เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
  พิมพ์  
อ่าน: 69899 เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 12 เม.ย. 12, 22:16

คุณเพ็ญชมพูคงต้องไปจุดธูปเรียนถามท่านเอาเอง  ยิงฟันยิ้ม

มีนักเรียน 2 คนแล้ว    จะได้เลกเชอร์ต่อละค่ะ

นโยบายอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น น่าจะเรียกว่า "การศึกษานำหน้าการเมือง"  คือรัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นความสำคัญในการให้ประชาชนมีการศึกษา  ไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้อย่างงูๆปลาๆ  แต่ว่ามีความรู้ถึงขั้นอุดมศึกษากันเลยทีเดียว    หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่พ.ศ. 2414  ออกจะล้ำหน้าสยาม    คือให้เด็กญี่ปุ่นทุกคนต้องเรียนภาคบังคับในระดับประถมศึกษา 6 ปี   ใครเรียนจบแล้วจะเลิกเรียนก็ได้   แต่ถ้าอยากเรียนต่อก็เรียนมัธยมอีก 5 ปี   จบแล้วยังไม่อยากหยุดแค่นั้นก็แยกไปเรียนเตรียมอุดมหรืออาชีวะอีก 5 ปี   ขั้นสุดท้ายคือระดับอุดมศึกษาอีก 3 หรือ 4 ปี  เรียนวิชาชั้นสูงเช่นกฎหมาย  แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์  อักษรศาสตร์  ครุศาสตร์ฯลฯ  เรียกว่าเรียนกันหัวโตกว่าจะจบเป็นบัณฑิต 

ด้วยแผนการศึกษาที่เข้มข้นเป็นระบบระเบียบตามนี้     ประชาชนญี่ปุ่นในสมัยที่ตรงกับรัชกาลที่ 5 และต่อมายังรัชกาลที่ 6 ของไทย ก็ร่ำเรียนวิชากันได้แตกฉาน     ไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้  แต่มีความรู้ทางศาสตร์ต่างๆตลอดจนเทคโนโลยี่ทันสมัยเท่าที่ประเทศตะวันออกจะพึงทันสมัยได้    กลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่บรรจุเข้ารับราชการได้ก้าวหน้าทันพัฒนาประเทศ   ตลอดจนกระจายตัวเป็นช่างและนักวิชาชีพต่างๆกันทั่วประเทศ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 12 เม.ย. 12, 22:31

สิ่งที่น่าสนใจในหลักสูตรการศึกษาของญี่ปุ่นสมัยนั้น  ก็คือจุดมุ่งหมายของหลักสูตร     
ขอออกนอกเรื่องหน่อยว่า ในการวางหลักสูตร เขาถือกันว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะกำหนดทิศทางของหลักสูตร      ใครจะร่างหลักสูตรอะไรขึ้นมาก็ตาม  ตามทฤษฎีแล้วจะต้องมาตั้งคำถามกันก่อนอื่นว่า  จะเอาแนวไหน  สอนเด็กกันไปทำไม หรือสอนพวกเขาเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายใดกัน    บรรดานักวิชาการต้องตอบโจทย์ออกมาให้ชัด จึงจะร่างกันถูก     ไม่ใช่จุดมุ่งหมายกว้างครอบจักรวาลทำนองว่า   เพื่อให้เรียนรู้วิชาต่างๆได้กว้างขวาง  มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ  เพื่อไปทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ      เพราะถ้ากว้างขนาดนี้แล้ว จะจับหลักไม่ค่อยติดว่าจะเลือกอะไรมาสอน และสอนยังไงถึงจะได้ผล     จุดมุ่งหมายที่ดีจะต้องกระชับรัดกุมกว่านั้น

