เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 67220 เจ้านายวังหลัง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 09 มี.ค. 12, 19:33

   มีเกร็ดเล่าว่า ก่อนถูกประหาร  สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงขอผู้คุมให้พาไปพบสมเด็จเจ้าพระยาฯ ว่า
  " ตัวเราก็สิ้นบุญ จะถึงที่ตายแล้ว  ช่วยพาเราแวะเข้าไปหาท่านผู้สำเร็จราชการ  จะขอเจรจาด้วยสัก ๒-๓ คำ"
   แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯ โบกมือมิให้นำมาพบ   ผู้คุมก็หามกลับไป   แล้วนำไปประหารด้วยการตัดศีรษะที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์  ศพฝังที่วัดบางยี่เรือใต้  ภายหลังเมื่อสถาปนากรุงเทพเป็นเมืองหลวงใหม่ แล้ว จึงขุดขึ้นมาพระราชทานเพลิง   
   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และและกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท เสด็จไปพระราชทานเพลิงเองทั้ง ๒ พระองค์

   เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์หรือเจ้าฟ้าจุ้ย  พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน  ในขณะนั้นยังตั้งทัพอยู่ที่เขมร  ได้ข่าวว่าพระราชบิดาถูกสำเร็จโทษ  ก็ตีฝ่าทัพเขมรที่ล้อมอยู่กลับเข้าเขตแดนไทยถึงปราจีน    ทหารพอรู้ข่าวก็หนีทัพกันหมด  เหลือเจ้าฟ้าจุ้ยกับพระยากำแหงสงครามแม่ทัพคนสนิท กับทหารอีก ๕ คนไปซุ่มซ่อนตัวในป่า
   ในตอนนั้น  สมเด็จเจ้าพระยาฯ ปราบดาภิเษกแล้ว     เจ้าพระยาสุรสีห์ หรือกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๑   ยกทัพไปจับตัวมาได้ นำมาเข้าเฝ้า    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงเห็นว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ    ก็ตรัสถามว่าจะยอมสวามิภักดิ์หรือไม่  ถ้ายอมก็จะทรงชุบเลี้ยงไว้   
    แต่เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ก็ใจเด็ดเป็นชายชาติทหารเหมือนกัน   ไม่สมัครพระทัยจะสวามิภักดิ์กับเจ้านายใหม่    ขอตายตามพระราชบิดา  จึงถูกสำเร็จโทษ  พร้อมพระยากำแหงสงครามที่ยอมตายตามนาย  เพื่อมิให้ได้ชื่อว่าเป็นข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย  ส่วนทหารอีก ๕ คนถูกปล่อยตัวไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 09 มี.ค. 12, 19:34

ขอตอบคุณร่วมฤดี  ด้วยการยกพระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ ๕ ทรงมีไปถึงเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก   ลงวันที่ ๓ พฤกษภาคม ร.ศ. ๑๑๒  มาลงไว้ให้อ่าน
ทรงเท้าความถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

"(การสั่งประหารพระเจ้าตาก) เป็นการจำเป็นเพราะมีผู้แค้นเคืองเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอันมาก   และถ้าไม่ทำเช่นนั้นบ้านเมืองก็จะไม่เป็นปกติเรียบร้อยได้  เพราะผู้ที่ยังนับถือพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยังมีบ้าง   จึงเป็นการจำเป็นต้องให้ประหารชีวิตเจ้ากรุงธนบุรีเสีย
แต่ถึงดังนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯยังไม่ได้สิ้นความนับถือหรือยกข้อเหตุที่ทำอันตรายแก่ครอบครัวของท่านอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นที่ตั้ง  แล้วทำลายวงศ์ตระกูลแห่งพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นเสีย  ตามคำขอแห่งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทนั้นเลย   ได้ทำเฉพาะผู้เดียวแต่เจ้าจุ้ย ซึ่งเป็นกรมขุนอนุรักษ์สงคราม  การที่ทำนั้นก็ทำโดยความที่เจ้าจุ้ยนั้นเองไม่เต็มใจจะอยู่รับราชการต่อไป  เพราะเห็นโทษของบิดา และเห็นตัวเป็นที่กีดขวางโอรสธิดาของเจ้ากรุงธนบุรี
นอกนั้นได้ทรงชุบเลี้ยงไว้หมดทั้งสิ้น   ใช่จะเป็นแต่เพราะเจ้าฟ้าเหม็น (หมายถึงพระนัดดา)  โอรสเจ้ากรุงธนบุรีอื่นๆคือพระพงศ์นรินทร์  พระอินทรอภัย อายุถึง ๑๔-๑๕ ปีแล้วทั้งสิ้น ก็ยังเอามาชุบเลี้ยงใช้สอย"


บุตรของผู้ถูกประหารในคราวนั้น  ทรงไว้ชีวิตไว้ทั้งหมดและนำมารับราชการทั้งหมดเช่นกันค่ะ
เชื้อสายพระเจ้าตากกลายมาเป็นข้าราชการสืบต่อกันมาในต้นรัตนโกสินทร์    ยังมีลูกหลานมาจนทุกวันนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 09 มี.ค. 12, 19:41

      พระยาพิชัยดาบหัก ก็เป็นขุนนางอีกท่านหนึ่งที่สมัครใจตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสิน    แต่บุตรหลานของท่านยังได้รับราชการสืบต่อกันมา    ในรัชกาลที่ ๖  โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลผู้สืบเชื้อสายจากพระยาพิชัยดาบหักว่า "วิชัยขัทคะ"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 09 มี.ค. 12, 20:52

