เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 29378 การสวรรคตของพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 24 มี.ค. 12, 11:53

รัฐบาลสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีความรู้สึกเป็นศัตรูต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือไม่ ?

คำตอบเรื่องนี้พิจารณาได้จาก ตราตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ใน พ.ศ. ๒๓๒๗ ความตอนหนึ่งว่า "....พระยาตากสินได้ว่าราชการแผ่นดินครั้งนั้นกอบได้ด้วยโมหะโลภะ มิได้ประพฤติการให้ชอบด้วยขนบบุราณ..."  ข้อความนี้นอกจากจะกล่าวโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว ยังถือว่าทรงเป็นเพียงผู้ว่าราชการแผ่นดิน หาได้เถลิงถวัลยราชสมบัติไม่

สอดคล้องกับพงศาวดารฉบับหมอบรัดเลย์ซึ่งแก้ไขจากฉบับจันทนุมาศ ระบุชัดเจนว่า "..ประหารชีวิตตัดศีรษะเสีย ถือแก่พิราลัย จึงรับสั่งให้เอาศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้..." แสดงว่าไม่ถือเอาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง จึงว่า "ตัดศีรษะ" และ "ถึงแก่พิราลัย" ไม่ใช่สวรรคต และจงใจเรียกพระศพว่า "ศพ" ดังนี้

"ประวัติศาสตร์ถูกเขียนโดยผู้ชนะ" ถึงข้อนี้เป็นความจริงอยู่บ้าง แต่ถ้ายึดเอาเรื่องนี้เป็นหลักคิดคงไม่ถูกต้องแน่

เพราะเมื่อหลงเชื่ออย่างนี้เสียแล้ว หมดแรงที่จะค้นคว้าต่อไป สรุปเอาเองว่าไม่ต้องหาข้อสรุป ต้องหาทางพิสูจน์ และไม่สนใจความจริงอื่นใดนอกจาก "ประวัติศาสตร์ถูกเขียนโดยผู้ชนะ" เกรงว่าจะต้องตกอยู่ในความมืดบอดทางปัญญาครับ

การศึกษาประวัติศาสตร์คงไม่ใช่ไม่ให้เชื่อผู้ชนะไปเสียทั้งหมด หากควรต้องมีความระแวงสงสัยเอกสารซึ่งผลิตโดยฝ่ายผู้ชนะว่ามีสิ่งใดสอดแทรกเข้ามาบ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายตน

 ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 24 มี.ค. 12, 12:35

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงหมดสถานภาพกษัตริย์ไปตั้งแต่ถูกพระยาสรรค์ยึดอำนาจแล้ว   เมื่อถูกตัดสินประหาร จะมาเฉลิมพระเกียรติด้วยราชาศัพท์อยู่เหมือนเมื่อครั้งยังครองราชย์ในตอนต้นธนบุรี  ก็ย่อมประดักประเดิด

คำว่า "ข้อความนี้นอกจากจะกล่าวโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว ยังถือว่าทรงเป็นเพียงผู้ว่าราชการแผ่นดิน หาได้เถลิงถวัลยราชสมบัติไม่"
ก็ยังย้ำความคิดว่า "กล่าวโทษ" อยู่ดี   เอาเป็นว่าไม่ยอมรับการกระทำ ว่างั้นเถิด
ส่วนคำว่า"ว่าราชการ" ก็ระบุถึงหน้าที่บทบาทในการปกครองแผ่นดินอยู่แล้ว   คำว่าเถลิงถวัลยราชสมบัติ แปลว่าขึ้นครองแผ่นดิน คนละความหมายกัน

ขอถามว่าข้อความในค.ห.นี้ คุณเพ็ญชมพูเอามาจากไหน   ดิฉันไม่อยากเชื่อว่าเป็นความเห็นของคุณเพ็ญชมพูเอง   ฟังมันจับแพะชนแกะพิกล
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 24 มี.ค. 12, 13:13

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงหมดสถานภาพกษัตริย์ไปตั้งแต่ถูกพระยาสรรค์ยึดอำนาจแล้ว   เมื่อถูกตัดสินประหาร จะมาเฉลิมพระเกียรติด้วยราชาศัพท์อยู่เหมือนเมื่อครั้งยังครองราชย์ในตอนต้นธนบุรี  ก็ย่อมประดักประเดิด

