เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 69647 เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 22:19

    ทีนี้ก็มาแอบดูกันดีกว่า ว่าวันประวัติศาสตร์ที่ญี่ปุ่นบุกนั้น   เกิดอะไรขึ้นกับกองเรือลาดตระเวน
   
    วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๐๑.๐๐ น. กองเรือ ได้รับโทรเลข จากกองทัพเรือว่าญี่ปุ่นได้ทำการยกพลขึ้นบกที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ บ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และโกตาบารู แล้ว ในเวลา ๐๒.๐๐ น. กองเรือ ได้เรียกประชุมผู้บังคับการเรือทุกลำ เพื่อวางแผนการรบ และ จัดเรือ ไปลาดตระเวน  โดยจัดให้ เรือหลวงสุราษฎร์ เรือหลวงระยอง ไปลาดตระเวน นอกอ่าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านสัตหีบ เรือหลวงตราด เรือหลวงปัตตานี มุ่งตรงไป อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรือหลวงท่าจีน เรือหลวงแม่กลอง ไปสนับสนุน นอกเกาะไผ่ เรือนอกนั้น อยู่ใกล้เกาะสีชัง
     ในขณะที่ มีการประชุม ได้ยินเสียงเครื่องบิน บินผ่านเกาะสีชัง ในระยะต่ำ ซึ่งทราบภายหลังว่า เป็นเครื่องบินของไทย และ ในขณะนั้น ที่ท่าเรือเกาะสีชัง มีเรือสินค้าญี่ปุ่น อยู่ ๑ ลำ คนประจำเรือดังกล่าวได้เฝ้าดูเหตุการณ์ในเรือรบไทยตลอดเวลา
     เวลาประมาณ ๐๕.๓๐ น. เรือต่างๆ เตรียมเรือเข้ารบ และ ออกเดินทางไปยังที่นัดหมาย โดยแล่นผ่านเรือสินค้าญี่ปุ่น ในระยะใกล้ แต่มิได้ทำการตรวจค้น
     เวลา ๐๗.๐๐ น. ระหว่างที่ กองเรือแยกหมู่ออกลาดตระเวนนั้น ได้สังเกตเห็นกลุ่มควันเรือ พุ่งขึ้นจำนวนมาก ที่สันดอนปากน้ำเจ้าพระยา ซึ่งคาดว่าจะมีเรือรบญี่ปุ่นอยู่ด้วย ผู้บังคับกองเรือจึงตกลงใจที่จะไปตรวจสอบ แต่พอดีก็ได้รับข่าววิทยุว่าให้งดการรบกับญี่ปุ่น และให้ไปรวมกองที่สัตหีบ ภารกิจขั้นแรกของกองทัพเรือ จึงยุติแต่เพียงแค่นี้
   
     กองเรือญี่ปุ่นจำนวนมหาศาลผ่านสายตากองเรือลาดตระเวนไปได้   เหลือเรือสินค้าญี่ปุ่นลำเดียวพลัดเข้ามาในสายตา  กองเรือเราก็เลยไม่สนใจจะตรวจค้น    จนพอดีมีคำสั่งให้งดการรบและกลับสัตหีบ    เรื่องก็เลยจบลงสั้นๆแค่นี้ละโยม
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 22:28

ดิฉันไม่เก่งวิชาภูมิศาสตร์ ก็เลยมึนๆกับเส้นทางเรือรบของญี่ปุ่นกับเส้นทางเรือรบของไทย   ว่าสวนกันไปมาท่าไหนยังนึกไม่ออก   
ในหนังสืออ้างอิงมีแผนที่สังเขปเส้นทางเรือของกองทัพเรือญี่ปุ่น   แสดงให้เห็นว่ายกกำลังมาจากเกาะไหหลำ อ้อมแหลมอินโดจีนเข้ามาในอ่าวไทย 
เกาะกลุ่มกันมาจนพ้นปากอ่าวเกือบถึงกลางอ่าว จากนั้นก็กระจายกำลังพุ่งตรงไปขึ้นฝั่งในหัวเมืองชายทะเลต่างๆของไทย อย่างพร้อมเพรียงกัน
หัวเมืองพวกนี้มีประจวบฯ  ชุมพร สุราษฎร์ นครศรีฯ   สงขลา ปัตตานี