เมื่อปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงแต่งตั้งพระยาสุริยอภัยเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์     ครั้นภายหลัง ทรงเห็นว่าพระยศยังไม่สมควรแก่ความชอบ  จึงโปรดเลื่อนขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข   ตั้งวังที่เรียกว่าวังหลัง อยู่ที่สวนลิ้นจี่ หรือโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน   

เมื่อได้ทรงกรมเป็นพระราชวังหลัง ก็หมายถึงน้ำหนักความรับผิดชอบหนักอึ้ง ที่ต้องทรงแบกไว้ตลอดพระชนม์ชีพ   มิได้หมายถึงความสุขสำราญบานพระทัยอย่างใดเลย    เพราะตลอดรัชกาลที่ ๑  เป็นระยะเวลาของศึกหนัก   เจ้านายขุนนางต้องตรากตรำทำศึกกันแทบสายตัวแทบขาด ไม่ได้ว่างเว้น  เพื่อจะพาพระราชอาณาจักรใหม่ไปให้รอด

พอเปลี่ยนแผ่นดินใหม่   พม่าที่เงี่ยหูฟังความเป็นไปของไทยอยู่ตลอด  ก็เห็นเป็นโอกาสที่จะยกทัพมากระหน่ำ    เพราะถือว่าบ้านเมืองเพิ่งผ่านความระส่ำระสายมาหยกๆ   น่าจะอ่อนแอลงกว่าในยามปกติ    ประกอบกับพม่ามีพระเจ้าแผ่นดินที่เข้มแข็งและมุ่งจะแผ่ขยายอาณาจักรออกไปให้กว้างขวางที่สุดในเอเชียอาคเนย์  ทรงพระนามว่าพระเจ้าปดุง
บันทึกการเข้า
Ruamrudee
องคต
*****
ตอบ: 627



ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 09 มี.ค. 12, 23:44

สรุป หากข้อมูลของอ.เทาชมพูถูกต้องทั้งหมด แปลว่า

1. เหตุผลการประหารชีวิตพระเจ้าตาก เป็นเรื่องความผิดเฉพาะตัวของพระเจ้าตากเองที่คุมพระสติไม่ได้

2. ปัญหาการเมืองหรือ จลาจล อาศัยความบกพร่องของพระเจ้าตากนั้นเองเป็นจุดอ่อน จึงเกิดเรื่องขึ้นจนได้

3. ดังนั้น พระเจ้าตากจึงต้องรับโทษที่พระองค์ทำลงไป เพื่อรักษาความสงบของชาติ

4. วิธีประหาร ก็ ไม่ใช่การทุบด้วยท่อนจันทร์ ดังที่เรียนรู้กันมาผิด ๆ

โดยส่วนตัวดิฉันออกจะไม่เชื่อเรื่องเล่าลือต่างๆ เกี่ยวกับพระเจ้าตากที่มีผู้อ้างว่ารู้จากสมาธิ ฯลฯ

ดิฉันให้น้ำหนักเรื่องที่ไม่สามารถคุมพระสติไว้ได้ ไม่ขอใช้คำว่า เสียพระจริตนะคะ

คนที่กรำศึกสงครามมากมาย ถึงขนาดรบแบบ "ตะลุมบอน" ตัวต่อตัว ตีฝ่าวงล้อมข้าศึก แลกเลือดและเนื้อกันมา จะมีภาพ เสียง และความรู้สึกเจ็บปวดทั้งกายและใจที่รุนแรง ระดับ "อติมหันตารมณ์"  คือ ฝังติดแน่นในความทรงจำ ไม่สามารถจะลืมได้ มากมายก่ายกอง

ภาษาทางจิตเวชปัจจุบัน คงจะเรียกว่า PTSD = Post Traumatic Stress Disorder

จะหวาดระแวงสูงมาก โกรธแรง และ น่าจะทุกข์ทรมานกับภาพติดตาต่างๆ ทั้งวันและคืนตลอดพระชนม์ชีพ เป็นเหตุให้ต้องหาทางบำบัดด้วยการทำสมาธิ วิปัสสนา

ยิ่งทรมานมากเท่าใด ก็ยิ่งปฏิบัติอย่างคร่ำเคร่งจนอาจจะเลยเถิด สมาธิเกิน เกิดนิมิตลวงให้หลงผิดซ้ำเติมได้อีก

อีกประการหนึ่ง ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 พระเจ้าพระสงฆ์ในอยุธยา ประพฤติผิดพระธรรมวินัยร้ายแรงกันมากมาย

หลังกอบกู้บ้านเมืองมาได้ ย่อมหลงเหลือพระทุศีลจำนวนมากให้ทรงพบเห็นและ กริ้วได้ง่าย ๆ จึงไม่สามารถยับยั้งอารมณ์โกรธได้

แม้หลังรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกแล้ว ก็ยังต้องมีภาระในการชำระพระธรรมวินัย และ จับพระทุศีลสึก แล้วโบยหลัง สักหน้าผาก เพื่อป้องกันไม่ให้หวนกลับมาบวชอาศัยผ้าเหลืองเลี้ยงชีวิตได้อีก

ดิฉันจึงเห็นด้วยกับอาจารย์เทาชมพูที่เชื่อว่า พระองค์ท่านไม่ได้เป็นจิตเภท ไม่ได้มี Delusion ค่ะ

ผิดถูกประการใด เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ วิเคราะห์ให้ด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 10 มี.ค. 12, 00:50


อีกประการหนึ่ง ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 พระเจ้าพระสงฆ์ในอยุธยา ประพฤติผิดพระธรรมวินัยร้ายแรงกันมากมาย

หลังกอบกู้บ้านเมืองมาได้ ย่อมหลงเหลือพระทุศีลจำนวนมากให้ทรงพบเห็นและ กริ้วได้ง่าย ๆ จึงไม่สามารถยับยั้งอารมณ์โกรธได้

