เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 19
  พิมพ์  
อ่าน: 149330 เมนูอาหารป่า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 04 มี.ค. 12, 20:09

สำหรับแกงจืดงูสิงห์นั้น ได้มาจากการกินที่บ้านม่องควะ ในเขต อ.อุ้ผาง ย่านน้ำแม่จัน ซึ่งเป็นดงที่พักของพวก ผกค. สมัย พ.ศ. 2520+ โน่น
ช่วงนั้นเดิน Back pack มากับ ตชด. 2 คน (ต่างคนต่างอาศัยเป็นกันเป็นเกราะ) ซึ่งอยู่ในภารกิจปฏิบัติการ ปจว. (ปฏิบัติการจิตวิทยา) ระหว่างทางยิงงูสิงห์ได้ พอมาถึงหมู่บ้านก็โพล้เพล้แล้ว จึงรีบเอางูมาแกงกินกันที่บ้านชาวบ้าน (กะเหรี่ยง) เครื่องแกงไม่มีเอาเลย เมื่อเผาให้พอพอง (เหมือนน้ำตก) ขอดเกล็ดล้างน้ำแล้ว ส่วนหนึ่งของงูก็สับทั้งกระดูกผัดเผ็ด มีแต่พริกกับเกลือ อีกส่วนหนึ่งใกล้ๆส่วนหางก็ต้มทำเป็นแกง ก็ใส่แต่เกลือ แม้งูสิงห์นั้นเนื้อจะขาวและรสชาติเหมือนเนื้อไก่ หวังจะอาศัยความหวานของเนื้องูเท่านั้นที่จะทำให้อาหารอร่อย ไปไม่รอดเลยครับ ก็กินกันไปแบบแกนๆ ดีกว่าไม่มีอะไรจะกิน ขนาดหิวนะครับ ส่วนที่นำมาทำแกงจืดนั้น ก็หั่นเป็นท่อนๆยาวประมาณนิ้วมือ ทั้งหนังเลย อาหารเย็นมื้อนั้นก็รอดไปได้เพราะงู พอเช้าขึ้นมาหุงข้าวเสร็จ มีแต่คนกินปลากระป๋องเป็นหลัก แทบจะไม่มีใครกินงูเลย
พอสายๆหน่อย ประมาณ 8 โมงเช้า ผมก็ออกเดินสำรวจ ตชด. ก็ไปที่ริมน้ำไปยิงปลาเพื่อเป็นอาหาร ได้ปลาแมงภู่หรือไอ้ภู่มาตัวขนาดน่องขาเลยทีเดียว การยิงปลาชนิดนี้เราจะต้องปีนไปซุ่มอยู่บนต้นไม้ที่ยื่นออกไปในน้ำ ปลานี้จะลอยตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้เวลาแดดร้อน เมื่อยิงแล้วจะต้องรีบลงน้ำไปจับมาในทั้นที มิฉะนั้นจะจม หาตัวไม่เจอ
ปกติเราจะไม่ไปหาปลาชนิดมาทำกินกัน เสียเวลารอคอยซุ่มยิง แถมรสเนื้อจืดชืดมากๆ เป็นปลาลักษณะเหมือนปลาช่อนและชะโด แต่ยาวกว่า หากตัวขนาดน่องขาจะยาวประมาณเมตรเศษๆ พบอยู่ในลำน้ำที่ไหล เช่น แควใหญ่ แควน้อย ห้วยบีคลี่,ห้วยซองกาเลีย,และแม่กลองคี (อ.สังขละบุรี) ปลาชนิดนี้นำมาทำอาหารให้อร่อยได้ แต่จะขอค่อยๆเล่าต่อไป
เป็นอันว่าที่บ้านม่องควะในวันถัดมาได้กินปลาแมงภู่ ก็ได้ต้มแกงกินแบบแกนๆอีกเพราะเครื่องปรุงไม่ครบ มีแต่ตะใคร้ พริกแห้ง ไม่มีใบมะกรูดและมะนาว ไม่มีมะขามเปียก กินทั้งมื้อเที่ยงและเย็น ไก่ของชาวบ้านก็มีแต่ไม่กวนเขา คนทำงานในป่าจริงๆเขาไม่รบกวนชาวบ้านจริงๆนะครับ ความที่ได้สัมผัสกับ ตชด.มาพอสมควร ผมคิดว่าคนพวกนี้คือคนที่ผมยังให้เคารพด้วยใจจริง เขามีความรับผิดชอบในภารกิจ หน้าที่และมีความเสียสละอยู่ เขาทำงานทั้งในสภาพที่พกหรือไม่พกอาวุธติดตัวในพื้นที่ปฏิบัติการ ผมเองทำงานคลุกคลีอยู่ในพื้นที่สีแดงมาตลอด ทราบดีว่ามันเป็นอย่างไร
เล่าต่อใ้ห้จบกระบวนความเลยนะครับ (ส่วนหนึ่ง)
รุ่งขึ้นแต่เช้าก็ออกเดินทางไปบ้านเลตองคุ ไม่มีอาหารกลางวัน เดินขึ้นสูงอย่างเดียวตั้งแต่เช้าจนสี่โมงเย็น พอถึงจุดลงเข้าหมู่บ้าน ชันมากจนต้องใช้ก้นถัดเป็นระยะๆ ประมาณ 1 ชม.ก็ถึงหมู่บ้าน ที่หมู่บ้่านนี้ก็เป็นพื้นที่สีแดงจัดเหมือนกัน นอกจาก ตชด.ที่กล่าวถึงแล้ว ก็ขอคารวะด้วยใจจริงถึงบรรดาครูที่มาประจำและสอนอยู่ที่โรงเรียนประจำหมู่บ้านนี้ ผมคงจะเล่าเรื่องเหล่านี้ในวาระที่มีโอกาสต่อไป
 