ส่วนของไทย ลาดตระเวนแถวไหนยังวาดภาพเส้นทางไม่ถูก   แต่เป็นไปได้ยังไงที่สวนกันไปมา แต่ไม่เจอกันเลย  อ่าวไทยก็มีอยู่แค่นั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 22:29

คราวนี้ถือว่าจงใจครอบเฉพาะที่ต้องการเอามาหลอนจริงๆ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 22:35

หลอนจริงๆด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 23:11

^
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 23:13

อ้างถึง
ขณะนั้น วิทยุสิงคโปร์ กระจายข่าวว่าเครื่องบินลาดตระเวน ของอังกฤษพบกองเรือญี่ปุ่น ประกอบด้วย เรือลำเลียง จำนวนมาก กำลังเดินทางมุ่งตรงเข้ามา ในอ่าวไทย กองเรือตรวจอ่าวได้ออกเดินทาง จากสงขลา มุ่งตรงไปยังจังหวัดนราธิวาส ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อใกล้ถึง จังหวัดนราธิวาส ก็ได้รับข่าวทางวิทยุว่า สถานการณ์บ้านเมือง อยู่ในสภาวะคับขัน อาจเกิดสงคราม ขึ้นได้ในไม่ช้า ดังนั้น กองเรือจึงไม่แวะจังหวัดนราธิวาส แต่แล่นตัดข้ามอ่าวไปยังเกาะช้าง แล้วจอดเรืออยู่ที่แหลมงอบ จังหวัดตราด ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔
   ในช่วงนั้นเรือก็พรางไฟ คอยระวังเหตุการณ์   เวลา ๒๔.๐๐ น. กองเรือตรวจอ่าว ได้ออกเดินทาง จากจังหวัดตราด ไปจังหวัดระยอง และในบ่ายวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ออกเดินทางต่อ ถึงสัตหีบ    ในตอนเย็นของวันนั้น ขณะจอดอยู่ที่สัตหีบ มีกำหนดเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ แต่กองทัพเรือได้สั่งการให้ยืดเวลาออกไป อีก ๒ วัน กองเรือตรวจอ่าว จึงได้นำเรือไปจอดรออยู่ที่เกาะสีชัง ในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

อ่านตรงนี้ก็เข้าใจแล้วละครับ ถ้ากองเรือรบไทยทราบจากวิทยุอังกฤษที่สิงคโปรตั้งแต่วันที่๒๖ พฤศจิกายนว่า กองเรือญี่ปุ่นต้องสงสัยกำลังมุ่งหน้ามาทางนี้ ไม่ว่าจะจากไหหลำหรือญวนก็ตาม แทนที่จะไปรอดักอยู่ทางพรมแดนเขมร กลับวิ่งลงใต้ไปนราธิวาส พอข่าวย้ำว่าสถานการณ์คับขันจึงวิ่งตัดอ่าวขึ้นไปตราด นั่นน่ะถูกอยู่ แต่ไหงกลับไปจอดซุ่มอยู่แหลมงอบ ซึ่งเป็นเขตน้ำตื้น เรือรบขนาดใหญ่จะเข้าไม่ได้นอกจากเรือเล็กๆอย่างของไทย ยังไงๆก็ไม่ได้ส่องกล้องเห็นกัน

แสดงว่าบทเรียนครั้งการรบที่เกาะช้างกับลามอตต์ปิเก้ ได้สอนให้ทหารเรือไทยทราบว่า เรือใหญ่จะใช้ช่องทางไหนเวลาจะเข้าตีประเทศไทย ดังนั้นจึงควรจะหลบ หรือจะไปดักสู้ที่ไหน

