจ้าพระยาจักรีใช้ตั้งแต่สมัยธนบุรี เพื่อหาคะแนนนิยมจากประชาชน     เพราะนโยบายปลุกระดมมวลชน  มันยังไม่เกิดขึ้นในสมัยนั้น

สภาพสังคมในสมัยอยุธยาตอนปลายและธนบุรี มองประชาชนจำนวนมากๆ ด้วยความหมายเพียงด้านแรงงาน อย่างไพร่หลวงไพร่ สม  ซึ่งใช้ประโยชน์ได้ทั้งยามสงบและยามศึก     วิธีรวมคนก็คือเกณฑ์เอาตัวมาด้วยคำสั่ง    ทำกันต่อเนื่องมาจนรัชกาลที่ ๕  เห็นได้จากกระทู้ประวัติพระยาโบราณราชธานินทร์ที่ท่านต้องหาวิธีจิตวิทยาไปเกลี้ยกล่อมชายฉกรรจ์ที่หนีเกณฑ์กันอุตลุด        สมัยนั้นไม่มีการสร้างกระแส  ไม่มีการระดมมวลชนที่จะมาชี้เป็นชี้ตายเก้าอี้ผู้บริหารประเทศได้  อย่างสมัยนี้ 

การโฆษณานี้ดำเนินการโดย "คนเหล่านั้น" เริ่มแรกก็คงทำนองเดียวกับการปลุกระดมมวลชนนั่นแหละ มวลชนในที่นี้คงไม่ได้หมายถึงราษฎรชาวบ้านทั่วไป หากแต่เป็นผู้ที่คุมกำลังดังที่อาจารย์นิธิอ้างเอาไว้ และสมัครพรรคพวก เพื่อให้เกิดความชอบธรรมที่จะก่อการกบฏขึ้นมา

ผลของการโฆษณาทำให้เกิดความเชื่อ ความเชื่อนี้คงดำรงอยู่ในสังคมขณะนั้น จนถูกบันทึกลงในพงศาวดารโดยผู้ที่อาจจะเป็นผู้เกิดไม่ทันเหตุการณ์ดังที่คุณม้ากล่าวก็เป็นได้

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 14:32

อ้างถึง
มาจากกระทู้เก่าของเรือนไทยค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=338.0;wap2
ไม่ได้เขียนเองค่ะ  แต่จำไม่ได้แล้วว่าเอาหลักฐานมาจากไหน

ขอบคุณครับ ได้ตามไปอ่านแล้ว ใครจะเขียนก็ตามแต่ดูสำนวนก็ทราบว่าเขียนขึ้นในยุคนี้เอง ประโยคที่ว่า แต่ให้นิมนต์พระราชาคณะมาบรรพชาพระเจ้าตาก ไม่ปรากฏมีในเอกสารโบราณชั้นต้นใดๆ

ส่วนตัวผมจึงเห็นว่า "เอหิภิกขุ ลอยมาถึงแล้ว" สามารถสรุปความหมายไปในทิศทางว่าทรงเพี้ยนไปจริงๆไงครับ กษัตริย์ที่เพี้ยนไปจากที่เคยเป็น ไม่ว่าชาติไหนก็คงจะรักษาพระราชอำนาจไว้ไม่ได้ ไม่ต้องปลุกระดมหรอกครับ ใครมีอำนาจรองลงมาก็ทำรัฐประหารได้ โดยชอบธรรม(ของยุคนั้น)อยู่แล้ว

บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 14:34

เรื่องที่ว่าความเชื่อนี้อยู่ในสังคมในเวลาหลังจากนั้น (ซึ่งอาจจะเฉพาะสังคมชั้นสูงก็ได้)  ข้อนี้หลักฐานมียืนยันอยู่ อย่างน้อยก็ในพงศาวดารฉบับต่างๆ และจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรซึ่งทรงนิพนธ์ขึ้นอย่างเร็วก็ พ.ศ.๒๓๘๑ หลังเหตุการณ์นี้นานถึงสี่สิบกว่าปีแล้ว

แต่เรื่องที่ว่ามีการโฆษณาชวนเชื่อว่าพระเจ้าตากเสียจริต ผมยังไม่เคยได้เห็นใบปลิว หรือหลักฐานอื่นใดแม้แต่อย่างเดียวที่บ่งชี้เรื่องนี้เลยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 14:44

เรื่องการอ้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร ผมมองว่าเป็นเรื่องเชิงสัญญลักษณ์เสียมากกว่า เพราะไม่ใช่เรื่องจำเป็นเลย