ผู้ตัดสินว่าสถานภาพกษัตริย์หมดไปเมื่อไรก็คงเป็นฝ่ายผู้ชนะนั่นเอง

ขอถามว่าข้อความในค.ห.นี้ คุณเพ็ญชมพูเอามาจากไหน   ดิฉันไม่อยากเชื่อว่าเป็นความเห็นของคุณเพ็ญชมพูเอง   ฟังมันจับแพะชนแกะพิกล

แนวคิดจากบทความเรื่อง "จากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถึงสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ" ของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

คำว่า "ผู้ว่าราชการแผ่นดิน" และ "เถลิงถวัลยราชสมบัติ" เป็นของอาจารย์นิธิ  เอียวศรีวงส์ จากบทความเรื่องเดียวกัน

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 24 มี.ค. 12, 13:25

มิน่าล่ะ  ตัดตอนมานี่เอง  ถึงฟังพิกล
ดิฉันก็ยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายคำสองคำนี้ ของ อ.นิธิ ค่ะ   

ขอเชิญคุณเพ็ญชมพูเขียนอะไรสักอย่าง ที่เป็นความเห็นของคุณเอง ว่าถ้าคุณจะเขียนอย่างชอบธรรมให้การตัดสินประหารสมเด็จพระเจ้าตากสิน  คุณจะใช้คำว่าอะไร
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 24 มี.ค. 12, 13:43

ขอเชิญคุณเพ็ญชมพูเขียนอะไรสักอย่าง ที่เป็นความเห็นของคุณเอง ว่าถ้าคุณจะเขียนอย่างชอบธรรมให้การตัดสินประหารสมเด็จพระเจ้าตากสิน

ไม่ใคร่เข้าใจคำของคุณเทาชมพู "เขียนอย่างชอบธรรมให้การตัดสินประหารสมเด็จพระเจ้าตากสิน"

แต่เอาเถิดขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมดังนี้

เรื่องตอนนี้เป็นเรื่องของนักการเมือง ฝ่ายที่ยึดอำนาจมักจะอ้างว่่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ (อันเป็นเรื่องที่ปรากฏในพงศาวดารให้คนรุ่นหลังต้องค้นหาความจริง) จะไปยกย่องก็คงไม่เป็นผลดีต่อตนเอง

การประหารชีวิตผู้นำและลูกน้องของฝ่ายตรงข้ามในสมัยโบราณนั้นรุนแรงนัก แต่คงไม่อาจใช้บรรทัดฐานของกฎเกณฑ์ปัจจุบันไปตัดสินได้

คุณจะใช้คำว่าอะไร

เกมแห่งอำนาจ power play

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 24 มี.ค. 12, 14:27

อ.นิธิค่อนข้างจะเน้นในเรื่องอำนาจที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายชัดเจน แต่ผมไม่เห็นอย่างนั้น ธรรมชาติของระบอบราชาธิปไตย อย่างไรเสียอำนาจสูงสุดก็ยังอยู่ที่พระมหากษัตริย์ หากมีการแบ่งฝักฝ่ายชัดเจนขนาดนั้น พระเจ้าตากก็ต้องพยายามตัดกำลังเจ้าพระยาจักรี ถึงแม้อาจไม่สามาารถจัดการเด็ดขาด แต่อย่างน้อยก็สามารถค่อยๆลดความสำคัญลงได้ การส่งไปรบในสงครามที่หวังผลชนะอย่างที่ทรงทำต่อเนื่องมาหลายปีช่วงปลายรัชกาล เท่ากับสนับสนุนให้เจ้าพระยาจักรีสามารถสะสมกำลังทั้งไพร่พล ทรัพย์สิน และบารมีทางการเมือง ดังนั้นเงื่อไขของการทำรัฐประหารในครั้งนั้นจึงไม่ใช่เรื่องขั้วชนขั้ว แต่เป็นเรื่องยอมอยู่ใต้พระเจ้าตากต่อไปหรือไม่มากกว่า

บ่อยครั้งที่การรัฐประหารในครั้งนั้นถูกสรุปว่าเป็นเหตุจากวิกฤตเรื่องสงฆ์ไหว้ฆราวาสอรหันต์ โดยเรื่องนี้มีปรากฏในพงศาวดารหลายฉบับ โดยน่าจะมีที่มาแหล่งเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นฉบับพันจันทนุมาศก็ได้ หากอ่านโดยยึดตามการลำดับความในพงศาวดารนั้น อาจเห็นว่าจุดเริ่มเป็นเรื่องดังกล่าว แต่หากดูเงื่อนเวลาประกอบ จะเห็นได้ว่ากรณีสงฆ์ไหว้ฆราวาสอรหันต์นั้นเกิดขึ้นในเดือน ๙ ก่อนเหตุการวุนวายในกรุงธนบุรีร่วมครึ่งปี