เรื่องอาหารกลายเป็นเรื่องอื่นไปเสียแล้ว

อาหารป่าๆก็เป็นดังที่เล่านี้ อร่อยบ้างไม่อร่อยบ้างตามแต่สภาพแวดล้อม ณ.ขณะนั้นครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 04 มี.ค. 12, 20:17

คุณตั้งพูดถึงหุงข้าว  เวลาเข้าป่า เอาข้าวสารติดตัวไปด้วยหรือว่าไปขอแบ่งปันจากชาวบ้านคะ     หมู่บ้านที่เล่าถึง  เดาว่าเขาทำนาปลูกข้าวกินกันเอง
นอกเหนือจากพริกมหัศจรรย์ต้นสูงเลยหัวที่คุณนวรัตนไปเจอเข้าแล้ว      พืชป่าที่เอามาปรุงอาหารได้อย่างมะนาว มีขึ้นเองตามทางหรือเปล่า     หรือว่าต้องไปขอจากหมู่บ้าน   ถ้าหมู่บ้านไหนไม่ปลูกมะนาวก็ต้องอดกันไปเลย?
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 04 มี.ค. 12, 21:50

ชาวบ้านป่าเขาจะปลูกข้าวกินกันครับ เรียกว่าข้าวไร่ เป็นพวกข้าวเมล็ดป้อมสั้น แทบจะมีทั้งลักษณะของเมล็ด กลิ่นและรสชาติเหมือนข้าวของญี่ปุ่น ข้าวพวกนี้ปลูกได้ในหลายสภาพภูิประเทศ ตั้งแต่บนดอย ตามใหล่เขา และในแอ่งที่ราบ มักจะไม่มีการยกคันนาแยกออกเป็นบิ้งๆเพื่อบริหารปริมาณน้ำ เป็นการปลูกข้าวที่อาศัยน้ำจากฟ้าฝนแต่เพียงอย่างเดียว เคยเห็นที่มีการชักน้ำเข้านาเหมือนกัน ในภาคตะวันตกจะเป็นพวกกะเหรี่ยงทำกัน ในภาคเหนือก็เป็นพวกเย้าและพวกไทยลื้อทำกัน ไม่แน่ใจว่าพวกมูเซอ ลีซอ อาข่า ทำกันบ้างหรือเปล่า
ในพื้นที่ลาดชันนั้น เวลาปลูกเขาจะเอาไม้ไผ่กระทุ้งให้เป็นหลุมตื้นๆ หยอดเล็ดข้าวลงไป แล้วใช้เท้ากลบ ทิ้งไว้ รอจนมันออกรวงจึงเก็บเกี่ยว ผมเคยเห็นแต่วิธีปลูกแต่ไม่เคยตอนเกี่ยวว่าทำกันอย่างไร ไม่แน่ใจและจำไม่ได้ว่าเคยเห็นพวกเครื่องมือเี่กี่ยวข้าวว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ไปเห็นอีกครั้งก็ตอนวิธีการตำข้าว สีขาว และฝัดข้าวก่อนนำไปหุง การปลูกข้าวในพื้นที่ลักษณะนี้ เป็นการเผาทำลายป่ามากที่สุด ปกติในพื้นที่เดิมจะปลูกได้ประมาณ 3 ครั้ง (3 ปี) จากนั้นก็ถางป่าใหม่ เรามักจะเรียกว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอย แต่ผมว่าเป็นการทำนาข้าวเลื่อนลอยมากกว่า พอย้ายพื่นที่ปลูกข้าว พื้นที่เดิมจึงใช้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ป่าที่ถางเปิดพื้นที่ใหม่นั้น หากเป็นพวกกะเหรี่ยง (ไม่ว่าจะเรียกว่าพวกใด _ ยางแดง ยางขาว กะเหรี่ยง กะหร่าง กะโพล่ว ปากะญอ) ส่วนมากก็มักจะไปเลือกถางในที่ๆเป็นป่าไผ่ หรือชัฎป่าไผ่ แล้วพัฒนาต่อไปจนมีการทำคลองผันน้ำจากห้วย มีการยกคันนาแยกเป็นบิ้งๆ ซึ่งจะต่างไปจากพวกลีซอ ม้ง ขมุ ลั้วะ ฯลฯ ที่มักจะถางที่ตามลาดชันดอย จากประสบการณ์ ในหลายแห่ง บางครั้งเราแทบจะทราบได้เลยว่าชนเผ่าใดเป็นผู้ถางในที่ตรงนั้น ที่ชัดเจนที่สุดดูจะเป็นของพวกม้ง พวกนี้ถางแบบถางเตียนสนิท ไม่มีตอเหลือให้เห็นเลย ผมมักจะพูดเล่นๆว่า ดูกางเกงพวกม้งซี เป้ากางเกงเขายานต่ำลงเกือบจะถึงพื้นเลยเดินคล่อมตอไม่ได้ ไร่ก็ต้องเตียนเป็นธรรมดา เราสังเกตได้แม้กระทั่งว่าเป็นพื้นที่ถางใหม่หรือพื้นที่เดิม และมีการใช้กันมานานหลายปีแล้วหรือไม่ โดยสังเกตจากตอไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่นา นายิ่งเก่า ยิ่งนาน ยิ่งไม่เหลือตอ อันนี้รวมถึงคนไทยที่เป็นเจ้าของนาทั้งหลายในทุกภาค
