เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 67200 เจ้านายวังหลัง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 02 มี.ค. 12, 12:38

กระทู้เก่าๆในเรือนไทย เล่าถึงวังหลังไว้ตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย    แทรกอยู่ในกระทู้สุนทรภู่บ้าง กระทู้อื่นๆที่เกี่ยวกับขุนนางบ้าง
วันนี้จึงตั้งใจจะมาเล่าถึง"วังหลัง" ให้เป็นชิ้นเป็นอันเสียทีค่ะ

เรามี "วังหน้า" ถึง 5 รัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง 5 ไม่ขาดสักรัชกาลเดียว      แต่"วังหลัง" มีเพียงแค่รัชกาลเดียวเท่านั้นคือในรัชกาลที่ 1   หลังจากนั้นก็เหลือแต่เจ้านายเชื้อสายวังหลัง  สืบสายกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน  ในบัตรประชาชน เป็นนายและนางสาวกันหมดแล้ว 
มีอยู่สองราชสกุล คือ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

ขอย้อนกลับไปถึงอยุธยาตอนปลาย นะคะ

ตามประวัติที่บันทึกโดยพระยาสากลกิจประมวล(ม.ล. แปลก เสนีวงศ์) และเรียบเรียงโดย นายยิ้ม บัณฑิตยางกูร  เล่าย้อนความไปว่า
ในแผ่นดินพระเจ้าเสือ    แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง   ทรงมีพระราชโอรส 2 พระองค์   ได้แก่เจ้าฟ้าเพ็ชร์ ซึ่งต่อมาทรงขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล    และเจ้าฟ้าพร  ทรงเป็นกรมพระราชวังหลัง เรียกกันว่า พระบัณฑูรน้อย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 14:14

ขอขยายรายละเอียดทางประวัติศาสตร์หน่อยนะคะ

เจ้าฟ้าเพ็ชร์ ต่อมาขึ้นครองราชย์ มีพระนามที่คนไทยเรียกกันมาว่าพระเจ้าท้ายสระ    ทรงมีข้าหลวงเดิม  คำนี้หมายถึงข้าราชบริพารที่ทรงใช้สอยใกล้ชิดมาแต่ดั้งเดิมก่อนขึ้นครองราชย์  เป็นที่ไว้วางพระทัย     ข้าหลวงเดิมในบันทึกนี้มีชื่อตัวว่านายสาย   ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยากลาโหมราชเสนา   ในหนังสือเทียบตำแหน่งว่า เป็นอธิบดีกรมกลาโหมฝ่ายพระราชวังบวรฯ ซึ่งในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลคือเจ้าฟ้าพร พระอนุชา

ต่อมา สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงพระประชวรหนักใกล้สวรรคต   ก็เกิดปัญหาการสืบราชบัลลังก์กันขึ้นมา   เพราะผู้อยู่ในฐานะจะสืบต่อได้มีทั้งเจ้าฟ้าพรผู้ทรงดำรงตำแหน่งวังหน้า  และยังมีพระราชโอรสของพระเจ้าท้ายสระ  ซึ่งพระราชบิดามีพระราชประสงค์จะมอบราชสมบัติให้   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 14:17

พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าท้ายสระคือเจ้าฟ้านเรนทร (กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์) ในขณะนั้นผนวชอยู่  คงมองเห็นภัยนอกผ้าเหลือง  จึงไม่ไยดีกับราชสมบัติ ก็อยู่ในผ้าเหลืองต่อไปไม่สึกแม้พระราชบิดาสวรรคตแล้ว  เป็นอันว่าทรงรอดไปได้ไม่มีภัยมาสู่ตัว      ดังนั้นศึกกลางเมืองก็เลยเกิดขึ้นระหว่างเจ้าฟ้าพร กับหลานอีก 2 พระองค์ที่เป็นพระอนุชาของเจ้าฟ้านเรนทร์   คือเจ้าฟ้าอภัย และเจ้าฟ้าปรเมศร์    ทั้งสองฝ่ายต่างมีขุนนางที่สนับสนุนกันฝ่ายละมากๆ
ศึกกลางเมืองกินเวลายืดเยื้อประมาณ 1 ปี  ในที่สุดเจ้าฟ้าพรเป็นฝ่ายชนะ  ทรงขึ้นครองราชย์ และประหารชีวิตเจ้าฟ้าทั้ง 2 พระองค์ ไปตามระเบียบ   เมื่อขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีพระนามอย่างที่ชาวบ้านเรียกกันเป็นที่คุ้นเคยของนักประวัติศาสตร์ไทยในยุคหลัง  ว่าพระเจ้าบรมโกศ  

