เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 19
  พิมพ์  
อ่าน: 148956 เมนูอาหารป่า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 195  เมื่อ 06 เม.ย. 12, 20:44

สมัยก่อนคนที่เดินป่าอาจเป็นมาเลเลียกันง่ายมาก โดยเฉพาะคนจากในเมืองไปเดินป่า  คุณตั้งแก้ปัญหานี้ยังไง และน้ำดื่ม...ถ้าไม่ได้จากชาวบ้าน จะหาทานได้ที่ไหน
แล้วจะแน่ใจว่าปลอดเชื้อที่เป็นอันตราย...ด้วยวิธีใดคะ

ในชิวิตผมเป็นไข้มาลาเรียมา 8 ครั้ง
มีอยู่ปีหนึ่ง เป็น 2 ครั้ง จำได้แม่นเลยครับ ครั้งแรกทีีแคมป์ตามทางไปเหมืองห้วยเต่าดำ (ข้ามฝั่งแม่น้ำแควน้อยที่แก่งระเบิดเหนือบ้านท่าเสา หรือสถานีน้ำตก) ต่อมาในครั้งที่สองในปีเดียวกันจากการตั้งแคมป์ที่ฝั่งตรงข้ามกับปากแม่น้ำน้อย ในแควน้อย ใต้น้ำตกไทรโยคลงมา

แล้วค่อยขยายความเล่าให้ฟังพรุ่งนี้นะครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 196  เมื่อ 06 เม.ย. 12, 21:05

ย้อนไปถึงเมนูปลา ที่จับได้ในป่า   มีปลาอะไรที่เผาหรือย่างกินได้อร่อยบ้างไหมคะ 
ในเพชรพระอุมา( เป็นหนังสือเรื่องป่าเรื่องเดียวที่พอจะเอามาค้นเรื่องอาหารการกินได้) เล่าถึงปลาที่คณะพรรคของรพินทร์ ไพรวัลย์ทำกันสดๆคือ เอาปลาเผาหมกโคลน   

ในความเป็นจริง ห้วยที่มีโคลนอยู่ชายหาดหรือตลิ่งนั้นเกือบจะไม่เคยเห็น ชายน้ำที่มีโคลนจะพบได้ตามแม่น้ำใหญ่มากกว่า อนึ่ง ในส่วนที่เป็นป่าจริงๆจะอยู่ด้านเหนือน้ำขึ้นไป เพียงจะบอกว่า แม้กระทั่งแควใหญ่ เหนือขึ้นไปจากห้วยตาม่องล่าย (น้ำตกเอราวัณ) หรือแควน้อย เหนือขึ้นไปจากน้ำตกไทรโยค ก็ยังไม่เคยเห็นชายหาดที่มีโคลน
ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นโคลนริมชายน้ำนั้น ก็ไม่เป็นโคลนที่มีความเหนียวเช่นโคลนที่เราคิดกัน (ดินเหนียว) เป็นเพียงตะกอนทรายละเอียดซึ่งมีพวกเศษอินทรีย์ (พืช ใบไม้)ผสมอยู่ มีคุณสมบัติในทางร่วนเสียมากกว่า หากว่าจะทำปลาหมกโคลนจริงๆ คงจะต้องไปเอาดินจากเหนือตลิ่งขึ้นไปมาผสมน้ำให้เป็นโคลนสำหรับพอกตัวปลา

สำหรับกรณีทำไมไม่มีชายหาดที่เป็นโคลนตามห้วยขนาดใหญ่และห้วยเล็กห้วยน้อยต่างๆนั้น หากอยากจะทราบเหตุผลจริงๆก็คงจะต้องอธิบายในทางวิชาการครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 197  เมื่อ 06 เม.ย. 12, 21:28

เพิ่งรู้นี่เองว่าริมห้วยใหญ่น้อยทั้งหลาย ไม่มีดินโคลน    อายจัง
เรื่องไข้ป่ามาเลเรียก็น่าสนใจ    จะรออ่านว่าคุณตั้งหายโดยใช้ยาที่พกติดตัวไป หรือว่าหายจากสมุนไพร    ทำให้อยากรู้ว่าชาวบ้านเขากินสมุนไพรอะไรแก้ไข้ป่ากันบ้าง
ยุงป่าคงจะตัวโตกว่ายุงบ้านมาก    คุณตั้งใช้วิธีกันยุงยังไงคะ    นอนในมุ้งหรือว่ามียาทากันยุง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 198  เมื่อ 06 เม.ย. 12, 21:50

