เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 246314 โคลงสี่สุภาพ
พลายงาม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 12:38

ก่อนจะตรวจการบ้าน และตอบคำถาม และไปเล่นลิเกซัดกับปู่ชาละวิน ขอว่าเรื่องทฤษฎีอีกนิดครับ

...จากที่ผมเปรยไว้ว่า การนับคำในโคลง ที่นับบาทที ๑-๓ ใช้คำ ๗ คำ และบาทสุดท้าย ใช้คำ ๙ คำ ทำไมผมไม่ใช้พยางค์ ก่อนอื่นคงต้องท้าวความกันสักนิดก่อน
...พยางค์ คือเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ จะมีความหมายและไม่มีความหมายก็ได้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำ
...ในการแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์ ซึ่งถือครุ ลหุ เป็นสำคัญ เรานับแต่ละพยางค์ เป็นหนึ่งคำเสมอ ประกาย, มณี, สะท้อน เรานับเป็น ๒ คำเสมอ แต่ในคำประพันธ์ประเภทอื่น ถ้าเป็นคำประสมกับสระเสียงสั้น เช่น ประกาย, มณี, สะท้อน เราจะนับเป็น ๑ หรือ ๒ คำก็ได้
...เช่นถ้าคำว่า มณี ไปอยู่ในโคลงฯ เราสามารถนับเป็น ๑ หรือ ๒ คำได้ แล้วแต่ลักษณะบังคับ เช่น

" แพรวพราวดุจมณี.....สาดส่อง ประกายนา "
ในที่นี้ต้องนับ มณี เป็น ๒ คำ เวลาอ่านออกเสียงต้องออกเสียงหนักทั้ง ๒ พยางค์ คือ มะ กับ ณี
 
" แพรวพราวพร่างดุจมณี.....สาดส่อง ประกายนา "
อันนี้ต้องนับ มณี เป็น ๑ คำ เวลาอ่านออกเสียงต้องอาศัยลูกเก็บ คือไม่ออกเสียงหนัก เหมือนกับการอ่าน มะ ในตัวอย่างแรก ให้เน้นที่คำ ณี เพราะเป็นตำแหน่งเสียงหนัก และรับสัมผัส

สังเกตัวอย่างนี้นะครับ จากโคลงนิราศสุพรรณ ของ ท่านสุนทรภู่

o เสลาสลอดสลับสร้าง.........สลัดได
สะอึกสะอะสะอมสะไอ.........สะอาดสะอ้าน
มะแฟ่มะฟาบมะเฟืองมะไฟ.......มะแฟบมะฟ่อ พ่อเอย
ตะขบตะขาบตะเคียนตะคร้าน......ตะคร่อตะไคร้ตะเคราตะครอง

...จะเห็นว่าบาทสุดท้ายบังคับ ๙ คำ  แต่ถ้านับเป็นพยางค์ จะได้ถึง ๑๖ พยางค์
... และให้สังเกต จะพบว่า คำตำแหน่งเอกบังคับ ในวรรคสุดท้าย คือ ตะคร่อ และคำตำแหน่งโทบังคับ คือ ตะไคร้ ดังนั้นเวลาอ่านโคลงบทนี้ ต้องอ่านออกเสียงรวบรัดเก็บลูกบทให้ดี โคยเฉพาะเสียง ตะ ในบาทสุดท้ายแทบจะไม่เปล่งเสียงออกมา ลักษณะนี้จะมีทำนองกระโดดไปมา ครูกลอน ท่านเรียกว่า คุดทะราดเหยียบกรวด  

...หวังว่าคงพอเป็นแนวทางนะครับ คงจบเรื่องการนับคำในโคลงฯ ไว้แค่นี้
บันทึกการเข้า
พลายงาม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 13:38

