เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 7907 อันเนื่องมาแต่วัดพระเชตุพนฯ - การตบแต่งแบบหมินหนาน (闽南)
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



 เมื่อ 22 ก.พ. 12, 09:11

มีผู้ถามข้าพเจ้าว่าการประดับตบแต่งของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามที่ใช้กระเบื้องในการประดับตบแต่งเป็นการประดับแบบจีนหรือไม่

คำตอบ คือ ใช่

หากถามต่อว่าลักษณะการตบแต่งดังกล่าวคือการตบแต่งแบบจีนตระกูลใด

คำตอบ คือ ขอใช้คำว่าสันนิษฐาน เผื่อว่าผิด แต่จากการตบแต่งที่ใช้กระเบื้องตัดเป็นชิ้นๆ และนำมาประกอบกันเป็นรูปร่างต่างๆ จะเป็นลักษณะการตบแต่งแบบหมินหนาน (闽南: min nan)

ดังนั้นไหนๆก็ไหนๆ วันนี้ข้าพเจ้าขอมาเล่าเรื่องการตบแต่งอาคารแบบหมินหนานให้ทุกท่านฟังละกัน

ภาพการประดับกระเบื้องในอาคารของวัดพระเชตุพนฯ




บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 09:38

ก่อนที่จะอธิบายเกี่ยวกับศิลปะแบบหมินหนาน ขออธิบายก่อนว่า "หมินหนานคืออะไร" ชาวหมินหนาน (闽南: min nan) คือ ชาวจีนกลุ่มหนึ่งมีเขตวัฒนธรรมอยู่ทางใต้ของจีน ซึ่งในชาวจีนกลุ่มนั้นก็แยกๆกันไปอีก เป็นจีนแต้จิ๋ว โน้นนั้นนี้ เอาเป็นว่าเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานของแถบฮกเกี้ยน และบางส่วนของกว่าตุ้ง ชาวแต้จิ๋วในไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมหมินหนาน

การตบแต่งแบบหมินหนานที่เด่นๆนั้นจะมี ๔ ประเภท ได้แก่ การตบแต่งโดยการประดับด้วยกระเบื้องตัด (剪贴:jian tie) การตบแต่งด้วยภาพเขียนสีบนลายปูนปั้น (彩绘: cai hui) การประดับตบแต่งด้วยปูนปั้น (泥塑:ni su)  และการตบแต่งด้วยไม้สลัก (木雕:mu diao)

แบบแรกที่ข้าพเจ้าจะนำมาเล่าสู่กันฟังคือ การตบแต่งโดยการประดับกระเบื้องตัด (剪贴:jian tie) ซึ่งเป็นประเด็นตั้งคำถามกันจากกระทู้ว่าด้วยวัดพระเชตุพนฯ

การประดับด้วยกระเบื้องตัด (剪贴:jian tie)

ชาวจีนหมินหนานนี้การประดับตบแต่งอาคารของเขาจะพิเศษมาก กล่าวคือ หรูหรามหาศาล องค์ประกอบอะไรต่ออะไรเยอะมากเมื่อเทียบกับทางเหนือ หนึ่งในลักษณะพิเศษคือ การตัดกระเบื้องแล้วเอามาแปะๆๆๆๆๆ เป็นรูปร่างต่างๆ

การประดับตบแต่งแบบหมินหนานว่าด้วยการตัดแปะกระเบื้องเป็นอย่างไร

การตัดแปะกระเบื้องนี้นึกภาพไม่ออกให้นึกถึงเอากระดาษมาตัดๆๆ แล้วก็แปะๆๆ แบบเด็กๆ แต่บังเอิญสิ่งที่ตัดเป็นกระเบื้อง ไม่ใช่กระดาษ และและเทนที่จะใช้กาวเป็นตัวยึดจะใช้ปูนแทน ปรกติการตบแต่งเช่นนี้นิยมประดับในส่วนสันหลังคาของอาคารประธาน ซุ้มหน้าต่างของระเบียง และซุ้มประตูของอาคารประธาน กล่าวคือ ส่วนที่มองแล้วจะงามสะดุดตาเป็นที่ยิ่ง และส่วนนั้นมีความสำคัญสักหน่อย จะนิยมประดับประดาลักษณะนี้ไว้

ปรกติแล้วลวดลายที่ใช้ประดับตัวอาคารจะแตกต่างกัน กล่าวคือ หากประดับบนสันหลังคาจะใช้ลวดลายดอกไม้ใบหญ้าอันเป็นมงคลประดับเป็นหลัก แต่หากเป็นส่วนซุ้มหน้าต่างของระเบียง และซุ้มประตูของอาคารประธานจะนิยมใช้ลวดลายเทพต่างๆ ปรกติแล้วที่นิยมที่สุดคือลายแปดเซียนข้ามทะเลย (八仙过海)

