เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10]
  พิมพ์  
อ่าน: 67221 เจ้านายวังหลัง
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 15 ส.ค. 15, 10:19

แต่เรื่องการตั้งนายจบคชประสิทธิ์เป็นวังหลังในพงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังขัดแย้งกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด) ซึ่งความท่อนสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมาแตกต่างจากฉบับอื่นแจ่เรียงลำดับเหตุการณ์และศักราชถูกต้องตรงตามหลักฐานร่วมสมัยของตะวันตก(ฉบับอื่นๆลงปีสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์เร็วไป ๖ ปี และเรียงลำดับเหตุการณ์ช่วงรัฐประหารสมเด็จพระนารายณ์คลาดเคลื่อน)และไม่มีข้อความว่าร้ายกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงเหมือนพงศาวดารฉบับอื่นๆ จึงเชื่อว่าความท่อนนี้น่าจะชำระตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยาครับ ซึ่งในเรื่องการสถาปนายศเจ้านายตอนสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ก็แตกต่างจากฉบับอื่นๆ ดังนี้

"ถึงเดือนสี่แล้วจวนพระราชพิธีตรุษเสด็จปราบดาภิเษก ทรงพระนามสมเด็จพระมหาบุรุษราชบพิตรเจ้า จัดพระอัครมเหสีเดิมเป็นฝ่ายขวา จัดสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระนารายน์เป็นเจ้า  แลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าทอง*  สองพระองค์เป็นฝ่ายซ้าย  ฉิมบุตรภรรยาพนักงานของกินตั้งขึ้นเป็นเจ้าอยู่นางพญา  ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอรับพระบัณฑูรฝ่ายหน้าเอาหม่อมแก้ว**บุตรท้าวศีรจุลาลักษผู้น้อง  เป็นกรมขุนเสนาบริรักษ  ธิดาพรรวะสาน้อย  พรรวะสาใหญ่พระราชทานเครื่องสูงแลเครื่องราชาบริโภครับพระบัญชา  นางทรงบาตรหลานเธอเป็นพระอะไภยสุรินทรกรมขุนทิพพลภักพระราชทานเครื่องสูงแลเครื่องราชาบริโภค  รับพระบัญชาเอาขุนองค์***เป็นพญาสุระสงคราม  พระราชทานเครื่องสูง  เอานายบุญมากเป็นเจ้าพญาวิชิตภูบาน  พระราชทานเครื่องสูงให้อยู่วังหลัง"

ถ้าอิงตามฉบับนี้คือนายบุญมาก ได้เป็นเจ้าพญาวิชิตภูบานและได้อยู่วังหลัง แต่ไม่มีระบุว่าได้เป็นกรมพระราชวังหลังครับ ซึ่งไม่ตรงกับพงศาวดารฉบับชำระหลังจากนั้น 

นอกจากเรื่องนี้ก็มีขัดกันเล็กๆน้อยอย่างเรื่องชื่อ เช่นพระเจ้าหลานเธอเจ้าพระพิชัยสุรินทร์กับขุนทิพพลภักดีราชนิกุลที่ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระอินทอภัยในพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์ ฉบับนี้กลับเรียกพระอะไภยสุรินทรกรมขุนทิพพลภัก เป็นคนเดียว(หรือจริงๆแล้วเป็นสองคนแต่ไม่เว้นวรรคก็ไม่ทราบ)

หรือเรื่องการตั้งมเหสีซ้ายขวาที่ต่างกันซึ่งฉบับพระพนรัตน์และฉบับชำระหลังจากนั้นระบุว่า "โปรดให้พระอัครมเหสีเดิมนั้น เป็นพระอัครมเหสีกลาง แลตั้งเจ้าฟ้าศรีสุวรรณซึ่งเรียกว่าพระราชกัลยาณี ซึ่งเป็นกรมหลวงโยธาทิพ เป็นพระบรมราชภคินีของสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้านั้นเป็นพระอัครมเหสีฝ่ายขวา ตั้งเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเป็นพระราชธิดาแห่งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้านั้น เป็นพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย"