ในสมัยอยุธยาตอนปลายเกิดศึกกลางเมือง แย่งราชสมบัติกันออกจะครึกโครม ไม่เห็นจำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรเลย เป็นเรื่องของอำนาจล้วนๆ และหากเราละวางมุมมองอย่างคนปัจจุบันลง เราจะเห็นได้ว่าการชิงราชบัลลังก์เป็นสิ่งสำคัญในระบอบราชาธิปไตยที่จะรับประกันว่าผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้แข็งแกร่งที่สุดในยุคสมัยนั้นๆ

ชาติที่เคร่งครัดอยู่กับเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ ก็จะเห็นได้อย่างจีนที่ฮ่องเต้หลายยุคสมัยกลายเป็นแค่หุ่นเชิด หรือญี่ปุ่นที่จักรพรรดิ์เป็นหุ่นเชิดสืบเนื่องต่อกันนับได้เป็นร้อยๆปีครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 14:55

อ้างถึง
เรื่องการอ้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร ผมมองว่าเป็นเรื่องเชิงสัญญลักษณ์เสียมากกว่า เพราะไม่ใช่เรื่องจำเป็นเลย

มันเป็นแนวคิดทางการเมืองของคนในปัจจุบันไงครับ

จึงมีบางกลุ่มที่รู้ว่าไม่เกี่ยว แต่ก็จะนำมาเกี่ยวให้ได้ เพราะกิเลศทางการเมืองของนาย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 26 มี.ค. 12, 15:00

แต่เรื่องที่ว่ามีการโฆษณาชวนเชื่อว่าพระเจ้าตากเสียจริต ผมยังไม่เคยได้เห็นใบปลิว หรือหลักฐานอื่นใดแม้แต่อย่างเดียวที่บ่งชี้เรื่องนี้เลยครับ

เรื่องใบปลิวหรือหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ก็คงจะต้องละมุมมองอย่างคนปัจจุบันลงเช่นกัน ในสมัยนั้นการโฆษณาโดยคำพูด คำบอกเล่าน่าจะได้ผลที่สุด

ในสมัยอยุธยาตอนปลายเกิดศึกกลางเมือง แย่งราชสมบัติกันออกจะครึกโครม ไม่เห็นจำเป็นต้องมีเหตุผลอะไรเลย เป็นเรื่องของอำนาจล้วนๆ และหากเราละวางมุมมองอย่างคนปัจจุบันลง เราจะเห็นได้ว่าการชิงราชบัลลังก์เป็นสิ่งสำคัญในระบอบราชาธิปไตยที่จะรับประกันว่าผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้แข็งแกร่งที่สุดในยุคสมัยนั้นๆ

เรื่องนี้ตรงกับความเห็นของอาจารย์นิธิ

การแย่งชิงราชสมบัตินั้นเป็นกลไกสำคัญชิ้นหนึ่งที่มีอยู่ประจำในระบบการเมืองการปกครองของไทยแต่โบราณ และเหมือนกับกลไกชิ้นอื่น ๆ ย่อมมีหน้าที่ในอันที่จะจรรโลงให้ระบบนั้นตั้งอยู่และดำเนินต่อไปได้ เพราะการชิงราชสมบัติคือการเลือกสรรตามธรรมชาติในหมู่ชนชั้นสูงของประเทศไทย ในอันที่จะได้บุคคลที่เข้มแข็งมีความสามารถ และได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำเป็นกลุ่มก้อนมาไว้เป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง ในระบบการเมืองการปกครองที่ให้ความสำคัญแก่พระเจ้าแผ่นดิน ทั้งในฐานะผู้บริหารองค์กรที่มีอำนาจเด็ดขาดทางนิติบัญญัติ และเป็นศาลสูงสุดของประเทศดังเช่นที่ใช้ในประเทศไทยมาในอดีตเช่นนี้ นโยบายที่ไม่ได้ผล ที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายที่กดขี่ การคลังที่ล้มเหลว ฯลฯ จะเปลี่ยนได้อย่างไร หากพระเจ้าแผ่นดินไม่สวรรคตหรือเชื้อสายของพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ถูกขจัดออกจากการกุมอำนาจ การแย่งชิงราชสมบัติจึงเป็นคำตอบที่ดีของการควบคุมรัฐบาล เบื้องหลังการแย่งราชสมบัติทุกครั้ง คือเรื่องราวของการประนีประนอมผลประโยชน์ของกลุ่มต่าง ๆ การให้คำสัญญาถึงสิ่งที่ดีกว่า และการปรับปรุงตัวเพื่อเผชิญปัญหาของบ้านเมือง ไม่ว่าในระบบการเมืองใด ๆ การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ย่อมเป็นสิ่งจำเป็น และมีกลไกสำหรับการกระทำเช่นนั้นทั้งสิ้น การแย่งราชสมบัติในระบบการเมืองไทยก็เป็นกลไกอย่างหนึ่งจำเป็นต้องมีสำหรับการปรับตัว

 ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.133 วินาที กับ 20 คำสั่ง