วิธีการประดับตบแต่งใช้การผูกเหล็กเส้นเป็นโครงรูปสิ่งที่ต้องการประดับ หลังจากนั้นใช้ปูนหุ้ม และสุดท้ายนำกระเบื้องที่ตัดมาแล้วค่อยๆประดับจนเป็นรูปร่าง

ทางเมืองจีนสันนิษฐานว่าส่งอิทธิพลมาให้ประเทศไทยด้วย ดังที่ปรากฎในวัดโพธิ์หรือวัดอรุณ

ภาพต่อไปคือการตบแต่งอาคารบริเวณหลังคา โดยการตัดกระเบื้องมาประดับ




บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 09:46

ภาพเขียนสีบนลายปูนปั้น (彩绘:cai hui)

ทางเหนืออาจมีการแกะสลักอิฐ ไม่ก็ทำกระเบื้องเป็นลายต่างๆเพื่อประดับอาคาร แต่ว่าทางใต้โดยเฉพาะแถบหมินหนาน อาจจะเป็นเพราะมีทรัพย์มากกว่า หรือมีรสนิยมหรูหราอลังการมากกว่า กระเบื้องก็ติดเยอะแล้ว ปูนปั้นธรรมดาๆก็ใช่ที่ อย่ากระนั้นเลย ทำลายปูนปั้นแล้ววาดสีลงไปดีกว่า

ในแถบหมินหนาน ปรกติแล้วการทำลายปูนปั้นเป็นรูปร่างต่างๆจะมีการประดับประดาระบายสีลงบนลายปูนปั้นด้วย เรียกว่า “ฉ่ายฮุ่ย” (彩绘:cai hui) อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ หากอากาศชื้นจัดส่วนที่ระบายสีประดับประดาจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง กล่าวคือ แทนที่จะระบายสีไว้ข้างนอกอาคาร จะเปลี่ยนเป็นระบายในส่วนใต้ชายคา หรือในผนังแทน ลวดลายที่ใช้ของภาพเขียนโดยมากเป็นรูปคน สัตว์ พรรณไม้ต่างๆนานา อย่างไรก็ตามจริงๆแล้วไซร้คือขึ้นอยู่กับลายปูนปั้นว่าจะเป็นลวดลายใด

สิ่งเหล่านี้พบเห็นได้ตามศาลเจ้าจีนในไทย เรื่อยไปจนถึงวัดบางแห่งในที่เป็นแบบพระราชนิยมของพระบาทสำเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดังวัดราชโอรส ขอท่านลองไปดูวิหารน้อยซ้ายขวาบริเวณหน้าบัน และหน้าต่างจะเห็นปูนปั้นนูนต่ำทำเป็นลายมงคล

ขอย้ำสักนิด นี้ไม่ใช่จิตรกรรมฝาพนัง อย่าได้เข้าใจผิดไป

ภาพข้างล่างคือการตบแต่งในวัดจีน เทียบกับวิหารน้อยวัดราชโอรส


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 09:52

การประดับตบแต่งด้วยปูนปั้น (泥塑:ni su)

ในแถบหมินหนาน (闽南: min nan) การประดับตบแต่งอาคารมีการใช้รูปปั้นจากดินมาประดับตบแต่ง เรียกว่า “หนี ซู่” (泥塑:ni su) รูปปั้นดินนี้มีข้อดีคือราคาถูก จะทำขนาดเล็กหรือใหญ่ทำได้ตามอัธยาศัยใจผู้ปั้น อย่างไรก็ตามข้อเสียที่มีคือใช้ไม่ค่อยจะทนเท่าไรนัก แต่ทนหรือไม่ทนไม่เป็นไร หลายพื้นที่ยังคงนิยมใช้รูปปั้นดินในการตบแต่งอาคาร อาทิ บริเวณคอสองของตึก ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า (水车堵 : shui che du) ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมระหว่างตัวอาคารกับหลังคา หรือประดับตามชายคา เรื่อยไปจนเหนือบานประตูหน้าต่าง

ทั้งนี้ลายรูปดินปั้นแต่ละพื้นที่ที่ประดับจะต่างกันไป กล่าวคือ บริเวณคอซองของอาคารจะประดับเป็นรูปสัตว์หรือลายพรรณพฤษาเป็นหลัก ขณะที่บริเวณเหนือบานประตูและหน้าต่างนิยมใช้สัญลักษณ์มงคลโชคลาภอายุยืน ที่คนไทยเรียกกันว่า “ฮกลกซิ่ว” นั้นแหละ ซึ่งภาษาจีนกลางเรียกว่า “ฟู่ ลู่ โซ่ว” (福禄寿: fu lu shou) ไม่ก็ตัวอักษรมงคลต่างๆ

