เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 246318 โคลงสี่สุภาพ
พลายงาม
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 11 พ.ค. 01, 05:17

...อันเนื่องมาจากกระทู้ RW 520 เรื่อง กลโคลง ทีคุณเทาชมพูได้นำกลโคลงแบบต่างๆมาให้ศึกษา

...ผมจึงขอเปิดกระทู้นี้ขึ้นมา เพื่อแนะนำถึงการแต่งโคลงสี่สุภาพ ซึ่งถือว่าเป็นโคลงที่แพร่หลายที่สุด เพื่ออยากให้ทุกคนได้ทราบถึงหลักในการแต่ง ทั้ง ฉันทลักษณ์ รสความ และ รสคำ โดยในหัวข้อแรก ผมขอเน้น ฉันทลักษณ์ก่อนครับ

ฉันทลักษณ์ โคลงสี่สุภาพ

o o o เอก โท.......o ก (o o)
o เอก o o ก........เอก ข(โท)
o o เอก o ก........o เอก (o o)
o เอก o o ข(โท).......เอก โท o o

กฎ :
๑. โคลงสี่สุภาพหนึ่งบท หนึ่งบทมี ๔ บาท บาทละ ๒ วรรค บาทที่ ๑-๓ บังคับคำบาทละ ๗ คำ ส่วนบาทที่ ๔ บังคับคำ ๙ คำ (ตรงนี้ผมขอเน้นเป็นคำ ไม่ใช่ พยางค์ นะครับ เพราะอะไรจะคุยทีหลัง)
๒. บังคับคำวรรณยุกต์เอก ๗ คำ และคำวรรณยุกต์โท ๔ คำ ตามผัง คือ (เฉพาะบังคับเอกสามารถใช้คำตายแทนได้)
๒.๑ บาทที่ ๑ บังคับเอกที่คำที่ ๔ และโทที่คำที ๕ (เฉพาะบาทนี้ สามารถสลับตำแหน่ง เอก โท ได้ ครับ)
๒.๒ บาทที่ ๒ บังคับเอกที่คำที่ ๒ และ ๖ บังคับโทที่คำที่ ๗
๒.๓ บาทที่ ๓ บังคับเอกที่คำที่ ๓ และ ๗
๒.๔ บาทที่ ๔ บังคับเอกที่คำที่ ๒ และ ๖ และบังคับโท ที่คำที่ ๕ และ ๗
๓. บังคับสัมผัสสระ
 ๓.๑ คำสุดท้าย ของบาทที่ ๑ สัมผัสกับคำที่ ๕ ของบาทที่ ๒ และ ๓ และคำสัมผัสนี้ ไม่นิยมใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์
 ๓.๒ คำสุดท้ายของบาทที่ ๒ สัมผัสกับคำที่ ๕ ของบาทที่ ๔
๔. สามารถเติมคำสร้อยได้ ในบาทที่ ๑ และ ๓ (บางตำราว่าบาทที่ ๔ ก็เติมได้ แต่ไม่นิยมครับ) เฉพาะกรณีเนื้อความไม่ครบหรือสื่อความหมายไม่สมบูรณ์ แต่ขอให้เป็นคำเดียวแล้วหาคำสร้อยมาเติมเอา เช่น พ่อนา แม่เอย รักฤๅ เป็นต้น
๕. คำสุดท้ายของบท ให้จบด้วยคำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์ และขอให้เป็นเสียงจัตวา หรือ สามัญ ถ้าจบเป็นคำเสียงจัตวาได้จะดีมาก เพราะการอ่านโคงต้องอาศัยลูกเอื้อน ครับ

...ว่าเรื่องทฤษฎี ไปเยอะแล้ว ตอนนี้ลองมาดูตัวอย่างนะครับ
ขอยกตัวอย่างโคลงต้นแบบ ถือถือว่าเป็นโคลงครู มา ๒ ตัวอย่าง ถ้าจำบทไดบทหนึ่งได้ จะได้ฉันทลักษณ์โคลงฯ โดยอัตโนมัติ ครับ

โคลงบทแรก จากนิราศนรินทร์

o จากมามาลิ่วล้ำ.....ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง.......พี่พร้อง
เรือแขวงช่วยพานาง...เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง.......คล่าวน้ำตาคลอ

อีกบท จากลิลิตพระลอ
 
o เสียงลือเสียงเล่าอ้าง.....อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร..........ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล..........ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า..............อย่าได้ถามเผือ

หมายเหตุ ถ้าโคลงที่หยิบยกมาผิดพลาด ต้องขออภัยด้วยครับ เพราะตอนนี้นั่งพิมพ์จากความทรงจำล้วนๆ

