เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 69913 เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 11:55

ใกล้วันดีเดย์

วันที่ 5 ธันวาคม 2484 นาวาอากาศเอกขุนรณนภากาศ (ฟื้น รณภากาศ ฤทธาคนี) เสนาธิการทหารอกาศ พร้อมด้วยเรืออากาศเอกอุสาห์ ชัยนาม นายทหารคนสนิท ได้บินไปตรวจเยี่ยมหน่วยกำลังป้องกันภาคใต้ โดยตรงไปที่กองบินน้อยที่ 5 ประจวบคีรีขันธ์เป็นหน่วยแรก ซึ่งเป็นหน่วยปกติที่ถือเป็นหน่วยป้องกันหลัก ตรวจความพร้อมรบทุกด้าน ชี้แจงข่าวสถานการณ์และให้ข้อแนะนำบางประการ วันรุ่งขึ้นก็เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยป้องกันชั่วคราวที่สนามบินทุ่งชน นครศรีธรรมราช แล้วเดินทางกลับโดยแวะที่กองบินน้อยที่ 5 อีกครั้งหนึ่งก่อนกลับกรุงเทพฯ ท่านได้กำชับผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 อีกครั้งหนึ่งว่า ญี่ปุ่นจะบุกในวันสองวันนี้อย่างแน่นอน

ในวันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม 2484 เวลา 13.00 น. ปรากฏเครื่องบินสีขาวสองเครื่องยนต์ติดเครื่องหมายประเทศญี่ปุ่น 1 เครื่อง บินผ่านสนามบินกองบินน้อยที่ 5 ในระยะต่ำมาก แล้วบินเลยขึ้นไปทางทิศเหนือ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 12:29

ขุนรณนภากาศนี้ท่านเป็นนักบู๊ตัวจริง สงครามกับฝรั่งเศสคราวที่แล้วท่านทำยุทธเวหากับนักบินฝรั่งแบบให้เขารุม๔ต่อ๑ โดยท่านรอดมาแบบไม่มีรูกระสุนทั้งคนและเครื่องแม้แต่รูเดียว จนได้ติดเหรียญกล้าหาญแบบตัวยังเป็นๆ

ต่อมาท่านใหญ่โตขึ้นเป็นถึงผบ.ทอ. คนทั่วไปรู้จักท่านในนามว่าจอมพลอากาศฟื้น รณภากาศ ฤทธาคนี  เมื่อทหารเรือกลุ่มหนึ่งจี้ตัวจอมพลป.เอาไปกักไว้ที่ใต้ท้องเรือศรีอยุธยา คราวกบฏแมนฮัตตั้น จอมพลฟื้นประกาศเข้ากับกองทัพบกแล้วตนเองขับเครื่องบินขึ้นไปทิ้งระเบิดใส่เรือศรีฯโดยไม่สนว่าท่านจอมพลป.จะเป็นจะตาย เพราะท่านประกาศล่วงหน้าแล้วให้จอมพลป.สละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย ฝีมือท่านก็ดีชะมัด หย่อนตูมเดียวเรือศรีไฟไหม้จมลงกับที่ แต่จอมพลป.รอดตาย ผู้สื่อข่าวหลังไมค์ไม่แจ้งว่าจอมพลทั้งสองท่านเคลียร์กันอย่างไร ต้องมีใครเป็นกาวใจให้หรือเปล่า

ไม่ทราบว่าตอนญี่ปุ่นเอาเครื่องบินรบมาลงจอดที่สนามม้านางเลิ้งนั้น จะมีใครจับท่านมัดมือมัดเท้าไว้หรือเปล่า ท่านยังเป็นหนุ่มเป็นแน่นเลือดกำลังร้อนฉ่าอยู่แท้ๆ ทำมั้ยจึงมิได้ออกมาแสดงความห้าวเหมือนตอนแก่คราวบินไปทิ้งระเบิดใส่เรือรบที่ดีที่สุดของชาติตอนนั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 12:48

วันดีเดย์

แล้วเช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นก็บุก...

เช้ามืดของคืนวันที่ 7/8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 02.00 น. มีเรือลำเลียงลำหนึ่งลักษณะเป็นเรือสินค้า แล่นเข้าไปจอดที่หลังเขาล้อมหมวกทางด้านเหนือแล้วถ่ายกำลังพลลงเรือระบายพล (เรือท้องแบนเปิดหัว) จากนั้นก็นำกำลังไปขึ้นบกทางอ่าวประจวบจำนวน 4 ลำ ทางอ่าวมะนาวจำนวน 3 ลำ

