เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
  พิมพ์  
อ่าน: 67222 เจ้านายวังหลัง
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 19 เม.ย. 12, 12:40

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าครอกทองอยู่ ข้าหลวงเดิมในเจ้าฟ้าพินทุวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
    มีพระโอรสและพระธิดาดังนี้
    พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนราเทเวศร์ พระนามเดิม พระองค์เจ้าชายปาน (พ.ศ. 2313 - พ.ศ. 2368) ต้นราชสกุลปาลกะวงศ์
    พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงกระจับ (ประสูติ พ.ศ. 2315 - รัชกาลที่ 4)
    พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรศร์โยธี พระนามเดิม พระองค์เจ้าชายบัว (พ.ศ. 2318 - 1 เมษายน พ.ศ. 2374)
    พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงเสนีบริรักษ์ พระนามเดิม พระองค์เจ้าชายแตง (พ.ศ. 2320 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2377) ต้นราชสกุลเสนีวงศ์
    พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายปฐมวงศ์ (พ.ศ. 2325 - รัชกาลที่ 3) เป็นพระองค์เจ้าพระองค์แรกที่ประสูติหลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้พระนามว่า พระองค์เจ้าปฐมวงศ์
    พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจงกล (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2385)
นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระโอรสและพระธิดาที่ประสูติแต่หม่อมห้าม เป็นหม่อมเจ้าชาย 13 พระองค์ หม่อมเจ้าหญิง 16 พระองค์ คือ
    หม่อมเจ้าชายจัน (หม่อมเจ้าจันทร์นุเรศร์) (ประสูติ พ.ศ. 2332)
    หม่อมเจ้าหญิงรัศมี (พ.ศ. 2334 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2417)
    หม่อมเจ้าหญิงใหญ่ (พ.ศ. 2341 - 21 สิงหาคม พ.ศ. 2420)
    หม่อมเจ้าหญิงพิกุน (พ.ศ. 2342 - 15 ธันวาคม พ.ศ. 2417)
    หม่อมเจ้าหญิงธิดา
    หม่อมเจ้าหญิงเรไร
    หม่อมเจ้าชายหมี
    หม่อมเจ้าหญิง
    หม่อมเจ้าชายสุวรรณ
    หม่อมเจ้าหญิงยี่สุ่น
    หม่อมเจ้าหญิงอำพา
    หม่อมเจ้าหญิงนุช (หม่อมเจ้าวรนุช)
    หม่อมเจ้าชายกำพร้า
    หม่อมเจ้าชายสุดชาติ (หม่อมเจ้าสุด)
    หม่อมเจ้าชายกุหลาบ
    หม่อมเจ้าชายใย
    หม่อมเจ้าชายน้อย (สิ้นชีพิตักษัย พ.ศ. 2434)
    หม่อมเจ้าชายเณร
    หม่อมเจ้าชายละมั่ง
    หม่อมเจ้าหญิงอะงุ่น
    หม่อมเจ้าชายสุทัศน์
    หม่อมเจ้าชายนิล
    หม่อมเจ้าหญิงพลับจีน
    หม่อมเจ้าหญิงป้อม
    หม่อมเจ้าหญิงเล็ก
    หม่อมเจ้าหญิงกลาง
    หม่อมเจ้าหญิงนกเขา
    หม่อมเจ้าหญิงเรศร์
    หม่อมเจ้าชายฟัก
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 25 เม.ย. 12, 12:42

บทบาทสำคัญอีกด้านหนึ่งของกรมพระราชวังหลัง คือทรงมีความสามารถทางด้านวรรณคดี   เห็นได้จากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯให้เป็นผู้อำนวยการแปลเรื่อง ไซ่ฮั่น   เช่นเดียวกับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)เป็นผู้อำนวยการแปลเรื่อง สามก๊ก  ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้เหตุผลไว้ว่า "เหตุที่ต้องเป็น 2 ท่านนี้เป็นเพราะ“กรมพระราชวังหลังก็ดี เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็ดี เคยอยู่ในคณะทูตที่ไปผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนในสมัยพระเจ้ากรุงจีน เพราะวังหลังเองนั้นเมื่อสถาปนาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านเองเรียกว่าเจ้าปักกิ่ง แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญพอสมควร”
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 15 ก.ค. 13, 21:11

ขอแจ้งข่าวดีครับ

ในหลวง'เสด็จฯพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน
'ในหลวง'เสด็จฯพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานหรือสถานีรถไฟธนบุรีเดิม