ย้อนไปถึงเมนูปลา ที่จับได้ในป่า   มีปลาอะไรที่เผาหรือย่างกินได้อร่อยบ้างไหมคะ  


ผมพบว่า ปลาขนาดใหญ่ (ตัวใหญ่กว่าแขนขึ้นไป) นั้น เอาไปลวกจิ้มน้ำจิ้มจะอร่อยที่สุด เอาไปย่างหรือเอาไปผัดไปแกงนั้นเป็นรอง เหตุผลที่แท้จริง ผมไม่ทราบ
  
สำหรับปลาลวกจิ้มนั้น พอจะมีคำตอบได้บ้าง คือ มันไม่สุกทีเดียว ความร้อนจากน้ำเดือดในขณะที่เอาเนื้อปลาลงไปลวกนั้น จะทำให้ผิวรอบๆของชิ้นปลาตึง ปิดช่องไม่ให้น้ำในเนื้อปลาไหลออกมามาก จึงยังมีรสของความหวานของเนื้อปลาติดอยู่ในเนื้อ แล้ว Enhance รสชาติของเนื้อด้วยรสของน้ำจิ้ม
 
การเอาไปผัดไปแกงตามปกติ (ให้สุก) นั้น ผมเห็นว่า รสของเนื้อปลาจะถูกกลบให้เลือนหมดไป ความอร่อยจะไปอยู่ที่รสของเครื่องปรุง สำหรับผัดที่ทำให้เนื้อปลาอร่อยจึงมักจะเป็นในรูปผัดฉ่า ผมเห็นว่าการผัดกันตามปรกติประเภททำให้สุกจริงๆนั้น มักจะไปอยู่ในระดับที่เอาน้ำในเนื้อปลาออกมาผสมกับรสของเครื่องปรุงแล้วซึมย้อนกลับเข้าไปในเนื้อปลาอีกครั้งหนึ่ง ความอร่อยจึงไปอยู่ที่ texture ของเนื้อปลากับรสของเครื่องปรุง

ในกรณีเผาหรือย่างนั้น หากย่างแบบเิปิด คือ ไม่ห่อไม่ปิดตัวปลาด้วยสิ่งใดสักอย่าง ปลาก็จะแห้ง น้ำในเนื้อปลาจะดันขึ้นมายังผิวด้านบนแ้ล้วไหลออกไปตามเกล็ดปลาจนหมด ถ้าจะให้คงความอร่อยของเนื้อปลา ก็จะต้องเริ่มที่ไฟแรงๆ พอน้ำเริ่มโผล่อีกด้านหนึ่ง ก็พลิกเพื่อให้ความร้อนไล่น้ำกลับเข้าไปในเนื้อปลา พลิกกลับไปมาจนเห็นว่าสุก สังเกตว่าหากเป็นการทำแบบไม่ห่อไม่ปิดเนื้อปลาก็จะแห้ง ซึ่งก็จะไปได้รสของเนื้อปลาอีกแบบ เปรียบเทียบได้กับการกินปลาสลิดสดกับปลาสลิดแห้ง ความอร่อยจะต่างกันมากๆ  ดังนั้นการย่างหรือเผาปลาจึงมักจะต้องมีการห่อ จะด้วยโคลน ด้วยเกลือ ด้วยใบตอง ด้วย foil อะไรก็ได้
เมื่ออยู่ในป่านั้น ผมว่าพวกปลาเกล็ดในตระกูลที่ตัวคล้ายๆปลาตะเพียนนั้น (ง่ายๆก็คือปลาในตระกูลปลา Carp ทั้งหลาย) เอามาย่างมาเผาอร่อยที่สุด ซึ่งที่อร่อยสุดๆจริงๆ ก็คือ ปลาตะโกก และปลายี่สกห้วย ข้อสำคัญคือ อยู่ที่วิธีการย่างด้วย การย่างบนตะแกรงนั้นสู้การย่างแบบมอญไม่ได้ (คือเสียบไม้ปักไว้ข้างๆกองไฟ)

