เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 69900 เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 19:52

ผมได้เข้าไปหาข้อมูลต่อในเวปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สงคราม พบข้อเขียนของคุณสัมพันธ์ มีบางอย่างที่ผมสมควรจะแก้ไขตามลำดับดังนี้

ผมได้เขียนไปว่ากองทัพอากาศปล่อยให้ญี่ปุ่นบินข้ามหัวมาโดยไม่ได้ทำอะไรเลยนั้น ผมได้ปรามาสบรรพบุรุษผู้กล้าหาญ ยอมสละชีวิตเพื่อหน้าที่ไป ๓ท่าน ความจริงนั้นเวลาประมาณ  ๐๙๐๐    เครื่องบินขับไล่ญี่ปุ่นรุ่นทันสมัย  จำนวน  ๑๑  เครื่อง และเครื่องบินทิ้งระเบิด  ๖  เครื่อง  เข้าโจมตีสนามบินวัฒนานคร    ทหารอากาศไทยนำเครื่องบินขับไล่แบบ ๑๐ (บข.๑๐) หรือ Hawk III  ที่โบราณแล้วขึ้นสกัดกั้น  จำนวน  ๓  เครื่อง  ปรากฏว่าถูกยิงตกแบบไร้ทางสู้  นักบินพลีชีวิตเพื่อชาติทั้งหมด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 20:10

ประการที่สอง ผมไปเขียนทำนองว่าตำรวจที่บางปูไม่ได้ทำตามหน้าที่เท่าที่ควรนั้น ในเวปดังกล่าวได้ให้ข้อมูลว่าวันที่๘  ธันวาคม  ๒๔๘๔ ทหารญี่ปุ่นจำนวน  ๑ กองพันในบังคับบัญชาของพันโท  โยชิดะ เดินทางโดยเรือสินค้าชื่อ  ซิดนีย์ มารู เข้าสู่อ่าวไทย จอดอยู่ห่างจากประภาคารสันดอนทางทิศตะวันออกประมาณ  ๘  กิโลเมตร
 
ประมาณ  ๐๓๓๐    ลำเลียงทหารลงเรือเล็กส่งขึ้นบกที่สถานตากอากาศบางปู  และจับพนักงานของสถานตากอากาศ  และอยู่กันเต็มถนนริมทะเลใกล้สะพานสุขตา ประมาณ ๐๔๓๐ พนักงานคนหนึ่งสามารถเล็ดลอดมารายงานข่าวแก่ผู้จัดการสถานตากอากาศได้  ผู้จัดการฯ พยายามจะโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ  แต่โทรศัพท์ถูกตัดสาย  จึงวานนายจำลอง  คนขับรถประจำทางสายบางปู - เจริญกรุง ให้บอกตำรวจแทน

ประมาณ  ๐๕๐๐    นายร้อยคำรวจเอก จินดา โกมลสุต รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ  รักษาการผู้บังคับกองตำรวจภูธร  อำเภอเมืองสมุทรปราการได้รับแจ้งเหตุจึงสั่งการให้ นายร้อยตำรวจตรี เขียน กุญชรานุสรณ์ และ นายร้อยตำรวจตรี  สุวิทย์  เอกศิลป์  นำกำลังตำรวจประมาณ ๒๐ นาย  ไปแก้ไขและระงับเหตุในชั้นต้นก่อน และได้เผชิญหน้ากับรถยนตร์บรรทุกทหารญี่ปุ่น๒ คัน  ที่โค้งหัวลำพูก่อนถึง สถานตากอากาศบางปู ๓ กิโลเมตร  นายร้อยตำรวจตรี  สุวิทย์จึงให้วางกำลังไว้สองข้างทาง และจอดรถขวางทางไว้
          ประมาณ  ๐๖๐๐    ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งถือธงขาวมีสัญลักษณ์รูปมือสองข้างประสานกันลงจากรถมาโบกอยู่ข้างหน้า    นายร้อยตำรวจตรี  สุวิทย์จึงเดินเข้าไปหา    พันโทยาฮาร่า  รองผู้ช่วยฑูตทหารบกญี่ปุ่นประจำกรุงเทพได้เข้ามาแสดงตัวอ้างความตกลงระดับรัฐบาลว่าให้กองทหารญี่ปุ่นเดินทางเข้ากรุงเทพแต่  นายร้อยตำรวจตรี  สุวิทย์ชี้แจงว่าไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา     ต่อมานายร้อยคำรวจเอก จินดา โกมลสุต เดินทางมาสมทบและให้ฝ่ายเราถ่วงเวลาไว้