นี่จอดที่แหลมงอบเฉยๆ แปลว่าหลบ และแล้ววิ่งเลียบฝั่งกลับไประยองและสัตหีบ รอวันจะกลับกรุงเทพ ครั้นกองทัพสั่งให้ยืดเวลาไปอีก๒วัน ก็เอาเรือไปจอดรอที่เกาะสีชังนั่นเอง ในวันที่๖ที่๗นั้น ถ้าวิ่งลาดตระเวนสักหน่อยก็คงเจอกองเรือของญี่ปุ่นแน่ เพราะขนาดมันมหึมาพอสมควร

แต่เจอแล้ว ใครจะอยู่ใครจะไป นั่นไม่ต้องถามเช่นกัน

วันที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกไปแล้วป่วยการที่ผมจะพูดถึง ยังไงๆก็สายไปเสียแล้ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 07:49

จากหนังสือ จอมพลป. พิบูลสงคราม เล่ม๑ เขียนโดย อ.พิบูลสงคราม บุตรคนหัวปีของท่านครับ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 09:59

ถ้าเหตุการณ์ข้างบนนี้ไม่ใช่เรื่องจริง   แต่เป็นหนังของฮอลลีวู้ด   ผู้สร้างคงสร้างกระโจมไฟขึ้นสักแห่งกลางอ่าวไทย  ส่องไฟสีเขียวให้ทัพเรือญี่ปุ่นเดินทางมาถึงชายฝั่งได้อย่างปลอดภัย   ไม่ต้องเจอเข้ากับกองเรือลาดตระเวน   ยิ้มเท่ห์
ในเมื่อไทยก็รู้ตัวล่วงหน้าจนเตรียมพร้อมมาเป็นแรมเดือนแล้วว่า ต้องเจอสงครามแน่   ฝ่ายเสนาธิการของรัฐบาลและกองทัพเรือน่าจะประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าได้ว่า หากเกิดการสู้รบกันแล้วความเสียหายจะตกอยู่กับฝ่ายไหนมากกว่ากัน     และจะทำอย่างไรจึงจะเสียหายน้อยที่สุดแก่ตนเอง   แต่ของพรรค์นี้จะประกาศออกไปเป็นทางการล่วงหน้าก็ไม่ได้อยู่แล้ว
ถึงเวลาก็ต้องตัดสินใจกันเอง   ใครรู้คนนั้นก็เลี่ยง  ใครไม่รู้ก็ปะทะกันไป  
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 10:19

ตกลงคงไม่มีใครสงสัยว่าผู้ใหญ่เขาไม่รู้กันมาก่อนว่าญี่ปุ่นจะบุก แต่รัฐบาลเล่นปล่อยมุกมาให้คนไทยพลีชีพจนเลือดหยดสุดท้ายเพื่อปกป้องดินแดนไทยนี่สิ มันจะเล่นบทเนียนเพื่อเอาตัวเองรอดมากไปหน่อย


กระทู้นี้ควรเชิดชูคนไทยหัวใจรักชาติ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ยุวชนทหาร หรือข้าราชการประชาชนที่เข้าต่อต้านศัตรูที่เหนือกว่าทุกประตู และสามารถสละชีพเพื่อชาติได้กล้าหาญ

การรบระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในแนวรบต่างๆมีผู้เล่าไว้หลายสำนวน แต่ที่ผมเห็นว่าข้อมูลแน่นและสนุกจะเป็นที่ท่านพลโทบัญชร ชวาลศิลป์เขียนไว้ในบรรณพิภพ  ผมขออนุญาตทางเมล์อวกาศนี้ไปยังท่านเพื่อคัดลอกมาลงไว้ในกระทู้นี้ หวังว่าท่านจะไม่ฟ้องผมเป็นจำเลยในคดีใดๆนะขอรับ