ข้าวไร่เป็นข้าวที่หอมอร่อยมากๆ สำหรับผมแล้วข้าวไร่แถบบ้านไร่ อุทัยธานี อร่อยที่สุด ปัจจุบันนี้ทราบว่ามีโรงสีเล็กสีข้าวไร่ขายอยู่เหมือนกันครับ
เมื่อเข้าป่าทำงานผมจะเริ่มด้วยข้าวสาร 1 ถัง ซึ่งสำหรับคนประมาณ 8 คน จะหมดในไม่เกิน 5 วัน กินสองมื้อ  เช้า-เย็น เปลืองนะครับ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องประมาณดูให้ดีว่า trip นี้จะเดินทำงานลึกไปในที่ๆไม่มีคนเลยกี่วัน จึงพอจะกำหนดจำนวนคนให้พอเหมาะได้ว่าจะจ้างคนได้กี่คน ซึ่งจะผนวกไปถึงเรื่องของการคิดว่าจะต้องแบกเองหรือสามารถใช้ช้างใช้ม้าช่วยขนสเบียง
ด้วยลักษณะสภาพบังคับตามที่เล่ามา ผมก็จะต้องหาว่าในป่านี้ มีหมูบ้านอยู่ที่ใดบ้าง เพื่อกำหนดเส้นทางและระยะเวลาเดินทางว่า จะไปหาข้าวเพิ่มเติมได้ที่ใหน ผมเคยซื้อข้าวสารในเมืองถังละ 18 บาท แต่พอต้องหาซื้อจากชาวบ้านในป่าตกถังละ 40 บาท (สองเท่าของค่าจ้างแรงงานรายวัน) แถมยังต้องตำเองทั้งด้วยครกกระเดื่อง ตำด้วยสากไม้ยาวๆในเบ้าครกที่ทำจากต้นไม้ หรือสีด้วยเครื่องสีข้าวหมุนซ้ายหมุนขวาด้วยมือ เป็นตอไม้คล้ายโม่ แต่ตอด้านล่างเป็นรูปทรงกรวย ตอด้านบนเป็นรูปทรงฝาชีครอบ  ฝัดเองอีกต่างหาก ก็เป็นการเรียนรู้ด้วยการสัมผัสจริง เรียกว่าพอจะรู้แจ้งเห็นจริงในการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ เข้าใจเลยครับว่าทำไมชาวบ้านเขาจึงทำไมจึงไม่ตำข้าว ฝัดข้าวสารเก็บไว้ มันทั้งเหนื่อยและเสียเวลา ทำเพียงพอใช้ทั้งวันก็พอแล้ว
บ่อยครั้งที่มีโอกาส ผมก็จะเอาข้าวสารที่ซื้อมาจากในเมืองไปแลกกับข้าวไร่ของชาวบ้าน ถังต่อถัง ชาวบ้านก็ชอบเพราะจะได้กินข้าวที่นิ่มหอม ไม่มีเม็ดทราย ไม่ต้องเหนือ่ยตำและฝัด ส่วนเราก็ชอบเพราะได้กินของอร่อยและอิ่มอยู่ท้องนาน แต่เวลาหุงข้าวไร่ต้องระวังแฉะ เราจึงต้องหุงแบบเช็ดน้ำ แล้ว regulate ความสุกแบบนุ่มนวลพอดีๆด้วยการดง ส่วนน้ำข้าวนั้น เก็บใสหม้อ ใส่เกลือ ไว้กินเพื่อเสริมวิตตามินและเกลือแร่ที่หายไปกับเหงื่อ ออกจากป่าทีไรตัวก็ตันทุกทีก็ด้วยประการฉะนี้ครับ
ต่ออีกนิดว่า ในพื้นที่ลาดเอียงเชิงดอยนั้น ตะกอนดินทรายเม็ดเล็กมักจะถูกพัดพาไปมาก ผิวดินจึงบางและมักมีสภาพเป็นกรด ดังนั้น พอเข้าหนาวก็จะเริ่มการถางป่า เอาไม้มากองรวมกันทิ้งใว้ให้แห้ง พอประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ก็จะเผากองไม้เหล่านั้น ผลที่ได้คือขี้เถ้าซึ่งมีสภาพเป็นด่าง พอฝนตกลงมาน้ำด่างนี้ก็จะกระจายช่วยปรับสภาพดินที่เป็นกรดให้เป็นใกล้ๆกลาง เหมาสำหรับการปลูกข้าวและพืชต่างๆ อีกประเด็นหนึ่งคือ จะต้องคะเนให้ดีว่าเมื่อเผาแล้วจะต้องมอดเป็นจุลด้วย คือต้องหมด มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถจุดอีกครั้งได้ ที่ผืนนั้นสำรหับปีนั้นอาจจะต้องทิ้งไปเลย หรือก็จะต้องถางใหม่