          จนกระทั่งคณะผู้แทนรัฐบาล  ประกอบด้วยนายพันเอกหลวงยอดอาวุธ(ฟ้อน  ฤทธาคนี) หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการด้านการข่าวของกองทัพบก  นายนาวาเอก หลวงประติยัตินาวายุทธ (เฉียบ  แสงชูโต) หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการด้านการข่าวของกองทัพเรือ และ นายร้อยคำรวจเอก  ประสาธน์  สุวรรณสมบูรณ์ ผู้แทนกรมตำรวจ ได้เดินทางมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ   จากหลักฐานฝ่ายญี่ปุ่นว่า คณะของรัฐบาลไทยดังกล่าวได้ร่วมเดินทางมากับพันโท ยาฮาร่า เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายกองทัพญี่ปุ่น   
          เวลา  ๐๙๐๐    ฝ่ายตำรวจไทยเปิดทางให้ส่วนหน้าของทหารญี่ปุ่นเดินทางต่อไปตามที่ คณะผู้แทนรัฐบาลได้สั่งการและ  นายร้อยตำรวจตรีสุวิทย์  เอกศิลป์ เป็นผู้นำทางเคลื่อนย้ายจากบางปูเข้ากรุงเทพ ฯ


ฉะนั้น รูปที่ถ่ายก่อนฟ้าสางคงจะมีนายร้อยตำรวจตรีสุวิทย์  เอกศิลป์ อยู่ในภาพด้วย ท่านก็ทำหน้าที่ของท่านด้วยความกล้าหาญ เพราะกำลังตำรวจและอาวุธขนาดนั้น ถ้าญี่ปุ่นจะลุยผ่านจริงๆคงไม่เหลือ ท่านก็ถ่วงเวลาไว้จนถึงที่สุดได้เหมือนกัน

ขอคารวะครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 20:12

ขออภัยกองทัพอากาศเช่นกันค่ะ
ว่าแต่กองทัพเรือไม่มีข่าวลาดตระเวนสะกัดกั้นทัพเรือของญี่ปุ่นจริงๆหรือคะ    นึกถึงยุทธนาวีที่เกาะช้าง ทหารเรือไทยก็สู้แบบทรหดไม่น้อยหน้าทหารชาติไหน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 20:26

ไม่มีครับ ที่ผมเขียนว่ามีคำถามๆกองทัพเรือ มีจริงๆครับ เขาตั้งคำถามกันมาก่อนผม

ส่วนด้านจังหวัดพระตะบอง คุณสัมพันธ์เขียนไว้มีรายละเอียดกองทัพญี่ปุ่นมาก ท่านอยากทราบขอให้เข้าไปอ่านเอาเอง ส่วนที่เกี่ยวกับที่ผมเขียนในกระทู้นี้ว่าไม่มีการต้านทานเลยนั้น คุณสัมพันธ์เขียนว่า

เวลา  ๐๙๔๐ กองทหารญี่ปุ่นเคลื่อนย้ายด้วยรถยนตร์ ๕๐ คัน  เข้าสู่จังหวัดพระตะบอง สามารถเข้ายึดจวนข้าหลวงประจำจังหวัด และตั้งสถานีวิทยุรับ–ส่ง เวลาประมาณ ๑๒๐๐  กองทหารญี่ปุ่นได้ปะทะกับตำรวจไทยในเขตอำเภออทึกเทวเดช  ตำรวจไทยตาย ๒ ทหารญี่ปุ่นตาย ๓ บาดเจ็บฝ่ายละหลายสิบนาย

ไม่ได้กล่าวถึงทหาร

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีที่เพิ่งจะไปตรวจแนวรบก่อนหน้านั้นแบบฝุ่นยังไม่จาง ท่านไปให้นโยบายอย่างไรกับทหารหาญ ทำให้มีเฉพาะตำรวจที่สละชีพเพื่อชาติไปฝ่ายเดียว

อ่านอย่างยาวที่นี่ครับ

http://iseehistory.socita.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711075&Ntype=1



บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 20:36

เข้ามารายงานตัวครับ

น่าเสียดายว่าตอนนี้ไม่ได้อยู่เมืองไทย ไม่งั้นจะมีเอกสารอ้างอิงมาร่วมค้นคว้าและแจมกระทู้ได้มากทีเดียว
เรื่องกองทัพเรือ ผมเคยอ่านจากหนังสือที่ไหนไม่แน่ใจ อาจจะเป็นนิทานชาวไร่ของท่านนาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี หรือเปล่าจำไม่ได้นะครับ   ว่าเหมือนว่าจะรู้ๆ กันก่อนที่จะถูกบุกครับ เลยไม่ได้ขยับขยายเคลื่อนไหวอะไร
ถ้าจำไม่ผิดจะพูดถึงบทบาทแปลกๆ ของผู้ใหญ่ในกองทัพเรือหลายท่าน รู้สึกจะมีหลวงสินธุสงครามชัยด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจที่ดูเหมือนจะรู้ก่อนและวางเฉยผิดปกติครับ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 20:44

