ท่านผู้อาวุโส ท่านเห้นว่าตอบกันช้าไม่ได้การ จึงเฉลยให้ฟังว่า
พิธีคลุมบาตรที่ท่านได้ไปเห็นชาวบ้านต่างจังหวัดเขาทำนั้น
ก็คือการทำบุญกระดูกผู้วายชนม์ในเช้าวันเก็บอัฐิ ถ้าเทียบกับพิธีของหลวง
ก็คือ สามหาบ นั่นเอง ธรรมเนียมการคลุมบาตรเช่นนี้มักทำที่วัด
ไม่ใคร่ทำที่บ้าน
รายละเอียดมีดังนี้
เจ้าภาพไปนิมนต์พระสงฆ์ ณ วัดที่ไปตั้งบำเพ็ญกุศลศพว่า
หลังจากทำการฌาปนกิจศพแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นขอนิมนต์พระสงฆ์จำนวนกี่รูปก็ว่าไป
มาในการบำเพ็ญกุศลเก็บอัฐิผู้วายชนม์ ถ้าเป็นวัดมีพระสงฆ์น้อยก็มักนิมนต์พระสงฆ์ทั้งวัด
เช้าวันเก็บอัฐิ เจ้าภาพจะไปรับบาตรของพระสงฆ์จากกุฏิพร้อมที่ตั้งบาตร
จากนั้น นำบาตรพระแต่ละรูปมาวางเรียงตามลำดับอาวุโสของพระเจ้าของบาตร
จากนั้น เจ้าภาพเตรียมข้าวสวยมาทยอยตักบาตรข้าวสวยลงบาตรแต่ละใบ
ตักบาตรข้าวสวยให้เสร็จก่อนถึงเวลาพระสงฆ์ลงมาฉันเช้า เมื่อตักบาตรครบทุกคนแล้ว
เจ้าภาพนำผ้าขาวขนาดผืนพอปิดปากบาตร มาวางปิดปากบาตรแต่ละใบ
หรือจะใช้ผ้าเช็ดหน้าสีขาวก็ได้ ปิดปากบาตร กันแมลงหรือสิ่งต่างๆ ตกลงไปในบาตร
อันเป็นที่มาของการเรียกว่า คลุมบาตร บางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมไม่เอาฝาบาตรปิดล่ะ
สันนิษบานว่า เป้นเพราะข้าวสวยตักใหม่ๆ ยังร้อนมีไออยุ่ หากเอาฝาปิด มันจะอบไอน้ำไว้
ทำให้เกิดหยดน้ำในบาตร ข้าวจะพลอยแฉะ และอาจจะทำให้บูดเสียก่อนจะถึงมื้อเพลได้
เมื่อถึงเวลาพระสงฆ์ลงมาฉัน ครั้นพระสงฆ์สวดและรับถวายภัตตาหารแล้ว
ก็ประเคนบาตรพร้อมกับสำรับคาวหวานที่เตรียมไว้ เมื่อประเคนเสร็จ พระสงฆ์จะพิจารณาก่อน
(ว่า ปฏิสังขาโย ฯลฯ) แล้วจึงลงมือฉัน โดยพระจะตักแบ่งข้าวในบาตรที่ญาติโยมได้ตักบาตรนั้น
ใส่จานข้าวแล้วจึงฉัน ข้าวที่เหลือในบาตร พระสงฆ์จะนำไปฉันต่อในมื้อเพล
หากเป็นพระที่ฉันเช้าเพียงมื้อเดียว ก็อาจจะฉันภัตตาหารในบาตรเลยก็ได้
การทำคลุมบาตรอย่างนี้ มีรายละเอียดแต่สังเขปเท่านี้
