เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 9020 ภาษาอเมริกันวันละคำ Pay Our Dues
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


 เมื่อ 26 ก.พ. 12, 19:12

Pay Our Dues
มีอะไรในโลกบ้างที่ได้มาง่าย ๆ

แอบได้ยินอเมริกันชนสองคนเค้าปรับทุกข์กันในสโมสรที่ฉันเป็นสมาชิกอยู่   จริงๆ แล้วไม่ได้ตั้งใจจะแอบฟัง  แต่เสียงของฝรั่งทั้งคู่นั้นดังพอที่จะปลุกคนหลับให้ตื่นได้    คนหนึ่งโอดครวญให้เพื่อนฟังว่างานหนักจนไม่มีเวลาออกกำลังกาย   เจ้านายก็มักจะเรียกร้องโน่นนี่เอาจากลูกน้องโดยไม่สนใจว่าจะเป็นวันหยุดหรือวันทำงาน    อีกคนเลยพยายามปลอบอกปลอบใจว่าให้ทนไปก่อน   ตอนนี้ยังอ่อนชั่วโมงบินอยู่ก็ต้องสะสมประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ    ไม่มีใครหรอกที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูง ๆ ได้โดยที่ไม่ต้องไต่เต้ามาจากตำแหน่งล่าง ๆ ในองค์กร

“We all have to pay our dues.”  เพื่อนว่า

การแอบฟังผู้อื่นสนทนาโดยมิได้ตั้งใจแบบนี้มันก็ดีไปอย่าง   เพราะทำให้สาวไทยอย่างฉันได้สำนวนในภาษาอังกฤษแบบอเมริกันมาฝากเพื่อน ๆ    นับเป็นข้ออ้างที่ดีสำหรับการสอดรู้สอดเห็นเรื่องชาวบ้าน ฮ่า ฮ่า  ฮ่า

To pay dues เป็นวลี (phrase) แปลตรงตัวว่า “จ่ายหนี้”    แต่เวลาที่อเมริกันชนเค้าใช้ในสำนวนด้วยการเติมสรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของ (my, your, our, his, her) ลงไปข้างหน้าคำว่า dues   มันจะหมายถึง “การอดทนทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง(ที่ไม่ง่าย) เป็นระยะเวลายาวนาน    หรือการอดทนต่ออุปสรรคต่าง ๆ ที่โถมเข้ามาในชีวิตตลอดชั่วระยะเวลาหนึ่ง    เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ดีกว่าในอนาคต”   
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 ก.พ. 12, 19:13

คำว่า dues นั้นเป็นได้ทั้งคำนามหรือคำคุณศัพท์(คำที่ขยายคำนามอื่นๆ)   ในกรณีที่เป็นคำนาม  คำนี้จะหมายถึงค่าธรรมเนียมรายปีหรือรายเดือนที่เราต้องจ่ายเพื่อรักษาสถานภาพใดสถานภาพหนึ่ง  เช่น annual dues หรือค่าธรรมเนียมรายปีที่เราต้องจ่ายสำหรับการเป็นสมาชิกสโมสรต่าง ๆ      ใครก็ตามที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน  หรือสหกรณ์ต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิก   ก็ต้องเจอกับ monthly dues ที่เขาหักออกจากเงินเดือนเราไปทุกเดือน    แต่ไม่ว่าจะเป็นรายเดือนหรือรายปี    สิ่งหนึ่งที่เราได้รับจากการจ่ายค่าธรรมเนียมเหล่านี้ก็คือสิทธิพิเศษที่ผู้อื่นไม่ได้ในกรณีที่เป็นการจ่ายเพื่อดำรงสถานภาพสมาชิกสโมสรหรือสหกรณ์ใดใด         หรือในกรณีที่เราเป็นพนักงานส่งเงินสมทบเข้าสหภาพ   เราก็จะได้รับการปกป้องผลประโยชน์ที่อาจจะเหนือกว่าประโยชน์พื้นฐานที่กฎหมายแรงงานคุ้มครอง     เพราะเรามีสหภาพเป็นตัวกลางต่อรองเจรจาให้ในกรณีที่เราต้องถูกให้ออกจากงานกลางคัน หรือนายจ้างปิดโรงงาน ฯลฯ   