ปลาสุดยอดอร่อยของญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นปลาในห้วยเหมือนกัน คือ ปลาอาหยุ และปลาอิวานะ ก็ต้องใช้วิธีย่างแบบนี้ (ย่างมอญ)เท่านั้น ผู้ใดมีโอกาสต้องลิ้มลองนะครับ  
      
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 199  เมื่อ 06 เม.ย. 12, 22:10

   
ส่วนค่าง คุณ "พนมเทียน" เล่าว่านอกจากเลือดใช้เป็นยาบำรุงแก้เมื่อยขบ     เครื่องในค่างเอามาทำแกงจืดได้เหมือนเครื่องในหมู   สมองเอามากินสดๆแบบหอยนางรม
ปลาร้าขี้ค่าง  เพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรก    รพินทร์ ไพรวัลย์คงไม่เคยกิน  คนอ่านเลยไม่รู้จักเมนูนี้

ผมไม่เคยเอาเครื่องในค่างมาทำแกงจืด ผมคิดว่ามันน่าจะมีสาบและคาวมาก ส่วนสมองนั้นก็ไม่เคยลอง ซึ่งสำหรับบผมนั้นว่าดูมันจะห่ามมากไปสักหน่อย อย่างไรก็ตาม คนในคณะของผมเคยเอาหัวมันมาต้ม ล้วงเอาสมองออกให้หมดแล้วเอาแขวนไว้ที่แคมป์ ส่วนหนึ่งก็เป็นการส่งสัญญาณให้พวกกะเหรี่ยงได้รู้ว่า เราก็พอจะมีความเหี้ยมอยู่บ้างนะ อย่ามายุ่งมาคิดมิดีมิร้ายก็แล้วกัน คิดดูแล้วยังรู้สึกตัวเองว่าเหมือนกับเป็นพวกมนุษย์กินคน

ส่วนเลือดค่างนั้น ปรกติก็จะใช้วิธีตัดปลายหางแล้วแหย่ลงไปในขวดเหล้าให้เลือดหยดผสมกับเหล้าในขวด บางครั้งผ่าท้องแล้วก็จะเห็นเลือดตกอยู่ในท้องเป็นก้อนลิ่ม ก็เอามาใส่เหล้าเขย่าให้ละลาย ไมเคยเอาไปต้มกินครับ ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า พอเอาลงในน้ำเดือด มันจะมิละลายไปหรือ มันไม่ใช่เลือดหมู เลือดเป็ดเลือดไก่ที่ถูกอากาศแล้วแข็งตัวเป็นก้อนๆ อีกประการหนึ่ง คนเชื่อกันว่าเหล้าเลือดค่างนั้นเป็นยา หายาก คงจะไม่เอาเลือดซึ่งมีไม่มากนักไปต้มกินกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 200  เมื่อ 06 เม.ย. 12, 22:13

ชนกลางอากาศขณะไปหารูปปลาตะโกกกับปลายี่สกห้วยมาดู  อยากรู้ว่าปลาเนื้ออร่อยที่สุดของคุณตั้งหน้าตาเป็นยังไง
ซ้าย ปลาตะโกก ขวา ปลายี่สก


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 201  เมื่อ 06 เม.ย. 12, 22:19


ผมไม่เคยเอาเครื่องในค่างมาทำแกงจืด ผมคิดว่ามันน่าจะมีสาบและคาวมาก ส่วนสมองนั้นก็ไม่เคยลอง ซึ่งสำหรับบผมนั้นว่าดูมันจะห่ามมากไปสักหน่อย อย่างไรก็ตาม คนในคณะของผมเคยเอาหัวมันมาต้ม ล้วงเอาสมองออกให้หมดแล้วเอาแขวนไว้ที่แคมป์ ส่วนหนึ่งก็เป็นการส่งสัญญาณให้พวกกะเหรี่ยงได้รู้ว่า เราก็พอจะมีความเหี้ยมอยู่บ้างนะ อย่ามายุ่งมาคิดมิดีมิร้ายก็แล้วกัน คิดดูแล้วยังรู้สึกตัวเองว่าเหมือนกับเป็นพวกมนุษย์กินคน

