เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 19
  พิมพ์  
อ่าน: 149273 เมนูอาหารป่า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 10 มี.ค. 12, 20:51

ได้คำใหม่อีกคำแล้วค่ะ "ขิ่ว" เป็นไงค่ะ เหมือนเหม็นเขียวไหม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 10 มี.ค. 12, 21:16

ขิ่ว เป็นภาษาทางเหนือ มีความหมายว่าเหม็นเขียวแบบฉุนเอามากๆ บางที่ก็ใช้ว่า เหม็นขิ่ว หรือ ขิ่วจัด คือ เหม็นตลบอบอวลบรรลัยเลย
กลิ่นรักแร้ของคนบางคนค่อนข้างจะตรงกับคำว่าขิ่ว
สัตว์เช่นแกะ เนื้อตัวภายนอกอาจจะมีกลิ่นสาบประจำตัวของเขา ก็ยังไม่จัดว่ามีกลิ่นขิ่ว แต่หากเป็นแกะแก่ เอามาทำกิน สาบกลิ่นเนื้อที่ทำกินนั้นจะขิ่ว แล้วยิ่งเมื่อถลกหนังแล้วเนื้อโดนขนด้วย เนื้อนั้นจะขิ่วไปเลย บางทีกลิ่นขิ่วก็มาจากกลิ่นสาบของน้ำปัสสาวะที่กระจายไปในเนื้อของสัตว์เมื่อตกใจใกล้ตายสุดขีด อันนี้ไม่ยืนยัน แต่เป็นเรื่องจริงที่พรานป่า เมื่อยิงสัตว์ป่าบางชนิดล้มแล้ว (เช่น หมูป่า อีเห็น) เขาจะรีบไปตัดพวงไข่ทิ้ง เพื่อไม่ให้เนื้อมีกลิ่นขิ่ว (หากเป็นตัวเมียก็ซวยไป  ยิงฟันยิ้ม)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 11 มี.ค. 12, 21:37

ระยะเวลาการเข้าทำงานอยู่ป่าของผมนั้นเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 20 วัน แต่บางครั้งก็เลยไปเป็นประมาณหนึ่งเดือน สูงสุดคือประมาณสามเดือน
ก่อนจะเข้าป่าก็ต้องมีการเตรียมซื้ออาหาร ซึ่งด้วยข้อจำกัดของเนื้อที่ในการบรรทุก จึงทำให้ซื้อเตรียมได้ไม่มากนัก ก็จะมีข้าวสาร  1-2 ถัง หมูส่วนตะโพกติดหนัง เนื้อ ไก่ หอมแดง กระเทียม กล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักกวางตุ้ง มะเขือเปราะ มะเขือยาว น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลปี๊บ พริกแห้ง กะปิแดง กะปิมอญ กุนเชียง พริกขี้หนูสด อย่างละหนึ่งกิโลกรัม มะนาว มะขามเปียก เกลือ ตะไคร้ ลูกมะกรูด ใบมะกรูด ข่า กะเพราะที่มีดอก เม็ดผักชี ยี่หร่า อบเชย ใบชา น้ำตาลอ้อย พริกแกงส้มสำเร็จรูป พริกแกงเผ็ดสำเร็จรูป กาแฟ ปลากระป๋อง ไข่ไก่ ทั้งหมดนี้ในปริมาณพอสมควรตามแต่ที่คิดว่าจะเข้าป่าใหนและจะพบอะไรบ้าง น้ำปลา ซีอิ๊ว เหล้าเซี่ยงชุน เหล้าโรง อย่างละหนึ่งขวด  เหล้าแม่โขงหกขวด ส่วนมากรวมๆกันแล้วก็จะไม่เกินสองหลัว (เข่ง)