และขุนองค์ที่ได้เป็นพระยาสุระสงคราม ตรงกับฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)ท่อนแรกที่ชำระโดยรัชกาลที่ ๑ ที่กล่าวว่า “ขุนองค์ขุนสนิท มีความชอบ ตั้งเป็นพระยาสุรสงคราม”
แต่ในฉบับพันจันทนุมาศที่ชำระใหม่โดยเจ้าพระยาพิพิธพิชัยไม่กล่าวถึงขุนองค์ แต่กล่าวถึงเจ้าพระยาสุรสงครามมีส่วนช่วยลวงออกญาวิไชยเยนทร์(ฟอลคอน)มาฆ่าได้ แต่ก็ถูกพระเพทราชาหาเหตุกำจัดทิ้งภายหลัง
ฉบับชำระหลังจากนั้นอย่างฉบับพระพนรัตนเป็นต้นมาก็กล่าวเพิ่มไปว่าหลังจากพระเพทราชาประหารเจ้าพระยาสุรสงครามไปแล้ว “ทรงพระกรุณาตั้งขุนองค์มีความชอบให้เป็นพระยาสุรสงครามแทนที่”

นี่จึงแสดงให้เห็นได้อย่างหนึ่งว่าพระราชพงศาวดารของไทยเป็นเอกสารที่มีความคลาดเคลื่อนและอาจถูกชำระแต่งเติมให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมและการเมืองในแต่ละยุค จึงไม่น่าเชื่อถือมากนัก ยากต่อการนำมาอ้างอิงแค่เพียงฉบับเดียวต้องพิจารณาหลายๆฉบับร่วมกับหลักฐานร่วมสมัยประกอบครับ




*เจ้าฟ้าทองหรือพระองค์ทองเป็นพระอนุชาต่างมารดาของสมเด็จพระนารายณ์ ถูกสำเร็จโทษตอนต้นรัชกาลพระนารายณ์พร้อมกับพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ครับ
**หม่อมแก้ว เป็นลูกของท้าวศรีจุฬาลักษณ์น้องสาวพระเพทราชาสนมของสมเด็จพระพระนารายณ์ แต่บิดาสันนิษฐานว่าเป็นเจ้าฟ้าน้อยพระอนุชาสมเด็จพระนารายณ์ที่คบชู้กับท้าวศรีจุฬาลักษณ์จนมีลูกติิด จนเจ้าฟ้าน้อยพถูกลงอาญาจนพิการและท้าวศรีจุฬาลักษณ์ถูกประหารครับ
***ขุนองค์ เข้าใจว่าคือ ขุนองครักษา ปลัดกรมหมอนวดซ้าย ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ในพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ตอนสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตที่ว่า "...พระราชรักษาให้เรียนถามพญาเพชราชา พญาสุระศักว่าพร้อมแล้วหรือยัง บอกว่าพร้อมแล้ว ขุนองค์อยู่งานถอนนิ้วขึ้นจากพระองค์พระโอษฐ์งับก็นิ่งไป วัน ๗ฯ๙ ค่ำ เพลา ๑๐ ทุ่ม เสด็จนิพพานฯ" ซึ่ง 'ราชรักษา' เป็นทินนามของเจ้ากรมหมอนวดซ้ายครับ
สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือขุนองค์ซึ่งเป็นหมอนวดถอนนิ้วจากสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์ก็สวรรคต จากนั้นขุนองค์ก็ "มีความชอบ ตั้งเป็นพระยาสุรสงคราม" ความชอบของขุนองค์คืออะไรเรื่องนี้น่าคิดนะครับ
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2012/02/K11755965/K11755965.html
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 15 ส.ค. 15, 11:02