---> การบ้านที่ คุณ pink ribbon ทำส่งมา ถูกทั้ง ๓ ข้อ ครับ โดยเฉพาะข้อ ๓ ประทับใจมาก แม้จะผิดในครั้งแรก แต่ก็แก้ไขมาส่งได้อย่างดี แต่วรรคสุดท้าย ตรงคำว่า " มาครอง " ยังสามารถหาคำมาใช้ได้ดีกว่านี้  ลองเปลี่ยนเป็นคำอื่นดูนะครับ จะทำให้โคลงบทนี้เด่นขึ้นอีกเยอะ อยากให้เป็นตัวอย่าง ในการเลือกคำมาใช้ในการแต่งโคลง ซึ่งถือเป็นกลเม็ดอย่างหนึ่ง คือการใช้สัมผัสอักษรเรียงกันหลายคำในแต่ละวรรค โดยไม่ทำให้ห้ความหมายเสียไป ตรงนี้ขอย้ำว่า การแต่งโคลงจะเน้นสัมผัสอักษรมากกว่าสระ นอกจากสัมผัสบังคับ  

-----> ตอบ ปู่ นกข. ครับ
...เรื่องคำว่า กลอนสุภาพ ผมขออ้างอิง จากอาจารย์กำชัย ทองหล่อ ท่านอธิบายไว้ว่า ที่เรียก กลอนสี่ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด และกลอนเก้า ว่ากลอนสุภาพ นั้น ก็เนื่องจากเป็นกลอนที่ใช้ถ้อยคำและทำนองเรียบๆง่ายๆ ในการแต่งนั่นเอง
...โคลงที่ปู่แต่งมา มีความหมายในเชิงเชิญชวนให้คนไทย หันมาใช้เลขไทยในการเขียน แต่ผมอ่านแล้วไปสะดุดตรงบาทที่ ๒ วรรค ๒
ครับปู่ ประโยค " อ่านได้ "  แล้วมาเริ่มเขียน ๑๒ ต่อในบาทที่ ๓ แล้วปู่มาสรุปในวรรคสุดท้าย ว่า " จดด้วยเลขสยาม เถิดเอย "  ความเห็นผม ถ้าเปลี่ยนคำว่า" อ่านได้ "เป็น" ท่องไว้ " น่าจะดีขึ้นครับ (ไม่รู้ไปสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำหรือเปล่า อิอิ )
...ขอบคุณที่ปู่ ช่วยมาแก้โคลงจากลิลิตตะเลงพ่าย ให้ครับ ผมกลับขึ้นไปอ่นแล้ว ผิดไปจริงๆ รวมทั้งโคลงครู จากนิราศนรินทร์ ก็ผิดอยู่ ๑ ที่ คือ บาทที่ ๓ เป็น เรือแผง ครับ ไม่ใช่ เรือแขวง
...ส่วนโคลงที่ปู่ถามมาผมคุ้นๆแต่นึกไม่ออกครับ หนังสือทีผมมีอยู่ เขาใช้ ลิลิตตะเลงพ่าย ครับ

----> คุณวิมาลา
...คำประพันธ์ประภทโคลง ซึ่งบังคับรูปวรรณยุกต์ คือ เอก โท และบังคับสัมผัส มีหลักฐานว่ามีต้นกำเนิดมาจากทางภาคเหนือและอีสาน ก่อน แล้วจึงแพร่หลายมาสู่ภาคกลางของไทย วรรณกรรมที่แต่งด้วยโคลงที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุดคือ โองการแช่งน้ำโคลงห้า ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น
...สำหรับโคลงประเภทอื่นๆ สันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากภาคเหนือหรือลานนา เช่น โคลงสี่ดั้น ได้แก่ ลิลิตยวนพ่าย โคลงสุภาพ (ไม่ว่าจะเป็น โคลงสอง โคลงสาม และโคลงสี่ ) ได้แก่ ลิลิตพระลอ เป็นต้น ส่วนโคลงสองดั้น โคลงสามดั้น เริ่มปรากฎในสมัยรัตนโกสินทร์ นี่เอง
...สำหรับตัวอย่างโคลงโบราณ ทางเหนือ หรือ อีสาน ถ้าใครมี รบกวนช่วยโพสท์ให้หน่อยครับ

----> ชายต๊อง
ตั้งใจสอบก่อนแล้วกันนะ
บันทึกการเข้า
พลายงาม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 15:15

...สำหรับการบ้านและคำถาม ถ้ามีก็ให้ส่งและถามมาได้เลยครับ คืนพรุ่งนี้ จะแวะมาตรวจอีกที เพราะเย็นนี้ต้องไปธุระ จะกลับมาอีกทีก็เย็นพรุ่งนี้ครับ