เวลาประมาณ 03.00 น. เรือระบายพล 4 ลำส่งกำลังพลขึ้นบกตรงหัวถนนตลาดนอกในตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ กำลังพลญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งเคลื่อนที่ไปวางกำลังเพื่อเตรียมยึดสถานีตำรวจศาลากลางจังหวัด และสถานีรถไฟ โดยแยกย้ายเข้าไปขุดหลุมเพลาะที่หน้าสุขศาลาจังหวัด ที่บริเวณศาลากลางจังหวัด ฝั่งตรงข้ามกับสถานีตำรวจ แล้วกำลังส่วนหนึ่งก็เล็ดลอดเข้ามาที่ใต้ถุนสถานีตำรวจ ซึ่งมีลักษณะโล่งสูงประมาณ 1.50 เมตรจากพื้นดิน

ตำรวจเสียสละคนแรก

กำลังที่ลักลอบเข้าไปใต้ถุนสถานีตำรวจพอถึงเวลาประมาณ 04.00 น. ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งก็เดินขึ้นไปบนสถานีตำรวจพร้อมชูกระดาษในมือแล้วพูดกับพลตำรวจที่ยืนยามตรงหน้าบันไดเป็นภาษาญี่ปุ่น พลตำรวจเข้าใจว่าเป็นทหารมลายูเพราะไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นจึงร้องห้ามไม่ให้เข้ามา แต่ไม่เป็นผล

พลตำรวจยามจึงได้ใช้ปืนพระราม 6 ที่ติดดาบปลายปืนพร้อมอยู่ แทงทหารญี่ปุ่นล้มลง!!!

ทันใดนั้นทหารญี่ปุ่นจากสุขศาลาและศาลากลางจังหวัดซึ่งเฝ้าดูเตรียมพร้อมอยู่ก็ระดมยิงเข้าไปที่สถานีตำรวจ บรรดาพลตำรวจที่นอนอยู่บนสถานีตำรวจประมาณ 20 คน ตกใจตื่นขึ้นแล้วคว้าอาวุธยิงต่อสู้นานประมาณ 20 นาที ทหารญี่ปุ่นได้ขว้างลูกระเบิดมือ 3-4 ลูกไปที่สถานีตำรวจ ทำให้เสียงปืนจากฝ่ายตำรวจสงบลง โดยตำรวจได้หลบหนีออกจากสถานีตำรวจไป ในรุ่งเช้าพบศพตำรวจที่เสียชีวิต มีบาดแผลถูกยิง แทงและฟันจำนวน 13 ศพ ส่วนการสูญเสียของญี่ปุ่น ไม่ทราบจำนวน



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 13:09

ที่หมายหลัก : กองบินน้อย

ทางด้านกองบินน้อยที่ 5 ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกทางอ่าวประจวบตรงหัวถนนตลาดนอก แล้วเคลื่อนที่ลัดเลาะไปตามชายหาดและหมู่บ้านริมทะเลลงมาทางด้านใต้เข้าสู่สนามบิน กระจายกำลังเข้าประกบและลอบสังหารพลประจำปืนตามที่ตั้งปืนกล ด้วยการฟันและแทงโดยที่พลประจำปืนกลเหล่านั้นไม่มีโอกาสต่อสู้ ทั้งยังไม่สามารถส่งเสียงร้องให้เพื่อนข้างเคียงรู้ตัวแม้แต่น้อย จากนั้นทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนที่เข้าคุมเชิงตามจุดที่เครื่องบินจอดอยู่ รวมทั้งบริเวณที่พักกำลังพลส่วนเตรียมพร้อมในสนามบินไว้โดยรอบ

เสียงปืนในเมืองที่สถานีตำรวจดังกึกก้องได้ยินไปถึงภายในกองบินน้อยที่ 5 เรืออากาศเอกขุนสงวนคุรุเกียรติ (เดหลี สงวนแก้ว) นายทหารเวรอำนวยการจึงได้สั่งให้จ่าอากาศโทเผื่อน (วิบูลย์) ทวีศรี เวรพลขับรถ พร้อมด้วยพลทหารกุศล เฉลิมวงษ์ เวรดับเพลิง ขับรถออกไปหาข่าวในตัวเมือง และได้พบกับจ่าอากาศตรีจำนง สกันตะ ซึ่งมีบ้านพักอยู่ในตัวเมือง จึงได้รับแจ้งว่าทหารญี่ปุ่นกำลังเข้ายึดสถานีตำรวจและสถานีรถไฟ มีการยิงต่อสู้กัน

จ่าอากาศโทเผื่อนจึงรีบกลับไปรายงานให้นายทหารเวรอำนวยการทราบ และรายงานให้นาวาอากาศตรีหม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย ผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 ทราบทันที

และในเวลาเดียวกันนั้น เรืออากาศตรีสมศรี สุจริตธรรม ผู้บังคับกองทหารราบก็ได้เข้าไปรายงานผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 ว่า ขณะนำทหารออกไปลากอวนจับปลาในอ่าวมะนาวก็ได้สังเกตเห็นเรือท้องแบน 3 ลำ ลอยลำเข้ามาทางปากอ่าว

ผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 จึงได้สั่งให้เป่าแตรสัญญาณเหตุสำคัญและสั่งจ่ายอาวุธปืนเล็กยาวแบบ 66 ให้กับกำลังพล แล้วให้เข้าประจำที่เพื่อปฏิบัติตามแผนการที่วางไว้ทันที...

