เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 67198 เจ้านายวังหลัง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 09:53

ก็อย่างที่คุณ werachaisubhong  ตอบค่ะ    กรมพระราชวังหลังท่านเป็นหลานชายแท้ๆ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต้นราชวงศ์จักรี   บทบาทของท่านที่ทำให้ท่านได้เป็นกรมพระราชวังหลังก็เกี่ยวกับการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ ๑     
ทุกอย่างที่เล่าในกระทู้นี้ ล้วนเป็นที่มาที่ไปของบทบาทกรมพระราชวังหลังทั้งสิ้น  ไม่ได้เล่านอกเรื่อง

จากกรมพระราชวังหลัง ก็จะเล่าต่อมาถึงเชื้อสายของท่าน   ไปตามลำดับค่ะ 
กรุณาอดใจรอ  กระทู้นี้ค่อนข้างยาว  อย่าเพิ่งขัดคอ
บันทึกการเข้า
พรต
อสุรผัด
*
ตอบ: 8


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 12:24

ขออภัยคุณเทาชมพูและมาลงชื่อรอรับความรู้ต่อครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 16:09

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตำแหน่งมหาดเล็กหลวง  ถือเป็นบันไดสำคัญขั้นแรกในหมู่ชายหนุ่มลูกผู้ดีเมื่อเข้าสู่ราชการ เนื่องจากจะมีโอกาสอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินให้ทรงใช้สอย และมีโอกาสรู้เห็นการงานสำคัญๆของบ้านเมือง ถ้าหากว่าทำตัวดีมีความสามารถจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ต่อไปก็จะโปรดเกล้าฯให้เลื่อนไปสู่ตำแหน่งสูงๆได้ง่ายกว่าข้าราชการสังกัดอื่นๆ
ข้อนี้เป็นเหตุผลว่า หลวงฤทธิ์นาย(หม่อมอิน) หลังจากรับราชการมานานกว่า ๑๐ ปี จนอายุ ๓๔  ก็น่าจะรอบรู้เรื่องกิจการงานเมือง และการศึก พอที่จะเป็นที่ไว้วางพระทัย  นอกจากนี้คงจะเคยตามเสด็จออกศึกใหญ่น้อย  ไม่ได้อยู่แต่ในวังเฉยๆ     สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากวังไปกินตำแหน่งใหญ่  ได้เป็นถึงพระยาสุริยอภัย  ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา  ศักดินา ๑๐๐๐๐ ไร่   ได้รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าพระยา  มีเจียดกระบี่ คณฑีน้ำ พานหมาก กระโถน ล้วนแต่ทองคำ    และยังมีแคร่กันยาหลังคากันแซงเตย มีปโทนแห่หน้า ๕๐ คู่  เรียกได้ว่าเป็นขุนนางระดับบิ๊กของอาณาจักรทีเดียว

ขุนนางในสมัยโบราณนั้น แม้ว่ามีบรรดาศักดิ์เท่ากัน เช่นเป็นพระยาเหมือนกัน  แต่ก็มิใช่ว่าจะใหญ่เสมอกันโดยอัตโนมัติ   ต้องดูตำแหน่งและศักดินาประกอบอีกทีหนึ่ง    พระยาที่ศักดินาน้อยและตำแหน่งต่ำกว่าก็ย่อมเล็กกว่าพระยาศักดินามากกว่าและตำแหน่งสูงกว่า   พระยาสุริยอภัยได้ศักดินาเท่าเจ้าพระยา  ถือว่าใหญ่กว่าพระยาโดยทั่วไป 

ส่วนนายจ่าเรศน้องชาย  ก็โปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็นพระอภัยสุริยา  ปลัดเมืองนครราชสีมา   ออกไปรับราชการด้วยกันทั้งพี่และน้อง   ส่วนในวัง ก็ทรงเลื่อนหม่อมทองจีน น้องชายคนเล็กของพระยาสุริยภัยซึ่งเป็นมหาดเล็กหุ้มแพรตำแหน่งนายเล่ห์อาวุธ ขึ้นเป็นหลวงฤทธิ์นายเวรแทน 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 19:40