ส่วนเลือดค่างนั้น ปรกติก็จะใช้วิธีตัดปลายหางแล้วแหย่ลงไปในขวดเหล้าให้เลือดหยดผสมกับเหล้าในขวด บางครั้งผ่าท้องแล้วก็จะเห็นเลือดตกอยู่ในท้องเป็นก้อนลิ่ม ก็เอามาใส่เหล้าเขย่าให้ละลาย ไมเคยเอาไปต้มกินครับ ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า พอเอาลงในน้ำเดือด มันจะมิละลายไปหรือ มันไม่ใช่เลือดหมู เลือดเป็ดเลือดไก่ที่ถูกอากาศแล้วแข็งตัวเป็นก้อนๆ อีกประการหนึ่ง คนเชื่อกันว่าเหล้าเลือดค่างนั้นเป็นยา หายาก คงจะไม่เอาเลือดซึ่งมีไม่มากนักไปต้มกินกัน

ขอโทษที่ดิฉันอธิบายไม่ชัดเจน    คุณพนมเทียนบรรยายว่า พรานของรพินทร์ไพรวัลย์ ใช้วิธียิงค่างตกจากยอดไม้  เชือดคอรองเลือดใส่เหล้าโรง เขย่าๆ ให้เข้ากัน  กินเลือดค่างผสมเหล้าโรงเป็นยาบำรุงกำลัง แก้เมื่อยขบ และแก้ไข้อีกด้วย   ไม่ได้เอาเลือดมาต้มค่ะ
อ้อ อีกอย่างคือดีค่าง  เก็บไว้ทั้งถุงไม่ให้แตก แล้วหย่อนลงคอกินสดๆ ตามด้วยเหล้าอีกนิดหน่อย  เป็นยาบำรุงสายตา แก้ตามืดตามัว   สมองค่างก็กินสดๆ เช่นกัน   
สรุปว่าค่างมีสรรพคุณเป็นยา เกือบทั้งตัวละมัง

หัวค่างแขวนโชว์หน้าแคมป์ เพื่อเตือนกะเหรี่ยงว่าห้ามยุ่ง   น่าจะเป็นการผจญภัยในป่า อีกตอนหนึ่งที่น้อยคนจะได้เจออย่างคุณตั้ง   แค่แย้มๆก็น่าตื่นเต้นเสียแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 202  เมื่อ 06 เม.ย. 12, 22:25

คุณตั้งบุกป่าฝ่าดงไปทำงานธรณีวิทยามาหลายปี   เห็นชีวิตในป่าอย่างที่น้อยคนจะมีโอกาสเห็น
เมื่อเขียนกระทู้ เมนูอาหารป่าจบแล้ว    อยากจะขอเชิญให้เล่าถึง "ชีวิตในป่า" บ้าง หากว่ามีแง่มุมหรือเกร็ดต่างๆที่คิดว่าจะถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง และคนรุ่นเดียวกันที่ไม่มีโอกาสจะไปเห็นได้มากเท่า
เพราะประสบการณ์อันมีค่าแบบนี้  ถ้าไม่เล่าไว้ ก็มีแต่จะหายสูญไปพร้อมกับความทรงจำของเจ้าตัว

สมัยที่คุณตั้งเรียนจบ   เริ่มทำงาน  เป็นยุคที่ป่าเมืองไทยมีอันตรายมากมาย   ทั้งจากธรรมชาติของป่า  ธรรมชาติของคน และธรรมชาติของการเมืองในยุคนั้น
นับว่าเป็นเก่งบวกเฮง ที่คุณตั้งเอาตัวรอดมาได้จนกระทั่งพ้นจากชีวิตในป่า ไปเป็นชีวิตในต่างแดน และกลับมาเป็นชีวิตในเมืองหลวงอย่างทุกวันนี้