แม้หลังรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกแล้ว ก็ยังต้องมีภาระในการชำระพระธรรมวินัย และ จับพระทุศีลสึก แล้วโบยหลัง สักหน้าผาก เพื่อป้องกันไม่ให้หวนกลับมาบวชอาศัยผ้าเหลืองเลี้ยงชีวิตได้อีก

ดิฉันจึงเห็นด้วยกับอาจารย์เทาชมพูที่เชื่อว่า พระองค์ท่านไม่ได้เป็นจิตเภท ไม่ได้มี Delusion ค่ะ

ผิดถูกประการใด เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ วิเคราะห์ให้ด้วยนะคะ

ถ้าจำไม่ผิด การชำระอธิกรณ์ครั้งใหญ่ จะอยู่ในสมัยแผ่นดิน ร.๒ นะครับ


ส่วนกรณีการเมืองสมัยกรุงธนฯ  ส่วนตัวคิดว่าแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละท่านล่ะครับ สำหรับเรื่องอาการพระประชวรนั้น ส่วนตัวคิดว่าเป็นไปได้น้อยมาก

เพราะถ้าหวาดระแวงสูงมาก บุคคลอย่าง สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และ เจ้าพระยาสุรสีห์ ไม่น่าจะรอดนานแล้วล่ะครับ

ยกตัวอย่าง จักรพรรดิหมิงไท่จู ทรง "เผา" เพื่อนขุนศึกด้วยกันไปเป็นสิบ ๆ คน  , บางคดีที่ทรงหวาดระแวง ทรงประหารล้างโคตรเป็นหมื่น ๆ ชีวิต

ไม่นับรวมกรณี ทรงไล่ทำร้ายพระราชโอรสองค์โต ต่อหน้าขุนนางทั้งหลาย  นี่ยังไม่รวมเรื่องในอดีต ที่ทรง "เก็บ" ขุนศึกคู่พระบารมี อย่าง เชาหยง ที่มีผลงานดีเด่นในสนามรบอย่างมาก

นักประวัติศาสตร์จีนเชื่อว่า เชาหยง "เป็นแพะ" ครับ และในรัชสมัยนี้เอง ที่ทรงตั้ง หน่วยงานสืบราชการลับ จินอี้เว่ย (Jin Yi Wei : 锦衣卫) เราท่านอาจจะรู้จักกันในนาม องค์รักษ์เสื้อแพร
ซึ่งเป็นหน่วยงาน "ล่าสังหาร" พวกที่อาจจะเป็นภัยต่อราชสำนัก

ต่อมา ก็พัฒนามาเป็น ตงฉ่าง ซีฉ่าง และ เน่ยฉ่าง ในตอนปลายราชวงศ์หมิงครับ

ถ้าเทียบกรณีศึกษากับ จักรพรรดิหมิงไท่จู ( จูหยวนจาง ) ที่ทรงหวาดระแวงสูง อย่างชัดเจน จะพบว่า กรณีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนฯ จะถือเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย

เพราะฉะนั้น ส่วนตัวแล้ว ผมยังไม่ค่อยจะเชื่อว่า ทรงประชวรมาก หรือเป็นโรคทางจิตครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 10 มี.ค. 12, 10:17

ขอบคุณคุณร่วมฤดี และคุณสมัน๐๐๗  (ไม่รู้ออกเสียงถูกหรือเปล่า  ผิดมาหลายคนแล้ว   อายจัง) ที่เข้ามาร่วมวงออกความเห็นค่ะ  ขอขอบคุณอีกครั้งที่ออกความเห็นอย่างสุภาพ และระมัดระวังไม่กระทบกระเทือนเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของคนไทยจำนวนมาก

เรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินเสียพระจริตหรือไม่นั้น  ถ้าพูดกันอย่างทะนุถนอมความรู้สึกคนที่เคารพบูชาท่านในฐานะมหาราชพระองค์หนึ่งของไทย  ดิฉันก็ไม่อยากใช้คำนี้  เพราะดิฉันก็เคารพกราบไหว้ท่านเช่นกัน    รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทำให้ไทยมีแผ่นดินอยู่มาได้ แค่เสียกรุงศรีอยุธยา  ไม่ได้เสียหมดทั้งพระราชอาณาจักร
แต่ถ้าจะถามว่า ทรงกระทำบางอย่างจนผู้คนบ้านเมืองเดือดร้อนขึ้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่  ก็เชื่อว่าเป็นจริง   มิใช่ว่าท่านอยู่ของท่านดีๆ ในกรุงธน แล้วคนรุ่นหลังก็ปั้นเรื่องขึ้นเป็นคุ้งเป็นแควเพื่อหลอกคนรุ่นหลังด้วยกัน  กลบเกลื่อนไม่ให้รู้ว่าเป็นรัฐประหารธรรมดาๆเท่านั้น