ตัวอย่างโคลงฯ ที่สลับตำแหน่งเอก โท ในบาทแรก บทนี้ผมคิดว่าเป็นสุดยอดโคลงบทหนึ่ง

o อุรารานร้าวแยก.......ยลสยบ
เอนพระองค์ลงทบ........ท่าวดิ้น
เหนือคอคชซอนซบ......สังเวช
วายชีวาตม์สุดสิ้น........สู้ฟ้าเสวยสวรรค์

ขอจบทฤษฎี ฉันทลักษณ์ ไว้แค่นี้ เดี๋ยวเรามาลองแต่งกันครับ
บันทึกการเข้า
พลายงาม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 เม.ย. 01, 11:32

ปัญหาของคนที่จะเริ่มแต่งโคลงใหม่ๆ คือ ไม่รู้จะเริ่มจากตรงใหน จะสื่อความหมายอย่างไร หรือบางคนก็คิดว่ายาก ผมขอตอบรวมๆครับว่าถ้าแม่นฉันทลักษณ์ จะไม่ยากเลย จะผูกเนื้อความอย่างไรก็ได้ แต่งได้หมดครับ ตอนนี้ผมจะหยิบยกกลอน ท่านสุนทรภู่ ที่คิดว่าทุกท่านรู้จักดีมาลองแต่งนะครับ

กลอนเดิม (ถ้าจำผิดพลาดบางส่วนขออภัยครับ)
...อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนไม่แคลนคลาย
เจ็บจนตายก็ไม่เหน็บเท่าเจ็บใจ

ตอนนี้จะขอเริ่มผูกโคลงทีละบาท

๑. จากกลอนวรรคแรก " อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก "
เพื่อให้ความหมายใกล้เคียงกันผมจะลองเปลี่ยนเป็นดคลงอย่างนี้ ครับ

อ้อยตาลหลังผ่านลิ้น......สิ้นหวาน แม่นา

ตอนแรกอยากผูกเป็น อ้อยตาลยามผ่านลิ้น....สิ้นหวาน แต่ดูความหมายแล้วไม่กลมกลืน เลยแก้เป็น ยาม เป็น หลัง และเติมสร้อยให้ความหมายสมบูรณ์ขึ้น ครับ

๒. จากกลอนวรรคที่ ๒ "แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย "
วรรคนี้ ผมอยากผูกโคลงเป็น "แต่ลมปากยังกังวาน.....ไม่สิ้น" แต่วรรคแรกมี ๖ คำ และผิดตำแหน่งเอก และ คำว่า สิ้น จะยากในการหาสัมผัส ในบาทที่ ๔ เลยขอแก้เป็น

ลมปากยังกังวาน.....กู่ก้อง

ถึงจะไม่ได้ความหมายเท่าที่ควร แต่ง่ายในการแต่งบาทต่อๆไป เยอะ

๓. กลอนวรรคที่ ๓ "แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนไม่แคลนคลาย"

อันนี้ยก ๓ คำแรกของวรรคมาผูดโคลงได้เลย ผมก็ผูกได้เป็น

แม้นเจ็บอื่นพบพาน.....สามารถ ข่มเอย

อันนี้ก็ต้องเติมสร้อยอีก เพื่อให้ความหมายสมบูรณ์

๔. กลอนวรรคสุดท้าย "เจ็บจนตายก็ไม่เหน็บเท่าเจ็บใจ "

บาทนี้จะยากนิดหนึ่ง เพราะต้องสรุปให้ลงตัว ความหมายกลอน บอกว่า เจ็บใจแม้ตายก็ไม่จางหาย ผมเลยผูกโคลงได้ดังนี้

แต่เจ็บใจสุดป้อง......ห่อนร้างจางหาย

สรุป ถ้าทุกคนเห็นด้วยกับผม จะได้โคลงออกมาแบบนี้ครับ

o อ้อยตาลหลังผ่านลิ้น.....สิ้นหวาน แม่นา
ลมปากยังกังวาน.............กู่ก้อง
แม้นเจ็บอื่นพบพาน..........สามารถ ข่มเอย
แต่เจ็บใจสุดป้อง..............ห่อนร้างจางหาย

ตอนนี้อยากให้ทุกคนลองแต่งดู จะแต่งอย่างไรก็ได้ หรือจะเอากลอนเก่าๆมาแปลง ก็ไม่ว่ากันครับ เพราะเราแปลงเพื่อการฝึกปรือ ไม่ได้ลบลู่ แล้วมาช่วยกันดู ใครจะแก้ไขหรือแนะนำโคลงที่ผมแปลงก็ได้ครับ ถือว่ามาเรียนรู้ด้วยกัน
บันทึกการเข้า
สวิริญช์
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 เม.ย. 01, 12:33