เรื่องการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอ (หรืออันที่จริงคือยื่นคำขาด)ว่าจะขอใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปตีประเทศเพื่อนบ้าน    ดิฉันเคยลงไว้แล้วในกระทู้ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช   ขอลอกมาให้อ่านกันอีกที เพื่อจะได้บรรยากาศต่อเนื่องกัน

จากรายงานการประชุม  จอมพล ป. เป็นคนตัดสินใจว่า ขอสั่งให้หยุดยิง "เพราะสู้ไปก็แหลก"  นี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมทหารบางส่วนยกพลออกมาแล้ว มีคำสั่งให้ถอยกลับฐานอย่างกะทันหัน จนงงงวยกันไปหมด
จอมพล ป. บอกที่ประชุมเองว่า ได้ติดต่อกับญี่ปุ่่นมานานแล้ว   เรื่องรบไม่รบก็เคยต่อรองกันมา   ทางญี่ปุ่่นถาม   แบ่งได้เป็น ๓ ข้อ
๑  จะเข้าร่วมเป็นฝ่ายเดียวกันไหม
๒  ถ้าไม่ร่วม  ก็คือต้องรบกัน
๓  ทำเฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้
ยังไม่ได้ตกลงทำทั้ง ๓ ข้อ ญี่ปุ่นก็บุกสายฟ้าแลบ   พร้อมกับข้อเสนอชนิดเหล็กแป๊บน้ำหุ้มกำมะหยี่ ว่าแค่ขอผ่านเฉยๆ ไม่ทำร้ายเมืองไทยอย่างที่ทำกับอินโดจีน    จอมพล ป. ท่านก็ยอมประนีประนอมด้วย
ทีนี้ มีข้อน่าสนใจอีกข้อหนึ่ง คือ ญี่ปุ่นขอมาขั้นเดียวว่า แค่ผ่านประเทศไทย  คือเอาประเทศไทยเป็นทางผ่าน( passage ) แต่คณะรัฐมนตรีพูดกันไปมา กลายเป็นว่านอกจากเป็น passage แล้ว  ไทยคำนึงว่าจะเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นด้วย เป็นขั้นที่ ๒   ข้อนี้นายปรีดี พนมยงค์ เตือนว่า ให้หยุดแค่ขั้นที่ ๑ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 20:46

คุณประกอบจะแจมจากความทรงจำก็ได้ค่ะ   กระทู้จะได้คึกคักขึ้น

ดิฉันสงสัยว่าการประนีประนอมกับญี่ปุ่นนี้น่าจะมีการตัดสินใจกันล่วงหน้าแล้วอย่างเงียบๆ   แต่จะล่วงหน้านานเท่าไรไม่รู้   อาจจะล่วงหน้าเป็นเดือนๆ หรือแค่ ๒-๓ ช.ม. ก็ได้
จากคำพูดของผู้เข้าประชุมหลายท่าน ไม่ใช่พล ต.ต. อดุล อดุลเดชจรัส ท่านเดียว   ดูเป็นปี่เป็นขลุ่ยสอดคล้องกันว่า  สู้ไม่ไหวแน่  ยอมดีกว่า    ประนีประนอมกับเขายังมีทางรอด

การประนีประนอมกับญี่ปุ่น ผลดีตกกับใคร
อย่างแรกคือก็ดีที่ว่าประชาชนไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ   ไม่ต้องยับเยินในหลายพื้นที่อย่างที่ประเทศอื่นเจอมาแล้วจากญี่ปุ่น  แต่เราก็อย่าลืมว่า การที่ดินแดนหนึ่งจะเสียท่าญี่ปุ่น ไม่อาจเหมารวมว่าดินแดนอีกแห่งจะต้องแพ้แบบเดียวกัน     คนไทยอาจมีวิธีการต่อสู้แบบค่ายบางระจัน หรือศึกถลาง ยันข้าศึกเอาไว้ก็ได้  จนกว่าจะถอยไปเอง 
แต่ค.ร.ม. ดูจะปิดประตูชนะเอาไว้เลย    เชื่อมั่นว่าสู้ไม่ไหวลูกเดียว
อย่างที่สอง   ถ้ามีการสู้รบแบบแรก   พล ต.ต.อดุลบอกว่า รัฐบาลชุดนี้อาจจะต้องกลายเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น    ญี่ปุ่นก็จะตั้งรัฐบาลในคอนโทรลขึ้นมา   (ข้อนี้เห็นชัดตามที่เยอรมันทำกับฝรั่งเศส)    รัฐบาลพลัดถิ่นคงเสียเปรียบ สู้ไม่ไหว   ถ้าประนีประนอม ญี่ปุ่นก็จะไม่ตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา
ข้อนี้แหละที่น่าคิด   ทำให้สงสัยเรื่อยเปื่อยต่อไปว่า การเจรจาก่อนหน้านี้น่าจะมีข้อนี้อยู่หรือเปล่า     คือถ้าท่านร่วมมือกับฉัน  ท่านก็นั่งเก้าอี้ต่อไปตามเดิม ไม่กระทบกระเทือน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 20:50