หลักสูตรการศึกษาของญี่ปุ่นในสมัยนั้นตอบโจทย์ได้ชัดเจนว่า สอนไปเพื่อปลูกฝังประชาชนให้ว่านอนสอนง่าย และเชื่อในนโยบายของรัฐ   เพื่อจะได้รวมพลังประชาชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  ในการสนับสนุนรัฐบาลว่ารัฐบาลวางทิศทางการเมืองแบบไหน ประชาชนก็พร้อมจะเดินไปตามทิศนั้น      ไม่ได้สอนให้ประชาชนแต่ละคนคิดอะไรแบบปัจเจกบุคคล  แบบใครจะเชื่ออย่างไหนก็แล้วแต่ใจ  เพราะถ้าสอนแบบนั้นประชาชนก็จะแตกกันแบบสิบล้านคนก็สิบล้านความคิด    หาทางเดินร่วมกันไม่เจอ
การสอนแบบนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เรียกว่า Political Indoctrination   ท่านบอกว่าญี่ปุ่นนำหน้ามาก่อนนาซีและคอมมิวนิสต์เสียอีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 12 เม.ย. 12, 22:53

รัฐบาลญี่ปุ่นผู้วางนโยบายการศึกษาของชาติ เป็นรัฐบาลที่มีอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างแรงกล้า  และมีจิตใจเข้มแข็งอย่างทหารที่ถือว่าชัยชนะเป็นเกียรติยศ   เพราะพวกนี้มีพื้นฐานจากซามูไรหรือนักรบญี่ปุ่นมาก่อนจะเป็นใหญ่เป็นโตในการเมือง      จึงปลูกฝังหลักสูตรลงไปให้เยาวชนภูมิใจว่าชาติของตนเป็นชาติแข็งแกร่งที่สุด   เก่งฉกาจกว่าชาติใดๆในโลก   มีพระเจ้าจักรพรรดิผู้สืบเชื้อสายมาจากเทพคือพระอาทิตย์   เกียรติยศของลูกผู้ชายญี่ปุ่นอยู่ที่เป็นนักรบ   ถ้าตายก็ขอตายในสนามรบ และอุทิศชีวิตเป็นราชพลี

การปลูกฝังความเชื่อเช่นนี้ ได้ผลในหมู่ประชาชน    โดยเฉพาะพวกลูกชาวไร่ชาวนาซึ่งแต่เดิมก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองมีเกียรติมีดีอะไรนักหนา นอกจากทำงานหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินไปวันๆ    แต่เมื่อถูกปลูกฝังว่าตัวเองมีเกียรติยศได้สูงเท่ากับคนชั้นสูงในสังคมหมือนกัน หากว่ากล้าหาญ เสียสละ เพื่อประเทศชาติ     ความฮึกเหิมในใจคนเหล่านี้ก็เกิดขึ้นได้ง่าย   จากนั้นก็เกิดความเชื่อมั่นในอุดมการณ์นี้จนทำได้แม้แต่สละชีวิต

ในอดีตของไทยเราก็มีการปลูกฝังเรื่องชาตินิยมเหมือนกัน     แต่ถ้าถามว่าได้ผลเท่าญี่ปุ่นไหมก็เห็นจะต้องตอบว่าไม่ได้  ไม่ใช่เพราะประชาชนไม่เอาจริง    ประชาชนไทยนั้นเอาจริง แต่รัฐบาลต่างหากไม่เอาจริงกับอุดมการณ์ที่วางไว้  หากแต่ตัดสินใจใหม่ว่าจะยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์เพื่อการอยู่รอด     อ่านตอนต้นกระทู้นี้ก็คงจะนึกคำตอบออกนะคะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 12 เม.ย. 12, 23:11

มาสมัครเป็นนักเรียนหลังห้องอีกคนนึงด้วยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 12 เม.ย. 12, 23:22

^
เสียใจค่ะ   เก้าอี้นักเรียนเต็มแล้ว
ที่ว่างอยู่คือเก้าอี้อาจารย์ตัวจริงที่โดดสอนไปไหนก็ไม่รู้ มาพักใหญ่แล้ว    ดิฉันมาเล่าประวัติกองทัพญี่ปุ่นขัดตาทัพไว้เท่านั้นเอง  ไม่ให้นักเรียนหนีไปเตะบอลกันหมด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 13 เม.ย. 12, 08:59

