เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10
  พิมพ์  
อ่าน: 69651 เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 21 มี.ค. 12, 08:50

เมื่อยุติการรบแล้วทหารญี่ปุ่นก็เคลื่อนที่เป็นขบวนยาวเหยียดเข้าตัวเมืองชุมพร เข้าพักที่โรงเรียนสตรีสอาดเผดิมวิทยา(ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลชุมพร) ที่โรงเรียนช่างไม้(ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยเทคนิค) และโรงเรียนชุมพรศรียาภัย(ปัจจุบันเป็นโรงเรียนศรียาภัย)  

ที่โรงเรียนศรียาภัยนั้น ญี่ปุ่นนำศพทหารของตนฝังไว้ ๑๑ ศพ ต่อมาอีกสองสามวันได้นำมาเผาทั้งหมด ฝ่ายไทยมีเพียงบันทึกว่าเหตุการณ์ครั้งนั้น ยุวชนทหารและผู้บังคับหน่วยผู้กล้าหาญเสียชีวิต๖นาย บาดเจ็บ๕  ทหารเสียชีวิต ๑นาย ตำรวจ๒นาย ประชาชนอาสาสมัคร๑นาย บาดเจ็บจำนวนมากกว่ากันนิดหน่อย

ถือว่ายิงกัน๖ชั่วโมงทั้งสองฝ่ายเสียหายน้อยมาก เมื่อเทียบกับการยกพลขึ้นบกในโกตาบาห์รู ญี่ปุ่นถูกทหารอังกฤษต่อต้านตายในที่รบ๓๒๐นาย บาดเจ็บ ๕๓๘นาย ส่วนฝ่ายอังกฤษบอกเพียงว่าสูญเสียเป็นจำนวนมาก ตอนนั้นคงสู้พลางถอยพลาง ไม่มีเวลานับศพ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 21 มี.ค. 12, 09:15

ภายหลังวีรกรรมของหน่วยยุวชนทหาร ก่อนจะมีการสร้างอนุสาวรีย์ยุวชนทหารที่เห็นในปัจจุบันหลายสิบปีต่อมา ได้มีผู้สร้างเจดีย์เล็กๆองค์หนึ่งไว้ตรงบริเวณที่มีการสู้รบ
 
ส่วนสะพานท่านางสังข์นั้น ปัจจุบันเหลือแต่ทรากตอม่อ เพราะคลองท่านางสังข์ที่ไหลมาสิ้นสุดในหมู่บ้านอู่ตะเภาได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก  มีผู้ลุกล้ำเข้าไปถมคลองเพื่อสร้างอาคารบ้านเรือนจนหมดสภาพ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 21 มี.ค. 12, 09:20

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ร้อยโทสำราญ ควรพันธุ์ (อดีตสิบเอกสำราญ ควรพันธุ์  ผู้เหลือแขนซ้ายข้างเดียวเนื่องจากกระดูกแขนขวาแตก ต้องถูกตัดออก) เป็นผู้บังคับหน่วยยุวชนทหารในการรบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ ได้ชักชวนยุวชนทหารโรงเรียนศรียาภัยให้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้น เป็นรูปยุวชนทหารยืนบนแท่นในท่าถือปืนเฉียงอาวุธ ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๒๗ ทางจังหวัดชุมพรเห็นว่า รูปอนุสาวรีย์เดิมมีขนาดเล็กไม่สง่างาม จึงขอให้ศิษย์เก่าโรงเรียนศรียาภัยปรับปรุงรูปปั้นและแท่นฐาน ให้หล่อรูปปั้นใหญ่ขนาดเท่าคนจริง เป็นยุวชนทหารในท่าแทงปืน พลโท ทวีวิทย์ นิยมเสน บุตรชายร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ได้บริจาคเงินสร้างแท่นยืน และขยายฐานใหม่ดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน


รายชื่อวีรชนที่สละชีวิตเพื่อชาติ

๑. ร.อ.ถวิล  นิยมเสน
๒. ส.ต.ท. บุญเสริม  เศวตจันทร์                 
๓ ยวท. ละม้าย   เหมมณี
๔. ยวท. สนิท   พงษ์ภักดี
๕. ยวท. เอื้อม   ลุ่มนวล
๖. ยวท. ถวัลย์   อนันตสิทธิ์
๗. ยวท. บุญช่วย   เพชร์เลย
๘. พลตำรวจ  เปียก  ชูธวัช
๙. พลตำรวจ  เพชร  ธานา
๑๐. นายน้อย  มณีสุวรรณ   