การตบแต่งด้วยลายดินปั้นจะมีการระบายสีอย่างงดงาม โดยออกแบบให้เข้ากับสีสันของอาคาร ร่วมไปถึงจิตรกรรมที่ใช้ประดับตบแต่งส่วนต่างๆ

ภาพการประดับปูนปั้นในตัวอาคารของจีน




บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 10:07

การตบแต่งด้วยไม้สลัก (木雕:mu diao)

ลักษณะการตบแต่งด้วยไม้แบบหมินหนาน นิยมใช้การแกะสลักบนโครงสร้างไม้ที่ใช้ประกอบเป็นอาคารเพื่อประดับอาคาร
สามารถแบ่งได้เป็น ๓ ประเภทดังนี้

๑. การแกะสลักบนเครื่องไม้เอก ทำหน้าที่เป็นหลักในการรับน้ำหนักของอาคารของอาคาร อาทิ เสา คานค้ำยัน ในบริเวณนี้จะไม่สลักมากมายนัก อย่างมากสุดจะเพียงแค่สลักผิวไม้เป็นลวดลายเฉยๆ หากสงสัยว่าเพราะเหตุใด ตอบง่ายๆ ถ้ามันเกิดสลักจนโปร่ง มันจะถล่มลงมาทับตาย

๒. การสลักบนเครื่องไม้รอง ทำหน้าที่ใช้รับน้ำหนักบางส่วนของโครงสร้างอาคาร จะสลักภาพแบบนูนต่ำเป็นหลัก เหตุผลที่สลักนูนต่ำก็เหตุผลเดียวกับ อาทิ ทวยค้ำยันต่างๆ

๓. การสลักบนเครื่องไม้ที่เป็นชิ้นส่วนประกอบที่ช่วยยึดเครื่องไม้หลัก อาทิ เดือยต่างๆที่ยึดไม้ต่างๆไว้ด้วยกัน สามารถแกะสลักนูนสูงนูนต่ำได้ตามใจชอบ  

ตามปรกติลวดลายที่ใช้แกะสลักเพื่อประดับประดานี้ สามารถทำได้ตามใจช่าง ไม่ได้มีการบังคับ โดยทั่วไป นิยมสลักลายมังกร หงส์ สัตว์มงคล ผลไม้มงคลเป็นต้น แต่ถ้าแถบใดการช่างหรือการเศรษฐกิจเจริญน้อยไปหน่อย ลวดลายก็จะลดน้อยตามความสามารถของช่าง หรือตามกำลังทรัพย์ของผู้จ้าง

ลักษณะการแกะสลักไม้ในอาคารจะมีลักษณะแตกต่างไปตามหน้าที่การใช้งานของอาคาร กล่าวคือ หาเป็นการแกะสลักสำหรับศาสนสถาน จะแกะสลักอย่างละเอียดประณีต และมีลวดลายซับซ้อนมากมาย พร้อมทั้งปิดทอง ระบายสีตบแต่งอย่างงดงาม เพื่อก่อให้เกิดความรู้สึกตะลึงตะลานกับความยิ่งใหญ่ของศาสนสถานนั้นๆ แต่ถ้าเป็นการแกะสลักไม้ตามบ้านเรือนประชาชน ลวดลายจะเรียบง่ายกว่า และไม่นิยมระบายสีหรือปิดทอง จะใช้สีธรรมชาติของไม้มากกว่า

ภาพโครงสร้างอาคารที่ใช้ไม้แบบหมินหนาน ภาพการตบแต่งโครงสร้างไม้ภายในศาสนาสถาน และในบ้านเรือนตามลำดับ





บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 10:15

ข้าพเจ้ารวบรวมข้อมูลมาจากเว็ปไซด์ดังนี้

http://163.24.80.12/web96/11/webrace/2006/01/s5.htm#1

http://forestlife.info/Onair/297.htm

http://blog.yam.com/sunny0905/article/14470592

หวังว่าข้อมูลข้างต้นจะมีประโยชน์ต่อการค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับวัดโพธิ์ไม่มากก็น้อย

ท่านใดจะหารูปวัดโพธิ์มาเสริมข้าพเจ้าก็ยินดี  อายจัง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 10:21