และที่สำคัญ ถึงแม้จดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีจะกล่าวถึง "ความรุนแรง" ในรัชกาลพระเจ้าตากอย่างมากมาย แต่ไม่ปรากฏเรื่องนี้แต่อย่างใด เห็นได้ว่า ถึงแม้ผู้เขียนพงศาวดารกรุงธนบุรีจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของกรมหลวงนรินทรเทวีครับ

แต่หากจะมองว่าเรื่องนี้ไม่มีจริง ผู้เขียนพงศาวดารป้ายสีพระเจ้าตาก ข้อนี้ก็ผิดแน่ เพราะในจดหมายเหตุโหร บันทึกเหตุการเฆี่ยนสงฆ์ ๕๐๐ รูป และสึกพระราชาคณะเอาไว้ โดยเป็นสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไล่เรี่ยกันแต่ไม่ได้เป็นเหตุการณ์เดียวกัน

ขอตั้งข้อสังเกตว่าพงศาวดารต้นเรื่องนี้ (ซึ่งอาจเป็นฉบับพันจันทนุมาศ) เขียนขึ้นหลังเหตุการณ์ โดยผู้ที่อาจจะเกิดไม่ทันเหตุการณ์ในครั้งนั้นครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 24 มี.ค. 12, 22:53

อ้างถึง
เมื่อรู้ว่า นี่คือคนที่ตั้งคำถามโดยมีคำตอบอยู่ในใจเรียบร้อยแล้ว  ไม่ได้ถามเพราะสนใจใคร่รู้เพิ่มเติม    ดิฉันก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องตอบอะไรอีกค่ะ

การสรุปของ อ.เทาชมพู ไม่ได้สร้าง "ความเชื่อ" ให้เกิดขึ้นค่ะ แต่ เป็นการ "รู้แจ้ง" เพราะ พิสูจน์ทราบด้วยหลักฐานแน่นหนา

และ

อ้างถึง
ส่วนเรื่องพุทธศาสนา ที่พระพุทธประวัติและพระพุทธวัจนะ ถูกอ้างถึงนั้น
- เพราะโลกเรามีแต่ความเชื่อ ความรู้ในความไม่รู้ สองพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว หนุ่มน้อยลูกเจ้าเมืองกบิลพัสดุ์ ถึงหนีออกจากวังไปในกลางดึก หนีออกจาก'ความเชื่อ' แล้วไปแสวงหา 'ความจริง'

- พระพุทธเจ้า ถึงสอนไว้ว่า อย่าเชื่อคนอื่น ให้เชื่อในตนเอง.... และ ให้อาจารย์คนแรก และคนสุดท้าย เป็น ตัวของเราเอง

   คุณร่วมฤดีสนใจศึกษาธรรมะ คงจะตอบได้ว่าผิดหรือถูก สมควรหรือไม่สมควรประการใด     

ดิฉันคิดและได้ร่างอะไร ๆ ไว้ที่จะพูดเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ตัดสินใจลบทิ้งด้วยความเคารพหัวข้อกระทู้ค่ะ
เกรงจะออกนอกเรื่องไปเป็นวิชา ศาสนาและปรัชญา หันไปถกกันเรื่อง "ความเชื่อต่างกับความรู้ตรงไหน"

แต่ขออนุญาตจัดลำดับความเชื่อของดิฉันเองไว้ในที่นี้ ดังนี้ค่ะ

สำหรับดิฉัน เลือกเชื่อความจริงตามธรรมชาติค่ะ(ธรรมะ)
แต่กว่าจะเข้าถึงตรงนั้น ดิฉันเลือกเชื่อพระพุทธเจ้าก่อนค่ะ (ตถาคตโพธิศรัทธา) เพราะ ท่านสอน "กาลามสูตร" ค่ะ
และคนสุดท้ายที่จะเลือกเชื่อ คือ ตัวเอง เพราะตัณหากล้า ปัญญาอ่อนค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 25 มี.ค. 12, 08:57

