เว้นวรรคไปเสียนานครับ
ขอกลับมาต่อเรื่อง เพื่อให้กระทู้นี้ได้จบลงอย่างนุ่มนวล
ที่ผ่านมา อาหารส่วนมากจะเป็นเรื่องของผักและสัตว์เล็กๆ
จะขอเล่าต่อในเรื่องของสัตว์ปีก
ไก่ป่านั้นผมจะเลือกเฉพาะตัวผู้เอามาทำกิน ปล่อยตัวเมียให้กกไข่แพร่พันธุ์ต่อไป ชาวบ้านเขาก็ทำกันแบบนี้ จะยกเว้นก็เฉพาะคนในเมืองที่ชอบเข้าป่าแล้วยิงดะทุกอย่างที่เคลื่อนที่ได้
ในช่วงประมาณปลายเดือนมีนาคม ต้นไผ่ในป่าบางแห่งก็จะแตกขุย คือ ไผ่ออกดอก จากนั้นก็จะตายยกป่า ในช่วงนี้ไก่ป่าจะมีมาก ออกมากินขุยไผ่กัน ไก่ตัวเมียจะอ้วนอิ่มเอิบมาก ไก่ตัวผู้ก็เช่นกัน ไก่ป่าช่วงนี้จะอร่อย เนื้อแน่น
ไก่ฟ้าพญาลอก็มีเหมือนกัน (Pea fowl

) เราจะปล่อยมันไม่นำมาทำอาหาร ไก่ฟ้ามักจะชอบอยู่ในบริเวณที่เป็นป่าชุ่มชื้น มีใบไม้ตามพื้นดินมาก เนื่องจากมันเป็นสัตว์กินแมลงตามพื้นดิน นกยูงก็ยิ่งไม่เอาเลย
นกที่เอามากินก็เลือกครับ นกที่กินเนื้อ (แมลง) ส่วนมากจะมีเนื้อสีแดงเข้มไม่น่ากิน หากเป็นนกตัวใหญ่จะเอามาทำกินจะต้องถลกหนังทิ้งไป นกพวกนี้ เช่น นกกะปูด เหยี่ยวนกเขา เหยี่ยวอีรุ้ม นกฮูก ถึดทือ ฯลฯ นกกินผลไม้ที่ตัวขนาดใหญ่ก็ไม่เอามากินเหมือนกัน เช่น นกกก เงือก กาฮัง นกแกง ฯลฯ
นกที่เอามากินก็จะมี นกกุลุมพู (ชอบเกาะอยู่สูงมากตามยอดไม้) นกเขาเปล้า นกเขาเขียว และเขาใหญ่ ส่วนนกตัวขนาดเล็กทั้งหลายจะไม่ไปยุ่งกับมัน ซึ่งเหตุผลที่สำคัญก็คือ ตัวมันเล็กมากไป ต้องยิงหลายๆตัวจึงจะพอหม้อแกง และอีกประการหนึ่งคือไม่คุ้มค่าลูกปืน
การเอาไก่มาทำอาหารสำหรับคณะ ใช้เพียงตัวเดียวก็พอ เราเอาเนื้อตัวของมันมาเป็นเพียงกระสัยในแกงหรือผัด ที่กินกันเอร็ดอร่อยจริงๆนั้นมันคือผักและรสชาติของน้ำแกงผนวกกับพืชผักที่ใส่ลงไป และการแทะเล็มเนื้อติดกระดูก เผ็ดมาก รสจัดมาก ร้อนมาก ก็กินข้าวมาก (กินกับน้อย) กินน้ำแก้เผ็ดมากตามไปด้วย (อิ่มน้ำ) กับข้าวป่าจึงมีรสจัดและเผ็ดเป็นมาตรฐาน สำหรับเรา เพียงเจียวไข่ไปแนมเท่านั้นอาหารป่าก็กลายเป็นอาหารที่อร่อยสุดที่จะพรรณา
สำหรับนกนั้น ตัวเล็กกว่าไก่มาก อย่างน้อยก้ต้องใช้ถึงสามตัวจึงจะพอมื้อ วิธีการทำจึงจะใช้วิธีตัดเป็นชิ้นๆไม่ได้ จะใช้วิธีสับให้แหลกและค่อนข้างจะละเอียดอีกด้วย เพื่อมิให้คงเหลือกระดูกเป็นเสี้ยนอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของคำว่าแกงสับนก แกงสับนกนี้ก็แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ นิยมจะใส่กระชาย สำหรับเครื่องหอมนั้นก็ใช้ได้ทั้งใบกระเพราหรือใบโหระพา