วางเทียบเชิญล่วงหน้าไว้ก่อนค่ะ  ไม่รีบร้อน  เมื่อไรก็เมื่อนั้น
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 203  เมื่อ 07 เม.ย. 12, 15:00

พูดถึงความอร่อยของเนื้อปลา  ที่จำได้ไม่ลืมเลยคือที่จ.ว.อุตรดิตถ์ ริมถนนมีปลาหมอไทยตัวใหญ่มาก

น.น.น่าจะมากกว่า 1 ก.ก ต่อตัว รูปทรงคล้ายปลานิลตัวใหญ่ยักษ์ ใส่จานเปลใบใหญ่พอดี

 เขาเผาจนผิวเป็นสีนิลทีเดียว

พอเอาวางที่โต๊ะ ใช้มีดกรีดตั้งแต่หัว มาตามแนวครีบหลังจนสุดตัว เปิดผิวสีถ่านออกเหมือนเปิดฝา

เนื้อปลาสีชมพูอ่อน มีน้ำฉ่ำ พร้อมกลิ่นหอม และยังร้อนอยู่ พร้อมเครื่องจิ้ม

ทุกคนลองชิมคนละคำ ก็ถึงกับอุทานว่า"อร่อยที่สุด"

มื้อนั้นทุกคนทานปลาจนอิ่มจริงๆ โดยไม่แตะข้าวกันเลย ทั้งที่ข้าวก็หอมชวนทาน

รสชาติของปลาวันนั้นทำให้ประทับใจ...ไม่ลืม และถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปทานอีก

ถามคนขายได้ความว่าเป็นปลาจากเขื่อน จึงตัวโตมาก เนื้อหนา สด และหวานค่ะ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 204  เมื่อ 08 เม.ย. 12, 21:10

ชนกลางอากาศขณะไปหารูปปลาตะโกกกับปลายี่สกห้วยมาดู  อยากรู้ว่าปลาเนื้ออร่อยที่สุดของคุณตั้งหน้าตาเป็นยังไง
ซ้าย ปลาตะโกก ขวา ปลายี่สก

หากเป็นในป่า ผมคิดว่าปลายี่สกห้วยย่างมอญอร่อยกว่าปลาตะโกกมาก แต่หากเป็นในเมือง ผมจะสั่งปลาตะโกกทอด ผมจะไม่สั่งปลาตะโกกมาต้มยำกินเหมือนปลายี่สกเด็ดขาด และหากจะสั่งต้มยำปลาผมก็คงจะสั่งต้มยำปลาช่อนมากกว่าที่จะสั่งต้มยำปลายี่สก
ปลายี่สกตัวใหญ่ที่แขวนโชว์ตามภัตตาคารนั้น บางทีก็เป็นปลานวลจันทร์ ซึ่งเหมือนกันมาก ปลายี่สกจะต่างๆไปที่มีลายดำเป็นทิวข้างๆตัวดังรูปของคุณเทาชมพู ปลายี่สกเป็นปลาตัวใหญ่ที่พบอยู่ตามวังน้ำในแควน้อยและแควใหญ่ มักจะได้มาด้วยการตกเบ็ด หาได้ยากมากกว่าปลานวลจันทร์ ผมเดยเห็นเด็กสองคนหามปลายี่สกหางลากดินเลย ตัวคงจะยาวแระมาณ 1 เมตร น้ำหนักน่าจะมากกว่า 20 กก.

เลยนึกถึงต้มยำเป็ดตุ๋น เมนูนี้ก็อร่อยมากเช่นกัน ผมทำเลี้ยงคนทั้งฝรั่งและไทยมาหลายครั้งแล้ว หมดทุกที หลายครั้งทำตุ๋นเป็ดเพื่อจะทำเป็นต้มยำ แทนที่จะซดน้ำเป็ดตุ๋นใส่มะนาวดอง   
เอาน้ำเป็นตุ๋นนั้นแหละครับ ยิ่งที่ใส่มะนาวดองแล้วยิ่งดี ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกขี้หนูบุบ ใส่เนื้อเป็ดตุ๋นลงไป ปรุงรสให้แซบด้วยน้ำปลา และมะนาว ซดได้แล้วครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 205  เมื่อ 08 เม.ย. 12, 21:30