ถามมานิดเดียว ตอบเสียยืดยาว ไม่ว่ากันนะครับ ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องที่อยู่ในวงของเรื่องของๆกิน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 04 มี.ค. 12, 22:08

เรื่องของรสเปรี้ยวในอาหารแบบชาวบ้านนั้นไม่ค่อยมีครับ
ไม่คิดว่าเคยเห็นมะนาวป่านะครับ เคยเห็นอยู่ครั้งหนึ่ง แม้จะอยู่ใกล้ห้วยแต่ก็อยู่ใกล้หมู่บ้านมาก ห่างจากหมู่บ้านประมาณหนึ่งกิโลเท่านั้น พบใกล้ๆบ้านเกริงไกร ในห้วยขาแข้ง ระยะเดินประมาณ 6 ชม.จากปากลำขาแข้ง (น้ำของเขื่อนเจ้าเณรท่วมบ้านนี้ไปแล้ว) ผมคิดว่าเป็นการปลูกมากกว่า เพราะแถบนี้มีปรัชญาของการทำไร่ทาน
ของเปรี้ยวประจำป่าที่สำคัญคือมะกอก มะขามป้อม ลูกส้าน และผักกาดป่า อาจจะยังมีอีก ยังนึกไม่ออกครับ
ต้นไม้บางอย่าง เช่น มะพร้าว ขนุน ส้มโอ มะนาว กล้วยน้ำว้า เหล่านี้ จะพบได้ในหมู้บ้านที่ตั้งอยู่กันมานาน จากการสอบถามมักจะอยู่มานานกว่า 80 ปีแล้ว ต้นไม้เหล่านี้จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ในหมู่บ้านเหล่านี้ไม่ขัดสน ขาดเหลือเครื่องปรุงอาหารยังพอมีปลูก พอขอ พอเก็บหาได้   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 04 มี.ค. 12, 22:14