ดังนั้น  การ pay (one’s) dues นี้จึงมีนัยแฝงอยู่ที่มากกว่าการจ่ายหนี้ (pay debt)  ธรรมดา ๆ  เพราะการ pay debt นั้นหมายถึงการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้   เมื่อเราจ่ายหนี้แล้วภาระผูกพันต่างๆ ที่เราเคยมีก็จะหมดสิ้นไป   แต่การ pay one’s dues  นั้นมีนัยแฝงอยู่ด้วยว่า  เมื่อจ่ายไปแล้วเราก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากลับคืนในภายหลัง       
       
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 ก.พ. 12, 19:14

คนที่ paid his/her dues in life หรือ “จ่ายค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ชีวิตจะเรียกร้องเอาจากเขาจนหมดแล้ว”  คือคนที่สามารถนั่งกระดิกเท้าอยู่เฉย ๆ  ไม่ต้องคิดมากกับเรื่องอะไรอีก   อเมริกันชนที่คิดอย่างนี้โดยมากมักจะเป็นผู้ชราซึ่งอยู่ในวัยที่ไม่ต้องสนใจอีกต่อไปแล้วว่าใครจะคิดยังไงกับเขา   

คนอ่านคงพอจะนึกภาพออกใช่ไหมคะ    สมัยเรายังหนุ่มยังสาวเราก็ต้องพยายามตามใจคนโน้นคนนี้อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข   มีแฟนก็ต้องตามใจแฟน   มีลูกก็ต้องทำแต่สิ่งดี ๆ เพื่อลูก  พอแก่ตัวลงลูกเต้าโตกันหมด  เราเองก็ทำงานหนักมาทั้งชีวิตจนปลดเกษียณ    เมื่อเกษียณแล้วก็เลยคิดว่าต่อไปนี้กรูจะขอตามใจตัวเองบ้างล่ะ  ใครอย่ามาบอกเชียวนะว่าทำไม่ได้    ”I already paid my dues in life. Now I’m going to do what I want for myself and I don’t care what you say.”   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 ก.พ. 12, 19:21

ขอต้อนรับคุณปัญจมาค่ะ

ปกติคุณปัญจมาประจำอยู่ในอีกเว็บหนึ่ง   สนทนาวิสาสะกับดิฉันมานานหลายปีแล้ว     เธอเป็นคนมีความรู้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันดีมาก ๆ  ทุกวันนี้ก็ทำงานที่ต้องใช้ภาษานี้ตลอด
ดิฉันเห็นเธอเล่าใน FB สนุกและมีสาระน่าสนใจ  ก็เลยชวนให้มาเล่าสู่กันฟังในเรือนไทย   เพราะหาอ่านได้ยาก  และยังไม่มีใครทำมาก่อน   คิดว่าหลายท่านในที่นี้ที่สนใจด้านภาษา อยากจะถามหรือแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกับเธอ  คุณปัญจมาก็คงเต็มใจและยินดีตอบค่ะ


บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 ก.พ. 12, 19:23

สมัยเด็ก ๆ  พ่อของฉันเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งสำหรับการ pay dues ที่ว่า    เพราะท่านอดทนทำงานทุกประเภทมาหมดกว่าจะขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการกองที่การประปาส่วนภูมิภาคได้    (ไม่นับการที่ต้องตื่นไปทำงานตั้งแต่ตีสี่ทุกวัน  เพราะบ้านอยู่นครปฐมแต่ออฟฟิศอยู่หลักสี่ ดอนเมือง ในสมัยที่ยังไม่มีทางด่วนหรือโทลล์เวย์เสียด้วย)      ลูกทุกคน  (ยกเว้นน้องชายคนเล็ก)  จึงเติบโตมาด้วยความเชื่อที่ว่าเราต้องลำบากก่อนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้   เวลาไปเริ่มงานที่ไหน    ฉันจึงไม่เคยปฏิเสธที่จะเรียนรู้งานตั้งแต่ระดับล่างสุดขององค์กรขึ้นไป     