วันแรกที่เดินทางก็จะไปสิ้นสุดที่บ้านของผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัล เพื่อแจ้งให้ทราบว่ามาทำอะไร รวมทั้งขอให้หาคนงานและช้างหรือม้าต่างเพื่อช่วยขนของให้ด้วย โดยเนื้อแท้แล้วก็คือการผูกมิตรและการเข้าผสมเป็นหนึ่งเดียวกันกับชาวบ้าน คือให้เขารู้ทุกย่างก้าวว่ามาทำอะไรทำอย่างไร ป่าที่ผมทำงานอยู่ในสมัยโน้นเป็นพื้นที่สีแดงจัดเกือบทั้งนั้น

อาหารมื้อแรกจึงเป็นเรื่องของการผูกมิตร และส่วนมากก็จะยกเข่งกับข้าวขึ้นบ้านทั้งเข่ง ให้แม่บ้านเขาเลือกทำกับข้าวได้ตามใจชอบ ฝ่ายชายก็จะนั่งตั้งวงสนทนากัน อธิบายความ สอบถามเรื่องราวต่าง ฯลฯ ไก่ หมู เนื้อ มักจะถูกใช้หมดในอาหารมื้อนี้ อาจจะเหลือสำหรับมื้อเช้าบ้าง ที่เหลือก็จะเป็นพวกผักเป็นหลัก มีน้อยครั้งที่ผมจะนอนบนบ้านเหล่านี้ ปกติผมจะแยกไปตั้งแคมป์นอนห่างไปจากหมู่บ้าน ระยะทางประมาณ 1-2 กม.เสมอ เพื่อความปลอดภัยหลายๆอย่าง

พอเสร็จการกินร่วมกัน ผมก็จะยกกับข้าวที่เป็นผักสดทิ้งไว้ให้เขาทั้งหมด เก็บแต่ของแห้งเอากลับไป รวมๆแล้วเหลือเข่งเดียว ดังนั้นตั้งแต่วันที่สองเป็นต้นไปก็จะต้องเริ่มเก็บหาทุกอย่างที่สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้ ซึ่งโดยปกติช่วงเช้าถึงบ่ายสามจะทำงานจริงๆ หลังจากนั้นก็จะเริ่มตาสอดส่ายหาเก็บทุกอย่างที่กินได้ในระหว่างเดินไปหาแคมป์ที่ตั้งเคลื่อนที่ไปทุกวัน ลักษณะงานของผมทำให้ต้องเดินทางทุกวัน ค่ำใหนนอนนั่น มีน้อยครั้งที่จะปักหลักอยู่ แต่ก็ไม่เคยเกินสามวัน

อาหารแบบที่ผมทำกินกัน คงจะได้เล่าต่อในวันพรุ่งนี้ครับ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 12 มี.ค. 12, 11:19

นึกถึงรพินทร์ ไพรวัลย์ขึ้นมาค่ะ
การทำงานในป่าสีแดงจัด   นักธรณีวิทยาต้องหาทางหลีกเลี่ยงจุดอันตรายด้วยวิธีไหนอีกคะ  นอกเหนือจากผูกมิตรกับชาวบ้าน   
คุณตั้งเคยเจอสถานการณ์อะไร ที่ฉิวเฉียดจะไม่มีโอกาสกลับบ้านบ้างหรือไม่

บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 12 มี.ค. 12, 13:37

พวกอาหารกระป๋อง ปลากระป๋อง มาม่า ไม่พกไปบ้างหรือคะ.. ฮืม
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 12 มี.ค. 12, 14:03

กะปิมอญ ต่างจากกะปิทั่วไปอย่างไรค่ะแล้วทำไมต้องเป็นกะปิมอญด้วยคะ

แล้วกะปิที่ขายอยู่ทั่วไปในตลาดขณะนี้ ต่างจากในสมัยก่อนมากไหมคะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 12 มี.ค. 12, 14:50