เอื๊อกกก

เก้าอี้มีเป็นร้อย มีนักเรียนนั่งกันอยู่สองคนท่านว่าเต็มแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 13 เม.ย. 12, 10:28

ยกเก้าอี้พิเศษมาให้ท่าน NAVARAT นั่งค่ะ    
จะเล่าเรื่องญี่ปุ่นอีกไม่นาน     สักพักก็กลับเข้าญี่ปุ่นบุกไทยเหมือนเดิม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 13 เม.ย. 12, 10:45

รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดทิศทางภาครัฐ คือสร้างหลักสูตรการศึกษาปลูกฝังประชาชนให้รักชาติยิ่งชีพได้สำเร็จแล้ว    พร้อมกันนั้นก็ไม่ลืมที่จะกำหนดทิศทางภาคเอกชนให้สอดคล้องไปกับแนวทางของประเทศด้วย    คือไม่ปล่อยให้เอกชนเติบโตอย่างอิสระ  ซึ่งอาจจะต่างคนต่างโตแบบไร้ทิศทาง สะเปะสะปะตีกันเอง แบบใครดีใครได้      ถ้าเป็นยังงั้นการพัฒนาก็จะเฉไฉ ไม่เป็นไปในทางเดียวกัน     
รัฐจึงใช้วิธีเข้าควบคุมอุตสาหกรรมและการค้าขายเสียเอง     ทำ ๒ แบบ คือ
๑  ตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาเอง เช่นพวกสาธารณูปโภครัฐเข้าดำเนินการเองหมด  เหมือนประเทศไทยเคยมีการไฟฟ้า การประปา การไปรษณีย์  เป็นรัฐวิสาหกิจ       
๒  รัฐสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน   ที่ดูแล้วว่าสอดคล้องกับพัฒนาประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นทำงานแน่วแน่จริงจัง  ภายใน 20 ปีก็เริ่มเห็นผล    นอกจากนี้มีองค์ประกอบอย่างอื่นมาส่งเสริม คือเมื่อการศึกษาดีขึ้น  การแพทย์สาธารณสุขก็ทันสมัยขึ้น  ส่งผลให้ประชาชนไม่เจ็บไม่ป่วยล้มตายง่ายๆเหมือนสมัยที่ยังล้าหลัง   อัตราทารกรอดตายก็สูงขึ้นมาก  ทำให้จำนวนประชากรทวีขึ้นรวดเร็ว   ในพ.ศ. 2410 คือต้นรัชกาลที่ 5 ของเรา  ญี่ปุ่นมีพลเมือง 30 ล้าน  ผ่านมา 70 ปีถึงพ.ศ. 2480  จำนวนพลเมืองเพิ่มเป็น 70 ล้าน   ทิ้งประเทศไทยไปมากกว่าเท่าตัว 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 13 เม.ย. 12, 13:47