^


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 25 มี.ค. 12, 10:35



การศึกษาประวัติศาสตร์คงไม่ใช่ไม่ให้เชื่อผู้ชนะไปเสียทั้งหมด หากควรต้องมีความระแวงสงสัยเอกสารซึ่งผลิตโดยฝ่ายผู้ชนะว่ามีสิ่งใดสอดแทรกเข้ามาบ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายตน

 ยิงฟันยิ้ม

ประโยคบนนี้ไม่ทราบว่าคุณเพ็ญชมพูเขียนเองหรือไปลอกความเห็นใครมาอีก แต่ในเมื่อลงในช่องค.ห.คุณก็ขอสรุปว่าเป็นความเห็นคุณด้วยเช่นกัน
ในเมื่อคุณบอกว่า ควรระแวงสงสัยเอกสารที่ผลิตโดยฝ่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  ซึ่งคุณเรียกว่าผู้ชนะ ว่าเขียนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายตน   ก็แปลได้อีกอย่างว่า สร้างความไม่ชอบธรรมให้ฝ่ายตรงข้าม  คือฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ
ดิฉันก็เลยอยากทราบว่า ถ้าจะเขียนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสิน ควรจะเขียนยังไง  

การกล่าวหาว่าอะไรผิด เป็นเรื่องพูดกันได้ง่าย    แต่ถ้าให้ดี ควรจะบอกด้วยว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าว่าถูกต้องนั้นเป็นยังไง   คนอื่นเขาจะได้รู้ทั้งสองด้านแล้วตัดสินเองว่าควรเชื่อฝ่ายไหนมากกว่ากัน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 25 มี.ค. 12, 10:57



การศึกษาประวัติศาสตร์คงไม่ใช่ไม่ให้เชื่อผู้ชนะไปเสียทั้งหมด หากควรต้องมีความระแวงสงสัยเอกสารซึ่งผลิตโดยฝ่ายผู้ชนะว่ามีสิ่งใดสอดแทรกเข้ามาบ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายตน

 ยิงฟันยิ้ม

ประโยคบนนี้ไม่ทราบว่าคุณเพ็ญชมพูเขียนเองหรือไปลอกความเห็นใครมาอีก

คุณเทาชมพูอาจจะระแวงสงสัยมากไปหน่อยกระมัง   ยิ้มเท่ห์

แต่ในเมื่อลงในช่องค.ห.คุณก็ขอสรุปว่าเป็นความเห็นคุณด้วยเช่นกัน
ในเมื่อคุณบอกว่า ควรระแวงสงสัยเอกสารที่ผลิตโดยฝ่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  ซึ่งคุณเรียกว่าผู้ชนะ ว่าเขียนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายตน   ก็แปลได้อีกอย่างว่า สร้างความไม่ชอบธรรมให้ฝ่ายตรงข้าม  คือฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ
ดิฉันก็เลยอยากทราบว่า ถ้าจะเขียนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสิน ควรจะเขียนยังไง  

การกล่าวหาว่าอะไรผิด เป็นเรื่องพูดกันได้ง่าย    แต่ถ้าให้ดี ควรจะบอกด้วยว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าว่าถูกต้องนั้นเป็นยังไง   คนอื่นเขาจะได้รู้ทั้งสองด้านแล้วตัดสินเองว่าควรเชื่อฝ่ายไหนมากกว่ากัน

จริง ๆ แล้วข้อความที่คุณเทาชมพูอ้างมานั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นเสมอเมื่อมีการแบ่งฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นระดับระหว่างประเทศ (ไทย-พม่า), ระดับประเทศ (ผู้นำ ก. - กบฏ ข., กีฬาสี เหลือง - แดง) ทุกฝ่ายมีความชอบธรรมของตนเองที่จะอ้างเสมอ เมื่อเกิดการขัดแย้ง ความชอบธรรมนั้นคงเป็นคนละเรื่องกัน

ดูตัวอย่างความเห็นที่ ๑๐ ของคุณแซมซัน

ความชอบธรรมแต่ละฝ่ายในกีฬาสี

มีให้พิจารณาทั้ง ๒ ด้าน

คุณจะเชื่อฝ่ายไหน

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 25 มี.ค. 12, 13:15

ไม่ตอบก็ไม่ว่ากัน.  ยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 25 มี.ค. 12, 17:53

