เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 19
  พิมพ์  
อ่าน: 149348 เมนูอาหารป่า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 150  เมื่อ 28 มี.ค. 12, 22:58

ผักกูดเป็นอาหารจานโปรดอีกอย่างหนึ่ง ได้ทานครั้งแรกเมื่อไปเย่ยมเพื่อนที่อ.บ้านไร่ อุทัยธานี

ตลาดเล็กๆที่อำเภอบ้านไร่มีร้านขายข้าวต้ม กับอาหารตามสั่ง เห็นผักกูดเป็นกำ สูงราวๆ 1 คืบ

ใบอ่อน ปลายม้วนดูสดมาก เลยให้เขาผัดเหมือนผักบุ้งไฟแดง กรอบอร่อยมากค่ะ

ติดใจตั้งแต่นั้นมา...เดี๋ยวนี้ยังพอหาได้ในกรุงเทพ ตามตลาดสดที่ใหญ่สักหน่อย

เช่นตลาดราชวัตร(ริมถนน หน้าเซเว่น) สังเกตว่า แม่ค้าจะเอาผักพื้นบ้านมาขาย

โชคดีก็จะได้มาพอผัดสักจานหนึ่ง ให้หายอยากค่ะ
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 151  เมื่อ 28 มี.ค. 12, 23:05

ค้นภาพผักกูด ที่ทำอาหารได้หลายอย่างมาให้น้ำลายหยด




บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 152  เมื่อ 28 มี.ค. 12, 23:07

มีอีก 2 รายการค่ะ น่าทานเหมือนกัน



บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 153  เมื่อ 29 มี.ค. 12, 21:33

ดีใจครับที่ได้เห็นผักกูดขึ้นโต๊ะอาหารหลายๆเมนู เป็นผักในธรรมชาติที่ไม่มีการปรุงแต่ง ที่ปลอดสารจริงๆ ในช่วงเวลาที่ผมใช้ชีวิตทำงานในป่าในอดีตที่ผ่านมานั้น คนในเมืองแทบจะไม่รู้จักผักกูดกันเลย
ผักกูดเป็นผักที่ผมเก็บกินแทบจะทุกวัน หาได้ง่ายมากตามริมห้วยต่างๆ โดยเฉพาะตามคุ้งน้ำในห้วยด้านที่มีการกัดเซาะ (ด้านนอกของวงโค้ง) ส่วนมากก็จะเอามาต้มกินกับน้ำพริก หรือใช้ในการแกงส้ม จะเป็นแกงผักกูดเฉยๆไม่มีเนื้อใดๆ จะเป็นแกงส้มปลากระป๋อง หรือแกงส้มกับปลาอื่นๆที่พบในห้วยก็ได้ทั้งนั้น ไม่เคยใช้ผักกูดในการแกงป่าหรือแกงเผ็ด ผมว่ามันไปด้วยกันไม่ได้เลย

การเก็บผักกูดก็จะต้องเก็บให้เป็น ต้องระวังนะครับ ในบริเวณที่เป็นดงผักกูดขึ้นก็จะมีพวกเฟิร์นที่ไม่ใช่ผักกูดขึ้นร่วมอยู่ด้วย ความแตกต่างที่สำคัญก็คือ ก้านสีแดงหรือดำ กับก้านสีเขียว ห้ามเก็บที่มีก้านสีแดงหรือดำ ผักกูดจะมีก้านเขียว พวกก้านสีแดงนั้นกินไม่ได้ครับ