ถ้าพระยาสุริยอภัยไม่เคยแสดงฝีไม้ลายมือให้สมเด็จพระเจ้าตากสินเห็นมาก่อน  คงไม่ได้ไปเป็นพระยานั่งเมืองนครราชสีมา   ในสมัยนั้นโคราชหรือนครราชสีมาไม่ใช่เมืองเล็กน้อย   หากแต่เป็นเมืองใหญ่แห่งภาคอีสาน  มีเมืองขึ้นหลายเมือง    ก็เป็นธรรมดาในยุคบ้านเมืองระส่ำระสาย   เมืองใหญ่ก็ย่อมมีปัญหาใหญ่มากกว่าเมืองเล็กที่ไม่มีใครสนใจ
สมัยต้นธนบุรี  นครราชสีมาเป็นเมืองหนึ่งในหลายเมืองที่เจ้าพิมายหรือกรมหมื่นเทพพิพิธพระโอรสในพระเจ้าบรมโกศได้ไว้ในอำนาจ ตั้งตนเองเป็นก๊กใหญ่ก๊กหนึ่ง มีผู้คนไปสวามิภักดิ์มากมาย    สมเด็จพระเจ้าตากสินยกทัพไปปราบ  เจ้าพิมายยึดนครราชสีมาปักหลักสู้  แต่สู้ไม่ได้ก็หลบหนีออกจากเมืองไป  แต่ไปไม่รอด  เพราะมีขุนนางฝีมือดีชื่อขุนชนะ ทำความดีความชอบตามจับเจ้าพิมายที่หนีไปเวียงจันทน์มาถวายพระเจ้าตากสินได้   จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยากำแหงสงคราม (บุญคง  ต้นสกุลกาญจนาคม) ว่าราชการเมืองนครราชสีมาต่อมา

แต่นครราชสีมาก็ไม่วายมีเรื่องวุ่นวายสืบต่อกันมาอีก    เมื่ออะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่ายกทัพมาตีพิษณุโลก    เจ้าเมืองหลายเมืองได้ยินข่าวว่าพม่ามาตีไทย คิดว่าไทยแพ้แน่    ก็ฉวยโอกาสแข็งเมืองขึ้นมา  หนึ่งในนี้คือพระยานางรอง เจ้าเมืองนางรอง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา ไม่ถูกกับพระยากำแหงสงครามมาแต่เดิม   เห็นเป็นจังหวะดี ก็ไม่ยอมอยู่ในอำนาจของพระยากำแหงสงครามอีก แต่บ่ายหน้าไปพึ่งเจ้าโอ เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ให้ช่วยเหลือ    เจ้าโอก็คิดแบบเดียวกัน ว่าไทยคงสู้พม่าไม่ได้  ก็รับเจ้าเมืองนางรองไว้เป็นพรรคพวก  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 19:46

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบว่าพระยานางรองแข็งเมือง ไม่ยอมขึ้นต่อเมืองนครราชสีมา  ก็โปรดฯให้เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพไปปราบปรามเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙ เจ้าพระยาจักรียกกองทัพไปยังเมืองนครราชสีมา  ให้กองหน้าไปจับ ได้ตัวพระยานางรองมาชำระความ จึงทราบว่าเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ กำลังเตรียมกองทัพ จึงบอกเข้ามายังกรุงธนบุรี จะขอไปตีเมืองจำปาศักดิ์ต่อไป 
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้เจ้าพระยาสุรสีห์น้องชายเจ้าพระยาจักรี ยกทัพไปสมทบอีกทัพหนึ่ง   เจ้าพระยาทั้งสองยกกองทัพไปตีได้เมืองนครจำปาศักดิ์และหัวเมืองทางฟากแม่น้ำโขงฝั่งซ้ายจนถึงเมืองอัตบือ ได้หัวเมืองทางริมแม่น้ำโขงข้างใต้ตลอดจนต่อแดนกรุงกัมพูชา

ทางนี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเรียกพระยากำแหงสงครามกลับมารับราชการในกรุงธนบุรี   แล้วทรงส่งพระยาสุริยอภัยไปเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมาแทน    ให้นายจ่าเรศน้องชายไปด้วยเพื่อจะช่วยกันบริหารเมือง  ไม่มีข้อขัดแย้งกัน   