สมัยฉันเริ่มทำงานในสายข่าวใหม่ ๆ    ฉันเคยเป็นเด็กห้องมืดและผู้ช่วยช่างภาพที่สำนักข่าวฝรั่งเศสชื่อ AFP   หน้าที่หลักคือการเป็นเบ๊ให้กับช่างภาพและผู้สื่อข่าว   สมัยนั้นยังไม่มีกล้องถ่ายรูปดิจิตอล   พอใครไปถ่ายรูปมา  เบ๊อย่างฉันก็มีหน้าที่ล้างฟิล์มในห้องมืด  ล้างเสร็จแล้วก็อัดรูปขนาด 8 คูณ 10  ออกมาเพื่อเอาเข้าเครื่องส่ง (transmitter) ที่กว่าจะส่งได้แต่ละรูปต้องใช้เวลาประมาณ 15 นาที   เวลาส่งมันก็หมุนไปรอบ ๆ ตัวเองพร้อมกับส่งเสียงวื้ด ๆ  ยังกะดนตรีประกอบหนังผี   ถ้ามีข่าวด่วนอะไรที่ต้องอาศัยคนไทยหาข้อมูล  ก็เบ๊คนเดิมนี่แหละที่ต้องโทรศัพท์ไปขอข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง   ตำรวจบ้าง   เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศบ้าง   หนังสือพิมพ์ไทยบ้าง     วันไหนตึกถล่ม   รถไฟชนกัน  นักข่าวไม่พอเขาก็ส่งเบ๊ไปหาข่าว ณ สถานที่เกิดเหตุแทน   สากกะเบือยันเรือรบจริง ๆ ค่ะ   
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 ก.พ. 12, 19:24

พอเริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวบ้าง     บ.ก. ก็มักจะส่งฉันไปทำข่าวจิ๊บ ๆ จ๊อย ๆ อะไรก็ตามที่นักข่าวซึ่งอาวุโสกว่าเค้าไม่ยอมไปทำ    กว่าจะมีชั่วโมงบินมากพอที่จะทำข่าวของตัวเองได้  หรือสามารถเถียงประเด็นข่าวกับบ.ก.ได้โดยที่ไม่โดนเค้าด่าก็หลายปีอยู่      เพราะฉะนั้น  วันที่ฉันก้าวขึ้นไปเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal  ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่วงการสื่อสารมวลชนฝรั่งเขาจัดว่าดีที่สุดฉบับหนึ่งของโลก    ฉันจึงบอกใคร ๆ ได้อย่างเต็มปากว่า “I paid my dues!”    ดิชั้นไม่ได้ลืมตาตื่นมาแล้วได้งานนี้เลยนะเจ้าคะ   ต้องลำบากลำบนอยู่หลายปีทีเดียวกว่าจะมาถึงตรงนี้ได้  
      
สังคมไทยสมัยนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยที่ฉันเป็นเด็กอยู่มาก     เด็กไทยในปัจจุบันคงมีน้อยคนที่จะเชื่อว่าเขาต้อง pay his or her dues ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้    เท่าที่เห็นส่วนมากมักจะเติบโตมากับความคาดหวังที่มาจากพื้นฐานของความเชื่อที่ว่าสังคมเป็นหนี้เขาอยู่ทั้งสิ้น        ตอนทำงานอยู่ธนาคารโลก  ฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงในภาคเอกชนมากมายในระหว่างที่ธนาคารกำลังเตรียมนำรายงานสรุปการสำรวจบรรยากาศการลงทุนไทยออกมาเผยแพร่      หลายคนก็แอบบ่นให้ฟังว่าเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยจะมานะอุตสาหะหรือมีความอดทนที่จะทำงานหนักเพื่อให้ตัวเองได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่ดีจากการทำงานสำหรับไต่เต้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งสูง ๆ ในอนาคตสักเท่าไหร่      ส่วนใหญ่พอจบมาแล้วก็มักจะคาดหวังที่จะได้งานเบา ๆ เงินเดือนเยอะ ๆ  กันทั้งนั้น  ทั้ง ๆ ที่ประสบการณ์และความรู้ของตัวเองก็มีอยู่น้อยนิด

....สุภาษิตไทยที่ว่า “เอาหลังตากแดดเป็นนิจคิดคำนวณ  รู้ถี่ถ้วนจึงสบายเมื่อปลายมือ”  มันคงเชยไปแล้ว....
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 ก.พ. 12, 20:27

กราบขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูอีกครั้งค่ะที่ให้โอกาส    อาจารย์มีพระคุณต่อดิฉันมาก  เพราะท่านคอยสนับสนุนให้คนรักการเขียนแต่มีทักษะน้อยอย่างดิฉันได้มีเวทีใหม่ ๆ สำหรับฝึกฝนฝีมือของตัวเองอยู่ตลอดเวลา    และกรุณาตรวจทานต้นฉบับให้อย่างสม่ำเสมอมิได้รังเกียจรังงอน  แม้ในขณะที่ท่านเองก็มีงานล้นมือ   

ดิฉันหวังเพีัยงว่า  ผู้อ่านคงจะได้ความรู้ใหม่ ๆ ที่สามารถเอาไปใช้ได้บ้างในชีวิตจริง     เพราะจากประสบการณ์ของตัวเองทำให้ตระหนักว่า  วิธีเรียนภาษาให้ได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการเริ่มด้วยการทำความเข้าใจก่อนว่าภาษานั้นมิใช่แค่เครื่องมือในการสื่อสาร  หากเป็นแขนงหนึ่งของวัฒนธรรมของประเทศเจ้าของภาษาอีกด้วย     การทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์  มุมมอง  และความรู้สึกนึกคิดของเจ้าของภาษานั้น ๆ ให้ได้อย่างถ่องแท้  อาจจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจภาษาของเขาได้ดียิ่งขึ้น   ทำให้การนำภาษานั้นมาใช้ในชีวิตประจำวันอาจจะง่ายขึ้นกว่าการท่องจำกฎหรือไวยากรณ์แต่เพียงอย่างเดียว

หากมีข้อผิดพลาดประการใดดิฉันขอน้อมรับไว้แต่้เพียงผู้เดียวค่ะ           
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 07:14

ขอต้อนรับอาจารย์ด้วยคำถามในฐานะผู้ใช้ประโยชน์จากเวปนี้ครับ

"in due course" ภาษาของทนาย ซึ่งหมายความว่า (เมื่อเวลามาถึง)ในเวลาใดเวลาหนึ่งข้างหน้านั้น
dueตัวนี้เป็นตัวเดียวกับduesที่อาจารย์เอ่ยข้างบนหรือเปล่า แล้วมันมีที่มาที่ไปอย่างไรจึงกลายมาเป็น idiom ดังกล่าวได้

ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 10:27

         กระทู้ "ถูกใจ กดไลค์ ให้กิฟท์" ครับ และ ร่วมสมทบคำถามความเห็นคุณ NAVARAT C ครับ

       
อ้างถึง
Sometimes people carry to such perfection the mask they have assumed
that in due course they actually become the person they seem.

W. Somerset Maugham (1874 - 1965), The Moon and Sixpence

โปสเตอร์หนังปี 1942



บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 15:13

ขอบคุณคุณ Navarat และคุณ Sila ที่ถามมาค่ะ  แต่ขอความกรุณาว่าอย่าเรียกอาจารย์เลยนะคะ  เพื่อความเป็นกันเองเรียกชื่อก็พอค่ะ   จะได้ไม่เกร็ง

อย่างที่เรียนไปแล้วว่า due เป็นได้ทั้งคำนามและคำคุณศัพท์ในคำเดียวกัน   ถ้าเป็นคุณศัพท์  คำนี้จะหมายถึง “ซึ่งถึงกำหนดชำระ” หรือ “ครบกำหนด”  ตัวอย่างเช่น due date  ซึ่งเมื่อใช้กับการตั้งครรภ์  ก็หมายถึงวันที่แพทย์คาดว่าจะครบกำหนดคลอด  (แต่ถ้าใช้กับหนี้หรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็หมายถึงวันครบกำหนดชำระนั่นเอง)  due payment หมายถึงจำนวนเงินที่ต้องชำระ   พนักงานคนไหนเพิ่งจะได้รับการปรับเงินเดือนเลื่อนขั้นทั้ง ๆ ที่ได้ทำงานอย่างขยันขันแข็งมาเนิ่นนาน  ก็อาจจะบอกกับเพื่อน ๆ อย่างน้อยอกน้อยใจว่า “My promotion is long over due” (กว่าจะได้เลื่อนตำแหน่งก็รอแล้วรอเล่าเฝ้าแต่รอ...อะไรทำนองนั้น)     