เอารูปมาประกอบค่ะ     ค้นคำว่า ข้าวไร่ จากกูเกิ้ล  เจอรูปเหล่านี้ก็เอามาให้คุณตั้งตรวจสอบอีกทีว่าใช่หรือเปล่า

ในแอ่งที่ราบ มักจะไม่มีการยกคันนาแยกออกเป็นบิ้งๆเพื่อบริหารปริมาณน้ำ

แยกออกเป็นบิ้งๆนี่มันเป็นยังไงคะ  "บิ้ง" เป็นคำใหม่เพิ่งเคยได้ยินค่ะ   ฮืม  ฮืม  ฮืม


บันทึกการเข้า
พรต
อสุรผัด
*
ตอบ: 8


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 08:00

คุณตั้งบรรยายเรื่องเมนูจากปลาและงูสิงห์ไร้เครื่องปรุงรสรสชาดทานไม่่ค่อยลง( ขนาดตอนหิว ) พาลนึกถึงจอมยุทธในหนังกำลังภายใน ปิ้งไก่ในป่าไม่มีเครื่ิองปรุงแล้วทานอย่างอร่อยโดนหลอกมาตั้งแต่เด็กเลยเรา ฮืม
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 11:07

เคยแวะไปเมียงมองหมู่บ้านชาวเขาพวกม้ง เย้า ทางเชียงใหม่ เชียงราย

เห็นในบ้านเขาจะมีเตาเตี้ยๆที่ก่อติดพื้น มีหินวางรอบกองไฟ มีกะทะเหล็กใบใหญ่

ในนั้นมีอาหารที่ดูแปลกตา อยู่ อยากทราบว่าอาหารโดยทั่วไปของชาวเขานั้น

เขาทานอะไรกันค่ะ พวกต้ม หรือผัด หรือคั่ว แกงอย่างไร พอทราบไหมค่ะ

ผักพื้นๆที่เขานิยมทานคืออะไรค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 11:47

ของเปรี้ยวประจำป่าที่สำคัญคือมะกอก มะขามป้อม ลูกส้าน และผักกาดป่า อาจจะยังมีอีก ยังนึกไม่ออกครับ  
เพลิดเพลินกับศัพท์แปลกๆในป่า ที่คุณตั้งเอามาเล่าให้ฟัง
เพิ่งเคยได้ยินคำว่าลูกส้าน     โชคดี อินทรเนตรมองเห็นลูกไม้ชนิดนี้ เลยเก็บรูปมาให้คุณตั้งดูได้ว่าเป็นอย่างเดียวกับที่เคยเห็นในป่าหรือเปล่า
เจ้าของภาพบอกว่า เป็นต้นไม้ใหญ่สูงเกือบ ๑๐ เมตร ค่ะ

http://www.bansuanporpeang.com/node/846



บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 19:09

ย้อนตอบไปนะครับ
เรื่องลูกส้าน_ต้นส้านที่พบในป่าเป็นต้นไม้ค่อนข้างใหญ่และสูง ลูกของมันเมื่อผ่าออกแล้วจะเห็นกลีบดอกสีเหลืองๆ จะเอามาต้มหรือย่างไฟกินกับน้ำพริกก็ได้ หลวงพ่ออุตมะ (ท่านได้ละสังขารไปแล้ว) ชอบมาก และก็ชอบพริกอะไรไม่ทราบเม็ดขนาดนิ้วก้อยยาวประมาณ 2 องคุลี (2 ข้อนิ้ว)นำมาเผา ลอกเปลือกออกเป็นผักแนมกับน้ำพริก
เคยค้นคว้าเรื่องต้นมะตาด ซึ่งได้ปลูกเป็นไม้ประดับตามริมทางเดินบนเกาะเกร็ด นนทบุรี จึงได้ทราบว่าเป็นต้นส้านเหมือนกัน สำหรับผมแล้วคงจะต้องแยกเรียกว่าส้านป่ากับส้านบ้าน ลักษณะลูกคล้ายๆกัน ส้านป่าจะลูกเล็กกว่า ขนาดประมาณหัวแม่มือ ส่วนส้านบ้านดูลูกจะใหญ่กว่าค่อนข้างมาก และเมื่อผ่าแล้วดูจะไม่เห็นกลีบดอกสีเหลืองๆ อีกประการหนึ่ง ส้านเป็นลูกไม้ที่ชาวมอญกินกัน (มอญที่อยู่ตามชายแดนใน จ.กาญขนบุรี) แต่ลูกมะตาดที่เกาะเกร็ดนั้น คนเชื้อสายมอญที่นั่นกลับไม่นิยมนำมากินกัน ผมก็เลยยังสงสัยอยู่ว่าอาจจะเป็นคนละต้นหรือคนละสายพันธุ์กัน เคยถามชาวเกาะเกร็ดว่ากินลูกมะตาดได้ใหม เขาตอบว่ากินได้เหมือนกัน จำไม่ได้ว่าเอาไปทำอะไรกิน แต่ไม่นิยมกันเลย มีแต่ต้นหน่อกะลาที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นอาหารประจำถิ่น