หลักฐานที่เห็นได้ชัดว่าเกิดเรื่องเดือดร้อน คือเรื่องพระสงฆ์ที่ถูกท่านลงโทษถอดออกจากสมณศักดิ์เป็นพระอนุจรหรือพระสงฆ์ธรรมดาๆ  ถูกเฆี่ยนและใช้ให้ไปขนเว็จ  ซึ่งเป็นโทษร้ายแรงมาก   พระเหล่านี้มิใช่พระทุศีลอย่างที่คนรุ่นหลังมักจะกล่าวอ้าง    สาเหตุก็บันทึกเอาไว้ชัดเจนว่า เป็นเพราะท่านเหล่านั้นซื่อตรงต่อพระวินัยยิ่งกว่ารักตัวกลัวตาย  กล้ากราบทูลขัดความเห็นพระเจ้าแผ่นดิน  ไม่ยอมให้บรรพชิตคารวะฆราวาส แม้เป็นฆราวาสที่บรรลุโสดาบันก็ตาม
เอาละ  ถ้าสมมุติกันใหม่ว่า หลักฐานข้อนี้ ก็มีใครไม่รู้ปั้นความเท็จขึ้นมาอีก    พระสงฆ์เหล่านี้ถูกลงโทษเพราะเป็นพระทุศีลจริงๆ   ถ้าอย่างนั้น มันก็ขัดกับหลักฐานที่บันทึกไว้ในประวัติการปกครองพระสงฆ์อย่างชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ทรงรื้อฟื้นเรื่องต้องโทษขึ้นมาอีกครั้ง   แสดงว่าเรื่องนี้มีอยู่จริงสมัยธนบุรี เป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ต้องรีบจัดการชำระสะสางพลิกกลับคดีขึ้นมาอีกครั้ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 10 มี.ค. 12, 12:04

หนึ่งในจำนวนพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่สมัยธนบุรีที่ถูกลงโทษ  คือสมเด็จพระสังฆราช(สี หรือศรี )วัดบางว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม)  ตามประวัติ ท่านเป็นพระสำคัญรูปหนึ่งแห่งวัดพนัญเชิง เมื่อกรุงแตก ลูกศิษย์ลูกหาพาหนีภัยสงครามไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช  สองปีต่อมา ใน พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ทรงทราบว่ามีพระสงฆ์สำคัญมาอยู่ที่นี่  ก็อาราธนามาอยู่ที่วัดบางว้าใหญ่   ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 2 แห่งกรุงธนบุรี

สมเด็จพระสังฆราช(สี)ได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งนี้มาถึง 12 ปี มาโดยปกติเรียบร้อย   จนพ.ศ. 2324 ก็เกิดกรณีฟ้าผ่ากลางแดด เรื่องปุจฉาวิสัชนาพระไหว้ฆราวาส  พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่หลายรูปวิสัชนาว่าเคารพได้  แต่สมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นประธานสงฆ์ทั้งปวง ยืนกรานว่า พระสงฆ์ปุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล เนื่องจากคฤหัสถ์เป็นหินเพศต่ำ พระสงฆ์เป็นอุดมเพศที่สูง ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และมีปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ
สมเด็จพระสังฆราชท่านก็ย่อมทราบดีว่าวิสัชนานี้ไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เพราะคำถามนี้ใครๆก็ดูออกว่า ถ้าไม่ทรงคิดว่าพระองค์เองเป็นพระอริยบุคคลที่อยู่ในเพศฆราวาส แล้วจะทรงประชุมพระสงฆ์สำคัญใหญ่น้อยทั่วกรุงถามข้อนี้ทำไมกัน    มันไม่ใช่หัวข้อที่ควรจะยกเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นประชุมสงฆ์     นอกจากสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ก็ยังมีพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่และพระสงฆ์ใหญ่น้อยอีกมากที่ถวายวิสัชนาอย่างเดียวกัน   ผลก็คือต้องโทษรุนแรง  ถูกถอด ถูกโบย ถูกให้ไปขนเว็จ    เป็นเรื่องที่ตื่นตระหนกกันไปทั่วเมือง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขึ้นครองราชย์ จึงต้องรีบเร่งชำระสะสางเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องสะเทือนใจอุบาสกอุบาสิกากันมาก    สมเด็จพระสังฆราช(สี) จึงได้คืนสมณฐานันดรศักดิ์ดังเดิม ไปครองพระอารามตามเดิมด้วย   เพราะได้รับการตัดสินว่าเป็นผู้มีความสัตย์ซื่อมั่นคง ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต ควรแก่นับถือเคารพสักการะบูชา

ผลต่อจากนั้นคือสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ก็ทรงเป็นกำลังสำคัญในการชำระและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติของภิกษุสามเณร การบูรณะปฏิสังขรณ์พุทธสถาน การชำระตรวจสอบพระไตรปิฎก ตลอดจนการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 10 มี.ค. 12, 21:14

พงศาวดารฉบับราชหัตถเลขาบันทึกถึงเหตุการณ์เรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงลงโทษพระสงฆ์ไว้ละเอียดว่า

    “ครั้นถึง ณ วันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๙ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ ห้องพระโรง แล้วให้ประชุมพระราชาคณะพร้อมกัน และพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส สำคัญพระองค์ว่าได้พระโสดาปัตติผล จึงดำรัสถามพระราชาคณะว่า พระสงฆ์ปุถุชนจะไหว้นบเคารพคฤหัสถ์ผู้เป็นพระโสดาบันบุคคลนั้นจะได้หรือมิได้ประการใด และพระราชาคณะที่มีสันดานโลเลมิได้ถือมั่นในพระบาลีบรมพุทธโอวาทด้วยเกรงพระอาญา เป็นคนประสมประสานจะเจรจาให้ชอบพระอัธยาศัยนั้นมีเป็นอันมาก    คือพระพุทธโฆษาจารย์ วัดบางหว้าใหญ่ และพระโพธิวงศ์ พระรัตนมุนี วังหงส์เป็นต้น ถวายพระพรว่า “สงฆ์ปุถุชนควรจะไหว้นบคฤหัสถ์ซึ่งเป็นโสดาบันนั้นได้”

     แต่สมเด็จพระสังฆราช วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม) พระพิมลธรรม วัดโพธาราม (วัดโพธิ์-ท่าเตียน) สามพระองค์นี้มีสันดานมั่นคงถือพระพุทธวจนะโดยแท้ มิได้เป็นคนสอพลอประสมประสาน จึงถวายพระพรว่า ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ อันพระสงฆ์ถึงเป็นปุถุชนก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์และจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ซึ่งเป็นพระโสดานั้น ก็มิควร สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระพิโรธว่าถวายพระพรผิดจากพระบาลี ด้วยพวกที่ว่าควรนั้นมีเป็นอันมาก ว่าไม่ควรมีแต่สามองค์นี้เท่านั้น