ที่ฐานอนุสาวรีย์ เป็นรูปปั้นนูนต่ำของพันโทถวิท นิยมเสน(ยศสุดท้ายหลังพลีชีวิต)                           


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 21 มี.ค. 12, 09:36

ส่วนทหารญี่ปุ่นนั้น ได้หลังจากพักจัดกระบวนทัพ ซักเสื้อซักกางเกงหมดโคลนตมแล้วก็ไม่รอช้า ขอให้ทหารไทยจากร.พัน.๓๘ นำทางไปตามถนนจนถึงท่าเรืออำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เพราะกลัวคนไทยจะยิงเอาเพราะความเข้าใจเดิมๆที่ให้สู้จนตัวตายเช่นเดียวกับร้อยเอกถวิล  เมื่อถึงแล้วก็ลงเรือข้ามไปยึดเกาะสองของพม่าเพื่อจะเดินทัพทางทะเลไปรบกับทหารอังกฤษต่อไป
 
กองกำลังญี่ปุ่นที่ขึ้นบกในวันต่อๆมามีรถยนต์และอาวุธหนักเป็นจำนวนมาก พักกำลังพลอยู่ในบริเวณวิทยาลัยเทคนิคปัจจุบันค่ายหนึ่ง อีกค่ายหนึ่งตั้งอยู่ริมหนองม่วงค้อนใกล้สถานีรถไฟชุมพร แต่อยู่เพียงวันเดียวก็check out  เคลื่อนกำลังตามหน่วยแรกไปพม่าตามเส้นทางเดิม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 21 มี.ค. 12, 09:59

ญี่ปุ่นออกจากชุมพรไปร่วมสองปีก็กลับเข้ามาตั้งค่ายใหญ่ที่เนินเขาสามแก้วตอนพ.ศ.๒๔๘๖  เพื่อสร้างทางรถไฟสายชุมพร - เขาฝาชี ในจังหวัดระนอง โดยแยกจากทางรถไฟสายใต้ ห่างจากตัวสถานีชุมพรประมาณ๑กิโลเมตร ถือว่าเป็น Land Bridge Project ข้ามคอคอดกระของจริงที่ลงมือสร้าง แต่เสียดายที่ไม่เสร็จ ทำให้คนไทยยังเพ้อฝันถึงเจ้าสิ่งนี้ต่อไม่เลิกจวบจนปัจจุบันและอนาคต  
คราวนั้นญี่ปุ่นใช้กรรมกรจีน แขกกะลิงที่เกณฑ์จ้างมาจากมลายูและสิงคโปร์ ไม่ได้ข่มเหงคนไทยเอาเป็นกรรมกรทาสตามที่ให้คำมั่นสัญญา แต่การที่ผู้คนมาอยู่มากินมากมายก็ทำให้เมืองชุมพรเกิดข้าวยากหมากแพง ค่าครองชีพสูง คนไทยลำบากยากเค้นทั้งเมืองเช่นกัน จะสุขสบายก็แต่พวกผู้ที่รับเหมาที่ส่งไม้หมอนส่งหินสร้างทางรถไฟ และขายอาหารที่ญี่ปุ่นยอมซื้อไม่อั้นชนิดไม่เกี่ยงราคาเพราะพิมพ์แบ็งค์บาทใช้เอง จนหลายคนกลายเป็นเศรษฐีสงครามในช่วงเวลาลัดสั้น

ปลายปีนั้นเอง เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำสัมพันธมิตรมากเข้า  เครื่องบินบี ๒๔ และบี ๒๙ ก็เข้ามาทิ้งระเบิดทางรถไฟที่กำลังสร้างโดยไม่เลือกวันเวลา โดยไม่มีเครื่องบินญี่ปุ่นขึ้นต่อสู้ขัดขวางเหมือนต้นสงคราม จับกังบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก ญี่ปุ่นก็แก้เกมโดยเอาเชลยศึกที่เป็นทหารฝรั่งเศสจากอินโดจีนที่ฮึดสู้แล้วแพ้ มาอยู่ที่ค่ายญี่ปุ่นประมาณ ๑ กองร้อย ให้เชลยศึกเหล่านี้ซ่อมทางรถไฟ และสะพานรถไฟที่เสียหายทั้งวัน โดนระเบิดที่ฝรั่งด้วยกันทิ้งจากเครื่องบินบาดเจ็บล้มตายไปก็มี
 