              เมื่อเวลา 16.20 น. วันที่ 15 กรกฎาคม 2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯลงจากชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังลานพลับพลาประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับสถาบันสยามินทราธิราช ก่อนเสด็จฯ เข้าไปยังพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน (หรือสถานีรถไฟธนบุรีเดิม) เพื่อทอดพระเนตรนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์  
              ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์เชิ้ตแขนสั้นสีเหลืองลายตารางและสนับเพลาสีเทา ทรงมีพระพักตร์ที่แจ่มใส ในขณะที่ประชาชนที่มีโอกาสได้เฝ้ารับเสด็จ และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต่างเปล่งเสียงทรงพระเจริญอย่างกึกก้อง
              พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ภายใต้โครงการ “สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช” คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยใช้พื้นที่อาคารสถานีรถไฟธนบุรี(เดิม) บริเวณปากคลอง บางกอกน้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำนวน 33 ไร่  ที่ได้รับมอบจากการรถไฟแห่งประเทศไทย
              พื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญอันเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์อย่างยาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา ด้วยเป็นส่วนหนึ่งของเมือง “บางกอก” ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่าน และเป็นทางผ่านของบรรดาสำเภาที่เดินทางเข้าไปค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา และทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี มีการสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการอย่างแข็งแรง
              ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่ด้านใต้ของปากคลองบางกอกน้อย ลงไปถึงวัดระฆังโฆษิตาราม เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “วังหลัง”  ด้วยเคยเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขหรือกรมพระราชวัง หลัง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์
              ที่ดินผืนนี้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ต่างๆ กระทั่งถึง พ.ศ. 2443 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ใช้ที่ดินนี้สร้างเป็นสถานีรถไฟบางกอกน้อย ต้นทางของเส้น ทางรถไฟสายใต้กระทั่งถึงปัจจุบัน
              เมื่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเริ่มโครงการสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช  เพื่อมุ่งสู่ความเป็นสถาบันทางการแพทย์ชั้นเลิศ คณะฯ เห็นความสำคัญของพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ จึงร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำการศึกษาทางโบราณคดี ตั้งแต่เดือนเมษายน – ตุลาคม พ.ศ. 2551 พบหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ เช่น ฐานป้อมบางส่วน ซากเรือไม้ และภาชนะดินเผา คณะฯ ได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีและมีพระราชวินิจฉัย ให้อนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดีเพื่อจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ต่อไป
              พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ประกอบด้วยอาคารอนุรักษ์ 4 หลัง ได้แก่ อาคารสถานีรถไฟ 1 หลัง อาคารที่ทำการรับส่งสินค้าธนบุรี 1 หลัง และอาคารโกดัง 2 หลัง
              การจัดสรรพื้นที่ประกอบด้วย พื้นที่จัดนิทรรศการถาวร พื้นที่จัดนิทรรศการชั่วคราวและกิจกรรมพิเศษ คลังพิพิธภัณฑ์ ร้านจำหน่ายของที่ระลึก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการจัดการสัญจรเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ ทั้งนี้ห้องจัดแสดงอยู่ในพื้นที่ อาคารพิพิธภัณฑ์ 1 และ 3
              อาคารพิพิธภัณฑ์ 1 ประกอบด้วยห้องจัดแสดง คือ
              1. ศิริสารประพาส เป็นห้องบรรยายบอกเล่าเรื่องราวโดยรวมของพิพิธภัณฑ์ผ่านวิดีทัศน์ ตกแต่งบรรยากาศเสมือนห้องสมุด เก้าอี้นั่งเป็นเก้าอี้ที่นักศึกษาแพทย์เคยใช้นั่งเรียนในห้องบรรยาย

              2. ศิริราชขัตติยพิมาน เป็นส่วนจัดแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ พระสาทิสลักษณ์ พระราชดำรัส พระราชเสาวนีย์ และพระดำรัส ในพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณและพระกรุณาธิคุณต่อโรงพยาบาลศิริราช

              3. สถานพิมุขมงคลเขต ความสำคัญของห้องนี้คือ พระราชประวัติกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขที่นำเสนอผ่านภาพจิตรกรรมไทยชื่อ “อนุรักษ์เทเวศร์กิตติประกาศ” เป็นภาพจิตรกรรมไทยแบบประเพณีพร้อมเสียงบรรยายด้วยทำนองเสนาะ และจัดแสดงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง “พระศรีเมือง” และวรรณคดีเรื่อง “ไซ่ฮั่น”

