รอยอินท่านว่าคำนี้อาจเขียนได้หลายอย่าง จังหล่อ, จำหล่อ, จั้นหล่อ มาจากภาษาจีนว่า จั้งโหล่ว (จั้ง - กีด, ขวาง, โหล่ว - ถนน)
อาจารย์กาญจนา นาคสกุล อธิบายเพิ่มเติมว่า
จังหล่อ-จำหล่อจังหล่อ หรือ จำหล่อ เป็นคำเก่าที่มีความหมายว่า เครื่องกีดกั้นทาง.
วิธีทำจังหล่อนั้นเจ้าหน้าที่จะปักไม้เป็นเสาสูงประมาณ ๒ ศอกขวางทางไว้, มีไม้ราวตีทับหลัง. ไม้ที่ปักนี้ทำเป็น ๒ แนว วางเหลื่อมกัน. เมื่อคนเดินมาถึงจังหล่อจะผ่านไปไม่ได้ต้องเดินไปจนสุดแนวข้างหนึ่ง, แล้วย้อนกลับไปทางปลายของอีกแนวหนึ่ง จึงจะผ่านไปได้. จุดประสงค์ที่มีจังหล่อก็เพื่อตรวจตราผู้ที่สัญจรผ่านไปมา เป็นต้น.
ปัจจุบันไม่มีใครใช้คำนี้ ใช้แต่คำว่า ที่กั้น เครื่องกั้น ไม้กั้น เช่น ที่กั้นถนนตรงทางรถไฟ. น่าจะนำคำว่า จังหล่อ มาใช้เพื่อรักษาศัพท์ไว้.
ผู้เขียน ศ. ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทย สำนักศิลปกรรม