ขอฝากการบ้านให้ลองแต่งโคลงสี่สุภาพมาส่งครับ แต่งอย่างไรก็ได้ ผิดพลาดอย่างไรเดี๋ยวมาช่วยกันดู จะเป็นการฝึกปรือฝีมือได้เร็วที่สุด
บันทึกการเข้า
ชายต๊อง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 17:16

มาส่งการบ้านข้อ 3
  ดาษดื่นดาวส่องฟ้า........ราตรี
ดั่งเพชรเกล็ดมณี.............เกลื่อนฟ้า
พิสุทธิ์ดุจรตี...................ของแม่เรียมเอย
เป็นหนึ่งในแหล่งหล้า.......จิตข้าถึงเรียม
...........................................
 ชายรู้สึกว่าแต่งพิกลยังไงไม่รู้ อาพลายงามช่วยแก้ไขด้วยครับ
บันทึกการเข้า
ภูมิ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 18:42

เล่นด้วยคน

         ดาษดื่นดาวส่องฟ้า   ราตรี
       ฤๅแข่งแรงรัศมี       ศศิเจ้า
       นวลนางทั่วปฐพี       มีมาก
       ฤๅที่จะมีเข้า          เทียบสู้ น้องเรา
  ดาษดาวกลางนภา       ฤาจะมาสู้จันทร์เจ้า
สาวอื่นมิขอเหมา           ขอจะเอาแต่น้องนาง


สุดท้าย กลอนพาไปเหมือนกัน  :-)

จากความเห็นที่๑๕
คุดทะราดเหยียบกรวด ที่ว่า ไม่ทราบมีความสัมพันธ์กับเพลงคุดทะราดเหยียบกรวด หรือเปล่า
บันทึกการเข้า
pink ribbon
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 21:09

ดาษดื่นดาวส่องฟ้า...............นภาลัย
วิบวับวาวจับใจ...................เจิดจ้า
จิ้งหรีดหริ่งเรไร.....................ร้องรํ่า
ครวญครํ่าใคร่ไขว่คว้า...........นุชน้อง นวลนาง

ไม่ทราบว่าแก้ไขใหม่แล้วจะแย่กว่าเดิมหรือเปล่านะคะคุณครู
บันทึกการเข้า
ศรีมนต์
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 23:07

นักเรียน อายคุณครูจังค่ะ
ไม่ได้ทำการบ้านสักที
แต่ก็ตามอ่านบทเรียนอยู่นะคะ
ขอโมเม.. ลาป่วยแล้วกันค่ะ
บันทึกการเข้า
พลายงาม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 28 เม.ย. 01, 16:10

แวะมาตรวจการบ้านต่อครับ

----> ชายต็อง

ดาษดื่นดาวส่องฟ้า.......ราตรี
ดั่งเพชรเกล็ดมณี..........เกลื่อนฟ้า
พิสุทธิ์ดุจรตี...................ของแม่ เรียมเอย
เป็นหนึ่งในแหล่งหล้า.......จิตข้าถึงเรียม

