เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 31802 รบกวนถามเรื่องการให้สัญญาณของตำแหน่งกลางช้างหน่อยครับ
octavian
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


 เมื่อ 22 ก.พ. 12, 22:21



     ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า การต่อสู้กันด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นวิธีการรบอย่างกษัตริย์ในสมัยโบราณ เช่น พระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชา เป็นต้น
      บนหลังช้างจะมีคนนั่งอยู่สามคน ตัวแม่ทัพจะถือง้าวอยู่ที่คอช้าง คนที่นั่งกลางอยู่บนกูบจะถือหางนกยูงซ้ายขวาโบกเป็นสัญญาณ และคอยส่งอาวุธให้แม่ทัพ (ทราบว่า จะสับเปลี่ยนที่นั่งกัน ตอนกระทำการรบเท่านั้น) ที่ท้ายช้างจะมีควาญนั่งประจำที่ ตามเท้าช้างทั้งสี่มีพลประจำเรียกว่า จตุรงคบาท คนทั้งหมดจะถืออาวุธ เช่น ปืนปลายขอ หอกซัด ของ้าว ขอเกราะเขน แพน ถ้าเป็นช้างยุทธหัตถ ีจะมีหอกผูกผ้าสีแดงสองเล่ม ปืนใหญ่หันปากออกข้างขวาหนึ่งกระบอก ข้างซ้ายหนึ่งกระบอก มีนายทหารและพลทหารสวมเกราะ โพกผ้า ช้างที่เข้ากระบวนทัพจะสวมเกราะใส่เกือกหรือรองเท้าเหล็กสำหรับกันขวากหนาม โดยทั้งที่สี่เท้าสวมหน้าราห์ มีปลอกเหล็กสวมงาทั้งคู่ และมีเกราะโว่พันงวงช้าง สำหรับพังหอค่าย โดยไม่เจ็บปวด


เรียนถามว่า เค้าโบกสัญญาณกันยังไงครับ ท่าไหนหมายถึง รุก หรือ ถอย ยังไงบ้างครับ

ขอบพระคุณมากครับ

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 23 ก.พ. 12, 08:24

อ้างถึง
เรียนถามว่า เค้าโบกสัญญาณกันยังไงครับ ท่าไหนหมายถึง รุก หรือ ถอย ยังไงบ้างครับ

คำถามนี้ถ้าตั้งใจจะเอาคำตอบแบบเดียวกับตารางข้างล่าง คงไม่มีใครสามารถค้นตำราพิชัยสงครามของไทยที่ระบุถึงรายละเอียดนี้มาได้แล้วกระมัง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 ก.พ. 12, 08:27

แต่ถ้าให้เดาจากการเห็น(ของจริง) การให้สัญญาณในการเคลื่อนขบวนพยุหยาตราโดยชลมารค ก็น่าจะเดาได้ไม่ยากว่า เขาต้องการให้ด้านโน้นเร่งๆหน่อย ด้านนี้ช้าๆหน่อย เอ้าเตรียมเดินหน้า เตรียมหยุด หยุด จอดเทียบท่า เป็นต้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 23 ก.พ. 12, 08:41

การแสดงยุทธหัตถีทั้งหลายก็มีตัวแสดงโบกสัญญาณหางนกยูงนี้อยู่บนหลังช้างเหมือนกัน ดูแล้วก็แปลไม่ยากๆว่าเป็นสัญญาณให้เคลื่อนไปข้างหน้า หยุดประเดี๋ยว บุกประจันบาน เป็นต้น  ตอนถอยไม่มี เพราะช้างฉวยโอกาสแสดงก่อนแล้วด้วยการกลับหลังหันวิ่งหนี คนโบก(ถ้ายังไม่ตาย)ก็รีบโบกไปข้างหน้าอย่างรัวไม่หยุด แปลว่า วิ่งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้เวัยเฮ้ย