ส่วนพระยากลาโหมไม่ได้รับความกระทบกระเทือนอันใดทางการเมือง    เพราะท่านเป็นฝ่ายพระเจ้าบรมโกศมาแต่แรกแล้ว   ท่านผู้นี้ ว่ากันว่าตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงที่เป็นวัดกษัตรารามในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 02 มี.ค. 12, 14:46

พระยากลาโหม(สาย) มีบุตรธิดากี่คนในหนังสือไม่ได้แจกแจงรายละเอียด   บอกแต่ว่าบุตรชายคนโตชื่อ เสม   ต่อมารับราชการเป็นขุนนาง ที่พระอินทรรักษา   เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย ฝ่ายพระราชวังบวรในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกศ   กรมพระราชวังบวรฯองค์นี้ทรงพระนามว่ากรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์   อันได้แก่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าบรมโกศ  หรือเจ้าฟ้ากุ้ง กวีเอกของไทย    

ท่านเสม พระอินทรรักษาสมรสกับหญิงสาวผู้ดีมีตระกูล มีนามว่า สา    ท่านสาเป็นธิดาคนโตของพระพินิจอักษร(ทองดี) ซึ่งมีสายสกุลเก่าแก่ย้อนหลังไปถึงพระยาโกษาธิบดี (ปาน) สมัยสมเด็จพระนารายณ์     บ้านเดิมของท่านสาในกรุงศรีอยุธยาอยู่แถววัดบรมพุทธาวาส หรือวัดกระเบื้องเคลือบ     มารดาของท่านเป็นบุตรีของเศรษฐีจีน บิดามารดาจึงมีเงินทองพอจะสร้างวัดถวายเป็นพุทธบูชาได้  ชื่อว่าวัดสุวรรณดาราราม  
ท่านสามีพี่น้องร่วมท้องรวมกันแล้ว 5 คน   และมีน้องชายหญิงต่างมารดาอีก 2 คนด้วยกัน

ท่านมีบุตรธิดากับพระอินทรรักษา 4 คน  เป็นชาย 3  และหญิงคนสุดท้องเพียงคนเดียว

บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 09:54

มานั่งหน้าชั้นเรียน รออาจารย์เข้ามาสอนต่อครับ
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 10:21

ขอสารภาพว่ามัวไปมะงุมมะงาหรา ตามหากองทัพเรือในอ่าวไทยในกระทู้ญี่ปุ่นบุกอยู่ค่ะ เลยลืมต่อกระทู้นี้ไปเลย
ขอบคุณคุณ werachaisubhong มากที่ยกมือประท้วง   ขอกลับเข้าห้องเรียนตามเดิมนะคะ
ตระกูลของท่านสา ได้ชื่อว่าเป็นตระกูลเก่าตระกูลหนึ่งในกรุงศรีอยุธยา  บุตรหลานก็ได้แต่งงานไปกับบุตรหลานขุนนางสำคัญมีหน้ามีตา  ตัวอย่างเช่นท่านสาดังที่กล่าวมา    
ท่านสาเป็นบุตรีคนใหญ่ของบิดา  มีน้องร่วมท้องถัดลงไปอีกจากท่าน  คือ
๑  น้องชายไม่ปรากฏชื่อ มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนรามณรงค์  ถึงแก่กรรมในสมัยปลายอยุธยา
๒  แก้ว  เป็นหญิง
๒  น้องชายชื่อ ทองด้วง
๓  น้องชายชื่อบุญมา
นอกจากนี้ยังมีน้องชายหญิงต่างมารดาอีก ๒ คน  เป็นหญิงชื่อกุ   และเป็นชาย ชื่อ ลา

