เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 19
  พิมพ์  
อ่าน: 149271 เมนูอาหารป่า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 02 เม.ย. 12, 21:36

พูดถึงต้มขมุโดยใช้ปลา ที่จริงแล้วเราจะต้มโดยใช้กบ หรือไก่ก็ได้ สำหรับเครื่องแกงพื้นฐาน (ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด) นั้น เราจะเพิ่มกระชายบุบลงไปสัก 2-3 รากก็ได้ (ปกติผมจะใส่กัน) แต่หากไม่ชอบกลิ่นก็ไม่ต้องใส่ กระชายกับกะปิเข้ากันได้อย่างดีนะครับ ดูแต่เครื่องข้าวแช่ที่มีกะปิทอดซิครับ ยังใช้กระชายสับกับกะปิแล้วปั้นเป็นก้อนกลมๆชุบไข่ทอดในน้ำมัน

รู้ว่าต้มอย่างไรแล้ว คราวนี้ก็ต้องไปหาปลา  วิธีหาปลาในห้วยของผมมีอยู่ 2 วิธี วิธีแรก คือการฟันปลา ผมใช้วิธีนี้กับน้ำที่ลึกไม่เกินเข่า และวิธีที่สอง คือการดักด้วยตะครัด (ตาข่าย) วิธีนี้ใช้ในบริเวณที่น้ำที่ลึกถึงระดับอกหรือคอ เบ็ดก็พกพาไปแต่เกือบจะไม่ได้ใช้เลย

การฟันปลานั้นจะทำในตอนกลางคืน เมื่อมืดค่ำแล้ว คือประมาณ 2 ทุ่มขึ้นไป และทำในบริเวณที่น้ำห้วยค่อนข้างใส อุปกรณ์สำคัญได้แก่ มีดที่ใช้ฟันไม้ ไฟฉายหรือตะเกียงเจ้าพายุ และถังสำหรับใส่ปลา วิธีการคือ สองคนช่วยกัน คนหนึ่งถือไฟฉายกับมีด อีกคนถือไฟฉายกับถัง ค่อยๆเดินลุยทวนน้ำไปเบาๆ ใช้ไฟฉายส่องดูปลา ในขณะที่ท่องน้ำไปก็เอามีดราอยู่ใต้น้ำไปด้วย จะพบปลาจะลอยอยู่นิ่งๆแม้ครีบจะโบกไปมา ปลามันหลับครับ ค่อยๆฟันมันไปทีละตัว ค่อยๆจับไปทีละตัว พักเดียวแหละครับ ได้สำหรับพอกินไปสักสามมื้อสบายๆ (มากกว่าครึ่งถัง) ง่ายไหมครับ ชาวบ้านกะเหรี่ยงก็ใช้วิธีฟันปลาเหมือนกัน โดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นคบเพลิง แต่เดินเลาะตามชายน้ำ วิธีการนี้ได้ปลาจำนวนน้อย เพราะมีปลาไม่กี่ชนิดที่จะมาลอยนอนอยู่ใกล้ชายน้ำ