     จึงดำรัสให้พระโพธิวงศ์และพระพุทธโฆษาจารย์ เอาตัวสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระพุฒาจารย์ พระพิมลธรรม กับทั้งฐานาบาเรียนอันดับ ซึ่งเป็นอันเตวาสิก สัทธิวิหาริกของพระราชาคณะทั้ง ๓ องค์นั้นไปลงทัณฑกรรม ณ วัดหงส์ทั้งสิ้น และตัวพระราชาคณะให้ตีหลังองค์ละ ๑๐๐ ที พระฐานาบาเรียนให้ตีหลังองค์ละ ๕๐ ที    นับพระสงฆ์ซึ่งตั้งอยู่ในศีลสัตย์ว่าไหว้ไม่ได้นั้น ทั้งสามพระอารามเป็นพระสงฆ์ถึง ๕๐๐ รูป ต้องถูกตีทั้งสิ้น ส่วนพระสงฆ์ทุศีลอาสัตย์อาธรรม์ว่าไหว้ได้ มีมากกว่าทุก ๆ อาราม ตัวพระราชาคณะทั้ง ๓ และพระสงฆ์บริวารจำนวน ๕๐๐ นั้น ถูกบังคับให้ไปขนอาจม (ขี้) ชำระเวจกุฎี (ล้างส้วม) วัดหงส์ทั้งสิ้นด้วยกัน และจึงมีรับสั่งให้ถอดยศพระราชาคณะทั้ง ๓ รูปนั้นจากสมณฐานันดรศักดิ์ลงมาเป็นพระอนุจร จึงทรงตั้งพระโพธิวงศ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช และพระพุทธโฆษาจารย์เป็นที่พระวันรัต

     ครั้งนั้น มหาภัยพิบัติบังเกิดในพระพุทธศาสนาควรจะสังเวชยิ่งนัก บรรดาชนทั้งหลายซึ่งเป็นสัมมาทิฐินับถือพระรัตนตรัยนั้น ชวนกันสลดจิตคิดสงสารพระพุทธศาสนามีหน้านองไปด้วยน้ำตาเป็นอันมาก ที่มีศรัทธาเข้ารับโทษให้ตีหลังตนแทนพระสงฆ์นั้นก็มีและเสียงร้องไห้ระงมไปทั้งเมือง เว้นแต่พวกมิจฉาทิฐิ
      ตั้งแต่นั้นมาพระราชาคณะพวกพาลอลัชชีมีสันดานบาปที่ว่าไหว้คฤหัสถ์ได้นั้นก็เข้ากราบถวายบังคมหมอบกราน เหมือนอย่างข้าราชการฆราวาส จึงดำรัสสั่งให้พระสังฆราชองค์ใหม่ เอาตัวพระราชาคณะซึ่งเป็นโทษถูกถอดเสียจากที่ทั้ง ๓ องค์นั้นไปคุมตัวไว้ที่วัดหงส์ อย่าให้ปล่อยไปวัดของตน แล้วให้พระญาณไตรโลก วัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) มาครองวัดโพธาราม (วัดโพธิ์) แล้วดำรัสสั่งให้พระรัตนมุนีให้ขนานพระนามถวายใหม่ พระรัตนมุนีจึงถวายพระนามให้ต้องตามพระราชอัธยาศัยว่า “สมเด็จพระสยาม ยอดโยคาวจร บวรพุทธางกูร อดุลยขัตติยราชวงศ์ ดำรงพิภพกรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน” .
ก็ชอบพระราชอัธยาศัยสมด้วยพระทัยปรารถนานั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 10 มี.ค. 12, 21:26

   ในรัชกาลที่ ๑  สมเด็จพระสังฆราช(สี) สมเด็จพระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรมที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์คืน กลับไปครองวัดเดิม    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงยกย่องว่า มีสันดานสัตย์ซื่อมั่นคงพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่กายและชีวิต ควรเป็นที่นับถือไหว้นบเคารพบูชา   ถึงกับตรัสว่า  แม้นมีข้อสงสัยสิ่งใดในพระบาลีภายหน้า จะได้ประชุมพระราชาคณะไต่ถาม ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์ว่าอย่างนี้แล้ว และพระราชาคณะอื่น ๆ จะว่าอย่างหนึ่งไป   พระองค์ก็จะทรงเชื่อถือถ้อยคำพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม และทรงปฏิบัติตาม พระราชดำรัสนี้เรื่อยมา
    เมื่อคราวโปรดฯให้ขุดลอก คลองหลอดออกจากคลองคูเมืองเดิม ไปออกบรรจบกับคลองคูใหม่นอกเมือง ให้ทำ สะพานช้างและสะพานนนทรีข้างคลองภายในพระนคร หลายแห่ง และให้ขุดคลองใหญ่เหนือวัดสระเกศพระราชทานนามว่าคลองมหานาค เพื่อให้ชาวพระนครเล่นเพลงสักว่าในเทศกาลเหมือนครั้งกรงเก่    ทรงพระราชดำริให้ให้สร้างสะพานช้างข้ามคลองคู เมืองที่เหนือคลองมหานาคนั้น พระพิมลธรรมทราบเรื่อง  ก็ออกไปเจริญพรห้ามไว้ด้วยเหตุผลว่า เมื่อมีสงครามข้าศึกจะรุกเข้ามาถึงชานเมืองได้ง่ายประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งจะเป็นที่กีดขวางกระบวนแห่เรือรอบพระนคร ปรากฏว่าทรงเห็นชอบตามพระพิมลธรรม
     พระพิมลธรรมเป็นที่เคารพเชื่อถือมากในรัชกาลที่ 1  ผลงานของท่านชิ้นสำคัญๆในร้ชกาลนี้ เห็นได้จากเมื่อสังคายนาพระไตรปิฎกในพ.ศ.2331 พระพิมลธรรมเป็นผู้อ่านคำประกาศในท่ามกลางสังฆสมาคม 281 รูป   เป็นแม่กองชำระพระอภิธรรมปิฎก ต่อมาเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระวันรัตนพิพัฒนญาณอดุลยสุนทรนายก ปิฎกธรามมหาคณิศร บวรทักขิณาคณะสังฆราม คามวาสี เป็นพระกรรมวาจาของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส และได้แต่งหนังสือภาษาบาลีหลายเล่มเช่นสังคีติยวงศ์ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา มหาภารตยุทธการ (ว่าด้วยพระราชพงศาวดาร) หนังสือพระราชพงศาวดารพิมพ์ 2 เล่ม เป็นต้น ท่านได้มรณภาพในแผ่นดินรัชกาลที่ 2
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 11 มี.ค. 12, 21:02