จอมพล ป.สรุปท้ายการประชุมว่า
"บอกว่าเราพยายามต่อสู้แล้ว    ในที่สุดทางญี่ปุ่นก็ได้มาเจรจาขออย่างนี้ๆ    และเราเห็นว่าการที่จะต่อสู้ต่อไปนั้นก็เป็นการเปลืองชีวิตผู้คนและทรัพย์สมบัติ    เราจึงได้ตกลงผ่อนผันกับเขา     และในที่สุดท้ายก็ขอให้ประชาชนพลเมืองจงเชื่อฟังรัฐบาลต่อไปเถิด"

เป็นอันว่าไทยก็สั่งทหารให้หยุดยิง ทั้งภาคกลางและภาคใต้  ส่วนภาคตะวันออกไม่มีการยิงกันอยู่แล้ว

ผ่านมาอีก ๒ วัน  ถึงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔  คณะรัฐมนตรีก็ประชุมกันอีกครั้ง   คราวนี้สุ้มเสียงจอมพล ป. เห็นชัดว่าท่านยอมประนีประนอมกับญี่ปุ่นแบบไม่มีเงื่อนไข    จนอาจจะเรียกว่าท่านโปรญี่ปุ่นก็ว่าได้
เมื่อนายปรีดีรายงานด่วนว่าเกิดเรื่องขัดแย้งกันระหว่างศุลกากรกับญีปุ่นที่ท่าบี.ไอ.   เพราะญี่ปุ่นจะเข้าไปเอาสินค้าในคลังเอาไปใช้   ศุลกากรไม่ยอมก็ถูกญี่ปุ่นจับมัดไว้ทั้งคืน    ตอนเช้าเอาชะแลงไปงัดคลังสินค้า    ในเมื่อทางรัฐบาลสั่งลงไปว่าให้ยอม  จะเอาอะไรก็เอาไป  ทางศุลการักษ์ก็ยอม  เพียงแต่จะขอจดหีบห่อไว้เป็นหลักฐาน   ญี่ปุ่นก็ไม่ยอมให้จด  ทุบตีเอาข้าราชการไทยบาดเจ็บไปสองคน  นายปรีดีบอกว่าถ้างั้นถอนเจ้าหน้าที่ไทยออกหมดเสียดีกว่า   ขืนมี ก็จะเกิดเรื่องกับญี่ปุ่นอีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 20:52

คำตอบของจอมพล ป. น่าอัศจรรย์มาก  ขอลอกประโยคเด็ดๆมาให้อ่านกัน

" เราควรจะนึกว่าสมัยนี้ กฎหมายก็ดี  ศีลธรรมก็ดี  เราพึ่งไม่ได้   เราต้องพึ่งอำนาจ....เมื่อเขาใช้อำนาจแล้ว   เราจะไปร้องว่าผิดกฎหมาย   เราจะไปร้องว่าผิดกฎนานาชาติ   เราจะไปร้องว่าผิดกฎศีลธรรมนั้น    ผมนึกว่าปัจจุบันนี้เป็นการพ้นสมัย    เพราะฉะนั้นในการที่ข้าราชการของเราถูกข่มเหง  หรือได้ถูกอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น   เราก็ควรจะนึกว่าอำนาจของเรายังไม่มีพอ"
" ...เช่นเขาบอกว่าเขาจะมาเอาโรงเรียนแห่งหนึ่งหรือสถานทูตอังกฤษนั้น   เขาจะใช้เป็นที่ทำงานของเขาละ   ถ้าจะเจรจากันในทางการทูต  มีหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ  แล้วเจรจาผ่านไปทางเซอร์โยไซอาร์ครอสบี้   อย่างนี้ผมเองก็เห็นว่าทำไม่ได้เหมือนกัน   เพราะฉะนั้นเมื่อทหารของเขาเข้ามาแล้ว  จะเอาที่ไหนเขาก็ไปยึดเอา   อย่างนี้เป็นของธรรมดา"
" แต่ถ้าจะมาถามต่อว่าต่อไปเขาจะปฏิบัติหรือไม่  และจะคาดคั้นเอากับผม    ผมก็ไม่รู้ใครจะตอบได้     ถ้าเวลานี้ผมมีกองทัพอยู่ในมือสักล้านคน   มีเครื่องบินสักหมื่นลำก็ตอบได้  นี่มันไม่มี"