ขออนุญาตนำข้อสรุปบางประการของอาจารย์นิธิซึ่งเขียนไว้ในบทความเดียวกับที่อ้างไว้ในความคิดเห็นที่ ๓๒

กรณี "วิกลจริต" ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีหลักฐานร่วมสมัยอยู่ ๖ ชิ้นคือ

๑. พระราชพงศาวดาร

   ๑.๑ ฉบับพันจันทนุมาศ

   ๑.๒ ฉบับบริติชมิวเซียม

   ๑.๓ ฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเลย์

   ๑.๔ ฉบับพระราชหัตถเลขา

๒. จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี

๓. จดหมายเหตุโหร

๔. สังคีติยวงศ์และพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธ

๕. หลักฐานจีนและญวน

๖. หลักฐานฝรั่งเศส

ต่อไปนี้เป็นข้อสรุปของอาจารย์นิธิ

สัญญาวิปลาสจริงหรือเท็จ ?

เมื่อสรุปหลักฐานทั้งหมด มีหลักฐานไทยอยู่เพียงชิ้น (หรือหนึ่งกลุ่มซึ่งสัมพันธ์กันเอง) คือพระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงการ "เสียพระจริตฟั่นเฟือนไป" ของพระเจ้ากรุงธนบุรี นับว่าเป็นสิ่งทีน่าประหลาดอยู่มาก เพราะหลักฐานไทยร่วมสมัยอื่น ๆ ไม่ได้กล่าวไว้เช่นนั้นเลย นอกจากนี้ก็มีหลักฐานชาวต่างชาติคือจดหมายของเดส์กูวิแอร์อีกหนึ่งชิ้นที่กล่าวว่าทรง "คุ้มดีคุ้มร้าย" แต่ดังที่ได้กล่าวแล้ว หลักฐานทั้งสองชิ้นนี้มีจุดอ่อนและนักเรียนประวัติศาสตร์จำเป็นต้องรับไว้ด้วยความระมัดระวังทั้งในแง่ความหมายและในแง่ที่เป็นเอกสารอันมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง

แม้ว่าข้าพเจ้าพยายามจะชี้จุดอ่อนของหลักฐานทั้งหลายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่ปรารถนาจะสรุปอย่างเด็ดขาดว่าอาการวิกลจริตของพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง และในขณะเดียวกันข้าพเจ้าก็ไม่ปรารถนาจะกล่าวว่าหลักฐานที่ระบุว่าพระองค์ทรงเสียจริตนั้นน่าเชื่อถืออย่างไม่มีทางปฏิเสธ จากหลักฐานเท่าที่มีอยู่ขณะนี้ยังไม่เพียงพอที่จะตัดสินไปอย่างใดอย่างหนึ่งให้เด็ดขาดได้

สิ่งที่หลักฐานเหล่านี้บอกให้ทราบนั้นมีเพียงว่า ในปลายรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการภาษีอากรและการคลังในทางที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่คนจำนวนหนึ่ง และคงจะเป็นคนเหล่านี้เองซึ่งต้องการชิงราชบัลลังก์ ต้องการเพราะไม่พอใจนโยบายนั้นหรือต้องการอยู่แล้วเพียงแต่รอโอกาสอยู่ก็ตาม (หลักฐานไม่บอกอย่างแน่ชัดในเรื่องนี้) ได้อาศัยการกระทำของพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งคงผันแปรไปจากในตอนต้นรัชกาล เพราะการเปลี่ยนนโยบายชี้ให้ผู้อื่นเห็นว่าเป็นความเดือดร้อนแก่ทั้งสมณชีพราหมณ์และอาณาประชาราษฎร์

เป็นไปได้ว่าคนเหล่านี้ได้โฆษณาว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเสียพระจริต การโฆษณานี้อาจเป็นการโฆษณาสิ่งที่เป็นความจริง หรือเป็นการโฆษณาเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง คือบ่อนทำลายความนับถือของผู้คนที่มีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ตาม สมัครพรรคพวกของคนเหล่านี้เช่นนายเพง ซึ่งคุมเลกกองนอกอยู่ที่สระบุรี นายบ้านแม่ลากรุงเก่า นายแก้วน้องพระยาสรรค์ เป็นต้น ได้ก่อการกบฏขึ้นก่อนจนนำมาซึ่งเหตุการณ์จลาจลในกรุงธนบุรีเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๓๒๔ เจ้าเมืองนครราชสีมาซึ่งเตรียมตัวในแผนการณ์นี้แล้วก็รีบยกกองทัพลงมาสมทบควบคุมสถานการณ์ในกรุงธนบุรีไว้ก่อน เกิดการแบ่งฝ่ายของขุนนางระหว่างพวกที่ยังจงรักภักดีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีและพวกทีคิดแย่งราชสมบัติ ผลของการรบ ฝ่ายที่แย่งชิงราชสมบัติได้รับชัยชนะและเป็นผู้จบประวัติศาสตร์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีทั้งในเหตุการณ์จริงและในพงศาวดาร