ย้อนกลับมาถึงชีวิตสมรสของท่านสา กับพระอินทรรักษา   ดังที่เล่าไปในค.ห.ก่อนว่าท่านมีลูกชายหญิง ๔ คน คือ
๑  ทองอิน  เกิดวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ  เดือน ๕ ปีขาล อัฐศก พ.ศ. ๒๒๘๙  ในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ   พอเป็นหนุ่มก็บวชในสำนักพระอาจารย์ทอง  เจ้าอาวาสวัดท่าหอย  ปากคลองตะเคียน ริมคลองดูจาม ในกรุงศรีอยุธยา
๒  บุญเมือง   เกิดในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศเช่นกัน  เกิดปีระกา เบญจศก  พ.ศ. ๒๓๙๖  ที่บ้านข้างวัดกษัตราราม
๓  ทองจีน  เกิดในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ  เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๐๐
๔  ทองคำ(หญิง) เกิดมีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๐๔

นอกจากนี้พระอินทรรักษายังมีบุตรเกิดจากอนุภรรยา เป็นชายชื่อขุนเณร    ไม่ทราบวันเดือนปีเกิด  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 10:31

ลูกๆของพระอินทรรักษากับท่านสาเติบโตขึ้นในช่วงที่บ้านเมืองดีในสมัยพ่อแม่ กลายเป็นกลียุคในสมัยลูก     ศึกทั้งในเมืองนอกเมืองกระหนาบกันสองด้าน   จนกระทั่งบ้านเมืองร้อนระอุเป็นไฟ   
ความจริงจะว่ากรุงศรีอยุธยาแตกเพราะพม่าอย่างเดียวก็ไม่เชิง  เพราะศึกภายในที่บั่นทอนความแข็งแกร่งของบ้านเมืองก็มี  สะสมกันมาจากการทำรัฐประหารไม่รู้ว่ากี่ครั้งในราชวงศ์บ้านพลูหลวง   การยึดอำนาจระหว่างอาหลาน และพี่ชายน้องชายก็ยังดำเนินมาจนกระทั่งถึงแผ่นดินสุดท้าย   
ขุนนางที่จงรักภักดีต่อเจ้านายฝ่ายแพ้ ถ้าไม่ถูกประหารตามนาย  ก็ต้องหมดยศหมดอำนาจหน้าที่  ไม่มีบทบาทในด้านการงานอีก   ล้วนแต่เป็นแม่ทัพนายกองสำคัญๆกัน    ความอ่อนแอภายในจึงกลายเป็นรอยร้าวที่แก้ไม่ตก จนศึกภายนอกจากพม่าเข้ามากระหน่ำ  กรุงก็เลยแตกหลังจากตั้งมาได้ถึง 447 ปี
ผลกระทบก็ตกอยู่กับชาวบ้านชาวเมืองที่ไม่ได้เป็นคนก่อเหตุ    แต่เป็นฝ่ายได้รับผลกระทบเต็มๆ 

ครอบครัวของท่านสาก็เป็นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเสียเมืองให้พม่าข้าศึก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 12:11

เมื่อพ.ศ. 2310  นายทองอิน หรือสมัยนั้นเรียกลูกผู้ดีมีตระกูลฝ่ายชายซึ่งยังไม่มีบรรดาศักดิ์ว่า "หม่อม"  จึงควรเรียกท่านว่า หม่อมทองอิน  อายุได้ 21 ปี บวชเรียนเรียบร้อยแล้วก็กรุงแตกพอดี     ก่อนหน้านั้นท่านเคยรับราชการหรือไม่  ไม่มีหลักฐาน  แต่ในเมื่อพ่อก็เป็นขุนนางใหญ่ในวังหน้า  ลูกชายอาจจะได้เป็นมหาดเล็กมาตั้งแต่รุ่นหนุ่มก็ได้     ถ้าได้เป็นก็คงเป็นมหาดเล็กชั้นผู้น้อย ไม่ทันจะมีบรรดาศักดิ์ กรุงศรีอยุธยาก็ล่มเสียก่อน