เอาผักกูดมาแกงส้มกันนะครับ
แกงส้มแบบคนในเมืองทำกันนั้น ผมจำแนกออกเป็น 3 แบบ คือ แบบแกะเอาเนื้อปลาที่ต้มแล้วมาโขลกรวมกับน้ำพริกแกง ใส่ผัก น้ำแกงส้มจะข้น แบบน้ำแกงใส ใส่เนื้อปลาและผัก และแบบผสม    ไม่เอาแบบของภาคเหนือ(ใส่มะแขว่น) และภาคใต้ (ใส่ขมิ้นและมะขามแขกหรือส้มควาย) นะครับ
ในป่านั้น แกงส้มก็ทำได้ทั้งสามแบบ แต่ทั่วๆไปมักจะนึกถึงการใช้ปลากระป๋องแทนปลาสด

แท้จริงแล้ว มิใช่ว่าจะหาปลาสดไม่ได้ในป่านะครับ แต่เนื่องจากว่าปลาในห้วยนั้นเกือบทั้งหมดเป็นปลามีเกล็ด ตัวเล็กและมีก้างเยอะ คนอาจจะไม่ชอบ เช่น ปลาใบไม้ ปลาเกล็ดขาว ซึ่งพวกนี้ลักษณะคล้ายปลาตะเพียน มีปลากั้งหรือปลาก้าง ลักษณะคล้ายปลาช่อน ตัวสั้น หัวโต ปลายครีบหลังสีแดง ที่พบตลอดมาก็ตัวยาวประมาณคืบหนึ่ง มีปลาตากลับ กัวขนาดประมาณฝ่ามือ สีออกเขียวเหลือง แลมีตาเหมือปลาตาดียว    สำหรับปลาหนังก็มีปลากดหมู ตัวเหมือนปลาแขยง ตัวป้อมสั้นขนาดประมาณหัวแม่มือ เหล่านี้เป็นต้น
 
หากเป็นห้วยใหญ่หรือแม่น้ำก็อาจจะได้พวกปลาเกล็ดขนาดใหญ่ เช่น ปลาตะเพียน (ก้างถี่และละเอียด) ปลาตะโกรกหรือตะโกก (ก้างเหมือนปลาตะเพียนแต่ห่างและใหญ่กว่า) มีปลายี่สก มีปลาชะโด เหมือนปลาช่อนแต่ข้างลาย ตัวใหญ่กว่าปลาช่อน มีปลาแมลงภู่หรือแมงภู่ ก็เหมือนปลาชะโดแต่ตัวยาวกว่ามาก ปลาหนังก็มีปลาแคร่หรือแค่ (ไอ้แคร่) ตัวใหญ่ได้ถึงขนาดโคนขา สีออกน้ำตาล ป้อมสั้น ผมเรียกมันว่าฉลามน้ำจืด มีปลาคังหรือคลัง สีแบบเครื่องแบบทหารอากาศแต่เข้มกว่าและมีปลายหางแดง (ไอ้คังหางแดง) เหล่านี้เป็นต้น ปลาพวกนี้เอาไปทำอาหารอย่างอื่นกินอร่อยกว่าเอามาทำแกงส้ม

น้ำพริกแกงส้มก็ไม่มีอะไรพิศดาร มีหัวหอม พริกแห้ง จะให้เผ็ดก็ใช้พริกแห้งเม็ดใหญ่ จะให้รู้สึกแสบร้อนก็ใช้พริกแห้งเม็ดเล็ก หรือใช้พริกแห้งทั้งสองชนิดก็จะได้ทั้งเผ็ดและแสบร้อนปาก ใส่เกลือ โขลกเข้าด้วยกัน เกลือจะช่วยในการบดให้พริกแหลกละเอียด ใส่กะปิ คะเนว่าโขลกรวมกันแล้วจะได้น้ำพริกแกงประมาณหนึ่งช้อนโต๊ะ เอาหม้อแกงใส่น้ำไม่มากตั้งไฟ พอน้ำเริ่มร้อนก็ละลายน้ำพริก พอเดือดก็จัดก็ใส่เนื้อปลาที่อยากจะใส่ หย่อนลงทีละชิ้นๆ เมื่อน้ำเริ่มจะไม่เดือดปุดๆก็หยุดรอ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้คาว ปรุงรสน้ำแกงโดยใส่เกลือให้ออกรสเค็มนำ จากนั้นจึงใส่น้ำมะขามเปียกเพื่อดึงรสเปรี้ยวให้ออกมา ถ้าจะให้มีรสกลมกลืนมากขึ้นและตัดรสฉูดฉาดออกไปก็ใส่น้ำตาลปี๊บลงไป พอน้ำแกงเดือดอีกครั้ง ก็ใส่ผักกูด ปิดฝาให้เดือดอีกครั้ง แล้วยกลง กินได้แล้วครับ