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 25 มี.ค. 12, 20:28

^
กรุณาอ่านคำตอบคุณ CrazyHOrse  อีกครั้งค่ะ

อ.นิธิค่อนข้างจะเน้นในเรื่องอำนาจที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายชัดเจน แต่ผมไม่เห็นอย่างนั้น ธรรมชาติของระบอบราชาธิปไตย อย่างไรเสียอำนาจสูงสุดก็ยังอยู่ที่พระมหากษัตริย์ หากมีการแบ่งฝักฝ่ายชัดเจนขนาดนั้น พระเจ้าตากก็ต้องพยายามตัดกำลังเจ้าพระยาจักรี ถึงแม้อาจไม่สามาารถจัดการเด็ดขาด แต่อย่างน้อยก็สามารถค่อยๆลดความสำคัญลงได้ การส่งไปรบในสงครามที่หวังผลชนะอย่างที่ทรงทำต่อเนื่องมาหลายปีช่วงปลายรัชกาล เท่ากับสนับสนุนให้เจ้าพระยาจักรีสามารถสะสมกำลังทั้งไพร่พล ทรัพย์สิน และบารมีทางการเมือง ดังนั้นเงื่อไขของการทำรัฐประหารในครั้งนั้นจึงไม่ใช่เรื่องขั้วชนขั้ว แต่เป็นเรื่องยอมอยู่ใต้พระเจ้าตากต่อไปหรือไม่มากกว่า

บ่อยครั้งที่การรัฐประหารในครั้งนั้นถูกสรุปว่าเป็นเหตุจากวิกฤตเรื่องสงฆ์ไหว้ฆราวาสอรหันต์ โดยเรื่องนี้มีปรากฏในพงศาวดารหลายฉบับ โดยน่าจะมีที่มาแหล่งเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นฉบับพันจันทนุมาศก็ได้ หากอ่านโดยยึดตามการลำดับความในพงศาวดารนั้น อาจเห็นว่าจุดเริ่มเป็นเรื่องดังกล่าว แต่หากดูเงื่อนเวลาประกอบ จะเห็นได้ว่ากรณีสงฆ์ไหว้ฆราวาสอรหันต์นั้นเกิดขึ้นในเดือน ๙ ก่อนเหตุการวุนวายในกรุงธนบุรีร่วมครึ่งปี

และที่สำคัญ ถึงแม้จดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีจะกล่าวถึง "ความรุนแรง" ในรัชกาลพระเจ้าตากอย่างมากมาย แต่ไม่ปรากฏเรื่องนี้แต่อย่างใด เห็นได้ว่า ถึงแม้ผู้เขียนพงศาวดารกรุงธนบุรีจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของกรมหลวงนรินทรเทวีครับ

แต่หากจะมองว่าเรื่องนี้ไม่มีจริง ผู้เขียนพงศาวดารป้ายสีพระเจ้าตาก ข้อนี้ก็ผิดแน่ เพราะในจดหมายเหตุโหร บันทึกเหตุการเฆี่ยนสงฆ์ ๕๐๐ รูป และสึกพระราชาคณะเอาไว้ โดยเป็นสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไล่เรี่ยกันแต่ไม่ได้เป็นเหตุการณ์เดียวกัน

ขอตั้งข้อสังเกตว่าพงศาวดารต้นเรื่องนี้ (ซึ่งอาจเป็นฉบับพันจันทนุมาศ) เขียนขึ้นหลังเหตุการณ์ โดยผู้ที่อาจจะเกิดไม่ทันเหตุการณ์ในครั้งนั้นครับ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 25 มี.ค. 12, 20:59