พวกอาหารกระป๋อง ปลากระป๋อง มาม่า ไม่พกไปบ้างหรือคะ.. ฮืม

อาหารกระป่องที่ซื้อเตรียมก็มีเพียงปลากระป๋อง 6 กระป๋องเท่านั้น สาเหตุที่ไม่ซื้ออย่างอื่นก็เพราะราคาสูง หนัก และต้องใช้จำนวนมาก (สมัยนั้นเบี้ยเลี้ยงวันละ 28 บาท ข้าวถังหนึ่งก็ 16-20 บาทเข้าไปแล้ว เนื่องจากคนในคณะสำรวจออกจากกรุงเทพฯก็ 3-4 คน มีคนขับรถ ผู้ช่วยสำรวจ และตัวผม บางครั้งอาจจะมีนักวิชาการคู่หูอีกหนึ่งคน ผนวกกับคนงานชาวบ้านอีกอย่างน้อย 2 คน ชาวบ้านก็ไม่มั่นใจในตัวเราเหมือนกันว่าจะถูกหลอกไปทำมิดีมิร้าย อย่างน้อยจึงต้องมี 2 คนเป็นเพื่อนกัน และบ่อยครั้งมากที่จะมี 3-5 คน โดยรวมก็คือจะมีคนในคณะระหว่าง 5-8 คน ซึ่งจะต้องกินอยู่ร่วมกัน ชาวบ้านเองไม่มีอาหารอะไรที่จะสามารถนำติดตัวไป จึงต้องกินอยู่ในสะเบียงของผม ในเวลาทำงานนั้นผมจะเดินกันเพียง 2-4 คน ที่เหลือก็จะอยู่เฝ้าหรือไปกับขบวนแคมป์ จำนวนคนในระดับนี้หากแบกของทุกอย่างด้วยตัวเองก็จะเดินได้ไม่เกิน 3-4 วัน หากจะเดินเป็นระยะเวลามากกว่าหนึ่งสัปดาห์ขึ้นไป จะต้องใช้คนประมาณ 10-14 คนเพื่อช่วยกันแบกหามสัมภาระ ดังนั้นจึงต้องจ้างช้างบ้างม้าบ้างเพื่อบรรทุกสัมภาระ หากเป็นช้างก็ต้องสองตัว ตัวเดียวก็ไม่ยอมไปกันอีก ช้างเองก็ต้องการเพื่อน เดินอยู่ตัวเดียวก็คิดแต่จะหันหลังกลับบ้านและเดินช้ามาก อ้อยอิ่งไปเรื่อยๆ จะให้ดีต้องเป็นตัวเมียตัวหนึ่งกับตัวผู้อีกตัวหนึ่ง แล้วจะต้องเอาตัวเมียเดินนำหน้าด้วย หากเอาตัวผู้นำหน้า มันก็พะวงอีก คอยหันกลับมาดูตัวเมีย จะเดินช้ามาก แต่หากเอาตัวเมียนำหน้า คราวนี้ไปใหนไปกันเลย ระหว่างเดินมันก็จะคอยใช้งวงแหย่ตัวเมีย ดมบ้าง แตะบ้าง จับบ้าง ตัวเมียจะรำคาญก็จะเดินให้เร็วขึ้นเพื่อหนี กรณีต้องจ้างม้าต่างนั้นขอเว้นไว้ก่อน สนุกครับ
ที่จริงแล้วช้างสองตัวกำลังดี สัมภาระต่างๆที่เอาติดตัวไปสำหรับคนที่ไปจากกรุงเทพฯก็มีปี๊บสองใบ ใบหนึ่งใส่เครื่องครัวพวกของแห้ง อีกใบใส่พวกเครื่องปรุง สำหรับคนก็มีถุงทะเลคนละใบ (ใส่เสื้อผ้า 3-4 ชุด ถุงนอน ผ้าห่ม หมอนและอื่นๆ) ผ้าใบ 2-3 ผืน (ไว้กางนอนรวมกันหนึ่งผืน ไว้ทำหลังคาหนึ่งผืน และผืนเล็กใว้ปูทำครัวและนั่งล้อมวงกินข้าว) ตะเกียงเจ้าพายุลูกหนึ่ง น้ำมันก๊าดสำหรับจุดตะเกียงประมาณ 10 ลิตร โดยสรุปก็คือช้างตัวหนึ่งบรรทุกของกิน อีกตัวหนึ่งบรรทุกเครื่องนอน ช้างนี้แม้ว่าจะลากของได้หนักหลายตัน แต่หากบรรทุกของจะได้ประมาณ 200 กก.สำหรับการเดินระยะสั้น หากเดินทุกวันตั้งแต่ประมาณ 8 โมงเช้าถึงประมาณบ่าย 4 โมงเย็น โดยไม่มีโอกาสพักและกิน จะบรรทุกได้สูงสุดประมาณ 100 กก.ไม่เช่นนั้นหลังพัง
สัมภาระ จำนวนคน และจำนวนเบี้ยเลี้ยงรวมกันของคนจากกรุงเทพฯ เป็นตัวกำหนดจำนวนวันในการเข้าป่า จึงเป็นที่มาของระยะเวลาทำงานในแต่ละครั้งประมาณ 20 วัน น้อยวันไปเบี้ยเลี้ยงรวมกันก็จะไม่พอค่าอาหารของคนทั้งคณะ มากวันไปเสบียงหลักก็หมด คนมากไปก็เปลืองสะเบียงและมีสัมภาระมาก สำหรับคนงานนั้นผมไม่หักค่ากินอยู่ เขาจะได้รับเต็มๆวันละ 20 บาท (ค่าแรงในสมัยนั้น) ก็เป็นการผูกมิตรอีกอย่างหนึ่งด้วย เงินทองในป่าเป็นของหายาก ทำให้ใครๆก็อยากทำงานด้วย เขารู้สึกว่าเรามาดี ใจดี เขาก็ช่วยเป็นหูเป็นตาปกป้องเรา