(ที่พิมพ์ด้วยสีน้ำเงินเป็นข้อความของท่าน สีดำปกติเป็นที่ผมแจมเข้ามา)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 10:28

กระสุนนัดสุดท้ายที่อ่าวมะนาว
พลโทบัญชร ชวาลศิลป์


เช้ามืดวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นยกกำลังเข้าบุกประเทศไทยถึง 8 ทิศทางด้วยกัน กำลังทางบกเข้าทางอรัญประเทศ ส่วนทางทะเลนั้นก็ไล่ไปตั้งแต่บางปู สมุทรปราการ อ่าวมะนาว ประจวบคีรีขันธ์ หาดคอสน ชุมพร อ่าวบ้านดอน สุราษฎร์ธานี คลองท่าแพ นครศรีธรรมราช ฝั่งทะเลบริเวณแหลมสมิหลา สงขลา และปากน้ำปัตตานี

เว้นที่อรัญประเทศ และบริเวณบางปูเท่านั้น นอกจากนั้นทุกจุดได้รับการต้านทานจากทหารและประชาชนชาวไทยอย่างถวายชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเมื่อตอนสายของวันเดียวกันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ลงมติให้ทำความตกลงกับฝ่ายญี่ปุ่นโดยไทยอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนที่ผ่านดินแดนประเทศไทยได้ และจะอำนวยความสะดวกทุกอย่างเท่าที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ทั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นให้ประกันว่าจะเคารพต่อเอกราช อธิปไตย และเกียรติยศของประเทศไทย

พอถึงเวลาประมาณ 11.00 น. ก็ได้มีการลงนามระหว่างเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในข้อตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยได้

การสู้รบระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารและประชาชนไทยก็จึงยุติลง...

เว้นที่อ่าวมะนาว ประจวบคีรีขันธ์!!!

น่านฟ้าไทย มิให้ใครย่ำยี


ขณะเกิดเหตุการณ์ 8 ธันวาคม 2484 นั้น อ่าวมะนาวเป็นที่ตั้งของกองบินน้อยที่ 5 มีนาวาอากาศตรี หม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย เป็นผู้บังคับกองบินน้อยแห่งนี้ กำลังรบหลักเป็นเครื่องบินแบบ 17 (ขับไล่) และเครื่องบินแบบ 23 (ตรวจการณ์) รวม 3 ฝูงบิน กับกองทหารราบทำหน้าที่ป้องกันและรักษาสนามบินซึ่งมีกำลังพลเป็นทหารกองประจำการรวมทั้งสิ้นประมาณ 160 คน มีเรืออากาศตรีสมศรี (ศรีศักดิ์) สุจริตธรรม นายทหารนักบิน ทำหน้าที่ผู้บังคับกอง

อาณาเขตของกองบินประกอบด้วย พื้นที่บริเวณเขาล้อมหมวก-เกาะร่ม-เกาะไหหลำ-เกาะหลัก-หัวถนนสายคลองวาฬ-ถนนสายคลองวาฬ (ตัวถนนอยู่นอกเขต) -เขาตาเหลือก-เกาะนางแด่น และเขาล้อมหมวก

ความสำคัญของกองบินแห่งนี้ นอกจากใช้เป็นที่วางกำลังป้องกันประเทศแล้ว ก็ยังใช้เป็นที่ฝึกการใช้อาวุธประจำอากาศยาน ทั้งภาคพื้นและภาคอากาศของกองทัพอากาศไทยเป็นส่วนรวมอีกด้วย

ส่วนตัวสนามบินของกองบินน้อยที่ 5 แห่งนี้นั้น มีทางวิ่งเป็นดินลูกรังบดอันแน่น 2 เส้นตัดกัน โดยเส้นเหนือ-ใต้ยาวประมาณ 800 เมตร ส่วนตะวันออก-ตะวันตกยาวประมาณ 1,000 เมตร ชายสนามบินด้านตะวันตกเป็นป่าละเมาะ มีต้นไม่ใหญ่ขึ้นอยู่ประปราย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 10:40