การใช้ตะครัดขึงขวางลำห้วยนั้นจะทำกันในช่วงกลางวัน ตาข่ายที่ผมใช้มีขนาดของช่อง (มุมทะแยง) ประมาณ 2 นิ้วมือ ซึ่งจะจับได้ปลาตัวขนาดประมาณฝ่ามือ ตะครัดนี้เหมาะที่จะใช้บริเวณที่น้ำไหลไม่แรง ก็คือบริเวณที่เป็นแอ่ง (มิฉะนั้นจะต้องถ่วงที่ปลายตีนให้หนักเพื่อให้แผงตาข่ายตั้งตรงถึงพื้น) ผมใช้วิธีการหาปลาหาอาหารแบบนี้เมื่อหยุดพักการเดินจากลักษณะที่ต้องย้ายแคมป์ทุกวัน เลือกหาที่เหมาะๆเพื่อจะได้อาบน้ำ สระผม ซักเสื้อผ้าสักหนึ่งวัน  เพื่อทบทวนข้อมูลทางวิชาการที่ได้มา จัดแยกและรวมตัวอย่างหินและฟอสซิลที่ได้มาให้เป็นระเบียบ เพื่อวางแผนต่อไปว่าจะเดินต่อไปในทิศทางใดเพื่อสำรวจหาข้อมูลที่ยังยังขาดหรือยังจะต้องหาข้อมูลใดที่สำคัญเพิ่มเติมอีกในเส้นทางใด และตำแหน่งแห่งหนใด    
ในป่านั้น อากาศจะเย็นกว่าในเมืองมาก แม้กระทั่งในเดือนเมษายน    เมื่อพระอาทิตย์ลับขอบเขา (ประมาณบ่าย 3 โมง) จะเริ่มรู้สึกเย็นลงในทันที เมื่อหยุดทำงานเริ่มตั้งแคมป์ก็ประมาณ 4 โมงเย็น กว่าแคมป์จะเข้ารูปร่าง กว่าจะช่วยกันรื้อของตั้งครัวได้ก็เกือบ 5 โมงเย็น อาบน้ำไม่ไหวแล้ว เย็นเกินไปที่จะทำให้ไม่สบาย เช้าเริ่มออกเดินก็ประมาณ 8 โมง ก็อาบน้ำไม่ไหวอีก   ก็เลยเกือบจะเป็นปรกติที่  4 - 7 วันอาบน้ำหนเดียว เสื้อผ้าที่เอาไปกันก็ไม่มากด้วยข้อจำกัดทางน้ำหนัก สำหรับผมก็กางเกงสามตัว เสื้อสามตัว เสื้อกล้ามสามตัว เสื้อหนาวหนึ่งตัว ผ้าขาวม้า โสร่ง  ผ้าเช็ดตัว แรกๆก็มีกางเกงในด้วย ต่อๆไปก็ไม่มี ถุงเท้าไม่ใช้ รองเท้าไม่ใช้ ใช้แต่รองเท้าแตะ ใส่เสื้อกันจนเกิดเป็นแผนที่บนแผ่นหลังเสื้อจากคราบเหงื่อ เนื้อหนังของตัวเองบางครั้งก็เป็นวงๆสีแดง (เกลื้อน)  เมื่อได้สถานที่เหมาะๆจึงต้องหยุดเพื่อเพื่อการรักษาสุขอนามัยบ้าง เวลาอาบน้ำที่เหมาะคือประมาณ 9 โมงเช้า แม้อากาศจะเย็นแต่ก็จะรู้สึกว่าน้ำในห้วยนั้นอุ่น ช่วงนี้จึงเป็นช่วงหาปลาด้วยตะครัด
เคยพบแอ่งน้ำที่มีปลาสี่ชนิดว่ายสวนกันไปมาเป็นสี่ระดับชั้นในห้วยขาแข้ง ลงตะครัดสองครั้ง ได้ปลามาเกือบ 100 ตัว ปลดปลากันแทบไม่ทัน แช่อยู่ในน้ำจนปากเขียวเลยต้องเลิก ผมปลดปลาจากตาข่ายได้ครั้งละหนึ่งตัว แต่คนในคณะของผมซึ่งเป็นอดีตทหารในหน่วยนาวิกโยธิน ปลดได้ครั้งละสามตัว ตัวหนึ่งคาบอยู่ในปาก ปลาที่ได้มากขนาดนี้ ก็คือเสบียงสะสม จะได้ไม่ต้องพะวงคอยหาอาหารประจำวัน ปรกติอีกเช่นกัน ผมจะเดินทำงานตั้งแต่เช้าให้ความสนใจไปในเรื่องของงานไปจนประมาณบ่าย 3 โมงเย็น จึงจะเริ่มให้ความสนใจในการหาอาหารตามเส้นทางเดินไปยังแคมป์ที่นัดไปเจอกันในตอนเย็น เชื่อไหมครับ ป่าไม่เคยให้ผมต้องขาดอาหารสักมื้อหนึ่ง ไม่เคยให้ผมหลงป่าอย่างชนิดหลงจริงๆ ทำให้ผมรอดตายมาจากเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้ผมได้ช่วยชีวิตคนที่แทบจะไม่มีทางรอด ทำให้ได้ช่วยคนให้พลิกฟื้นจากสถานะจนตรอกไปสู่สถานะอยู่รอด  
สิ่งเดียวที่ผมยึดมั่นและได้ช่วยพลิกผันสถานการณ์ต่างๆจากร้ายสุดมาเป็นดี ก็คือ ความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจมาตลอดว่า เมื่อใดที่เราทำงานตามภารกิจหน้าที่อย่างเต็มที่ อย่างเต็มใจและด้วยจิตใจอย่างสมบูรณ์ ทำให้กับแผ่นดิน ทำให้เป็นประโยชน์เพื่อส่วนรวม ไม่คิดคดโกง ไม่คิดฉ้อฉล ไม่คิดเอาเปรียบ เมื่อนั้นภยันตรายต่างๆก็จะไม่เยือนและบรรเทาลงไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 เม.ย. 12, 10:55 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 03 เม.ย. 12, 10:56