***ขุนองค์ เข้าใจว่าคือ ขุนองครักษา ปลัดกรมหมอนวดซ้าย ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ในพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ตอนสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตที่ว่า "...พระราชรักษาให้เรียนถามพญาเพชราชา พญาสุระศักว่าพร้อมแล้วหรือยัง บอกว่าพร้อมแล้ว ขุนองค์อยู่งานถอนนิ้วขึ้นจากพระองค์พระโอษฐ์งับก็นิ่งไป วัน ๗ฯ๙ ค่ำ เพลา ๑๐ ทุ่ม เสด็จนิพพานฯ" ซึ่ง 'ราชรักษา' เป็นทินนามของเจ้ากรมหมอนวดซ้ายครับ
สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือขุนองค์ซึ่งเป็นหมอนวดถอนนิ้วจากสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์ก็สวรรคต จากนั้นขุนองค์ก็ "มีความชอบ ตั้งเป็นพระยาสุรสงคราม" ความชอบของขุนองค์คืออะไรเรื่องนี้น่าคิดนะครับ
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2012/02/K11755965/K11755965.html
[/quote]

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วแวบคิดไปถึงหนังจีนกำลังภายในเลยค่ะ ยังกับการสะกัดจุดที่พวกจอมยุทธเค้าทำกัน  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 15 ส.ค. 15, 11:51

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วแวบคิดไปถึงหนังจีนกำลังภายในเลยค่ะ ยังกับการสะกัดจุดที่พวกจอมยุทธเค้าทำกัน  ยิงฟันยิ้ม

น.พ.วิบูล วิจิตรวาทการ เคยเขียนไว้ในหนังสือ “เกร็ดสนุกในอดีต” ถึงเหตุการณ์ในพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงษ์(จาด)ตอนนี้ไว้ครับ ว่า

       “ข้อความนี้มีความหมายอย่างไร เหตุใดพระราชรักษาจึงถามพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ว่าพร้อมแล้วหรือยัง พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ก็ตอบว่าพร้อมแล้ว หลังจากนั้นเราอ่านพบว่า ขุนองค์ถอนนิ้วขึ้นจากร่างสมเด็จพระนารายณ์ และเมื่อทำเช่นนั้นพระโอษฐ์(ปาก)ก็งับแน่นิ่ง และเสด็จสวรรคต ขุนองค์นี้เป็นใครเราไม่ทราบดี เพราะเหตุใดคนที่มีตำแหน่งแค่เป็นท่านขุนจึงใช้นิ้วแตะต้องร่างกายพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเรื่องน่าสงสัย และข้อเขียนนี้ทำให้เรามีความเข้าใจว่า ระหว่างที่นิ้วของขุนองค์ยังไม่ถอนขึ้นจากร่างสมเด็จพระนารายณ์นั้น พระโอษฐ์อ้าอยู่ ต่อเมื่อถอนนิ้วแล้วพระโอษฐ์จึงงับ และสมเด็จพระนารายณ์แน่นิ่งไป

      ถ้าคิดตามหลักแพทย์สมัยใหม่ทำให้มีความรู้สึกว่า มนุษย์เราจะอ้าปากก็ต่อเมื่อในเวลาถูกผู้อื่นใช้นิ้วบีบเค้นอก และเมื่อถอนนิ้วปล่อยมือออกแน่นิ่งถึงแก่ความตายแล้ว ปากมักจะงับกลับลงมาตามเดิม จึงอยากตั้งข้อคิดว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชขณะประชวรหนักอยู่ใกล้ความตายเต็มทีแล้ว พระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ได้สั่งการให้พระราชรักษาและขุนองค์เค้นคอเสียให้เสด็จสวรรคตเมื่อรู้สึกว่าถึงเวลาอันสมควรแล้ว”

ขุนองค์นั้นเป็นหมอนวด เรื่องที่จะแตะต้องพระวรกายพระเจ้าแผ่นดินตามข้อสงสัยของ น.พ.วิบูลคงจะไม่มีปัญหาครับ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นหมอนวดที่สามารถถวายนวดย่อมมีความเชี่ยวชาญในเรื่องร่างกายเป็นอย่างดีและคงรู้ว่าจุดไหนในร่างกายที่สามารถก็ให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ครับ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 15 ส.ค. 15, 14:48

ข้อความในพงศาวดารดังกล่าวเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าแต่งขึ้นภายหลังมากกว่าครับ เพราะในตอนนั้นพระเพทราชายึดอำนาจ ควบคุมสถานการได้หมดแล้ว ไม่น่าจะมีผู้สื่อข่าวรายงานเหตุอย่างเป็นกลางโดยละเอียดแบบนี้ในห้องสวรรคตได้
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 15 ส.ค. 15, 16:20