ลูกส้านป่านี้ ชาวบ้านทางภาคเหนือที่มีอายุมากหน่อยและเป็นคนพื้นบ้านที่อยู่ห่างเมืองจริงๆจึงจะนำมากินกัน พวกชาวเมืองจริงๆแทบจะไม่รู้จักว่ากินได้ ทั้งๆที่มีหมู่บ้านมากมายในภาคเหนือที่มีคำว่าส้านรวมอยู่ด้วย เช่น ป่าส้าน ห้วยส้าน ห้วยส้านพลับพลา ชื่อบ้านเหล่านี้ สำหรับในการทำงานของผม ทำให้พอเดาต่อไปได้อีกด้วยว่า พื้นที่ในบริเวณนั้นจะมีลักษณะเป็นเนินเขาเตียสูงสลับกันไป แม้จะดูเป็นพื้นที่แห้งๆ แต่ก็มีความชื้นในดินค่อนข้างมาก ห้วยต่างๆจะเป็นร่องไม่เป็นตัว V shape แบบใหล่ห้วยสูงชัน ดินหินที่พบมักจะเป็นพวกแตกร่วนมักจะไม่พบที่ฝังลึกเป็นดานหินอยู่ใต้ดิน อย่างไรก็ตามต้นส้านก็เกิดในป่าลึกค่อนข้างทึบได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในบริเวณใกล้ๆห้วย (กว้างหน่อย) ที่มีน้ำไหลริน ส้านพวกนี้จะต้นค่อนข้างสูงมาก แหงนดูคอตั้งบ่าเหมือนกัน 
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 19:12

ภาพของลูกส้านที่คุณเทาชมพูได้กรุณาค้นและนำมาแสดงนั้น ผมเข้าใจว่าเป็นส้านบ้านครับ ต้นของมันสูงไม่มาก ก็คงไม่เกิน 10 เมตรดังว่าครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 20:01

เคยแวะไปเมียงมองหมู่บ้านชาวเขาพวกม้ง เย้า ทางเชียงใหม่ เชียงราย เห็นในบ้านเขาจะมีเตาเตี้ยๆที่ก่อติดพื้น มีหินวางรอบกองไฟ มีกะทะเหล็กใบใหญ่
ในนั้นมีอาหารที่ดูแปลกตา อยู่ อยากทราบว่าอาหารโดยทั่วไปของชาวเขานั้น เขาทานอะไรกันค่ะ พวกต้ม หรือผัด หรือคั่ว แกงอย่างไร พอทราบไหมค่ะ
ผักพื้นๆที่เขานิยมทานคืออะไรค่ะ

อาหารที่ชาวเขากินกันนั้น เป็นอาหารที่ปรุงแบบง่ายๆ โดยพื้นฐานก็คือน้ำพริกกับผัก ผักที่เก็บมากินกันนั้น ก็มีทั้งผักสดและผักดอง หากเป็นพวกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนที่เป็นเขาสูง ผักจะหายากหากไม่มีแปลงปลูกเพาะ แต่ดั้งเดิมนั้นผักที่ปลูกกันก็จะมักจะเป็นผักกาดเป็นหลัก มักจะเป็นผักกาดเขียวและผักกาดจอ (ผักกาดที่มีช่อดอกเหลืองๆ) บางแห่งอาจจะพบว่าปลูกผักกวางตุ้ง นอกจากนั้นก็มีฟักเขียว ฟักหม่น ฟักพันธุ์ลูกกลมๆเหมือนแตงโม ฟักทอง มะเขือเหลือง (มะเขือขื่น) มะเขือหำแพะ (ลูกสั้นๆสีม่วงๆ) มะเขือพวง คงมีอีกนะครับแต่ยังนึกไม่ออก ในปัจจุบันนี้ก็เป็นพวกผักเมืองหนาวที่เรากินกัน ซึ่งที่ดูจะเป็น norm ก็คือกล่ำปลี