พวกขุนนางทั้งหลายต่างก็บ้านแตกสาแหรกขาด  อพยพย้ายหนีภัยสงครามออกจากเมืองไป   การอพยพนั้นมีมาเรื่อยๆทุกระยะ  ไม่ใช่ว่ากรุงแตกแล้วค่อยอพยพ      พระอินทรรักษาอพยพไปเมื่อใดไม่ทราบเช่นกัน   ประวัติบั้นปลายท่านค่อนข้างมืดมน   สันนิษฐานว่าน่าจะเสียชีวิตตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา    เหลือแต่ภรรยาและบุตรที่อพยพหลบหนีออกจากเมืองหลวง   
ครอบครัวที่เหลือแต่แม่ คงลำบากไม่น้อย  เพราะท่านสามีลูกที่โตเป็นหนุ่มอยู่คนเดียวคือหม่อมทองอิน   น้องชายคนรองอายุ 14 ปี พ้นโกนจุกมาไม่นาน   คนที่สามเพิ่ง 10 ขวบ และลูกสาวคนเล็กเพิ่ง 6 ขวบเท่านั้นเอง
ท่านอพยพไปตามลำพังแม่ๆลูกๆ ลงใต้ไปเมืองธนบุรี    ส่วนบิดาของท่านคือพระพินิจอักษร  พาอนุภรรยาและบุตรชายคนเล็กสวนทางไปทางเหนือ  ไปพึ่งเจ้าพระยาพิษณุโลก(เรือง) อยู่ที่เมืองสองแคว
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 13:22

ศึกในย่อมแก้ไขได้ยากแล้วมีศึกนอกเข้ามาอีก จึงเป็นเหตุให้กรุงแตกง่ายดาย ความสามัคคี คือพลัง
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 03 มี.ค. 12, 22:17

ตามประวัติบอกว่า ท่านสารู้จักสมเด็จพระเจ้าตากสินมาก่อนตั้งแต่สมัยอยู่อยุธยา      ถ้าหากว่าพิจารณาจากประวัติของพระเจ้าตากสิน ที่ว่าเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี  และเป็นมหาดเล็กรุ่นเดียวกันมากับท่านทองด้วงน้องชายท่านสา  และท่านบุนนาคบุตรชายพระยาจ่าแสนยากร(เสน) แห่งวังหน้าสมัยเจ้าฟ้ากุ้ง   ท่านสาในฐานะภรรยาของขุนนางวังหน้าเช่นกันก็คงจะได้รู้จักกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมาตั้งแต่สมัยนั้น
นอกจากนี้ น้องชายทั้งสองของท่านสา คือท่านทองด้วงซึ่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และท่านบุญมา  ก็ได้เข้ามารับราชการกับพระเจ้าตากสินเช่นกัน    เท่ากับพี่น้องได้มารวมกลุ่มกันอุ่นหนาฝาคั่งอีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้  ท่านสาจึงนำบุตรชายคนโตและคนรองถวายตัวเป็นมหาดเล็กหลวงในสมเด็จพระเจ้าตากสิน  รับราชการต่อมายาวนานนับสิบปี   เลื่อนตำแหน่งจากมหาดเล็กชั้นผู้น้อยขึ้นจนเป็นชั้นหัวหน้า      หม่อมทองอินได้เป็นหลวงฤทธิ์นายเวร   และหม่อมบุญเมืองได้เป็นนายจ่าเรศ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 04 มี.ค. 12, 09:30