จากนั้น  ก็เกิดศึกใหญ่อีกครั้งหนึ่งระหว่างไทยกับเขมร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 06 มี.ค. 12, 10:07

เรื่องของเขมรกับไทยก็เป็นศึกใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของอาณาจักรธนบุรี  ขอเล่าถึงความเป็นมาเสียก่อนนะคะ

ถ้าเปิดแผนที่ดู จะเห็นว่าเขมรอยู่ตรงกลางระหว่างไทยกับญวน (หรือเวียตนามในปัจจุบัน)    อาณาจักรเล็กๆตรงกลางจึงถูกชักคะเย่ออยู่ระหว่างอาณาจักรใหญ่สองข้าง     ยุคไหนใครใหญ่ เขมรก็เข้าพึ่งหรือไม่ก็ถูกรวบเข้าสู่อำนาจของฝ่ายนั้น    แต่ไม่ช้าไม่นาน อำนาจเปลี่ยนมือไป เขมรก็จะถูกดึงไปสู่อีกข้างหนึ่ง   
ยุคไหนเขมรเข้มแข็งขึ้นมาหรือเห็นอีกฝ่ายอ่อนแอลง  เขมรก็จะปลีกตัวออกห่าง  กลายเป็นหอกข้างแคร่    ไทยเองนอกจากต้องพะวงกับพม่าที่ยกทัพมารุกรานแล้วก็ยังต้องระวังทางด้านเขมรอีกด้วย

ในสมัยอยุธยา เขมรเป็นประเทศราชของไทย   เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก  เขมรก็ถือว่าหน้าที่ของตนต่อไทยจบลง  ไม่ต้องส่งบรรณาการอีกแล้ว  ภายในอาณาจักรเองก็เกิดเรื่องชิงบัลลังก์กันขึ้นมาระหว่างเจ้านายเขมร ๒ องค์คือพระรามราชา(นักองค์นนท์) กับพระนารายณ์ราชา (นักองค์ตน)   พระนารายณ์ราชาหันไปพึ่งญวน ขอกำลังมาช่วยรบ  พระรามราชาเป็นฝ่ายแพ้ก็หนีมาพึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสิน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 06 มี.ค. 12, 15:20

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าเขมรเคยเป็นประเทศราชของไทยมาก่อน ก็ทรงส่งพระราชสาส์นไปเตือนพระนารายณ์ราชาให้กลับมาสวามิภักดิ์ต่อไทยดังเดิม แต่พระนารายณ์ราชาถือว่าทรงมีญวนแบ๊คหลังอยู่  ก็ไม่ยอม ซ้ำยังตอบสาส์นกลับมาอย่างโอหังว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นสามัญชนมาก่อน มิได้เป็นกษัตริย์อย่างกษัตริย์อยุธยา จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่เขมรจะอ่อนน้อมให้      

คำตอบนี้ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินกริ้วมาก  จึงโปรดให้พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาอนุชิตราชานำทัพไปตีเขมร ในพ.ศ.2312 สามารถตีได้เมือง เสียมราฐ  พระตะบองและโพธิสัตว์ แต่ยังไม่ทันตีเมืองหลวงคือเมืองพุทไธเพชร (บันทายเพชร) ก็พอดีมีข่าวลือว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตจากการยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช   แม่ทัพทั้งสองเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายในกรุงธนบุรี  จึงยกทัพกลับ   พระนารายณ์ราชาก็รอดไปได้  ทำให้ศึกเขมรคาราคาซังอยู่

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปราบปรามก๊กต่างๆที่ตั้งตัวเป็นใหญ่  รวมอาณาจักรไทยได้เป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว  ก็ทรงนึกถึงศึกเขมรที่ยังไม่จบ  ก็โปรดให้ยกทัพไปตีเขมรอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2314  คราวนี้เสด็จไปเอง เป็นทัพหลวง  ยกไปทางเรือ ส่วนทัพบกมีเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ
คราวนี้ทัพไทยตีเมืองหลวงของเขมรแตกได้สำเร็จ   พระนารายณ์ราชาหนีไปพึ่งญวน  ทางนี้สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทรงตั้งพระรามราชาขึ้นครองราชย์    ภายหลังพระนารายณ์ราชากลับใจ  กลับมายอมสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี  และประนีประนอมยอมรับตำแหน่งพระมหาอุปโยราช (เทียบเท่าวังหน้า)เหตุการณ์ในเขมรจึงสงบลงได้ระยะหนึ่ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 06 มี.ค. 12, 18:54