ก็จะไปเข้าเรื่องคำถามของคุณเทาชมพูนะครับ   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 มี.ค. 12, 15:48 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 12 มี.ค. 12, 16:11

นึกถึงรพินทร์ ไพรวัลย์ขึ้นมาค่ะ
การทำงานในป่าสีแดงจัด   นักธรณีวิทยาต้องหาทางหลีกเลี่ยงจุดอันตรายด้วยวิธีไหนอีกคะ  นอกเหนือจากผูกมิตรกับชาวบ้าน  
คุณตั้งเคยเจอสถานการณ์อะไร ที่ฉิวเฉียดจะไม่มีโอกาสกลับบ้านบ้างหรือไม่

วิธีการหลีกเลี่ยงอันตรายที่สำคัญ คือ ต้องมีหูตาเป็นสับปะรด มีการข่าวที่ดีและกรองข่าวเป็น มีความสังเกตสูงในทุกสรรพสิ่งในระดับรายละเอียด พูดคุย เปิดเผย (แบบปิดบังอำพราง) เป็นมิตรกับทุกคน จริงใจ ช่วยเหลือ ไม่หวังผลตอบแทน เข้าใจวิถีชีวิตของเขา และปฏิบัติตนเหมือนๆกับชาวบ้านเขา ซึ่งทั้งหมดก็รวมๆอยู่ในเรื่องของการผูกมิตรกับชาวบ้าน
หลักการของผมคือ คบและพูดคุยกับทุกคน แล้วสังเกตลักษณะกิริยาท่าทางอุปนิสัยใจคอ วิธีการพูดจา เรื่องที่เขาพูดเล่า เรื่องที่เขาชอบ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เราทราบว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร มีอะไรเป็นจุดอ่อนจุดด้อย มีอะไรที่เขาภาคภูมิใจ ผมก็จะพูดคุยเป็นมิตรกับประตูที่เขาเปิดให้ และผมก็จะเปิดประตูคบกับเขาในประตูนั้นๆเหมือนกัน เมื่อไม่มีอะไรต่อกัน ดีต่อกันอย่างสม่ำเสมอ เดี๋ยวก็รู้เองว่ามีอะไรที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ มีอะไรที่กำลังจะเป็นพิษเป็นภัยกับเรา รวมทั้งข่าวสารที่อีกฝ่ายหนึ่งส่งมาบอกกล่าวให้ทราบ เช่น ห้ามเดินไปที่ใหน ฯลฯ ที่จริงเมื่อเสียงปืนสงบ ผมยังได้พบกับคนที่ผมเคยจ้าง ต่อมาเขาไปอยู่กับอีกฝ่าย พอเลิกก็กลับนั่งคุยกัน มีเรื่องอันตรายที่ตัวผมไม่รู้อีกมาก เขาช่วยปกป้องให้เยอะแยะ เรื่องเกี่ยวข้องกับพื้นที่สีแดงเหล่านี้มีมากและสามารถเล่าได้อีกยาว มีตั้งแต่อุตรดิตถ์ ข้ามไปกำแพงเพชร ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ตั้งแต่ 2512 จน 2522

