ขออนุญาตนำข้อสรุปบางประการของอาจารย์นิธิซึ่งเขียนไว้ในบทความเดียวกับที่อ้างไว้ในความคิดเห็นที่ ๓๒
กรณี "วิกลจริต" ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีหลักฐานร่วมสมัยอยู่ ๖ ชิ้นคือ
๑. พระราชพงศาวดาร
๑.๑ ฉบับพันจันทนุมาศ
๑.๒ ฉบับบริติชมิวเซียม
๑.๓ ฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเลย์
๑.๔ ฉบับพระราชหัตถเลขา
๒. จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี
๓. จดหมายเหตุโหร
๔. สังคีติยวงศ์และพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธ
๕. หลักฐานจีนและญวน
๖. หลักฐานฝรั่งเศส
ต่อไปนี้เป็นข้อสรุปของอาจารย์นิธิ
สัญญาวิปลาสจริงหรือเท็จ ?เมื่อสรุปหลักฐานทั้งหมด มีหลักฐานไทยอยู่เพียงชิ้น (หรือหนึ่งกลุ่มซึ่งสัมพันธ์กันเอง) คือพระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงการ "เสียพระจริตฟั่นเฟือนไป" ของพระเจ้ากรุงธนบุรี นับว่าเป็นสิ่งทีน่าประหลาดอยู่มาก เพราะหลักฐานไทยร่วมสมัยอื่น ๆ ไม่ได้กล่าวไว้เช่นนั้นเลย นอกจากนี้ก็มีหลักฐานชาวต่างชาติคือจดหมายของเดส์กูวิแอร์อีกหนึ่งชิ้นที่กล่าวว่าทรง "คุ้มดีคุ้มร้าย" แต่ดังที่ได้กล่าวแล้ว หลักฐานทั้งสองชิ้นนี้มีจุดอ่อนและนักเรียนประวัติศาสตร์จำเป็นต้องรับไว้ด้วยความระมัดระวังทั้งในแง่ความหมายและในแง่ที่เป็นเอกสารอันมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง
แม้ว่าข้าพเจ้าพยายามจะชี้จุดอ่อนของหลักฐานทั้งหลายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่ปรารถนาจะสรุปอย่างเด็ดขาดว่าอาการวิกลจริตของพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง และในขณะเดียวกันข้าพเจ้าก็ไม่ปรารถนาจะกล่าวว่าหลักฐานที่ระบุว่าพระองค์ทรงเสียจริตนั้นน่าเชื่อถืออย่างไม่มีทางปฏิเสธ จากหลักฐานเท่าที่มีอยู่ขณะนี้ยังไม่เพียงพอที่จะตัดสินไปอย่างใดอย่างหนึ่งให้เด็ดขาดได้
สิ่งที่หลักฐานเหล่านี้บอกให้ทราบนั้นมีเพียงว่า ในปลายรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการภาษีอากรและการคลังในทางที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่คนจำนวนหนึ่ง และคงจะเป็นคนเหล่านี้เองซึ่งต้องการชิงราชบัลลังก์ ต้องการเพราะไม่พอใจนโยบายนั้นหรือต้องการอยู่แล้วเพียงแต่รอโอกาสอยู่ก็ตาม (หลักฐานไม่บอกอย่างแน่ชัดในเรื่องนี้) ได้อาศัยการกระทำของพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งคงผันแปรไปจากในตอนต้นรัชกาล เพราะการเปลี่ยนนโยบายชี้ให้ผู้อื่นเห็นว่าเป็นความเดือดร้อนแก่ทั้งสมณชีพราหมณ์และอาณาประชาราษฎร์
เป็นไปได้ว่าคนเหล่านี้ได้โฆษณาว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเสียพระจริต การโฆษณานี้อาจเป็นการโฆษณาสิ่งที่เป็นความจริง หรือเป็นการโฆษณาเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง คือบ่อนทำลายความนับถือของผู้คนที่มีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ตาม สมัครพรรคพวกของคนเหล่านี้เช่นนายเพง ซึ่งคุมเลกกองนอกอยู่ที่สระบุรี นายบ้านแม่ลากรุงเก่า นายแก้วน้องพระยาสรรค์ เป็นต้น ได้ก่อการกบฏขึ้นก่อนจนนำมาซึ่งเหตุการณ์จลาจลในกรุงธนบุรีเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๓๒๔ เจ้าเมืองนครราชสีมาซึ่งเตรียมตัวในแผนการณ์นี้แล้วก็รีบยกกองทัพลงมาสมทบควบคุมสถานการณ์ในกรุงธนบุรีไว้ก่อน เกิดการแบ่งฝ่ายของขุนนางระหว่างพวกที่ยังจงรักภักดีต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีและพวกทีคิดแย่งราชสมบัติ ผลของการรบ ฝ่ายที่แย่งชิงราชสมบัติได้รับชัยชนะและเป็นผู้จบประวัติศาสตร์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีทั้งในเหตุการณ์จริงและในพงศาวดาร