ทางด้านกองรักษาการณ์ซึ่งมีกำลังพลประมาณ 20 คน มีจ่าอากาศเอก นิกร พวงไพโรจน์ เป็นผู้บังคับกองรักษาการณ์ ซึ่งรับผิดชอบการป้องกันที่ตั้งทางด้านอ่าวประจวบได้สั่งให้ทหารกระจายกำลังเข้าประจำที่หน้ากองรักษาการณ์ตั้งแต่ชายทะเลจดแนวถนน เตรียมพร้อมและรอรับพลประจำปืนที่อยู่ด้านนอกซึ่งอาจถอนตัวเข้ามาก่อน

ระหว่างนั้นเอง ร้อยตำรวจโทสงบ พรหมานนท์ ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นมีบาดแผลถูกยิงและฟัน เล็ดลอดออกจากสถานีตำรวจได้จึงรีบมาแจ้งข่าวให้กองบินน้อยที่ 5 ทราบว่าสถานีตำรวจถูกทหารญี่ปุ่นยึดแล้ว ขอกำลังทหารไปช่วย จ่าอากาศเอกนิกรรีบรายงานให้ผู้บังคับกองบินน้อยทราบทันที ส่วนร้อยตำรวจโทสงบ เนื่องจากทนพิษบาดแผลไม่ไหว จึงเสียชีวิตอยู่ที่หลังกองรักษาการณ์นั่นเอง...

เลือดเพิ่งเริ่มหลั่งชโลม ชีวิตเพิ่งดับสูญ...


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 13:13

วีรกรรมนักบิน

ทันทีที่ได้ยินเสียงแตรสัญญาณเหตุสำคัญ ทุกชีวิตในกองบินก็พร้อมเข้าปฏิบัติการตามแผนที่ซักซ้อมกันไว้แล้วจนช่ำชอง...

เครื่องบินที่จัดเตรียมพร้อมในสนามบินทุกเครื่องติดเครื่องยนต์กระหึ่มทำลายความเงียบสงัดเตรียมเหินขึ้นป้องกันน่านฟ้าไทยทันที เรืออากาศตรี แม้น ประสงค์ดี นำเครื่องบินขับไล่แบบ 17 ฮอว์ค 3 พร้อมลูกระเบิดขนาด 50 กิโลกรัมบินขึ้นได้ก่อนเป็นเครื่องแรก และจัดว่ามีโชคดีที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนนักบินที่กำลังพยายามนำเครื่องบินขึ้นติดตามมา

เรืออากาศตรีแม้นนำเครื่องบินตรงไปในทะเล ครั้นเมื่อตรวจการณ์เห็นเงาตะคุ่มในท้องทะเลห่างจากฝั่งไม่ได้มากนักคาดว่าเป็นเรือลำเลียงของข้าศึก จึงตรงเข้าทิ้งระเบิดหวังทำลายเรือดังกล่าว แต่ลูกระเบิดพลาดที่หมาย จากนั้นจึงนำเครื่องบินเลยไปเพื่อลงที่สนามบินต้นสำโรง นครปฐม แต่เครื่องบินเกิดขัดข้องต้องร่อนลงที่ชายหาดบริเวณอ่าวชะอำ เพชรบุรี เสียก่อน นักบินปลอดภัย

เครื่องบินลำที่ 2 มีพันจ่าอากาศเอก พรม ชูวงศ์ เป็นนักบิน ขณะกำลังจะวิ่งขึ้นก็ถูกทหารญี่ปุ่นที่หลบซ่อนตัวดักคอยอยู่ในสนามบินรุมยิงจนฐานล้อหัก เครื่องบินเสียหลัก นักบินจึงกระโดดลงจากเครื่องแต่ก็ถูกแทงด้วยดาบปลายปืน เสียชีวิตทันที

เครื่องบินลำที่ 3 มีจ่าอากาศเอก จำเนียร วารียะกุล กับเครื่องที่ 4 ซึ่งมีจ่าอากาศเอก สถิต โรหิตเสถียร เป็นนักบิน ขณะนำเครื่องบินวิ่งขึ้นก็ถูกทหารญี่ปุ่นระดมยิงจนเสียชีวิตทั้งคู่