แกงส้มผักต่างๆนั้น ถ้าจะให้อร่อยถึงรสจริงๆจะต้องทำค้างคืนไว้ ผักบางอย่างก็คืนหนึ่งพอ บางอย่างอาจจะต้องค้า่งถึงสองคืน           
   
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 154  เมื่อ 29 มี.ค. 12, 21:50

อาหารเหนือที่ชอบมากและทำเป็นอยู่อย่างเดียวคือ แกงขนุนอ่อน

ใช้น้ำพริกแกงส้มผัดกับซี่โครงหมู(ที่มีเนื้อมากหน่อย) ชิ้นพอคำ

พอหอมแล้วเติมน้ำให้ท่วม เคี่ยวให้หมูเริ่มเปื่อย

ขนุนอ่อนหั่นเป็นแว่นๆหนาไม่เกิน 1 นิ้ว (อย่าลืมเอาน้ำมันพืชทาที่มีดเพื่อกันยางขนุน)

หั่นเปลือกออกให้หมดตัดเอาแต่เนื้อขนุนพร้อมยวงที่เป็นเส้นๆ ขนาดพอคำ

เอาขนุนที่หั่นใส่หม้อที่เคี่ยวหมูกับน้ำพริกไว้ เคี่ยวไฟอ่อนต่อไปจนนุ่ม

ใส่ชะอม และมะเขือเทศลูกเล็กเพิ่มรสเปรี้ยว

ปรุงด้วยน้าตาล  น้ำปลา ชิมรสตามชอบ


ทานแล้วชื่นใจมากค่ะ

ส่วนปลาน้ำจืดที่ชอบเป็นพิเศษ คือปลาค้าวค่ะ ทอดแล้วราดด้วยน้ำปลาผสมน้ำตาล

ทานกับข้าวสวยร้อนๆ โอ้ย...อร่อยอย่าบอกใครเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 155  เมื่อ 30 มี.ค. 12, 18:38

อาหารเหนือที่ชอบมากและทำเป็นอยู่อย่างเดียวคือ แกงขนุนอ่อน ใช้น้ำพริกแกงส้มผัดกับซี่โครงหมู(ที่มีเนื้อมากหน่อย) ชิ้นพอคำ พอหอมแล้วเติมน้ำให้ท่วม เคี่ยวให้หมูเริ่มเปื่อย ขนุนอ่อนหั่นเป็นแว่นๆหนาไม่เกิน 1 นิ้ว (อย่าลืมเอาน้ำมันพืชทาที่มีดเพื่อกันยางขนุน) หั่นเปลือกออกให้หมดตัดเอาแต่เนื้อขนุนพร้อมยวงที่เป็นเส้นๆ ขนาดพอคำ เอาขนุนที่หั่นใส่หม้อที่เคี่ยวหมูกับน้ำพริกไว้ เคี่ยวไฟอ่อนต่อไปจนนุ่ม ใส่ชะอม และมะเขือเทศลูกเล็กเพิ่มรสเปรี้ยว ปรุงด้วยน้าตาล  น้ำปลา ชิมรสตามชอบ ทานแล้วชื่นใจมากค่ะ
ส่วนปลาน้ำจืดที่ชอบเป็นพิเศษ คือปลาค้าวค่ะ ทอดแล้วราดด้วยน้ำปลาผสมน้ำตาล ทานกับข้าวสวยร้อนๆ โอ้ย...อร่อยอย่าบอกใครเลยค่ะ