ถึงอาจจะมั่ว ไม่ได้เอามาจากตำราดั้งเดิมจริง แต่สัญญาณเหล่านี้ก็เข้าใจง่ายดีครับ


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 23 ก.พ. 12, 10:48



       นึกถึงกระทู้ "กะหลั่น"   ของคุณ ชัย   ที่ตามอ่านอย่างเมามันหลายปีก่อน  (ขออภัยต้องแก้เป็นซับมันถึงจะถูกต้อง)

ตำราโบราณนั้นโดยทั่วไปก็หายากอยู่แล้ว   ยิ่งตำราขี่ช้าง ๑๒ ประเภท   ยิ่งสุดที่จะหา

ท่านผู้ใหญ่หวงแหน  จัดระดับความลับสูงสุด    จัดทำไว้แค่สองเล่ม  เป็นตำราข้างพระแท่น  และสำหรับสมุหพระคชบาล

ครูช้างและขุนช้างเท่านั้น      ผู้เรียนก็ได้เพียงจดจำและซักถามผู้รู้   จะคัดลอกตำราไม่ได้เด็ดขาด


       ถ้าหา  หนังสืออนุสรณ์ นางตลับ  ไม้เกตุ  เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๕  เรื่องตำราขี่ช้างครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑

ได้   อาจจะมีข้อมูลเพิ่มเติม


       สหายปัญญาประกายไฟแถวนี้  เคยถามดิฉันว่า  กลางช้างจะส่งอาวุธด้วยมือไหน

       ตอบได้ว่า  มือซ้าย  เพราะธรรมดา  ผู้รับอาวุธ  รับด้วยมือขวา


รายละเอียดอ่านได้จาก  "ช้าง  ราชพาหนะ"   เทอญ




เกราะโว่  ไม่มีค่ะ   มีแต่เกราะโซ่  เป็นการพิมพ์พลาดเล็กน้อยเท่านั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 23 ก.พ. 12, 11:19

^
ถ้าท่านข้างบนตอบอย่างนี้ แปลว่าว่าไม่ต้องหาครับ
บันทึกการเข้า
octavian
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 23 ก.พ. 12, 14:05

ขอบคุณครับ ยังไงจะพยายามหาต่อไป ยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 23 ก.พ. 12, 15:41

ดีครับ

ฝากหาด้วยว่า เวลาเข้ากระทำยุทธหัตถีกันจริงๆนั้น กลางช้างนั่งอยู่บนสัปคับคชาธาร หรือจะมีการปลดออกไปก่อนเพื่อลดภาระแก่ช้าง
ดิดดูว่า ถ้าช้างต้องแบกอะไรหนักๆ มีทั้งสรรพอาวุธแถมมีพระมหาเศวตฉัตรอย่างในรูป แถมคนอีก๓ ถึงจะแข็งแรงอย่างไรถ้าอีกฝ่ายหนึ่งเขาเบากว่า คล่องตัวกว่า ผู้เสียเปรียบนอกจากช้างแล้วก็คนที่นั่งบนคอช้างนั่นแหละ จะพลอยพ่ายแพ้ถึงแก่ชีวิตไปด้วย

ในอดีต เจ้านายสองพระองค์ยังทรงแลกเปลี่ยนทัศนะกันถึงเรื่องนี้ ซึ่งถ้ามีหลักฐานบันทึกไว้อย่างมีกิจลักษณะแล้ว คงจะไม่รอดพ้นสายพระเนตรท่าน โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงมีลายพระหัตถ์เมื่อวันที่๑๓ พฤษภาคม ๒๔๘๐ ทูลสมเด็จกรมพระยานริศฯ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

"....เรื่องเครื่องคชาธารปักฉัตรนั้น มิใช่สำหรับขี่ชนช้างเป็นแน่ แต่พิเคราะห์ดูน่าจะมีสำหรับใช้ทางอื่น เพราะเศวตฉัตรกับคนโบกแพนมีเป็นสำคัญก็ 'ฉัตร' เป็นเครื่องหมายของตัวนายทัพ และ 'แพน' เป็นเครื่องสำหรับส่งคำสั่งนายทัพไปได้สุดสายตา ของ ๒ อย่างนี้มีประโยชน์ประกอบกัน ถ้าอยู่สูงให้คนเห็นไปได้ไกล ก็ยิ่งมีประโยชน์ เปรียบเหมือนเวลากองทัพ ๒ ฝ่ายตั้งประชันกันในท้องทุ่ง ถ้าแม่ทัพผู้อำนวยการรบขี่ช้างอยู่ข้างหลังและมีคนโบกแพนอยู่ด้วย ก็อาจจะแลเห็นและอาจจะสั่งกระบวนรบได้สะดวก และจำต้องมีฉัตรสำหรับตัวอยู่ด้วย พวกนายทัพนายกองจึงจะรู้ว่าจะคอยดูสัญญาณที่ตรงไหน ดูเป็นประโยชน์อย่างว่ามานี้ หม่อมฉันจึงเห็นว่าจะเป็นของมีจริง แม่ทัพสามัญอาจจะใช้สัปคับช้างเขนก็ได้ หรือช้างใดๆ ที่มีสัปคับก็ได้ และคงมีพระคชาธารสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงเวลาบัญชาการรบ เช่นว่าที่มาทำให้เป็นรูปร่างอย่างมีอยู่บัดนี้น่าจะเป็นของคิดทำเพื่อประดับพระเกียรติยศ...."

สมเด็จกรมพระยานริศฯ ทรงมีลายพระหัตถ์ตอบตามจดหมายลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๘๐

"......ทีนี้จะกราบทูลความเห็นเรื่องพระคชาธาร ฉัตรก็คือร่ม เจ้าร่มขาวหลวงพระบาง ร่มเป็นเครื่องประจำยศ พร้อมด้วยบังสูรย์พัดโบก ยศน้อยลงก็ลดลงเป็นชั้นๆ ฉัตรหลังพระคชาธาร แม้ถูกชนปังเดียวก็จะต้องหักสะบั้นลงมาเป็นแน่ เศวตฉัตรจะเป็นร่มขาว ซึ่งพนักงานเดินดินจะเชิญเอางานถวายพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งประทับอยู่เหนือคอช้างจะได้หรือไม่ เห็นจะไม่สูงกว่าประทับพระที่นั่งพุดตานในการแห่พยุหยาตราไปมากนัก อนึ่งคนกลางช้างที่นั่งบนหลังช้างเปล่าไม่ได้นั่งสัปคับแบบแผนก็มี แม้ช้างพระที่นั่งกลางช้างจะนั่งบนหลังเปล่าคอยส่งพระแสงถวายผลัดเปลี่ยนในเวลาอันจำเป็น และรับสั่งให้สัญญาณหางนกยูง จะเป็นอันสำเร็จประโยชน์ได้หรือไม่ อาวุธอันจะพึงใช้ในการรบซึ่งจะนำไปบนหลังช้างจะเตรียมทำที่สอดใส่ไปอย่างไรก็ได้ ในตำราเพชรพวงก็มี สั่งชาวแสงให้เชิญพระแสงปืนพระแสงดาบไปสอดไปผูกไว้ข้างและหลังเบาะที่ประทับ (เหนือคอช้าง) นั้นเอง อีกประการหนึ่งเห็นรูปสัปคับรถซึ่งเขมรฉลักไว้ที่พระระเบียงพระนครวัดดูเตี้ยๆ พื้นสัปคับเห็นจะไล่เลี่ยกับกระดูกสันหลังช้าง คนรบที่ขี่ช้างทำเท้าหน้าเหยียบบนสัปคับเท้าหลังเหยียบอยู่ท้ายช้างก็มี สัปคับเตี้ยพอทำได้อย่างนั้น อีกอย่างหนึ่งเคยเห็นของลาว เจ้าพระยาสุรศักดิ์เอามาสานด้วยหวายทำเป็นสองซีก มีห่วงผูกติดกันเรียกว่า วอง ในนั้นไม่เห็นมีพื้น จะเอาแต่เบาะยัดลงไปหรืออย่างไรไม่ทราบ ถ้าผูกวองชนิดนั้นให้กลางช้างนั่งเห็นพอจะไปได้ไม่บังตาคนท้าย และแม้จะถูกชนสักทีสองทีก็เห็นจะมิพอเป็นไร แต่ถ้าพื้นตั้งบนหย่องขึ้นไปสูงโงนเงนอยู่บนหลังช้างแล้วปักเศวตฉัตร คนให้สัญญาณนั่งเปลอย่างเช่นเห็นอยู่ทุกวันนี้ ถูกชนโครมเดียวเป็นหกคะเมนม้วนต้วนลงมาหมดเป็นแน่แท้....."

แต่ความเห็นของทั้งสองพระองค์ คนรุ่นต่อมามิได้ใส่ใจ จะเห็นได้จากรูปปั้นอนุสาวรีย์ยุทธหัตถีต่างๆที่กรมศิลปากรสร้างขั้น ล้วนมีสัปคับคชาธารบนหลังช้างทั้งสิ้น

ดังนั้น ถ้าคุณOctavianสามารถค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องราวยุทธวิธีการรบบนหลังช้าง นอกจากสัญญาณหางนกยูง ก็คงจะได้เจอเรื่องที่สองสมเด็จท่านยังไม่เคยทอดพระเนตรเห็นอื่นๆอีกก็ได้

ขอให้โชคดีครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 23 ก.พ. 12, 16:08

เอาการแสดงยุทธหัตถีโดยมืออาชีพ ชนิดที่ไม่ใช่เปาะแปะโชว์มาให้ชมพอเห็นบรรยากาศ
 
เวลาพญาช้างสารเข้าประจันบานเอาเป็นเอาตายกันนั้น คนกับช้างตัวใครตัวมันนะคะร้าบ นั่งไม่ดีตกลงมาเจอคชบาทา ซึ่งศิริรวมทั้งหมด๘ข้าง ย่ำไปย่ำมาอยู่ตรงนั้นอีก ช้างไม่ขอรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพของผู้ใดทั้งสิ้น ขอบอก


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 23 ก.พ. 12, 20:53

ให้ข้อคิดเห็น ๒ ประการกับ อ.NAVARAT.C เกี่ยวกับเรื่องฉัตร

๑. อ.NAVARAT.C กล้านั่งภายใต้ฉัตรขาวไหม ? ตรงนี้เข้าใจว่าเมื่อช้างออกศึกอาจจะงอคันฉัตรลงไป หรือถอดพักไว้ ส่วนองค์กษัตริย์เลื่อนมาคอช้าง ต่อเมื่อเสร็จศึกแล้วจึงเปลี่ยนที่นั่งระหว่างกัน ครั้นแล้วจึงอัญเชิญเศวตรฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียรต่อไป

๒. หากไม่มีหนังสืองานศพ ก็ลองคิดดูว่า กูบช้างมีเครื่องปักคันฉัตรหรือไม่ ดังภาพประกอบเป็นโครงเหล็กไว้รองรับศาสตราวุธ และหากปักคันฉัตรแล้วต้องโยงลวดตรึงทั้งสี่มุมอีกด้วย เพื่อไม่ให้ฉัตรเกิดอาการแกว่ง ซึ่งอาจจะทำให้หักได้

ในส่วนตัวผมคิดว่าการรบหลังช้างมิควรนำฉัตรออกไปด้วย หากแต่เมื่อเสร็จศึกเปลี่ยนที่นั่งระหว่างกันแล้วจึงปักฉัตร


บันทึกการเข้า
จตุรงคบาท
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 23 ก.พ. 12, 21:16

ทั้งสามตำแหน่งต่างเอื้อกันและกัน ช้างที่ขึ้นระวางคู่บารมีกษัตริย์ ต่างถูกฝึกมาอย่างดี กลางช้างที่ส่งสัญญาณจะต้องส่งไปถึงท้ายช้างซึ่งหน้าที่ของท้ายช้างก็คือบังคับท้ายช้างให้เคลื่อนที่สมดุลย์กับกษัตริย์ผู้บังคับรบอยู่ส่วนเศียรของช้างศึก โดยมีกลางช้างส่งสัญญาณ เพราะฉะนั้นตำแหน่งกลางช้างจึงสำคัญมากๆในการศึกยุทธหัตถี คือต้องรู้นิสัยของช้างเชือกนั้นเป็นอย่างดี การเคลื่อนที่ของช้าง  บุคคลที่มีชื่อในประวัติศาสตร์ก็คือเจ้ารามราฆพกลางช้าง แห่งองค์สมเด็จพระนเรศ 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 23 ก.พ. 12, 22:05

อ้างถึง
๑. อ.NAVARAT.C กล้านั่งภายใต้ฉัตรขาวไหม ?
แค่คิด ก็มิบังอาจแล้วครับ
ผมเข้าใจดีอยู่แล้วครับ ผู้ที่นั่งภายใต้เศวตฉัตรก็คือพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น
อ้างถึง
ตรงนี้เข้าใจว่าเมื่อช้างออกศึกอาจจะงอคันฉัตรลงไป หรือถอดพักไว้ ส่วนองค์กษัตริย์เลื่อนมาคอช้าง ต่อเมื่อเสร็จศึกแล้วจึงเปลี่ยนที่นั่งระหว่างกัน ครั้นแล้วจึงอัญเชิญเศวตรฉัตรกางกั้นเหนือพระเศียรต่อไป

ผมก็ไม่ทราบว่าท่านจะทำกันดังที่คุณหนุ่มสยามว่าหรือเปล่า เหมือนที่สมเด็จฯทั้งสององค์ท่านก็มิทรงทราบนอกจากสันนิฐาน อย่าลืมว่ายุทธหัตถีครั้งสุดท้ายก็คือสมัยพระนเรศวรมหาราช คนสมัยปลายอยุธยาอาจจะได้เห็นกษัตริย์ทรงช้างพระที่นั่งบนพระราชอาสน์สัปคับที่มีเศวตฉัตร แต่มิใช่ในโอกาสที่เสด็จออกศึกสงคราม สมัยรัตนโกสินทร์ การเสด็จโดยช้างพระที่นั่งคงไม่มีแล้ว คนรุ่นหลังก็ใช้การสันนิฐานเอาทั้งนั้น
 
ในการรบบนหลังช้างนั้น จะงอฉัตรหรือถอดพักไว้(บนหลังช้าง?) น่าจะเกะกะเป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะเสด็จพร้อมเศวตฉัตร ผมยังคิดว่า สันนิฐานของสมเด็จกรมพระยานริศฯที่ทรงว่า คนข้างล่างเป็นผู้อัญเชิญ จะน่าเชื่อกว่า

ฉัตรก็คือร่ม เจ้าร่มขาวหลวงพระบาง ร่มเป็นเครื่องประจำยศ พร้อมด้วยบังสูรย์พัดโบก ยศน้อยลงก็ลดลงเป็นชั้นๆ ฉัตรหลังพระคชาธาร แม้ถูกชนปังเดียวก็จะต้องหักสะบั้นลงมาเป็นแน่ เศวตฉัตรจะเป็นร่มขาว ซึ่งพนักงานเดินดินจะเชิญเอางานถวายพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งประทับอยู่เหนือคอช้างจะได้หรือไม่ เห็นจะไม่สูงกว่าประทับพระที่นั่งพุดตานในการแห่พยุหยาตราไปมากนัก

อ้างถึง
๒. หากไม่มีหนังสืองานศพ
งานศพไหนครับ?
อ้างถึง
ก็ลองคิดดูว่า กูบช้างมีเครื่องปักคันฉัตรหรือไม่ ดังภาพประกอบเป็นโครงเหล็กไว้รองรับศาสตราวุธ และหากปักคันฉัตรแล้วต้องโยงลวดตรึงทั้งสี่มุมอีกด้วย เพื่อไม่ให้ฉัตรเกิดอาการแกว่ง ซึ่งอาจจะทำให้หักได้ ในส่วนตัวผมคิดว่าการรบหลังช้างมิควรนำฉัตรออกไปด้วย หากแต่เมื่อเสร็จศึกเปลี่ยนที่นั่งระหว่างกันแล้วจึงปักฉัตร

กรุณาย้อนอ่านข้างต้นครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 23 ก.พ. 12, 23:04

อ้างถึง
ให้ข้อคิดเห็น ๒ ประการกับ อ.NAVARAT.C เกี่ยวกับเรื่องฉัตร

๑. อ.NAVARAT.C กล้านั่งภายใต้ฉัตรขาวไหม ?

ภาพลายเส้นของฝรั่งนี้ มาจากภาพถ่ายในสมัยต้นรัชกาลที่๕ เป็นช้างทรงที่ผูกเครื่องออกศึก(ไม่ได้หมายความว่าจะกระทำยุทธหัตถี) เข้าใจว่าเอามาเดินอวดฝรั่ง

มีกลางช้างนั่งอยู่ภายใต้เศวตฉัตร
ไม่เข้าใจเหมือนกัน ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช จะมีคนกล้ากระทำเช่นนั้นได้
หรือจะเป็นธรรมเนียม ที่ทรงอนุญาตเฉพาะกลางช้างให้นั่งได้


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 23 ก.พ. 12, 23:24

สังเกตว่ารูปบนเป็นฉัตรเจ็ดชั้น.   รูปล่างดูไม่ถนัด อาจจะสี่ชั้น
มีความหมายอะไรบ้างไหมคะ
รูปที่ว่านี้เป็นการแต่งตัวช้างเอามาโชว์ให้ฝรั่งถ่ายรูปหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 24 ก.พ. 12, 07:01

ขอประทานโทษครับ ผมย้อนกลับไปดูบทความที่ลงภาพดังกล่าวประกอบ ระบุว่าตีพิมพ์ในพ.ศ. ๒๔๒๑ ซึ่งเป็นรัชสมัยของรัชกาลที่๕ แต่อ่านข้อความละเอียดแล้ว ผู้เขียนจะเขียนเรื่องที่ตนได้มากรุงเทพในสมัยรัชกาลที่๔ และไม่ได้เอ่ยที่มาที่ไปของภาพช้างทรงนี้โดยตรง
เข้าใจว่า ผู้เขียนน่าจะมากับคณะทูตอังกฤษคณะใดคณะหนึ่ง และเป็นไปได้ว่า มีการแต่งช้างศึกมาอวดแขก
ภาพทั้งสองภาพ ตีพิมพ์คนละที่ แต่เป็นภาพเหตุการณ์เดียวกัน  ช้างเชือกเดียวกัน ฉัตรที่เห็นก็องค์เดียวกัน ภาพที่เห็นเพียง๔ชั้นก็เพราะชั้นบนๆถ่ายหลุดเฟรมไป

ฉัตร๗ชั้น แสดงว่ามิใช่พระมหาเศวตฉัตร หรือนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งก็คือฉัตร ๙ ชั้น แต่เป็นสัปตปฎลมหาเศวตฉัตร หรือฉัตร ๗ ชั้นอันเป็นเครื่องประดับอิสริยยศชั้นอุปราช หรือเจ้าฟ้า หรือพระเจ้าแผ่นดินที่ยังไม่ได้พระบรมราชาภิเษก

สังเกตุกำแพงพระราชวังแล้ว เห็นเสาธงสูงขนาดนั้น น่าจะเป็นวังหน้า ช้างศึกนั้น น่าจะเป็นช้างทรงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ที่มาผูกอวดเซอร์จอห์น เบาวริ่งครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 19 คำสั่ง