ก่อนหน้าญี่ปุ่นบุก  นโยบายของรัฐบาลเน้นหนักไปทางปลุกใจประชาชนให้รักชาติ    ออกวิทยุไม่เว้นแต่ละวันว่าให้สู้สุดใจขาดดิ้น   แต่เมื่อถึงเวลา  นโยบายก็กลับเปลี่ยนไปด้านตรงกันข้าม   จอมพลป. ให้อรรถาธิบายว่า
"ผมได้เคยพูดเมื่อก่อนนี้ว่า   เรารบตายอย่างชาวบ้านบางระจันนั้นเป็นของวิเศษมีเกียรติยศ   แต่นั่นเป็นการปลุกขวัญประชาชน    เพราะว่าตามหลักการโฆษณาของรัฐบาลในเวลาก่อนมีเรื่อง  กับเวลามีเรื่องแล้วนั้น เป็นคนละอย่าง    เมื่อก่อนมีเรื่องนั้น เราจะต้องทำตัวเก่งด้วยประการทั้งปวง    เดี๋ยวนี้มันก็ผ่านไปแล้ว    ที่ว่าเราจะต้องต่อสู้จนคนสุดท้าย ก็ไม่มีชาติไหนเลยที่สู้่จนคนสุดท้าย"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 21:02

ยกคำพูดท่านมาอีกครั้ง
" ใครจะเป็นคนกู้(ชาติ) กว่าจะมีสมเด็จพระนเรศวรส่งเข้ามาสักคนหนึ่ง  และการกู้ชาติในสมัยนี้เป็นของที่ยาก    เพราะฉะนั้นผมนึกว่าที่ตกลงไปแล้วนั้นเป็นของดีที่สุด"
" ถ้าเราไปดื้อดึงเข้า  ชาติของเราตายแล้วก็จะไม่มีวันฟื้น   ถ้าหากว่าเราได้ผ่อนผันคล้ายๆว่าพายุแรงมาเราก็ผ่อนโอนไป  อย่าให้ต้นไม้ถึงกับหักได้   ต้นไม้นั้นยังคงอยู่นี้  ถ้าเปรียบกับต้นไม้ และต่อไปข้างหน้า ลูกมันก็อาจจะออกมาซึ่งเราจะเก็บผลกินได้อีก"
"...ปัญหาอยู่ที่ว่าเขาจะล้มรัฐบาล จะควบคุมรัฐบาล  เขาจะไล่เราออกหรือไม่"

ถ้าท่านจอมพล ป. คิดว่ารัฐบาลคืออันหนึ่งอันเดียวกับชาติ  ข้างบนนี้ เปลี่ยนคำว่าชาติเป็นรัฐบาล เราก็คงพอเข้าใจความหมายได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 21:10

ดิฉันยังติดใจบทบาทของทหารเรือในช่วงญี่ปุ่นบุก  ตามที่ท่านนวรัตนจุดประกายขึ้นมา แล้วดับตะเกียงเสียเฉยๆ  ไม่ยักเล่าต่อ  ดิฉันก็เลยเกิดอาการหลอน   ต้องไปหาเอาเองว่าในเวลานั้น ทหารเรือไทยทำอะไรกันอยู่ที่ไหน
ก็พบว่ากำลังกองทัพเรือก็ยังอยู่ครบ ไม่ได้หายไปไหน    ย้อนหลังกลับไปตั้งปลายเดือนพฤศจิกายน   ก็มีการเตรียมพร้อมกันอย่างแข็งขันดี   มีการคาดคะเนกันด้วยว่าประเทศไทยอาจถูกละเมิดอธิปไตยด้วยฝีมือกองทัพประเทศอื่น  ถึงกับมีคำสั่งของกองทัพเรือออกมาว่า