สำหรับเหตุการณ์ฉิวเฉียดใกล้ตายนั้นมีมากพอควร โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี 2512-2516 แล้วก็มาช่วงปลายๆ 2521 ซึ่งการปฏิบัติการณ์ทั้งหมดกำลังรุนแรงทั้งฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายเขา  ทั้งหมดเกี่ยวกับคน ไม่เกี่ยวกับสัตว์ และไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุเลย ผมเคยโดนทั้งถูกไล่ล่า ถูกจับ ถูกท้ายิง ถูกจะปล้น และยืนคุยแบบฉันท์มิตรกันแบบถือปืนเตรียมพร้อม กลัวไหมครับ คำตอบแบบน่าเตะก็คือหากกลัวก็คงไม่กลับเข้าไปทำงานในที่เหล่านั้นอีก จริงๆแล้วหากเราอยู่ในพื้นที่และในเหตุการณ์ก็ไม่กลัว เฉยๆ แต่ก่อนจะกลับเข้าไปอีกก็คิดกลัวอยู่เหมือนกัน แต่ไม่มากนัก การแก้สถานะการณ์ที่สำคัญยิ่ง คือ ใจเย็นๆๆๆ สงบ นิ่ง ยิ้มแย้ม พูดคุย และพยายามแสดงตนว่าปราศจากอาวุธใดๆ (แบบไว้เชิง)
วิธีการอย่างหนึ่งที่ผมทำก็คือ รถแลนด์ของผมจะไม่เปลี่ยนคัน ใช้คันเดิมหมายเลขทะเบียนเดิม แต่งไฟให้เด่นเป็นสัญลักษณ์ ผมใช้ไฟสปอตไลท์สีเหลืองติดคู่อยู่หน้ารถ ตัวผมเองแต่งกายให้ดูมีสีสันกว่าปกติเล็กน้อย ใส่หมวกสักหลาดสีน้ำตาล เอาผ้าขาวม้าคาดพุง ระยะแรกๆก็เพื่อปกปิดปืนสั้นที่เหน็บไว้ ต่อมาก็ไม่พกอะไร ให้ผู้ช่วยพกแทน จะไปที่ไหนก็บอกตั้งแต่ปากทาง ข่าวของคนพวกนี้เร็วมาก เมื่อผมไปถึงเขาจะทราบและรอพบเลยทีเดียว ไม่ไช่การมารอรับแบบเจ้านายนะครับ มารอเพื่อตรวจสอบว่ามาจริง ผมจึงต้องถือสัตย์ในเรื่องเหล่านี้ จะเข้าเมื่อใดจะออกเมื่อใดก็บอก แต่เวลาออกก็จะหาเรื่องออกให้ผิดเวลา ก่อนบ้าง หลังบ้าง ไปอีกทางหนึ่งบ้างด้วยข้ออ้างสารพัด อีกอย่างหนึ่งผมต้องไว้หนวดตลอด เป็นสัญลักษณ์ประจำกายของผม เพราะครั้งแรกๆนั้นไม่ได้โกนหนวด ชาวบ้านเขาเลยรู้จักผมในนามช่างหนวด ผนวกด้วยการเป็นคนใจดี ไม่มีปัญหาอะไร ไม่รบกวนชาวบ้านในทุกเรื่องยกเว้นการจ้างคนงาน ทุกครั้งที่เข้าไปก็จะต้องมีของฝาก เช่น กับข้าวที่เล่าให้ฟัง บางทีก็เป็นเกลือยกเป็นกระสอบเลย ยาแก้ไข้มาลาเรียแฟนซิดาซึ่งมีอาการข้างเคียงน้อยมาก แทนยาที่ชาวบ้านได้รับพวกอะลาเล็นหรือคอโลควินซึ่งทำให้หูอื้อและท้องผูก ยาทัมใจ ซึ่งเป็นยา APC แบบผงอยู่ในซอง ซองละ 25 สตางค์ แจกไปเลยครับ 10 -20 ซอง เขาติดและใช้ในการสูบฝิ่นด้วย ขนม ท็อฟฟี่แจกเด็ก แม้กระทั่งเสื้อผ้า และเสื้อหนาวที่ถอดให้เลยเวลาจะออกจากป่า รถของผมไม่เคยจอดหันหน้าเข้าบ้านหรือทางตันเลย ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือค้างคืน จะต้องหันหน้าออกพร้อมขับหนีตลอดเวลา เมื่อถึงบ้านชาวบ้าน ผมจะเปิดประตูรถค้างไว้เพื่อให้เห็นตราข้างประตูสักครู่ (ผมไม่เคยนั่งเบาะหลัง) ให้ชาวบ้านเขาได้สังเกตและพิจารณา ช่วยให้ใจของเขาเกิดความสงบ ไม่ตกใจ แล้วก็จะค่อยๆลงไปคนเดียว เดินไปถามทางพูดคุย (ทั้งๆที่รู้ว่าทางไปใหน) ขยับผ้าขาวม้าให้เห็นว่าไม่ได้พกอะไรไว้ที่เอว คนขับรถของผมและผู้ช่วยจะไม่ลงจากรถ แต่จะเฝ้าระวัง มีปืนเสียบอยู่พร้อมใช้งานตลอดเวลา เมื่อทุกอย่างดูเป็นมิตรดีแล้วจึงลงมาคุยกันทั้งหมด จะไว้ใจชาวบ้านร้อยเปอร์เซ็นไม่ได้เลยสักคน เป็นกฎที่ต้องถือไว้ประจำใจ  