นอกจากนี้ due ก็ยังหมายถึง “ตามสมควร” หรือ “พึงจะได้รับ” อีกด้วย (เช่น “Give him his due respect” หมายถึง “ให้ความเคารพแก่เขาตามความเหมาะสม หรือตามสิทธิที่เขาพึงจะได้” )      ส่วน in due course นั้นเป็นสำนวนที่แปลว่า “ณ เวลาที่เหมาะสม” ค่ะ    จริง ๆ แล้วเห็นฝรั่งเขาใช้กันทั่วไป   มิใช่แค่ในภาษากฎหมายเท่านั้น   ตัวอย่างเช่นคุณ Navarat ไปสอบคัดเลือกเข้ารับตำแหน่งงานที่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง  พอสอบสัมภาษณ์เสร็จ  คนที่สัมภาษณ์คุณ Navarat ก็อาจจะแจ้งว่า  “ยังมีผู้สมัครอีก 3-4 คนที่เราต้องสัมภาษณ์  เมื่อเราเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์และตัดสินใจเลือกผู้สมัครคนไหนแล้ว  เราก็จะส่งข่าวไปให้ทุกคนได้รับทราบ in due course.”    จะเห็นได้ว่านัยที่แฝงอยู่กับการใช้สำนวน in due course ก็คือ “สิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้น  มันจะเกิดขึ้นตามกาลเวลาของมัน”  หรือ “เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม  มันก็จะเกิดขึ้น”   

ตัวอย่างจากภาพยนตร์ที่คุณ Sila ยกมานั้น  แสดงให้เห็นถึงความหมายอีกอย่างหนึ่งของ in due course  ค่ะ    ต้องขอบคุณคุณ Sila มากที่เข้ามาเตือน  ไม่งั้นดิฉันเองก็อาจจะลืมได้   

สมัยยังเป็นผู้สื่อข่าว  มีพรรคการเมืองใหม่พรรคหนึ่งที่ใช้สโลแกนหาเสียงว่า “เอาน้ำดีมาไล่น้ำเสีย”  เพราะเขาเชื่อว่าผู้นำและสมาชิกหลัก ๆ ของพรรคมีคุณธรรมความดีโดดเด่นกว่านักการเมืองอื่น ๆ ที่มีอยู่ในตลาดขณะนั้นมาก   ไป ๆ มา ๆ  เขาก็เชื่อว่าพวกเขาเป็น “น้ำดี” จริงๆ   แม้พวกเราที่ติดตามรายงานข่าวพวกเขาอยู่ตลอดเวลาจะมีโอกาสได้รับรู้พฤติกรรมต่าง ๆ ที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาบอกว่าเขาเป็นก็ตาม  In due course, they actually think that they are who they said they are.  “เมื่อเวลาผ่านไป  เขาก็เชื่อว่าเขาเป็นในสิ่งที่เขาพร่ำบอกแก่ผู้อื่นว่าเขาเป็นจริงๆ”
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 27 ก.พ. 12, 20:56

แจ่มแจ้งครับ

ขอบคุณมากครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 28 ก.พ. 12, 05:49

อ้างถึง
ขอบคุณคุณ Navarat และคุณ Sila ที่ถามมาค่ะ  แต่ขอความกรุณาว่าอย่าเรียกอาจารย์เลยนะคะ  เพื่อความเป็นกันเองเรียกชื่อก็พอค่ะ   จะได้ไม่เกร็ง

อ้อ มันเป็นธรรมเนียมของที่นี่น่ะครับ พอเขียนอะไรไปสักพักท่านก็จะยกให้เป็นอาจารย์บ้าง กูรูบ้าง ผมโดนเข้าไปเหมือนกัน ขอร้องไม่ให้เรียกเพราะเกรงใจครูบาอาจารย์ตัวจริง พวกท่านก็ทำเฉยเสีย สักพักอาจารย์ก็จะชินไปเองเหมือนกัน ฮิ ฮิ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 19 คำสั่ง