ขอบคุณคุณพลายงามมากค่ะที่ตั้งกระทู้นี้เพิ่งตอบที่กระทู้เก่าว่ายังไม่เข้าใจเรื่องฉันทลักษณ์ของโคลงอยู่พอดี เดี๋ยวพิมพ์ออกไปอ่าน สงสัยอะไรจะโพสต์เข้ามาถามนะคะ
บันทึกการเข้า
ศรีมนต์
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 เม.ย. 01, 17:59

ตามมาเข้าห้องเรียน ด้วยคนนะคะ
จะได้กลับเล่นกล กะโคลงต่อค่ะ
บันทึกการเข้า
พลายงาม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 เม.ย. 01, 21:13

ผมให้การบ้านไว้ลองฝึกดีกว่าครับ

๑. ลองเรียงประโยคใหม่และจัดเป็นรูปโคลงฯดูนะครับ
บาทที่ ๑  กายเอยเคยเหนื่อยล้าเพียงใด
บาทที่ ๒ หยัดยืนฝืนใจกายต่อสู้
บาทที่ ๓ ลำบากแม้แค่ไหนไม่บ่นเลยเฮย
บาทที่ ๔ ขอเรียนเพียรแค่รู้เพื่อสร้างความฝัน

๒. ลองหาคำมาเติมให้ครบครับ

o แสงทองสาดสู่(?).........ชลธี
ก่อเกิดการสะท้อน(?).......จากน้ำ
แพรวพราว(?)มณี..........สาด (?) ประกายนา
งาม(?)ช่างงาม(?).........(?)(?)พรรณนา ฯ

๓. ลองแต่งต่อให้จบครับ โดยผมกำหนดบาทแรกให้ ดังนี้ เลือกเอาแบบใดแบบหนึ่ง หรือ ๒ แบบก็ไม่ว่ากันครับ

บาทที่ ๑ ดาษดื่นดาวส่องฟ้า........นภาลัย
หรือ ดาษดื่นดาวส่องฟ้า........ราตรี
บันทึกการเข้า
pink ribbon
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 เม.ย. 01, 22:48

กายเอยเคยเหนื่อยล้า.............เพียงใด
ยืนหยัดฝืนกายใจ.....................ต่อสู้
แม้ลําบากแค่ไหน.....................ไม่บ่น  เลยเฮย
ขอแค่เพียงเรียนรู้......................เพื่อสร้าง  ความฝัน
บันทึกการเข้า
pink ribbon
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 เม.ย. 01, 22:55

แสงทองสาดสู่ท้อง...............ชลธี
ก่อเกิดการสะท้อนสี............จากนํ้า
แพรวพราวดุจมณี...............สาดส่อง  ประกายนา
งามยิ่งช่างงามลํ้า...............สุดพรํ่า  พรรณาฯ
บันทึกการเข้า
pink ribbon
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 เม.ย. 01, 22:58

รู้สึกว่า วรรคสุดท้ายจะผิดค่ะ ขอแก้เป็น

งามยิ่งช่างงามลํ้า..............สุดเอื้อน...พรรณาฯ
บันทึกการเข้า
pink ribbon
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 เม.ย. 01, 23:01

แสงทองสาดสู่ท้อง...............ชลธี
ก่อเกิดการสะท้อนสี............จากนํ้า
แพรวพราวดุจมณี...............สาดส่อง ประกายนา
งามยิ่งช่างงามลํ้า..............สุดเอื้อน  พรรณนา ฯ
บันทึกการเข้า
pink ribbon
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 เม.ย. 01, 23:17

ดาษดื่นดาวส่องฟ้า...............นภาลัย
วิบวับวาวจับใจ...................เจิดจ้า
จิ้งหรีดหริ่งเรไร.....................ร้องรํ่า
ครวญครํ่าใคร่ไขว่คว้า...........นุชน้อง  มาครอง
บันทึกการเข้า
pink ribbon
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 เม.ย. 01, 23:21

เข้ามาแย่ง การบ้านน้องหน่อย สวิริญช์ กับคุณศรีมนต์ ทําเสียแล้ว  ไม่ทราบว่าจะทําผิดและถูกครูพลายตีเอาหรือเปล่านะคะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 03:02

ขออภัย เรื่องที่จะถามนี้ไม่เกี่ยวกับการแต่งโคลงสี่เท่าไหร่ แต่กังขาว่า สุภาพ ในที่นี้แปลว่าอะไรเป็นพิเศษครับ เห็นมีทั้งโคลง (สี่) สุภาพ และกลอนสุภาพ ร่ายสุภาพอีก

ผมรู้ว่าโคลงสุภาพนั้น ความหมายคือคือไม่ใช่โคลงดั้น แต่กลอนสุภาพนี่ไม่รู้ แต่ที่ผมกังขาก็คือ ทำไมใช้คำว่า "สุภาพ" ในความหมายนี้ เราๆ มักจะนึกว่า สุภาพ แปลว่า polite (ซึ่งไม่ใช่ในกรณี โคลงสี่ "สุภาพ" ) ขอรบกวนท่านผู้รู้ด้วยเถิด...