เครื่องบินลำที่ 5 มีพันจ่าอากาศเอก กาบ ขำศิริ เป็นนักบิน ขณะที่กำลังรอให้พันจ่าอากาศโท พร เฉลิมสุข นายทหารการอาวุธถอดลูกระเบิดขนาด 50 กิโลกรัมออกเพื่อบรรจุกระสุนปืนกลให้แทนอยู่นั้นก็ถูกทหารญี่ปุ่นรุมทำร้าย พันจ่าอากาศโทพรถูกฟันมือซ้ายเกือบขาด ส่วนพันจ่าอากาศเอกกาบถูกยิงที่เท้า ไม่สามารถต่อสู้แต่หลบหนีทหารญี่ปุ่นออกมาได้

สำหรับเครื่องบินโจมตีแบบ 23 คอร์แซร์ ซึ่งมีเรืออากาศโท สวน สุขเสริม ผู้บังคับหมวดบินเป็นนักบินพร้อมด้วยพลทหาร สมพงษ์ แนวบันทัด พลปืนหลัง ขณะกำลังเตรียมวิ่งขึ้นได้ถูกทหารญี่ปุ่นยิงจนเครื่องบินชำรุดเสียหาย เรืออากาศโทสวนกับพลทหารสมพงษ์จึงกระโดดลงจากเครื่อง และถูกทหารญี่ปุ่นรุมล้อมทำร้าย เรืออากาศโทสวนถูกแทงที่สะโพกด้านหลังบาดเจ็บสาหัส ส่วนพลทหารสมพงษ์ที่เข้าช่วยก็ถูกฟันด้วยดาบซามูไรที่ต้นแขนซ้ายจนเกือบขาด ต้องพิการตลอดชีวิต

สรุปแล้ว ในจำนวนเครื่องบินทั้ง 10 เครื่องนั้น มีเพียงเครื่องเดียวเท่านั้นที่สามารถบินขึ้นปฏิบัติภารกิจโจมตีที่หมายได้ แม้จะไม่สามารถสร้างความเสียหายแก่เป้าหมายได้ก็ตาม

แต่นักบินทุกท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสง่างามสมชายชาตินักรบแล้ว



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 13:22

กองรักษาการณ์ตายเกือบหมด

เมื่อการรบทางอากาศจบสิ้นลงอย่างรวดเร็วแล้ว ที่เหลือจึงเป็นเรื่องของแนวรบภาคพื้นดินที่จะรักษากองบินไว้ให้ได้...

ทางด้านที่ตั้งปืนกลหนักที่เขาตาเหลือกซึ่งมีจ่าอากาศตรี บัญญัติ ศรีแก้ว เป็นผู้บังคับหมู่ได้ยิงต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นอยู่พักหนึ่ง ปืนกลก็เกิดติดขัดยิงต่อไปไม่ได้ และเห็นว่ากำลังถูกทหารญี่ปุ่นกระชับวงล้อมแน่นเข้ามาทุกขณะ จ่าอากาศตรีบัญญัติจึงถอดลูกเลื่อนปืนออกเพื่อให้ใช้การไม่ได้หากถูกข้าศึกยึดไป แล้วนำปืนไปซ่อนไว้ในหลืบเขา จากนั้นพร้อมด้วยทหารร่วมตายในบังคับบัญชาก็พากันถอนตัวไปหลบซ่อนอยู่ตามทางรถไฟด้านตะวันตกของสนามบิน

สำหรับทางด้านกองรักษาการณ์ซึ่งมีความสำคัญในฐานะเป็นปากทางสู่ตัวกองบินนั้น จนใกล้จะถึงเวลา 05.00 น. จ่าอากาศเอก นิกร พวงไพโรจน์ ผู้บังคับกองรักษาการณ์เห็นว่าไม่มีทหารที่ประจำอยู่ที่ตั้งปืนกลทางด้านนอกถอนตัวกลับมาเลยแม้แต่คนเดียว แต่กลับมีกลุ่มคนจำนวนมากคืบคลานเข้ามายังที่ตั้งกองรักษาการณ์ ฟังจากเสียงพูดเป็นทหารญี่ปุ่นอย่างแน่นอน จ่าอากาศเอกนิกรจึงสั่งการให้เริ่มยิงสกัดตั้งแต่เวลา 05.00 น. เป็นต้นมา แต่ฝ่ายญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมถอนตัวและยังคงปักหลักยิงต่อสู้หวังจะยึดกองรักษาการณ์ซึ่งเป็นที่หมายสำคัญให้ได้

เวลาประมาณ 06.00 น. ผู้บังคับกองบินน้อยซึ่งควบคุมอำนวยการรบเป็นส่วนรวมในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของพื้นที่สังเกตว่า เสียงปืนทางด้านกองรักษาการณ์เบาบางลง จึงสั่งให้เรืออากาศตรี ผล ทองปรีชา ผู้บังคับหมวดสัมภาระนำทหารสัมภาระไปเสริมกำลังกองรักษาการณ์