ขบวนการเสรีไทยชุมพรที่ตำรวจสันติบาลได้จัดตั้งขึ้น ก็ส่งข่าวให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรู้ว่าเชลยศึกจะเลิกงานกลับเข้าค่ายเวลา๕โมงเย็นทุกวัน สัมพันธมิตรจึงมาทิ้งระเบิดหลังเวลานั้นไม่สะเปะสะปะเหมือนก่อน เมืองชุมพรจึงเสียหายเฉพาะที่เป็นจุดยุทธศาสตร์  ส่วนรถไฟไทยนั้นยับเยิน ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะซ่อมแซมเส้นทางให้กลับสู่สภาพปกติได้  แต่กระนั้นก็ดี นักบินก็ยังพลาดเป้าไปทำลูกระเบิดตกในเมืองเข้าลูกหนึ่ง  บริเวณที่ปัจจุบันเป็นโรงแรมภราดรอินน์นั่นแหละ ทำให้ชาวเมืองชุมพรบาดเจ็บล้มตาย เขาว่าประมาณ๑๐ศพ โรงแรมดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับนักเทนนิสชื่อดัง แต่เป็นโรงแรมชั้น๑ของชุมพรในอดีตที่ผมเคยไปแวะพักแรมหลายครั้ง ไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อนเล้ย มาทราบก็ตอนปั่นต้นฉบับมาถึงตรงนี้นี่แหละ มิน่า..มีคนเคยแจกข่าวลือประหลาดๆแต่ตอนนั้นผมไม่ค่อยเชื่อ
 
เมื่อสงครามยุติลง กองทหารอังกฤษที่เข้ามายึดครองชุมพรเพื่อปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ได้แจกจ่ายข้าวปลาอาหาร ยารักษาโรค และเสื้อผ้าช่วยเหลือชาวบ้านคนไทยจนกระทั่งผ่านพ้นวิกฤต


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 21 มี.ค. 12, 10:49

เรื่องราวที่ญี่ปุ่นขึ้นที่ชุมพรของผมจบเพียงเท่านี้ ท่านผู้ใดจะกรุณาเสริมก็เชิญครับ ผมขอเวลาไปเตรียมเรื่องของสุราษฏร์ธานี


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 21 มี.ค. 12, 12:00

ระหว่างรอนักฟุตบอลมาเติมให้เต็มทีมในกระทู้นี้  ก็ขอคั่นโปรแกรมไปพลางๆก่อน ด้วยเรื่องของวีรบุรุษไทยของชุมพร    บุคคลเหล่านี้คือคนที่เสียสละเพื่อชาติอย่างแท้จริง   เรื่องราวของพวกเขา ถ้าไม่มีคนรุ่นหลังพยายามฟื้นความจำขึ้นมาให้อ่านกัน ก็คงถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา   จึงต้องขอนำมาลงให้อ่านกันอีกครั้ง
     เล่าโดยอดีตลูกศิษย์คนหนึ่งของท่าน ที่รู้เห็นเหตุการณ์ในคืนญี่ปุ่นบุกชุมพรด้วยตัวเอง