พูดถึงความอร่อยของเนื้อปลา  ที่จำได้ไม่ลืมเลยคือที่จ.ว.อุตรดิตถ์ ริมถนนมีปลาหมอไทยตัวใหญ่มาก  น.น.น่าจะมากกว่า 1 ก.ก ต่อตัว รูปทรงคล้ายปลานิลตัวใหญ่ยักษ์ ใส่จานเปลใบใหญ่พอดี  เขาเผาจนผิวเป็นสีนิลทีเดียว พอเอาวางที่โต๊ะ ใช้มีดกรีดตั้งแต่หัว มาตามแนวครีบหลังจนสุดตัว เปิดผิวสีถ่านออกเหมือนเปิดฝา
เนื้อปลาสีชมพูอ่อน มีน้ำฉ่ำ พร้อมกลิ่นหอม และยังร้อนอยู่ พร้อมเครื่องจิ้ม ทุกคนลองชิมคนละคำ ก็ถึงกับอุทานว่า"อร่อยที่สุด"
มื้อนั้นทุกคนทานปลาจนอิ่มจริงๆ โดยไม่แตะข้าวกันเลย ทั้งที่ข้าวก็หอมชวนทาน รสชาติของปลาวันนั้นทำให้ประทับใจ...ไม่ลืม และถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปทานอีก
ถามคนขายได้ความว่าเป็นปลาจากเขื่อน จึงตัวโตมาก เนื้อหนา สด และหวานค่ะ

ผมไม่ได้เห็นตัวจริง แต่คิดว่าบางทีอาจจะเป็นปลาที่เรียกกันว่าปลาหมอช้างเหยีบ (หรือปลาเสือตอ) ซึ่งในสมัยระหว่าง พ.ศ. 2512-2516 หากินได้ที่ จ.นครสวรรค์ เป็นปลาในบึงบรเพ็ด จากนั้นมาก็หายาก ความอร่อยนะหรือครับ สมัยนั้นในร้านอาหารราคาตัวละ 100 บาท เอามาทอด ยังยอมจ่ายเงินกินกันเลย
 
ในเขื่อนน้ำน่านที่อุตรดิตถ์นั้น ก่อนจะมีการกักน้ำ มีแต่ปลาตัวเล็กมาขายกัน แต่พอกักน้ำแล้วได้ปลาตัวใหญ่มาขายกันมากมาย แถมแพงอีกด้วย จำได้ว่าปลาช่อน กก.ละ 20 บาท สูสีกับเบี้ยเลี้ยงเลยทีเดียว

หลายคนอาจจะไม่เคยทราบว่าในแม่น้ำน่านตอนบนๆเหนือบริเวณเขื่อน ในช่วงก่อนที่จะปิดกั้นน้ำนั้น มีปลาปักเป้าน้ำจืดอยู่ด้วย เวลาลงอาบน้ำต้องระวังเหมือนกัน มันมาตอดน่องขา เผลอไปบางทีได้เลือดเหมือนกัน ตัวขนาดย่อมกว่ากำปั้น
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 206  เมื่อ 09 เม.ย. 12, 11:46

เลยนึกถึงต้มยำเป็ดตุ๋น เมนูนี้ก็อร่อยมากเช่นกัน ผมทำเลี้ยงคนทั้งฝรั่งและไทยมาหลายครั้งแล้ว หมดทุกที หลายครั้งทำตุ๋นเป็ดเพื่อจะทำเป็นต้มยำ แทนที่จะซดน้ำเป็ดตุ๋นใส่มะนาวดอง   
เอาน้ำเป็นตุ๋นนั้นแหละครับ ยิ่งที่ใส่มะนาวดองแล้วยิ่งดี ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกขี้หนูบุบ ใส่เนื้อเป็ดตุ๋นลงไป ปรุงรสให้แซบด้วยน้ำปลา และมะนาว ซดได้แล้วครับ

ทานเป็ดตุ๋นมะนาวดองบ่อยๆแต่ไม่เคยทานแบบต้มยำเลย ...จะลองทำดูบ้างนะคะ  ท่าจะอร่อยเลิศ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 207  เมื่อ 11 เม.ย. 12, 18:00

....อ้อ อีกอย่างคือดีค่าง  เก็บไว้ทั้งถุงไม่ให้แตก แล้วหย่อนลงคอกินสดๆ ตามด้วยเหล้าอีกนิดหน่อย  เป็นยาบำรุงสายตา แก้ตามืดตามัว   สมองค่างก็กินสดๆ เช่นกัน   
สรุปว่าค่างมีสรรพคุณเป็นยา เกือบทั้งตัวละมัง....