ขอว่าไปทีละบาทแล้วกัน บาท ๑ ผ่านไปก่อน
บาทที่ ๒ ดั่งเพชรเกล็ดมณี........เกลื่อนฟ้า
มองเผินๆ เหมือนบาทนี้ถูกต้อง แต่ดูที่คำบังคับโท ในบาทนี้นะ ชายใช้คำว่าฟ้า ซึ่งเหมือนกับคำบังคับโทในบาทแรก อันนี้ถ้าจะใช้ ก็ต้องเปลี่ยนคำที่ใดที่หนึ่ง เอาเป็นว่าไปเลือกแก้ที่ บาทที่ ๑ แล้วกัน เผื่อบาทต่อไปไม่ต้องแก้ เอาเป็นว่า แก้บาทที่ ๑ เป็น
บาทที่ ๑....ดาษดื่นดาวเด่นห้วง.........ราตรี
บาทที่ ๒....ดุจเพชรเกล็ดมณี..............เกลื่อนฟ้า ---> อันนี้ขอแก้ ดั่ง เป็น ดุจ เพื่อไม่ให้ รกเอก เพราะอะไรจะคุยทีหลัง
บาทที่ ๓ ของเดิม ...พิสุทธิ์ดุจรตี.......ของแม่ เรียมเอย ----> วรรคนี้แหละที่ผิดอย่างจังๆ ไม่ได้ผิดฉันทลักษณ์ แต่ผิดความหมายครับ เพราะคำว่าเรียม หมายตัวเราที่คร่ำครวญหาคนรักนะ ไม่ได้หมายถึงผู้หญิง อันนี้หักคะแนน ๒๐ คะแนน อิอิ แต่ไม่เป็นไรบอกให้แก้ก็แก้ให้ ขอแก้เป็น
บาทที่ ๓....ใสสุกดั่งรตี.......เรียมมอบ แม่เอย
ตรงนี้ขอแก้ พิสุทธิ์ เป็น ใสสุก เพราะเปรียบความรักที่พิสุทธิ์ กับ ประกายแสงดาวยังไงอยู่
บาทที่ ๔ ...เป็นหนึ่งในแหล่งหล้า.......จิตข้าถึงเรียม-----> อันนี้โดนหักอีก ๒๐ คะแนน อิอิ
อันนี้ขอแก้เป็น
บาทที่ ๔....อยากพบนวลเห็นหน้า.......เอ่ยย้ำพร่ำวจี
สรุปจะได้โคลงมาแบบนี้

@ ดาษดื่นดาวเด่นห้วง........ราตรี
ดุจเพชรเกล็ดมณี.................เกลื่อนฟ้า
ใสสุกดั่งรตี............................เรียมมอบ แม่เอย
อยากพบนวลเห็นหน้า.......เอ่ยย้ำพร่ำวจี ฯ

แล้วอย่าลืมแต่งบทใหม่มาส่งนะ บทนี้ให้ ๕๐ คะแนน ในฐานะที่ไม่ผิดฉันทลักษณ์

---- คุณภูมิ
ดีใจที่มาร่วมสนุกด้วยกันครับ แต่งเป็นกาพย์ห่อโคลงมา ผมขอแยกเป็น โคลงฯ กับ กาพย์ฯแล้วกันครับ
....โคลงที่แต่งมาใช้การเปรียบเทียบ ได้ดีมาก อันนี้อยากให้ทุกท่านได้ศึกษาไว้ แต่ บาทที่ ๔ ก็โดนโคลงพาไป จนเกือบกู่ไม่กลับ อันนี้เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเจอแน่นอน คือบังคับสัมผัสคำโท ระหว่างบาทที่ ๒ และ ๔ อยากให้คิดคำมารับสัมผัส ก่อนลงมือแต่ง อันนี้ไหนๆก็มาแล้ว ผมขอลองแก้ดู  ผมแก้ได้เป็นแบบนี้

@ ดาษดื่นดาวส่องฟ้า........ราตรี
ฤๅจักเทียบรัศมี..................ศศิแพร้ว ---> แก้บาทนี้ให้ข้อความกลมกลืน
หญิงงามทั่วปฐพี...............มีมาก----> แก้นวลนาง เป็น หญิงงาม จะให้ความหมายสมบูรณ์กว่า
ฤๅจักเทียบนางแก้ว.........แห่งห้วงใจเรียม ----> ผมยังปิดบาทสุดท้ายไม่ดีนัก อันนี้ใช้คำต้นวรรคเหมือนบาทที่ ๒ เพื่อการเปรียบเทียบที่เด่นชัดขึ้น

ส่วน กาพย์ยานี ที่แต่งมา กลายเป็นกาพย์พาไปเหมือนกัน ดูที่วรรคที่ ๒ คำ จันทร์เจ้า สามารถเปลี่ยนคำได้อีกเยอะครับ เช่น จันทร อันนี้ผมอยากให้ลองแต่งมาใหม่ครับ ผมคิดว่าฝีมือระดับคุณภูมิแต่งได้ครับ

----> คุณ pink ribbon
ดีขึ้นเยอะครับ แล้วลองแต่งบทใหม่มาส่งนะครับ แต่งบาทแรกมาอย่างไรก็ได้