เมื่อเรืออากาศตรีผลไปถึง ก็พบข้าศึกกำลังขุดสนามเพลาะขวางทางอยู่ มีธงญี่ปุ่นปักอยู่ปากหลุม จึงสั่งให้ทหารขยายแถวยิงต่อสู้ แล้วมอบให้จ่าอากาศโท ฉาบ (พิพัฒน์) ไชยวัฒน์ ควบคุมแทน ส่วนตัวเรืออากาศตรีผลรีบกลับไปรายงานผู้บังคับกองบินน้อยทราบถึงสถานการณ์ที่ได้พบเห็น

ทางฝ่ายกำลังกองรักษาการณ์แม้จะไม่ได้รับกำลังส่วนที่ส่งมาช่วยและกำลังมีอยู่เดิมก็ลดน้อยลงตามลำดับจากการยิงของฝ่ายญี่ปุ่นก็ตาม ก็ยังคงต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นต่อไปอย่างเข้มแข็ง แต่ถึงที่สุดก็ไม่สามารถต้านทานกำลังทหารญี่ปุ่นได้ ทหารไทยที่จุดนี้จึงเสียชีวิตเกือบทั้งหมด มีผู้บาดเจ็บและหนีรอดออกมาได้เพียง 2 คน คือจ่าอากาศเอก นิกร พวงไพโรจน์ ผู้บังคับกองรักษาการณ์ และพลทหาร จิต อ่ำพันธ์ พนักงานวิทยุ ซึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ภายในสถานีวิทยุสื่อสารที่อยู่ทางด้านหลังกองรักษาการณ์นั่นเอง

เมื่อสถานการณ์คับขันมาถึงขนาดนี้แล้ว ผู้บังคับกองบินน้อยจึงได้สั่งการให้จ่าอากาศตรี ผัน รำทะแย (สุชาติ ชาญยุทธกุล) ฝ่าแนวกระสุนไปที่สถานีวิทยุซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังกองรักษาการณ์เพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยเหนือ ต่อมาจ่าอากาศตรีผันด้กลับมารายงานว่า กองรักษาการณ์และสถานีวิทยุถูกทหารญี่ปุ่นยึดไปเสียแล้ว...

จากนั้น จ่าอากาศตรีผัน ก็ล้มฟุบลงหมดสติ เพราะได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกทหารญี่ปุ่นฟัน และแทงด้วยดาบซามูไรบริเวณหลังประมาณถึง 20 แผล


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 13:25

อ่าวมะนาวเมื่อเช้านั้น

ทางด้านอ่าวมะนาว เวลาประมาณ 06.00 น. ตีนฟ้าเริ่มเปิด เรือระบายพลของทหารญี่ปุ่นก็เกยหาดตรงจุดใกล้โรงเก็บเครื่องบิน เรืออากาศตรี สมศรี สุจริตธรรม พร้อมด้วยกำลังในหมวดทหารราบประมาณ 10 คน ซึ่งวางกำลังซุ่มคอยทีอยู่แล้วก็เปิดฉากยิงทหารญี่ปุ่นที่ลงจากเรือทั้ง 3 ลำ ทำให้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้มีทหารญี่ปุ่นจำนวนไม่มากนักที่สามารถเล็ดลอดขึ้นบกได้

เวลาประมาณ 07.00 น. ทหารไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งทหารญี่ปุ่นสามารถยึดแนวโรงเก็บเครื่องบินและกองรักษาการณ์ได้แล้ว ผู้บังคับกองบินน้อยจึงสั่งการให้เผาทำลายกองบังคับการกองบินเสีย เมื่อเห็นอาคารกองบังคับการถูกเผาแล้ว เรืออากาศโทประหยัด กาญจนวิโรจน์ นายแพทย์ผู้บังคับหมวดเสนารักษ์ก็จึงสั่งให้เผาอาการที่ทำการและห้องพักคนใช้ของหมวดเสนารักษ์ด้วย

สถานการณ์ทั้งทางอากาศและทางพื้นดินอยู่ในความสิ้นหวัง...


ครอบครัวทหาร

กองบินน้อยแห่งนี้ก็คล้ายๆ กับค่ายทหารทั่วไปคือมีที่พักสำหรับครอบครัวทหารร่วมอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อค่ายถูกโจมตีลูกเมียของทหารก็จึงต้องพลอยรับเคราะห์กรรมไปด้วย...