ใช่ครับ เขาก็ว่ากันอย่างนั้น คือ หย่อนดี (ขนาดประมาณหัวแม่มือ) ลงคอไปทั้งถุง ส่วนหนึ่งก็เพื่อไม่ให้ขม แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นคนที่ทำเช่นนั้นได้คงจะต้องเป็นนายใหญ่จริงๆ หรือไม่ก็ต้องไม่มีคนอยากลอง  ในความเป็นจริงแล้ว มีโอกาสน้อยมากที่จะยิงค่างได้หลายๆตัวในคราวเดียวดังที่ผมเล่ามา ต้องเป็นความตั้งใจจริงๆ ต้องมีคนอย่างน้อยสองคนพร้อมปืนลูกซองอย่างน้อยหนึ่งกระบอก มีสุนัขสองสามตัว    หากมีปืนอยู่กระบอกเดียว มีคนหลายคน ไม่มีสุนัข วิธีการคือต้องช่วยกันแหงนคอดู คนหนึ่งเอาสันมีดเคาะต้นไม้ คนอื่นๆช่วยกันทำเสียงเอะอะ อีกคนคอยยิง จึงจะได้
ตามปรกติ จะเอาดีค่างมาฉีกออกใส่แก้วแล้วใส่เหล้าลงไป แบ่งกันกินได้คนละอึกน้อยๆเท่านั้น

ดีลิงก็กินได้เหมือนดีค่างครับ และหากจะเก็บดีไว้กินในวันหลัง ก็ต้องใช้วิธีแขวนตากให้แห้งด้วยลม ใช้เวลาสองสามวันจึงจะแห้ง หากตากกับแดดเมื่อใร ถุงดีก็จะแตกระเบิดเสียของไปเลย ผมว่าด้วยเหตุที่ว่านี้จึงกินดีสดๆกันครับ

ดีสัตว์นี้ก็แปลกนะครับ นิยมเอามาทำเป็นยากันทั้งนั้น เท่าที่ผมรู้ก็ของเกือบจะทุกสัตว์
คนในเมืองและร้านขายยาใ้ช้ดีหมีและดีงูเหลือมเป็นหลัก กะเหรี่ยงใช้ดีเม่นเป็นหลัก ชาวบ้านป่าอื่นๆผมไม่ค่อยจะเห็นมีการเก็บไว้เข้ายา (คงขายกันหมดเพราะราคาดี) คนเดินป่าก็จะไม่เก็บแต่กินสดเลย ที่นิยมก็มีดีค่าง ดีลิง ดีเต่า
ในภาคเหนือและอีสานนั้นมีลาบขม เป็นลาบดิบที่ใส่น้ำดีในลาบวัวหรือลาบควายด้วย ปรุงรสลาบมาแทบตายใส่น้ำดีลงไปกลายเป็นขมอย่างเดียว ในอีสานนั้นน้ำปลาที่จิ้มเนื้อย่างยังใส่ดีกับข้าวคั่วเลย     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 208  เมื่อ 11 เม.ย. 12, 18:24