    ถึงพ.ศ.2322 เขมรเกิดศึกภายในขึ้นมาอีก  เพราะเจ้านายสำคัญองค์หนึ่งคือพระมหาอุปราชเขมรถูกลอบสังหาร  ส่วนพระมหาอุปโยราชนารายณ์ราชาก็มาสิ้นพระชนม์ไปในระยะเดียวกันอีกองค์หนึ่ง  มีข่าวลือว่าผู้อยู่เบื้องหลังคือสมเด็จพระรามราชา เป็นผู้บงการฆ่าเจ้านายทั้ง 2   ขุนนางก็ลุกฮือขึ้นรัฐประหาร จับสมเด็จพระรามราชาถ่วงน้ำ  และอัญเชิญให้นักองเอง พระชันษาแค่ 5 ขวบ พระโอรสในพระมหาอุปโยราชขึ้นครองราชย์แทน โดยมีเสนาบดีชื่อฟ้าทะละหะ (มู) เป็นผู้สำเร็จราชการ
   ฟ้าทะละหะมู คงจะรู้ว่ารัฐประหารที่ทำลงไปกับเจ้านายเก่ามีสิทธิ์ถูกไทยลงโทษหนักแน่ๆ   จึงหันไปพึ่งพาญวนเพื่อเอาตัวรอด และเอาญวนมาคานอำนาจไทย        สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงตั้งพระทัยว่าคราวนี้จะต้องปราบเขมรให้สิ้นเสี้ยนหนาม   ก็โปรดเกล้าฯให้จัดทัพใหญ่  ให้เจ้าพระยาจักรี ซึ่งเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับเจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปตีเขมร 

    คราวนี้มีพิเศษอีกอย่างคือ โปรดเกล้าฯให้เจ้าฟ้าจุ้ย หรือพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไปทัพนี้ด้วย  เมื่อตีเขมรสำเร็จ  คราวนี้ไม่เอาเจ้านายเขมรครองราชย์อีกแล้ว เพราะยุ่งยากนัก   แต่จะสถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเขมรต่อไป
    ขุนนางสำคัญที่ทรงเรียกมาจากนครราชสีมา คือพระยากำแหงสงคราม  ก็โปรดเกล้าฯให้ติดตามเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไปในกองทัพใหญ่คราวนี้ด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 06 มี.ค. 12, 19:13

ตอนนั้น แม่ทัพใหญ่ทั้งสองยกทัพไปติดพันศึกอยู่ที่เขมร     ขุนนางฝ่ายบู๊คนสำคัญๆก็ติดตามกันไปในกองทัพด้วย    ตอนยกทัพก็ไม่มีใครนึกว่าทางกรุงธนบุรีจะเกิดจลาจลขึ้นมาได้  เพราะหัวใจของอาณาจักรคือสมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังอยู่ในเมืองหลวง    แต่เรื่องยุ่งยากก็เกิดขึ้นจนได้  และลุกลามไปไกลเกินกว่าจะคิด