แกงขนุนนี้ก็เป็นแกงที่น่าสนใจเมื่อพิจารณาในเชิงของการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง
ต้นขนุนนั้นไม่ค่อยจะพบว่ามีการปลูกกันในบ้านป่า แต่หากเป็นชุมชนที่ตั้งมาเก่าแก่มากๆหน่อย เป็นเวลา 70-80 ปีขึ้นไป จึงจะมีการปลูกกัน ซึ่งนอกจากขนุนแล้วก็จะเห็นว่ามีการปลูกมะพร้าวและหมากอีกด้วย ต้นขนุน มะพร้าวและหมากนี้ เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างดีสำหรับผมในขณะออกสำรวจว่า ได้พบชุมชนที่อยู่กันอย่างผาสุขต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน (คนมีอัธยาสัยดี มีความปลอดภัย อาหารการกินสมบูรณ์) พื้นที่มักจะเป็นที่ราบ มีห้วยผ่านหมู่บ้านและในห้วยมีน้ำไหลทั้งปี มีนาข้าว (หากพบหมู่บ้านที่ปลูกต้นไม้ผลลักษณะนี้อยู่ในหุบเขาเล็กๆก็จะมีนาข้าวแบบขั้นบันใด ซึ่งมักจะแสดงมีการทำฝายทดน้ำและมีการชลประทานที่พัฒนาด้วยตนเองโดยหมู่คนที่ร่วมแรงร่วมใจกัน มิใช่นาน้ำฟ้า) มีการเลี้ยงสัตว์ หมู ไก่ วัว ควาย หมู่บ้านลักษณะพวกนี้แหละครับ คือแหล่งเติมสะเบียงที่สำคัญของผมในระหว่างการทำงานในป่าเป็นระยะเวลานานๆ ซึ่งจะหาพวกของแห้งและพืชผักทำครัวได้เกือบจะทุกชนิด
 
ต้นขนุนนั้นจะออกลูกเป็นจำนวนมาก หากไม่เด็ดทิ้งไปบ้าง ก็จะแย่งอาหารกันทำให้ผลไม่ใหญ่  หากทิ้งไว้มากก็จะร่วงและเน่าเป็นที่เชื้อเชิญหนอนและแมลงต่างๆ แทนที่จะต้องทิ้งไปให้เสียประโยชน์ ก็เอามาทำเป็นอาหาร เอามาทำแกงกินกันไม่ดีเหรอ เอามาทำตำขนุน (ตำบะหนุน) ก็ได้ เอามาต้มจิ้มน้ำพริกก็ได้ ขนุนที่นำมาทำอาหารพวกนี้จึงมีลูกขนาดเล็ก จะเป็นขนุนอ่อนลูกขนาดประมาณขวดน้ำ ใหญ่กว่านั้นก็ไม่อร่อยแล้วเพราะเมล็ดเริ่มจะแข็ง
ในการทำแกงนั้นก็หั่นเป็นชิ้นพอคำ ใส่กระดูกหมูอ่อน ใส่ผักหละ (ชะอม) ใส่มะเขือส้ม (มะเขือลูกเล็กขนาดประมาณลูกมะเขือพวง) ตามที่คุณพวงแก้วว่า ก็อร่อยมาก แต่หากเอาที่ต้มแล้วมายี (โขลก) ให้แหลกแล้วเอาไปผัดกับพริกแกง ก็น้ำพริกแกงส้มอย่างเดียวกันนั้่นเอง จะใส่มะแขว่น (ซึ่งคิดว่าเป็นพริกพราน หรือพริกหวานของจีนที่ใส่ในเครื่องพะโล้ในบางตำรา) คั่วแล้วโขลกให้ละเอียดสักเล็กน้อย ก็จะได้กลิ่นที่ชวนกินอีกแบบ โรยด้วยหอมและกระเทียมหั่นแว่นเจียว กินกับแคบหมูสุดยอดไปเลย