พูดถึงค่างแล้วก็ต้องต่อด้วยลิง

ลิงที่พวกผมยิงกันนั้น เหมือนเป็นอาหารที่เจ้าที่เจ้าทางเจ้าป่าเจ้าเขาเขาให้มา ดังที่เล่ามาแล้วว่า พอบ่ายสามโมงแล้วก็จะเริ่มให้ความสนใจในเรื่องของอาหาร ซึ่งจะอยู่บนเส้นทางในระหว่างเดินไปหาแคมป์ เป็นช่วงเวลาที่รีบและจำกัด เนื่องจากมีโอกาสที่จะพลัดหลงกับแคมป์ที่นัดกันไว้ บนเส้นทางนี้อะไรที่เก็บกินได้ก็จะเก็บ ลิงที่เขาให้มาก็จะอยู่บนเส้นทางนี้ นั่งอยู่เดี่ยวๆโดดเด่นบนกิ่งไม้ให้ยิง หากลิงอยู่กันเป็นฝูงก็ไม่กล้าหรอกครับ กลัวมันรุมเอาเหมือนกัน ที่ว่าเจ้าป่าเขาให้มาก็เพราะเหตุนี้แหละครับ คือไม่ต้องไปแสวงหา มีมาให้หนึ่งตัวเดี่ยวๆ 

ลิงค่อนข้างจะมีกลิ่นคาว ไม่กินเลือดและเครื่องในกัน กินแต่ดีเท่านั้น วิธีทำก็คล้ายๆค่าง แต่จะไม่แกงกัน จะเป็นผัดแบบเผ็ดๆและผสมเครื่องแกงสำหรับผัดเป็นพิเศษ ก็ใช้น้ำพริกแกงเผ็ดธรรมดา เิ่พิ่มตะใคร้อีกสักต้น ผิวมะกรูดอีกสักครึ่งลูก ข่าอีก3-4 แว่น ดอกกระเพรา (หากมี) กะปิอีกหน่อย แล้วใส่เม็ดผักชี (เครื่องเทศ ที่ต้องพกพาเป็นประจำ) ใช้กระทะผัดน้ำพริกให้หอม ใส่เนื้อผัดให้สุก เติมเกลือ เติมน้ำปลา เอาน้ำล้างครกใส่ไปด้วยให้น้ำขลุกขลิก ปิดกระทะด้วยฝาให้เดือนจัด ยกลงกินได้แล้วครับ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 209  เมื่อ 11 เม.ย. 12, 19:02

ถึงตรงนี้ก็คิดว่าคงจะต้องชี้แจงเพื่อความเข้าใจในบางเรื่อง

การทำงานของพวกผมนั้น จำแนกได้เป็น  2 ลักษณะ คือ แบบเดินดาหน้าสำรวจไปเรื่อยๆ (ทำแผนที่) กับแบบตั้งแคมป์เดินไปทำงานเช้า-เย็นกลับแคมป์ (สำรวจแหล่งแร่)
ในช่วงระหว่างปี 2508 - 2522 นั้น อยู่ในช่วงการทำแผนที่ธรณ๊วิทยาพื้นฐานอย่างเป็นระบบทั่วประเทศไทย ประเทศไทยยังไม่เคยมีแผนที่ในลักษณะนี้ ผมสมัครใจทำงานอยู่ในพวกทำแผนที่นี้ เดินไปทุกที่ในระวางแผนที่ที่ได้รับมอบหมาย เท่าที่จะเดินไปได้เพื่อเก็บข้อมูลนำมาประมวลทำแผนที่ให้มีความถูกต้องมากที่สุด ผลที่ได้รับมันเป็นความภูมิใจ ข้อมูลที่ได้ทำกันมาได้ทำให้มีการสำรวจและพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและน้ำมันบนบก ใด้ใช้ในเรื่องของน้ำบาดาลที่ช่วยคนไทยให้มีน้ำกินน้ำใช้ไม่ขาดแคลนเป็นจำนวนมากมายทั่วทุกภาค ได้พบถ่านหินและแหล่งแร่อีกหลายแหล่ง ฯลฯ

ด้วยลักษณะงานแบบนี้ ในสภาพแวดล้อมและความธุรกันดารหฤโหดในสมัยนั้น จึงมีเรื่องราวของการอยู่รอดเล่าให้ฟังดังที่เล่ามา มิใช่เป็นเรื่องของความสนุกใดๆที่ไปเสาะแสวงหา เพียงแต่อยู่ให้รอด อยู่อย่างพอเพียง อยู่อย่างเพียงพอ และเบียดเบียนให้น้อยที่สุดเท่านั้น
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 19
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.176 วินาที กับ 20 คำสั่ง