              4. ฐานป้อม จากการดำเนินงานทางโบราณคดีบริเวณสถานีรถไฟธนบุรี พบแนวกำแพงก่อด้วยอิฐระหว่างด้านหลังอาคารสถานีรถไฟและอาคารปิยมหาราช การุณย์ สันนิษฐานว่าเป็นฐานป้อมพระราชวังหลัง ระหว่างการขุดค้นได้เก็บโบราณวัตถุรวมทั้งตัวอย่างดินและอิฐ เพื่อนำไปวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเห็นความสำคัญของฐานป้อม ซึ่งเป็นหลักฐานทางโบราณคดีเพียงชิ้นเดียวที่ยืนยันถึงตำแหน่งที่ตั้งของ พระราชวังบวรสถานพิมุข หน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราชจึงได้บันทึกการขุดค้นฐานป้อมไว้ตลอดการทำงาน และนำเสนอผ่านวิดีทัศน์ พร้อมทั้งเรื่องราวของเครื่องถ้วยที่ค้นพบจากการสำรวจพื้นที่นี้ นอกจากนี้ทางเดินก่อนเข้าห้องศาสตราวุธยังจัดแสดงภาพพิมพ์แผนที่เมืองธนบุรี และปริมณฑล เขียนโดยชาวพม่าที่เข้ามายังแผ่นดินไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสมัยธนบุรีถึง ต้นรัตนโกสินทร์

              5. โบราณราชศัสตรา จัดแสดงศาสตราวุธที่คณะแพทยศาสตร์ฯ ได้รับมอบจากราชสกุล “เสนีวงศ์” เป็นราชสกุลสืบเชื้อสายจากกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข  มีการนำเสนอวิดีทัศน์ขั้นตอนการบูรณะศาสตราวุธและวิดีทัศน์การพระราชสงคราม ของศึกท่าดินแดง พ.ศ. 2329 ซึ่งเป็นสงครามที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลคุมทัพหน้าเข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชคุมทัพหลวง และกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขตามเสด็จ กองทัพหลวงเข้าตีค่ายที่ท่าดินแดงรบกับพม่าอยู่  3 วัน พม่าก็ทิ้งค่ายแตกไป หลังจากนั้นก็ไม่มีสงครามใหญ่กับพม่าอีก

              6. คมนาคมบรรหาร จัดแสดงประวัติสถานีรถไฟธนบุรี ประกอบด้วยห้องฉายภาพยนตร์สี่มิติ ใช้เทคนิคพิเศษเพื่อให้ผู้ชมเสมือนร่วมเดินทางโดยรถไฟย้อนไปสู่การเริ่มต้น เดินทางโดยรถไฟ

              7. ศิริราชบุราณปวัตติ์ จัดแสดงเกี่ยวกับกำเนิดโรงพยาบาล การตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในประเทศไทย พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ทรงพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของ ไทย  ทั้งเป็นผู้เจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้เข้ามาช่วยเหลือพัฒนาด้านการ แพทย์ไทย   การสอนทางปรีคลินิก  ทั้งในห้องปฏิบัติการและภาคบรรยาย แสดงอุปกรณ์การสอนที่ใช้ในยุคก่อน  จำลองห้องผ่าตัดให้ผู้ชมร่วมแสดง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนและผู้เข้าชมสนใจอยากเป็น "หมอ"

              8. สยามรัฐเวชศาสตร์ จัดแสดงให้เห็นถึงความเจ็บป่วยของมนุษย์ ความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์  เหตุแห่งโรค  วิธีการเยียวยาความเจ็บป่วย และบทสรุปของการมีสุขภาพดีด้วยแนวคิด “ธรรมานามัย” นำเสนอในรูปแบบด้วยเทคนิคทันสมัยที่ผู้ชมสามารถประยุกต์ใช้ได้ เช่น วิดีทัศน์สาธิตการบริหารกายด้วยวิธีก้าวเต้น-ก้าวตา และท่าฤาษีดัดตน การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยสมุนไพร และการพัฒนาจิตให้มีสุขภาพดี สิ่งแสดงในห้องนี้ ส่วนหนึ่งนำมาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติการแพทย์ไทยอวย เกตุสิงห์ เมื่อออกไปนอกอาคารจะสามารถชมสวนสมุนไพรได้อีกด้วย
              