----> คุณศรีมนต์
หายป่วยแล้วแต่งมานะครับ
บันทึกการเข้า
พลายงาม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 28 เม.ย. 01, 18:19

...คุณภูมิถามมาเรื่อง คุดทะราดเหยียบกรวด มีความสัมพันธ์กับเพลงคุดทะราดเหยียบกรวดหรือเปล่า อันนี้ผมก็ไม่ทราบครับ ยอมรับว่าไม่รู้จักเพลงคุดทะราดเหยียบกรวดจริงๆ แต่ถ้าเพลงนี้มีทำนองกระโดดไปมา น่าจะใช่ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 28 เม.ย. 01, 18:36

หาโคลงโบราณของทางเหนือ ไม่พบค่ะ

พบแต่โคลงโบราณ (เฉยๆ)

http://thaiarc.tu.ac.th/host/thaiarc/poetry/khloong/bowlarn/index.html#kbvichu' target='_blank'>http://thaiarc.tu.ac.th/host/thaiarc/poetry/khloong/bowlarn/index.html#kbvichu
บันทึกการเข้า
ชายต๊อง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 29 เม.ย. 01, 15:49

ขอบคุณครับท่านอาจารย์   ที่ชี้แนะ ชายจะไปฝึกฝนครับ
บันทึกการเข้า
พลายงาม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 29 เม.ย. 01, 19:28

...ยังไม่มีใครส่งการบ้านเพิ่มเลยเหรอเนี่ย
...มิเป็นไร มาว่าเรื่องทฤษฎีกันต่อ ว่าด้วยเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยในการแต่งโคลง ก็แล้วกัน

...อย่างแรก สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงในการแต่งร้อยกรองทั่วไป คือ การใช้คำที่มีความหมายเดียวกันซ้ำซ้อนในวรรคเดียวกัน โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร
...ตัวอย่างเช่น " ราตรีดาวดาราพร่างสว่างฟ้า "  จะเห็นว่าทั้ง ดาว และ ดารา ก็คือดาวเหมือนกัน ตัดคำใดคำหนึ่งออก ก็ไม่ได้ทำให้ความหมายขอวกลอนวรรคนี้เปลี่ยนไป
...อีกตัวอย่าง " น้ำตาใหลชลเนตรหลั่งพี่นั่งตรม " ตัวอย่างนี้ ก็เหมือนกัน ทั้ง น้ำตาใหล กับ ชลเนตรหลั่ง ก็คือ น้ำตาใหลออกมาเหมือนกัน ตัดประโยคใดปะโยคหนึ่งออกก็มีความหมายเหมือนเดิม
...แต่ลักษณะการซ้ำคำในร้อยกรองมีนะครับ และเป็นเทคนิคการแต่งชนิดหนึ่งซะด้วย ส่วนใหญ่จะพบใน โวหารเปรียบเทียบ หรอ อุปมาโวหาร  
...ขอยกตัวอย่างกลอนจาก  "  รามเกียรติ์ "  ที่เปรียบเทียบได้กินใจบทหนึ่ง

@ พิศพักตร์ผ่องพักตร์ดั่งจันทร........พิศขนงก่งงอนดั่งคันศิลป์
พิศเนตรดั่งเนตรมฤคิน........พิศทนต์ดั่งนิลอันเรียบราย