ที่มาของการจลาจลเล่าไว้ในกระทู้เก่าเรือนไทย  ขอเอามาเล่าซ้ำอีกครั้งว่า  เริ่มต้นการจลาจลอยู่ที่พระยาวิชิตณรงค์ผู้รักษากรุงเก่าได้สัมปทานการขุดทรัพย์สินที่อยุธยา  เพราะก่อนกรุงแตกชาวอยุธยาฝังทรัพย์สินเงินทองของตนลงดินไว้แล้วแยกย้ายกันหนี  
หนีไปได้ก็มี ตายกันไปก็มาก ทำให้สมบัติตกค้างอยู่มากมาย  
พอถึงสมัยธนบุรี จึงเกิดการตามล่าหาขุมทรัพย์ในอยุธยากันใหญ่  เป็นเหตุให้พระยาวิชิตณรงค์เกิดไอเดียขอสัมปทานผูกขาดการขุดไว้คนเดียว  โดยถวายค่าสัมปทานแก่พระเจ้าตากปีละ ๕๐๐ ชั่ง   ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าพระยาวิชิตณรงค์ไม่ได้ขุดอย่างเดียว
แต่ไปรีดนาทาเร้นเอาเงินจากราษฎรชาวอยุธยาด้วย   เป็นทั้งฉ้อราษฎร์และบังหลวง   จนราษฎรทนไม่ไหวก็เลยลุกฮือขึ้น   เข้าไปปล้นเผาบ้านพระยาวิชิตณรงค์เจ้าเมือง   ฆ่าตายกันเรียบทั้งลูกเมีย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 06 มี.ค. 12, 21:13

    เมื่อข่าวถูกส่งไปถึงกรุงธนบุรี  สมเด็จพระเจ้าตากก็โปรดฯให้พระยาสรรค์ ขุนนางที่ประจำอยู่ในธนบุรีไปปราบ   อาจจะเป็นเพราะทรงทราบว่าหัวหน้าราษฎรที่ก่อเรื่องชื่อขุนแก้วเป็นน้องพระยาสรรค์เอง  จึงคิดว่าส่งพี่ชายไปปราบ   น้องจะยอมโดยดีเพราะเกรงพี่    แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร  ขุนแก้วกลับเกลี้ยกล่อมพี่ชายให้เข้าเป็นพวกเดียวกันได้สำเร็จ   ได้กำลังทหารเพิ่มเป็น ๒ เท่า ก็ยกพวกมาถึงธนบุรี
   ธนบุรีนั้นเข้าง่ายดายจริงๆ  พระยาสรรค์พาพวกบุกเข้ามาล้อมวังได้สำเร็จ    ไม่รู้ว่าทหารรักษาเมืองไปไหนกันหมด     ทหารที่ป้องกันพระเจ้าตากเหลือเพียงทหารฝรั่งล้อมวังและทหารราชองครักษ์ซึ่งเป็นพวกนับถือคริสตศาสนา    พวกนี้สู้เต็มที่แต่กำลังน้อย 
พระเจ้าตากก็เสด็จไปที่คุกปล่อยนักโทษออกมาสู้     แต่สู้ฝ่ายพระยาสรรค์เพียงคืนเดียวพระองค์ก็กลับใจไม่สู้

     จดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีเล่าเอาไว้น่าวิเคราะห์มากว่า  การสู้รบกันครั้งนี้  " ผู้คนบางเบาร่วงโรยนัก" หมายถึงว่าในธนบุรีกำลังฝ่ายพระเจ้าตากแทบไม่มีเลย
      การกบฎครั้งนี้แปลกมาก  เพราะฝ่ายพระเจ้าตากยังมีทหารเก่งๆหลายคนที่ประจำอยู่ในเมือง ไม่ได้ตามทัพใหญ่ไปเขมร  เช่นพระยาธิเบศร์ พระยารามัญ  พระยาอำมาตย์ พวกนี้สู้ตายลากปืนใหญ่ขึ้นป้อมมายิงจนข้าศึกถอยหนี     แต่แทนที่พระเจ้าตากจะตีพระยาสรรค์ให้แตกอย่างที่เคยทำกับข้าศึกมานับครั้งไม่ถ้วน  กลับเสด็จกลับออกไปรับสั่งห้ามว่า 

    "สิ้นบุญพ่อแล้ว  อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย  พระยาธิเบศร์ พระยารามัญ พระยาอำมาตย์  มิให้สู้อยู่ตายด้วยเจ้าข้าวแดง"