ตามอ่านเป็นประจำค่ะ
ยิ่งเล่า ยิ่งมีเรื่องอยากให้ซักถามมากขึ้น แต่รอไว้เล่าเรื่องอาหารป่าให้จบก่อนดีกว่า
ชีวิตในป่าที่เป็นเรื่องจริง แตกต่างจากนิยายมาก
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 03 เม.ย. 12, 21:34

ปลาที่ได้มามากทำอะไรกินกันดี
ส่วนหนึ่ง แล่แล้วใช้ตอกเสียบแขวนตากให้แห้ง
อีกส่วนหนึ่ง ย่างมอญ คือเสียบไม้ปักใว้รอบกองไฟ ย่างให้สุก
อีกส่วนหนึ่ง ทำลาบหรือพร่า (เรียกไม่ถูกครับ)
และส่วนของตับไตใส้พุงเอามาทำน้ำพริก

ปลาทั้งหมดเป็นปลาเกล็ด ปลาในห้วยส่วนมากจะเป็นปลากินพืช ดังนั้นจึงต้องขอดเกล็ดเสียก่อน ผ่าท้องเอาตับไตใส้พุงมารวมกันไว้ ผ่าครึ่งจากสันหลังถึงท้อง แผ่ออกใสกะละมัง ใส่เกลือคลุกให้เข้ากันดี แล้วใช้ตอกเสียบแขวนกับราวไม้ไผ่ ก็ไม่แห้งขนาดเป็นปลาแดดเดียวหรอก เพียงแต่หมาดๆก็พอแล้ว เพราะมีเวลาชั่วบ่ายกับข้ามคืนเท่านั้น รุ่งขึ้นเช้าก็ต้องย้ายแคมป์เดินอีกแล้ว เสื้อผ้าและอาหารทุกอย่างก็จัดได้ว่าพอแห้งเท่านั้น วันรุ่งขึ้นก็เดินให้น้อยลงหน่อย ตั้งแคมป์ให้เร็วขึ้นหย่อย เพื่อจะได้เอาทุกอย่างมาตากให้แห้งให้สนิทจริงๆ ความแห้งจึงเป็นแบบความแห้งจากลม มิใช่จากแสงแดดเท่าไดนัก ความแห้งแบบนี้จะเป็นแห้งแบบมีกลิ่นครับ เมื่อทุกคนและทุกอย่างมีกลิ่นเหมือนๆกัน ก็โทษใครไม่ได้ จมูกก็ชินกลิ่นกันไปเอง เรียกว่าทั้งคณะมีกลิ่นฉุนทีเดียว