พุดแล้วก็นึกถึงดอกข่า ต้นข่านั้นหากปลูกในที่โล่ง มีแดดมาก พอมันแก่เข้าก็จะออกดอกเป็นช่อสีขาวยาวประมาณครึ่งศอก  จะกินสดก็ได้ กินแบบต้มสุกก็ได้ กินกับลาบก็ได้ กินกับน้ำพริกก็ได้ อร่อยทั้งนั้นเลย ได้รสชาติซ่าๆลเ็กน้อยแต่หอม หากพบในตลาดนะครับ ซื้อมาลองเด็ดทีละดอกกินกับลาบ จะเป็นลาบอีสานก็ได้ แต่ดูจะเหมาะกับลาบคั่วทางเหนือมากกว่า   
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 156  เมื่อ 30 มี.ค. 12, 19:30

ส่งาพขนุนอ่อนที่หั่นแล้ว กับแกงขนุนอ่อนมาให้ดูค่ะ



บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 157  เมื่อ 30 มี.ค. 12, 19:37

วันนี้มาทำต้มขมุกินกัน
ต้มขมุนี้เป็นอาหารอย่างหนึ่งที่พบว่า น้ำแกงหมดก่อนเื้นื้อ ทำเมื่อใรก็เมื่อนั้นแหละครับ
ผมไม่ทราบว่าหน้าตาของต้มขมุที่รู้จักกันในปัจจุบันนี้มีหน้่ตาเป็นอย่างไร แต่ที่ผมทำกินกันเป็นประจำในป่ามากกว่า 40 ปีนานมาแล้วนั้น ทำอย่างนี้ครับ

ใช้เครื่องต้มยำ คือ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด แต่ใส่ให้มากกว่าปรกติที่ทำต้มยำกัน ทั้งหมดทุบบนเขียงด้วยมีดเพื่อให้กลิ่นออกมาดี ใส่น้ำให้มากหน่อย ใส่เกลือลงไปสักครึ่งช้อนชา พอน้ำเดือดก็ใส่เครื่องแกงทั้งหลายนี้ สำหรับเนื้อที่จะใส่ลงไปจะเป็นพวกปลาทั้งหลาย ใช้ได้ตั้งแต่ปลาตัวเล็กจนปลาตัวใหญ่ แต่อย่าใส่ปนกันนะครับ ต้มนี้เหมาะสำหรับพวกปลาที่เนื้อมีรสจืด เ่ช่น ปลาชะโด ปลาแมลภู่ ปลากั้ง และปลาหนังตัวเล็กที่ไม่ค่อยจะมีเนื้อ เช่น ปลากดหมู หรือจะใช้กบเขียดตัวเล็กๆก็ได้ ไม่ผิดกติกา เหตุที่ไม่ใช้ปลาที่กินอร่อยชนิดอื่นๆมาทำก็เพราะ ปลาพวกนั้นมีค่าพอที่จะเอาไปทำอาหารชนิดอื่นๆที่ได้รสชาติมากกว่า
 
พอน้ำเดือดพล่าน ก็ค่อยๆหย่อนปลาลงทีละชิ้น เพื่อไม่ให้คาว พอเนื้อปลาเริ่มสุกดี ก็เติมเกลือให้ออกรสเค็ม แล้วค่อยๆเอาน้ำมะขามเปียกใส่ลงไปจนรู้สึกออกรสเปรี้ยวเหมือนต้มยำ คราวนี้เราก็ได้ต้มที่เหมือนกับต้มยำแล้ว