เป็นไปได้ว่าคนเหล่านี้ได้โฆษณาว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเสียพระจริต การโฆษณานี้อาจเป็นการโฆษณาสิ่งที่เป็นความจริง หรือเป็นการโฆษณาเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง คือบ่อนทำลายความนับถือของผู้คนที่มีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ตาม สมัครพรรคพวกของคนเหล่านี้เช่นนายเพง ซึ่งคุมเลกกองนอกอยู่ที่สระบุรี นายบ้านแม่ลากรุงเก่า นายแก้วน้องพระยาสรรค์ เป็นต้น ได้ก่อการกบฏขึ้นก่อนจนนำมาซึ่งเหตุการณ์จลาจลในกรุงธนบุรีเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๓๒๔ เจ้าเมืองนครราชสีมาซึ่งเตรียมตัวในแผนการณ์นี้แล้วก็รีบยกกองทัพลงมาสมทบควบคุมสถานการณ์ในกรุงธนบุรีไว้ก่อน เกิดการแบ่งฝ่ายของขุนนางระหว่างพวกที่ยังจงรักภักดีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีและพวกทีคิดแย่งราชสมบัติ ผลของการรบ ฝ่ายที่แย่งชิงราชสมบัติได้รับชัยชนะและเป็นผู้จบประวัติศาสตร์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีทั้งในเหตุการณ์จริงและในพงศาวดาร

 ยิงฟันยิ้ม

หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงถูกประหารมาหนึ่งร้อยกว่าปี  ล่วงถึงรัชกาลที่ ๕  พระราชพงศาวดาร หนังสือหนังหาสำคัญทั้งหลายที่เกี่ยวกับบ้านเมือง   ยังถือเป็นเอกสารลับ  ห้ามไม่ให้ราษฎรสามัญอ่าน    ปัญญาชนสามัญชนอย่างนายกุหลาบยังต้องแอบคัดลอกด้วยกลอุบาย บวกกับหาทางหนีทีไล่ไว้ก่อนเผื่อถูกจับตัวได้    แสดงว่าเจ้านายท่านมิได้ถือว่าราษฎรควรรู้เห็นมีส่วนตัดสินใจในเรื่องของบ้านเมือง  ต่อให้ย้อนหลังไปกี่สิบกี่ร้อยปีก็ตาม
ก็ในเมื่อเรื่องของบ้านเมืองและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่  มันเป็นเรื่องลับต่อๆกันมาตั้งแต่แรก  จนหนึ่งร้อยกว่าปีให้หลังก็ยังไม่เลิกเป็นความลับ    ดิฉันก็เลยไม่เชื่อว่านโยบายโฆษณาเผยแพร่ดังที่อาจารย์นิธิตั้งประเด็นไว้นั้น   เป็นวิธีการที่เจ้าพระยาจักรีใช้ตั้งแต่สมัยธนบุรี เพื่อหาคะแนนนิยมจากประชาชน     เพราะนโยบายปลุกระดมมวลชน  มันยังไม่เกิดขึ้นในสมัยนั้น

สภาพสังคมในสมัยอยุธยาตอนปลายและธนบุรี มองประชาชนจำนวนมากๆ ด้วยความหมายเพียงด้านแรงงาน อย่างไพร่หลวงไพร่ สม  ซึ่งใช้ประโยชน์ได้ทั้งยามสงบและยามศึก     วิธีรวมคนก็คือเกณฑ์เอาตัวมาด้วยคำสั่ง    ทำกันต่อเนื่องมาจนรัชกาลที่ ๕  เห็นได้จากกระทู้ประวัติพระยาโบราณราชธานินทร์ที่ท่านต้องหาวิธีจิตวิทยาไปเกลี้ยกล่อมชายฉกรรจ์ที่หนีเกณฑ์กันอุตลุด        สมัยนั้นไม่มีการสร้างกระแส  ไม่มีการระดมมวลชนที่จะมาชี้เป็นชี้ตายเก้าอี้ผู้บริหารประเทศได้  อย่างสมัยนี้ 

เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงเห็นว่า เรื่องที่บันทึกลงไปนั้นก็บันทึกตามข้อเท็จจริงที่ท่านประสบมา      ท่านผู้บันทึกไม่มีเหตุผลอะไรจะไปบิดเบือนเพื่อจะสร้างภาพให้ใครไปทำไม    แต่คนรุ่นหลังจะพอใจหรือไม่พอใจ  เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำของท่านก็อีกเรื่องหนึ่ง      แต่มันเป็นคนละเรื่องกับไปกล่าวหาว่าท่านบิดเบือนหรือใส่ร้ายสมเด็จพระเจ้าตากสิน แบบเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น
 