               อาคารพิพิธภัณฑ์ 3 เป็นส่วนจัดแสดงชื่อ “นิวาสศิรินาเวศ”
              เป็นอาคารโกดังสินค้าริมคลองบางกอกน้อย จัดแสดงบรรยากาศวิถีชีวิตสองฝั่งคลองบางกอกน้อยในอดีต มีชาวบางกอกน้อย ชุมชนใกล้เคียงและข้าราชการมาตั้งถิ่นฐาน มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม งานศิลป์ ภูมิปัญญา และความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันแต่ก็ได้หลอมรวมเป็นวิถีชีวิตของชุมชนบางกอกน้อย และจัดแสดงสิ่งแสดงสำคัญที่ขุดค้นพบขณะสำรวจทางโบราณคดี คือ เรือโบราณขนาดใหญ่ ที่พบบริเวณเยื้องอาคารพิพิธภัณฑ์ 4 ปัจจุบันตรงกับบริเวณอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำการเก็บกู้ อนุรักษ์ พร้อมทั้งศึกษาค้นคว้าในเชิงลึก
              

              เรือโบราณลำนี้ถูกกลบฝังอยู่ใต้รางรถไฟ ลึกลงไปจากผิวหน้าดินปัจจุบันประมาณ  5-7 เมตร มีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 24 เมตร ลำเรือเชื่อมต่อส่วนต่างๆ ด้วยตะปู เขี้ยวโลหะ และหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองตลอดทั้งลำ นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยหลากหลายประเภทในชั้นดินภายในลำเรือ ซึ่งได้มาจัดแสดงรอบเรือโบราณด้วย พร้อมกันนี้ยังได้เพลิดเพลินกับบรรยากาศวิถีชีวิตและทิวทัศน์ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย จากภาพวาดที่แขวนอยู่บนผนังโดยรอบอีกด้วย
.................
(หมายเหตุ : เนื้อหาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานนั้นเป็นข้อมูลจากหน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเว็บไซต์Trueปลูกปัญญานำมาเผยแพร่อีกทอดหนึ่ง)
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 15 ก.ค. 13, 21:13


โดยเฉพาะห้องที่ ๕ นั้น จะเป็นการเปิดแสดงพระแสงดาบที่เชื่อกันว่าสืบทอดมาแต่กรมพระราชวังหลังครับ  เจ้าของเดิมท่านมีบ้านพักอยู่แถว ๆ วังหลัง และได้มอบพระแสงนี้ให้กับทางพิพิธภัณฑ์เมื่อประมาณสองปีกว่ามาแล้วครับ ผมจำได้เลา ๆ ว่าเคยรับปากว่า จะมาบอกเมื่อได้ข่าว ตอนนี้ก็มาทำตามสัญญาแล้วนะครับ

รอเปิดอย่างเป็นทางการอีกทีครับ

ที่มาของข่าว

http://www.komchadluek.net/detail/20130715/163486/%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%AF%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99.html#.UeQAFhcW3eU
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 15 ก.ค. 13, 21:17

1.เจ้าขุนเณรเป็นเจ้านายวังหลังด้วยหรือเปล่า
2.วังเจ้าขุนเณร วังสวนมังคุด วังสวนลิ้นจี่ วังเจ้านครเชียงใหม่ วังเจ้าลาว วังเจ้านครเวียงจันทร์ วังบ้านปูน อยู่ตรงไหนบ้าง
  เป็นของเจ้านายพระองค์ไหน
3.วังหลวง วังหลัง วังหน้า วังเดิม วังสวนอนันต์ เดิมมีอาณาเขตแค่ไหน

เจ้าขุนเณรเป็นเจ้านายวังหลังด้วยหรือเปล่า น่าจะเป็นนะครับ

รายละเอียดวังเจ้าลาว นะครับ
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=605681

ส่วนวังบ้านปูนนั้น อยู่ในซอยเล็ก ๆ แถววังหลังครับ

ส่วนที่ว่ามีอาณาเขตแค่ไหน ถ้าจำไม่ผิด จะมีแนวคูวังเดิม อยู่ตรงถนนที่เป็นทางเข้าโรงพยาบาลธนบุรี ๑  ในปัจจุบันครับ มีป้ายบอกไว้
บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 17 ก.ค. 13, 14:32

มาลงชื่อตามอ่าน ขอบพระคุณสำหรับความรู้ หากว่างก็จะหาเวลาไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขค่ะ
บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
ทิพยุทธ
อสุรผัด
*
ตอบ: 28


ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 04 เม.ย. 15, 11:31

สายสัมพันธ์ ระหว่าง พระเจ้าตากกับกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์(พระมหาอุปราช)พระนามเดิมว่าเจ้าจุ้ยที่๑ในสมเด็จพระราชินีดำรงพระราชตำแหน่งรัชทายาทถูกสำเร็จโทษวันเสาร์เดือน๖แรม.๘ค่ำ พ.ศ.๒๓๒๕และในการนี้บุตรและธิดาทั้งหลายของกรมขุนอินทรพิทักษ์ไม่ได้ถูกประหาร เลยเหลือสืบสกุลสายตรงเป็นสกุล“สินสุข”และ“อินทรโยธิน”กรมขุนอินทรพิทักษ์-เจ้าฟ้าจุ้ยมีธิดา๒บุตรชาย๒
     ๑.๑ คุณหญิงมะเดื่อ เป็นหม่อมห้ามในกรมหมื่นนราเทเวศร์พระโอรสพระองค์ใหญ่ในการพระราชวังบวรสถานพิมุข(วังหลัง)มีโอรสต่อกันคือ
            หม่อมเจ้าชายเศรษฐ  ปาลกะวงศ์ณ อยุธยา
            หม่อมเจ้าชายจักรจัน ปาลกะวงศ์ณ อยุธยา
            หม่อมเจ้าหญิง ไม่ปรากฏพระนามปาลกะวงศ์ณ อยุธยา
     ๑.๒ คุณหญิงสาลี่เป็นหม่อมห้ามในกรมหลวงเสนีบริรักษ์พระโอรสพระองค์ เล็กในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข(วังหลัง)มีโอรสต่อกันคือ
            หม่อมเจ้าชายจุ้ย(จิ๋ว)เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
            หม่อมเจ้าชายไม่ปรากฏพระนามเสนีวงศ์ ณ อยุธยา
            หม่อมเจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม เสนีวงศ์ ณ อยุธยา


รบกวนอาจารย์เทาชมพูหรือท่านใดพอทราบไหมครับว่าหม่อมเจ้าทั้งหกนั้นมีบุตรธิดา สืบสายไปถึงลำดับหม่อมหลวงกี่ท่านครับ ไม่ทราบว่าผมถามกว้างไปหรือเปล่าครับหรือพอจะหาข้อมูลได้ที่ไหนบ้างครับ ผมลองเข้าไปอ่านที่http://vcharkarn.com/reurnthai/wat_rakang.php แต่ไม่มีบทความแล้วครับ ขอบคุณมากครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 04 เม.ย. 15, 11:45

ขอตั้งข้อสังเกตุตรงนี้นะครับ

ในโลกของอินเทอเน็ต จะพบข้อความในกระทู้ต่างๆบ้าง ในบล๊อกส่วนตัว และอืนๆบ้าง เป็นข้อความซ้ำๆซากๆ ป้ายมาจากที่เดียวกันที่มีผู้ลงไว้เป็นปฐม ครั้นข้อมูลแรกผิด ก็ย่อมผิดตามๆกันไปหากผู้ลอกสักแต่ว่าลอก ไม่ได้แก้ไขสิ่งผิดนั้นก่อนเผยแพร่ต่อ

ในกรณีย์นี้ ที่ผิดก็คือ นามสกุลของหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวงไม่มี ณ อยุธยาต่อท้ายนะครับ

ณ อยุธยา ใช้ต่อท้ายผู้ที่ใช้นามสกุลที่เป็นราชสกุล ที่คำหน้านามเป็นนาย นาง หรือนางสาวเท่านั้น เพื่อให้เป็นที่ทราบว่านามสกุลนั้นเป็นราชสกุล ส่วนหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวงนั้น คำนำหน้านามได้บอกความตามนัยยะนั้นแล้ว
บันทึกการเข้า
ทิพยุทธ
อสุรผัด
*
ตอบ: 28


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 04 เม.ย. 15, 13:10

เรียนท่าน NAVARAT.C ที่ทำงานผมรับพนักงานที่ด้อยโอกาสเข้ามาทำงาน เป็นคนกำพร้า พูดไม่ได้ อยู่สถานพักพิงคนไร้ที่พึ่ง แต่นามสกุลในบัตรประชาชนใช้ ปาละกะวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งสะกดต่างจากปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ครั้นจะถามเค้าว่าได้นามสกุลนี้มาอย่างไรผมก็สื่อสารกับเขาไม่รู้เรื่องอีกครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 04 เม.ย. 15, 13:29

เรียนคุณทิพยุทธ

บุคคลผู้เป็นสมาชิกราชสกุลก็เป็นมนุษย์ปุถุชนไม่ต่างกับเราๆท่านๆ มีสิทธิ์ที่จะเป็นคนกำพร้า ด้อยโอกาส  พูดไม่ได้ และอยู่สถานพักพิงคนไร้ที่พึ่งได้เช่นเดียวกับคนไทยนามสกุลอื่นๆ

ถ้าบัตรประชาชนระบุเช่นนั้น ก็เชื่อได้ในระดับหนึ่งละครับว่า เขามีเชื่อสายมาจากจากราชสกุลที่ระบุจริง แม้สะกดต่างๆกันไป ก็เหมือนราชสกุลอีกหลายสายที่ถูกทางราชการในบางยุคสมัย บังคับให้เปลี่ยนไปสะกดตามแบบพาสาไทยที่ท่านผู้นำต้องการ  ซึ่งบางคนก็เปลี่ยน บางคนไม่ยอมเปลี่ยน แต่ยังคงความเป็นญาติพี่น้องเหมือนเดิม
บันทึกการเข้า
ทิพยุทธ
อสุรผัด
*
ตอบ: 28


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 04 เม.ย. 15, 16:54

ผมเข้าใจผิดไปเองครับท่านNAVARAT.C ตอนแรกผมเข้าใจไปว่าเขามาจากบ้านเด็กที่กำพร้าบิดามารดาเลยสงสัยว่าได้นามสกุลมาจากไหน เรียนด้วยความเคารพผมไม่ได้มีเจตนามองว่าเขาเป็นคนด้อยโอกาส เพียงแต่ผมสื่อสารกับเขาไม่ค่อยรู้เรื่องหน่ะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 05 เม.ย. 15, 18:34

รบกวนอาจารย์เทาชมพูหรือท่านใดพอทราบไหมครับว่าหม่อมเจ้าทั้งหกนั้นมีบุตรธิดา สืบสายไปถึงลำดับหม่อมหลวงกี่ท่านครับ ไม่ทราบว่าผมถามกว้างไปหรือเปล่าครับหรือพอจะหาข้อมูลได้ที่ไหนบ้างครับ ผมลองเข้าไปอ่านที่http://vcharkarn.com/reurnthai/wat_rakang.php แต่ไม่มีบทความแล้วครับ ขอบคุณมากครับ

มีหม่อมเจ้าชายเพียงสององค์ในราชสกุลปาลกะวงศ์ฯ เท่านั้นที่มีสิทธิ์จะมีเชื้อสายสืบต่อมา    คือหม่อมเจ้าชายเศรษฐ  ปาลกะวงศ์และหม่อมเจ้าชายจักรจัน ปาลกะวงศ์      หนึ่งในสองท่านนี้น่าจะเป็นท่านปู่ของพนักงานคนที่คุณเอ่ยถึง แต่ไม่มีบันทึกหลักฐานว่าองค์ไหน
หม่อมเจ้าหญิงทั้งหลายไม่มีโอกาสจะมีหลานเป็นหม่อมหลวงอยู่แล้ว  หากว่าท่านไม่ได้เสกสมรสกับหม่อมเจ้า  เพราะราชตระกูลสืบสายสกุลทางพ่อ ไม่ใช่แม่

ยังไม่เคยเจอหนังสือที่รวบรวมรายชื่อราชสกุลชั้นหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวงทั้งหมดในประเทศไทย    ใครทราบว่ามี กรุณาบอกด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
PATAMA.M
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 11 ส.ค. 15, 16:15

เข้ามาลงชื่อกระทู้เลอค่า..ขอบพระคุณค่ะ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 15 ส.ค. 15, 07:39

ขอย้อนกลับไปถึงอยุธยาตอนปลาย นะคะ

ตามประวัติที่บันทึกโดยพระยาสากลกิจประมวล(ม.ล. แปลก เสนีวงศ์) และเรียบเรียงโดย นายยิ้ม บัณฑิตยางกูร  เล่าย้อนความไปว่า
ในแผ่นดินพระเจ้าเสือ    แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง   ทรงมีพระราชโอรส 2 พระองค์   ได้แก่เจ้าฟ้าเพ็ชร์ ซึ่งต่อมาทรงขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล    และเจ้าฟ้าพร  ทรงเป็นกรมพระราชวังหลัง เรียกกันว่า พระบัณฑูรน้อย

ถ้าพิจารณาจากพระราชพงศาวดารแล้ว จะไม่มีข้อความไหนเลยครับที่ระบุว่าเจ้าฟ้าพรได้เป็นกรมพระราชวังหลังหรือแม้แต่จะไปประทับที่วังหลัง มีข้อความตอนพระเจ้าเสือครองราชย์ในพระราชพงศาวดารความพิสดารที่ชำระหลังๆจากฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)เป็นต้นมาแค่ว่า

"โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ประดิษฐานที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้เรียกพระบัณฑูรน้อย"  
(ในพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาและพงศาวดารต้นรัตนโกสินทร์ ยังใช้คำว่า 'พระเจ้าลูกเธอ' เรียกพระโอรส จะมาเริ่มเรียก 'พระเจ้าลูกยาเธอ' สมัยไหนก็ไม่แน่ใจครับ)

ที่เรียก 'พระบัณฑูรน้อย' คงจะตั้งให้เป็นศักดิ์ที่รองมาจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งรับ 'พระบัณฑูร' โดยอาจจะเป็นศักดิ์ที่ตั้งขึ้นแบบเฉพาะครับ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานถภาพทรงมีพระวินิจฉัยไว้ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๓ ตำนานวังน่า ความว่า

"ถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ ทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเพ็ชรพระองค์ใหญ่เปนพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จประทับที่วังน่าตามตำแหน่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพรพระองค์น้อยทรงตั้งเปนพระบัณฑูรน้อย จะเปนด้วยทรงรังเกียจตำแหน่งกรมพระราชวังหลัง ด้วยเมื่อตั้งนายจบคชประสิทธิ เปนอยู่ได้ ไม่ยืดยาวต้องสำเร็จโทษ ฤาจะยกย่องพระยศให้สูงขึ้นเสมอกับพระ มหาอุปราชาอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ แต่พระบัณฑูรน้อยจะเสด็จประทับวังไหน แลข้าราชการในสังกัดกรมพระบัณฑูรน้อยจะมีทำเนียบแล นามขนานอย่างไรหาทราบไม่"

ซึ่งถ้าเจ้าฟ้าพรได้เป็นกรมพระราชวังหลังจริง พระราชพงศาวดารก็น่าจะระบุไปตรงๆเลยว่า "ทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นกรมพระราชวังหลัง" ไม่มีเหตุผลที่พงศาวดารจะละไว้เพราะก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าจะปิดบัง ผิดกับการตั้งเจ้านายวังหลังสมัยพระเพทราชาที่มีระบุไว้ครับ ส่วนตัวแล้วผมคิดว่ายังมีหลักฐานไม่พอที่จะสรุปชี้ชัดได้ว่าพระองค์ทรงได้เป็น 'กรมพระราชวังหลัง' ครับ

ผิดถูกอย่างไรรบกวนอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 15 ส.ค. 15, 08:42

วังหลังเท่าที่ผมค้นเจอ จะปรากฏครั้งแรกในพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิสละราชสมบัติให้สมเด็จพระมหินทราธิราช อิงตามพระราชพงษาวดาร ความเก่าตามต้นฉบับหลวง เขียนครั้งกรุงธนบุรี เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๖ ซึ่งศักราชถูกต้องสอดคล้องกับพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่ชำระสมัยสมเด็จพระนรารายณ์ มีความว่า

"ถึงปีฉลูศกศักราช ๙๒๗ เดือน ๑๒ พระเจ้าช้างเผือกก็อัญเชิญสมเด็จพระมหินทราธิราชหน่อพระพุทธิเจ้า เสด็จขึ้นผ่านพิภพเสวยราชสมบัติครองแผ่นดินกรุงพระนครศรีอยุทธยา แลพระเจ้าช้างเผือกเสด็จออกไปอยู่เปนวังหลัง ขณะนั้นพระชนม์พระเจ้าช้างเผือกได้ ๕๙ พระวัสสา สมเด็จพระมหินทราธิราชพระเจ้าแผ่นดินเมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ พระชนม์ได้ ๒๕ พระวัสสา"

ถ้าเหตุการณ์ในพงศาวดารตอนนี้เป็นจริง(เพราะไม่สอดคล้องกับหลักฐานฝั่งพม่าอย่างพงศาวดารหรือ หลักฐานร่วมสมัยอย่างวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าหงสาวดีช้างเผือก(Hantawaddy Hsinbyumyashin Ayedawbon)ที่ว่าอยุทธยาตกเป็นประเทศราชของหงสาวดีตั้งแต่สงครามช้างเผือก และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิถูกพาไปประทับที่หงสาวดีด้วย) ดูจากคำว่า 'เปนวังหลัง' ก็แสดงว่าตำแหน่งวังหลังที่น่าจะมีในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแล้วเป็นอย่างน้อยครับ

วังหลัง หลังจากนั้นปรากฏในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา อิงตามหลักฐานของเยเรมียส ฟาน ฟลีต(Jeremias Van Vliet)หัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ประจำกรุงศรีอยุทธยาสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ระบุว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงเป็น 'ฝ่ายหน้า' ซึ่งก็คือวังหน้าหรือพระมหาอุปราช ในขณะที่เรียกพระราเมศวร(Praerha Mij Zoon - พระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร)ทรงเป็น 'ฝ่ายหลัง'