ขอกลับมาที่กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข  วังหลังในรัชกาลที่ ๑

วังหลังตั้งอยู่ที่บริเวณซึ่งเป็นร.พ.ศิริราชทุกวันนี้  ก็คือนิวาสถานเดิมของเจ้าพระยาสุริยอภัยนั่นเอง   ท่านยังอยู่ฝั่งธนบุรีเช่นเดียวกับขุนนางสมัยธนบุรีอีกมาก     ส่วนวังหลวงก็ย้ายข้ามฟากมาอยู่ตรงที่เป็นพระบรมมหาราชวัง    วังหน้าอยู่ตรงพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และกินเนื้อที่มาถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อเฉลิมพระยศจากขุนนางขึ้นเป็นเจ้านายชั้นพระเจ้าหลานเธอ     เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์ไม่มีเวลาจะอยู่สุขสบาย   พอผลัดแผ่นดิน พม่าก็กรีฑาทัพมาทันที  หวังจะถล่มอาณาจักรรัตนโกสินทร์ให้ราบเป็นหน้ากลอง  คราวนี้ทัพใหญ่โตหลั่งไหลกันมาเหมือนน้ำในมหาสมุทร  แยกกันมาเป็น 5 ทัพ    รวมพลถึงหนึ่งแสนสามพันคน  พร้อมด้วยช้างม้าเครื่องสรรพาวุธ ขนกันมาเกลี้ยงอาณาจักร

เส้นทางใหญ่ที่พม่าเดินเข้ามาคือเส้นทางเดิมทางกาญจนบุรี    แต่ไม่ได้มาทางเดียว  มีทัพรองแยกย้ายกันเข้ามาอีกหลายทาง
๑ ทางใต้ เข้าทางชุมพร  และถลาง
๒ ทางตะวันตก เข้าทางราชบุรี
๓ ทางเหนือ เข้าทางตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก  สุโขทัย สวรรคโลก และลำปาง
เรียกว่าแยกย้ายกันเป็นตาข่ายดักตะครุบไทยเอาไว้ไม่ให้กระดิกกระเดี้ยไปทางไหน    จะขอความช่วยเหลือจากเมืองเหนือเมืองใต้ก็ไม่ได้ทั้งสิ้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 12 มี.ค. 12, 11:33

ในศึกพม่าสมัยอยุธยา    ไทยใช้วิธีตั้งรับในเมือง เพราะมั่นคงและมีกำลังคนแข็งแกร่งพอจะยันข้าศึกเอาไว้ได้  นอกจากนี้ก็อาศัยกำลังทัพเสริมจากเมืองใหญ่ๆเช่นพิษณุโลก เข้ามาสมทบ    ไม้ตายสำคัญคือถ้าข้าศึกยังอยู่ อยุธยาก็รอจนน้ำหลากมาจากทิศเหนือ ข้าศึกทนให้ไพร่พลและช้างม้าจมน้ำไม่ไหว ก็ถอยทัพกลับไปเอง   
แต่มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงเปลี่ยนวิธีรบใหม่  คือสะกัดข้าศึกเอาไว้ตั้งแต่แรก ในระยะห่าง  ไม่ให้ล่วงล้ำเข้ามาประชิดติดเขตเมืองหลวงได้     แม่ทัพนายกองก็ทรงเลือกคนที่ไว้วางพระทัยว่ามีฝีมือแน่ๆ ยกทัพออกไปยันพม่าเอาไว้   สองท่านในจำนวนนั้นคือกรมพระราชวังหลัง   และอีกท่านหนึ่งที่ไม่เคยมีบทบาทในสมัยธนบุรี ก็คือพระยาอุไทยธรรม(บุนนาค) แห่งสกุลบุนนาค

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงเป็นจอมทัพเอง  ยกทัพหลวงไปปะทะกับทัพหลวงของพระเจ้าปดุงซึ่งเป็นทัพใหญ่สุด   กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทหรือวังหน้า พระอนุชา เป็นแม่ทัพหน้า ยกทัพไปด้วยกัน
ส่วนการรับมือข้าศึกจากทางเหนือ   กรมพระราชวังหลังเป็นแม่ทัพยกไพร่พลจำนวน 15,000 คนไปตั้งรับอยู่ที่นครสวรรค์   มีแม่ทัพหน้าของพระองค์คือเจ้าพระยามหาเสนา เสนาบดีกลาโหม ยกทัพขึ้นไปรับข้าศึกไกลถึงพิจิตร   ส่วนทัพหลังคือเจ้าพระยาพระคลัง และพระยาอุไทยธรรม  ตั้งกองทัพระวังอยู่ที่ชัยนาท  คอยสะกัดทัพพม่าที่จะยกมาทางอุทัยธานี