โดดลงมาแล้วขอเล่นด้วย (ตามประสาคนอยากเป็นกวีแต่ไม่มีฝีมือ) ดังนี้ -

หนึ่งสองสามสี่ห้า....... หกเจ็ด
แปดต่อเก้าสิบสิบเอ็ด ......อ่านได้
สิบสองสิบสามเสร็จ...... สิบสี่ ต่อนา
...ร้อยแปดพันเก้าใช้ ........ จดด้วยเลขสยาม เถิดเอยฯ
... แต่คนเขียนเองก็ชอบใช้เลขอารบิกเหมือนกัน มันชินมือน่ะครับ  

เขียนเป็นโคลงที่ไม่ใช่กลโคลงได้ดังนี้
๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ........ ๖ ๗
๘ ต่อ ๙ ๑๐ ๑๑.... อ่านได้
๑๒ ๑๓ เสร็จ ....... ๑๔ ต่อนา
- - ๑๐๘ /๑๐๐๙ ใช้....จดด้วยเลขสยาม เถิดเอยฯ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 03:15

เฮ้ พ่อพลาย (พ่อไม่ลงไปแทงหอกดวลกับสากเสียที เลยต้องขึ้นมาตาม)
ตะเลงพ่าย ที่พ่อยกมาเป็นโคลงครูนั้น (อุรารานร้าวแยก ยลสยบฯ) ผมคิดว่าพ่อพลายพิมพ์ผิดในบาทสุดท้ายนะครับ
ถ้าถือตามบังคับเอกจ็ดโทสี่ คำที่ 2 ของบาทที่สี่ต้องเป็น "วาย- ชิ- วาตม์สุดสิ้น...."  ไม่ใช่หรือครับ ไม่ใช่ "วาย -ชี- วาตม์ ...."  ถ้าจำไม่ผิด สระอิ ไม่ใช่สระอี
ตะเลงพ่าย (หรือ เตลง พ่าย? จำไม่ได้ครับ) มีโคลงบทที่ผมชอบมากๆ หลายบท รวมบทนี้ด้วย สุดยอดจริงอย่างคุณว่า จำอีกบทได้ไหมครับ
...พระพี่พระผู้ผ่าน.... ภพอุต-ตมเฮย
ไป่ชอบเชษฐยืนหยุด..... ร่มไม้
เชิญราชร่วมคชยุทธ ..... เผยอเกียรติ (...?)
สืบแต่สองเราไซร้ ....... แต่นี้ฤามีฯ
และ
...พระราญรอนอริด้วย .....เดโช
สี่ทาสสนองบาทโท.... ท่านท้าว
พระยศยิ่งภิยโย ......... (ฮืม??)
สองรอดโดยเสด็จด้าว.... ศึกสู้เสียสองฯ
บันทึกการเข้า
วิมาลา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 06:18

ท่านปู่ขา หนูว่ามันไม่สุภาพอีตรงใช้สากเนี่ยะค่ะ

ขออำภัยพ่อพลายคนดี  วิมาลาแต่งไม่เป็นทั้งโคลงทั้งกลอน  อยากมายุ เอ๊ย เชียร์ให้พ่อพลายไปรบกะท่านปู่นะคะ

เห็นจะต้องศึกษาผังโคลงอีกหลายปีกว่าจะแต่งได้น่ะค่ะ  ช่วยยกตัวอย่างโคลงดั้นโบราณๆหน่อยได้มั้ยคะ  อย่างโคลงดั้นอีสานหรือล้านนาน่ะค่ะ  เพราะไม่ค่อยได้เห็นมาก  อยากจะทราบวิวัฒนาการของโคลงน่ะค่ะ  ว่าจากโคลงโบราณพวกนี้  ค่อยๆผันแปรมาเป็นฉันทลักษณ์โคลงปัจจุบันอย่างไรน่ะค่ะ
บันทึกการเข้า
ชายต๊อง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 27 เม.ย. 01, 07:07

ขอเข้ามาเรียนอีกคนครับ หลังจากที่เคยเรียนตั้งแต่ม. ต้น ก็ลืมเกือบหมด   ช่วงนี้ต้องขอตัวไปสอบซัมเมอร์อีกวิชาที่ค้างก่อนนะครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 17 คำสั่ง