    "ร้อยเอก  ถวิล  นิยมเสน  (พันโท)  เพิ่งย้ายไปรับหน้าที่ผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหารจังหวัดชุมพรได้ไม่กี่เดือน  ท่านเคยป็นครูสอนยุวชนนายทหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ใจดี  โอบอ้อม  แต่อารมณ์ร้อน  มุทะลุ  เจรจาโผงผาง  ไอ้พวกผมมันสันดานเสีย  ชอบแหย่ยั่วท่าน  ทานก็โมโหโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง  ดูเหมือนกับจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน  แต่แล้วในที่สุด  “ครูหวิน”  ของพวกเรากลับพาเราไปเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวแถวสามย่านทุกบ่อย  ท่านย้ายไปชุมพรทำอาพวกเราเงียบไปถนัด 
      การสู้รบที่ท่านางสังข์มีความกดดันหนัก  ข้าศึกมองไม่เห็นตัวฝ่ายเรา  แต่ดันยิงรบกวนอยู่ได้ตลอดเวลาไม่มีหยุด  เราพยายามเปิดสะพานให้ได้แต่ไร้ผล  ร้อย  ๑.  ผ่านไปได้ก็จริง  แต่เป็นอย่างไรบ้างก็ไม่รู้  ได้ยินแต่เสียงระเบิด     ด้วยอารมณ์ร้อนและการตัดสินใจเฉียบพลัน  “ครูหวิน”  สั่งหมู่ปืนกลเบาถอนปืน   หวังเสี่ยงวิ่งข้ามสะพานจู่โจมผลักดันแย่งพื้นที่ฝั่งตะวันออกเพื่อเปิดสะพานจะให้  ร้อย  ๔.  ปก. หนักผ่านไปได้ 
     ร้อยเอก  ถวิล  นิยมเสน  ลุกขึ้นชูปืนพก  ๙  มม.  เหนือศีรษะ  ออกคั่งเฉียบขาดเสียงดังฟังชัด  “ยุวชนทหาร-ตามข้าพเจ้า”  สิ้นเสียงก็ออกวิ่งนำหมู่ข้ามสะพานไปได้  พอพ้นก็พุ่งตัวลงกำบังไหล่ถนนทางด้านเหนือ  หลบวางแนวอยู่ที่นั่น แต่ไม่มีจุดตั้งยิงที่ได้เปรียบทางยุทธวิธี  ปืนกลเบาไปตั้งอยู่ในจุดบอด 
      ครูหวินใจร้อนโผล่ขึ้นมาตรวจพื้นที่และมองหาทางข้ามถนนไปทางฝั่งใต้เพื่อเข้าทำลายปืนกลญี่ปุ่นซึ่งหน้า  ครั้งนี้ครูหวินคงจะเผลอตัวชะเง้อสูงเกินไป    ข้าศึกระดมยิงเข้ามากระสุนเจาะเข้าที่คอครูหวินเสียชีวิตทันที  จากนี้ยุวชนทหารจึงยึดแนวถนนยิงต่อสู้กับข้าศึกอย่างถวายหัว  มีนายสิบ  ผบ.หมู่ร่วมอยู่ด้วยอีกหนึ่งนาย  กับตำรวจสี่ห้านาย  ตำรวจที่ข้ามไปก่อนพร้อมกับรถบรรทุกทหารของร้อย.๑  ปก.เบา  ก็มีบาดเจ็บเสียชีวิตกันบ้าง  ปืนกลเบากระบอกที่ยุวชนทหารนำข้ามสะพานไปนั้นเกิดขาทรายชำรุดใช้ตั้งยิงไม่ได้ยุวชนทหารนายหนึ่งจึงใช้หลังหนุนกระบอกปืนแทน  และปืนกลกระบอกนี้ก็ใช้ยิงต่อสู้ศัตรูอยู่ได้จนมีคำสั่งหยุดยิงเมื่อเวลา  ๑๑.๐๐  น."
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 21 มี.ค. 12, 12:07

          ปฏิบัติการของหมู่ปืนกลที่ท่านางสังข์ครั้งนี้  ฯพณฯ  จอมพล  ป.  พิบูลสงคราม  ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในนามปากกา  “สามัคคีชัย”  ได้เขียนบทสดุดีวีรกรรมออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงอยู่นานวัน  ท่านกรุณาให้สมญาว่า  “ลูกฐานปืนกล”  ครับ  ยุวชนทหารเด็กตัวเล็ก ๆ ของจังหวัดชุมพร
           นัดเจรจายุติการสู้รบเวลา  ๑๑.๕๐  น.  ไทยเราใช้สัญญาณธงสีขาวผืนใหญ่เคลื่อนที่ไปจุดนัดพบ  แต่ญี่ปุ่นไม่ยอมหยุดยิง  ยังคงเล่นงานเราด้วยปืนกลและปืนเล็ก  ผู้แทนฝ่ายไทยต้องเผ่นจากรถยนต์ลงมาหมอบคลุกฝุ่นคลุกโคลนอยู่ข้างถนน  จึงเกิดการยิงตอบโต้กันขึ้นอีก  กว่าจะได้ประจันหน้าพูดกัน  กองกำลังทั้งหมดที่จะเดินผ่านชุมพรตั้งข้อเรียกร้องหลายข้อ  อย่างจะขนทหารจากชุมพรผ่านไประนอง  แต่จะให้ไทยจัดกำลังเป็นหน่วยนำ  ญี่ปุ่นต้องการอาหาร  ต้องการยานพาหนะเท่าที่จะมี  จักรยานธรรมดาก็เอา  เอาทั้งหมดด้วย   เรียกว่าทั้งจังหวัดชุมพรมันจะเอาละไม่ว่าอำเภอไหน  และที่บัดซบที่สุดญี่ปุ่นจะให้คนไทยคำนับมันเมื่อเดินผ่าน  เราจะยอมได้อย่างไรละครับ
            ต่อมาภายหลังญี่ปุ่นรู้ว่าสะพานท่านางสังข์นั้น  ญี่ปุ่นรบกับยุวชนทหารที่ยังเป็นนักเรียนมัธยม  กองทัพญี่ปุ่นจึงมีหนังสือแสดงความเสียใจและสรรเสริญในความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญนั้นอย่างเป็นทางการมายังกระทรวงกลาโหม


http://sassadee.ruksadindan.com/magazine/magazine_30/magazine_32/magazine_32.htm
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 11 เม.ย. 12, 21:00