เหล่านี้คืออาวุธของผมในการป้องกันอันตรายของผม สำหรับเรื่องเฉียดตายนั้น จะค่อยๆเล่าไปนะครับ           
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 มี.ค. 12, 16:26 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 12 มี.ค. 12, 16:19

กะปิมอญ ต่างจากกะปิทั่วไปอย่างไรค่ะแล้วทำไมต้องเป็นกะปิมอญด้วยคะ
แล้วกะปิที่ขายอยู่ทั่วไปในตลาดขณะนี้ ต่างจากในสมัยก่อนมากไหมคะ

กะปิมอญ คือกะปิที่ทำมาจากปลาน้ำจืด ออกสีเหลืองๆ เนื้อหยาบเหมือบปลาร้าสับ สมัยก่อนมีขายในตลาดสดตั้งแต่ อ.บ้านโป่ง ไปจนชิดชายแดน กะปินี้ใช้ในการทำแกงป่า จะทำให้แกงหอมอร่อยมากกว่าใช้กะปิไทยที่ทำจากเคย แต่เอามาตำน้ำพริกสู้กะปิไทยไม่ได้เลย ในปัจจุบันนี้ ผมไม่ทราบว่ายังมีการทำขายกันอยู่หรือเปล่า เพราะดูจะมีรถขายกับข้าวเอากะปิไทยไปขายอยู่ทั่ว 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 12 มี.ค. 12, 16:21


 เรื่องเกี่ยวข้องกับพื้นที่สีแดงเหล่านี้มีมากและสามารถเล่าได้อีกยาว มีตั้งแต่อุตรดิตถ์ ข้ามไปกำแพงเพชร ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ตั้งแต่ 2512 จน 2522
.................
สำหรับเรื่องเฉียดตายนั้น จะค่อยๆเล่าไปนะครับ          