ก็มีความเป็นไปได้ครับที่จะเขียนพงศาวดารในสมัยหลังเพื่อโจมตีพระเพทราชากับออกหลวงสุรศักดิ์ครับ แต่ถ้าเทียบกับพงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์แล้วเรื่องการวิจารณ์กษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงในเชิงลบมีเยอะกว่าอย่างเทียบไม่ติดเลยครับ

พงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด)นี้เขียนถึงกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงค่อนข้างกลางๆ มีบางตอนก็ยกย่องพระเพทราชาหน่อยๆด้วยเช่นยกย่องความสามารถในการขี่ช้างล่อม้าแพนของพระเพทราชา หรือการแสดงบุญบารมีของพระเพทราชาตอนได้ราชสมบัติเช่นมีพระบรมสารีริกธาตุผ่านหน้าเรือพระที่นั่ง  ดูจากปีศักราชและเหตุการณ์ที่ยังถูกต้องกว่าฉบับอื่นๆจึงน่าเชื่อว่าได้ชำระตั้งแต่สมัยปลายอยุทธยา อย่างเร็วก็อาจจะสมัยพระเจ้าท้ายสระเพราะพงศาวดารฉบับนี้ความจบแค่จุลศักราช ๑๐๘๙(พ.ศ.๒๒๗๐)สมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระครับ

โดยที่สันนิษฐานว่าพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์(จาด)นี้ชำระสมัยปลายอยุทธยา แน่นอนคงจะไม่สามารถเขียนวิจารณ์กษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงในแง่ลบได้ หรืออย่างน้อยก็คงไม่อาจเขียนไว้แบบตรงๆ(ในกรณีที่จะมีคนเขียน) ถ้ามีข้อความเรื่องขุนองค์ในพงศาวดารดังกล่าวก็สันนิษฐานว่าอาจจะเขียนเพิ่มเติมเมื่อพ้นรัชกาลพระเพทราชาหรือพระเจ้าเสือไปแล้ว ซึ่งดูจากภาษาในการเขียนก็ค่อนข้างกำกวมไม่เห็นภาพชัดเหมือนกับพยายามเขียนใส่ไว้แบบเนียนๆ ครับ แต่อย่างไรเสียถ้าจะชำระก็ทรงไม่น่าจะรอดพ้นสายตาของผู้มีอำนาจในตอนนั้นคือกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงไปได้ แสดงว่าข้อความในพงศาวดารฉบับนี้กษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงก็น่าจะรับได้อยู่ครับ (ความเห็นส่วนตัว อันที่จริงกษัตริย์เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ที่อาจจะไม่สนใจประวัติศาสตร์จะมาสนใจเปิดพงศาวดารอ่านรึเปล่าก็ไม่ทราบครับ บางทีเขียนแล้วอาจจะโดนวางทิ้งจนฝุ่นจับอยู่ในหอหลวงก็ได้ครับ ผมแอบคิดเล่นๆว่าบางทีสมเด็จพระเพทราชาอาจโปรดให้เขียนไว้เองก็ได้ )

เรื่องการปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์ก็มีปรากฏในหลักฐานร่วมสมัยของตะวันตกบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นการเล่าลือกันมากกว่าโดยไม่มีหลักฐานชัดเจนครับ อันที่จริงก็มีหลักฐานอยู่ว่าทรงพระประชวรหนักจวนจะสวรรคตอยู่แล้ว ผมเองก็ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้ขุนองค์ทำการปลงพระชนม์ตามพงศาวดารครับ น่าจะปล่อยให้สวรรคตไปเองจะดีกว่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 15 ส.ค. 15, 20:18

เก่งมากค่ะ ข้อมูลละเอียดยิบ
ขอเชิญมาประจำในเรือนไทย ให้วิทยาทานแก่ผู้สนใจนะคะ


บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 15 ส.ค. 15, 20:51

ขอบคุณสำหรับคำชมครับ อ.เทาชมพู จะหาโอกาสเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ในนี้เรื่อยๆนะครับ ยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.042 วินาที กับ 19 คำสั่ง