ซึ่งในหลักฐานของไทยอย่างพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯก็มีระบุตำแหน่งของ 'พระเจ้าฝ่ายหน้า'(พระเจ้าลูกเธอมหาธรรมราชา) ซึ่งยกทัพไปตีเขมรใน พ.ศ.๒๑๔๖ และตามหลักฐานของฟาน ฟลีตสมัยพระเจ้าปราสาททองก็ระบุว่าทรงตั้งพระอนุชาเพียงพระองค์เดียว(อิงตามหลักฐานแล้วคือพระศรีสุธรรมราชา เข้าใจว่าพงศาวดารจะชำระแก้ไม่ให้เป็น)เป็น 'ฝ่ายหน้า'  เข้าใจว่าสมัยนั้นจะนิยมใช้คำว่า 'ฝ่ายหน้า' 'ฝ่ายหลัง' มากกว่า 'วังหน้า' 'วังหลัง' ที่ปรากฏมากในสมัยหลังครับ

แต่หลักจากสมเด็จพระเอกาทศรถที่มีหลักฐานระบุชัดเจนว่าเป็น 'ฝ่ายหลัง' ก็ไม่มีหลักฐานว่ามีการตั้งเจ้านายให้เป็นวังหลังอีกนาน มีแต่ให้เจ้านายไปครองวังหลังเป็นระยะ แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าให้เป็น 'วังหลัง' แต่อย่างใด เช่นสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชทาน 'พระตำหนักวังหลัง' ให้เป็นที่ประทับของพระไตรภูวนาทิตยวงศ์พระอนุชา แต่ไม่กี่เดือนก็จับพระไตรภูวนาทิตยวงศ์สำเร็จโทษในข้อหากบฏ ต่อมาปลายรัชกาลก็ปรากฏว่าเจ้าฟ้าอภัยทศที่เป็นพระอนุชาประทับอยู่ ซึ่งอิงตามหลักฐานร่วมสมัยของตะวันตกแล้ว พระอนุชาตอนนั้นไม่เป็นที่ไว้วางพระทัย จึงถูกกักบริเวณไม่ให้มีอำนาจหรือออกขุนนาง เจ้าฟ้าอภัยทศก็ปรากฏว่าทรงประชวรอัมพาต ตามหลักฐานของบาทหลวง เดอ แบส(Claude de Bèze)ก็ว่าทรงมีพระนิสัยฉุนเฉียวโมโหร้ายและโปรดเสวยน้ำจันฑ์ พิจารณาแล้วสมเดจพระนารายณ์คงจะไม่ตั้งเป็นเจ้าวังหลังครับ

จนสมัยสมเด็จพระเพทราชาจึงปรากฏหลักฐานการตั้ง 'กรมพระราชวังหลัง' อย่างชัดเจนครับ โดยมีระบุในพงศาวดารที่ชำระหลังฉบับพันจันทนุมาศว่าทรงโปรดให้นายจบคชประสิทธิ์ ทรงบาศขวาในกรมช้าง(ซึ่งไม่ได้มีหลักฐานว่าเป็นเครือญาติกับพระเพทราชา)ซึ่งมีส่วนช่วยในการชิงราชสมบัติ ขึ้นเป็น 'กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข'(ฉบับพันจันทนุมาศแค่ว่า 'ให้ไปพระราชวังหลัง' แต่ได้เครื่องสูงเสมอวังหน้า) นอกจากนี้ปูนบำเหน็จให้ขุนนางที่มีความชอบอย่างเจ้าพระยาสุรสงครามให้มีเครื่องสูงเสมอด้วยกรมพระราชวังหลัง แต่ทั้งสองก็ถูกสำเร็จโทษไปเช่นกันครับเพราะถูกระแวงว่าจะชิงราชสมบัติ (พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศระบุว่าถาดทองในวังหลวงหายแล้วไปพบในวังหลังเลยสำเร็จโทษนายทรงบาศ แต่พงศาวดารที่ชำระสมัยหลังเพิ่มรายละเอียดว่าพระเจ้าเสือแอบทำอุบายเอาถาดทองไปซ่อนในวังหลัง เพื่อหาเหตุกำจัดวังหลังครับ)

จากนั้นมาในสมัยอยุทธยาก็ไม่ปรากฏหลักฐานการตั้งกรมพระราชวังหลังอีกครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.081 วินาที กับ 20 คำสั่ง