ในระหว่างทำแกง ก็เอาหอมแดงสัก 4-5 หัว กระเทียมสัก 2 หัว หมกใต้เตาให้สุกนิ่มและหอม เอาพริกแห้งเม็ดเล็กสัก 10 -15 เม็ดเสียบไม้ย่าง (เผา) ให้หอม พอใกล้จะเกรียมจัดๆมันจะขับน้ำมันพริกออกมาด้วย เอากะปิประมาณหนึ่งช้อนกินข้้่าวห่อใบตองย่างหรือหมกไฟให้สุก เอาละครับ เอาพริกเผาใส่ครก โขลกให้เป็นพริกป่นหยาบๆ ปอกเปลือกหอม กระเทียม ใส่ครก โขลกรวมกันให้แหลกแต่ไม่ต้องละเอียดมากนัก ใส่กะปิที่เผาลงไป โขลกให้เข้ากัน ตักออกพักใว้ในถ้วย

ถึงเวลากินแล้ว   ตักแกงออกมาใส่ถ้วยแกง แบ่งเอาน้ำพริกที่ตำละลายในชามแกง ชิมรสดูว่า OK ก็กินได้เลย เริ่มกระบวนการน้ำหมดก่อนเนื้อแล้วครับ
จะให้แซบมากกว่านั้นก็ได้ เอาชามแกงมาเหยาะน้ำปลาใส่ลงไป ทุบพริกขี้หนูใส่ลงไป แล้วบีบมะนาวสักครึ่งลูกลงไป จากนั้นจึงเอาน้ำแกงร้อนๆใส่ลงไป แล้วก็ละลายนำ้พริกลงไป จะยิ่งแซบเหลือหลายเลยครับ

กินต้มนี้แล้วเช้าถ่ายสะบาย เนื่องจากมีมะขามเปียก ไม่ใช่ท้องเสีย เนื่องจากทุกอย่างสุกอย่างแท้จริงจริงๆ    
  
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 158  เมื่อ 30 มี.ค. 12, 19:40

พุดแล้วก็นึกถึงดอกข่า ต้นข่านั้นหากปลูกในที่โล่ง มีแดดมาก พอมันแก่เข้าก็จะออกดอกเป็นช่อสีขาวยาวประมาณครึ่งศอก  จะกินสดก็ได้ กินแบบต้มสุกก็ได้ กินกับลาบก็ได้ กินกับน้ำพริกก็ได้ อร่อยทั้งนั้นเลย ได้รสชาติซ่าๆลเ็กน้อยแต่หอม หากพบในตลาดนะครับ ซื้อมาลองเด็ดทีละดอกกินกับลาบ จะเป็นลาบอีสานก็ได้ แต่ดูจะเหมาะกับลาบคั่วทางเหนือมากกว่า  

หาภาพดอกข่ามาให้ดูค่ะ แต่ไม่เคยทาน แบบนี้ใช่ที่คุณตั้งพูดถึงใช่ไหมคะ
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 159  เมื่อ 30 มี.ค. 12, 19:42

ภาพดอกข่าไม่ไป ...ขอส่งใหม่ค่ะ




บันทึกการเข้า
atsk
มัจฉานุ
**
ตอบ: 59


ความคิดเห็นที่ 160  เมื่อ 02 เม.ย. 12, 16:06

ไข่นกการเวกนี้ เรียกกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕

เมื่อทรงส่งตุ้มหูไข่นกการเวกพระราชทานเจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ  ก็พระราชทานแก่เจ้าจอมเอิบด้วย ๑ คู่
“ตุ้มหูคู่หนึ่งเปนไข่นกการเวกเหมือนกัน ฉันได้ซื้อที่เมืองนีศส่งทางไปรสนีย์ให้สดับ.. ...ฉันได้ส่งไปอีกคู่ ๑ สำหรับให้เอิบจากปารีสรวมเป็นสองคู่ด้วยกัน”


