ของกินเล่นอีกอย่างหนึ่ง คือ ลูกมะคอแลน เป็นผลไม้ที่มีสีและผิวคล้ายลูกลิ้นจี้ แต่รูปทรงจะคล้ายลูกหนำเลี้ยบหรือลูกรักบี้ ขนาดของลูกไม่ใหญ่ไปกว่าหัวแม่มือ ปกติจะมีรสเปรี้ยว แต่ก็เคยพบที่ออกรสหวาน ซึ่งเคยพบอยู่เพียงต้นเดียว อยู่บนเขาสูงบริเวณรอยต่อระหว่าง จ.อุตรดิตถ์ สุโขทัย และแพร่ เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ประมาณสองคนโอบจึงจะรอบ ปกติที่พบเห็นจะไม่ใหญ่ขนาดนี้ ต้นมะคอแลนนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นไม้ที่พบเฉพาะในภาคเหนือและอีสาน เพราะไม่เคยเห็นในป่าที่อื่นๆ
เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2513 ผมรับผิดชอบสำรวจพื้นที่บริเวณรอยต่อของทั้งสามจังหวัดดังกล่าว เริ่มตั้งแต่บริเวณ อ.ศรีสัชนาลัย ลับแล ไปจนถึงประมาณบ้านผาจุก และผาเลือด (ซึ่งตั้งอยู่บนริมแม่น้ำน่าน ใกล้ตัวเมืองอุตรดิตถ์) ทางด้านตะวันตกก็ไปชนแม่น้ำยมแถวบ้านหาดรั่ว และ อ.วังชิ้น ด้านเหนือก็ไปชนบริเวณห้วยแม่สิน ซึ่งอยู่ประมาณครึ่งทางบนถนนระหว่างศรีสัชนาลัยกับ อ.เด่นชัย
ธรณีวิทยาบริเวณนี้ดูจากหินแล้วเรียบง่าย มีหินไม่กี่ชนิด แต่ยุ่งยากด้วยเรื่องราวการกำเนิดของมัน จัดได้ว่าเป็นตัวบ่งชี้เรื่องราวที่สำคัญของแหล่งทรัพยากรของประเทศเลยทีเดียว เหตุที่ต้องเดินข้ามเขาสูงจนได้ลิ้มลองมะคอแลนหวานก็เพราะว่า ในแผนที่ภูมิประเทศปรากฏว่ามีจุดหนึ่งที่เรียกว่าหนองกลางหาว ในทางธรณ๊วิทยาแล้วในสภาพพื้นที่ลักษณะนี้คงจะหนีไม่พ้น นั่นคือ ทะเลสาปในปล่องภูเขาไฟ (Crater lake) เพียรพยายามเดินหาร่องรอยอยู่ประมาณ 7 วัน ซึ่งได้แก่ เศษเถ้าถ่านภูเขาไฟ หินลาวา ฯลฯ (รวมๆเรียกว่า Pyroclastic debris) ไม่พบอะไรเลย เลยต้องเดินขึ้นสูงไปหาตัวหนองกลางหาว ก็ออกเดินจากจุดที่รถพอจะเข้าไปในตามห้วยแม่สิน ไปกันสี่คน และเพื่อไม่ให้เสียเที่ยวก็จะเดินข้ามเขาไปลง อ.เด่นชัย แบกสัมภาระในเป้หลัง มีเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนนอน 1 ชุด และเครื่องอาหาร
ดอยที่จะเดินข้ามชื่อดอยพญาพ่อ เห็นชื่อดอยแล้วยังขยาดเลย ออกเดินท่องน้ำสำรวจไปตามห้วย ผ่านน้ำตก (ปัจจุบันนี้คิดว่าคือน้ำตกผาตาด

) พอเย็นก็หาที่นอน หาหาดทรายไม่ได้ จึงถางพื้นที่เล็กๆริมห้วย ช่วยกันตัดไม้ทำเป็นเพิง ตัดใบตองกล้วยป่ามามุงเป็นหลังคาและปูเพื่อนอน เปลี่ยนชุดเพื่อนอนเพราะเดินลุยน้ำเปียกมาทั้งวัน อาหารมื้อเย็นและมื้อเช้าไม่ยุ่งยากเราะเตรียมมา พอรุ่งเช้าประมาณ 6 โมงเช้า ต้องเปลี่ยนชุดไปใส่ชุดเปียกอีก มันเป็นหน้าหนาว นึกภาพเอาเองนะครับว่าไม่สนุกเลยครับ แถมก้าวแรกที่ออกเดินก็ลงน้ำเลย