อ้างถึง
นาวาอากาศตรี หม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย เป็นผู้บังคับกองบินน้อยแห่งนี้  กำลังรบหลักเป็นเครื่องบินแบบ 17 (ขับไล่) และเครื่องบินแบบ 23 (ตรวจการณ์) รวม 3 ฝูงบิน


ถ้าท่านผู้อ่านได้เข้าไปในกระทู้เรื่องวีรเวร-วีรกรรมของเรือหลวงธนบุรี คงจะจำชื่อนาวาอากาศตรี หม่อมหลวงประวาศ ชุมสายได้ ตอนนั้นท่านเป็นผบ.หมู่บินอิสระที่สนามบินเนินวงแหวนที่จันทบุรี เครื่องบินที่ใช้ตอนนั้นก็แบบเดียวกันนี้แหละ ก่อนสงครามโลกจะเกิด มหาอำนาจผลิตเครื่องบินรุ่นใหม่ๆมาเยอะจนเครื่องบินปีกสองชั้นตามรูปข้างล่างกลายเป็นเครื่องโบราณ  ก็โบราณจริงๆซะด้วย ยิงปืนออกไปแต่ละนัดต้องสวดมนต์สองบท บทแรกไม่ให้ลูกปืนโดนใบพัดตัวเอง ถ้าผ่านก็ไปสวดบทที่สอง ให้ลูกปืนโดนเครื่องข้าศึก หากไม่สำเร็จอีกก็ให้รีบสวดบทเจ็ดตำนานเพื่อให้คุ้มครองตนเองให้ปลอดภัยจากลูกปืนฝ่ายเค้าบ้าง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 10:58

การหาข่าวของญี่ปุ่น

วันที่ญี่ปุ่นบุกไทยเมื่อเช้ามืด 8 ธันวาคม 2484 นั้น คนไทยต้องตื่นตะลึงแบบไม่เชื่อว่าชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาทำมาหากินในไทยที่ตนรู้จักและคุ้นเคยนั้น ต่างกลายเป็นนายทหารญี่ปุ่นกันจนเกือบหมดสิ้น แล้วจึงประจักษ์ความจริงว่า คนญี่ปุ่นเหล่านี้ก็คือสายลับที่จำแลงกายมาหาข่าวเพื่อเตรียมรับการยกทัพผ่านประเทศไทยนั่นเอง

ที่อ่าวมะนาว อันเป็นที่ตั้งของหน่วยบินสำคัญของไทยก็เช่นเดียวกัน...

ก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกในเช้า 8 ธันวาคมนั้น พวกเขาก็ได้ส่งคนเข้ามาหาข่าวเกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศ ระดับน้ำทะเล ลักษณะของหาด ตลอดจนข้อมูลกำลังและขีดความสามารถของทหารและตำรวจไทยในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไว้หมดสิ้นแล้ว ด้วยความสะดวกสบายอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ก็สืบเนื่องมาจากหลังกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสที่อินโดจีนยุติลงในต้นปี 2484 โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยแล้ว กองทัพอากาศไทยก็ได้จัดส่งเครื่องบินรบที่ซื้อจากญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2483 ไปทำการฝึกการใช้อาวุธประจำเครื่องบินทั้งต่อเป้าหมายทางพื้นดินและเป็นหมายทางอากาศที่กองบินน้อยที่ 5 นี่เอง

เครื่องบินเพิ่งได้รับใหม่ๆ มาจากญี่ปุ่นก็จึงจำเป็นต้องมีครูฝึกจากญี่ปุ่นติดตามมาถ่ายทอดความรู้ให้ด้วย นายทหารครูฝึกชาวญี่ปุ่นเหล่านี้มียศเป็นพันตรี 1 นาย ร้อยเอก 1 นาย รวม 6 นายด้วยกัน โดยที่ไม่มีใครทราบว่า นอกจากทำหน้าที่ครูการบินแล้ว พวกเขาต้องทำหน้าที่สายลับหาข่าวสารทางทหารที่จำเป็นด้วย

ไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องผิดปกติเมื่อมีเวลาว่างตอนใด ทหารญี่ปุ่นก็จะชวนกันไปเดินออกกำลังกายตามริมทะเลทั้งสองฝั่งของอ่าวอย่างไม่รู้เบื่อหน่าย แถมยังลงเล่นน้ำทะเลไม่มีหยุดหย่อน เปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ แทบไม่ซ้ำกัน พอทหารไทยนำอวนลงไปลากจับปลาตามชายฝั่งเพื่อหารายได้พิเศษจุนเจือครอบครัว ทหารญี่ปุ่นก็จะแสดงความสนใจและขอลงร่วมลากอวนด้วยทุกๆ ครั้ง เป็นที่น่ารักน่าเอ็นดูของทหารไทยเป็นอย่างยิ่ง

ไม่เพียงแต่ทหารอากาศญี่ปุ่น 4 นายนี้เท่านั้น แต่ยังมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง ว่าจ้างเช่าเรือของชาวบ้านให้ออกไปเที่ยวลอยลำตกปลาในอ่าวประจวบฯ และหลังเขาล้อมหมวกอยู่เสมอๆ อีกด้วย ส่วนตามเส้นทางบ้านหนองหิน-ด่านสิงขร ซึ่งมุ่งเข้าสู่ดินแดนพม่าในการยึดครองของอังกฤษก็มักจะมีพ่อค้าแปลกหน้าไปเที่ยวซื้อไม้จันทน์หอมซึ่งมีอยู่มากในป่าแถบนั้นจากชาวพื้นเมืองอย่างหนาตาเป็นพิเศษ

ทั้งหมดนี้คือวิธีการเตรียมรบแบบคลาสสิกที่ไม่มีวันล้าสมัย-รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง!!



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 11:26

พร้อมปกป้องปฐพี

สถานการณ์โดยรวมนับแต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ 2482 เป็นต้นมานั้น เรื่องสำคัญที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามกระทำอย่างที่สุดคือการประกาศและรักษาความเป็นกลางไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของคู่สงคราม ไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเพื่อรักษาความเป็นกลางไว้ให้ได้ การปลุกกระแสชาตินิยมให้ต่อสู้กับชาติใดก็ตามที่มารุกรานไทยก็เกิดขึ้น รวมทั้งความพยายามในการใช้อานุภาพทางทหารเท่าที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ก็ตาม...

นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้น ญี่ปุ่นในตอนต้นก็ยังมิได้เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มรูปแบบในทันทีทันใด แต่ค่อยสะสมวางพื้นฐานความเข้มแข็งของตนในภูมิภาคเอเชียไปเรื่อยๆ รวมทั้งในอินโดจีนซึ่งฝรั่งเศสยังคงครอบครองอยู่ในทางนิตินัยและพฤตินัย แม้จะไม่เข้มแข็งเท่าก่อนสงครามก็ตาม

ความเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่นในอินโดจีนเมื่อปลายปี 2484 นั้น เริ่มเข้มข้น และส่อแสดงว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง อธิปไตย และความเป็นกลางของไทยชัดเจนยิ่งขึ้นตามลำดับ ดังนั้น ในเดือนพฤศจิกายน 2484 ก่อนเหตุการณ์เช้า 8 ธันวาคมไม่นานนัก กองบินน้อยที่ 5 จึงได้รับคำสั่งจากกองทัพอากาศให้จัดกำลังเป็น 'กองบินน้อยผสมภาคใต้' มีภารกิจในการปกป้องคุ้มครองดินแดนภาคกลางบางส่วนและภาคใต้ของประเทศไทยทั้งหมด โดยจัดวางเครื่องบินรบกระจัดกระจายกันไปตั้งแต่นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงนครศรีธรรมราช

เมื่อแยกกำลังออกไปเช่นนี้ เฉพาะที่กองบินน้อยที่ 5 ประจวบคีรีขันธ์ จึงมีเครื่องบินรบเหลืออยู่เพียง 10 เครื่องเท่านั้น เป็นเครื่องบินขับไล่แบบ 17 (ฮอว์ค 3) จำนวน 5 เครื่อง และเครื่องบินโจมตีแบบ 23 (คอร์แซร์) จำนวน 5 เครื่อง




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 11:36

เตรียมพร้อมเต็มอัตรา


เมื่อปรับการวางกำลังแล้ว ก่อนที่หน่วยบินต่างๆ จะโยกย้ายเข้าที่ตั้งตามแผน ผู้บังคับกองบินน้อยผสมซึ่งก็คือ นาวาอากาศตรี หม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย นั่นเอง ก็ได้เรียกประชุมข้าราชการทหารและครอบครัว ชี้แจงให้ทราบสถานการณ์ โดยกล่าวเป็นนัยๆ ว่า อาจจะต้องทำการรบกับมหามิตรคือญี่ปุ่น พร้อมกับแนะนำให้ครอบครัวทหารเตรียมจัดของใช้ที่จำเป็นและของมีค่าใส่ถุงหรือย่ามให้พร้อม เมื่อถึงเวลาคับขันจะได้หยิบฉวยติดตัวได้ทันที กับให้ขุดหลุมหลบภัยไว้ตามบ้านพักและเรือนแถวของข้าราชการ รวมทั้งกองร้อยทหารอีกด้วย

สำหรับในสนามบินนั้น ได้จัดหมวดบินผลัดกันเตรียมพร้อม โดยให้แยกจอดเครื่องบินไว้บนทางวิ่ง ติดอาวุธพร้อม และพร้อมจะวิ่งขึ้นปฏิบัติภารกิจได้ทันที ให้นักบิน พลปืนหลัง และช่างเครื่อง ช่างอาวุธ นอนเตรียมพร้อมใกล้ที่จอดเครื่องบินในสนามบินด้วย

ในส่วนของการระวังป้องกันที่ตั้งเป็นส่วนรวมนั้น ให้จัดวางปืนกลหนักแบบ 77 จำนวน 5 กระบอกไว้ที่ปลายทางวิ่งเส้นเหนือ-ใต้ ด้านอ่าวประจวบวางไว้ 2 กระบอก ด้านอ่าวมะนาว 1 กระบอก บนเขาตาเหลือก 1 กระบอก และตรงช่องทางถนนจากกองบังคับการกองบินไปยังกองรักษาการณ์อีก 1 กระบอก

สำหรับปืนกลที่มีอานุภาพรองลงมา คือปืนกลเบาแบบ 66 นั้น ก็จัดวางกระจายไว้ตามสถานที่ต่างๆ ที่สำคัญอีกหลายแห่ง

สำหรับการระวังป้องกันตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นั้น เป็นความรับผิดชอบของตำรวจภูธร ซึ่งมีกำลังประมาณ 40 นาย

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 11:45

ในภาพเป็นรูปปืนกลหนักที่โชว์พาวโดยยุวชนทหารที่สนามหลวงนี่เอง ไม่ใช่ทหารอากาศที่ประจวบตอนนั้น กองกำลังภาคพื้นดินของท.อ.ที่ใช้ป้องกันสนามบิน ปัจจุบันเรียกหน่วยอากาศโยธิน ติดอาวุธเหมือนทหารบกแต่เน้นไปทางป.ต.อ. ที่ประจวบไม่มีทหารหน่วยอื่นอีก นอกจากตำรวจอีกกระหยิบมือนึง

เห็นรูปปืนกลหนักแล้วคิดถึงคุณศิวาวุธแฮะ ไม่รู้เข้ามาแอบดูรึเปล่า หรืองอนตุ๊บป่องๆลอยไปไกลแล้วจริงๆ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 19 คำสั่ง