ฝรั่งว่า turquoise ที่ดีต้องเป็น สีไข่นกโรบิน

ไข่นกออกฟ้าอมเขียวมีแน่ ๆ

แต่ขี้นกสีนี้ยังไม่เคยเห็น




 ไข่นกสีนี้ ในบ้านเราก็มีจริงๆครับ  คือ ไข่ของนกเอี้ยงสาริกา  ที่เราเห็นกันทั่วไปครับ   สมัยเด็กๆชอบปีนต้นตาลไปขโมยลูกนกเอี้ยงมาเลี้ยง  บางทีขึ้นไปก็เจอรังนึงมีลูกนก  อีกรังนึงมีแต่ไข่ สีฟ้าสวยแบบนี้เลยครับ
 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
atsk
มัจฉานุ
**
ตอบ: 59


ความคิดเห็นที่ 161  เมื่อ 02 เม.ย. 12, 16:17

ของกินเล่นอีกอย่างหนึ่ง คือ ลูกมะคอแลน เป็นผลไม้ที่มีสีและผิวคล้ายลูกลิ้นจี้ แต่รูปทรงจะคล้ายลูกหนำเลี้ยบหรือลูกรักบี้ ขนาดของลูกไม่ใหญ่ไปกว่าหัวแม่มือ ปกติจะมีรสเปรี้ยว แต่ก็เคยพบที่ออกรสหวาน ซึ่งเคยพบอยู่เพียงต้นเดียว อยู่บนเขาสูงบริเวณรอยต่อระหว่าง จ.อุตรดิตถ์ สุโขทัย และแพร่ เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ประมาณสองคนโอบจึงจะรอบ ปกติที่พบเห็นจะไม่ใหญ่ขนาดนี้ ต้นมะคอแลนนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นไม้ที่พบเฉพาะในภาคเหนือและอีสาน เพราะไม่เคยเห็นในป่าที่อื่นๆ

คุณวิกกี้ บอกว่า คอแลน Nephelium hypoleucum พบภาคใต้ด้วยเรียกว่า  คอลัง (อีสานเรียก บักแงว)

ภาพประกอบ

 ยิงฟันยิ้ม



คอแลน  หรือ บักแงว  ในภาษาอีสานที่บ้านผมที่ร้อยเอ็ดมีเยอะครับมีทั้งต้นหวานต้นเปรี้ยว ที่เรียกว่าคอแลนนั้นเนื่องมาจากผิวของผลมีลักษณะคล้านผิวหนังที่คอของแลน(ตะกวด) ซึ่งเป็นตะปุ่มตะป่ำคล้ายผิวของลิ้นจี้ บางคนจึงเรียกลิ้นจี่ป่าครับ

แต่ถ้าได้ลองกินแล้วจะทราบว่า ไม่คล้ายลิ้นจี่เพราะเมล็ดของคอแลนหรือบักแงวจะคล้ายเมล็ดเงาะ  เนื้อเกาะกับเมล็ดก็คล้ายเงาะ   ไม่ใช่เมล็ดดำๆล่อนๆเป็นมันเหมือนลิ้นจี่ครับ
บันทึกการเข้า
atsk
มัจฉานุ
**
ตอบ: 59


ความคิดเห็นที่ 162  เมื่อ 02 เม.ย. 12, 16:31

พบผลไม้อีกอย่างหนึ่ง ลูกกลมๆสีออกแดงๆ ผ่าออกมามีใส้่เป็นรูปห้าแฉก ก็เลยเรียกว่า star apple จนวันนี้ยังไม่ทราบเลยว่าชื่อจริงๆคือลูกอะไร

เห็นเขาเรียกกันว่า สตาร์แอปเปิ้ล Chrysophyllum cainito





บางทีก็เรียก แอปเปิ้ลเมือง   ยิงฟันยิ้ม



สตาร์แอปเปิ้ล  หรือ แอปเปิ้ลเมือง ในภาษาเหนือ   คือ บักน้ำนม   หรือ บักยางต้น  ในภาษาอีสานครับ   ผลดิบสีเขียว  ผลสุกสีม่วงเข้ม  วิธีกินปอกเปลือกออกกินได้เลยครับรสหวาน หอม  ที่บ้านผมก็มีคุณปู่คุณย่าปลูกไว้หลายต้นครับ  ในกทมก็เห็นมีปลูกอยู่หลายที่ครับ    ด้านบนของใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างของใบสีน้ำตาล  เห็นทีเดียวจำได้เลย




