“... เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จขึ้นไปเมืองเหนืออีกครั้งหนึ่ง เสด็จโดยเรือพระที่นั่ง “อรรคราชวรเดช” ซึ่งเป็นเรือกลไฟจักรข้าง ๒ ปล่อง ใหญ่กว่าเรือกลไฟพระที่นั่งทั้งปวงที่มีอยู่ในเวลานั้น
ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้กระบวนเสด็จไปในเรือลำเดียวกัน ไม่ต้องกะเกณฑ์พาหนะให้ลำบาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ก็ได้โดยเสด็จไปด้วยในคราวนั้น
เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๙ ปีขาล จ.ศ. ๑๒๒๘ ค.ศ. ๑๘๖๖ ร.ศ. ๘๕ เลือกเวลากำลังน้ำขึ้นมาก และในเวลานั้นลำน้ำทางเมืองพิจิตรเก่า (ต.เมืองเก่าในปัจจุบัน) ยังลึกขาขึ้น เรือพระที่นั่งขึ้นทางลำน้ำนั้น ได้เสด็จแวะที่วัดโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) ครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงสร้างไว้ ณ ที่ประสูติ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นนมัสการพระที่วัดโพธิ์ประทับช้าง ครั้งนั้นทรงดำริว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชอยู่ จึงโปรดฯ ให้ทรงพระราชยาน และให้กระบวนแห่เสด็จต่างพระองค์ ส่วนพระองค์ทรงพระราชดำเนินตามพระราชยานไป ซึ่งเรื่องนี้ถือกันมาว่าเป็นบุพพนิมิตอันหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงรับรัชทายาท
เรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชขึ้นไปเมืองเหนือครั้งนั้น เล่ากันว่าลำบากยิ่งนัก เพราะลำแม่น้ำแคบและคดคู้ในที่บางแห่ง ทั้งสายน้ำก็ไหลแรง พัดเรือพระที่นั่งเกยตลิ่งบ่อย ๆ
เสด็จไปจากกรุงเทพฯ ๗ วัน จึงถึงเมืองพิษณุโลก เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑ เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๙ ปี ขาล) ประทับสมโภชพระพุทธชินราชอยู่ ๒ ราตรี ถึงวันเสาร์ เดือน ๑๑ แรม ๑๐ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๓ เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๙ ปี ขาล) ก็ต้องเสด็จกลับเพราะลำน้ำลดลง เกรงเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชจะติดอยู่กลางทาง เมื่อขากลับทางลำน้ำเมืองพิจิตรเก่าน้ำก็ตื้นเสียแล้ว ต้องล่องเรือพระที่นั่งลงมาทางคลองเรียง คือลำน้ำที่ตั้งเมืองพิจิตรใหม่ในบัดนี้...”
จากบทความในหนังสือ “ตามรอยสมเด็จพระเจ้าเสือ” หน้า ๖๙ – ๗๐ เรื่อง “... เมืองพิจิตรในอดีต ...” เขียนโดย คุณศิรินันท์ บุญศิริ ซึ่งได้จัดพิมพ์เผยแพร่ โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘
ข้อมูลเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช สมัยรัชกาลที่ ๔