ดึงกระทู้นี้กลับขึ้นมาอีก เพราะไปอ่านหนังสือ ฉากญี่ปุ่น ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  เล่าถึงความเป็นมาของแสนยานุภาพของญี่ปุ่น ที่บุกหลายประเทศในเอเชีย   จึงคิดว่าควรเอามารวมเสียด้วยกันในกระทู้นี้
ท่านผู้อ่านเรือนไทยที่ติดตามกระทู้นี้มาแต่ต้น  รู้ว่าญี่ปุ่นบุกไทย    แต่ญี่ปุ่นมีนโยบายอะไร ทำไมถึงเที่ยวไปบุกดินแดนอื่น  เอากำลังทัพมาจากไหน  แสนยานุภาพของญี่ปุ่นมีอะไรบ้าง อาจเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยรู้กัน

ขอย้อนหลังไปเปิดฉากญี่ปุ่นในยุคต้นรัชกาลที่ 5 ของไทย    ประมาณ 2410-2411  เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์    ญี่ปุ่นก็มีรัชสมัยของพระเจ้าจักรพรรดิเมจจิ ที่ขึ้นครองราชย์หนึ่งปีก่อนพระเจ้าอยู่หัวของเรา     รัชสมัยนี้เป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นที่ครองตัวโดดเดี่ยวเอกาไม่ยุ่งไม่เกี่ยวกับใคร  ให้จำใจต้องเปิดประตูเมืองรับฝรั่งอเมริกัน ที่ยื่นคำขาดด้วยปืนใหญ่และเรือรบให้เปิดเสียดีๆ จะได้ไม่เจ็บตัว     รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นอาวุธมหึมาของอเมริกาก็ไม่มีทางอื่นนอกจากยอมเปิดประเทศให้โดยดี ทั้งๆไม่ได้ประสงค์จะทำ
ญี่ปุ่นมีนโยบายต่างประเทศตรงกันข้ามกับไทย   ถ้าย้อนไปอ่านกระทู้โปรตุเกสเข้าเมือง จะเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินอยุธยามักพระทัยกว้าง ไม่ทรงรังเกียจจะติดต่อค้าขายกับชนต่างชาติ   ไม่ว่าจีนหรือแขกหรือฝรั่ง  ถ้าไม่เข้ามารุกรานแล้ว พระเจ้าแผ่นดินไทยเต็มพระทัยค้าขายด้วยทั้งสิ้น  เพราะมีแต่ผลดีในการเพิ่มพระราชทรัพย์ในท้องพระคลัง   ไม่เห็นผลเสียอะไรตรงไหน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 11 เม.ย. 12, 21:09

ส่วนญี่ปุ่นดูเหมือนจะไม่ไยดีกับการค้าขายเสรีแบบอยุธยา   ซ้ำยังมีกฎหมายด้วยว่า ถ้าจับชาวต่างชาติเมื่อใดก็ให้ฆ่าเสีย    ด้วยเหตุนี้เรือสินค้าของฝรั่งชาติต่างๆที่ผ่านมาทางญี่ปุ่น ถ้าผ่านไปเฉยๆก็รอดตัวไป  แต่ถ้าเรืออับปาง   ญี่ปุ่นเจอกลาสีฝรั่งเมื่อไรก็จับฆ่าเสียเป็นเรื่องธรรมดา   หนักเข้าฝรั่งก็ทนไม่ไหว  จึงมาขอทำไมตรีให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศรับ  เพื่อปัญหานี้จะได้หมดไป  และประโยชน์ในการค้าขายก็จะตกอยู่กับฝรั่งด้วย
ฝรั่งชาติอเมริกันที่เอาปืนใหญ่บรรทุกเรือมาจี้ให้ญี่ปุ่นเปิดประตูเมืองได้สำเร็จคือพลจัตวาแมทธิว ซี  เปร์รี่     พอประตูเมืองเปิด  ฝรั่งชาติอื่นก็แล่นเรือตามเข้าเมืองญี่ปุ่นเป็นทิวแถว  ไม่ว่าอังกฤษ รัสเซียหรือดัทช์ซึ่งคำเดิมที่เรียกกันคือวิลันดา

