
ครั้นเมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าแล้ว ภริยาหลวงคนแรกของพระยาสำราญองค์จะสิ้นชีวิตหรืออย่างไรไม่ทราบแน่
แต่พระยาสำราญองค์ได้เจ้าจอมมารดาครั้งกรุงเก่าเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง (เป็นเจ้าจอมมารดามีพระองค์เจ้า)
ภริยาใหม่นี้มีบุตรคือ พระยาศรีสุริยพาหะ เป็นจางวางม้าในรัชกาลที่ ๒ และเป็นครูม้าของเจ้านาย
เล่ากันว่า เมื่อพระยาศรีสุริยพาหะตายนั้น เจ้านายทรงขาวโดยมาก
พระยาศรีสุริยพาหะ มีภริยาหลวง ๒ คน ซึ่งคงจะไม่ได้อยู่พร้อมกัน
ภริยาหลวงคนหนึ่งมีบุตรชื่อ บัว ภายหลังเป็นพระยามณเฑียรบาล ว่าการกรมวังของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระยามรเฑียรบาล(บัว) เป็นข้าหลวงเดิม ซึ่งแก่กว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง ๑๒ ปี
เคยเชิญเสด็จพระบาทพระจอมเกล้าฯ เมื่อยังทรงพระเยาว์ และเป็นพระพี่เลี้ยงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ด้วย
ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าทรงพระจำเริญแล้ว พระพี่เลี้ยงบัวได้เป็นจางวาง แต่ก็ต้องเป็นยิ่งกว่าจางวาง
คือเป็นนายวังนายคลังเสร็จในตน
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ไม่ทรงระแวงเลยว่า เงินอาจไม่พอทรงใช้ จึงมีเวลาขาดแคลนลงบ่อยๆ
ในรัชกาลที่ ๓ ฐานะของพระองค์ก็ไม่มีเหมือนในรัชกาลที่ ๒ และที่ ๔ ถึงจะมีส่วยสาอากรขึ้นอย่างเจ้านายอื่นๆ
แต่คงจะไม่ถึงข้นแค้น เพราะมีทรัพย์สมบัติในส่วนพระราชชนนี และส่วนพระองค์ที่มีอยู่แล้ว
และได้มาโดยตำแหน่งที่มีราชการเป็นผู้ใหญ่อยู่ในแผ่นดินก็จริง ถึงกระนั้นก็ยังมีเงินขาดวัง
จางวางบัว ต้องออกเที่ยวขนขวายเก็บอากรล่วงน่า หรือหยิบยืมในที่ต่างๆ ในนามของจางวางบัวเอง
เอาเงินมาทดรองใช้ในราชการของเจ้า ถ้าต้องกู้หนี้ เมื่อได้เงินจากที่อื่นมา ก็จัดการไปใช้เสร็จ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ไม่ต้องทรงทราบ แลไม่ไฝ่พระหทัยที่จะไถ่ถามเลย....