...จากตัวอย่างกลอนบทนี้ จะใช้คำ พักตร์ ซ้ำในวรรคที่ ๑ และ เนตร ซ้ำ ในวรรคที่ ๓ แต่ลองตัดคำใดคำหนึ่งออกไปซิ กลอนจะเพี้ยนจนกู่ไม่กลับเลยครับ
...กระทู้เรื่องโคลงฯ แต่ทำไมมาคุยเรื่องกลอนหนอ ว่าถึงเรื่องโคลงก็เหมือนกันครับ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้คำที่มีความหมายซ้ำซ้อน ในแต่ละบาทเหมือนกัน
...ตัวอย่างเช่น " ขื่นขมตรมโศกเศร้า.....ระทมใจ "
...จะเห็นว่า ขื่นขม ตรม โศกเศร้า  ระทม ต่างมีความหมายไปในทางเดียวกัน บาทนี้แม้จะตัดบาทแรกออกทั้งวรรค ก็ยังคงความหมายที่เหมือนเดิม
...ถ้ใครสังเกต จาก การบ้านที่ผมผูกโคลงฯ บาทแรกไว้ จะมีบาทหนึ่งที่ผมผูกไว้ว่า
" ดาษดื่นดาวส่องฟ้า.......นภาลัย " คำว่า ฟ้า กับ นภาลัย มีความหมายถึง ท้องฟ้าเหมือนกัน ดังนั้นสมควรเปลียนที่คำว่า นภาลัยครับ (อุตส่าห์แต่งล่อให้มีนักเรียนถาม แต่ไม่มีใครถามเลย ไม่อยากบอกว่าพลาดเอง อิอิ)
...อันนี้ขอแก้ใหม่ ตามการบ้านที่คุณ pink ribbon ส่งมาแล้วกัน

@ ดาษดื่นดาวส่องฟ้า.......สุกใส
วิบวับวาวจับใจ................เจิดจ้า
จิ้งหรีดหริ่งเรไร...................ร้องร่ำ
ครวญคร่ำใคร่ไขว่คว้า.......นุชน้องนวลนาง

...อย่างที่สอง ให้ลองสังเกตโคลงฯบทนี้นะครับ

@ แรกเกิดจนมอดม้วย..........ดับไป
จากเด็กวัยสดใส.....................ก่อนนี้
จากวัยรุ่นสู่วัย........................ผู้ใหญ่
ต้องพบสุดหลีกลี้....................ทุกผู้คนไป

...ถ้ามองเผินๆ จะเห็นว่าโคลงบทนี้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ และความหมายก็ดี แต่ โคลงแบบนี้เขาเรียก  รกไอ ครับ คือมีคำผสมสระไอเยอะไหน่อย ลองนับคำที่ผสมสระไอดู มีคำว่า ไป วัย ใส วัย วัย ใหญ่ ไป ตั้ง ๗ คำ แล้วมาซ้ำกับบังคับสัมผัสสระด้วย ถึงไม่ซ้ำบังคับสัมผัสสระ ก็ควรหลีกเลี่ยงครับ นอกจากกลบทบางแบบ ถ้ามีคำ รูปวรรณยุกต์โทมาก เรียก รกโท เอกมาก ก็เรียก รกเอก ดังนั้นในการแต่งโคลงฯถ้าไม่ใช่ตำแหน่งบังคับ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงคำรูปโท รูปเอก นอกจากจะหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆครับ

...หวังว่าคงพอเป็นแนวทางบ้างนะครับ
บันทึกการเข้า
อุ้ยครับ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 29 เม.ย. 01, 21:32

อิอิอิ...ตามมากวนปู่อีกแล้วครับผม

อุ้ยส่งการบ้านมั่งครับ (ขี้โกงนะครับ เอาของเก่ามาส่งครับ)

.....กล...กามตามเร่งเร้า.......เร่งเรา
บท........สื่อข้อความเขลา.....คิดเคล้า
สาย.......ใดยุ่ยบางเบา.........สายเก่า
ไหม.......มุ่นมวยมัดเกล้า......ศกเข้าสวยสม

[โคลงกลบทสายไหมครับ บังคับซ้ำเสียงสระในคำที่ ๕ และ ๗ ทุกบาท
(ทุกสตางค์ด้วยหรือเปล่าอุ้ยไม่ทราบครับ)]

แล้วนี่อุ้ยจะโดนตีมั้ยเนี่ย..แบบว่ามาป่วนอ่ะครับ
บันทึกการเข้า
ชายต๊อง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 30 เม.ย. 01, 11:20

มาส่งการบ้านฮะอาพรายงาม
รักเร่เร่รักล้น..................ให้หลง
รักร่วงร้างปลดปลง.......ขื่นเศร้า
รักแรกบ่มั่นคง...............ดั่งจิตคิดนา
รักจบจึ่งอ่อนล้า............เมื่อร้างจางรัก
บันทึกการเข้า
ชายต๊อง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 30 เม.ย. 01, 11:25

พิมพ์ผิดครับ  อาพลายงาม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง