
ย้อนมาถึงภาพช้างศึก โดยความเห็นส่วนตัว คิดว่าช้างออกศึกกับช้างเข้าขบวนแห่ในพระราชพิธี ใช้สัปคับไม่เหมือนกัน
ช้างศึกต้องการความคล่องตัวสนามรบ สมควรแบกน้ำหนักไว้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจะได้เปรียบ เพราะคนสามคนบนหลังช้าง น้ำหนักรวมกันอย่างน้อยที่สุดก็ 150 ก.ก. เข้าไปแล้ว ยังไม่รวมอาวุธหนักซึ่งแต่ละอย่างก็หนักหลายกิโลกันทั้งนั้น อาจจะแบกแล้วรวม 200 ก.ก. น้ำหนักอะไรที่เพิ่มเข้ามาโดยไม่จำเป็นจึงทำให้ช้างอุ้ยอ้ายเสียเปรียบฝ่ายตรงข้ามง่าย
ดังนั้น สัปคับที่มีจะต้องมีน้ำหนักเบา และเตี้ย เพื่อคนนั่งจะได้ไม่โงนเงน หากชนช้างกับศัตรู ช้างงัดกันขาหน้าลอยขึ้นมา สัปคับขนาดสูงก็จะเทกระจาดทั้งนายกลางช้าง แพนหางนกยูง และอาวุธสารพัดชนิดลงไปบนพื้นดินโดยง่าย สัปคับบนหลังช้างศึกจึงไม่ควรเป็นไม้ปิดทองล่องชาดขนาดหนัก ปักฉัตรเก้าชั้นบวกน้ำหนักเพิ่มเข้าไปอีกโดยไม่จำเป็น
บางทีสัปคับอาจใช้วัสดุเบา ทำง่ายๆเช่นหวายสานเรียบๆ ผูกติดหลังช้าง เลยไม่เหลือรอดมาให้เห็น เพราะยุทธหัตถีก็จบลงตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร มาถึงปลายอยุธยา ตอนอลองพญาเข้ามา ไทยก็ยิงเอาๆจากกำแพงเมือง ไม่ออกไปสู้บนหลังช้างกันตัวต่อตัวอยู่แล้ว
แต่ถ้าเสด็จประพาสที่ไหนในยามสงบ หรือในพระราชพิธี สัปคับหรูหราอลังการก็ย่อมเป็นเรื่องสมพระเกียรติ ถูกต้องตามกาลเทศะค่ะ
จึงคิดว่าสัปคับที่สร้างกันให้เห็นในสมัยรัตนโกสินทร์ น่าจะเป็นสัปคับยามสงบ มากกว่าสัปคับยามศึก ค่ะ