สรุปว่าตาข่ายใหญ่ที่พระเจ้าปดุงกางไว้ดักจับไทยทุกทิศทุกทาง     ทางไทยก็ยกทัพไปทุกทางเหมือนกันเพื่อจะตัดตาข่ายให้ขาดโหว่ออกไป
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 12 มี.ค. 12, 14:20

ขอแทรกนิดนะครับ
เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค บ้านแม่ลา) ท่านผู้นี้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ครั้งนี้มากน้อยอย่างไรครับ
ยกตัวอย่างเช่น นายบุนนาค บ้านแม่ลา หลวงสุระ หลวงชนะ เข้าปล้นจวน พระวิชิตณรงค์เจ้าเมืองกรุงเก่า และจับเจ้าเมืองกรรมการเมืองประหาร สมเด็จพระเจ้าตากสิน โปรดเกล้าฯให้พระยาสรรค์ไปปราบกบฏ แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้าร่วมกับพวกกบฏยกกำลังมาตีกรุงธนบุรี แล้วเหตุการณ์หลังจากนั้นทำไม นายบุนนาคและพระยาสรรค์กลายเป็นคนละพวกกันละครับ
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 12 มี.ค. 12, 15:15

ขอแทรกนิดนะครับ
เจ้าพระยาพลเทพ (บุนนาค บ้านแม่ลา) ท่านผู้นี้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ครั้งนี้มากน้อยอย่างไรครับ
ยกตัวอย่างเช่น นายบุนนาค บ้านแม่ลา หลวงสุระ หลวงชนะ เข้าปล้นจวน พระวิชิตณรงค์เจ้าเมืองกรุงเก่า และจับเจ้าเมืองกรรมการเมืองประหาร สมเด็จพระเจ้าตากสิน โปรดเกล้าฯให้พระยาสรรค์ไปปราบกบฏ แต่พระยาสรรค์กลับไปเข้าร่วมกับพวกกบฏยกกำลังมาตีกรุงธนบุรี แล้วเหตุการณ์หลังจากนั้นทำไม นายบุนนาคและพระยาสรรค์กลายเป็นคนละพวกกันละครับ

มีสำนวนจากบันทึก สมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ ซึ่งคัดลอกจากสมุดไทย มาให้ลองอ่านพิจารณาครับ


   " .............. ครั้นเมื่อพระเจ้ากรุงะนบุรีเสียพระจริตรับสั่งให้ข้าหลวงขึ้นไปเร่งเงินราษฎรแขวงกรุงเก่า ราษฎรได้ความเดือดร้อนระสำระสายทิ้งบ้านเรือนเสียเปนอันมาก

   หลวงสุระสงครามจึงแต่ให้คนลงมาสืบที่กรุงธนบุรี ได้ทราบความว่าที่กรุงธนบุรี ก็ได้ความเดือดร้อนเหมือนกัน หลวงสุระสงครามจึงไปปฤกษาด้วยนายบุญนากบ้านแม่ลา ว่าบัดนี้ที่กรุงธนบุรีเกิดการวุ่นวายขึ้นเพราะพระเจ้ากรุงธนบุรี เสียพระจริตราษฏรได้ความเดือดร้อนนัก ถ้าทิ้งไว้ก็เกรงจะเกิดการจลาจลขึ้นอีก ท่านกับข้าพเจ้าควรจะพร้อมใจกันยกลงไปรักษากรุงธนบุรีไว้ถวายเจ้านายของเราท่านจะเห็นอย่างไร นายบุญนาคบ้านแม่ลาก็เห็นพร้อมด้วยหลวงสุระสงคราม

   ครั้นนัดหมายกันเสร็จแล้วหลวงสุระสงครามก็กลับมาบ้านจึงให้ตีกลองใหญ่สำหรับบ้านขึ้นสามลา เมื่อบ่าวไพร่พวกพ้องได้ยินกลองสัญญาตีขึ้นดังนั้นก็เข้ามาพร้อมกันยังบ้านหลวงสุระสงคราม พากันถามว่าจะไปทำการที่ไหนอีกขอรับ

   หลวงสุระสงครามตอบว่าเมื่อพวกท่านทั้งหลายพร้อมใจกันเปนใจเดียวกับเราแล้ว เราจะได้พาท่านทั้งหลายไปทำการข้างน่าต่อไป คนทั้งหลายก็รับขึ้นพร้อมกันว่า แล้วแต่ท่านจะใช้สรอยเถิด ข้าพเจ้าทั้งหลายยอมทำตามท่านทั้งสิ้น มิได้คิดแก่ชีวิตเลย