   เมื่อญี่ปุ่นพัฒนาประเทศอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ใช้เวลาไม่นานเพียงแค่ชั่วอายุคนๆเดียว   ถ้าหากว่ามีชายญี่ปุ่นคนหนึ่งทันเห็นญี่ปุ่นพลิกโฉมหน้าสมัยตนยังหนุ่ม  เวลาล่วงมา ยังไม่ทันแก่ตาย เขาก็เห็นผลความเจริญก้าวหน้าได้แล้ว      ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยี่จากการส่งคนไปเรียนวิทยาการกลับมาพัฒนาความรู้สาขาต่างๆได้ผลดี    มีกำลังคนในประเทศมากพอจะผลิตสินค้าอุตสาหกรรมส่งไปขายต่างประเทศได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าสินค้ายุโรปและอเมริกา    เพราะค่าแรงงานถูกกว่ามาก
   มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า ญี่ปุ่นมุ่งจะสร้างความเป็นมหาอำนาจให้ตัวเองมากกว่าจะสร้างความร่ำรวยให้ประชาชนพลเมือง    ทำให้ดิฉันนึกถึงนโยบายคล้ายคลึงกันนี้ในประเทศจีนและโซเวียตรัสเซียในยุคสังคมนิยม     สองประเทศนี้เป็นแม่แบบของมหาอำนาจฝ่ายตรงข้ามกับอเมริกา    แผ่ขยายอุดมการณ์สังคมนิยมเข้าไปในหลายประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเชีย  แสดงว่ามีกำลังเงินและกำลังคนอยู่มาก   แต่พลเมืองสองชาตินี้ก็ครองชีพกันอย่างจำกัด  ไม่ได้ร่ำรวยขึ้นมาตามขนาดอำนาจของประเทศ   ญี่ปุ่นในตอนนั้นก็แบบเดียวกัน คือภาครัฐมีอำนาจกุมการตัดสินใจไว้สูงสุด     การตัดสินใจของญี่ปุ่นก็คือแสวงหาอำนาจ  มากกว่าจะแสวงหาเงินทองให้ประชาชนร่ำรวยอู้ฟู่กันในประเทศ
   ในเมื่อจะเป็นมหาอำนาจทั้งที  ญี่ปุ่นก็มองออกว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ของตนคือมีเป็นเกาะ มีเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่มากที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้  ย่อมไม่เอื้อให้เป็นใหญ่ได้เท่ากับมีดินแดนอื่นๆเพิ่มเข้ามาในอำนาจของตน  เพื่อจะหาทรัพยาการมาใช้ได้สะดวก    จะว่าไปนโยบายนี้ก็ไม่ต่างจากนโยบายเจ้าอาณานิคมของฝรั่งเศส อังกฤษ และวิลันดา เท่าใดนัก     เพียงแต่ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้คำนี้  แต่ไปใช้คำว่า ช่วยปลดแอกเพื่อนบ้านด้วยกันให้พ้นจากเป็นเมืองขึ้นของประเทศใหญ่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 13 เม.ย. 12, 13:58

      ญี่ปุ่นเริ่มชิมลางด้วยการทะเลาะกับจีนเพื่อแย่งเกาะริวกิวมาเป็นของตัวเอง    เดิมเกาะนี้จีนว่าเป็นของจีน  แต่มีชาวญี่ปุ่นไปตั้งรกรากกันอยู่มาก    วันหนึ่งชาวเกาะไต้หวันซึ่งยังเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาโจมตีฆ่าชาวญี่ปุ่นบนเกาะริวกิวตายไปมาก    ญี่ปุ่นก็รอจนได้จังหวะ ก็เอาคืนกับไต้หวัน   คราวนี้ญี่ปุ่นชนะ  จีนยอมชดใช้ค่าเสียหายให้  ญี่ปุ่นก็ถือว่าเกาะริวกิวเป็นของตนนับแต่นั้นมา
     ต่อจากเกาะริวกิว  ญี่ปุ่นก็รุกคืบไปที่เกาหลี  ใช้กำลังแบบเดียวกับอเมริกาเคยทำกับญี่ปุ่นคือไปบังคับให้เกาหลีเปิดประเทศค้าขายด้วย ตลอดจนให้สิทธิพิเศษต่างๆตามแต่ญี่ปุ่นจะเรียกร้อง      ตอนนั้นเกาหลีเป็นเมืองขึ้นของจีน ยังต้องส่งบรรณาการให้จีนอยู่   แต่จีนเพิ่งแพ้ญี่ปุ่นมาหยกๆ ก็ไม่กล้าว่ากล่าวอะไร   ปล่อยตามใจญี่ปุ่นมา ๒๐ ปี ญี่ปุ่นก็ได้ที  ยึดเกาหลีไว้ด้วยคำพูดว่า "ปลดแอก" เกาหลีจากจีน    จากนั้นก็ยกทัพเข้าโจมตีแมนจูเรียใต้ของจีน   แล้วชนะจีนไปตามระเบียบ   ได้เงินทองที่เรียกว่าค่าปฏิกรรมสงครามจากจีน แถมได้ดินแดนอีกหลายส่วนมาไว้ในอำนาจ รวมทั้งเกาะไต้หวันด้วย
     สรุปว่าญี่ปุ่นก็ก้าวหน้าไปไกลกว่าใครในเอเชีย  ทำท่าจะมาเป็นเจ้าอาณานิคมรายใหม่แทนฝรั่งเจ้าเก่าเสียแล้ว
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 13 เม.ย. 12, 16:20