ฝ่ายครอบครัวทหารตามเรือนแถวพัก เมื่อได้ยินเสียงแตรสัญญาณเหตุสำคัญต่างก็พากันลงหลุมหลบภัยที่หน้าเรือนแถวของตนแล้วหลบซ่อนอยู่ในนั้น

ครั้นเวลาประมาณ 07.00 น. หลังจากเผาอาคารกองบังคับการกองบินและหมวดเสนารักษ์แล้ว เรืออากาศตรี ผล ทองปรีชา ผู้บังคับหมวดสัมภาระได้สั่งให้ครอบครัวทหารเหล่านั้นพากันไปหลบอยู่ที่เชิงเขาล้อมหมวก จัดการหุงอาหารเลี้ยงดูกันและเพื่อส่งไปให้ทหารในแนวหน้า ซึ่งกำลังสู้รบติดพันอยู่ พร้อมกับช่วยกันจัดตั้งสถานีปฐมพยาบาลและที่รวบรวมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการรบขึ้นที่เรือนแถวเชิงเขาล้อมหมวกนั่นเอง


สู้ต่อไป

ปืนกลหนักที่สามารถยืนหยัดทำการยิงได้ตลอดเวลาโดยไม่ติดขัดเลย สามารถสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายญี่ปุ่นอย่างหนักคือปืนกลกระบอกที่ตั้งอยู่บริเวณสนามเทนนิส ปากทางที่มาจากกองรักษาการณ์ มีพลทหาร สิงห์โต แสนสุข และพลทหาร เกษม วงศ์กัลยา เป็นพลประจำปืน

ระหว่างนั้น ทหารญี่ปุ่นก็ได้ส่งกำลังหนุนเนื่องเข้ามาอีกเพื่อยึดพื้นที่กองบินน้อยที่ 5 ให้ได้ สถานการณ์ทวีความคับขันมากยิ่งขึ้น

ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลไทยได้ทำความตกลงกับกองทัพญี่ปุ่นตั้งแต่ตอนสายของวันที่ 8 ธันวาคม และต่อมาก็ได้มีคำสั่งให้หยุดยิงในเวลาประมาณก่อนเที่ยงวัน ทำให้ทุกจุดที่มีการต่อสู้ระหว่างทหารไทยกับญี่ปุ่นยุติลงทันที แต่สำหรับที่อ่าวมะนาวมิได้เป็นเช่นนั้น ตลอดวันของวันที่ 8 ธันวาคม กองบินน้อยที่ 5 มิได้รับคำสั่งใดๆ จากรัฐบาลหรือกองทัพอากาศเลย ซึ่งคงเป็นเพราะสถานีวิทยุถูกญี่ปุ่นยึดไปเสียแล้วนั่นเอง

ตลอดวันที่ 8 ธันวาคม ทหารญี่ปุ่นยังคงใช้ความพยายามเข้ายึดกองบินน้อยที่ 5 ให้ได้ แต่ก็ไม่สำเร็จ เย็นนั้นจึงได้แต่วางกำลังตรึงไว้ตามแนวโรงเก็บเครื่องบินจากฝั่งอ่าวมะนาวไปจนจรดแนวหลังกองรักษาการณ์ทางฝั่งอ่าวประจวบเท่านั้น

ทางด้านทหารไทยก็จัดกำลังตั้งรับรักษาพื้นที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งวางกำลังข้างบ้านรับรองริมอ่าวประจวบ ทำการยิงตรึงรักษาเส้นทางที่มาจากกองรักษาการณ์ไว้

กลุ่มที่ 2 วางกำลังตรงหน้ากองบังคับการกองบิน ทำการยิงตรึงรักษาเส้นทางที่จะมาจากโรงเก็บเครื่องบิน

ส่วนกลุ่มที่ 3 นั้นรวมกำลังกันอยู่ตรงหัวเรือนแถวนักบินกับหมวดเสนารักษ์ คอยยิงสกัดตามช่องทางที่ข้าศึกจะเข้ามาจากโรงเก็บเครื่องบินตามแนวริมอ่าวมะนาว

เย็นวันที่ 8 ธันวาคม ขณะที่ทุกพื้นที่ทั่วไปได้ยุติการสู้รบไปแล้ว แต่ที่อ่าวมะนาวทั้ง 2 ฝ่ายยังคงตรึงกำลังกันอยู่โดยไม่มีทีท่าว่าใครจะยอมใคร

คืนวันที่ 8/9 ธันวาคม ฝนตกลงมาอย่างหนัก ทหารญี่ปุ่นยังคงยึดแนวเดิมและยิงมาประปราย ส่วนฝ่ายทหารไทยนั้นเพื่อเป็นการประหยัดกระสุน ผู้บังคับกองบินน้อยจึงสั่งให้ใช้อุบายยิงกระสุนจริงสลับกระสุนซ้อมรบ

คืนนั้นผ่านไปโดยไม่มีการปฏิบัติการที่สำคัญจากทั้งสองฝ่าย




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 13:36

ทหารเรือมาแล้ว...