ถ้าจะกล่าวหากันอย่างนี้จริงๆก็ต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่า เรื่องแท้จริงเป็นอย่างไร   ไม่ใช่กล่าวหาลอยๆแล้วให้ผู้กล่าวหาไปหาหลักฐานมาพิสูจน์ตัวเอง   ฝ่ายถูกกล่าวหาเพียงแต่ตั้งประเด็นว่า อาจเป็นยังโง้นบ้างยังงี้บ้าง  ฟันธงไม่ได้แต่เหวี่ยงแหคลุมไปไว้ก่อน  อย่างนี้ก็ออกจะไม่ชอบธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า เช่นเดียวกับข้อกล่าวหาว่าไม่ชอบธรรมต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินนั่นเอง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 25 มี.ค. 12, 22:17

(ต่อ)

วิกลจริตเป็นอาการทางจิตเวชศาสตร์ และในบัดนี้คงสายไปแล้วที่จะมีจิตแพทย์คนใดสามารถถวายการตรวจพระอาการสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ แต่ในภาษาชาวบ้านการทำอะไรที่นอกรีตนอกรอยที่เคยทำมาก็อาจถูกกล่าวหาว่าวิกลจริตได้ พระเจ้ากรุงธนบุรีคงได้ทำอะไรบางอย่างที่แปลกไปจากที่เคยทรงกระทำมา และทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งเชื่อ หรือสามารถทำให้ผู้อื่นเชื่อได้ว่า "เสียพระจริตฟั่นเฟือนไป" แต่ก็มีผู้คนที่ใกล้ชิดอีกจำนวนมากไม่เชื่อเช่นนั้นจึงยังคงจงรักภักดีต่อพระองค์สืบมา อย่างน้อยที่สุดก็มีขุนนางร่วม ๑๐๐ คน ที่ถูกล้างไปในการล้มราชบัลลังก์ของพระองค์ ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์หมอบรัดเลย์ว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ "จึ่งดำรัสให้เอาขุนนางสามสิบเก้าคนนั้นไปประหารชีวิตเสีย" ส่วนกรมพระราชวังบวรฯ “ให้ตำรวจไปจับตัวข้าราชการทั้งปวงบันดาที่มีความผิดขุ่นเคืองกับพระองค์มาแต่ก่อน ให้ประหารชีวิตเสียสิ้นทั้งแปดสิบคนเศษ ”

เรื่องการล้างแผ่นดินกันในครั้งนี้สอดคล้องกับหลักฐานชั้นต้นอีกชิ้นหนึ่งคือ "คำปรึกษาตั้งข้าราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑" ซึ่งได้ตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในทำเนียบข้าราชการร่วมร้อยคน ทำให้เข้าใจได้ว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนก็คงจะถูกประหารชีวิตไปแล้ว บุคคลจำนวนร่วมร้อยหรือร้อยเศษเหล่านี้คงไม่ยอมเสียชีวิตให้แก่คนที่เขาเห็นว่าวิกลจริตเป็นแน่ ความเห็นของคนเหล่านี้ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งแม้ในยามที่ถูกพระยาสรรค์ควบคุมตัวก็ยังมีพระสติบริบูรณ์พอ ที่จะกล่าวแก่เขาว่า "สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย" และทรงรู้ทันพระยาสรรค์พอที่จะทรงอุทาน เมื่อพระราชาคณะกราบทูลให้ออกบรรพชาว่า "เอ้หิภิกขุลอยมาถึงแล้ว" จึงน่าจะเป็นว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระสติสัมปชัญญะบริบูรณ์เยี่ยงสามัญชนธรรมดา

เมื่อพิจารณาประเด็นนี้ในสภาพแวดล้อมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปลายรัชสมัย ปัญหาเรื่องวิกลจริตจึงเป็น "ความเห็น" ของคนสมัยนั้นเท่ากับคนสมัยนี้ กล่าวคือมีคนกลุ่มหนึ่งมี "ความเห็น" (โดยบริสุทธิ์ใจหรือไม่ก็ตาม) ว่าทรงเสียพระจริตไปแล้ว ในขณะที่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งมี "ความเห็น" (โดยบริสุทธิ์ใจหรือไม่ก็ตาม) ว่าทรงมีพระอาการเป็นปกติ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.449 วินาที กับ 20 คำสั่ง