ได้ความรู้เยอะเลยครับ คุณหาญ

ศิลปะตกแต่งด้วยกระเบื้องทางเหนือ กับทางใต้ ห่างกันลิบเลยนะครับ จัดภาพกำแพงมังกรที่ตั้งอยู่ภายในพระราชวังกู้กง จะเห็นว่าการประดับกระเบื้องลวดลายมังกรจะไม่เหมือนกับทางใต้ตามที่คุณหาญ กล่าวมา คือ เป็นการปั้นลวดลาย ขึ้นรูปทั้งชิ้ แล้วตัดแยกเป็นแผ่น ๆ แยกเคลือบ แล้วนำมาประกอบกันใหม่

หากเป็นมังกรทางจีนตอนใต้คงจะเจียกระเบื้องเป็นชิ้น ๆ ปล่อยให้เกล็ดพริ้วไหว ล่องลอยตามจินตนาการ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 10:27

นอกจากช่างไทยจะนำกระเบื้องเป็นชิ้น ๆ มาเรียงตัวกันเป็นรูปทรงต่าง ๆ แล้วท่านได้ค้นคิดหลักการฝังกระเบื้องปนกับพื้นปูน (ซึ่งคล้ายกับการฝังมุก ซึ่งถมด้วยรัก) แต่นี่ใช้กระเบื้องที่ทำได้รูปแล้ว เช่น ลายใบเทศ ลายใบไม้ ลายเถาเลื้อย ด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา เคลือบน้ำเคลือบ หรือ ลงสีเบญจรงค์ นำมาประดับและถมด้วยปูน ซึ่งเทคนิคนี้พบได้ที่วัดอรุณราชวราราม ฯ ซึ่งข้าพเจ้าได้แวะเวียนไปเยี่ยมชมเมื่อต้นเดือนมานี้เอง


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 10:34

กรอบซุ้มประตูด้านในวัดพระเชตุพนฯ ทำกระเบื้องลายดอกไม้ (ขอบกลม ขอบแหลม ขอบป้าน) งดงามมาก พร้อมศาสตราวุธ คือ ง้าวไขว้กัน


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 10:39

องค์พระเจดีย์สีขาบ ประจำรัชกาลที่ ๔

จะเห็นว่ามีศิลปะการประดับด้วยกระเบื้องชิ้นเล็ก ๆ เป็นลายดอกไม้เช่นกัน แต่....มีการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง กล่าวคือ ใช้กระเบื้องชิ้นเล็ก ๆ น้อยลงไป ดอกไม้ก็ปั้นหล่อด้วยดินทั้งดอก ลงสีในตัว เป็นชุดดอกไม้สำเร็จรูป (คงลดระยะเวลาการประดับไปได้มาก)

ส่วนลายเครือเถาไม้เลื้อยก็ใช้รูปแบบ (Pattern) แบบเดียวกันหมด


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 10:43

ภาพการประดับดอกไม้กระเบื้อง องค์พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 10:46

สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่มีการประดับกระเบื้องชิ้นเล็ก ๆ อย่างสวยงามคือ บริเวณหอไตร ตรงบริเวณส่วนย่อมุม ก็ไม่ปล่อยให้เกิดที่ว่าง จัดกระเบื้องจัดลีลาเป็น เฟื่องอุบะงดงามมาก


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 10:52

กาบกนกที่ซุ้มประตูทางเข้าหอไตร


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 10:55

นี่ก็เป็นมุมที่สวยงามมุมหนึ่ง "หอไตร" ประดับกระเบื้องชิ้นเล็ก ๆ จนงดงามมาก


บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 22 ก.พ. 12, 10:59

เท่าที่ค้นจดหมายเหตุบูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์มา
ผมพบชื่อกระเบื้องอยู่ราวๆสัก 4 คำเห็นจะได้

คือ

1.) กระเบื้องปรุ หมายถึงกระเบื้องชิ้นโตๆที่พิมพ์เป็นลายฉลุ พวกนี้มักใช้เป็นช่องแสง
2.) กระเบื้องถ้วย หมายถึงถ้วยชามที่นำมตัดเป็นชิ้นๆ เพื่อใช้ในงานประดับ แบบที่เป็นลายดอกๆ ที่คุณ Siamese โพสต์ภาพไว้
3.) กระเบื้องพิมพ์ หมายถึงกระเบื้องที่พิมพ์ลายเป็นชิ้นๆ
4.) กระเบื้องลาย หมายถึงกระเบื้องเขียนลาย หาดูได้ที่ขอบหน้าต่างพระอุโบสถครับ

เท่าที่อ่านมาร่วมสิบรอบ จดหมายเหตุไม่ได้เล่าเรื่องเนื้อกระเบื้องครับ
ถ้าอยากทราบเพิ่มเติมคงต้องลองหาดูกันต่อไปครับผม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 20 คำสั่ง