ครั้งหนึ่งผมเดินแบบจ้างช้างขนของต่อเนื่องกันประมาณ 20 วัน เคยถูก สตง.ถามว่าไม่หยุดพักกันบ้างหรือไร ผมตอบไปว่าก็หยุดซักผ้าผ่อนเป็นระยะ เขาก็ถามว่าเมื่อหยุดไม่ทำงาน ก็ต้องไม่มีการเสียค่าจ้างช้างซิ ผมก็ชี้แจงไปว่า ช้างมันมิใช่รถแทกซี่ที่จะเรียกใช้เมื่อใดก็ได้ เดินเข้าป่าลึกอย่างนั้น กว่าจะเจรจาจ้างได้ก็แย่แล้ว พวกช้างเขาก็กลัวที่จะเข้าป่าลึกๆเหมือนกัน แม้จะคิดราคาเบิกจ่ายเป็นรายวัน แต่แท้จริงแล้วก็เป็นการเช่าเหมาในลักษณะหนึ่ง หากเป็นการจ้างรายวันจริงๆแล้วเขาหันหลังกลับทิ้งเราไว้กลางป่าแล้วจะทำอย่างไร เรื่องนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว พอเดินลึกเข้าไปมากๆเขาก็จะกลับท่าเดียว และขอต่อรองเพิ่มค่าจ้างช้างแทบจะทุกวัน เขาก็ห่วงช้างว่าจะถูกเสือเล่นงานเอาเมื่อปล่อยให้หากินหลังเลิกงาน ก็เลยเข้าใจกัน

เอาน้ำพริกตับไตใส้พุงปลานะครับ    ทำง่ายๆ เอาพริกที่มี สดหรือแห้งก็ได้ โขลกกับกระเทียม กะว่าให้ออกรสจัดจ้าน ใส่น้ำมันในกระทะเจียวให้หอม เิอาเครื่องในปลาที่ล้างสะอาดแล้วใส่ลงไปผัด ใส่เกลือ ใส่น้ำปลาให้ชูกลิ่น ใส่น้ำตาลปึกเล็กน้อย ผัดให้สุกจริงๆ ซึ่งจะเละเป็นเนื้อเดียวกัน เท่านั้นเองครับ กินกับผักที่หาได้ คลุกข้าวก็อร่อย น้ำพริกจะออกรสขมนิดๆเนื่องจากมีดีปลาผสมอยู่ด้วย

มีข้อควรคำนึงและต้องปฏิบัติที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือ การทำอาหารทุกอย่างที่ใช้สัตว์น้ำจืด จะต้องสุกจริงๆ เพื่อฆ่าพยาธิและ Parasite ต่างๆที่อาศัยอยู่ในเนื้อสัตว์เหล่านั้น   
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 03 เม.ย. 12, 22:56

อาจจะนอกเรื่องไปนิดแต่ ขออนุญาตถามหน่อยนะคะ  สงสัยจริงๆ

ที่คุณตั้งบอกว่า ปลาน้ำจืดต้องทำให้สุกจริงๆเพราะอาจมีพยาธิและอื่นๆ

ที่สงสัยคือปลาดิบที่เอามาทำอาหารญี่ปุ่นขายกันเกลื่อนในเมืองไทยอยู่ขณะนี้

จะมีอะไรปนเปื้อนที่ต้องระวังไหมคะ ... (ทานได้ปลอดภัยเหมือนที่ญี่ปุ่นไหมคะ)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 04 เม.ย. 12, 06:32

ที่มีรายงานคือ พยาธิอนิสซาคิส Anisakis   

ถ้าคนกินปลาดิบที่มีการติดเชื้อนี้เข้าไป ก็จะได้รับตัวอ่อนของเชื้อนี้ เข้าไปฝังตัวในกระเพาะอาหาร

อาการที่สำคัญคือ อาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ คลื่นไส้อาเจียนและท้องเสีย บางรายอาจถ่ายออกมาเป็นมูกเลือด ซึ่งอาการปวดท้องบางครั้ง อาจจะวินิจฉัยผิดพลาด เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือไส้ติ่งอักเสบก็ได้

ในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อพยาธิชนิดนี้ และพยาธิชนิดนี้ ก็เป็นพยาธิในเมืองหนาวเท่านั้น กรณีปลานำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าได้รับการแช่แข็งที่ถูกต้อง ก็น่าจะปลอดพยาธิดังกล่าว

ข้อมูลจาก http://www.thaiclinic.com/medbible/sushiparasite.html



 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 04 เม.ย. 12, 09:21

อาหารป่าของคุณตั้ง มีผัก ปลา และสัตว์เล็กๆยืนพื้น    นอกจากนั้นก็ผลไม้ป่า
นึกได้อีกอย่างคือเห็ด    ไม่ทราบว่าในป่ามีเห็ดอะไรบ้าง
เวลานักธรณีวิทยาเข้าป่า   เก็บเห็ดมากินกันสดๆ หรือปรุงให้สุกบ้างหรือเปล่าคะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 04 เม.ย. 12, 15:26

....ที่คุณตั้งบอกว่า ปลาน้ำจืดต้องทำให้สุกจริงๆเพราะอาจมีพยาธิและอื่นๆ ที่สงสัยคือปลาดิบที่เอามาทำอาหารญี่ปุ่นขายกันเกลื่อนในเมืองไทยอยู่ขณะนี้
จะมีอะไรปนเปื้อนที่ต้องระวังไหมคะ ... (ทานได้ปลอดภัยเหมือนที่ญี่ปุ่นไหมคะ)

   
.....กรณีปลานำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าได้รับการแช่แข็งที่ถูกต้อง ก็น่าจะปลอดพยาธิดังกล่าว

ปลาดิบที่ญี่ปุ่นเขากินกันนั้น ทั้งหมดจะเป็นปลาทะเล มีน้อยมากๆที่จะใช้ปลาน้ำจืด (ซึ่งจะเป็นการทำกินกันเองเฉพาะที่บ้าน กินกันในครอบครัว)
สำหรับปลาดิบที่ทำขายกันในภัตตาคารนั้น คงจะจะแนกได้เป็น 2 แบบ คือ พวกที่แช่แข็งมาแล้ว กับพวกที่สดจริงๆ

สำหรับพวกที่แช่แข็งนั้น คนญี่ปุ่นบอกผมเช่นนี้ครับ เขามีอุณหภูมิกำหนดไว้แน่นอน ผมจำไม่ได้ว่าเท่าใด (คิดว่า -53 องศา) และจะต้องกี่วันด้วย (จำนวนวันนี้นึกไม่ออกจริงๆ) การแช่แข็งในอุณหภูมิและในระยะเวลที่กำหนดจะทำให้เชื้อโรคต่างๆตายสนิท แล้วยังเป็นการบ่ม (Marinate) ด้วยของเหลวในเนื้อปลาเอง ทำให้เนื้อปลามี texture และรสชาติที่ดีมากขึ้นด้วย

สำหรับพวกที่สดจริงๆนั้น มีราคาแพงมาก เนื่องจากไม่ทำจากปลาที่ตายแล้ว แต่จะทำจากปลาที่เป็นๆ จับมาเลาะมาทำในขณะที่มันยังมีชีวิตอยู่ (ความแตกต่างระหว่างคำว่า ดิบ กับคำว่า สด ก็คงจะเป็นในลักษณะดังกล่าวนี้) ส่วนเรื่องจะมีอันตรายจากพยาธิเพียงใดนั้น ผมไม่ทราบ เคยทราบแต่ว่าสัตว์ทะเลพวกที่ว่ายไปมา (Pelagic life) นั้นเกือบจะไม่มีพยาธิใดๆที่เป็นอันตราย ซึ่งจะแตกต่างไปจากพวกที่หากินกับพื้นโคลน (Benthos)