ขอย้อนกลับไปหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก   ในช่วงวิกฤติหลังกรุงแตก  คนไทยที่รอดตายไปได้ก็แยกย้ายกันไปรวมเป็นก๊กเป็นเหล่า ไม่ขึ้นแก่กัน   เช่นก๊กเจ้าพระยาพิษณุโลก  ก๊กเจ้าพระฝางฯลฯ   ก๊กเล็กที่สุดคือก๊กธนบุรีของพระยาตากสิน  
น้าชายคนใหญ่ของหม่อมทองอินซึ่งเป็นยกกระบัตรเมืองราชบุรี  ตั้งใจจะเข้ามาสมทบกับก๊กธนบุรีมาแต่แรก  แต่ติดขัดว่านาคภรรยาของท่านกำลังตั้งครรภ์  ไม่สะดวกแก่การเดินทาง  ท่านจึงฝากแหวน และดาบคร่ำทองให้น้องชายคือท่านบุญมา หรือนายสุดจินดามหาดเล็กหุ้มแพร ไปเป็นการคารวะแทนตัว  และแนะนำให้ท่านบุญมาไปรับนางนกเอี้ยงมารดาของพระยาตากที่ลี้ภัยไปอยู่บ้านแหลม เมืองเพชรบุรีไปพร้อมกัน  เพื่อจะได้ไปอยู่กับพระเจ้าตากสินผู้เป็นบุตรให้หายห่วงใย  ส่วนตนเองนั้นจะติดตามไปสมทบด้วยในภายหลัง  ขอให้ภรรยาคลอดบุตรเสียก่อน

เรื่องราวก็เป็นไปตามความตั้งใจของหลวงยกกระบัตร  พระเจ้าตากสินทรงโสมนัสมากที่ได้พบมารดาอีกครั้ง  หลังจากต้องพลัดกระจัดกระจายกันไป    พร้อมกันนั้นก็ทรงรับท่านบุญมาเข้ารับราชการด้วยดี   อีกเหตุผลหนึ่งคือคุ้นเคยเห็นกันมาตั้งแต่ยังอยู่อยุธยา   ก็โปรดแต่งตั้งเป็นพระมหามนตรี  เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ถือศักดินา ๒,๐๐๐ ไร่
พระมหามนตรีบุญมาก็ทูลขอสมเด็จพระเจ้าตากสินออกไปรับหลวงยกกระบัตรพี่ชายมารับราชการอยู่ด้วย   ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ถือศักดินา ๑,๖๐๐ ไร่                
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 04 มี.ค. 12, 16:48

ตลอด 15 ปีในรัชสมัยธนบุรี เป็นยุคสมัยของการรบทัพจับศึกไม่ว่างเว้น      ตามแบบของอาณาจักรที่ตั้งขึ้นใหม่   นอกจากรบกับพม่าแล้วยังต้องรบกับพวกเดียวกัน  ที่แยกย้ายกันไปตั้งก๊กตั้งเหล่า เพื่อตั้งตัวเป็นใหญ่ด้วยกันทั้งสิ้น    สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ต้องทรงปราบปรามกันไปทีละก๊ก เพื่อรวมให้เหลือก๊กเดียว
ขุนนางในสมัยธนบุรีที่จะเจริญในราชการได้ จึงต้องเก่งเรื่องรบทัพจับศึก     น้าชายทั้งสองของหม่อมทองอินก็พิสูจน์ให้เห็นฝีมือว่าเป็นนักรบชั้นยอด   รับพระบรมราชโองการไปทำศึกแทบจะไม่เคยมีเวลาพักผ่อน     ตำแหน่งในราชการก็เลื่อนขึ้นเป็นลำดับ  และคู่คี่กันไปทั้งพี่และน้อง
ท่านทองด้วงเลื่อนจากพระราชวรินทร์ขึ้นเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์  จางวางพระตำรวจฝ่ายขวา  ท่านบุญมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจฝ่ายซ้าย ต่อมาก็เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปอีกจนได้เป็นเจ้าพระยาด้วยกันทั้งสองท่าน คือ "เจ้าพระยาจักรี" อัครมหาเสนากรมมหาดไทย และท่านบุญมาเลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ครองเมืองพิษณุโลก บังคับบัญชาการป้องกันพระราชอาณาจักรทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 04 มี.ค. 12, 20:39