กินทุกวันๆก็คงเบื่อ จึงต้องไปเก็บผักในป่าด้วย ก็เช่น ผักกูด ยอดกุ่ม ผักกาดป่า ขี้เหล็ก ยอดหวาย ยอดอ่อนของต้นไม้ต่างๆ และยอดไม้เถาต่างๆ จะแปลกก็ตรงที่ ผมเกือบจะไม่เคยเห็นมีการเก็บยอดตำลึงมาทำอาหารเลย ทั้งๆที่มีอยู่มากมาย
พวกมะเขือ ยอดกุ่ม ใบขี้เหล็กเหล่านี้ เขาจะเอามาใส่กะละมัง เอาน้ำซาวข้าวเทใส่ลงไปดอง อาจจะใส่เกลือลงไปเล็กน้อย (เกลือหายากครับ)
อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มของชาติพันธุ์ เช่น พวกม้ง ลีซอ นิยมอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ ส่วนพวกกะเหรี่ยงนิยมพวกน้ำพริกกับผักและต้มปลา เป็นต้น ด้วยลักษณะนิยมของการกินดังกล่าวนี้ เราจึงมักจะพบว่าการล่่าสัตว์ของแต่ละชาติพันธุ์แตกต่างกันไป เช่น ชาวม้ง นิยมล่าสัตว์ค่อนข้างใหญ่ พวกหมูป่า เก้ง กวาง ในขณะที่พวกกะเหรี่ยงจะเป็นพวกกะรอก อีเห็น เม่น ปูและปลา ส่วนพวกลีซอ มูเซอ นั้นอาวุธประจำกายเป็นพวกหน้าไม้ ก็ไปนิยมล่าพวกนก กะรอก เป็นต้น คนไทยก็ไปอีกแบบ คือเอาทุกอย่าง เช่น ตะกวด แย้ นกเขา นกกุลุมพู ตุ่น งูสิงห์ กระต่าย กระทิง วัวแดง ลิง ค่าง เป็นต้น

แกงน้ำมากๆดูจะไม่อยู่ในเมนูอาหารมากนัก คงจะเป็นเพราะการกินด้วยมือเปิบ หากจะแกงก็จะเป็นลักษณะของการคั่วแบบน้ำขลุกขลิกค่อนข้างแห้งเสียมากกว่า
แกงคั่วของเรานั้น แต่ดังเดิมนั้นก็คงเป็นแกงในกะทะในลักษณะของการคั่วให้สุก ปัจจุบันนี้เป็นการแกงในหม้อและทำให้มีน้ำมากหน่อย

แล้วคงจะได้เล่าเมนูต่างๆเป็นระยะๆต่อไปนะครับ
       
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 20:02

คุณตั้งมีชื่อต้นไม้ป่าแปลกๆเติมมาให้อีก  ดิฉันก็หารูปมาส่งเป็นการบ้านอีก  
มะตาด  เรียกอีกชื่อว่าแอปเปิ้ลมอญ   ได้รูปมาตามนี้ค่ะ    เป็นอย่างเดียวกับส้านป่าหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 20:04

อ้างถึง
คนไทยก็ไปอีกแบบ คือเอาทุกอย่าง เช่น ตะกวด แย้ นกเขา นกกุลุมพู ตุ่น งูสิงห์ กระต่าย กระทิง วัวแดง ลิง ค่าง เป็นต้น
อย่างอื่นไม่ค่อยสงสัยนัก   สงสัยว่าลิง คนไทยเขากินแบบไหนกันคะ

คุณพนมเทียนบรรยายไว้ในเพชรพระอุมาว่า พรานเขากินเลือดค่างผสมเหล้าโรง เพื่อให้หายเมื่อยขบและบำรุงกำลัง เจริญอาหาร  ดีของค่างกินเป็นยาบำรุงสายตา   และกินสมองสดๆ ใส่มะนาว ซอยหอมใส่  พริกกับเกลือลงไปหน่อย   กินเหมือนกินหอยนางรม
ลิง คนไทยกินกันแบบกินค่างอย่างในนิยายหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 21:06