      ญี่ปุ่นเริ่มชิมลางด้วยการทะเลาะกับจีนเพื่อแย่งเกาะริวกิวมาเป็นของตัวเอง    เดิมเกาะนี้จีนว่าเป็นของจีน  แต่มีชาวญี่ปุ่นไปตั้งรกรากกันอยู่มาก    วันหนึ่งชาวเกาะไต้หวันซึ่งยังเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาโจมตีฆ่าชาวญี่ปุ่นบนเกาะริวกิวตายไปมาก    ญี่ปุ่นก็รอจนได้จังหวะ ก็เอาคืนกับไต้หวัน   คราวนี้ญี่ปุ่นชนะ  จีนยอมชดใช้ค่าเสียหายให้  ญี่ปุ่นก็ถือว่าเกาะริวกิวเป็นของตนนับแต่นั้นมา

ความสัมพันธ์ของริวกิวกับจีน คงคล้ายกับไทยและจีน คือ มีความสัมพันธ์แบบบรรณาการ มิใช่ยึดครอง

ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรเล็กๆ แห่งนี้มีทั้งความรุ่งเรืองและขมขื่น เนื่องจากริวกิว ถูกขนาบไปด้วยรัฐที่ใหญ่กว่างอย่างจีนและ ญี่ปุ่น ริวกิวต้องพึ่งอำนาจของจีนเพื่อความอยู่รอดในด้านเศรษฐกิจและการเมือง จึงเป็นประเทศแรกๆ ที่ส่งบรรณาการไปแสดงความจงรักภักดีต่อจีน ความสัมพันธ์แบบรรณาการระหว่างริวกิวกับจีนดำเนินไปเป็นเวลาเกือบ ๕๐๐ ปี อย่างไรก็ตาม ริวกิวก็ไม่รอดพ้นจากการเข้ามายึดครองของญี่ปุ่น ริวกิวถูกไดเมียวแคว้นซัตซึมะเข้ามายึดอำนาจในปี ค.ศ.๑๖๐๙ แต่ซัตซึมะก็ยังคงตำแหน่งกษัตริย์ริวกิวได้ และอนุญาตให้ติดต่อกับจีนได้ต่อไปในฐานะ “อาณาจักรริวกิว” เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า

แต่พอมาในปี ค.ศ. ๑๘๗๒ รัฐบาลเมจิของญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะปกครองริวกิวโดยตรง จึงลดฐานะจากอาณาจักรเป็นแคว้น  และส่งคนจากส่วนกลางมาปกครองต่อมาใน ปี ค.ศ. ๑๘๗๙ มีการยกเลิกระบบแคว้น   กษัตริย์ของริวกิวถูกถอดจากตำแหน่ง ริวกิวเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดโอกินาวา ถือเป็นการสิ้นสุดความเป็นอาณาจักรริว กิวโดยสิ้นเชิง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โอกินาวา เป็นสนามรบของทหารฝ่ายพันธมิตรนำโดยอเมริกันกับทหารญี่ปุ่น หลังจากการปกครองของอเมริกาเป็นเวลา ๒๐ ปี ค.ศ. ๑๙๗๒ บาดแผลของสงครามยังอยู่ในความทรงจำของคนโอกินาวาจนถึงทุกวันนี้