ทั้งๆยอมเปิดประตูแล้ว  ญี่ปุ่นก็ยังไม่ชอบหน้าชาวต่างชาติอยู่ดี    ผิดกับคนไทยไม่ว่าสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ที่ยืดหยุ่นและยอมรับฝรั่งง่ายกว่า      ความไม่ชอบหน้าฝรั่งกลายมาเป็นนโยบายว่า ญี่ปุ่นจะต้องพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า   มีกองกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยไม่แพ้ฝรั่ง    เพื่อเอาชนะฝรั่งให้ได้สักวันหนึ่ง   
นโยบายนี้เองที่เจริญงอกงามขึ้นมาจนเป็นแรงบังดาลให้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นในยุคหลัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 12 เม.ย. 12, 18:39

     พระเจ้าจักรพรรดิเม็จจิครองราชย์กินเวลายาวนานถึง 45 ปี  ไล่เลี่ยกับรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย   ทั้งไทยและญี่ปุ่นแสวงหาความก้าวหน้าโดยพัฒนาประเทศให้ทันกับความเจริญทางตะวันตกแบบเดียวกัน    ส่งนักเรียนไปเรียนวิทยาการในยุโรปเช่นเดียวกัน   ญี่ปุ่นคัดเลือกอย่างระมัดระวัง    ประเทศไหนเก่งทางไหนก็ส่งนักเรียนหนุ่มๆของตนไปเรียนทางนั้น    อย่างอังกฤษเป็นเจ้าทางทะเล นักเรียนญี่ปุ่นก็ไปเรียนวิชาทหารเรือและการเดินเรือสินค้าที่อังกฤษ    เยอรมันเก่งทางทหารบกและการแพทย์    นายร้อยญี่ปุ่นและนักเรียนแพทย์ญี่ปุ่นก็มุ่งไปที่นั่น      ไปเรียนกฎหมายที่ฝรั่งเศส และไปเรียนบริหารธุรกิจที่อเมริกา    สยามเองก็ดำเนินนโยบายแบบเดียวกัน

     ญี่ปุ่นปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยอีกอย่างคือพัฒนาให้มีระบอบรัฐสภาขึ้นในประเทศ    แม้ว่ายังมีพระเจ้าจักรพรรดิเป็นประมุขสูงสุดอยู่ก็ตาม   รัฐสภาประกอบด้วยสภาสูงหรือสภาขุนนาง เหมือน House of Lords ของอังกฤษ   และมีสภาผู้แทน หรือ House of Representatives ที่มาจากการเลือกตั้ง      ระบอบใหม่ของญี่ปุ่นแตกต่างจากไทยอยู่อย่างหนึ่งคือสถาปนากันขึ้นมาได้โดยไม่มีการปฏิวัติยึดอำนาจ      แม้ว่าตอนแรกๆการปกครอง  ที่เลือกกันไปเลือกกันมา ก็ยังวนเวียนอยู่ในมือของผู้บริหารประเทศที่เป็นคนสร้างระบอบนี้ขึ้นมา   แต่ก็ไม่มีปฏิวัติซ้ำปฏิวัติซ้อน หรือแย่งอำนาจกันชนิดเสียเลือดเนื้อ     การเมืองของญี่ปุ่นก็เลยเดินหน้าไปตามทำนองของมันโดยไม่มีการสะดุด
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 12 เม.ย. 12, 19:44

อาจารย์กลับมา นักเรียนก็ขอแสดงตัวหน่อยว่าแม้จะไม่ได้ให้สุ้มให้เสียง หลบๆ อยู่หลังห้อง แต่ยังไม่หนีออกจากห้องเรียนไปไหนครับ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 12 เม.ย. 12, 20:10

น่ากลัวว่าจะเหลือกันแค่สองคนในห้องเรียนแล้วละค่ะ คุณประกอบ
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 12 เม.ย. 12, 21:03

ผมนั่งเรียนเงียบๆหลังห้องครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 12 เม.ย. 12, 21:17

    พระเจ้าจักรพรรดิเม็จจิ

สงสัยว่าเหตุไฉนคุณชายท่านเรียกเช่นนั้น  ฮืม

明治天皇  คุณกุ๊ก ออกเสียงภาษาญี่ปุ่นให้ฟังว่า เมจิเทนโน

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 19 คำสั่ง