เมื่อก่อนที่อายุจะครบ ๖๐ ได้นึกว่าจะเขียนหนังสือขึ้นสักเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับวงศ์ตระกูลของตนเอง เพื่อเอาไว้ให้ลูกหลานอ่านจะได้ทราบว่าใครเป็นใครในวงศ์ตระกูลของตน ธรรมดาผู้ใหญ่ที่เล่าถึงเรื่องคนในวงศ์ตระกูลให้ลูกหลานฟังนั้นมักจะหยิบยกเอาส่วนที่ดี ที่น่าสรรเสริญของวงศ์ตระกูลมาเล่า เพื่อให้ความดีนั้นเป็นเยี่ยงอย่างให้ถือปฏิบัติต่อไปในชีวิต การเขียนหนังสือเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้องและมีประโยชน์และหนังสือแบบนั้น เห็นจะเรียกได้ว่าเป็นหนังสือเรื่องอภินิหารบรรพบุรุษ
แต่ถึงแม้ว่าความดีจะเป็นกำลังใจและเป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่ได้ทราบความผิดพลาดความทุกข์ยาก ความผิดหวังและความลำบากยากใจของบรรพบุรุษที่ได้ทำมาแล้วและมีมาแล้วในอดีต ก็น่าจะเป็นบทเรียนของอนุชนในยุคต่อไป และมีประโยชน์ในอันที่จะสดับตรับฟังเช่นเดียวกัน
ธรรมเนียมของโลกนั้นมักจะปกปิดความผิดพลาดหรือความตกต่ำของบรรพบุรุษมิให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบ ทำให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้จักบรรพบุรุษของตนแต่เพียงครึ่งเดียว และการรู้จักคนครึ่งเดียวนั้นหมายความว่ารู้จักไม่ทั่วไม่จริง เมื่อเป็นบรรพบุรุษของตนก็ยิ่งไม่ควรจะรู้จักเช่นนั้น เพราะฉะนั้นในการเขียนหนังสือเรื่องนี้จึงได้ตั้งใจเอาไว้ว่าจะเขียนจะเขียนถึงปู่ย่าตายาย ตลอดจนพี่ป้าน้าอาและพ่อแม่ในทางทั้งได้ทั้งเสีย ทั้งบวกและทั้งลบตามที่บิดามารดาและญาติผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟัง
ตามธรรมเนียมฝรั่งนั้น หากมีคนในตระกูลที่มีประวัติที่ไม่งดงามนักก็มักจะปกปิดไม่บอกให้ใครรู้เช่นเดียวกัน และคนในตระกูลที่ปกปิดไว้นี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า Skeleton in the Cupboard แปลว่า โครงกระดูกในตู้ ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นการเล่าถึงเรื่องที่มีทั้งดีทั้งเสีย มิได้พรรณนาแต่ความไม่ดีหรือทางเสียแต่อย่างเดียว แต่ก็เห็นว่ามี “โครงกระดูกในตู้” หลายโครงที่น่าจะนำออกมานอกตู้ให้ลูกหลานได้รู้จักไว้ จึงขอเรียกชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “โครงกระดูกในตู้”
อนึ่ง การเขียนหนังสือเรื่องนี้ได้เขียนเป็นทำนองให้ลูกหลานฟังจึงจะใช้สำนวนโวหารอย่างนั้น ไม่ถือว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ และเรื่องที่จะเล่านั้นก็ได้ยินมาจากปากผู้ใหญ่ทั้งสิ้น การบอกกาลเวลาโดยให้วันเดือนปีของเหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงจะไม่ทำ และทำไม่ได้ เพราะผู้เขียนเรื่องนี้มีความจำเลวเป็นพิเศษในเรื่องวันที่และเดือนปี จึงจะไม่กล่าวถึงกาลเวลาอันแน่นอนในหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะบังเอิญจำได้
ผู้เขียนเป็นบุตรพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ และหม่อมแดง ปราโมช เพราะฉะนั้นเรื่องราวของบรรพบุรุษที่จะเขียนถึงก็จะต้องเป็นบรรพบุรุษของท่านสองท่านที่กล่าวถึงนี้ ก่อนที่จะได้กล่าวถึงบรรพบุรุษก็ควรจะเรียงลำดับบรรพบุรุษให้ดูเสียก่อนอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Family Tree หรือที่ไทยดูเหมือนจะเรียกว่า สาแหรก แล้วจึงจะได้เล่าถึงเรื่องท่านเหล่านั้นต่อไป อนึ่งศัพท์ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ตลอดจน ลุง ป้า น้า อา และพ่อแม่จะได้ใช้ต่อไปนี้ขอให้พึงเข้าใจว่า ศัพท์นั้น ๆ ใช้กับผู้ที่มีศักดิ์นับกับผู้เขียนเรื่องนี้อย่างนั้น ๆ ทั้งสิ้น ลูกหลานที่อ่านหนังสือเล่มนี้ จะต้องนับเอาเองว่า ท่านเหล่านั้นเป็นอะไรกับตน เช่น ปู่ของผู้เขียนก็จะต้องเป็นทวดของลูกผู้เขียน เป็นต้น
จาก คำนำหนังสือ "โครงกระดูกในตู้" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