รู้สึกว่าผมจะมีการบ้านยาวเหยียดคอยอยู่เสียแล้ว   ยิ้มกว้างๆ

กลับไปรูปข้าวไร่ที่คุณเทาชมพูได้ค้นมา นั่นแหละครับ พื้นที่เช่นนี้คือที่ๆปลูกข้าวไร่ แต่ภาพนี้ดูจะสวยมากไป คงจะเป็นการปลูกเพื่อขายมากกว่าเพื่อกินเสียแล้ว ครับ
แต่ละกอของข้าวไร่จะไม่ใหญ่ ที่เห็นส่วนมากก็จะประมาณกำมือพอดีๆ ต่างจากข้าวนาที่ยิ่งดินดี ยิ่งปุ๋ยดี กอก็จะยิ่งใหญ่ ปริมาณข้าต่อไร่ก็จะยิ่งสูง กอขนาดกำมือคงจะได้ข้าวไม่มากกว่า 40 ถังต่อไร่ แต่หากขนาดประมาณโคนแขนก็จะน่าจะได้ถึง 60 -70 ถังต่อไร่ (เป็นการประเมินสมัยก่อนๆนะครับ ข้าวพันธุ์ใหม่ๆคงจะให้ปริมาณข้าวเปลือกมากกว่านี้มากในขนาดกอเท่าๆกัน) ดังนั้น เดินผ่านาก็พอจะบอกได้ว่าพื้นที่อุดมสมบูรณ์หรือไม่

สำหรับคำว่าบิ้งนานั้น ตามภาษาเขียนที่ถูกแล้วน่าจะใช้คำว่าคันนา โดยแต่ละผืนนาที่ล้อมรอบไปด้วนคันนานั้นเรียกว่าบิ้ง แต่ในภาษาพูดมักจะเพี้ยนไปเป็นบิ้งนา ซึ่งจะให้ความหมายในเชิงของนามธรรมในรูปของผืนนาที่มีการยกคันนาเพื่อการบริหารน้ำตามระดับความสูง แสดงถึงความเป็นผืนนาเก่าที่มีการทำกันมาหลายปีแล้ว ยิ่งมากปีมากๆ ก็จะมีบิ้งนาย่อยมากขึ้น และแต่ละบิ้งก็จะมีขนาดเล็กลง ในบางกรณีการทำคันนาก็เป็นการแบ่งเขต หรือแบ่งส่วนความรับผิดชอบของเครือญาติ บิ้งนานี้เมื่อดูจากภาพถ่ายทางอากาศแล้ว ส่วนมากจะบอกแนวของแม่น้ำหรือร่องน้ำเดิม หากเห็นบิ้งนาลักษณะทรงสี่เหลี่ยมยาวเรียงกันเหมือรูปพัด เราก็จะเห็นปลายด้านหนึ่งของปลายรูปทรงพัดนั้นมีแนวสิ้นสุดเป็นเส้นโค้ง ซึ่งแสดงถึงแนวลำน้ำเดิม ในโอกาสต่อไป หากขึ้นเครื่องบินขึ้นไปพิษณุโลกหรือเชียงใหม่ พอเครื่องขึ้นไปได้สักประมาณ 10 นาที ซึ่งเครื่องบินจะอยู่เหนืออยุธยา เรื่อยไปจนถึงประมาณนครสวรรค์ ลองก้มดูพื้นดินนะครับ จะเห็นภาพเหล่านี้และภาพสวยงามอื่นๆ เช่น แอ่งน้ำที่เป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว (Oxbow lake) เต็มไปหมด ซึ่งเป็นส่วนของโค้งหรือคุ้งของแม่น้ำในอดีต ยังมีลักษณะอื่นๆอีกมากมาย ในภาษาทางวิชาการเรียกลักษณะเหล่านี้รวมๆกันว่า Meandering scar หรือร่องรอยการกวัดแกว่งของแม่น้ำในอดีตครับ ตามร่องรอยนี้ก็จะมีสันคันคลองตามธรรมชาติ (natural levee)
ซึ่งจะเป็นพื้นที่น้ำหลากผ่าน คนไทยจะใช้เป็นที่อยู่อาศัย ปลูกไม้ผลยืนต้น ไม้ประจำถิ่นก็อาจจะเป็นต้นชุมแสง อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ก็มาจากดงของต้นไม้ชื่อนี้เอง เป็นต้น ที่จริงแล้วลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าต้นชุมแสงหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่อดตายในช่วงเดินป่าสำรวจก็เพราะความรู้ในสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้แหละครับ คงจะได้เล่าเป็นเรื่องราวหรือผนวก แฝงอยู่ในเรื่องอื่นเป็นครั้งๆไปครับ

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 05 มี.ค. 12, 21:26

การบ้านของดิฉันก็คงจะยาวเหยียดไม่แพ้กัน   ยิ้ม
หวังว่าข้างล่างนี้จะเป็นต้นชุมแสงที่ถูกต้องนะคะ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 19
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.089 วินาที กับ 20 คำสั่ง