ตามที่คุณหนุ่มว่า

ญี่ปุ่นยึดครองริวกิวมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๖๐๙ แล้ว ก่อนสมัยเมจิเกือบสามร้อยปี

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 13 เม.ย. 12, 21:36

  การที่ญี่ปุ่นผงาดขึ้นมาทำท่าจะเป็นพี่เบิ้มแห่งเอเชีย ทำให้มหาอำนาจตะวันตกที่ครอบครองอาณานิคมในเอเชียอยู่จับตามองอย่างไม่ไว้ใจนัก   ส่วนหนึ่งฝรั่งก็เกรงใจญี่ปุ่นว่าก้าวขึ้นมาเจริญไล่เลี่ยกับตน   ก็เลยยินยอมลดหย่อนให้ประโยชน์บางอย่าง เช่นยอมเลิกศาลกงศุล  ลดหย่อนสัญญาผูกมัดภาษีศุลกากร  ซึ่งไทยเรากว่าจะแก้ไขได้ก็ล่วงถึงรัชกาลที่ ๖
   พร้อมกับเกรงใจ ฝรั่งก็เริ่มไม่ยอมให้ญี่ปุ่นหยิบชิ้นปลามันไปง่ายๆ   จึงรวมหัวกันบีบบังคับให้ญี่ปุ่นคายอ้อยจีนที่เข้าปากไปแล้วคืนกลับให้จีน คือแหลมเลียวตุง     เล่นบทพี่เอื้อยคุ้มครองจีนไม่ทันไร  แค่สองสามปีต่อมา  ฝรั่งก็แบ่งเค้กกันเอาเมืองต่างๆของจีนไปเป็นของตัวอีกหลายเมือง
   ผลที่ญี่ปุ่นสู้ฝรั่งไม่ได้ในครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นเจ็บแค้นมาก      เป้าหมายต่อไปของญี่ปุ่นจึงเบนจากชาติเอเชียด้วยกันไปเล็งฝรั่งแทน   ชาติแรกที่ญี่ปุ่นหมายตาจะเด็ดหัวก็คือรัสเซียซึ่งมางาบแหลมเลียวตุงไปกินแทน  แต่จะผลีผลามสู้ก็คงแพ้ฝรั่งที่ย่อมจะรวมหัวกันตีโต้กลับมา     ญี่ปุ่นจึงดำเนินนโยบายชาญฉลาด โดดเดี่ยวรัสเซียเสียก่อน   ด้วยการทำสัญญาไมตรีกับอังกฤษ ให้อังกฤษพ้นทางไปก่อน  จากนั้นญี่ปุ่นก็บุกเล่นงานกองทัพเรือรัสเซียในตะวันออก  ถล่มเสียราบเรียบ    จากนั้นก็บุกแมนจูเรียเอาแหลมเลียวตุงกลับมา  แต่กว่าจะเอาอ้อยคืนกลับมาใส่ปากได้  ญี่ปุ่นก็เสียรี้พลไปมากแทบว่าจะหมดแรง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 14 เม.ย. 12, 17:32