     คือทรงห้ามทหารพวกนั้นไม่ให้สู้ตายเพราะเห็นแก่พระคุณเจ้านาย    ทรงถือว่าสิ้นบุญท่านแล้วก็อย่าให้ทหารลำบากต้องมาตายแทน
     พระยาสรรค์ซึ่งเป็นขุนนางโนเนมไม่ได้ปรากฏฝีไม้ลายมือในประวัติศาสตร์ธนบุรีมาก่อน  ก็เหมือนกับคนซื้อล็อตเตอรี่หวังเลขท้าย  แต่กลับถูกรางวัลที่หนึ่งแทน    ก็สามารถยึดเมืองหลวงไว้ในอำนาจได้อย่างง่ายดาย
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 06 มี.ค. 12, 21:30

ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ สับสนนัก ไม่เฉพาะเรื่องราว แต่ตัวบุคคลด้วยค่ะ

อยากได้เห็น Family Tree ของพระเจ้าตากค่ะ โอรส ธิดา เป็นใครกันบ้าง

ดิฉันสับสนมานานแล้ว เจ้านายวังนี้ จะเรียกว่า วังหลัง หรือวังเดิม ดี

หากพระองค์ทรงผิดพลาดทางการเมือง ถึงกับต้องประหาร เหตุไฉนจึงยังคงเหลือ เชื้อสายของท่านไว้อีกหลายพระองค์

กรมขุนกษัตรานุชิต และ หม่อมไกรสร ทั้งสองท่านนี้ เป็นเชื้อสายพระเจ้ามิใช่หรือ

อ.เทาชมพู เขียนประวัติศาสตร์ช่วงนี้ได้กระชับดีค่ะ จะตามอ่านนะคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 06 มี.ค. 12, 21:35

เคยรวบรวมเชื้อสายและสกุลที่สืบต่อมาจากสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้ในกระทู้เก่าค่ะ    คุณร่วมฤดีมาถามอีกที  ดิฉันคงจะแยกไปตอบในกระทู้  การสวรรคตของพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช  จะตรงกับชื่อกระทู้มากกว่า

วังของกรมพระราชวังหลัง เรียกว่าวังหลังค่ะ  ส่วนพระราชวังเดิมคือพระราชวังสมเด็จพระเจ้าตากสิน  ก็ยังเป็นที่ประทับของเจ้านายในรัชกาลที่ ๒ และ ๓   พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯก็เคยทรงอยู่ที่นี่ก่อนเสด็จไปอยู่วังหน้า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 07 มี.ค. 12, 11:16

    พระยาสรรค์เข้ายึดอำนาจเมื่อค่ำวันเสาร์ เดือนสี่  แรม ๑๑ ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ สู้กันทั้งคืนกับทหารรักษาพระองค์ ตอนเช้าพระเจ้าตากก็ห้ามมิให้ทหารรักษาวังต่อสู้กบฎอีกต่อไป  เป็นอันว่าพระยาสรรค์ยึดเมืองได้วันอาทิตย์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือนสี่
   จากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้ไปนิมนต์สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงส์ กับพระพิมลธรรม พระรัตนมณี (หรือพระรัตนมุนี) ให้ออกไปเจรจายอมแพ้แก่พวกกบฏ พระยาสรรค์จึงให้พระสมณะทูตกราบทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ พระคุณเจ้าทั้งสามจงถวายพระพรให้ทรงผนวชเสียสักสามเดือน เพื่อชำระพระเคราะห์เมือง ”
    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงยอมรับที่จะปฏิบัติตาม      เมื่อทรงทราบว่าจบลงได้ก็ทรงพระสรวล  ตบพระเพลาแล้วตรัสว่า “เอหิภิกขุ มาถึงแล้ว”
    การที่พระองค์ทรงพระสรวล ตบพระเพลาว่า เอหิภิกขุ มาถึงแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า “สมสำนวนเจ้ากรุงธนมาก”

    ถ้าให้สันนิษฐานจากหลักฐานข้างบนนี้ก็เห็นได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมิได้ทรงไยดีกับทางโลกอีกต่อไปแล้ว   ใครจะเป็นกบฎ ใครจะรบกับใคร  ไม่อยู่ในพระราชประสงค์อีกต่อไป     ทรงมุ่งจะไปทางธรรมอย่างเดียวเท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 07 มี.ค. 12, 11:31