ตระกูลของหม่อมทองอิน เห็นทีจะมีฝีไม้ลายมือทางการรบกันหมดทุกคน      คำอธิบายข้อแรกที่เห็นได้ง่ายๆ คือสมัยนั้นเป็นสมัยของการรบ   ขุนนางไม่ว่าฝ่ายบู๊ฝ่ายบุ๋นต้องออกศึกกันเป็นทั้งหมด  จะมัวเลือกคนนั้นเว้นคนนี้อยู่คงไม่ได้  ส่วนข้อที่สอง ถึงแม้พงศาวดารไม่เจาะรายละเอียดลงไปลึกว่าหลวงฤทธิ์นายเวรท่านไปเรียนวิชาอาวุธและวิชารบทัพจับศึกมาจากไหน   แต่เราก็พออ่านได้จากประวัติว่า ท่านจะต้องได้เรียนแบบมีครู หรือมีผู้ใหญ่ในตระกูลสอนให้จนไม่น้อยหน้าใคร      เพราะน้าชายเป็นขุนนางใหญ่ฝ่ายบู๊กันทั้งสองท่าน   หลานชายก็ต้องได้รับถ่ายทอดฝีมืออย่างใกล้ชิด     

ไม่ใช่แต่เฉพาะท่าน น้องๆของท่านที่โตขึ้นมาเป็นหนุ่มต่างก็รู้เรื่องการรบดีทุกคน      และเรื่อยไปจนน้องชายต่างมารดา ชื่อหม่อมขุนเณร  ท่านสาผู้มารดาหอบหิ้วออกจากกรุงศรีอยุธยามาอยู่เป็นครอบครัวเดียวกัน     หม่อมขุนเณรเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ก็เป็นนักรบที่เชี่ยวชาญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย  โดยเฉพาะการรบแบบกองโจร

เมื่อเล่ามาถึงลูกผู้ชายในตระกูลนี้ว่าเป็นนักรบกันทุกคน    ก็จะต้องเอ่ยถึงอีกท่านหนึ่งที่เป็นเครือญาติใกล้ชิดกัน    ได้แก่นายลา หรือหม่อมลา  ผู้เป็นน้องชายคนสุดท้องของเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์     
หม่อมลาเป็นบุตรเกิดจากอนุภรรยาของพระพินิจอักษร(ทองดี)   เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก  พระพินิจอักษรพาภรรยาและบุตรคนสุดท้องซึ่งยังเล็กอยู่ หนีไปอยู่กับเจ้าพระยาพิษณุโลก(เรือง)    ต่อมาท่านถึงแก่กรรม   เมื่อปลงศพแล้ว  หม่อมลาและภรรยาก็พาอัฐิของบิดามาอยู่กับพี่ชายทั้งสองที่กรุงธนบุรี      หม่อมลาก็เช่นเดียวกับหม่อมขุนเณร  คือเติบโตขึ้นในฐานะนักรบ   ต่อมาก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญอีกคนหนึ่งของพี่ชาย
บันทึกการเข้า
พรต
อสุรผัด
*
ตอบ: 8


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 09:21

จั่วหัวกระทู้ว่าเจ้านายวังหลัง อ่านไปอ่านมากลายเป็นกระทู้ต้นราชวงศ์จักรีซะแล้ว อายจัง ขอบคุณท่านผู้รู้ที่แบ่งปันครับ
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 09:38

จั่วหัวกระทู้ว่าเจ้านายวังหลัง อ่านไปอ่านมากลายเป็นกระทู้ต้นราชวงศ์จักรีซะแล้ว อายจัง ขอบคุณท่านผู้รู้ที่แบ่งปันครับ

ก็เจ้านายวังหลัง ก็เป็นเชื้อสายเจ้านายต้นราชวงศ์จักรีนี่ครับ
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
หน้า: [1] 2 3 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.086 วินาที กับ 19 คำสั่ง