  อเมริกายื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ยระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย  เหมือนญี่ปุ่นไกล่เกลี่ยไทยกับฝรั่งเศส    ญี่ปุ่นกำลังหมดแรงอยู่แล้วก็ตกลงทันที   ส่วนรัสเซียนั้นหมดแรงยิ่งกว่าเพราะกองทัพเรือในเอเชียถูกถล่มราบไปแล้วจากศึกคราวนี้   จึงยอมยกแหลมเลียวตุงกลับคืนให้ญี่ปุ่น แถมด้วยภาคใต้ของเกาะสัคคาลินให้อีกด้วย
  เมื่อชนะรัสเซีย  หน้าตาของญี่ปุ่นก็ใหญ่โตขึ้นมากมายกลายเป็นพี่เบิ้มแห่งเอเชีย    ในเมื่อเป็นพี่เบิ้มแล้วญี่ปุ่นก็ขยายอำนาจไปทันทีด้วยการรวบหัวรวบหางกินกลางตลอดตัวเกาหลีเสียเฉยๆ โดยไม่มีใครมาเป็นก้างขวางคออีก ในปี พ.ศ.๒๔๕๓  ตรงกับปีสุดท้ายในรัชกาลที่ ๕ ของไทย
  สงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ปะทุขึ้นมาในยุโรป กลายเป็นล็อตเตอรี่ให้ญี่ปุ่นถูกรางวัลใหญ่ต่อมาอีกหลายงวด     ญี่ปุ่นรีบประกาศสงครามกับเยอรมันเพื่อโชว์ความเป็นพันธมิตรที่ดีของอังกฤษ   จากนั้นก็กวาดล็อตเตอรี่จากเยอรมันมาเป็นงวดแรก ด้วยการยึดอาณานิคมของเยอรมันในเอเชียมาเป็นของตัวเองอย่างสนุกมือ  ไม่ว่าเป็นเมืองชิงเตาในจีน และหมู่เกาะในปาซิฟิค เช่นหมู่เกาะมาริอานา  หมู่เกาะคาโรไลน์ และหมู่เกาะมาร์แชล   
   ส่วนล็อตเตอรี่งวดที่สองคือระหว่างฝรั่งมัววุ่นรบกันอยู่ในยุโรปจนไม่เป็นอันมีเวลาสนใจเอเชีย    ญี่ปุ่นก็ได้โอกาสบีบคอจีน เรียกร้องสิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจจากจีนหลายอย่าง   รัฐบาลจีนปฏิเสธไม่ยอมทำตามหลายข้อ แต่อีกหลายข้อ ญี่ปุ่นก็รวบรัดตัดความเอาไปกินได้เหมือนกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 15 เม.ย. 12, 14:31

สงครามโลกครั้งที่ ๑ ในยุโรปทำให้ตลาดการค้าทางตะวันออกชะงักงันไป    เพราะผู้ผลิตสินค้ามัวแต่ไปวุ่นกับรบราฆ่าฟันกันอยู่   ญี่ปุ่นซึ่งพัฒนาอุตสาหกรรมมาดีพอควรแล้ว ก็อาศัยช่องว่างตรงนี้ อัดสินค้าตัวเองเข้าไปในตลาดเอเชียแทน    ก่อให้เกิดผลดีแก่ญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง     จนกระทั่งเมื่อจบสงครามโลกครั้งที่ ๑  ด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมัน    ญี่ปุ่นก็ไต่ระดับขึ้นเป็น ๑ ใน ๕ ของมหาอำนาจของโลก ในสมัยที่ตรงกับรัชกาลที่ ๖ ของไทย

ญี่ปุ่นใช้เวลา ๕๐ ปีเท่านั้นในการถีบตัวเองจากเกาะเล็กๆ ที่ปิดตายมานาน ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแห่งหนึ่งของโลก      แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้หยุดยั้งอยู่แค่นั้น      เพราะศักยภาพของญี่ปุ่นเดินหน้าไปไกลเกินกว่าจะหยุดอยู่กับที่เฉยๆได้อีกแล้ว

ตามหลักอนิจจังของโลก   กลุ่มบุคคลที่กำหนดทิศทางของประเทศเมื่อ ๕๐ ปีก่อน  ก็เริ่มล้มหายตายจากตามอายุขัย   ตั้งแต่พระเจ้าเมจจิไปจนนายกรัฐมนตรีและบิ๊กๆทั้งหลายที่เคยกุมบังเหียนทางการทหารมาก่อน     คนรุ่นใหม่ที่เข้านั่งเก้าอี้แทน คือพวกพ่อค้านักธุรกิจที่มีอำนาจขึ้นจากการเป็นมหาอำนาจทางการค้่าของญี่ปุ่น   อำนาจในการเมืองของประเทศก็เริ่มถูกเงินซื้อเอาได้    เมื่อเงินมากำหนดทิศทางได้แล้ว  การเมืองก็เริ่มล้มลุกคลุกคลานจากอุดมการณ์เดิมมาเป็นอุดมการณ์ใหม่   คำว่าผลประโยชน์ก็ผงาดขึ้นมาเหนือกว่าคำอื่นๆ
เหมือนประเทศไหนก็ไม่รู้  นึกไม่ออกเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 15 เม.ย. 12, 15:34