คนญี่ปุ่นเขาเชื่อว่า วาซาบิช่วยฆ่าเชื้อโรคต่างๆ เขาว่ากินแบบที่คนไทยชอบกัน (คือจิ้มชิ้นเนื้อแบบคลุกในวาซาบิที่ละลายในซีอิ๊วนั้น) ไม่ช่วยอะไรเลย วิธีการที่ถูกต้อง คือ เอาวาซาบิวางไว้ในถ้วยน้ำจิ้มที่ใส่ซีอิ๊ว เอาเนื้อปาดผ่านก้อนวาซาบิลงไปในน้ำซีอิ๊ว เท่านี้จึงจะเป็นการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ

เรื่องอาหารของญี่ปุ่นนี้ คงจะเป็นเรื่องสั้นๆที่จะเล่าสู่กันฟังในอีกกระทู้หนึ่งครับ   

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 04 เม.ย. 12, 15:40

สำหรับพวกที่แช่แข็งนั้น คนญี่ปุ่นบอกผมเช่นนี้ครับ เขามีอุณหภูมิกำหนดไว้แน่นอน ผมจำไม่ได้ว่าเท่าใด (คิดว่า -53 องศา) และจะต้องกี่วันด้วย (จำนวนวันนี้นึกไม่ออกจริงๆ) การแช่แข็งในอุณหภูมิและในระยะเวลที่กำหนดจะทำให้เชื้อโรคต่างๆตายสนิท แล้วยังเป็นการบ่ม (Marinate) ด้วยของเหลวในเนื้อปลาเอง ทำให้เนื้อปลามี texture และรสชาติที่ดีมากขึ้นด้วย

คำแนะนำขององค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา ในกรณีที่จะต้องกินปลาทะเล ถ้าจะทำกึ่งสุก เช่นลวก ควรทำที่อุณหภูมิอย่างน้อย ๖๐ องศาเซลเซียส อย่างน้อย ๕ นาที แต่ถ้าต้องกินปลาดิบ เนื้อปลานั้นควรจะได้รับการเก็บในอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง คือต่ำกว่า - ๓๕ องศาเซลเซียส อย่างน้อย ๑๕ ชั่วโมง หรือต่ำกว่า - ๒๐ องศาเซลเซียส อย่างน้อย ๗ วัน

ข้อมูลนี้มีอยู่ในลิ้งก์ที่อ้างไว้ข้างบน

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 04 เม.ย. 12, 15:52

ขอบคุณ คุณเพ็ญชมพู และคุณตั้งสำหรับคำตอบค่ะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 04 เม.ย. 12, 16:26

อาหารป่าของคุณตั้ง มีผัก ปลา และสัตว์เล็กๆยืนพื้น    นอกจากนั้นก็ผลไม้ป่า
นึกได้อีกอย่างคือเห็ด    ไม่ทราบว่าในป่ามีเห็ดอะไรบ้าง
เวลานักธรณีวิทยาเข้าป่า   เก็บเห็ดมากินกันสดๆ หรือปรุงให้สุกบ้างหรือเปล่าคะ

เห็ดในป่านั้น ผมไม่นิยมเก็บมากิน แม้ว่าชาวบ้านจะบอกว่ากินได้ ผมไม่ได้ค้นคว้าศึกษามากพอที่จะจำแนกเห็ดที่อันตรายออกไปด้วยตนเองได้ อีกประการหนึ่ง สารพิษบางอย่างในเห็ดจะสะสมอยู่ในร่างกาย เมื่อถึงระดับหนึ่งก็จะทำอันตรายได้ถึงชีวิต (เคยทราบว่าเห็ดบางชนิดในยุโรป กินได้สองครั้งในชีวิตเท่านั้น ครั้งที่สามคือตาย)