เช้ารุ่งขึ้น 9 ธันวาคม ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงตรึงกำลังกันอยู่ ฝ่ายญี่ปุ่นก็ไม่พยายามเข้าเป็นฝ่ายกระทำให้แตกหัก เวลาผ่านไปอย่างอึดอัด

เวลาประมาณ 08.00 น. ผู้บังคับกองบินน้อยได้สั่งให้ทหารทุกคนร้องตะโกขึ้นว่า ทหารเรือของเรามาช่วยแล้ว เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการต่อสู้และรอคอย

บรรดาทหารและครอบครัวที่หลบภัยอยู่บนเขาล้อมหมวกต่างเปล่งเสียงไชโยขึ้นพร้อมกัน ซึ่งนับว่าได้ผลไม่เฉพาะต่อฝ่ายเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อข้าศึกอีกด้วย

เพราะทางฝ่ายญี่ปุ่นเมื่อได้ยินเสียงโห่ร้องยินดีแหวกความเงียบมาเช่นนั้นก็จึงถอนตัวไปรวมกันข้างหลังห่างจากแนววางกำลังเดิมเล็กน้อย...

แล้วทั้งสองฝ่ายก็วางกำลังคุมเชิงกันต่อไป นานๆ ครั้งจึงจะยิงใส่กัน


กระสุนนัดสุดท้ายที่อ่าวมะนาว


สายวันนั้นเอง นายหยอย ทิพย์นุกูล บุรุษไปรษณีย์ก็ได้นำโทรเลขจากพันเอกหลวงเชวง ศักดิ์สงคราม (ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่แจ้งให้หยุดยิงมาส่งให้ผู้บังคับกองบินน้อย

แต่ผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 ไม่เชื่อ ด้วยเกรงว่าจะเป็นกลลวงของฝ่ายญี่ปุ่น!!!

เวลา 10.00 น. ผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 ได้จัดตั้งที่บังคับการขึ้นใหม่ที่บริเวณเชิงเขาล้อมหมวกซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้ายในสมรภูมินี้แล้ว จากนั้นก็เรียกประชุมบรรดานายทหารทั้งหมดที่เหลืออยู่เห็นว่าไม่มีทางจะต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นได้เพราะมีกำลังน้อยกว่า ทั้งอยู่ในที่จำกัด และหมดหวังในการรอคอยความช่วยเหลือจากภายนอกแล้ว

ผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 นาวาอากาศตรี หม่อมหลวง ประวาศ ชุมสาย จึงสั่งให้เผาคลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตั้งอยู่ที่เชิงเขาล้อมหมวกริมอ่าวประจวบเสียเพื่อมิให้ข้าศึกนำไปใช้ประโยชน์ได้

จากนั้นก็สั่งการสุดท้ายว่า...

ให้นายทหารทุกนายเหลือกระสุนไว้สำหรับตนเองอย่างน้อยคนละ 1 นัด!!!



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 13:56

หยุดรบ

สถานการณ์คับขันและสิ้นหวัง ทั้งตัวทหารและลูกเมียไม่มีใครเห็นทางรอดจากกระสุนและคมดาบซามูไรที่จ่อคอหอยอยู่รอเวลาเพียงออกแรงเล็กน้อยเพื่อปลดวิญญาณ...

เวลา 12.00น. เศษ นายจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการจังหวัดและอำเภอ นายตำรวจและผู้ติดตามรวม 7 คน ก็เดินทางโดยรถยนต์บรรทุก 6 ล้อของแขวงการทหารจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ติดธงสีขาวหน้ารถ วิ่งผ่านแนวการวางกำลังของทหารญี่ปุ่นเข้ามาโดยปราศจากการขัดขวาง

คณะปลัดจังหวัดมาพร้อมกับคำสั่งหยุดยิง ซึ่งเป็นโทรเลขจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ยินยอมให้กองทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยแล้วมามอบให้กับผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5

เมื่อได้หลักฐานชัดเจนเช่นนี้แล้ว ผู้บังคับกองบินน้อยที่ 5 จึงสั่งให้ทหารในบังคับบัญชายุติการสู้รบ

เวลา 14.00 น. ได้มีการเรียกรวมพลทั้งของทหารไทยและทหารญี่ปุ่นที่บริเวณสนามบินทำการปรับความเข้าใจและตกลงแบ่งเขตกันเพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกันในภายหลัง ต่างฝ่ายต่างสำรวจความเสียหายและรีบเก็บศพทหารของฝ่ายตน