ภาวะล้มลุกคลุกคลานในระบอบรัฐสภา ที่พ่อค้านายทุนเริ่มเข้ามากุมอำนาจเหนืออุดมการณ์เดิม     ถูกจับตามองด้วยความไม่เห็นด้วยจากกลุ่มกำลังสำคัญกลุ่มหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น   ได้แก่กลุ่มกองทัพที่ประกอบด้วยนายทหารหนุ่มๆซึ่งเติบโตขึ้นมาในช่วงประเทศพัฒนาไปสู่มหาอำนาจในเอเชีย     มีกลุ่มพลังสนับสนุนคือพวกชาวไร่ชาวนา ที่ถูกมองข้ามมาแต่ไหนแต่ไร      ชาวไร่ชาวนาพวกนี้มีความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มทหารก็เมื่อตัวเองถูกเกณฑ์มาเป็นพลทหารหรือทหารชั้นประทวน  ทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นจากเคยลำบากยากแค้นอยู่ตามชนบท
พวกชาวไร่ชาวนาเป็นพวกหัวเก่า ถูกปลูกฝังมาในเรื่องจงรักภักดีต่อเจ้านาย   ส่วนทหารหนุ่มกลุ่มนี้ก็ยังเชื่อฝังหัวในเรื่องชาตินิยม   และมุ่งหวังจะให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศยิ่งใหญ่มหาอำนาจ มากกว่าจะเป็นประเทศค้าขายโกยเงินเข้ากระเป๋า      ในพ.ศ. 2475 ปีเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย 2 ปี   ทหารญี่ปุ่นก็ล้มระบอบรัฐสภามาอยู่ในมือตัวเองได้สำเร็จ  ด้วยการลอบสังหารนายกรัฐมนตรี  ล้มระบอบพรรคการเมือง  ตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา อันประกอบด้วยข้าราชการประจำ  ทหาร และผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆผสมกันไป
     จากนั้นทิศทางการเดินหน้าของประเทศก็มุ่งกลับไปสู่อำนาจอย่างเต็มตัว     ยุคนั้นไม่มีใครรังเกียจคำว่าเผด็จการ เพราะในยุโรป  อิตาลีมีผู้นำใหม่คือมุสโสลินี  เผยแพร่ระบอบฟาสซิสม์ออกไป  ก็ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างแพร่หลาย  ประเทศอิตาลีก็ดูเจริญก้าวหน้าดีกว่าเก่า   ส่วนเยอรมันที่พ่ายแพ้ไปในสงครามโลกครั้งที่ 1  ได้ดาวรุ่งดวงใหม่มาชื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์  คนเยอรมันก็ชื่นชมกันมาก  ว่าจะมาทำให้ประเทศพลิกฟื้นคืนสู่ความรุ่งโรจน์ได้
ส่วนทางประเทศไทย ก็มีผู้นำใหม่ผงาดขึ้นมา หลังจากคณะราษฎร์ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองถูกมรสุมพัดพาให้พ้นกระดานการเมืองกันไปทีละคนสองคน    ผู้นำใหม่นั้นไม่ใช่ใครอื่นนอกจากหลวงพิบูลสงคราม   ซึ่งกลุ่มทหารหนุ่มในกองทัพเห็นว่าจะมาเป็นความหวังใหม่ของประเทศ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 20 คำสั่ง