นี่ใบครับ



ผลสุกครับ  กำลังเริ่มสุก ถ้าสุกงอมมากๆจะสีม่วงเข้ม




เนื้อในครับ  หวาน หอมมาก





บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 163  เมื่อ 02 เม.ย. 12, 17:19

เห็นภาพสตาร์แอปเปิ้ล ทั้งต้นแล้วก็นึกได้ว่าเคยเห็นที่โรงแรมแห่งหนึ่งที่เขาใหญ่

ลักษณะใบที่สะท้อนแสงเป็นสีทอง ครั้งนั้นยังติดอยู่ในความทรงจำ ถ้ามีที่กว้างๆก็น่าปลูกนะคะ

ดูเหมือนว่าต้นมีทรงพุ่มขนาดใหญ่มาก
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 164  เมื่อ 02 เม.ย. 12, 21:27

สตาร์แอปเปิ้ล แอปเปิ้ลเมือง บะน้ำนม หรือบักยางต้น จะชื่ออะไรก็ตาม เช่นเดียวกับมะคอแลน คอแลน หรือบักแงว น่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า มันเป็นไม้มีถิ่นอยู่นอกภาคกลาง เราอาจจะส่งเสริมให้มันเป็นผลไม้ประเภทแปลกที่น่าชวนชิมได้ (Exotic fruit) หรือพยายามปรับปรุงพันธุ์ให้มันน่ากินกว่านี้อีก หรือแม้กระทั่งการแปรสภาพไปเป็นอย่างอื่นๆที่กินได้อร่อย ไม่ทราบว่านักวิชาการเกษตรของเราได้ให้ความสนใจบ้างหรือไม่ หรือสนใจแต่เอาผลไม้จากถิ่นกำเนิดต่างประเทศมาปรับให้ปลูกได้เป็นสินค้าส่งออกเพียงประการเดียว

มะ่ม่วงพื้นบ้านหลายพันธุ์ที่มีความหอมอร่อย ก็ถูกลืมไปมาก เช่น มะม่วงยายกล่ำ มะม่วงแก้วไทย (กำลังถูกกลืนด้วยแก้วอินเดีย) และอกร่องซึ่งร่องอกหายไปแล้ว
ฝรั่งไทย กำลังถูกกลืนไปหมดด้วยพันธุ์ชื่อใหมๆ ในขณะที่เม็กซิโกกำลังนำฝรั่งพันธุ์ลักษณะกลิ่นแบบไทยออกสู่ตลาดโลก
มะปรางไทย (มะยงห่าง???) ถูกจำกัดวงไปเป็นผลไม้เพื่อใช้ในการปรับรสซอสมะเขือเทศ
กล้วยต่างๆก็ถูกหลงลืมและค้นคว้าพัฒนา เราพยายามทำเรื่องกล้อยหอมไปแข่งกับประเทศอื่น ในขณะที่เรามีกล้วยพันธุ์อื่นๆที่ประเทศอื่นเขาไม่มีหรือมีแต่ไม่ดีและไม่กินกัน กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก กล้วยเล็บมือนาง กล้วยนาค และแม้กระทั่งกล้วยหอมเขียวซึ่งหอมกว่าหอมทองเสียอีก ฯลฯ แต่ละชนิดก็เหมาะสำหรับเอามาแปรไปเป็นของกินต่างๆที่อร่อยได้ไม่เหมือนกัน 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 19
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.099 วินาที กับ 20 คำสั่ง