   หลวงสุระสงครามจึงสั่งให้คนทั้งหลายกลับบ้านเตรียมตัวไว้ให้พร้อมตามเคย เวลาค่ำให้กลับมากินเลี้ยงที่บ้านหลวงสุระสงครามพร้อมกัน ครั้นเวลาค่ำคนทั้งหลายก็มากินเลี้ยงพร้อมกันยังบ้านหลวงสุระสงคราม ครั้นเลี้ยงกันแล้วหลวงสุระสงครามก็แจกมงคลคนละดอก เงินคนละเฟื้องทั่วกัน แล้วบอกว่าเวลาค่ำวันนี้เราจะยกไปปล้นจวนผู้รักษากรุง คนทั้งหลายก็มีความยินดีโห่ขึ้นพร้อมกัน ครั้นเวลายามหนึ่งหลวงสุระสงคราแต่งตัวสะพายกระยี่เหน็บมีด ถือทวนมายืนคอยฤกษ์อยู่ที่ท่าเรือน่าบ้าน ครั้นได้ฤกษ์จึงให้ลั่นฆ้องไชยโห่ขึ้นพร้อมกันยกพลลงเรือออกจากบ้านม่วง ล่วงลงมายังกรุงเก่าเข้าปล้นจวนผู้รักษากรุงได้ พอนายบุญนาคมาถึงก็พอสว่าง หลวงสุระสงครามจึงปฤกษาด้วยนายบุญนาคบ้านแม่ลาว่าบัดนี้เราก็ได้ทำการเกินมาถึงเพียงนี้แล้ว ถ้านิ่งช้าไว้ภัยก็จะมาถึงตัวเรา ควรเราจะเร่งรีบยกลงไปตีกรุงธนบุรีเสียให้ได้อย่าให้ทันรู้ตัว แล้วรักษากรุงธนบุรีไว้ถวายเจ้านายของเราๆ ก็จะได้ความศุขต่อไปสืบบุตร์แลหลาน ท่านจะเห็นอย่างใด นายบุญนากก็เห็นด้วย

   หลวงสุระสงคราจึงให้เอาเงินทองสิ่งของต่างๆ ที่ปล้นได้ ออกแจกจ่ายไพร่พลทหารแลราษฏรทั่วกันแล้ว รีบจัดให้นายบุญนากบ้านแม่ลา กับน้องชายคุมไพร่ผลเปนกองน่า รีบยกลงไปตีกรุงธนบุรีก่อน แล้วหลวงสุระสงครามเกลี้ยกล่อมราษฏร เก็บรวบรวมเครื่องสาตราอาวุธเรือแพเสบียงอาหารได้แล้วยกลงไปเปนกองหนุน........."
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 12 มี.ค. 12, 15:16

".......เมื่อนายบุญนากยกลงไปนั้น ไปพบกองทัพพระยาสรรค์ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีรับสั่งใช้ให้ขึ้นไปจับนายบุญนาก พระยาสรรค์กลับเข้ากับนายบุญนากยกลงมาตีกรุงธนบุรีได้ พระยาสรรค์เข้านั่งเมือง พอสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเมื่อยังทรงดำรงพระยศเปนพระยาสุริยอภัยยกลงมาแต่เมืองนครราชสีมา พระยาสรรค์กลับคิดอยากได้ราชสมบัติ์ ครั้นเวลาค่ำรอบยกไปปล้นวังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอตำบลบ้านปูน ในเวลารบกันอยู่นั้นพอหลวงสุระสงคราม ยกลงมาถึงเห็นแสงไฟสว่างอยู่ จึงสั่งให้คนลงเรือโขนรีบลงมาสืบก็ได้ความว่ามีข้าศึกมาตีวังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ หลวงสุระสงครามจึงสั่งให้ไพร่พลเตรียมตัวให้พร้อมให้ไพร่ผลที่มีปืนเปนกองน่าให้อยู่แต่ในเรือ นอกขั้นเปนกองหนุนให้คอยตามหลวงสุระสงครามขึ้นไป เมื่อยกไปนั้นอย่าให้มีปากเสียง ต่อเมื่อใดได้ยินฆ้องสัญญาแล้วจึ่งให้โห่ขึ้นพร้อมกัน ครั้นยกลงมาใกล้ตำบลบ้านปูนแสงไฟสว่างอยู่ก็แลเห็นตัวข้าศึกถนัด

   หลวงสุระสงครามจึงนำไพร่พลโดดขึ้นบนตลิ่งไล่ฆ่าฟันข้าศึกเปนตลุมบอน แล้วกลับมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้าหลานเธอๆ รับสั่งให้ตั้งกองรักษาระวังอยู่จนสว่าง ครั้นรุ่งขึ้นก็พาไพร่ผลเข้าพักอาไศรยอยู่ในวังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ จนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยเสด็จเข้ามาปราบดาภิเษก เสวยศิริราชสมบัติณกรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนที่หลวงสุระสงคราม ขึ้นเปนพระยาสีหราชเดโชไชยๆ จึงยกครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ ตำบลบ้านตนาวริมถนนเฟื้องนครกับถนนศิริอำมาตย์ต่อมา ........"

จาก "ตระกูลขุนสุรสงคราม" บันทึกโดย พระยาสุรนันทนิวัธกุล (กริ่ม สุระนันทน์) จากหนังสือ ราชสัมภารากรลิขิต อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิง หม่อมขาว เกษมศรีฯ ท.จ. ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม พ.ศ. ๒๕๐๕

มีเรื่องเล่าต่อครับ

"ดาบ" ที่ขุน(หลวง)สุระสงคราม - พระยาสีหราชเดโชไชย(สุระ) ใช้ในการศึกไว้ลูกหลานยังคงเก็บรักษาไว้อยู่ แต่เป็นดังความเชื่อของคนโบราณครับ เอาฟักกับด้ามออก เหลือแต่ตัวดาบเก็บแขวนไว้ที่ข้างฝาห้องพระ ท่านเล่าว่า สมัยก่อน ต้องทำบุญทุกปี  

ส่วนบันทึกฉบับนี้ เจ้าคุณสุรนันทน์ ท่านคัดลอกมากจากสมุดไทยอีกทีหนึ่ง และเขียนเพิ่มเติมเข้าไป เมื่อท่านชราแล้ว  มีอีกสำนวนหนึ่ง เป็นของพระยาราชสัมภารกร (เลื่อน สุรนันทน์) เนื้อหาเหมือนกัน ต่างกันในรายละเอียด หาอ่านได้จากเล่มเดียวกันครับ  


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.091 วินาที กับ 19 คำสั่ง