กระสุนนัดสุดท้ายของนายทหารอากาศผู้กล้าแห่งอ่าวมะนาวจึงไม่มีโอกาสได้ใช้งาน



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 14:03

ผลการรบ

ผลของการสู้รบเฉพาะที่บริเวณกองบินน้อยที่ 5 ปรากฏว่า ทหารไทยเสียชีวิต 38 นาย นายตำรวจเสียชีวิต 1 นาย เด็กนักเรียนชายซึ่งออกไปช่วยลำเลียงกระสุนส่งให้ทหารถูกกระสุนปืนข้าศึกเสียชีวิต 1 คน สตรีซึ่งเป็นครอบครัวทหารเสียชีวิต 2 คน หนึ่งในจำนวนนี้มีภรรยาของเรืออากาศเอก เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร ซึ่งขณะนั้นได้แยกกำลังฝูงบินไปเข้าที่ตั้ง ณ สนามบินตันสำโรง นครปฐม รวมอยู่ด้วย เรืออากาศ เฉลิมเกียรติ ต่อมาจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ และเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางเครื่องบิน

รวมแล้วฝ่ายไทยเสียชีวิตทั้งสิ้น 42 คน และมีบาดเจ็บทั้งทหารและพลเรือนอีก 27 คน

สำหรับการสูญเสียฝ่ายญี่ปุ่นนั้น มีทหารเสียชีวิตในที่รบถึง 217 คน เป็นนายทหารสัญญาบัตร 8 คน นอกนั้นเป็นนายทหารประทวนและทหารกองประจำการ กับมีทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บในเวลาต่อมาอีกประมาณ 300 คน ในจำนวนนี้มีนายทหารญี่ปุ่นชั้นผู้บังคับกองพันเสียชีวิตที่ริมอ่าวมะนาวขณะยกพลขึ้นบกด้วย 1 คน นายทหารอื่นอย่างน้อยอีก 3 คน ทั้งนี้มีผู้ตัดเครื่องหมายยศจากศพทหารญี่ปุ่นเหล่านั้นเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 14:22

พระผู้ใหญ่องค์หนึ่งเคยเล่าให้ผมฟังนมนานมาแล้วว่า ท่านอยู่ที่ประจวบช่วงที่ญี่ปุ่นบุกพอดี เสียงปืนของทั้งสองฝ่ายดังตลอดวันตลอดคืน ทหารไทยนั้นอยู่ในชัยภูมิที่ดีกว่าคืออยู่บนเขา ยามมืดพอฟ้าแลบเห็นญี่ปุ่นเคลื่อนไหวก็ยิงลงมา เมือหยุดยิงกันแล้วนับศพทหารญี่ปุ่นจึงมากกว่าทหารไทยมาก ท่านบอกว่าส่วนใหญ่ที่ตายเป็นทหารเกณฑ์ชาวเกาหลี ไม่ใช่ญี่ปุ่นแท้ๆ

ทหารญี่ปุ่นลากศพผู้ที่ตายมากองสุมกันบนหาดทรายเป็นเพนินเทินทึกหน้ากองบินนั่นเอง แล้วเอาน้ำมันมาราดจุดไฟเผากันสดๆ กลิ่นคลุ้งไปทั่ว เผาเป็นชั่วโมงๆจนแทบไม่เหลือทรากแล้วจึงเก็บที่เหลือเป็นชิ้นเป็นอันใส่ปี๊บ นอกนั้นรอให้น้ำทะเลขึ้นมาชำระ คนแถวนั้นหลอนมาก ไม่กล้าลงทะเลไปนาน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 14:27

ท่านจขกท.ปล่อยให้ผมครอบครองกระทู้ไปแล้ว ส่วนท่านไปสนุกอยู่ ณ วังหลัง

ไม่ยอมครับ ไม่ยอมเป็นอันขาด



เอ ไม่มีใครยอมทายปัญหาชิงรางวัลใหญ่ของผมจริงๆว่านี่คืออะไรหรือครับ


บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 15:39

ปัญหาชิงรางวัลใหญ่ บ้านพร้อมที่ดิน  เงินสด +หลานสาวอาจารย์อีก 1 คน  รางวัลเยี่ยมขนาดนี้จะไม่เข้าร่วมได้อย่างๆรครับ เพียงแต่ยังหาคำตอบไม่ได้ อากู๋ไม่ช่วยเท่าไหร่เลย
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 15:44

อ้า เป็นอุปกรณ์โซน่าแบบหนึ่ง แต่ใช้สำหรับอากาศยานครับ   คล้ายๆ เรดาร์นั่นแหละ   มาขอรับรางวัลด้วยครับ
อุปกรณ์ชนิดนี้ พัฒนาขึ้นมาใช้ก่อนยุคของเรดาร์ครับ

รูปตัวอย่างแบบอื่นๆ ครับ


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 15:55

อันนี้แบบที่สอง  หลักคือใช้ตรวจจับเครื่องบินจากคลื่นเสียงครับ  ภาพเพิ่มเติมสามารถไปดูได้ที่
http://jalam1001.posterous.com/pictures-of-aircraft-detection-technology-bef#!/




บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 19 คำสั่ง