    ผลก็เป็นไปอย่างที่ตกลงกัน  สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จออกผนวช ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 4 แรม 12 ค่ำ ปีฉลู  ทรงอยู่ในราชสมบัติ 14 ปี 4 เดือน   จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวี ฯ ทรงบันทึกไว้ว่า “ พระยาสรรค์ให้นิมนต์พระราชาคณะให้ถวายพระพร ให้ทรงบรรพชาชำระพระเคราะห์เมือง 3 เดือน ทรงพระสรวลตบพระเพลาว่า เอหิภิกขุ มาถึงแล้ว ให้เชิญพระกรรบิด ( มีดโกน)"   มาปลงพระเกศา แล้วผนวชเข้าวัดไป มิได้ใส่พระทัยกับเหตุการณ์บ้านเมืองอีก
    การผนวชครั้งนี้ จริงๆก็คือทรงอยู่ในฐานะถูกควบคุมพระองค์ไว้ในวัด  พร้อมทั้งพระราชโอรสที่ยังทรงพระเยาว์ คือพระพงษ์นรินทร์ หรือเจ้าฟ้าทัศน์พงศ์   ส่วนพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่องค์อื่นๆที่อยู่ในกรุงก็ถูกควบคุมเอาไว้ทั้งหมด    พระยาสรรค์ก็ทำหน้าที่ว่าราชการแทน  ประกาศแก่บรรดาข้าราชการ ทั้งปวงว่า จะรักษาราชการไว้รอท่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับมาจากเขมร
    ในเมื่อพระยาสรรค์อ้างอย่างนี้   ประกอบกับสมเด็จพระเจ้าตากสินและพระราชวงศ์ก็ตกอยู่ในเงื้อมมือพระยาสรรค์หมดแล้ว  ขุนนางใหญ่น้อยทั้งหลายไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็จำต้องสงบปากคำไม่มีปฏิกิริยาอันใด ยอมให้พระยาสรรค์เป็นผู้สำเร็จราชการในระหว่างนั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 07 มี.ค. 12, 11:41

     พระยาสรรค์เหมือนคนที่ขี่หลังเสือแล้ว ก็ไม่อยากลงจากหลังเสือ อยากจะนั่งอยู่บนนั้นต่อไป ทั้งเพื่ออำนาจและเพื่อความปลอดภัยของตัวเองด้วย      เพราะอะไรๆในเมืองหลวงก็อยู่ในอุ้งมือหมดแล้ว    เหลืออุปสรรคใหญ่ที่ยังค้ำคออยู่ ก็คือแม่ทัพใหญ่จากเขมร     สมเด็จเจ้าพระยากลับมาถึงเมืองเมื่อไร เห็นทีว่าท่านจะไม่ยอมยกเมืองให้พระยาสรรค์นั่งเมืองอยู่ง่ายๆเหมือนตอนนี้แน่นอน   ตัวเองก็คงจะเคราะห์ร้าย    เพราะข้อหากบฎยังจ่อคอหอยอยู่    ขุนนางธนบุรีก็ใช่ว่าจะยินยอมพร้อมใจกับตัวเองไปหมดทุกคน
     พระยาสรรค์ก็เลยแสวงหากำลังเพิ่มด้วยตัวเอง   อย่างหนึ่งคือไปปล่อยนักโทษออกจากที่คุมขังเพื่อเกลี้ยกล่อมไว้เป็นพวก    พวกนี้พอออกจากคุกได้ก็ไม่สนใจจะจัดระเบียบ  แต่เที่ยวไปฆ่าฟันทำร้ายพวกเจ้าทุกข์ที่ทำให้ตัวเองติดคุก  เกิดวุ่นวายไปทั่วเมืองอีกครั้ง
     ข่าวธนบุรีเกิดจลาจลและรัฐประหารกลางเมืองถูกส่งไปถึงสมเด็จเจ้าพระยา    ท่านก็ให้หลานชายที่อยู่ใกล้กว่ายกทัพมาจากโคราช ภายใน 7 วันนับแต่เกิดเรื่อง  ทัพของพระยาสุริยอภัยก็มาถึงกรุงธนบุรี
    บทบาทของกรมพระราชวังหลังก็เป็นที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์นับแต่ครั้งนี้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.057 วินาที กับ 20 คำสั่ง