"เนื่องจากสถานการณ์ในภาคเอเชียอยู่ในลักษณะคับขัน รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ประสงค์จะดำรงตัวเป็นกลางจนถึงที่สุด อาจมีประเทศล่วงละเมิดอธิปไตยของประเทศ โดยรุกรานด้วยการยกพลขึ้นบก ณ บริเวณปากน้ำประแสหรือบ้านเพ หรือปากน้ำท่าประดู่ เพื่อประสงค์ป้องกันการยกพลขึ้นบกที่บริเวณปากน้ำประแสหรือบ้านเพจึงได้ออกคำสั่งยุทธการที่ ๑ ในการป้องกันรักษาฝั่งในยามฉุกเฉิน เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๔ ได้จัดกำลังไปปฏิบัติการดังนี้

กองพันนาวิกโยธินที่ ๑ จัดกำลัง ร้อย ๕ ร้อย ๖ และร้อย ๘ (๑ หมวดกับ) บก.พัน.ตามอัตรา กับให้กองพันนาวิกโยธินที่ ๒ จัดกำลัง ร้อย ๔ รวมกันเป็น ๑ กองพัน ไปดำเนินการและ บก.นย.จัดหน่วยลาดตระเวนประกอบด้วยพลขี่ม้า ๔ พลขับขี่จักรยานยนต์ ๖ ม้าขี่ ๔ สมทบไปในหน่วยนั้น ฝ่ายพลาธิการจัดหน่วยสัมภาระตามอัตราสำหรับ ๑ กองพัน

ร.อ.สุ่น มาศยากุล เป็น ผบ.พัน.ไปดำเนินการตามโอวาทท้ายคำสั่ง ให้เริ่มออกเดินทางโดยขบวนเดินเท้าจากสัตหีบ ในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔

กองพันนาวิกโยธินที่ ๑ จัดกำลัง ร้อย ๑ กองพันนาวิกโยธินที่ ๒ จัดกำลังร้อย ๘ (๑ หมวด) สมทบไปดำเนินการ ฝ่ายพลาธิการ นย.จัดหมู่สัมภาระ ๑ หมู่

น.ต.เย็น รื่นวงสา เป็น ผบ.หน่วย ดำเนินการตามโอวาทให้เริ่มออกเดินทางโดยขบวนเดินเท้า ในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 21:17

แต่การจัดกองพันทหารเรือที่ว่ามาก็ไม่ได้ไปปะทะกับทหารญี่ปุ่นอยู่ดี     หลังค.ร.ม.ประชุมแล้วลงเอยว่าให้ประนีประนอมกันแล้ว  จากนั้นก็มีคำสั่งของกองทัพเรือออกมาอีกว่า
 
"วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้ตกลงใจยอมอนุญาตให้กำลังทหารญี่ปุ่นผ่านและพักอาศัย ในประเทศไทยได้จึงได้จัดกำลังปฏิบัติการเป็นกองรักษาการณ์บริเวณบางสะเหร่และแสมสารตามคำสั่งทัพเรือ  นย.จึงได้ให้ กองพันนาวิกโยธินที่ ๒ จัดกำลัง ร้อย ๖ ไปดำเนินการรักษาการณ์ที่บริเวณแสมสาร่ และให้กองพันนาวอกโยธินที่ ๑ จัดกำลัง ร้อย ๒ ไปดำเนินการรักษาการณ์ที่บริเวณบางสะเหร่ กับกองร้อยปืนใหญ่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ ๑/๒ บก.นย.จัดหน่วยลาดตระเวนประกอบด้วย กองร้อยลาดตระเวน จักรยาน ๑ พลขี่ม้า ๒ ม้าขี่ ๓ สมทบร่วมไปกับกองร้อย การเลี้ยงดูให้ พลาธิการจัดอาหารและข้าวส่ง ณ ที่ตั้งกองร้อยทหารราบและปืนใหญ่ ให้ ผบ.ร้อย ๒ และ ผบ.ร้อย ๖ ดำเนินการตามโอวาท และให้เริ่มออกเดินทางโดยขบวน ยานยนต์จากสัตหีบในวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔"

วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ประเทศไทยได้ร่วมสัญญาการทหารกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อทำการรุกรานและป้องกัน กำลังทางบก ทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นได้ทำการสู้รบกับอังกฤษอยู่ทางบริเวณแหลมมลายูและทางทิศตะวันตกของประเทศไทย นย.ได้จัดกำลัง ร้อย ๑ กองพันนาวิกโยธินที่ ๑ ไปดำเนินการรักษาการณ์ชายฝั่งทะเล กับช่องทางเกวียนวัดหนองตับเต่า โดยปฏิบัติการร่วมกับ ร้อย ๒ กองพันนาวิกโยธินที่ ๑ ทั้งนี้เพื่อป้องกันรักษาฝั่งและจารกรรมในยามฉุกเฉิน ให้เริ่มออก เดินทางจากสัตหีบ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ เวลา ๐๖๐๐

วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ปรากฏว่ามีเครื่องบินข้าศึกมาทำการระเบิดจุดสำคัญทางการประเทศไทย เมื่อปฏิบัติการเตรียมการต่อสู้เครื่องบิน นย.จึงได้จัดร้อยปืนกลหนักพิเศษของกองพลนาวิกโยธิน ไปดำเนินการเตรียมการ ต่อสู้เครื่องบิน เพื่อคุ้มครองที่ตั้งหน่วยทหาร ณ บริเวณที่กำหนดตามแผน และหน่วยต่าง ๆ ของ นย.ได้จัดกำลังเตรียม ปฏิบัติ การระวังภัย และต่อสู้อันจะพึงอุบัติขึ้นต่อการกระทำของพลทหารร่มอากาศเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔


สรุปว่าไทยที่เคยเตรียมตัวป้องกันการรุกรานจากญี่ปุ่น โดยมีอังกฤษเป็นพันธมิตร ก็เปลี่ยนเป็นว่าจับมือกับญี่ปุ่นป้องกันการรุกรานจากอังกฤษ   ภายในเวลาไม่กี่วัน
ท่านทูตบริติชส่งสารด่วนที่สุดถึงรัฐบาลเมื่อ ๘ ธันวาคม ว่าจะช่วยเหลือปกป้องคุ้มครองไทย    ผ่านไป ๑๑ วัน  ทหารไทยกับทหารอังกฤษก็รบกันเสียแล้ว

พักให้น้ำค่ะ  เชิญท่านนวรัตนและท่านอื่นๆ บรรเลงเพลงกระบี่ต่อปาย....
บันทึกการเข้า
กระต่ายหมายจันทร์
พาลี
****
ตอบ: 284


ศศ (สะสะ) แปลว่ากระต่ายและกวาง


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 21:24

มาให้น้ำ บีบนวด และรออ่านต่อค่ะ กำลังเข้มข้นทีเดียว  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 21:47

อ้างถึง
ดิฉันยังติดใจบทบาทของทหารเรือในช่วงญี่ปุ่นบุก  ตามที่ท่านนวรัตนจุดประกายขึ้นมา แล้วดับตะเกียงเสียเฉยๆ  ไม่ยักเล่าต่อ  ดิฉันก็เลยเกิดอาการหลอน   ต้องไปหาเอาเองว่าในเวลานั้น ทหารเรือไทยทำอะไรกันอยู่ที่ไหน

แหะ แหะ ผมเป็นคนตั้งคำถามเหมือนที่คนสมัยโน้นเขาถามน่ะครับว่ากองทัพเรือของเราไปอยู่ที่ไหนกันหมด ญี่ปุ่นยกพลมาขนาดนี้ ทำไมไม่รู้ไม่เห็น

กองทัพเรือหมายถึงกองเรือรบทั้งหลาย ที่ประกอบด้วยเรือผิวน้ำหลายสิบลำและเรือใต้น้ำตั้ง๔ลำ มีหน้าที่ลาดตระเวณท้องทะเลไทยตลอด๒๔ชั่วโมง ๓๖๕วันนั้น ในคืนวันที่๘ ไปลอยลำอยู่ที่ไหนกันหมดจึงไม่ทราบว่ากองเรือญี่ปุ่นหลายสิบลำ บุกเข้ามาในน่านน้ำไทย หรือว่ามีใครกระซิบล่วงหน้าให้เอาไปแอบเสีย อย่าให้เกะกะทางปืนพี่ยุ่นเค้า

ที่ท่านอาจารย์ป้ายมาเป็นทหารเรือเหล่านาวิกโยธินไม่กี่กองร้อย เขาสั่งแบบแอ็คอาร์ตไปอย่างงั้น ไม่มีความน่าเกรงขามอะไร

ผมไม่ทราบจะต่ออย่างไรจริงๆครับ ไม่ได้ดับตะเกียงแกล้งให้เกิดอาการหลอน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 22:13

อาศัยคุณกระต่ายมาบีบนวด ให้น้ำให้ท่า  พอมีแรงจุดตะเกียง ลุยอดีตตามหาทหารเรือจนพบ      มะ...ชวนท่านทั้งหลายไปด้วยกันนะคะ
ความที่ไม่ค่อยรู้จักกองทัพ  ครั้งแรกเลยเข้าผิดเหล่า แทนที่จะเจอทหารเรือกลับไปเจอนาวิกโยธินเข้าแทน    ถอยกลับมาตั้งหลักใหม่
เพิ่งรู้ว่าสมัยนั้นตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพกับแม่ทัพนั้นไม่เหมือนกัน  