เห็ดที่ผมเก็บกินมีอยู่ สองชนิดเท่านั้น คือเห็ดลมหรือเห็ดกระด้าง ขึ้นอยู่ตามขอนไม้ หากแก่จัดๆก็จะเหนียวเหมือนเคี้ยวเชือกหนังยังไงยังงั้น เห็ดอีกอย่าง ก็คือเห็ดโคน ซึ่งสังเกตได้ง่าย เกิดอยู่เป็นวงขนาดประมาณ 1 เมตร เมื่อเห็ดโคนบาน จะมีนกกะรางหัวหงอก เป็นฝูงเล็กๆบินลงไปคลุกตีหมวกเห็ดให้แหลก ร้องกันเจี๊ยวจ๊าวดังลั่นไปหมด ผมก็ไม่ทราบว่ามันโกรธเคืองกันมาตั้งแต่เมื่อใด   ซึ่งแม้กระนั้นก็ตาม ผมก็จะไม่เป็นคนแรกที่ตักเห็ดที่ต้มแล้วหรือผัดแล้วมากิน จะดูก่อนว่า คนแรกที่กินจะมีอาการเมาใหม สักพักหนึ่งเมื่อคะเนดูว่าน่าจะปลอดภัยดีแล้วจึงจะกิน หรือไม่ก็ข้ามไปอีกมื้อหนึ่งเลย

เห็ดลมไม่ได้มีความอร่อยอะไรเป็นพิเศษ มักนำมาเป็นเครื่องปรุงในลักษณะเพิ่มปริมาณอาหารในส่วนที่เป็นเนื้อเพื่อการขบเคี้ยวครับ ส่วนเห็ดโคนนั้น นำมาต้มจืดหรือต้มยำดูจะเหมาะสมที่สุด แม้ว่าจะสามารถนำมาผัดหรือยำได้ก็ตาม (กลัวเรื่องมีพิษครับ)

เห็ดในป่ามีอยู่มากมาย บางชนิดก็ขึ้นอยู่กับขอนไม้ที่ล้ม บางชนิดก็ขึ้นอยู่ตามโคนต้นไม้ บางชนิดก็โผล่มาจากดิน จะจำแนกว่าพวกที่ขึ้นแบบใหนกินได้หรือไม่ได้ก็ไม่มีกฏที่ชัดเจน  เห็ดบางอย่าง เช่น เห็ดร่างแห (มีตาข่ายคลุมดอกเห็ด) ก็ดูจะมีบางชนิดกินได้บางชนิดก็มีพิษ เห็ดตับเต่า เห็ดไข่ ผมก็เห็นว่ามันเหมือนๆกับเห็ดชนิดอื่นๆ ผมแยกไม่ออกว่าอะไรกินไม่ได้บ้าง เห็ดหูหนูก็มี แต่ภูมิปัญญาชาวบ้านบอกว่า เห็ดหูหนูนั้นหากขึ้นกับไม้มะกอกกินได้แน่ๆ หากขึ้นกับไม้สักห้ามกิน แล้วขึ้นกับไม้อื่นๆไม่บอก ไม้ล้มในป่ามันก็ผุทั้งนั้น แล้วเราก็ไม่เก่งฉกาดพอที่จะจำแนกได้ว่าเป็นต้นอะไร ก็เลยไม่เก็บกินครับ
 
การเก็บเห็ดในป่านั้นต่างกับที่เราเห็นชาวบ้านเขาเก็บมาขายกันครับ ประการแรก เห็ดมันเกิดอยู่ที่เดิมที่เคยพบ เคยนำมากินกันแล้วไม่มีพิษ และประการที่สอง ชาวบ้านเขาก็จะกลับไปเก็บที่เดิมทุกปี แล้วก็มักจะเป็นสถานที่ๆเก็บกินกันมาเป็นเวนานแล้ว แทบจะแบ่งแยกกันเลยว่าที่ใดเป็นของใคร แถมเก็บเป็นความลับอีกต่างหาก โดยเฉพาะในระดับชุมชน คือ ไม่ให้ชุมชนอื่นๆรู้    จึงเป็นการยากที่จะทราบว่า ที่บริเวณใดหรือสถานที่ใดในป่าลึกจริงๆนั้น เห็ดที่ขึ้นเป็นเห็ดที่กินได้หรือไม่ได้    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 04 เม.ย. 12, 19:01