ขอสำหรับกระทู้ใหม่นะคะ  ประสบการณ์เฉียดตายในป่า

ป.ล.ขออนุญาตคุณตั้งว่า ในการพิมพ์ยาวๆ อาจมีบางคำที่พิมพ์ผิด หลงหูหลงตาเจ้าของกระทู้ไป     ดิฉันขอพิมพ์ตัวสะกดที่พิมพ์ผิดเสียใหม่ให้ถูกต้อง   โดยไม่เปลี่ยนเนื้อความ    ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่ผู้มีปัญหาทางสายตาที่เข้ามาอ่านกระทู้เรือนไทย โดยใช้โปรแกรมที่ออกเสียงตามตัวสะกด จะได้อ่านคำได้ถูกต้องค่ะ


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 12 มี.ค. 12, 18:26

ขอบพระคุณมากครับ

เรื่องพิมพ์ผิดนั้นอาจะเป็นเรื่องปกติ แต่การสะกดผิดนี้ ผมแย่มากครับ อายุมากเข้าก็มีแต่จะพูดมากกว่าเขียน มีศัพท์อยู่หลายคำมากๆที่เลยลืมการสะกดที่ถูกต้อง
ผมจะพยายามเพิ่มการตรวจทานให้มากขึ้นครับ
อนึ่ง ขอถามเป็นความรู้ด้วยครับ เนื่องจากผมพยายามเลี่ยงการใช้ภาษาที่เป็นภาษาเขียนที่ถูกต้องตามหลัก มาเป็นการใช้เป็นภาษาพูดเล่าเรื่องแทน ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีความรู้สึกว่ากำลังพูดคุยกันในลักษณะที่เห็นหน้ากัน โครงสร้างของการใช้ภาษาจึงอาจจะเปลี่ยนไป เรื่องนี้จะทำให้ผู้ที่อ่านผ่านโปรแกรมนี้เข้าใจได้ยากใหมครับ ผมเคยใช้โปรแกรมแปลของกูเกิ้ลในการหาข้อมูลในเว็ปที่เป็นภาษาญี่ปุ่น อ่านแล้วต้องวิเคราะห์และประมวลความให้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้อีกครั้งหนึ่ง 
 
อนุญาตครับ และขอขอบพระคุณในความกรุณาด้วยใจจริงอีกครั้งหนึ่ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 12 มี.ค. 12, 18:47

ใช้ภาษาง่ายๆอย่างคุณตั้งใช้อยู่ ดีแล้วค่ะ ไม่มีปัญหาอะไร     กลับทำให้อ่านง่ายขึ้นเสียอีก 
กระทู้เล่าเรื่อง ใช้ภาษาพูดเข้าใจง่ายกว่าภาษาเขียนค่ะ


บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 12 มี.ค. 12, 20:34

อ่านกระทู้ที่97 เผลอนึกว่าอ่าน นวนิยาย น่าตื่นเต้นมากค่ะ เห็นด้วยว่าน่าจะแยกเล่าเป็นกระทู้ใหม่(ก.ท.99)นะคะ
 
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 13 มี.ค. 12, 10:47

อย่าแยกกระทู้เลยค่ะ  ยิงฟันยิ้ม
เล่าประสพการณ์ไปพร้อมๆ กับเล่าเรื่องอาหาร ดูลื่นไหลต่อเนื่องชวนติดตามดีแล้วค่ะ
ถ้าแยกเป็นส่วนๆ หนูดีดีว่า มันจะไม่ครบรสนะคะ...
เกรงจะเป็นภาระแก่เจ้าของกระทู้ ต้องคอย up หลายๆ กระทู้ค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 13 มี.ค. 12, 15:24

ขออนุญาตคุณตั้งเอารูปดาราแสดงนำมาให้ดูเพื่อเพิ่มเรตติ้งกระทู้ครับ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 19
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.097 วินาที กับ 20 คำสั่ง