เห็นได้จากวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ มีประกาศแต่งตั้ง ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงฝ่ายทหาร อีก ๓ ตำแหน่ง คือ แม่ทัพบก แม่ทัพเรือ แม่ทัพอากาศ  โดยให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นแม่ทัพบก อีกตำแหน่งหนึ่ง พลเรือโท หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นแม่ทัพเรือ อีกตำแหน่งหนึ่ง พลอากาศตรี หลวงอธึกเทวเดช (บุญเจียม โกมลมิศร์) ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็น แม่ทัพอากาศ อีกตำแหน่งหนึ่ง
มันต่างกันยังไงก็ไม่ทราบเหมือนกัน  ฝากคำถามไว้ด้วยค่ะ

ก่อนวันที่ ๗ ธันวาคม     กองทัพเรือของเราก็คึกคักเข้มแข็งดี    มีกองเรือออกลาดตระเวนตรวจอ่าว โดยมี นาวาเอกชลิต กุลกำม์ธร เป็นผู้บังคับกองเรือ  ออกเรือจากกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.  ๒๔๘๔ ระยะเวลา ๑๕ วัน  มีเส้นทางเดินเรือตั้งแต่กรุงเทพฯ หมู่เกาะอ่างทอง-สงขลา-นราธิวาส แล้วแล่นตัดข้ามอ่าวไปยังเกาะกูด สัตหีบ กรุงเทพฯ
     กองเรือนี้ ประกอบด้วย เรือ ๘ ลำ เป็นเรือสลุป ๒ ลำ คือ เรือหลวงท่าจีน และ เรือหลวงแม่กลอง เรือตอร์ปิโดใหญ่ ๔ ลำ คือ เรือหลวงระยอง เรือหลวงตราด เรือหลวงสุราษฎร์ และเรือหลวงปัตตานี เรือกวาดทุ่นระเบิด ๑ ลำ คือ เรือหลวงบางระจัน กับเรือลำเลียง ๑ ลำ คือ เรือหลวงพงัน
     กองเรือตรวจอ่าว ได้ออกเดินทาง จากกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.  ๒๔๘๔ ถึงชุมพร ในวันรุ่งขึ้น แล้วแล่นเลียบชายฝั่งตะวันตก ผ่านหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างการเดินทาง ได้ทำการฝึกซ้อมรบ ตามยุทธวิธี ไปตลอดทาง  ถึงจังหวัดสงขลา ในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ เวลา ๐๑.๐๐ น. พบเรือสินค้าญี่ปุ่นขนาด ๕,๕๐๐ ตันลำหนึ่งจอดอยู่นอกเกาะหนู
     ขณะนั้น วิทยุสิงคโปร์ กระจายข่าวว่าเครื่องบินลาดตระเวน ของอังกฤษพบกองเรือญี่ปุ่น ประกอบด้วย เรือลำเลียง จำนวนมาก กำลังเดินทางมุ่งตรงเข้ามา ในอ่าวไทย กองเรือตรวจอ่าวได้ออกเดินทาง จากสงขลา มุ่งตรงไปยังจังหวัดนราธิวาส ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อใกล้ถึง จังหวัดนราธิวาส ก็ได้รับข่าวทางวิทยุว่า สถานการณ์บ้านเมือง อยู่ในสภาวะคับขัน อาจเกิดสงคราม ขึ้นได้ในไม่ช้า ดังนั้น กองเรือจึงไม่แวะจังหวัดนราธิวาส แต่แล่นตัดข้ามอ่าวไปยังเกาะช้าง แล้วจอดเรืออยู่ที่แหลมงอบ จังหวัดตราด ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔
   ในช่วงนั้นเรือก็พรางไฟ คอยระวังเหตุการณ์   เวลา ๒๔.๐๐ น. กองเรือตรวจอ่าว ได้ออกเดินทาง จากจังหวัดตราด ไปจังหวัดระยอง และในบ่ายวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ออกเดินทางต่อ ถึงสัตหีบ    ในตอนเย็นของวันนั้น ขณะจอดอยู่ที่สัตหีบ มีกำหนดเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ แต่กองทัพเรือได้สั่งการให้ยืดเวลาออกไป อีก ๒ วัน กองเรือตรวจอ่าว จึงได้นำเรือไปจอดรออยู่ที่เกาะสีชัง ในวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 19 คำสั่ง