เห็ดกระด้างหรือเห็ดลม    เห็ดร่างแห
เห็ดตับเต่า                 เห็ดไข่


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 04 เม.ย. 12, 19:01

เห็ดยอดนิยม--->  เห็ดโคน


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 04 เม.ย. 12, 19:16

ไปค้นเจอรูปเก่าๆครับ

นี่เป็นช้าง 2 ตัวที่ผมจ้างขนของในระหว่างเดินสำรวจในห้วยขาแข้ง
จะสังเกตเห็นรอยคราบน้ำที่ข้างตัวช้าง เป็นช่วงเวลาเช้ากำลังเก็บของย้ายแคมป์ เพื่อเดินต่อไป
จะสังเกตเห็นปี๊บใส่ของพวกเครื่องครัววางอยู่ ควาญช้างคนหนึ่งชื่อจำรูญ ต่อมาเป็นผู้ใหญ่บ้านนาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ อีกคนชื่อทุกกะโพ่
ทุกเช้าช้างจะต้องอาบน้ำลางฝุ่นล้างทรายออกจากผิวหนังให้สะอาด ก่อนที่จะใส่แหย่งเพื่อบรรทุกของ มิฉะนั้นทรายจะกัดผิวหนังเป็นแผล
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 04 เม.ย. 12, 19:17

เคยไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่รัก นับถือกัน ที่ตาก พอดีเป็นช่วงที่มีเห็ดโคนออกมาวางขาย

เธอเล่าให้ฟังว่าถ้าอากาศร้อนจัดๆติดต่อกันสัก 2-3 วันแล้วมีฝนลงมา จากนั้นไม่นาน

ก็จะมีเห็ดโคนมาวางขาย เธอชวนให้ไปหาซื้อมาทำอาหารทานกัน ...แค่การซื้อก็น่าสนใจแล้ว

เพราะชาวบ้านจะเสื่อมาปูแล้วเอาเห็ดโคนที่เก็บมาได้ดูใหม่ๆ มาวางบนใบตอง เป็นกองเล็กๆ

กองหนึ่งพอทำอาหารได้สักมื้อหนึ่ง แล้วขายกันเป็นกองๆ....ไม่ได้ชั่งน้ำหนักเป็นเรื่องเป็นราว

ฝ่ายคนซื้อก็จะสอบถามราคา ถูกแพงแล้วแต่ฤดูกาลว่าจะมีเห็ดมากน้อยแค่ไหน

ขนาดดอกเห็ดอวบอ้วน หรือผอมยาว ราคาก็ต่างกันไป  ถ้าแถวนี้ยังไม่น่าสนใจ

คนซื้อก็จะตระเวณไปที่อื่น และอาจมีเจ้าประจำกัน ...ตอนนั้นรู้สึกว่าการหาซื้อเห็ดโคนดูเป็น

มหกรรมที่คึกคักกันมาก ...ซึ่งคนกรุงเทพไม่เคยเห็นว่าเห็ดจะทำให้คนวิ่งพล่านไปหมดได้ไง

ราคาตอนนั้นก็ประมาณก.ก.ละ 400 บาททีเดียว

   ถามเธอว่าทำไมแพงอย่างนี้เธอก็เล่าคล้ายที่คุณตั้งเล่านั่นแหละค่ะว่า หายากต้องคนชำนาญจึงจะหาเจอ

คล้ายๆการล่าหาสมบัติในดิน ยังไงยังงั้นเชียวค่ะ

  ทุกปีเธอจะทำเห็ดโคนดองน้ำปลา   ให้ญาติที่มาธุระในก.ท.ม.นำมาให้ถึงบ้านตลอด 20 กว่าปี

....เป็นน้ำใจไมตรีที่ไม่เคยลืมเลยค่ะ






บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 04 เม.ย. 12, 19:27

ขอประทานโทษนะครับ ยังส่งไม่ไปจะลองใหม่ครับ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 19
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 19 คำสั่ง